เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 111551 ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 17 ก.พ. 12, 20:32

ผมได้อ่านกระทู้ของครุณ han_bing เรื่อง "ว่าด้วยหลังคาจีน" ได้ความรู้มากมายเลยครับ

ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะพูดถึงเรื่องของหลังคา แต่มีความสนใจเป็นการส่วนตัวในเรื่องของความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆของแต่ละเผ่าพันธุ์ชาติภาษา หลังคาบ้านก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เท่าที่ได้สังเกตมา แม้ว่าไทยจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนในหลายๆด้าน แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องของหลังคาบ้านนี้จะมีความแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
 
อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในเรื่องนี้ดูจะไม่กระจายอยู่ในหมู่คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคนไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ความแตกต่างที่ผมเห็นว่าเป็นไปอย่างไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิงนั้น คือ วิธีการวางแนวสันของหลังคา บ้านในอิทธิพลของจีนนั้นจะวางแนวสันของหลังคาขนานไปกับแนวถนนหน้าบ้าน เคยสนทนากับกลุ่มคนที่มีบ้านและวางสันหลังคาในลักษณะนี้ ได้ความว่า เป็นความเชื่อและเป็นการแสดงออกถึงฐานะของเจ้าของ กล่าวคือ แผ่นของหลังคายึ่งกว้างยิ่งใหญ่ยิ่งแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และยศฐาบรรดาศักดิ์ หลังคาจะต้องยื่นยาวและลาดเอียงออกมาจนถึงระดับความสูงของรั้วบ้าน จริงเท็จอย่างไรในความเชื่อนี้ ผมไม่ยืนยัน แต่ได้ฟังมาว่าอย่างนั้น
สำหรับคนไทย รวมทั้งคนชาติพันธุ์ไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตประเทศจีน และรวมถึงคนถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรไทย (ในพม่า ลาว เขมร) คนเหล่านี้จะสร้างบ้านที่มีสันหลังคาตั้งฉากหรือค่อนข้างตั้งฉากกับถนนหน้าบ้าน กล่าวง่ายๆ ก็คือ หลังคาบ้านจีนมองไม่เห็นจั่ว (คงจะยกเว้นเฉพาะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) แต่หลังคาบ้านไทยจะมองเห็นจั่วหลังคา

ท่านผู้ใดพอจะอธิบายขยายความได้บ้างครับ

   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 20:38

เกินสติปัญญาจะอธิบายได้ค่ะ  ไม่มีพื้นความรู้ทางนี้
ได้แต่เอารูปตามคำบอกเล่าของคุณตั้งมาประกอบกระทู้    ให้เห็นภาพกันว่าหลังคาบ้านไทยกับบ้านจีน หันกันคนละแบบ


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 22:56

ทำไมเมืองจีนต้องวางหลังคาขวางถนน

อันนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆไว้ค้นได้คำตอบเมื่อใดจะมาเล่าสู่กันฟัง

อย่างไรก็ตาม เรื่องชายคาของหลังคา (คิดว่าคำว่าแผ่นหลังคาน่าจะหมายถึงชายคา) ตามหลักสถาปัตยกรรมจีน ยิ่งศักด์ของอาคารยิ่งสูง ชายคายิ่งกว้าง ยิ่งยาว

ผลนี้ทำให้ประดับสัตว์มงคลบนหลังคาได้ง่ายขึ้น เพราะพื้นที่กว่าขึ้น

แต่เรื่องที่ยาวยืดจนเกินออกมานอกรั้วบ้าน หรือกำแพงนี้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน และไม่เคยเห็น แต่ว่าข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลใดที่จะคัดค้าน ดังนั้นจึงไม่กล้าเถียง

ด้วยเหตุข้างต้นในข้อที่ว่าชายคายาวเกินกำแพงบ้าน ข้าพเจ้าไม่ขอปฏิเสธ และไม่ขอสนับสนุน แต่ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าจะเป็นจริง

ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอนำภาพหลังศักดิ์สูงสุด มาเทียบกับศักรองลงมา คือ "อู่เตี้ยนติง" (庑殿顶: wu dian ding) ที่ใช้กับอาคารศักดิ์สูง และ "อิงซานติง" (硬山顶: ying shan ding) ที่ใช้กับอาคารรองๆลงมา (ต่ำกว่าอุ่เตี้ยนติงเยอะอยู่)

ภาพที่นำมาแสดงเป็นภาพ"อู่เตี้ยนติง" และ"อิงซานติง"

จะเห็นว่าชายคาของหลังคาแบบแรกยาวมาก แต่อีกแบบสั้นจริงๆ

ที่มาจากเว็ปไซด์ http://www.ccnh.cn/jzlx/jzlsyzfs/654993308.htm

สวัสดี



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 23:08

ทั้งนี้ข้าพเจ้าเคยเขียนเรื่อง "สัตว์บนหลังคาจีน" ลงในเรือนไทย

เข้าไปอ่านได้จากลิงค์นี้ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3365.0

อาจจะมีประโยชน์บ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับศักดิ์ของอาคารแบบจีน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 23:12

ผมได้อ่านกระทู้ของครุณ han_bing เรื่อง "ว่าด้วยหลังคาจีน" ได้ความรู้มากมายเลยครับ

 แผ่นของหลังคายึ่งกว้างยิ่งใหญ่ยิ่งแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และยศฐาบรรดาศักดิ์ หลังคาจะต้องยื่นยาวและลาดเอียงออกมาจนถึงระดับความสูงของรั้วบ้าน จริงเท็จอย่างไรในความเชื่อนี้ ผมไม่ยืนยัน แต่ได้ฟังมาว่าอย่างนั้น
ไม่ใช่ยาวจนเกินกำแพงบ้านค่ะคุณ han_bing  มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว   ถ้าชายคายาวเกินกำแพงบ้านก็ต้องคลุมกำแพงน่ะซี
คุณตั้งคงจะหมายความว่า ชายคายื่นยาวและลาดเอียงมาจนบรรจบกับความสูงของกำแพงพอดี   คือ ไม่ใช่ชายคาบ้านสูงและกำแพงเตี้ย   เสียจนคนนอกมองข้ามกำแพงไปเห็นชายคา   หรือชายคาบ้านเตี้ยแต่กำแพงสูงจนบังหลังคาหมด

ไปหารูปมาให้ดูได้รูปหนึ่ง  โปรดสังเกตว่าชายคาบ้านจดกำแพงพอดี   เพราะบ้านจีนไม่เหมือนบ้านเศรษฐีไทยที่มีบริเวณกว้างล้อมบ้านอยู่เยอะๆ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 20:28

ขอบพระคุณคุณเทาชมพูครับที่ได้กรุณาให้ความกระจ่างและยังหารูปมาประกอบอีกด้วย

ข้อสังเกตที่สองของผมนี้ อธิบายยากสักหน่อยครับ มีหลายเรื่องปนๆกันอยู่ จะพยายามอธิบายนะครับ แล้วคงใม่ใช้ศัพท์ทางเทคนิค (เพราะไม่ทราบครับ)

ด้วยหลังคาแบบจีนนั้น แฝงไปด้วยปรัชญาและการแสดงออกในรูปแบบ ซึ่งปรากฏอยู่ในหมู่ชาติพันธุ์ต่างๆที่รับอิทธิพล
ประการแรก หลังคาแบบจีนค่อนข้างจะเป็นผืนเดียวกัน ตั้งแต่สันจนถึงชายหลังคา และมักจะไม่ลาดเอียงแบบเป็นแผ่นตรงๆ คือ พอใกล้ส่วนชายคาก็จะเผินหงายออกเป็นรูป Curve
ประการที่สอง ในหมู่ที่มีฐานานุภาพทั้งหลาย หลังคาจะเป็นแบบมุงด้วยกระเบื้อง ซึ่งมีน้ำหนักมาก การออกแบบการถ่ายน้ำหนักลงเสาจึงมีวิธีการที่พิเศษ คือที่หัวเสาแต่ละต้น (ไม่ว่าจะเป็นเสาที่มีฐานวางบนดิน หรือเสาลอยที่วางอยู่บนคาน) จะมีโครงสร้างไม้เหมือนแขนวางรอรับทับซ้อนกันอยู่เหนือหัวเสา ซึ่งไม่ติดยึดกับหัวเสา
ประการที่สาม เพื่อใ้ห้หลังคาเผินออกใปหาส่วนชายคา จีนใช้วิธีวางไม้ทับซ้อนกันแบบขยับออกไปเรื่อยๆ (โดยอาศัยแขนที่รองรับอยู่เหนือหัวเสาในการรับน้ำหนัก)

แบบไทยและคนในภูมิภาคแหลมไทย ซึ่งแม้จะแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นโบสถ์ วัดวาอาราม และส่วนที่เป็นคนปกติก็มีความคล้ายๆกัน
ประการแรก หลังคาจะไม่เผินเหมือนของจีน
ประการที่สอง ส่วนลาดเอียงของหลังคา หากเป็นวัดวาอาราม จะแยกออกเป็นสองหรือสามส่วน คือส่วนที่ลาดเอียงมากๆจะอยู่ส่วนบน เมื่อเริ่มจะให้เอียงเทน้อยลงก็จะเป็นแผ่นหลังคาอีกชั้นหนึ่ง และแยกออกเป็นชั้นต่อมาเพื่อให้เอียงเทได้ตามต้องการ 
ประการที่สาม เราไม่มีแขนรับแรงบนหัวเสาแต่ละต้น คือ เอาคานวางลงบนหัวเสาโดยตรงเลย
ประการที่สี่ เราจะมีส่วนชายคาที่ยื่นออกมาค่อนข้างมาก ซี่งเราจะใช้เท้าแขนค้ำยันรับน้ำหนัก


ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ แบบจีนนั้นมีต้นกำเนิดในภูมิภาคที่เกือบจะไม่มีแผ่นดินไหว แต่การโครงสร้างของหลังคานั้นกลับเป็นแบบที่รับการโยกคลอนได้อย่างดี ส่วนสำหรับแบบไทยนั้น อยู่ในพื้นที่ๆรับผลจากแผ่นดินไหว แต่โครงสร้างของหลังคากลับดูไม่แข็งแรง (ซึ่งแท้จริงแล้วมีวิธีประกอบที่ทำให้แข็งแรง)

แล้วเอกลักษณ์ของหลังคาแบบไทยเป็นอย่างไร


   
 
   
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 10:09

แล้วเอกลักษณ์ของหลังคาที่ชัดเจนที่สุดของสถาปัตยกรรมไทยคงไม่หนีรูปทรงตามภาพนี้แหละครับ

ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือวัง ก็เริ่มต้นพัฒนามาจากรูปทรงของเรือนชาวบ้านที่ลงตัวตามสัดส่วนประมาณที่เห็นนี้ คือด้านสกัด(ด้านแคบ)ยาว๑ส่วน และด้านยาว ยาว๓ส่วน จั่วหลังคาสูงประมาณ๕๕องศา
สัดส่วนนี้ถือเป็น Golden Proportion ของสถาปัตยกรรมไทย อาคารหลังใดสร้างขึ้นมากว้างยาวสูงผิดส่วนไปจากนี้ รูปทรงจะแลดูขัดเขิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 10:17

ครูบาอาจารย์ท่านสอนผมตั้งแต่เข้าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีหนึ่งว่า รูปทรงถูกสร้างขึ้นมาตามเหตุ๓ประการ

๑ กรรมวิธีในการก่อสร้าง
เครืองไม้เครื่องมือสมัยก่อนก็จำกัด เครื่องทุ่นแรงคนก็มีแค่สัตว์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายของหนัก ตั้งแต่เอามาจากแหล่งไปจนถึงเอาขึ้นไปติดตั้งบนที่สูง ขนาดและน้ำหนักของวัสดุก่อสร้างจึงเป็นข้อสำคัญ

๒ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
วัสดุที่หาได้ง่ายในเมืองไทยคือไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากธรรมชาติอื่นๆ  ต่อมาคือดินเผาในรูปของอิฐและกระเบื้อง ส่วนเหล็กและหินเป็นของยากและมีราคาแพง จะเห็นได้เฉพาะในวัดหรือวังเท่านั้น

๓ หน้าที่ใช้สอย
กล่าวคือผู้สร้างต้องการสร้างอาคารนั้นขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน หรือเพื่อสิ่งเคารพสักการะ ฯลฯ


ดังนั้น บ้านทรงไทยจึงต้องมีหลังคาสูง เพราะเดิมมุงด้วยตับแฝก หรือตับจาก ถ้าความลาดชันน้อยไปฝนก็จะรั่ว แต่สูงไปก็จะยิ่งต้านลมมาก เดี๋ยวหลังคาจะกระเจิงไปง่ายๆ ต่อมาทำกระเบื้องดินเผาได้ แต่ยังเป็นขนาดเล็กๆเพราะถ้าแผ่นใหญ่ไปเวลาเผาก็แตกง่าย ความลาดชันหลังคาจึงยังต้องคงเดิม (บ้านคนไทยมาเปลี่ยนทรงหลังคาอย่างมีสาระสำคัญก็ต่อเมื่อแผ่นสังกะสีจากยุโรปถูกนำเข้ามาแล้ว หรือต่อมากระเบื้องแอสเบสตอสซีเมนต์ที่เรียกว่าหลังคาลูกฟูกถูกผลิตได้ในประเทศ หลังคาบ้านเลยแทบจะแบน บังคับให้ลาดเอียงไม่ต่ำกว่า๓องศาก็ใช้ได้แล้ว)

ความยาวช่วงเสา ต้องประมาณ๖ศอกหรือ๓เมตร เพราะหาไม้มาทำโครงสร้างพื้น เช่น คาน ตง หรือโครงสร้างหลังคาเช่นจั่ว จันทัน อะเส ได้ง่าย ต้นไม้ขนาดที่จะตัดมาแปรรูปได้ตามขนาดความยาวที่ว่า หาได้ทั่วไปตามป่าละเมาะแถวๆหมู่บ้าน ไปต้องเข้าไปแสวงหาในป่าลึก



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 10:20

เรือนไทยรูปทรงและขนาดดังกล่าวจึงมีขนาดเล็ก สำหรับครอบครัวใหญ่จึงต้องปลูกหลายเรือน และเชื่อมโยงกันด้วยชาน การวางทิศของเรือนต่างๆส่วนใหญ่จึงไม่ได้วางไปในแนวเดียวกัน
ปกติ เรือนที่สบายที่สุดที่เจ้าเรือนอยู่ จะวางตามทิศที่รับลม ในเมืองไทยแล้วลมโดยเฉลี่ยจะมาทางทิศใต้ บ้านที่ดีจะหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพราะจะไม่โดนแดดสาด และลมโกรกทะลุหน้าต่างมาทางด้านทิศใต้ ถ้าเอาด้านยาวของบ้านไว้ในแนวขวางลม ก็จะเป็นบ้านที่อยู่สบายที่สุด

นี่ผมก็ว่าเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่ดินกว้างขวางพอที่ตัวบ้านจะหันทิศไปทางไหนก็ได้นะครับ  แต่ถ้าที่ดินบังคับก็ว่าไปตามนั้น ส่วนที่จะต้องวางแนวจั่วหลังคาให้ตั้งฉากหรือขนานไปตามถนน ผมไม่เคยได้ยินว่าเป็นกฏเกณฑ์อะไร  แต่แน่ล่ะครับ หน้าบ้านควรจะต้องหันไปด้านถนน แต่หน้าบ้านกับแนวจั่วเป็นคนละเรื่องกัน บ้านโบราณจะถือซุ้มประตูที่เป็นกระไดขึ้นสู่ชานเรือนเป็นหน้าบ้าน ส่วนเรือนที่สบายที่สุดมักจะอยู่ตามทิศรับลมที่ผมว่าไปแล้ว



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 10:45

บ้านคนจีน ซึ่งมีวิชาฮวงจุ้ยกำกับอยู่ว่าจะต้องทำอะไรไว้ตามทิศอะไร ผมก็คิดว่ามันเหมาะสำหรับประเทศที่หนาวจัดอย่างนั้น แต่ถ้านำมาบังคับใช้กับบ้านแบบจีนในเมืองไทย ก็คงจะอุดอู้เสียสุขลักษณะ เดี๋ยวนี้ชินแสมักจะบอกว่าตำราของตนได้ประยุกต์กับภูมิอากาศเมืองไทยแล้ว (สงสัยว่าจะทะเลาะกับสถาปนิกมาหนัก)

บ้านเจ้าสัวหลังนี้คือส่วนที่ตัวเจ้าของบ้านอยู่ ภายในอาณาเขตของจวนเจ้าเมืองสงขลาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดูแล้วจะออกแนวไทยๆ ไม่ใช่จีนแท้เหมือนกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 10:56

เมืองไทยสมัยก่อนนั้น ทางน้ำสำคัญกว่าทางบนบก(ถนน) หน้าบ้านจะวางออกสู่แม่น้ำลำคลอง ส่วนถนนจะมีขนาดเท่าตรอกคนเดิน ไม่ได้มีความสลักสำคัญอย่างใด ในภาพจะเห็นการวางแนวสันหลังคาบ้าน จะมีทั้งสองแนว คือแนวขนานและแนวฉากกับทางน้ำหน้าบ้าน



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 18:25

อือม์ ได้ความรู้มากมายเลยครับ ขอบคุณมากครับ

แล้วก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า Golden proportion ของสถาปัตยกรรมไทยตามที่คุณนวรัตน์บอกกล่าวนั้น คงอยู่แถวๆประมาณ 3:1 ซึ่งจะต่างกับของตะวันตกที่อยู่แถวๆประมาณ 16:10 หรือที่ค่า ฟี ซึ่งเท่ากับ 1.618
ก็แสดงว่าสถาปัตยกรรมของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าสวยงามมากนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนะซิครับ ขนาดชาติตะวันตกยังเห็นว่าเป็นความสวยงามทั้งๆที่เขาเกือบจะวินิจฉัยสัดส่วนของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าสวยงามที่สุดนั้นว่าเป็นไปตามค่า ฟี หรือ Golden number

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคนไทยนั้นมีสายตาอันแหลมคมมาก จนสามารถนำข้อจำกัดทางวัสดุมาประกอบกันในสัดส่วนที่ต่างไปจาก Golden number (proportion, ratio, section) ของธรรมชาติ ซึ่งดูจะเป็น norm ของสรรพสิ่งที่สวยงามในธรรมชาติ โดยคนไทยสามารถทำให้กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวจนเกิดความสวยงามอย่างยิ่ง ผมว่าบ้านไทยที่อยู่เดี่ยวๆนั้นดูไม่งามนัก แต่พออยู่เป็นกลุ่ม หรืออยู่ในที่ๆมีการปรับภูมิทัศน์แล้วกลับงามยิ่ง เย็นตา เย็นใจ สงบ และดูอบอุ่น

 
     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 20:51

หารูปเรือนไทยหมู่ และเรือนไทยเดี่ยว มาเปรียบเทียบกัน ตามความเห็นของคุณตั้งค่ะ


บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 21:08

หาหนังสือ บ้านไทยภาคกลาง ของศาสตรจารย์ น.อ.สมภพ ภิรมณ์ ร.บ. ราชบัณฑิตมาอ่านซิครับ
แค่คำว่า บ้าน กับ คำว่าเรือน ก็มีความหมายต่างกันแล้วครับ
เรื่อง ทรงหลังคา และรูปแบบ สัดส่วน คงทะลุปรุโปร่งครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 21:19

ถ้าคุณ puyum เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมคะ
เห็นใจชาวเรือนไทยบ้าง   บางท่านก็อยู่ต่างประเทศ    บางท่านก็อยู่ในจังหวัดไกล  หรือไม่สะดวกจะไปตามหาหนังสือมาอ่านด้วยตัวเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง