เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 62983 เจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมียะ
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 11:23

สาวพม่าขายบุหรี่ แบบนี้งามแท้ ๆ

ภาพจาก Among Pagodas and Fare Ladies


บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 13:45

คำว่า "น้อย" ในชื่อเจ้าน้อยศุขเกษม ก็เป็นคำนำหน้าบ่งบอกถึงสถานะเช่นกัน

ลูกเจ้านครเป็น "เจ้า" ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง  คงเรียก "เจ้า" เหมือนกันหมด
แต่ถ้าเป็นชายที่เคยบวชเณร  ก็จะเรียก เจ้าน้อยแล้วต่อด้วยชื่อ  เช่น เจ้าน้อยเลาแก้ว
ถ้าเคยบวชเป็นพระก็จะเรียกเจ้าหนานแล้วต่อด้วยชื่อ  เช่น เจ้าหนานบุญทวง
ถ้าเจ้าผู้ชายไม่มีคำว่า น้อยหรือหนาน แสดงว่าผู้นั้นไม่เคยบวชเรียน  เจ้าแก้ว หรือเจ้าแก้วนวรัฐฯ
คำว่าน้อยใช้เรียกคนที่เคยบวชเณร  หนานคือผู้ที่เคยบวชพระ  ตรงกับ "ทิด" ในภาคกลาง

 ยิงฟันยิ้ม

ความรู้ใหม่อีกแล้ว ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 13:47

คุณ Siamese มีรูปสวยๆ เยอะเลยนะคะ ปลื้มมาตั้งแต่รูปตลาดที่พม่าที่เอามาลงให้ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ได้อรรถรสมากๆ เวลาจินตนาการประกอบเรื่อง  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 13:55

ต่อเรื่องเจ้าน้อยกับมะเมียะให้จบนะคะ...

เมื่อกลับไปถึงเมืองมะระแหม่งแล้ว มะเมียะได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อย จนครบกำหนดเดือนที่ท่านได้รับปากไว้แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะ จึงตัดสินใจเข้าพึ่งร่มพุทธจักร ครองตนเป็นชี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่านางยังซื่อสัตย์ต่อความรัก ที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม

หลังจากที่มะเมียะ ทราบข่าวการเข้าพิธีมงคลสมรส ระหว่างเจ้าน้อย กับ เจ้าหญิงบัวนวล ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่ และขอพบเจ้าน้อยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์องค์อดีตสวามีผู้เป็นที่รัก ก่อนที่จะตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต

แต่เจ้าน้อยศุขเกษม ไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้องเพียงแต่มอบหมายให้เจ้าบุญสูงพี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน 80 บาทไปมอบให้แก่แม่ชีมะเมียะ (หมายเหตุ บางแหล่งก็บอก 800 บาท บางแหล่งบอกว่าตอนมะเมียะมาหายังไม่ได้บวชชี บางแห่งบอกเป็นแม่ชีแล้ว) เพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่ง เป็นตัวแทนของเจ้าน้อย ให้ไปกับแม่ชีมะเมียะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อย ต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด



เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่และเจ้าน้อยศุขเกษม
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:03

หลังจากเดินทางถึงเมืองมะระแหม่งมะเมียะได้ครองชีวิตเป็นแม่ชีตามความตั้งใจจนกระทั่งถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 75 ปี

ส่วนเจ้าน้อยศุขเกษมได้รับราชการ เป็นรองอมาตย์โท ร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม) ส่วนชีวิตสมรสของเจ้าน้อยก็ไม่มีความสุขต้องแยกทางกันกับ เจ้าหญิงบัวนวล ณ เชียงใหม่ เจ้าศุขเกษมติดสุราอย่างแรง
จนกระทั่ง...ตรอมใจวายชนม์ เมื่ออายุได้ 33 ปี

หมายเหตุ

- ตามเอกสารที่ออกจากศาลาว่าการมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 บันทึกไว้ว่า “เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กรรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ได้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรังมาช้านาน ได้ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2456 นี้แล้ว อายุได้ 33 ปี”

- เจ้าวงศ์สักก์  ณ เชียงใหม่ (มีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าน้อยศุขเกษม) กล่าวในฐานะคนในว่า “เรื่องมันไม่ได้เป็นนิยายอย่างนั้น มันไม่ได้ใหญ่โตจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพียงแต่มันไม่เหมาะสม เพราะตามตำแหน่ง เจ้าน้อยฯ ต้องเป็นเจ้าหลวงในอนาคต หลายคนคงลำบากใจที่ได้เมียเป็นชาวพม่า และที่สำคัญ อุตส่าห์ส่งไปเรียนหนังสือ กลับได้เมียมา  เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องไม่พอใจ คงเหมือนสมัยนี้แหละ บางคนก็ต่อว่าเจ้าปู่เรา (เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ) ว่าแบ่งขีดแบ่งชั้นกีดกันความรัก ความจริงอีกอย่างคือเจ้าอาว์ (เจ้าน้อยศุขเกษม) ก็รูปหล่อ เป็นลูกเจ้าอุปราชฯ  ท่านก็เป็นคนสำราญตามประสาเจ้าชายหนุ่ม และตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ท่านมิได้หมกมุ่นตรอมใจจนตายอย่างนิยายว่า เรื่องเพิ่งจะมาเศร้าโศกปวดร้าวเมื่อคุณปราณี ขยายให้เป็นนิยายนี่เอง และถ้าเรื่องนี้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางจะปิดชาวเชียงใหม่ได้มิดหรอก”
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:08

หลังจากนั้นก็มีเสียงเล่าลือกันว่ามีการนำอัฐิของมะเมียะมาเก็บไว้ที่วัดสวนดอก ในประเด็นนี้มีคำชี้แจงว่า ...

ทายาทเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 9 มีถึงบรรณาธิการหนังสือ พลเมืองเหนือ อีกเช่นกัน เรื่อง การตีพิมพ์บทความชื่อ กู่มะเมียอยู่ที่ใด  ผู้เขียนขอสรุปความมาเล่าต่อ ดังนี้

“...กล่าวคือมีผู้เขียนบทความว่า ณ บริเวณกู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก มีกู่อยู่องค์หนึ่งศิลปะการก่อสร้างต่างไปจากกู่องค์อื่น คือมีรูปแบบอย่างพม่า ทำให้ผู้คนที่พบเห็นเข้าใจว่านี่คือกู่อัฐิของมะเมียะ ต่อข้อสงสัยนี้ ทางทายาทของเจ้าแก้วนวรัฐ จึงทำหนังสือชี้แจงว่า การนำพระอัฐิและอัฐิของผู้ใดไปประดิษฐานในบริเวณกู่แห่งนี้ นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ดูแลรับผิดชอบ 2 ฝ่ายคือ (หนึ่ง) ฝ่ายสายตระกูล ณ เชียงใหม่ มีผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง (สอง) ฝ่ายวัดสวนดอก โดยความเห็นชอบของเจ้าอาวาส จะถือหลักปฏิบัติว่าต้องเป็นอัฐิบุคคลที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของเจ้าหลวง  และทั้งสองฝ่ายไม่เคยอนุญาตให้มีการนำอัฐิของบุคคลภายนอกเข้าไปไว้เลย แม้กระทั่งบุคคลใกล้ชิด เช่น หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ ชายาเจ้าแก้วนวรัฐ หรือคุณหญิงหม่อมศรีนวล  ณ เชียงใหม่ ต้องนำไปบรรจุไว้ ณ ที่แห่งอื่น จึงไม่เคยปรากฏหลักฐานว่า มีการนำอัฐิของมะเมียะมาไว้ในบริเวณกู่ดังกล่าว

และกู่ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นของมะเมียะนั้นทางคณะทายาทเจ้าแก้วนวรัฐได้ขออนุญาตกรมศิลปากรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในกู่ เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.2547 พบว่าเป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้าแม่ทิพโสม ธิดาของเจ้าราชบุตรธนันชัย โอรสในเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 4...”



กู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:24

เสริมด้วยประวัติของเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ น่าสนใจค่ะ

เจ้าหญิงบัวชุม หรือ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาองค์น้อยในจำนวน 9 คน ของเจ้าดวงทิพย์ ซึ่งเป็นราชบุตรองค์ที่ 10 ของเจ้าราชวงศ์ มหาพราหมณ์คำคง และเป็นอนุชาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 เจ้าบัวชุมเป็นลูกผู้พี่ผู้น้องของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าบัวชุมได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เยาว์วัย ใน พ.ศ. 2436 หลังจากที่เจ้าดารารัศมีเข้าถวายตัวเป็นพระสนมชั้นเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ 7 ปี เจ้าบัวชุมได้ติดตามขบวนเจ้านายผู้ใหญ่อันมี พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เดินทางลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รายงานข้าราชการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคณะผู้ติดตามนอกจากเจ้าบัวชุม ก็มี เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม) เจ้ามหาวงศ์ เจ้าราชบุตร (คำตื้อ) เจ้าบุรีรันต์ (น้อยแก้ว) พระญาพิทักษ์เทวี (น้อยบุญทา) พระพี่เลี้ยงของเจ้าดารารัศมี การลงไปกรุงเทพฯครั้งนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าดารารัศมีที่ต้องการจะอุปการะชุบเลี้ยงนั่นเอง

ขบวนเรือของเจ้าหลวงครั้งนั้นมีประมาณ 10 ลำ เดินทางโดยไม่รีบร้อน ใช้เวลากว่า 20 วันถึงกรุงเทพฯ เมื่อถึงกรุงเทพฯ ขบวนเรือเข้าจอดเทียบท่าที่วังหลัง และเจ้าหลวง พร้อมด้วยผู้ติดตามก็พักที่วังหลังนั่นเอง ขณะนั้นเรียกติดปากกันว่า วังเจ้าลาว เพราะได้จัดให้เป็นที่พักของเจ้าผู้ครองนครอื่นๆก่อนหน้านี้คติดต่อกันมา

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเฝ้าพระราชชายา เจ้าดารารัศมีไต่ถามสาระทุกข์สุขดิบ ตามประสาพ่อลูก และได้เฝ้ารายงานข้อราชการแต่อพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระราชชายาก็ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าพ่อที่วังหลัง เป็นการตอบแทน พร้อมกับเปิดโอกาสให้เจ้านายฝ่ายเหนือที่ตามขบวนเสด็จได้เข้าเฝ้า ขากลับ เจ้าบัวชุม วัย 7 ขวบจึงได้แยกกับขบวนเจ้าหลวง ตามเสด็จพระราชชายาเข้ามาอยู่ในวังหลวงด้วยตั้งแต่บัดนั้น

พระราชชายาทรงมอบหมายให้เจ้าบัวชุมอยู่ในความดูแลของครูช้อย ครูสอนภาษาไทยให้แก่พวกเจ้าเมืองเหนือ นอกจากเรียนหนังสือ และภาษาพูดกับครูช้อย ยังมีครูผิว ให้มีความรู้ฝึกสอนดนตรีไทยให้อีกด้วย เจ้าบัวชุมมีพรสวรรค์ ในทางดนตรีทำให้พระราชชายาเห็นแววก้าวหน้าจึงส่งเสริมให้เรียนดนตรีสากลกับแหม่มชาวยุโรป ชื่อ แบลล่า เพิ่มจากการเล่นดนตรีไทยทุกวันเจ้าบัวชุมต้องนั่งรถม้าไปเรียนเปียโนที่บ้านพักครูแหม่ม ถนนสุรวงศ์ โดยมีนางกำนัลของพระราชชายาไปเป็นเพื่อน จนกระทั่งมีความชำนาญ โอกาสเดียวกันเจ้าบัวชุมก็ได้เรียนออแกนจาก ครูแปลก ประสานทรัพย์ เพราะออแกนนั้นบรรเลงเข้ากับเพลงไทยได้ ส่วนเปียโนบรรเลงกับเพลงสากลได้ ครูแปลกยังสอนการขับร้องให้เจ้าบัวชุมจนร้องอยู่ในขั้นดีพอใช้

หลายปีในพระบรมหาราชวังผ่านไป พร้อมกับเจ้าบัวชุมได้เติบใหญ่เป็นสาวแรกรุ่น มีทั้งความสวยงามละมุนละม่อม กริยามารยาทอ่อนช้อย แถมมีความสามารถทางดนตรีชนิดอวดใครๆได้ ความสาว ความสวย และความเก่ง ของเจ้าบัวชุมไม่พ้นสายตาของเจ้านายผู้ชายที่หนุ่มและไม่หนุ่มที่ได้พบเห็น เริ่มต้นด้วย พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ต่อมาทรงกรมเป็น พลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพอพระทัยฝีมือการดนตรีและความสวยของเจ้าหญิงชาวเหนือวัย 15 ปี ถึงกับทาบทามกับพระราชชายาทูลขอเอาเป็นหม่อม แต่พระราชชายาทรงรู้ว่าเจ้านายผู้นี้มากมายไปด้วยหม่อมอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งทรงปราถนาที่จะสร้างกุลสตรีเมืองเชียงใหม่ผู้นี้ให้เหมาะสมกับเจ้านายพระญาติพระวงศ์ชาวเหนือของพระองค์มากกว่า จึงทรงปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวลอ้างเอาความเยาว์วัยของเจ้าบัวชุมเป็นข้อขัดข้องทำให้เจ้านายองค์นี้ผิดหวังมาก

20 ปีให้หลัง เมื่อเจ้าบัวชุมอายุได้ 35 ปีแล้ว เจ้าบัวชุมได้สอนเปียโนให้หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรที่วังกรมหลวงชุมพร เสด็จในกรมก็ยังไม่ทรงลืมความหลัง รับสั่งกระเซ้าเย้าหยอกเอาตรงๆว่า " เมื่อก่อนนี้เธอสวยมาก ฉันอยากได้เธอมาเป็นหม่อมของฉันจริงๆ เสียดายว่าฉันมีหม่อมมากไปเลยไม่อยากเอาชนะเธอ ไม่อย่างนั้นเธอจะต้องมาเป็นหม่อมของฉันจริงๆ" ไม่เพียงแต่กรมหลวงชุมพรเท่านั้นที่อยากได้เจ้าบัวชุมมาเป็นหม่อม แม้แต่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็เคยสู่ขอเจ้าบัวชุมต่อพระราชชายา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากพระราชชายาว่า เจ้าหญิงมีคู่หมั้นแล้วกับทายาทเจ้าแก้วนวรัฐ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีวี่แววอะไรเลย

เจ้านายองค์ที่สามที่เข้ามาขอเจ้าบัวชุมคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร แต่พระราชชายากลับเสนอเจ้าทิพวันให้แทน และในที่สุดก็ได้เสกสมรสกับเจ้าทิพวัน

เมื่อเจ้าหลวงอินทวโรรส สุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระราชชายา เดินทางไปทูลละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัว ได้นำเจ้าหลานชายราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐชือ เจ้าศุขเกษม ลงไปด้วย พระราชชายาทรงจัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างเอิกเกริกที่พระตำหนักในวังหลวง มีการบรรเลงดนตรีด้วย เจ้าน้อยศุขเกษมจึงได้พบกับ เจ้าบัวชุม

เจ้าน้อยศุขเกษม เป็นโอรสของอุปราชเจ้าแก้วนวรัฐ เคยไปเรียนหนังสือที่เมือง มะละแหม่งประเทศพม่านาน ถึง 5 ปี เจ้าน้อยศุขเกษมมีหน้าตาคมคายสมชายชาตรี เป็นที่พอพระทัยของพระราชชายา เจ้าน้อยศุขเกษมในฐานะราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ ได้เดินทางมากรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อรับพระราชทานยศทหารเป็น นายร้อยตรี รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คราวนี้การสู่ขอก็ได้เกิดขึ้นด้วยความยินยอมเห็นชอบของผู้ใหญ่

เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้าบัวชุมแต่งงานกันแล้วก็พากันไปพำนักอยู่ที่บ้านซึ่งพระราชชายาซื้อประทานให้ที่สามเสน หลังแต่งงานได้ 6 เดือน พระราชชายาจึงมีรับสั่งให้เจ้าแก้วนวรัฐไปรับผัวเมียคู่นี้มาอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ระหว่างการรอคอยการกลับนั้น ร้อยตรีศุขเกษมซึ่งมีราชการจะต้องเป็นองค์รักษ์เจ้านายผู้บังคับบัญชาขึ้นมาราชการเมืองเหนือ พระราชชายาจึงรับสั่งให้เจ้าบัวชุมกลับเข้าไปอยู่ตำหนักของพระองค์เป็นการชั่วคราว

เจ้าน้อยศุขเกษมอยู่เชียงใหม่ได้ประมาณ 1 ปีจึงลงไปรับเจ้าบัวชุมมาอยู่ด้วย ครองรักกันหวานชื่นราบรื่นดีได้เพียง 7 ปีเศษ เจ้าศุขเกษมก็ถูกพญามัจจุราชมาพรากชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับ ที้งที่อายุเพียง 33 ปี เจ้าบัวชุมจึงต้องเป็นหม้ายตั้งแต่ยังสาว เจ้าบัวชุมเป็นหม้ายอยู่เจ็ดปีเต็มๆ มีผู้ชายมาหมายปองมากมายแต่ในที่สุดโดยความยินยอมเห็นชอบของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีผู้เป็นเสมือนร่มไทรอันยิ่งใหญ่เจ้าบัวชุมจึงเข้าพิธีสมรสกับเจ้าไชยวรเชษฐ์ (มงคงสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่)

ชีวิตสมรสเจ้าบัวชุมครั้งที่สองนี้ไม่ราบรื่น อยู่กันเพียง 3 ปีก็หย่าร้างกัน ตอนนั้นพระราชชายาได้เสด็จกลับไปประทับถาวรที่นครเชียงใหม่แล้ว เมื่อหย่าขาดจากสามีแล้วก็กลับไปอยู่กับพระราชชายาอีกครั้ง ครั้งนี้นานถึง 18 ปี จนกระทั่งพระราชชายาสิ้นพระชมน์

เจ้าหญิงบัวชุมจึงเจ้านายฝ่ายเหนือที่เป็นนางข้าหลวงรับใช้ไกล้ชิดพระราชชายา เจ้าดารารัศมีจนตลอดชีวิต


บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:38

ตามหามะเมียะ


เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 ที่ผ่านมา นักวิชาการชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งซึ่งสนใจเรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมและสาวมะเมีย ได้ไปเยือนเมืองเมาะละแหม่ง เธอ คือ รศ.จีริจันทร์ ประทีปะเสน

เส้นทางที่ปิดระหว่างเมียวดีกับเมาะละแหม่งทำให้คนไทยที่สนใจจะไปเยือนเมาะละแหม่งต้องบินจากฝั่งไทยไปที่นครย่างกุ้ง แล้วนั่งรถยนต์หรือรถไฟย้อนกลับมา น่าเสียดายที่อาจารย์จีริ จันทร์ไปถึงเมืองเมื่อค่ำแล้ว และต้องเดินทางจากเมืองตอนสายวันรุ่งขึ้น แต่กระนั้นในความมืดของคืนนั้นและความสลัวรางของเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น อาจารย์ก็ได้เห็นหลายสิ่งที่น่าตื่นใจ และจะเป็นฐานสำคัญสำหรับการเดินทางของเธอครั้งต่อไปและของผู้สนใจศึกษารุ่นต่อไป

อาจารย์เล่าว่าค่ำคืนนั้น ธอได้ขึ้นไปที่วัดไจ้ตาหล่าน เมื่อขึ้นไปถึงลานกว้างหน้าพระเจดีย์ ขณะที่เธอกำลังไหว้พระเจดีย์สีทองอร่าม มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งนั่งเคียงกันอยู่ไม่ไกลนักกำลังไหว้พระเจดีย์เช่นกัน ลานนี้เองเมื่อ 99 ปีก่อน (พ.ศ. 2446) ที่เจ้าชายหนุ่มแห่งเมืองเชียงใหม่กับสาวพม่าคู่หนึ่งนั่งเคียงกันไหว้พระเจดีย์เบื้องหน้า และสัญญาต่อกันและต่อหน้าพระเจดีย์ว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อกันตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย

เมื่ออาจารย์พบพระรูปหนึ่งและถามถึงแม่ชีของวัดนี้ ท่านได้พาเธอไปพบเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุราว 60 ปี ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่าวัดนี้เคยมีแม่ชีคนเดียวเมื่อนานมาแล้ว กล่าวคือเมื่อท่านเริ่มบวชเณรอายุ 18-19 ปี ประมาณ พ.ศ. 2504-2505 ที่วัดมีแม่ชีชรารูปหนึ่ง ชื่อ ด่อนังเหลี่ยน อายุ 70 ปีเศษ และหลังจากนั้นไม่นาน แม่ชีก็เสียชีวิต

เจ้าอาวาสเล่าว่าท่าน ได้ยินว่าแม่ชีผู้นี้บวชชีตั้งแต่เป็นสาว เป็นแม่ชีที่ชอบมวนบุหรี่ และมีคนมารับไปขายเป็นประจำ แม่ชีได้บริจาคเงินให้วัดสร้างศิลาจารึกเป็นภาษามอญมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ที่ยังคงเก็บไว้ที่วัด เจ้าอาวาสเล่าว่าห้องพักของแม่ชียังคงอยู่ หม้อข้าวและเครื่องใช้บางอย่างก็ยังคงอยู่ อาจารย์จีริจันทร์คิดว่าแม่ชีด่อนังเหลี่ยน คือ มะเมียะ เพราะเป็นที่รู้กันที่เชียงใหม่ว่าหลังจากที่มะเมียะถูกพรากจากเจ้าน้อยศุขเกษม เธอก็ไปรอชายคนรักที่เมืองเมาะละแหม่ง ไม่ได้รักใครอีก หลังจากนั้น เธอได้กลับมาที่เมืองเชียงใหม่อีกครั้งเพื่อมาพบเจ้าน้อยศุขเกษม

ในตอนนั้น เจ้าน้อยแต่งงานแล้วก็กับเจ้าหญิงบัวชุม ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าดารารัศมีและพิธีสมรสจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเจ้าน้อยทราบว่ามะเมียะมารอพบที่บ้านเชียงใหม่ เจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมออกมาพบ แม้ว่ามะเมียะจะรออยู่นานแสนนาน โดยที่เจ้าน้อยได้ฝากเงินให้ 800 บาทและแหวนทับทิมที่ระลึกวงหนึ่ง หลังจากนั้นมะเมียะก็กลับมาบวชชีที่วัดใหญ่ในเมืองเมาะละแหม่งจนสิ้นชีวิต

อาจารย์ จีริจันทร์สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าแม่ชีผู้นี้บวชตั้งแต่ยังสาว และชอบมวนบุหรี่ไปขายหารายได้จึงน่าเชื่อว่าด่อนังเหลี่ยนกับมะเมียะเป็นคนเดียวกัน ส่วนคำว่ามะเมียะเป็นภาษาไทใหญ่แปลว่าสีแดง (ด่อ คือ นาง) ก็เป็นประเด็นที่ต้องค้นคว้าต่อไปว่าเหตุใดมะเมียะจึงเปลี่ยนชื่อและเหตุใดต้องใช้ชื่อว่านังเหลี่ยน

เช้าวันรุ่งขึ้น อาจารย์ไปถามหาบ้านไม้สักหลังใหญ่ของเศรษฐีอูโพดั่ง ซึ่งเคยเป็นบ้านที่พักของเจ้าน้อยศุขเกษม อาจารย์บอกว่าอูโพดั่งเป็นชื่อถนนสายหนึ่งในย่านนั้น ส่วนบ้านนั้นรื้อขายไปแล้ว อาจารย์ได้ไปที่ตลาดได วอขวิ่น ที่เจ้าน้อยได้พบกับมะเมียะ และเป็นตลาดที่มะเมียะเคยขายบุหรี่ที่นั่น เพราะเป็นตลาดที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเศรษฐีอูโพดั่ง เธอได้พบตลาดเก่าแก่ และมีสภาพที่ไม่น่าจะแตกต่างจากสภาพเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน และได้พบย่านขายบุหรี่

จากนั้น อาจารย์ได้ไปที่โรงเรียน St. Patrick ได้พบว่าเป็นโรงเรียนที่มีเนื้อที่กว้างขวางเกือบ 10 ไร่ มีอาคารสร้างด้วยไม้สัก มีเสาขนาดใหญ่กว่า 60 ต้น มีโบสถ์ มีอาคารตึกที่เป็นหอพัก มีโรงอาหารขนาดใหญ่ และสระว่ายน้ำ
แต่ขณะนี้โรงเรียนดังกล่าวได้ปิดกิจการไปแล้วและกลายเป็นโรงเรียนสอนวิชาบัญชี


ภาพรศ.จีริจันทร์ ประทีปะเสน
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:47

ขอขอบคุณลิ้งค์ข้อมูลต่างๆ นะคะที่เอามาประกอบกระทู้นี้ ตั้งใจรวบรวมไว้ที่เดียวกันค่ะ สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างจุใจ

http://www.lannaworld.com
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4992226/K4992226.html
http://blog.eduzones.com/forwardmail/26112
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84489
http://www.compasscm.com/issue/Feb10/module_back.asp?content=Feb10/scoop&lang=TH
http://www.chiangmai-thailand.net/person/sokkasem_htn.htm
http://mblog.manager.co.th/tawanrorn/th-33685/
http://en.wikipedia.org/wiki/Mawlamyine
http://www.panoramio.com/photo/62734960
http://veryhistory.pad-soa-th.com/cultural/3155.html
http://www.mariusztravel.com/countries/myanmarphotos3.php
http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=73.0
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/356442
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%A1%E0%B8%B5_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:51

หากต้องการฟังเรื่องมะเมียะเป็นรูปแบบของไฟล์เสียง อสมท. เชียงใหม่ได้ทำสารคดีนี้ไว้ค่ะ

ตอนที่ 1 http://www.mcotcm.com/lanna/sound.php?table=doc&id=166
ตอนที่ 2 http://www.mcotcm.com/lanna/sound.php?table=doc&id=167
ตอนที่ 3 http://www.mcotcm.com/lanna/sound.php?table=doc&id=168
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 14:58

ประวัติคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ผู้บอกเล่าเรื่องราวของมะเมียะผ่านสื่อเป็นคนแรก




อดีตนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเชียงใหม่ที่สร้างผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรุ่นปัจจุบัน คือ นายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง โดยเฉพาะการค้นคว้าและเขียนหนังสือเพ็ชรลานนาทั้งเล่ม ๑ และ ๒ พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ เนื้อหายังทรงคุณค่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง จบมัธยมจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและมีความสามารถด้านการเขียนตั้งแต่เป็นนักเรียน หลังจากการศึกษาได้ออกสิ่งพิมพ์อย่างจริงจัง ซึ่งนายบุญเสริม สาตราภัย ค้นคว้าไว้ว่า

"ปี พ.ศ.๒๔๙๑ ปราณี ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ 'แสงอรุณ' พิมพ์ที่โรงพิมพ์เจริญเมือง ของนายเมืองใจ ชัยนิลพันธ์ จำหน่ายฉบับละ ๑ บาท ต่อมาได้นำผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ มาลงในเล่ม ทำให้ 'แสงอรุณ' ขายดีขึ้น ต่อมานายปราณี ศิริธร มาทำหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ 'ชาวเหนือ' ของนายเยื้อนโอชเจริญ อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับมาทำหนังสือพิมพ์'แสงอรุณ'ของตนเองต่อ ไม่มีรายละเอียดว่าทำอยู่อีกนานเพียงใด (จดหมายเหตุ เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือแห่งประเทศไทย,พ.ค.-ก.ค.๒๕๔๖)

เกี่ยวกับหนังสือเพ็ชรลานนา นายปราณี ศิริธร เขียนไว้ในคำนำในการจัดพิมพ์หนังสือเพ็ชรลานนา ครั้งที่ ๑ ด้านความตั้งใจที่มุ่งมั่นว่า "ความตั้งใจของกระผมในการที่จะรวบรวมชีวประวัติบุคคลสำคัญของลานนาไทยนั้นมีมาแต่อดีตแล้ว ในขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่ใน ร.ร.ประจำมณฑลพายัพ ยุพราชวิทยาลัย เมื่ออายุได้ ๑๕ ปีมาแล้ว กระผมตั้งใจว่า โตขึ้นกระผมจะเป็นคนแรกที่จะออกหนังสือพิมพ์ในนครเชียงใหม่ให้สำเร็จให้จงได้ และในปี พ.ศ.๒๔๘๙ กระผมก็ได้กระทำแล้วและได้สำเร็จแล้ว ภายหลังสงครามเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ..."

เหตุผลในการค้นคว้าและจัดพิมพ์หนังสือเพ็ชรลานนา คือ "หลังจากที่ได้กระทำงานให้แก่สาธารณะ ทางด้านความเจริญของวัตถุและเอกสารต่างๆ ปรากฏขึ้นมาแล้ว อันเกิดผลแต่ส่วนรวมและความสุขของบ้านเมือง ทีนี้หันมาดูและพิจารณาเรื่องราวของบุคคลและชื่อเสียงของชาวลานนาไทยผู้ได้กระทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในอดีต ตลอดจน ราชวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือ 'เจ้าเจ็ดตน' กำลังจะหายสูญและเป็นอดีตไปเสียแล้วเพราะได้เกิดบุคคลสำคัญๆ ใหม่ขึ้นมาแทน จึงทำให้ความเคารพ บูชาเชิดทูนบุคคลเหล่านี้นับวันมีแต่จะถูกลืมไปเป็นอดีตเสีย จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดพลังงานทางใจขึ้น ยกย่องชีวประวัติบุคคลสำคัญของลานนาไทยที่เคยขี่ม้า ขี่ช้าง จับดาบออกศึกเหนือเสือใต้ ทั้งเจ้านาย ทั้งขุนพล แม่ทัพ ซึ่งเคยเอาชีวิตไปทิ้งกลางป่ากลางเขาและยอดดอย แล้วเผากับกระดูกให้ลูกเมียดูต่างหน้าทางบ้าน แต่แล้ววีรกรรมของท่านเหล่านั้น นับวันก็จะจมฝังดินโดยไม่มีใครขุดค้นขึ้นมา

"กระผมจึงขอถือโอกาสนำมาบันทึกเป็นอนุสรณ์ไว้ในโอกาสนี้ ทั้งนี้อาจจะขาดบุคคลสำคัญในราชวงศ์ไปอีกหลายองค์ที่ได้ทำประโยชน์ไว้แต่มิได้นำลงมาเขียนหมดทั้งนี้เนื่องด้วยเกี่ยวกับระยะเวลาและกำลังเขียนและหน้ากระดาษที่ได้พิมพ์ แต่ก็คิดว่าได้พยายามรวบรวมไว้มากที่สุดเท่าที่จะพึงหาภาพมาประกอบเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ด้วยความกรุณาเมตตาของเจ้านายในราชวงศ์ฝ่ายเหนือเป็นส่วนมาก"

ด้านข้อมูลอ้างอิง "เรื่องทุกเรื่องที่เขียนขึ้นนี้เขียนจากชีวิตจริงทั้งสิ้น พร้อมกับมีหลักฐานยืนยันได้ทุกๆ กรณี ซึ่งบุคคลที่กล่าวนามในหนังสือ เพ็ชร์ลานนา นั้นแทบทุกท่านเป็นบรรพบุรุษของสกุลใหญ่ๆ อยู่ในภาคเหนือที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้..."

ข้อความที่เป็นปรัชญาแห่งชีวิตที่ นายปราณี ศิริธร เขียนไว้ที่คำนำหนังสือ
เพ็ชรลานนา เล่ม ๒ ซึ่งเขาใช้คำว่า "คำอุทิศ เพ็ชรลานนา"

"อีกไม่ช้าวันหนึ่งข้างหน้า...ก็จะมาถึง ปัจจุบันกลายเป็นอดีตไป เราทุกคนก็เดินทางไปสู่เชิงตะกอนเผาศพ หรือไม่ร่างกายของเราก็อยู่ในหลุม ทั้งนี้ โดยธรรมชาติจะเรียกลงหายใจของเราไปจากร่างกายเราทุกๆ คน ก็จะเหลือแต่ซากเอาไว้ และแล้วอีกไม่ช้าก็เหลือแต่ชื่อเอาไว้ประดับริมฝีปากประชาชนและความคิดคำนึงของคนรุ่นหลังเท่านั้น ทุกคนต้องแก่ชราทำอะไรไม่ได้ และแล้วก็ต้องตายทุกคนไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้าได้สักคนเดียว"

นอกเหนือจากงานเขียนเพ็ชรลานนาเล่ม ๑ และ ๒ แล้ว ผลงานของนายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เล่มอื่นๆ ก็มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่ , ชีวิตและการต่อสู้ในพระนครเชียงใหม่ราชธานีเชียงใหม่,ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่,มะเมียะ สาวพม่าผู้ชนะใจราชบุตรอุปราชแห่งนครเชียงใหม่,เหนือแคว้นแดนสยาม เป็นต้น

เมื่อมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป ประกอบกับบุคลิกที่ชอบเข้าสังคมทำให้ นายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นและได้รับเลือกหลายสมัย ทั้งส.จ.(สมาชิกสภาจังหวัด)และ ส.ท.(สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่)

นายปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เสียชีวิตเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๐ ขณะอายุ ๗๗ ปี (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง คลังข้อมูลชีวประวัติเจ้านายฝ่ายเหนือ,สมโชติ อ๋องสกุล,นสพ.ภาคเหนือรายวัน,๗ มี.ค.๒๕๔๐)

http://www.thainews70.com/news/news-culture-arnu/view.php?topic=156
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 15:04

ฟังเพลง มะเมียะ กันอีกที คราวนี้ขับร้องโดยคุณจรัล มโนเพ็ชร ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ทำให้เรื่องของมะเมียะเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านบทเพลงโฟล์คซองคำเมือง

http://www.youtube.com/watch?feature=player_detailpage&v=Ta9dNdS6MxA
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 15:50

ส่งมะเมียะประกวดอีกคนครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 16:51

จากนิราศพระบาท

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก                        ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง                               เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น                             เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง                        ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี


จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดบางน้ำผึ้งนอก



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 18:11

เรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมที่ร่ำลือกันนี้  หากพิจารณากันในประเด็นที่เจ้าแก้วนวรัฐฯ ไม่เคยบวชเป็นสามาเณรเลยไม่รู้หนังสือ  ทั้งหนังสือยวน (ตั๋วเมือง) และไทยใต้ (สยาม)  แต่ส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่เมืองมะระแหม่ง  ซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ  แต่กลับส่งบุตรชายคนรองคือ เจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน) มาเรียนที่กรุงเทพฯ โดยให้อยู่ในปกครองของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี  แต่ก็มีบันทึกความผาดโผนในเรื่องผู้หญิงของเจ้าวงษ์ตวันจนพระราชชายาฯ ออกพระโอษฐ์ไม่ทรงรับเป็นผู้ปกครอง  โดยส่วนตัวเจ้าน้อยศุขเกษมนั้นก็ไม่มีเอกสารหลักฐานใดกล่าวถึงความโลดโผนขแงท่าน  ผิดกับเจ้าราชบุตรที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  เรื่องนี้เลยชวนให้คิดไปว่าเรื่องของเจ้าน้อยศุขเกษมที่เล่าๆ กันมานั้นจะเป็นเรื่องจริงของเจ้าราชบุตรหรือไม่  และเมื่อจะกล่าวกระทบไปถึงเจ้าราชบุตรก็เกรงว่าจะมีภัย  เลยไปใช้ชื่อเจ้าน้อยศุขเกษมผู้เป็นพี่ชายที่ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุเพียง ๓๐ เศษแทน  เรื่องนี้เพียงแต่เสนอไว้ให้ขบคิดกัน  เพราะไม่อาจหาหลักฐานเรื่องเจ้าน้อยศุขเกษมได้  แต่เรื่องเจ้าราชบุตรนั้นมีรายละเอียดพิสดารคล้ายๆ กันนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 19 คำสั่ง