เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 111549 ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 09:41

ปั้นลม คือ ไม้วางทับบนเชิงชายทาบทับปลายแปหัวเสาทับหลังแปลานไปวางอยู่เหนืออกไก่ทั้งสองข้าง
ทำให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายบนของปั้นลมแหลม หลังปั้นลมถากอ่อนช้อยลงมาถึงปลายที่วางอยู่บนเชิงชาย ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ เรียกส่วนนี้ว่า " ตัวเหงา"
หน้าที่ปั้นลม ป้องกันลมพัดหัวจากหรือแฝกปิดบังหัวจาก ซึ่งไม่น่าดู และเสริมสร้างความงามของหลังคาทรงสูง
ปั้นลมและตัวเหงา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดง "เน้นลักษณะเรือนไทยอย่างรุนแรง"


จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 09:49

เวปนี้แจ่มแจ้งดีครับ ชี้ช่องเชื่อมให้


http://board.postjung.com/m/536390.html
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 10:05

จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต
ท่านได้กล่าวถึงความหมายของ บ้านและเรือน ว่า

เรือน น.สิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่ ทรวดทรง เช่น เรือนผม ที่รับเพชรพลอย เช่น เรือนแหวน จำนวน เช่น เรือนเงิน ลักษณะนามใช้เรียกนาฬิกาว่า เรือนหนึ่ง สองเรือน
....................
คำว่าเรือน อาจประมณได้ว่า เรือนเป็นรูปธรรม "เรือน" ตรงกับคำภาษาอังกฤษ (Contrast of Materials)

บ้าน น. ที่อยู่ บริเวณที่เรือนตั้งอยู่ ถิ่นที่มนุษย์อยู่ หมู่บ้าน
บ้านนอก น. เขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป

คำว่าบ้านอาจประมาณได้ว่า "บ้านเป็นนามธรรม" โดยทั่วไปนิยมพูดว่า "ปลูกบ้าน" หมายถึง "ปลูกเรือน"
คำว่า "บ้าน" หมายถึงบริเวณบ้านที่ประกอบด้วยพื้นที่ดินสิ่งแวดล้อม และจะต้องมีเรือน และ "บ้าน" นั้นอาจจะไม่มีบริเวณพื้นที่ที่ดินก็ได้ แต่หมายถึงตัวเรือนเท่านั้นก็ได้
เช่น เรือนแถว-ตึกแถว  ซึ่งปราศจากบริเวณ คำทั้งสองนี้ไม่อาจจะจำกัดตายตัวได้ บ้านโดยทั่วไปน่าจะเป็น "นามธรรม" แต่ก็ใช้กันทั้ง "นามธรรมและรูปธรรม"
"บ้าน" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Home"

"บ้าน" เป็นคำไทย เดิมหมายความว่าหมู่บ้าน ยังมีเค้าให้เห็นอยู่ในชื่อตำบลต่าง ๆ เช่น บ้านหม้อ บ้านหมี่ บ้านไร่ บ้านนา บ้านบ่อ เป็นต้น ภาษาไทยถิ่นตต่าง ๆ ยังคงใช้คำ บ้าน หมายความว่า หมู่บ้าน อยู่เดี๋ยวนี้ บ้าน หมายความว่า บริเวณที่มีเรือนตั้งอยู่ เช่น เดินเข้าไปในล้านแล้วขึ้นบนเรือน บ้านกำลังจะเคลื่อนที่ความหมายไปอีก ให้เป็นเรือนที่อยู่ เช่น เขียนแบบเรือน ก็ใช้ว่า เขียนแบบบ้าน การที่ความหมายของคำบางคำเคลื่อนที่ไปจากเดิม ก็เป็นของธรรมดา เพราะสิ่งทั้งหลายจะอยู่คงที่ตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนในกรุงในเมืองซึ่งมีคนอยู่กันหนาแน่น บางแห่งจะหาที่ว่างเป็นบริเวณเรือนก็ไม่มีเพราะเป็นอาคารร้านรวงและห้องแถวไป เมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านในชนบทก็ผิดกัน เพราะในชนบทซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป ยังรักษาลักษณะของหมู่บ้านไว้ได้ให้เห็นเป็นส่วนสัด ไม่สู้ผิดแปลกไปจากเดิมมากนัก
..........................
ตามความเข้าใจทั่วไป  บ้านไม่มีเรือนก็ไม่เป็นบ้าน   คงเป็นแต่บริเวณพื้นที่เท่านั้น หากปลูกเรือนหรือเพิงอาศัยกินอยู่หลับนอน จะเรียกว่าบ้านได้ทันที
คำว่า เรือน   มักจะหมายถึง ที่อยู่อาศัยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่  หากสร้างด้วยคอนกรีตหรืออิฐ ก็เรียกว่า ตึก  แต่สมัยนี้ไม่สู้นิยมพูดกัน มักจะพูดว่า ปลูกบ้าน สร้างบ้าน ออกแบบบ้านและกลับบ้าน (ซึ่งบางทีหมายถึงตาย) ทั้ง ๆ ที่การก่อสร้างบ้านนั้นสร้างด้วยอิฐและคอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความหมายของบ้านซึ่งเป็น นามธรรม  สำคัญกว่า เรือน ซึ่งเป็น รูปธรรม ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องตามตรรกวิทยา (Logic) ดีด้วย



บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 10:49

อ่านพบอีกที่หนึ่ง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนไว้ในหนังสือ "เรือนไทย บ้านไทย"  สนพ.เมืองโบราณ

......เรื่องของบ้านกับเมือง เป็นสิ่งที่มีพัฒนาการและความสำคัญอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าเราต้องการทำความเข้าใจในเรื่องเรือนไทยและชีวิตไทย ที่แล้วมานั้น พอพูดถึงเรือนไทยแล้ว ภาพที่เห็นอย่างฉับพลันก็คือ เรือนไม้ฝาปะกนตั้งอยู่บนเสาสูง และมีหลังคาสูงทรงหน้าจั่ว มีปั้นลม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือในทุ่งนา ในสวนอะไรทำนองนั้น หรือถ้าให้ทันสมัยก็คือ อาคารไม้ลักษณะเดียวกันที่สร้างเป็นกลุ่ม มีระเบียงถึงกันของร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือไม่ก็เป็นเคหสถานของบรรดาเศรษฐีใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะการมีเรือนไทยที่วิจิตรพิสดารเป็นสิ่งทีมีราคาแพงจนบุคคลธรรมดาสามัญไม่มีทางที่จะสร้างได้ อีกสิ่งหนึ่งที่มักไม่เข้าใจกันก็คือ คำว่าบ้านกับเรือน มักมีความเข้าใจที่สับสนกันเรื่อยมา นั่นก็คือ การเข้าใจว่า บ้านคือเรือนนั่นเอง เห็นได้จากคำพูดที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า "กลับบ้าน" หรือ"ไปบ้าน" ทำนองนั้น ในขณะเดียวกัน คำว่า เรือน กำลังจะลดหายไปจนคนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจได้ในอนาคต แท้จริงแล้ว คำว่า บ้าน หมายถึง หมู่บ้านในลักษณะที่เป็นชุมชน (community)  ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า วิลเลจ (Village) ประกอบด้วยกลุ่มของเรือนหรือครัวเรือน อันเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวยเป็นจำนวนมากในพื้นที่หนึ่ง โดยมีวัดหรือศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง มีโรงเรียน ร้านค้า ทำหน้าที่เป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมและการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน บ้านแต่ละแห่งจะมีชื่อทีทางวัดและโรงเรียนเอาไปตั้งเป็นชื่อ เช่น บ้านหนองบัว มีวัดบ้านหนองบัวและโรงเรียนบ้นหนองบัว เป็นต้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่คนในชุมชนมีร่วมกันทำให้เกิดสำนึกความเป็นชุมชนขึ้น (sense of community)  คือ ความรู้สึกของการเป็นคนบ้านหนองบัวร่วมกัน เพราะฉะนั้นคำว่า กลับบ้านหรือไปบ้าน ก็ดี จึงหมายถึงการกลับไปชุมชนบ้านเกิดของตนนั่นเอง
      อย่างไรก็ตาม  ความสับสนระหว่างบ้านกับเรือนที่กล่าวมานี้ ก็เนื่องจากเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับคำว่า บ้านกับเมือง เพราะทั้งสามคำนี้เกี่ยวข้องกันกับการดำรงชีวิตของคนตลอดเวลา ถ้าหากเอาคำว่าบ้านไว้ตรงกลางเป็นเครื่องเชื่อมแล้ว ก็อาจแบ่งการดำรงชีวิตของคนได้เป็นสองมิติ มิติแรกก็คือ ชีวิตระหว่างบ้านกับเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเมือง และพิธีกรรมที่ห่างเหินไปจากชีวิตครอบครัว อย่างเช่น การออกไปตลาดในเมือง ออกไปเที่ยว ไปทำงาน ไปพบปะผู้คนที่อยู่นอกชุมชนออกไป เป็นต้น ส่วนอีกมิติหนึ่งก็คือ ระหว่าง บ้านกับเรือน ซึ่งเป็นเรื่องทางบ้านทางครอบครัว อันเป็นเรื่องภายใน นับแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอนในครัวเรือน ไปจนถึงความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน การพบปะพูดคุยกัน การเล่นกันของเด็ก ตลอดจนกิจกรรมที่ทำร่วมกันในวัด หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ทุกครัวเรือนในชุมชนหมู่บ้านต้องช่วยกันทำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้แยกกันไม่ออกระหว่างเรือนกับบ้าน และเป็นสาระสำคัญที่จะได้เน้นให้เห็นในที่นี้
     เรือน  หรืออีกนัยหนึ่ง ครัวเรือน    นับเนื่องเป็นโครงสร้างทางกายภาพที่เล็กที่สุดที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคม เด็กแรกเกิดมานั้นเกิดขึ้นในเรือนที่มีพ่อแม่เป็นผู้ปกครองดูแล เด็กกินอยู่หลับนอนในครัวเรือน แต่ในวิถีทางของการเจริญเติบโตนั้น เด็กเติบโตขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างเรือนกับบ้าน พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต นับแต่การโกนผมไฟ ทำขวัญ โกนจุก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเรือนและในหมู่บ้าน มีปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อมาร่วมในการทำพิธี ซึ่งนอกจากให้ความอบอุ่นในด้านจิตใจแล้ว ยังเป็นเรื่องของการประกาศความเป็นสมาชิกที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ในชีวิตประจำวัน เด็กเล่นกับพี่น้องและเพื่อนบ้านแบบเข้านอกออกในระหว่างเรือนต่อเรือน และวิ่งเล่นไปตามทุกหนทุกแห่งในหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีพรมแดนในเรือ่งพื้นที่ภายในชุมชน เป็นวิถีชีวิตที่สนุกสนาน อบอุ่น และไม่ว้าเหว่ เมื่อเด็กโตขึ้นก็ได้รับการศึกษาจากทางวัดและโรงเรียนของชุมชนที่อยู่ภายในหมู่บ้านหรือไม่ก็บริเวณใกล้เคียง พอครบกำหนดบวชเพื่อเข้าสู่สภาวะความเป็นผู้ใหญ่ ก็บวชในวัดของหมู่บ้าน ท่ามกลางการรับรู้และปิติยินดีของครอบครัวญาติพี่น้องและมิตรสหายภายในชุมชน หลังจากบวชเรียนแล้วก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตคือการแต่งงาน มักทำที่บ้านของฝ่ายหญิง เพราะหลังจากแต่งงานแล้ว ผู้ชายต้องไปอยู่ที่บ้านของภรรยา โดยอาจอยู่ร่วมเรือนเดียวกันกับพ่อตาแม่ยายก่อน และช่วยเป็นแรงงานให้ทางฝ่ายหญิงประมาณปีหนึ่งหรือสองปี จึงแยกมาปลูกเรือนใหม่ในที่ดินของทางฝ่ายหญิง จึงเป็นเหตุให้มีการเพิ่มจำนวนครัวเรือนขึ้น บางทีจากสมัยพ่อแม่มาถึงรุ่นลูกอาจมีเรือนเกิดขึ้น 3-4 หลัง ก็ได้ และโดยประเพณีที่ปฎิบัติทั่วไปนั้น ผู้ที่เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวคือผู้ที่จะได้รับเรือนที่พ่อแม่อยู่อาศัยเป็นมรดก เพราะเป็นผู้ที่แต่งงานทีหลัง อีกทั้งเป็นผู้ต้องคอยเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าด้วย ซึ่งมักปรากฏบ่อย ๆ ว่า ในชุมชนหมู่บ้านไทยนั้น เรือนที่เก่าแก่มักเป็นของลูกสาวคนเล็กในครอบครัว แต่จะมียกเว้นบ้านก็ต่อเมื่อครอบครัวนั้นไม่มีลูกสาวคนเล็ก แต่มีลูกชาย ก็ยินยอมให้ลูกชายคนเล็กดูแลพ่อแม่แทน และเมื่อแต่งงานแล้วก็เอาภรรยามาอยู่ด้วย

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 19:20

ปั้นลม คือ ไม้วางทับบนเชิงชายทาบทับปลายแปหัวเสาทับหลังแปลานไปวางอยู่เหนืออกไก่ทั้งสองข้าง
ทำให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายบนของปั้นลมแหลม หลังปั้นลมถากอ่อนช้อยลงมาถึงปลายที่วางอยู่บนเชิงชาย ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ เรียกส่วนนี้ว่า " ตัวเหงา"
หน้าที่ปั้นลม ป้องกันลมพัดหัวจากหรือแฝกปิดบังหัวจาก ซึ่งไม่น่าดู และเสริมสร้างความงามของหลังคาทรงสูง
ปั้นลมและตัวเหงา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดง "เน้นลักษณะเรือนไทยอย่างรุนแรง"

จากหนังสือ "บ้านไทยภาคกลาง" โดย ศาสตราจารย์ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต

ของคุณมากครับ สำหรับข้อมูลนี้และที่อยู่ในความเห็นของคุณ POJA ต่อๆมา
เรื่องปั้นลมนี้ ผมเกือบจะเขียนถามออกมาแล้วว่า เป็นเอกลักษณ์หรือไม่ ก็พอดีได้คำตอบ

สำหรับเรื่องของคำว่า เรือน และคำว่า บ้าน นั้น อ่านแล้วทำให้นึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า House และ Home ในความเข้าใจของฝรั่ง
ฝรั่งเขาว่า A house is a home without love ซึ่งดูจะเป็นการแยกระหว่างที่พักพิง (house) กับภูมิลำเนา (home)

Would you like to come to my house ? หมายถึงมาที่พักของผม (มีแต่ผมอาศัยอยู่) แต่หากลงท้ายด้วย my home หมายถึงจะได้พบกับสมาชิกของครอบครัวของผมด้วย

ในทำนองเดียวกันก็ดูจะมีการใช้คำว่า house plan หรือ house design ในความหมายที่ค่อนข้างจะจำกัดเฉพาะการออกแบบบ้านในเชิงของ conceptual แต่หากใช้คำว่า home plan หรือ home design ดูจะมีความหมายกว้างไกลครอบคลุมถึงวิถีการใช้ชีวิตในลักษณะต่างๆด้วย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงทุกอย่างว่าจะต้องมี functionality สำหรับความเป็นอยู่อย่างสุขสบายอย่างครอบครัว จึงมักจะได้ยินคำว่า cottage house มากกว่า cottage home เป็นต้น
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา     

 
จากคำบรรยายของท่าน ศ.พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ร.น. และของท่าน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม นั้น ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

   



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 19:25

สำหรับเวปที่คุณนวรัตน์ ได้กรุณาบอกมานั้น
ขอบคุณมากครับ
ชัดเจนและเข้าใจง่าย ครับ
ขอบพระคุณจริงๆ มีอะไรดีๆ ง่ายๆ ก็กรุณาบอกกล่าวอีกนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 20:00

อ้างถึง
ก้าวล่วงเข้าไปในดงสถาปนิกแล้ว ขอคาระวะและขออภัยหากข้าน้อยล่วงเกินก็ด้วยเบาปัญญา 

ท่านตั้งก็ว่าเกินปาย

อ้างถึง
ผมอาจหาญเดาเอาเองว่า เรือน ดูจะมีความหมายในตรงกับลักษณะที่เป็นตัวสิ่งก่อสร้าง (คือ house) ในขณะที่บ้าน ดูจะหมายถึง home (มีญาติอยู่กันเป็นครอบครัว)

แต่ไหนๆก็ก้าวล่วงมาและล่วงไปถึงเมืองฝร่งมังค่าแล้ว ลองแปลประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษหน่อยเถิดครับ

บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 20:09

ฝากคำกลอนฝรั่งให้คุณ naitang ครับ เป็นกลอนที่ท่องเมื่อเด็ก ๆ ยังจำได้ดีครับ จึงนำมาฝากให้ครับ  ยิงฟันยิ้ม

"A House is made of brick and stone, But Home is made of LOVE alone"
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 20:19

ในสมัยที่ทำงานออกต่างจังหวัด เข้ารกเข้าพงอยู่นั้น ผมใช้ข้อสังเกตจากสภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวหลายๆอย่างประกอบกันเป็นตัวบ่งชี้ข้อมูลอันพึงไปแสวงหาและพิสูจน์ทราบ

กรณีหลังคาของชาวบ้าน นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง

หลังคาบ้านหรือเขียงนา ที่ทำจากใบตองตึง (ใบต้นพลวง) ซึ่งอาจจะมีใบของต้นเหียงปนอยู่ด้วยบ้างนั้น บ่งชี้ว่าในพื้นที่นั้นจะต้องมีป่าที่เรามักจะเรียกกันว่าป่าเต็งรัง ซึ่งมีต้นพลวง (ตองตึง) และต้นเหียงขึ้น ชาวบ้านไปเก็บเอาใบของต้นไม้นี้ (คล้ายๆใบต้นสัก) มาร้อยตอกให้เป็นตับแล้วนำไปมุงหลังคา ส่วนมากก็จะเป็นการนำไปมุงเขียงนา มากกว่าที่จะนำมามุงหลังคาบ้าน แต่หากจะมุงบ้านก็จะวางตับถี่สักหน่อย (กันฝนรั่วได้ดีหน่อย) หากเป็นแบบเฉพาะกิจ ฉาบฉวยชั่วคราว ก็จะมุงตับห่างหน่อย  
หากมีบ้านหลายหลังในหมู่บ้านหนึ่งมุงหลังคาด้วยตองตึง ก็มักจะบ่งชี้ถึงสภาพทางเศรษฐกิจ สภาพการเริ่มขยายตัวของหมู่บ้านจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามา หลังคาบ้านพวกนี้ไม่มีปั้นลม มักจะใช้สังกะสีมาครอบสันหลังคา

อ่านอะไรได้บ้าง ขอเว้นวักไปทำธุระก่อนครับ  

    
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 21:29

ท่านนวรัตน์ครับ
จะขอลองแปลดู ข้างๆคูๆไม่ว่ากันนะครับ ซึ่งคงจะได้หลายรูปแบบ

บ้านของเรานั้นมีตึกของคุณปู่คุณย่าอยู่ตรงกลาง มีสนามคั่นอยู่ระหว่างเรือนของผมกับเรือนของน้องสาว

In our living land (living corner, property, estate), my grand parents' house (living mansion, building) is an egg yolk, surrounded by a green lawn, me and my sister houses (อาจะใช้ home ก็ได้ แต่ดูจะขัดๆยังไงๆพิกลอยู่) are on the periphery (of the lawn).

Our land (property) comprise of three houses, me and my sister's living corner are housing on either side of my grand parents' building, separated by a green lawn.

นึกไม่ออกแล้วครับ   

   
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 21:44

ขอบคุณที่เล่นด้วยนะครับ

แต่ผมจะมิบังอาจตรวจการบ้านท่านตั้ง รออาจารย์ใหญ่ท่านเข้ามาเม้นก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 21:51

   อ.สมภพ ให้ความเห็นอย่างสถาปนิก อ.ศรีศักร ให้ความเห็นทางสังคม-มนุษยวิทยา ค่ะ

   แต่โบราณมา บ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ใด ก็มักจะใช้ทรัพยากรในบริเวณนั้นมาประกอบขึ้น ตับจากหรือใบตองตึง ก็ใช้กันทั่วไปทั้งโลก เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายทั่วไป ก่อนที่จะมีเครื่องมือประดิษฐวัสดุมุงอื่น ๆ ที่แข็งแรงถาวรขึ้น จัดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละแห่งแต่ละที่ ทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ความเชื่อต่างๆ
  จนมาถึงยุคปัจจุบัน ผู้ที่มีฐานะส่วนใหญ่ จึงได้เปลี่ยนเป็นวัสดุที่คงทนถาวรมากขึ้น อีกทั้งทรัพยากรมีจำกัด ตับจากหรือใบตองตึงหาไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ผู้คนที่ยังใช้อยู่จึงมีอยู่ 2 พวก คือ มีฐานะ พอที่จะจัดหาวัสดุมาเปลี่ยนได้ หรือยากจนเกินกว่าจะเปลี่ยนใหม่ สังกะสีเป็นวัสดุที่ถูกพอจะเป็นทางเลือกให้ใช้ได้ ไม่ได้ใช้เป็นปั้นลมหรอกค่ะ แต่เป็นวัสดุมุงเลยทีเดียว

  ไม่ใช่ว่าบ้านไทยทุกหลังจะมีปั้นลม หรือ บ้านไม่มีปั้นลมไม่ใช่บ้านไทยนะคะ
  เรือนไทยยังมีอีกหลายแบบ ยังมีอยู่อีกมากให้ได้ศึกษาหาชมกันค่ะ

  บ้านมุงจาก มุงหญ้า สวยๆ ยังมีอีกเยอะค่ะ ตัวอย่างเมืองไทยอาจยังไม่ชัด ลองดูที่ญี่ปุ่น หรือที่อินโดนีเซีย ที่อินโดฯ นี้ ทรงหลังคาแต่ละที่ น่าตื่นตาตื่นใจทั้งนั้นเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 21:57

เรียนถามท่านนวรัตน์ครับ
ผมติดใจกับคำว่า อะเส กับ จันทัน
ดูไม่น่าจะใช่คำที่มีต้นกำเนิดจากช่างไทย เอามาจากที่ใหนหรือเปล่าครับ หรือว่าเป็นคำเรียกของช่างไทยแต่โบราณแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 22:08

ไม่ทราบจริงๆครับ

ไม่ทราบเหมือนที่ทำไมเขาเรียกตงว่าตง อกไก่ว่าอกไก่ ดั้งว่าดั้ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 23:15

House.  หมายถึงที่อยู่อาศัย. บอกในความหมายของรูปธรรม. จะเป็นตึกเป็นไม้.  สองชั้นสามชั้น ขนาดเล็กใหญ่ยังไง นี่คือความหมายของhouse.    แต่ถ้าhome.  มันแฝงความหมายเชิงนามธรรม. มีอารมณ์ผูกพันอยู่ด้วย.     
บ้านที่ปลูกสำเร็จเรียบร้อย.  พร้อมจะอยู่ได้ทันที. แต่ยังไม่มีคนอยู่ เป็น house.    แต่พอมีคนเข้าไปอยู่อาศัย. ที่นั่นเป็น home
จึงมีเพลง.  Home. Sweet. Home,  there's no place like home.  ซึ่งไม่สามารถจะแทนเป็น house sweet house.  ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง