เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17
  พิมพ์  
อ่าน: 111547 ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบไทย
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 21:43

อันที่จริง สัดส่วนที่ผมว่าเป็นGolden Proportionของสถาปัตยกรรมไทยนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Golden Proportion ของฝรั่ง ที่ลีโอนาร์โด ดา วินชี คิดขึ้นแม้น้อย
ส่วนชาวตะวันตกจะยอมรับว่าสถาปัตยกรรมไทยงามเพราะสัดส่วนที่ว่าหรือไม่ผมก็ไม่เคยได้ยิน แต่ทราบว่าเขาทึ่งในศิลปสถาปัตยกรรมของพระบรมมหาราชวังว่า เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ประดับประดาอย่างงดงามไปทุกรายละเอียด

สำหรับตัวผมคิดว่า คงไม่มีใครเห็นของดีของชาติตนด้อยกว่าของใคร
แต่สัดส่วนที่เหมาะสำหรับเรือนไทย ถ้าเอาไปทำบ้านญี่ปุ่น บ้านฝรั่ง บ้านจีน ก็คงไม่ใช่เหมือนกัน

ส่วนหนังสือของท่านอาจารย์ใหญ่ สมภพ ภิรมย์นั้น ท่านกรุณาเขียนมอบและลงนามกำกับให้ผมรับจากมือของท่านเอง แต่ในนาทีที่ต้องการนี้ ผมหาไม่เจอ ที่เขียนไปก็จากความจำที่เรียนมาทั้งสิ้น  ท่านอาจารย์สมภพไม่เคยสอนผมก็จริง(เพราะท่านเป็นอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) แต่ถ้ามีอะไรต่างไปจากที่ผมเขียน คุณปูยำกรุณาแก้ไขให้ผมด้วยครับ


บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 22:26

ขอโทษด้วยครับ ผมได้หนังสือมาเพราะผมไม่มีความรู้เรื่องบ้านไทยแต่ต้องปลูกบ้านไทยครับ
และอยากได้สวยแบบไทยเลยต้องหา ไม่มีสิ่งใดที่ผมต้องเพิ่มเติม ขอรับฟังต่อครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 18:19

หารูปเรือนไทยหมู่ และเรือนไทยเดี่ยว มาเปรียบเทียบกัน ตามความเห็นของคุณตั้งค่ะ

อีกรูปแบบหนึ่งของหลังคาบ้านไทยที่เห็นเป็นประจำ คือมีการต่อชายคาให้ครอบคลุมส่วนที่เป็นลานบ้าน ตามรูปบ้่านเดี่ยวที่คุณเทาชมพูได้กรุณาค้นมา ลักษณะนี้ดูเหมือนจะทำกันแทบจะทุกบ้านตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของความเป็นลักษณะพิเศษอะไร แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า คงเป็นเรื่องที่อยู่ใน mind set ของคนไทย เพราะไม่ค่อยเห็นกระทำกันในประเทศต่างๆ จะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศเนื่องด้วยอยู่ในเขตร้อนก็ใช่ ทั้งแดด ทั้งฝน และทั้งร้อน ก็ต้องมีอะไรบังกันบ้าง --ถึงเรือนชานต้องต้อนรับ-- ไทยมิใช่เป็นเขตอากาศหนาวที่จะต้องมีห้องหับปิดมิดชิดไปทั้งบ้าน
อีกประการหนึ่ง อาจจะเพราะลักษณะของสังคมครอบครัวและการชอบการขยายและต่อเติม จากบ้านเดี่ยวจึงกลายเป็นขยายต่อติดกันเป็นแพ เป็นเรือนขนาดใหญ่ หนึ่งเรือนจึงมีได้หลายจั่วหลังคา แทบจะนับได้ว่ามีกี่ห้องนอน เพราะแต่ละห้องนอนก็จะมีหนึ่งหลังคา นอนหันหัวไปทางทิศใหนยังแทบจะบอกได้เลย เพราะไม่นอนขวางกระดานกัน ค่อนข้างจะต่างกับบ้านเรือนในประเทศอื่นๆเขาที่เคยเห็นซึ่งมักจะอยู่ในชายคาเดียวกัน แน่นอนว่าเรื่องของการขยายบ้านต่อกันเป็นแพนี้เป็นที่นิยมกันในภาคกลาง ภาคอื่นๆยังคงเป็นลักษณะบ้านเดี่ยวเสียเกือบทั้งหมด 
คิดเองเออเองนะครับ ไม่ได้มีภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมเลย กระทู้นี้ตั้งขึ้นมาเป็นเรื่องของความอยากรู้มากกว่าครับผม     
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 19:49

ดิฉันคิดง่ายๆว่า ลักษณะเรือนไทยที่สัดส่วนหลังคาเป็น 1:3  อย่างที่คุณนวรัตนอธิบายไว้  บวกกับขนาดของเสาที่ตัดจากไม้ขนาดพอเหมาะ   ทำให้เรือนเดี่ยวภาคกลางของไทยมีขนาดกะทัดรัดโดยอัตโนมัติ      ถ้าหากว่าจะสร้างเรือนเดี่ยวให้ใหญ่โตมโหฬาร   สัดส่วนนี้ก็ต้องเพิ่มขนาดขึ้นไปเป็นเงาตามตัว    มันคงออกมาเทอะทะมากทีเดียว   ลองนึกภาพเรือนไทยเดี่ยวขนาดสักครึ่งหนึ่งของตึกไทยคู่ฟ้าดู   มันคงทั้งสูงทั้งใหญ่  ราวกับจะให้ยักษ์อาศัยมากกว่าคน
แต่ถ้าสร้างความสูงเท่ากับ 1  แต่ขยายความยาวของหลังคาจาก 3  ออกไปเป็น 8  หรือ 10   เรือนไทยคงจะออกมายาวเฟื้อยเป็นระเบียงวัด
เพราะฉะนั้น  ขยายเรือนออกไปเป็นหมู่  โดยแต่ละเรือนก็ยังคงขนาดเดิมอยู่ น่าจะเป็นสัดส่วนที่งามที่สุด
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 21:08

ภาพนี้เขาว่าเป็นบ้านเก้าห้อง อยู่ที่บางปลาม้า สุพรรณครับ


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 21:56

เอาบทความสั้นๆจากใน fb ที่พี่สาวท่านหนึ่งกรุณาเขียนไว้มาฝากกันครับ
เป็นเรื่องสถาปัตยกรรมของ 'เมืองเหนือ' หรือ หัวเมืองฝ่ายเหนือ ของกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป
คาดว่าเนื้อหาน่าจะใกล้ๆ เคียงๆ กับเนื้อหาในกระทู้นี้อยู่พอดี

ที่จริงบทความชิ้นนี้สำหรับผม เป็นของอ่านง่าย และเข้าใจได้ง่าย
เนื่องจากคนอธิบาย อธิบายได้ค่อนข้างชัดเจนดี (ที่ถูกควรเป็นดีมาก)
แต่ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดไม่สันทัดกรณีกับศัพท์ช่างบางคำ อยากจะถามคำถาม
ก็ขอให้ถามมาเถิดนะครับ มิฉะนั้นคนโพสต์จะไม่รู้ว่าคนอ่านไม่เข้าใจในจุดไหนครับผม


 
          สถาปัตยกรรมทางภาคเหนือของเรามีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันหลายกลุ่ม แบ่งง่ายๆเปน 4 กลุ่มคือ
 
1. กลุ่มสุโขทัย
          ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์
 
2. กลุ่มล้านนา
           อันที่จริงกลุ่มนี้เปนกลุ่มที่สัมพันธ์กับล้านช้างด้วยเคยร่วมในอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตด้วยกันในสมัยอยุธยา พอมาพิจารณาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็จะพบว่าห่างกันไปเสียแล้ว กลุ่มนี้มีเปนคู่ๆที่คล้ายคลึงกันคือ เชียงใหม่-เชียงราย ลำพูน-ลำปาง แพร่-น่าน (ไม่รวมแม่ฮ่องสอนในนี้นะคะ เพราะมิได้เปน เมืองมาก่อน เปนชุมทางของคนที่ข้ามจากรัฐฉานมาไทย แต่ต่อมาคนมาอยู่มากเลยเปนชุมชนใหญ่)
 
3. กลุ่มล้านช้าง
          ศูนย์กลางใหญ่คือหลวงพระบาง จะมีเมืองอื่นๆอีกบ้างแต่งานจะเปนโบราณสถานเสียเปนส่วนใหญ่เช่นหลวงน้ำทา เปนต้น
 
4. กลุ่มสิบสองปันนาหรือยูนาน
          ศูนย์กลางคือเมืองเชียงรุ้ง เมืองล่า เมืองฮาย ฯลฯ
 
           ทุกกลุ่มเจริญเมื่อ 800 ปีลงมา และด้วยความที่เคยสัมพันธ์กันจึงมีหลายอย่างที่มาคล้ายกันเช่น
 
1. ขนาด
          มักมีขนาดที่พอดี (ถ้าประเมินด้วยคนรุ่นใหม่อาจว่าเล็ก) ยกเว้นที่เปนวิหารหลวงจะใหญ่ อันนี้จะส่งผลไปยังการซ้อนของหลังคาด้วย
 
2. ผัง
          แน่นอนที่จะเปนสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ยกเว้นมณฑปต้องเปนจตุรัส) มีการออกแบบเปนไวยกรณ์ที่พอสรุปคร่าวๆได้ว่า
 
          2.1 เปนผังผืนผ้าเรียบๆ มักจะเปนวิหารที่เปนวิหารโถง (เปิดโล่งหมด) หรือกึ่งโถง (คือปิดผนังด้านสกัดด้านหลังหรือบางทีเรียกด้านฝาหุ้มกลองเสีย)
 
          2.2 แบบมีมุขด้านหน้า: มุขของเหนือจะไม่ลดขนาดลงมากแบบภาคกลางบางทีจะน้อยกว่าผนังประธานเพียง 1-1.5 เมตรเท่านั้นก็มี
 
          2.3 แบบมีมุขด้านหน้าและย่อด้านหลัง จะออกแบบมาโดย "ไม่ให้" มีลักษณะสมมาตร โดยปกติด้านหน้าจะยาวกว่าด้านหลัง ซึ่งก็จะส่งผลกับการซ้อนหลังคาด้วย
 
3. โครงสร้างของอาคาร
          โครงสร้างของอาคารจะมี 2 ระบบ คือ
 
          3.1 แบบเสากับคาน (Post & Lintel) จะหมายถึงเสาร่วมใน (เสา 2 แถวที่ขนานกันภายในวิหาร) ซึ่งโครงหลังคารูปสามเหลี่ยมที่เรียกว่า "จันทัน" อยู่ด้านหน้าและด้านหลังอยู่ 2 อัน แต่วิหารมีขนาดยาวกับมีเสาร่วมในหลายคู่ จึงรองรับจันทันอื่นๆอีกหลายตัวเรียกกันว่า "จันทันพราง" ช่วงเสาร่วมใน 1 ช่วงเสา (Span) จะเรียกว่า"ห้อง" (เช่นวิหารมี 4 ช่วงเสาก็เรียกว่ามี 4 ห้อง เปนต้น) โครงสร้างนี้จะนำมาใช้ในวิหารโถงหรือศาลา
 
          3.2 แบบผนังรับนำ้หนัก (Baring Wall): อันนี้หมายถึงการก่อสร้างที่มีการก่ออิฐถือปูน อาจจะมีเสาประดับผนัง (Pilaster) หรือไม่มีก็ได้ มารับจันทันหรือชายคาปีกนก โดยจะมี "ตุ๊กตา" ยื่นมาจากเสามาวางบนผนัง ตุ๊กตา เปนระบบโครงสร้างไม้เล็ก บางทีเรียก "เต้า" จะเกาะอยู่ที่เสาร่วมใน (ด้่านบนรับจันทันถัดลงมารับปีกนก) แล้วถ่ายน้ำหนักไปที่ผนัง ถ้าวิหารใหญ่เสาร่วมในอาจมีด้านละ 2 แถวก็ได้ เสาที่อยู่ตรงมุมอาจมี "เต้ารุม" คือมีปีกนกมาจาก 2 ทางก็ได้เช่นกัน
 
4. ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
          วิหารจาก 4 กลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน คืออยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศเย็น ดังนั้นจึงมีปีกนกชั้นสุดท้ายที่ค่อนข้างเตี้ยเพราะไม่ต้องการลมมาก จันทันจะไม่มีนาคสะดุ้งเรียกว่า "ตัวรวย" ทำได้หลายอย่าง เช่น เปนเซรามิคส์ (สุโขทัย) หรือที่เปนไม้ (ล้านนา, ล้านช้าง และสิบสองปันนา) ตัวสัตว์ที่นำมาตกแต่งจะมีทั้ง นาค นกยูง นกเจ่า นกหัสดีลิงค์ ฯลฯ ด้านหน้าจะเปนการจำหลักไม้ตกแต่งประดับกระจกหรือแผ่นโลหะลงยา ที่หน้าบัน ชั้นลอ ช่องอุดปีกนก และสาหร่ายรวงผึ้ง หรือที่บางทีเรียก โก่งคิ้ว ถัดไปด้านหน้าจะเปนช่วงโถงลักษณะกึ่งปิดล้อม มีประตูเข้าสู่โถงใน ซึ่งจะตกแต่งด้วยเทคนิคหลายหลาก มีทั้ง ลายรดน้ำ (มีทั้งที่เปนรักแดงและรักดำ) และปิดทองล่องชาด ฯลฯ
 
          อาณาจักรทั้งหมดที่กล่าวจะมีรายละเอียดที่ต่างกันและส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน แต่จากภูมิประเทศแล้วจะพบว่าที่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) จะรับอิทธิพลจากทุกที่รวมมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย
 
          สำหรับเวียงจันทร์ตัวแปรเยอะมากค่ะ อิทธิพลที่สำคัญคือกรุงเทพฯ หลายๆอย่างของเวียงจันทร์จะได้รับอิทธิพลรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาก่อน พอเข้าช่วงรัชกาลที่ 4 อิทธิพลฝรั่งเศสก็เข้ามา งานแบบ colonialism จะเข้ามาครอบงำแล้วส่งอิทธิพลมายังอุดรธานี หนองคาย นครพนมด้วย แต่เปนเฉพาะเรือนไม้ที่เปนที่ อยู่อาศัยริมฝั่งแม่นำ้โขงนะคะ ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มทีเพราะเปนเรือนไม้คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนเปนตึกกันค่ะ แล้วก็กันเรื่องนำ้ท่วมไม่ได้
 
         อันที่จริงกรณีเวียงจันทร์เปนกรณีศึกษาที่สำคัญ ถ้านำไปเทียบกับพม่า ความจริงก็เลวทั้งสองประเทศแหละค่ะ แต่ถ้ามองไปลึกๆอังกฤษยังทิ้งเรื่องการศึกษาไว้ ดิฉันเคยคุยกับแรงงานพม่าซึ่งเขาเคยวิจารณ์ไว้ว่า น.ศ. ไทยภาษาอังกฤษแย่มาก เรียนแล้วใช้การไม่ได้ ฝรั่งถามก็ตอบไม่ได้ ส่วนลาวนั้นฝรั่งเศสไม่ได้ทิ้งอะไรที่มีค่าไว้เลย นอกจากรสนิยมของตนที่คนลาวก็ดำเนินต่อมา ถ้าไป อุดร สกล มุกดาหาร นครพนม ยังทาน baquette (ขนมปังฝรั่งเศสท่ีแข็งๆ ยาวๆ) อยู่เลยมีทั้งที่เปน sandwich, hamburger หรือ ที่ดัดแปลงก็คือไข่กะทะ ถ้าลองไปเที่ยวเมืองไกลๆ เช่น เมืองหลวงน้ำทา จะพบว่าของบริโภคพื้นฐานจะเปน ของจากไทย แต่ที่หรูหราเช่นแยม หรืออะไรอย่างอื่นจะเปนของจากฝรั่งเศส ลองหลับตาถึงเมืองที่ทั้งเมืองมีอาคารสูงสุดเพียงสามชั้น คนอยู่กันอย่างเงียบๆแต่ใช้ของจากประเทศเจ้าอาณานิคมดูนะคะ.. น่าเศร้าค่ะ้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 18:59

ขอบพระคุณมากครับ อ่้านเข้าใจง่ายและชัดเจน ได้ความรู้อีกมากมายเลยครับ

สำหรับกลุ่มล้านนา ที่น่าสนใจจากข้อมูลก็คือ มีลักษณะคล้ายกันเป็นคู่ๆ
เชียงใหม่ - เชียงราย เรื่องนี้ผมไม่ค่อยจะแปลกใจ แม้ว่าทั้งสองจังหวัดจะอยู่กันคนละแ่อ่งที่มีภูเขาล้อมรอบ ทั้งนี้เพราะมีการไปมาหาสู่กันแต่โบราณมา ที่ตัว จ.เชียงราย มีประตูเชียงใหม่ เป็นต้นทางเส้นทางเิดินล้อ (เกวียน) ไปเชียงใหม่ ผ่านบ้านเด่นห้า ผ่านหนองปึ๋ง แล้วแวะพักที่บ้านท่าล้อหรือประตูล้อ ก่อนจะเดินทางต่อไปผ่านบ้านดงมะดะ ไปเลาะตามน้ำแม่ลาว ไป อ.แม่สรวย เวียงป่าเป้า แม่ขะจาน ข้ามดอย ลงดอยสะเก็ด เข้าเชียงใหม่ (รู้สึกว่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรด้วย) เส้นทางสายนี้คงเป็นเส้นทางหลักที่สำคัญต่อมาอีกนาน ในสมัย ร.5 แนวเส้นทางวางสายโทรเลขระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย ก็ไปตามเส้นทางนี้ ผมไม่แน่ใจว่าก่อนหรือหลังเงี้ยวพยายามจะปล้นเมืองเชียงราย คิดว่าหลังเหตุการณ์นั้น ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ดูจะเป็นต้นเหตุทำให้มีการตั้งจังหวัดทหารบกขึ้นมาในเวลาต่อมา คนจากเมืองแพร่ก็ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางนี้พอสมควรเหมือนกัน ซึ่งย้ายหนีมานานแถวๆ 100 ปีแล้ว ก็แปลกที่ไม่ไปอยู่แถวๆงาวซึ่งใกล้กว่า ผมเข้าใจเอาเองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการย้ายหนีด้วยความกลัวจากเหตุการณ์ในช่วงเมืองแพร่ถูกปล้นโดยเงี้ยว

ถัดมาก็เป็นคู่ แพร่ - น่าน อันนี้ก็ไม่แปลกใจเท่าใด เพราะเป็นเมืองพี่น้องกันมานานและอยู่ห่างกันไม่มาก แม้ว่าจะอยู่กันคนละแอ่งและคนละลุ่มน้ำ (ยม น่าน) แต่ก็มีช่องเขาที่สามารถลัดเลาะข้ามไปมาหาสู่กันไม่ยาก จากเชียงรายไปน่านนั้นดูจะเดินทางยากมากกว่า แม้จะมีเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เทิง เชียงคำ ปง จุน
พิจารณาในภาพนี้ พะเยาซึ่งก็เป็นเมืองเก่า คงน่าจะมีต้องลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คละมาก เพราะไปมาหาสู่ได้ง่ายทั้งเชียงราย (ผ่านแม่ใจ พาน) และแพร่ (ผ่านงาว ร้องกวาง สอง ป่าแดด ซึ่งที่จริงแล้วเมืองที่กล่าวชื่อมาทั้งหมดนี้ไปมาหาสู่กันได้ไม่ยากเลย
 
คู่ลำพูนกับลำปางนี้น่าสนใจ เพราะเชียงใหม่กับลำพูนนั้นอยู่ในแอ่งเดียวกัน อยู่ไม่ห่างกัน แล้วยังอยู่บนแม่น้ำปิงเดียวกันอีกด้วย ลำพูนกับลำปางจะข้ามไปมาหาสู่กันค่อนข้างจะยากด้วยอยู่กันคนละแอ่ง และมีเทือกเขาขุนตาลซึ่งสูงขวางกั้นอยู่ อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมในลักษณะคู่นี้น่าจะเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ได้พอควรเลยทีเดียว

สำหรับกลุ่มสุโขทัยนั้น ดูจากชื่อย่านแล้ว พอจะเห็นภาพได้ว่า อาคารบ้านเรือนคงจะต้องเป็นลักษณะของการยกระดับพื้นให้สูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ราบลอนคลื่น มีน้ำท่วมแต่ระดับไม่สูงมากนัก ไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน เป็นลักษณะของน้ำหลากผ่าน ต่างจากพื้นที่ลุ่มภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีน้ำท่วมขังเป็นประจำปี อาคารบ้านเรือนจึงมีการยกพื้นสูง หลังคามีมุมความลาดชันสูงเพราะฝนตกมาก สถาปัตยกรรมในพื้นที่ย่านนี้สอดคล้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางสังคม

มีข้อสงสัยอยู่ประการหนึ่งครับ
ชื่อต่างๆที่เรียกในโครงสร้างของหลังไทยนั้น เกือบทั้งหมดมักจะเป็นคำพยางค์เดี่ยว เช่น ขื่อ แป จั่ว อก แม้จะมีสองพยางค์ก็เข้าใจได้ แต่อย่างคำว่า อะเส จันทัน จันทันพราง เหล่านี้มาจากภาษาใดครับ หรือเป็นภาษาไทยแต่โบราณกาล       

   
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 19:20

บ้านพักชาวต่างประเทศที่หลวงพระบาง อยากให้ อ.NAVARAT.C ช่วยวิเคราะห์เรือน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 19:38

เคยเห็นภาพชาวกลุ่มน้อยแถวเพชรบุรี บ้านมุงแฝกทั้งหลัง แต่หลังคานั้นลาดลงจนถึงพื้น ถ่ายไว้เมื่อ ค.ศ. 1870


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 19:40

^
เห็นเรือนในรูป 22 แล้วนึกถึงข้างล่างนี้


บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 11:35

รูปแบบหลังคาบ้านแบบไทยๆ
1.หลังคาเพิงหมาแหงน คือ หลังคาที่เอียงไปด้านเดียว
2.หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว คือ หลังคา ที่มีสันตรงกลาง และลาดลงทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดีเนื่องจากชายคายื่นยาวสองด้านส่วนด้านสกัดหรือด้านแคบ แม้ยื่นชายคาไม่ได้มากก็ไม่นิยมทำหน้าต่างด้านนี้
3.หลังคาทรงปั้นหยา ได้แพร่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝน ได้ทุกด้าน แต่ราคาแพงกว่าแบบจั่ว ได้กลายเป็นหลังคารูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะหลังคาทรงนี้สามารถยื่นชายคาเพื่อบังแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน การระบายน้ำฝนและการป้องกันการรั่วซึม ค่อนข้างจะเสียเปรียบหลังคาจั่ว เนื่องจากมีรอยต่อมากกว่าแต่ถ้ามุงได้ถูกวิธีและดูแลรักษาตามสภาพก็จะไม่รั่วซึม
4.หลังคาปีกผีเสื้อ

รูปแรก   หลังคาทรงมนิลา
รูปที่สอง หลังคาเพิงหมาแหงน
รูปที่สาม หลังคาทรงปั้นหยา




บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 17:31


2.หลังคาทรงมนิลา หรือหลังคาหน้าจั่ว คือ หลังคา ที่มีสันตรงกลาง และลาดลงทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดีเนื่องจากชายคายื่นยาวสองด้านส่วนด้านสกัดหรือด้านแคบ แม้ยื่นชายคาไม่ได้มากก็ไม่นิยมทำหน้าต่างด้านนี้
3.หลังคาทรงปั้นหยา ได้แพร่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป เป็นหลังคาที่กันแดดกันฝน ได้ทุกด้าน แต่ราคาแพงกว่าแบบจั่ว ได้กลายเป็นหลังคารูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะหลังคาทรงนี้สามารถยื่นชายคาเพื่อบังแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน การระบายน้ำฝนและการป้องกันการรั่วซึม ค่อนข้างจะเสียเปรียบหลังคาจั่ว เนื่องจากมีรอยต่อมากกว่าแต่ถ้ามุงได้ถูกวิธีและดูแลรักษาตามสภาพก็จะไม่รั่วซึม

ขอแก้ไขค่ะ หลังคาทรงมนิลา ไม่ใช่หลังคาหน้าจั่ว แต่เป็นหลังคาทรงปั้นหยา ที่ทำหน้าจั่วเล็ก ๆ ที่ด้านสกัดทั้งสองด้าน
หลังคาทรงจั่ว (Gable) คือแบบที่มีผืนหลังคาสองด้านชนกันที่สันหลังคา เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมที่ด้านสกัด เรียกว่า หน้าจั่ว
หลังคาทรงปั้นหยา (Hip)
หลังคาทรงมนิลา (Gable-Hip)
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 17:52

^
เห็นเรือนในรูป 22 แล้วนึกถึงข้างล่างนี้

ภาพน่าจะผิดส่วนกระมังครับ.................

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 19:29

ได้ความรู้ ได้เห็นทรงหลังคาในไทยอีกหลายแบบ และชื่อเรียกลักษณะหลังคาอีกด้วย ขอบพระคุณมากครับ

ภาพตามความเห็นที่ 23 นั้น เข้าใจว่าเป็นบ้านของพวกโซ่ง (ลาวโซ่ง) คล้ายๆกับของชาวลาวในสมัยก่อนๆโน้น เมื่อนำรูปแบบเดิมๆมาสร้างในแถบเพชรบุรี (คิดว่าตั้งแต่แถวๆท่ามะนาวไปจนถึงเพชรบุรี) หลังคาลักษณะนี้คงจะร้อนแย่ เพราะเป็นลักษณะของหลังคาที่เหมาะกับอากาศเย็น แต่ก็อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้น อากาศค่อนข้างจะไม่ร้อนเหมือนในปัจจุบัน หรือไม่ก็เพราะจั่วที่เปิดช่อง ทำให้อากาศร้อนซึ่งลอยตัวขึ้นสูงได้ระบายออกไป
ก็มีสิ่งที่น่าสนใจในภาพนั้น คือ เกวียน ซึ่งดูจะเป็นลักษณะของเกวียนแบบภาคกลาง ปนเหนือ ปนอิสาน ซึ่งดูได้จากขนาดของล้อ ส่วนที่ใช้บรรทุกของ ฯลฯ ซึ่งก็ดูจะเหมาะสำหรับพื้นที่ราบค่อนข้างลุ่มอย่างเพชรบุรี

จากข้อมูลและความเห็นต่างๆที่ได้อ่านมา ทรงหลังคาที่พบเห็นในไทยทั้งหลาย คงได้รับอิทธิพลมิใช่เฉพาะจากข้อจำกัดทางวัสดุและสภาพทางภูมิอากาศ แต่ยังได้มาจากการยอมรับสังคมและวัฒนธรรมจากที่อื่นๆร่วมไปด้วย เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

แล้วไม้แป้นที่ปิดเลาะลงมาตามจั่วจนถึงชายคา แถมมีปลายงอนแหลมชี้ฟ้า โดยภาพรวมๆนะครับ เป็นลักษณะเฉพาะของหลังคาแบบไทยหรือไม่ครับ     
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 10:56

น่าจะหมายถึง ไม้ปั้นลม กระมังคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง