เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 63159 เจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมียะ
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 15:51

มะเมี๊ยะ เป็นเรื่องจริง หรือไม่คะ  ฮืม
จากบทความข้างล่าง น่าจะเป็นเรื่องจริง ปนนิยาย จากจินตนาการของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ตามที่เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ หลานอา ของเจ้าน้อยศุขเกษมกล่าวถึงนะคะ
http://www.compasscm.com/issue/Feb10/module_back.asp?content=Feb10/scoop&lang=TH


"เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ กล่าวในฐานะคนในว่า “เรื่องมันไม่ได้เป็นนิยายอย่างนั้น มันไม่ได้ใหญ่โตจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพียงแต่มันไม่เหมาะสม เพราะตามตำแหน่ง เจ้าน้อยฯ ต้องเป็นเจ้าหลวงในอนาคต หลายคนคงลำบากใจที่ได้เมียเป็นชาวพม่า และที่สำคัญ อุตส่าห์ส่งไปเรียนหนังสือ กลับได้เมียมา เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องไม่พอใจ คงเหมือนสมัยนี้แหละ บางคนก็ต่อว่าเจ้าปู่เรา (เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ) ว่าแบ่งขีดแบ่งชั้นกีดกันความรัก ความจริงอีกอย่างคือเจ้าอาว์ (เจ้าน้อยศุขเกษม) ก็รูปหล่อ เป็นลูกเจ้าอุปราชฯ ท่านก็เป็นคนสำราญตามประสาเจ้าชายหนุ่ม และตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ท่านมิได้หมกมุ่นตรอมใจจนตายอย่างนิยายว่า เรื่องเพิ่งจะมาเศร้าโศกปวดร้าวเมื่อคุณปราณี ขยายให้เป็นนิยายนี่เอง และถ้าเรื่องนี้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางจะปิดชาวเชียงใหม่ได้มิดหรอก ”

“เมื่อต้นปี 2523 คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่ใกล้จะเสร็จ จึงเขียนชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ ควบคู่กันไปด้วย คุณปราณีว่า เรื่องมะเมียะ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่าง ๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้า หรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้น  เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่า เรื่องราวต่าง ๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย คุณปราณี เล่าต่ออีกว่า เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่าพี่) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ก็ติดอยู่ที่ว่าไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อยฯ จึงจำเป็นต้องสมมติชื่อขึ้น ให้ชื่อว่ามะเมียะ ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิงไทใหญ่ที่พี่รู้จักดีและมีบ้านอยู่ใกล้กัน ที่ใช้ชื่อนี้เพราะจำง่ายสะดุดหู"
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 16:26

จากคำพูดของเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ท่านไม่ได้ปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นค่ะ กลับยืนยันว่าเจ้าน้อยศุขเกษมมีภรรยาเป็นพม่าและเอากลับมาเชียงใหม่ด้วย แต่ตอนหลังต้องเลิกรากัน เพียงแต่ท่านอยากลดความร้อนแรงของประเด็นที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ ปฏิเสธเจ้าน้อยศุขเกษมไม่ได้ตรอมใจตาย และเรื่องมันไม่ได้ดราม่าขนาดนั้น

ส่วนประเด็นว่าสาวพม่าคนนั้นชื่อมะเมียะจริงหรือไม่หรือเป็นชื่อสมมติที่คุณปราณีนำมาจากผู้หญิงไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในซอยเดียวกันรึเปล่า ก็มีเค้าเป็นไปได้ค่ะ เพราะมีการตามกันไปถึงบ้านคุณปราณีและพบว่าเข้าเค้าอยู่ตามข้อมูลด้านล่าง ... มีคำอธิบายอยู่สองแบบ มะเมียะเป็นนิยายที่แต่งขึ้นล้วนๆ หรือมะเมียะเป็นชื่อสมมติที่มอบให้กับสาวพม่าที่ไม่รู้ชื่อจริงซึ่งเคยเป็นคนรักของเจ้าน้อยศุขเกษม

"มะเมียะมีจริงหรือ

ประเด็นนี้เกิดจากจดหมายจากผู้อ่านนาม เหนือฟ้า ปัญญาดี ส่งถึงบรรณาธิการหนังสือพลเมืองเหนือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม  2548 หลังจาก อาจารย์จีริจันทร์  ประทีปะเสน ตีพิมพ์หนังสือ ชื่อมะเมียะ ได้ 1 ปี เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงการตามหาแม่ชีชื่อมะเมียะ ที่เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า แต่พบเรื่องของแม่ชีด่อนางเหลี่ยน แทน

เหนือฟ้า ปัญญาดี พยายามไขปริศนานี้ โดยเขียนเล่าในจดหมายฉบับดังกล่าว ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเนื้อหาในจดหมาย (เกือบทั้งหมด) มาเล่าต่อ ขอกราบขอบพระคุณนักเขียนปริศนาท่านนี้ มา ณ ที่นี้ เนื้อความตามจดหมาย คือ...

“เมื่อต้นปี 2523 คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่ใกล้จะเสร็จ จึงเขียนชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ ควบคู่กันไปด้วย คุณปราณีว่า เรื่องมะเมียะ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่าง ๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้า หรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้น  เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่า เรื่องราวต่าง ๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย คุณปราณี เล่าต่ออีกว่า เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่าพี่) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ก็ติดอยู่ที่ว่าไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อยฯ จึงจำเป็นต้องสมมติชื่อขึ้น ให้ชื่อว่ามะเมียะ ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิงไทใหญ่ที่พี่รู้จักดีและมีบ้านอยู่ใกล้กัน ที่ใช้ชื่อนี้เพราะจำง่ายสะดุดหู

จากคำพูดของคุณปราณีเมื่อยี่สิบห้าปีต่อมา มันจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความลับว่า ทำไมการตามหามะเมียะจึงพบทางตัน ไม่พบแม่ชีมะเมียะที่เมาะละแหม่ง กลับพบแต่แม่ชีชื่อด่อนางเหลี่ยน

ต้นตอของชื่อมะเมียะเกิดขึ้นที่ปากซอยศิริธร (ซอยนี้ชื่อเดียวกับนามสกุลคุณปราณี อยู่ติดกับวัดป่าเป้าด้านทิศตะวันตก ถนนมณีนพรัตน์ เมืองเชียงใหม่) ตรงปากซอยแต่เดิมเป็นห้องแถวเรือนไม้หลายห้อง ห้องแรกเป็นร้านซ่อมนาฬิกาถัดมาเป็นเรือนพัก ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์  สุดท้ายเป็นร้านขายผลไม้ดอง ปัจจุบันรื้อปลูกเป็นตึกแถว ห้องที่ซ่อมนาฬิกาเป็นครอบครัวชาวไทใหญ่มีอยู่ 3 คน พ่อแม่และลูกสาว พ่อชื่อส่างอ่อง แม่ชื่อแม่นางเหม่ ส่วนลูกสาวเป็นครู จำชื่อไม่ได้ ครอบครัวนี้คุณปราณีรู้จักและสนิทสนมอย่างดี จึงน่าคิดว่าว่า คุณปราณีน่าจะนำชื่อของแม่นางเหม่มาใช้ เพราะชื่อจริงของแม่นางเหม่คือ แม่นางเมียะ ส่วนคำว่า “มะ” ในภาษาพม่าคือคำนำหน้าของผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว จึงไม่แปลกที่จะเรียกตัวละครนี้ว่า นางมะเมียะ ส่วนคำว่า “ด่อ” ใช้นำหน้าชื่อ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เช่น ด่อนางเหลี่ยน

นี่คงเป็นเบื้องลึกและเบื้องหลังอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คนที่สนใจและนักวิชาการหลาย ๆ ท่านติดตามหามะเมียะไม่พบในเมืองเมาะละแหม่ง และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า อันตัวตนของมะเมียะจริง ๆ นั้นมิใช่สาวชาวพม่าที่มีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา สวยงามหยดย้อยดังที่คุณปราณีได้เขียนพร่ำพรรณนาเอาไว้ กลับเป็นหญิงสาวไทใหญ่แก่ ๆ ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง และสำหรับความรักของคนทั้งสองนั้น ในความรู้สึกของผมบอกได้ว่า มันไม่ใช่ตำนานหรือประวัติศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ความประสงค์ของคุณปราณีที่เขียนขึ้นนั้น เป็นเพียงต้องการจะเล่าถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ต่างเชื้อชาติกันและไม่สมหวัง เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ เพิ่มเติมสีสันให้น่าอ่าน น่าติดตามก็เท่านั้น และถ้าตอนนี้คุณปราณียังมีชีวิตอยู่ จะแน่ใจกันสักแค่ไหนว่าเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายจะได้รับคำตอนที่เป็นจริงว่า มะเมียะ นั้น เป็นเพียงนางในจิตนาการที่แต่งขึ้น หรือว่ามีตัวตนจริง ๆ กันแน่”




ก่อนจะเขียนบทความนี้จบเพียง 2 วัน ผู้เขียนได้ไปสำรวจสถานที่ตามคำของ เหนือฟ้า  ปัญญาดี ที่ซอยข้างวัดป่าเป้า ชุมชนไทใหญ่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ พบว่า เรื่องที่ เหนือฟ้า  ปัญญาดีเขียนไว้นั้น เป็นความจริงทุกประการ อีกทั้งยังได้สอบถามคุณลุงช่างตัดผมในซอยดังกล่าว ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณลุงส่างอ่องช่างซ่อมนาฬิกามีภรรยาชื่อ ป้าเมียะ ลูกสาวชื่อครูเนตร สอนหนังสืออยู่ที่อำเภอสารภี โรงเรียนอะไรก็จำชื่อไม่ได้ เสียดายวันที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูลไม่ได้พบคุณลุงปราณี จะได้ถามให้รู้ความไปเลย (คุณลุงเธอสิ้นบุญไปแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540)"
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 17:26

ต่อเรื่องมะเมียะนะคะ แล้วค่อยแวะไปประเด็นตามรอยมะเมียะกันอีกที เรื่องราวที่จะเล่าต่อจากที่ไปอ่านมาอาจจะดูคล้ายนิยายนะคะ เพราะผู้ที่ได้นำเรื่องราวของมะเมียะออกมาเผยแพร่ทางสื่อเป็นท่านแรกคือ นายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของเมืองเชียงใหม่ รูปแบบการเขียนงานของคุณปราณีคือผ่านการค้นคว้าทั้งหลักฐานข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ หลังจากนั้นก็เอามาร้อยเรียงเป็นเรื่องให้น่าอ่าน ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการแต่งเติมเรื่องราวบ้างตามเกร็ดประวัติศาสตร์ หนังสือชื่อ เพ็ชร์ล้านนา เล่ม 2 ตีพิมพ์ที่เชียงใหม่ในปี 2538 โดยคุณ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุงค่ะ ก็จะเรียบเรียงมาทั้งในส่วนที่ประกอบข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และเนื้อหาในหนังสือของคุณปราณีไปด้วยกันนะคะ ซึ่งเรื่องของมะเมียะนี้คุณปราณีอ้างว่าได้รับการบอกเล่ามาจากเจ้าหญิงบัวชุมซึ่งเป็นชายาของเจ้าน้อยศุขเกษม และเจ้าหญิงบัวนวลซึ่งเคยเป็นคู่หมั้นของเจ้าน้อยศุขเกษมค่ะ

หลังจากที่สองหนุ่มสาวได้พบรักกันก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา จนกระทั่งเจ้าน้อยศุขเกษมอายุ 20 ปี เรียนจบหลักสูตรที่พม่าและต้องกลับเมืองเชียงใหม่ น่าจะอยู่ราวปี พ.ศ. 2446 จึงได้ตัดสินใจให้มะเมียะ ปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวน เพื่อกลับไปยังเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า

เชียงใหม่ขณะนั้นปกครองโดยเจ้าลุงของเจ้าน้อยศุขเกษม คือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ฯ ส่วนเจ้าพ่อของเจ้าน้อยศุขเกษมคือเจ้าแก้วนวรัฐกำลังจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอุปราชของเมืองเชียงใหม่ (ข้อมูลบอกว่าเจ้าแก้วนวรัฐได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าอุปราชในปี พ.ศ. 2447) เจ้าน้อยศุขเกษมเป็นราชบุตรคนโตของเจ้าแก้วนวรัฐที่ได้รับการวางให้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่คนต่อไป จึงถูกจับตามองว่าตัวเจ้าน้อยศุขเกษมเองอาจจะเป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ลำดับถัดไปต่อจากเจ้าลุงและเจ้าพ่อของท่าน และการกลับมาของเจ้าน้อยศุขเกษมจากพม่าก็อยู่ในช่วงเวลาเหลื่อมกันที่บิดาของท่านอาจจะกำลังจะได้เป็นเจ้าอุปราชหรือเพิ่งได้เป็นเจ้าอุปราช ในระหว่างที่การรุกคืบเข้ามาบริหารเชียงใหม่โดยสยามผ่านระบบเทศาภิบาลกำลังเข้มข้น

เมื่อมาถึงที่บ้าน เจ้าน้อยก็ให้มะเมียะซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังเล็กที่เจ้าพ่อและจ้าวแม่จัดไว้ให้ เจ้าน้อยโดยหารู้ไม่ว่าเจ้าพ่อและจ้าวแม่ได้หมั้นหมายเจ้าหญิงบัวนวลธิดาของเจ้าสุริยวงศ์ ให้เป็นคู่หมั้นของเจ้าน้อย ตั้งเมื่อเจ้าน้อยเดินทางไปศึกษาที่เมืองพม่า



คุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองครเชียงใหม่แล้ว (ปัจจุบันคือบริเวณของตลาดนวรัฐ) ไม่แน่ใจว่าเป็นคุ้มที่เจ้าน้อยศุขเกษมเคยพักอาศัยหรือไม่
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 17:49



รูปเจ้าบัวนวล สิโรรส เจ้าของตำนาน "แม่ยิงขี่รถถีบกางจ้อง" คู่แรกของเจียงใหม่ คู่กับเจ้าบัวผัน สิโรรส (ณ เชียงใหม่) ชายาเจ้าน้อยอินทปัตย์ สิโรรส

เจ้าบัวนวล สิโรรส เป็นธิดาคนแรกของเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโรรส นักกวีล้านนา) กับเจ้าสุคันธา เจ้าบัวนวลเป็นผู้หญิงเก่ง ได้รับความไว้วางใจให้กำกับ บริหาร ดูแล บ่าวไพร่ และไร่นา ของเจ้าคำตันตั้งแต่เป็นเริ่มสาว และสามารถขี่ม้า ยิงปืนได้ เป็นที่พอใจของแม่เจ้าจามรี (มารดาเจ้าน้อยศุขเกษม) และแม่เจ้าจามรี (ธิดาเจ้าเรือนคำ) เองก็เป็นลูกผู้พี่ของเจ้าคำตัน (บุตรเจ้ากาวิละ) และเจ้าสุคันธา (ธิดาเจ้าสมนา) ต้องการให้เครือญาติเกี่ยวดองกัน พอเรื่องมะเมียะเกิดขึ้นทางฝ่ายเจ้าบัวนวลของถอนหมั้นจากเจ้าน้อยศุขเกษม ต่อเจ้าหญิงบัวนวลแต่งงานกับเจ้าน้อยธรรมวงษาบุตรเจ้าอุบลวรรณนา ณ เชียงใหม่

เจ้าหญิงบัวนวลท่านมีชีวิตยืนยาว 90 กว่าปี (ถึง พ.ศ.2510 กว่า) เป็นผู้ถ่ายทอดเองราวใน "เพ็ชรล้านนา" อีกคนหนึ่งกับเช่นเดียวกับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ (ชายาเจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่)
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 17:55

ภาพเจ้าหญิงบัวนวลตอนเด็กๆ (หมายเลข 6.1)

บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 17:58

หลังจากที่ต้องแอบซ่อนมะเมียะไว้ในบ้านหลังเล็ก ที่เจ้าพ่อและจ้าวแม่จัดเตรียมเป็นที่พักมาแล้วหลายวัน ในที่สุดเจ้าน้อยจึงตัดสินใจบอกความจริงกับเจ้าพ่อและเจ้าแม่ และเจ้าน้อยรู้ดีว่า แม้ท่านทั้งสองจะมิได้เอ่ยคำใดแต่คงไม่ยอมรับให้มะเมียะเป็นศรีสะใภ้แน่นอน เนื่องจากเจ้าน้อยได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งเจ้าหลวงองค์ถัดไป หากเจ้าน้อยเลือกมะเมียะเป็นภรรยา ประชาชนย่อมอึดอัดใจในการยอมรับมะเมียะ ผู้เป็นหญิงต่างชาติมาดำรงสถานะภรรยาของเจ้าเมืองอย่างแน่นอน

สถานการณ์ในขณะนั้นน่าวิตกยิ่งเนื่องจากอังกฤษได้แผ่อิทธิพลไปทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มะเมียะเป็นคนในบังคับของอังกฤษ และอาศัยอยู่ในคุ้มของอุปราช อาจเป็นปัญหาที่ใหญ่โตทางการเมืองได้ในภายหลังในที่สุดเจ้าพ่อและเจ้าแม่จึงยื่นคำขาดให้เจ้าน้อย ส่งตัวมะเมียะกลับเมืองมะระแหม่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง เจ้าศุขเกษมถึงน้ำตาตลอหลังจากแน่นิ่งฟังเจ้าพ่อเจ้าแม่ ความคิดภายในสับสนบอกไม่ถูก เมื่อคิดถึงประเพณีกับความรัก พลางโพล่งออกมาว่า

"มะเมียะไม่ได้ทำร้ายใคร
ไม่ได้ลบหลู่ใครมะเมียะเป็นคนดี
ข้าเจ้ารักมะเมียะ มะเมียะเป็นหัวใจของข้าเจ้า
ข้าเจ้าเป็นหัวใจของมะเมียะ
เราเคยสาบานกันต่อหน้าพระธาตุมะระแหม่งว่า
ถ้าใครทรยศต่อรักแล้ว
ขอให้อายุสั้น
ข้าเจ้ารักมะเมียะเจ้าแม่"
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 18:14

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เป็นผลดั่งใจเจ้าน้อย เนื่องจากปัญหาบ้านเมืองนั้นน่าวิตกยิ่งมะเมียะได้ถูกเกลี้ยกล่อมให้กลับไปรอเจ้าน้อยที่เมืองมะระแหม่ง มิฉะนั้น บ้านเมืองอาจเดือดร้อน นางได้เอ่ยขึ้นด้วยความเสียใจ และยอมจากไป เพื่อไม่ให้คนที่ตนรักได้รับความเดือดร้อน

"มะเมียะเห็นใจเจ้าแล้ว
มะเมียะต้องจากเจ้าไป
ตลอดชีวิตของมะเมียะจะไม่ขอเป็นของใครอีก
มะเมียะจะเป็นของเจ้าคนเดียวเท่านั้น
มะเมียะมีใจเดียวรักเดียว
จะขอรอเจ้าจวบจนชีวิตดับ"

เสียงมะเมียะขาดห้วงลง เหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่คอหอยมิให้พูดต่อไปอีก เจ้าศุขเกษมดึงร่างมะเมียะกระชับเข้ามาอีก แล้วคร่ำครวญเป็นภาษาพม่าอย่างชัดถ้อยชัดคำ

"สุดที่รักของฉัน ฉันเกิดมามีกรรม
เราเคยสาบานกันว่าใครทรยศต่อรักขออย่าให้อายุยืนยาว
แล้วฉันก็ต้องทำลายเธอ
ทำลายชีวิตเธอทางอ้อมขอกลับไปรอฉันที่บ้านเถิด
หากฉันมีบุญวาสนาในวันหน้า
ฉันจะไปรับเธอกลับมาอยู่เชียงใหม่จนได้
มะเมียะจ๋า ฉันจะรักเธอจนวันตาย"

แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ถูกพลัดพรากจากกันจนชั่วชีวิต มันเป็นเช้าของเดือนเมษายน พ.ศ. 2446 เจ้านายข้าราชการและประชาชนรวมทั้งชาวพม่า มอญ เงี้ยว ต่องสู้ ที่ทราบข่าวการตัดสินใจเดินทางกลับเมาะละแหม่งของหมะเมียะยอดหญิงของทายาทเจ้าอุปราชผู้ยอมหลีกทางให้เพราะแรงกดดันทางการเมืองและเพื่อความสุขสวัสดิ์สถาพรและอนาคตของสามีอย่างน่าสรรเสริญต่างก็จับกลุ่มเดินมุ่งสู่ประตูหายยา ซึ่ง ณ ที่นั่นขบวนช้างอันเป็นพาหนะและคนติดตามควบคุมขบวนและเสบียงกรังได้ไปรอคอยอยู่ เสียงสนทนาพาทีของประชาชนเซ็งแซ่ล้วนแต่สงสารเอ็นดูสาวน้อยวัย 16 ปี ผู้มีกรรมจำพราก ท้าวบุญสูงผู้มีหน้าที่ไปรับตอนเดินทางมาแต่แรกต้องรับภาระนี้อีก ควบคุมลูกหาบประมาณ 20 คน รวมทั้งช้าง 3 เชือก ทุกคนรอการมาถึงของมะเมียะด้วยความกระสับกระส่ายกระวนกระวายใจ ต่างใคร่เห็นรูปโฉมโนมพรรณของสาวพม่าที่ร่ำลือกันว่างามแสนงาม (หมายเหตุ ท้าวบุญสูงเป็นพี่เลี้ยงคนสนิทของเจ้าน้อยศุขเกษม)

สักครู่ใหญ่ รถม้าของคุ้มอุปราชก็ค่อยๆชะลอมาหยุดกึกลงมะเมียะในชุดแต่งกายพม่า มีผ้าคลุมผมก้าวลงจากรถก่อน ตามติดด้วยเจ้าน้อยศุขเกษม ทั้งคู่มีหน้าตาหมองคล้ำ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะปิดบังหรือละอายใจ ถึงแม้ประชาชนจะห้อมล้อมมุงดูอยู่รอบด้านมืดฟ้ามัวดิน

เจ้าน้อยศุขเกษมเองก็พลอยสะอื้นตื้นตันใจ คร่ำครวญสุดแสนอาดูรจนท้าวบุญสูงมาเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าถึงเวลาจะเคลื่อนขบวนเดินทาง นั่นแหละทั้งสองจึงยอมแยกจากการโอบกอดกัน

แม้จะขึ้นไปบนกูบช้างแล้วก็ตาม มะเมียะก็ขอลงมาหาเจ้าน้อยศุขเกษมอีกจนได้ เธอคุกเข่าลงกับพื้นก้มหน้าสยายผมออกเช็ดเท้าสามีด้วยความรักอาลัย เรียกน้ำตาของเจ้าน้อยศุขเกษมให้ไหลลงนองอาบสองแก้ม แล้วก็โผเข้ากอดรัดกันอีก

เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงซึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาประชาชนทั้งชายหญิง ทำให้ผู้ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เหมือนกัน ท้าวบุญสูงต้องอึดอัดใจอย่างยิ่ง เพราะไหนจะต้องปลอบใจมะเมียะกลับขึ้นไปบนหลังช้าง ไหนมะเมียะจะดึงดันกลับลงมาอีกเป็นหนที่สองวิ่งเข้าสู่อ้อมกอดเจ้าน้อยศุขเกษมอีก กว่าขบวนจะออกเดินทางได้ก็เลยกำหนดเวลาไปนานอีกโข

เจ้าน้อยศุขเกษมยืนเหม่อมองดูจุดเล็กๆที่ขยับเขยื้อนได้ โดยมีหมะเมียะเหลียวมองด้านหลังจากบนหลังช้างนั้นตลอดเวลาจนลับจากสายตา จึงกลับสู่คุ้ม

ประชาชนชาวเชียงใหม่ ไม่มีโอกาสได้ประสบพบเห็นความรักต่างแดนอันลงเอยด้วยความโศกสลดรันทดใจมาก่อน และไม่มีโอกาสจะพบเห็นอีกแล้วในประวัติศาสตร์ของเวียงพิงค์



รูปประตูหายยา
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 18:38




ขอบคุณค่ะอาจารย์ V_Mee เป็นไปได้ไหมคะว่าการทาบทามจะผ่านมาทางอังกฤษฝั่งพม่า โดยที่ทางสยามไม่รู้ เพราะอังกฤษย่อมพยายามดำเนินการในทางลับไม่ให้สยามรู้ด้วยหมายจะครอบครองเชียงใหม่เสียเอง ... คล้ายกับในตอนที่ว่าอังกฤษติดต่อมาทางพระเจ้าอินทวิชยานนท์ขอให้เมืองเชียงใหม่ไปรวมกับพม่า แล้วทางสยามก็ไม่ทราบเรื่องนี้ จนกระทั่งเจ้าดารารัศมีเอาจดหมายของท่านพ่อ เจ้าอินทวิชยานนท์ไปให้รัชกาลที่ 5 ทรงอ่าน (หรือเรื่องนี้ก็เป็นตำนาน ไม่ใช่ความจริงเหมือนกัน  ฮืม)

ส่วนเรื่องพระกุณฑลนั้น ... ขออนุญาตแก้ไขเนื้อความก่อนหน้านี้ด้วยข้อมูลจากอาจารย์ V_Mee นะคะ
[/quote]

ที่ว่าอังกฤษพยายามดำเนินการโดยไม่ให้สยามรับรู้  ข้อนี้ไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะในเวลานั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นเจ้านครเชียงใหม่แต่เพียงในนาม  ผู้ที่กุมอำนาจในเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นมีอยู่ ๒ คน คือ เจ้าทิพเกษรและเจ้าอุปราชบุญทะวงผู้เป็นน้องชายของพระเจ้าอินทวิชยานนท์  ซึ่งต่างก็ไม่ยอมลงให้กัน  แต่เจ้าทิพเกษรดูจะมีอำนาจมากกว่าเพราะนอกจากจะเป็นธิดาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์แล้ว  ยังเป็นชายาพระเจ้าอินทวิชยานนท์อีกด้วย  และเมื่อเจ้าอุปราชบุญทะวงถึงอนิจกรรมไปแล้ว  อำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่ในมือเจ้าทิพเกษรเพียงคนเดียว  เมื่อเจ้าทิพเกษรป่วยหนักพวกญาติวงศ์เจ้าเชียงใหม่จึงกีดกันมิให้มิชชันนารีอเมริกันเข้าไปตรวจรักษา  ในขณะเดียวกันก็ปรากฏความตามรายงานของกรมหลวงพิชิตปรีชากรว่า  บรรดาญาติวงศืต่างก็รอจะแย่งชิงอำนาจกัน  เมื่อเจ้าทิพเกษรถึงอสัญกรรมลง  เจ้าราชบุตร (น้อยขัติยะ - ต่อมาเป็น เจ้าราชวงศ์) บุตรชายคนใหญ่ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่เกิดจากชายาคนก่อนก็รวบอำนาจไว้ในมือทั้งหมด  เมื่อเจ้าราชวงศ์ (น้อยขัติยะ) ถึงอนิจกรรม  ก็มีรายงานว่า เงินค่าตอไม้และค่าอากรของแผ่นดินสูญไปกับเจ้าราชวงศ์เป็นจำนวนมาก  ต่อจากนั้นจึงเป็นสมัยที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ขึมามีบทบาท

กล่าวสำหรับเจ้าทิพเกษรนั้น  เป็นชายาของเจ้านครในล้านนาเพียงคนเดียวที่ได้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ  และเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยยิ่ง  และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จขึ้นไปจัดระเบียบปกครองเมืองเชียงใหม่เพื่อเตรียมรับรองกงสุลอังกฤษที่จะขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่  เจ้าทิพเกษรก็ให้ความร่วมมือด้วยดี  แม้จะเจ็บหนักก็ยังปรึกษาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ให้ช่วยกรมหลวงพิชิตปรีชากรจัดระเบียบปกครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป  หากตัวหายป่วยแล้วก็จะรับดำเนินการปกครองตามวิธีที่กรมหลวงพิชิตปรีชากรจัดไว้ทุกประการ  นอกจากนั้นเจ้าทิพเกษรยังเป็นผู้ที่ตระหนักถึงภัยจากคดีวิวาทเรื่องสัมปทานป่าไม้ซึ่งพิพาทต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์  ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์  ดีที่ว่ารัฐบาลสยามเป็นคนกลางเข่าไกล่เกลี่ย  แม้กระนั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ยังต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้พ่อค้าไม้อังกฤษกว่า ๓ แสนรูเปีย  นอกจากนั้นเจ้าทืิพเกษรคงจะตระหนักถึงการที่บริษัทบอมเย์เบอร์ม่าเคยใช้อุบายเรื่องสัมปทานป่าไม้เป็นเหตุวิวาทกับพระเจ้าธีบอ  จนพม่าต้องเสียดินแดนพม่าใต้ให้อังกฤษและสูญเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในช่วงที่มีข่าวลือเรื่องควีนวิคตอเรียจะมาขอพระราชชายาฯ ไปเป็นธิดาบุญธรรม  ข้อที่น่าคิดอีกเรื่องคือเวลานั้นอังกฤษกำลังรบติดพันกับพม่ายังไม่ได้พม่าเหนือ  แล้วอังกฤษจะมีใจมาติดต่อขอพระราชชายาฯ เชียวหรือ? 
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 18:51

^
^

ข้อมูลแน่นปึ้ก ... ขอบคุณมากค่ะคุณ V_Mee ที่มาไขข้อสงสัยจนกระจ่าง

เจ้าทิพเกษรนี่ฟังดูเป็นผู้หญิงแกร่งมากเลยนะคะ ... เห็นข้อมูลและสถานการณ์แวดล้อมตามที่คุณ V_Mee นำมาเสนอแบบนี้น่าจะสรุปได้อย่างแน่นหนาว่าเรื่องควีนวิคตอเรียมาขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นธิดาบุญธรรมนั้น เห็นจะเป็นเรื่องเล่าลือมากกว่าเรื่องจริง ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 19:00

ขออนุญาตอธิบายเรื่องการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครในหัวเมืองประเทศราชล้านนาครับ

การสืบทอดตำแหน่งเจ้านครนั้นปกติจะเลื่อนขึ้นไปจากผู้ดำรงตำแหน่งอุปราช  แต่ถ้าไม่มีตัวเจ้าอุปราช  เจ้าราชวงศ์  หรือเจ้าราชบุตร หรือเจ้าบุรีรัตน จึงจะได้เลื่อนขึ้นครองตำแหน่งเจ้านครไปตามลำดับ  คือถ้าไม่มีตัวเจ้าอุปราชและราชวงศ์จึงจะไปถึงคิวของเจ้าราชบุตร  หากศึกาาการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองล้านนาจึงมักจะเป็นการสืบทอดจากพี่ไปน้อง  หรือจากอาไปหลาน  เพิ่งจะมามีการสืบทอดจากพ่อสู่ลูกก็ในระยะหลังๆ เช่น จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปยังเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์  เจ้านรนันทไชยชวลิตไปเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต  แต่เมื่อถึงคราวถัดจากนั้นกกลับเป็นจากพี่สู่น้อง คือ จากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ไปเจ้าแก้วนวรัฐฯ  มีที่ประหลาดก็คือที่เมืองลำปาง  เมื่อเจ้าบุญวาทย์ถึงพิราลัย  ผู้ที่ขึ้นเป็นผู้รั้งเจ้านครลำปางกลับเป็นเข้าราชบุตร (น้อยแก้วเมืองพวน) ซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าบุญวาทย์  ที่ว่าประหลาดก็คือเวลานั้น เจ้าราชวงศ์ (น้อยแก้วภาพเมรุ) ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำไมจึงถูกข้ามไป  ข้อนี้ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด

ที่ว่าเจ้าน้อยศุขเกษมจะได้รับตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่ต่อไปนั้น  หากเรียงลำดับบรรดาศักดิ์แล้ว เจ้าอุตรการโกศล จัดว่าเป็นเจ้าตำแหน่งชั้นที่ ๓ รองลงไปจากเจ้าในขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้านคร  เจ้าอุปราช  เจ้าราชวงศ์  เจ้าราชบุตร  เจ้าบุรีรัตน  ลำดับถัดลงมาจึงเป็น "เจ้าราช" อันประกอบด้วย เจ้าราชภาคิไนย  เจ้าราชสัมพันธวงศ์ และเจ้าราชภาติกวงษ์  ถัดลงไปจึงเจ้าลำดับที่สาม  มีเจ้าอุตรการโกศล  เจ้าประพันธพงษ์  เจ้าทักษิณนิเกต  เจ้านิเวศน์อุดร  ฯลฯ  

เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ถึงอสัญกรรมนั้น เจ้าอุปราชแก้ว ได้เลื่อนเป็นเจ้แก้วนวรัฐฯ  ในขณะเดียวกันเจ้าน้อยเลาแก้วบุตรชายของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ก็ได้เป็นเจ้าราชบุตร  มีลำดับศักดิ์เหนือกว่าเจ้าอุตรการโกศล  เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมถึงแก่กรรมไปแล้ว  และเจ้าราชบุตร (น้อยเลาแก้ว) ได้เลื่อนเป็นเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชสัมพันธวงษ์ (วงษ์ตวัน) ผู้เป็นน้องเจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าราชบุตรแทน
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 19:11

การผนวกล้านนาเข้ากับสยามอย่างละมุนละม่อมนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องราวระหว่างรัชกาลที่ 5 และเจ้าดารารัศมี (ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเจ้าน้อยศุขเกษม)


พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าหญิงดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เป็นพระราชธิดาใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ กับ แม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี ซึ่งแม่เจ้าเทพไกรสรนั้นทรงเป็นพระราชธิดาใน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และพระมหาเทวี เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆจนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้น

ในช่วงเลานั้นอังกฤษได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครอง พม่าแล้ว อังกฤษได้พยายามขยายอิทธิพลเข้ามายังนครเชียงใหม่และอาณาจักรหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ส่งราชทูตมาทูลขอ เจ้าหญิงดารารัศมี ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ในเวลานั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีรับสั่งกราบทูลตอบกลับไปว่าอย่างไร โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระองค์นั้นได้พระราชทานเงื่อนไขว่า หากยกเจ้าหญิงดารารัศมีให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าฯ แล้วไซร้ เจ้าหญิงดารารัศมีจะได้ทรงครองพระอิสริยยศในทางราชการเป็นภาษาอังกฤษว่า "Princess Of Siam" เทียบเท่ากับพระราชโอรส-พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามทุกประการและเวียงพิงค์เชียงใหม่จะได้มีอำนาจมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลว่า หากเจ้าหญิงดารารัศมีได้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษแล้ว นครเชียงใหม่อาจจะต้องกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไป เนื่องจากในสมัยนั้นมีการล่าอาณานิคมเป็นเมืองขึ้นตามประเทศต่างๆ แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดูผิวเผินเพียงแค่เจรจาไมตรี หากมองดูลงไปให้ลึกซึ้งอังกฤษต้องการนครเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง (พม่า แล รัฐฉานหรือ เมิงไต นั่นเอง)

อย่างไรก็ตาม ความดังกล่าวได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2426 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าหญิงดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าหญิงดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "พระบรมราชจักรีวงศ์" เป็นกรณีพิเศษ


ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เจ้าหญิงดารารัศมีได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา


ข้อมูลจากส่วนที่เป็นสีแดงเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าได้รับการบอกกล่าวแบบคลาดเคลื่อน กรุณาอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมจากคุณ V_Mee ในหน้า 2 และ 4 นะคะ
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 19:16

ขออนุญาตอธิบายเรื่องการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครในหัวเมืองประเทศราชล้านนาครับ

การสืบทอดตำแหน่งเจ้านครนั้นปกติจะเลื่อนขึ้นไปจากผู้ดำรงตำแหน่งอุปราช  แต่ถ้าไม่มีตัวเจ้าอุปราช  เจ้าราชวงศ์  หรือเจ้าราชบุตร หรือเจ้าบุรีรัตน จึงจะได้เลื่อนขึ้นครองตำแหน่งเจ้านครไปตามลำดับ  คือถ้าไม่มีตัวเจ้าอุปราชและราชวงศ์จึงจะไปถึงคิวของเจ้าราชบุตร  หากศึกาาการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองล้านนาจึงมักจะเป็นการสืบทอดจากพี่ไปน้อง  หรือจากอาไปหลาน  เพิ่งจะมามีการสืบทอดจากพ่อสู่ลูกก็ในระยะหลังๆ เช่น จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปยังเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์  เจ้านรนันทไชยชวลิตไปเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต  แต่เมื่อถึงคราวถัดจากนั้นกกลับเป็นจากพี่สู่น้อง คือ จากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ไปเจ้าแก้วนวรัฐฯ  มีที่ประหลาดก็คือที่เมืองลำปาง  เมื่อเจ้าบุญวาทย์ถึงพิราลัย  ผู้ที่ขึ้นเป็นผู้รั้งเจ้านครลำปางกลับเป็นเข้าราชบุตร (น้อยแก้วเมืองพวน) ซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าบุญวาทย์  ที่ว่าประหลาดก็คือเวลานั้น เจ้าราชวงศ์ (น้อยแก้วภาพเมรุ) ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำไมจึงถูกข้ามไป  ข้อนี้ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด

ที่ว่าเจ้าน้อยศุขเกษมจะได้รับตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่ต่อไปนั้น  หากเรียงลำดับบรรดาศักดิ์แล้ว เจ้าอุตรการโกศล จัดว่าเป็นเจ้าตำแหน่งชั้นที่ ๓ รองลงไปจากเจ้าในขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้านคร  เจ้าอุปราช  เจ้าราชวงศ์  เจ้าราชบุตร  เจ้าบุรีรัตน  ลำดับถัดลงมาจึงเป็น "เจ้าราช" อันประกอบด้วย เจ้าราชภาคิไนย  เจ้าราชสัมพันธวงศ์ และเจ้าราชภาติกวงษ์  ถัดลงไปจึงเจ้าลำดับที่สาม  มีเจ้าอุตรการโกศล  เจ้าประพันธพงษ์  เจ้าทักษิณนิเกต  เจ้านิเวศน์อุดร  ฯลฯ  

เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ถึงอสัญกรรมนั้น เจ้าอุปราชแก้ว ได้เลื่อนเป็นเจ้แก้วนวรัฐฯ  ในขณะเดียวกันเจ้าน้อยเลาแก้วบุตรชายของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ก็ได้เป็นเจ้าราชบุตร  มีลำดับศักดิ์เหนือกว่าเจ้าอุตรการโกศล  เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมถึงแก่กรรมไปแล้ว  และเจ้าราชบุตร (น้อยเลาแก้ว) ได้เลื่อนเป็นเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชสัมพันธวงษ์ (วงษ์ตวัน) ผู้เป็นน้องเจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าราชบุตรแทน

ขอบคุณมากค่ะคุณ V_Mee ได้ผู้รู้มาให้ข้อคิดเห็นแบบนี้ดีจังเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 20:41

ใครสะกด มะเมี๊ยะ  ครูเพ็ญชมพูจะไม่ให้ผ่านด่านไปได้เด็ดขาด

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2403.msg100448;topicseen#msg100448


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 21:17

คุณวิกกี้ เรียก "นางสาวมะเมียะ" ให้ผ่านดีไหมหนอ

ในคำเรียกชื่อภาษาพม่านั้น สำหรับผู้หญิงมีคำนำหน้าบ่งบอกถึงสถานะอยู่ ๒ คำคือ มะ และ ดอ

มะ หมายถึงเด็กหญิงจนถึงสาวรุ่น  ส่วน ดอ หมายถึง สาวใหญ่

มะเมียะจึงหมายถึง สาวที่ชื่อเมียะ


"นางสาวมะเมียะ"



คุณวิกกี้ส่งเข้าประกวด

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 06:30

คำว่า "น้อย" ในชื่อเจ้าน้อยศุขเกษม ก็เป็นคำนำหน้าบ่งบอกถึงสถานะเช่นกัน

ลูกเจ้านครเป็น "เจ้า" ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง  คงเรียก "เจ้า" เหมือนกันหมด
แต่ถ้าเป็นชายที่เคยบวชเณร  ก็จะเรียก เจ้าน้อยแล้วต่อด้วยชื่อ  เช่น เจ้าน้อยเลาแก้ว
ถ้าเคยบวชเป็นพระก็จะเรียกเจ้าหนานแล้วต่อด้วยชื่อ  เช่น เจ้าหนานบุญทวง
ถ้าเจ้าผู้ชายไม่มีคำว่า น้อยหรือหนาน แสดงว่าผู้นั้นไม่เคยบวชเรียน  เจ้าแก้ว หรือเจ้าแก้วนวรัฐฯ
คำว่าน้อยใช้เรียกคนที่เคยบวชเณร  หนานคือผู้ที่เคยบวชพระ  ตรงกับ "ทิด" ในภาคกลาง

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง