เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5749 พ.อ. ประจวบ วัชรปาณ พ.บ.
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 15 ก.พ. 12, 10:49



จากหนังสืออนุสรณ์   งานพระราชทานเพลิงศพ

ณ วัดมงกุฏกบัตริยาราม

วันที่ ๑๙  พฤศจิกายน  ๒๕๑๕

ประวัติของ พ.อ. ประจวบ  วัชรปาน  และ  คัมภีร์ปาริชาติขาดก (บทที่ ๑ -  บทที่ ๙)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ก.พ. 12, 11:04



เป็นบุตรของ อำมาตย์ตรี หลวงระงับประจันตคาม (โป๊ะ   วัชรปาณ)  และ คุณนายเจิม

มีพี่น้อง ๔ คน คือ

เจ้าของประวัติ

นายประจักษ์  วัชรปาณ ธ.บ.

นายแพทย์ประจำ   วัชรปาณ  พ.บ.

น.ต.  ประจันต์  วัชรปาณ


        ขณะที่บิดารับราชการอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี      ได้เข้ามาเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

ต่อมาได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์        ได้เข้าศึกษาต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะแพทย์ศาสตร์

รับพระราชทานปริญญาแพทศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี ๒๔๗๙

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ก.พ. 12, 11:22



เข้ารับราชการทหาร เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๘๐  สังกัดกองเสนารักษ์  มณฑลทหารบกที่ ๑

สมรสกับนางสาวถนอม  ฉิมโฉม   บุตรีหลวงอุดมภาษี (สง่า  ฉิมโฉม  กับคุณนายช้วน   มีบุตร ๕ คน

นางปฐมพร   สมรสกับ นายคำนนท์  สูตะบุตร

ร.อ. ประเทศ

นางประณอม  สมรสกับนายเชาวกาญจน์  มิลินทวัต

นายปรเมศวร์

นางสาวปิยรัตน์


       ในระหว่างที่รับราชการอยู่  ได้มีโอกาสออกไปรับใช้ชาติ  ไปราชการสงครามในคราวพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส 

เนื่องในการเรียกร้องดินแดนคืน พ.ศ. ๒๔๘๔   และในกรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา จนเสร็จสิ้นสงคราม

ได้ลาออกเป็นทหารกองหนุน ตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙

ได้กลับเข้าประจำกรมแพทย์ทหารบกอีก เมื่อ ๒๔๙๕


พ.อ. ประจวบ  วัชรปาน มีลักษณะเด็ดเดี่ยว  เยือกเย็น  สุยุม  รอบคอบ   ทำให้ต้องมาลำบากตรากตรำคุ้มกันบุคคลสำคัญของชาติอยู่หลายปี

ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๔

จะขอคัดย่อเรื่องราวของ พ.อ. ประจวบ  จากคำไว้อาลัยของบุคคลสำคัญหลายคนต่อไป
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ก.พ. 12, 15:28



พลโทวัลลภ   โรจนวิสุทธิ์   เขียนเล่าว่า


        ประจวบ  วัชรปาณ เป็นหนึ่งในสามเพื่อนตายที่ผมมีอยู่

        รู้จักกันเมื่อต้นปี ๒๔๖๙  วันแรกที่ผมเข้าเรียนที่ ร.ร. มัธยมวัดเทพศิรินทร์      ในตอนบ่ายหลังเลิกเรียนแล้วมี

เพื่อน ๆ นั่งทำการบ้านอยู่หลายคนเช่น สุนทร  หงส์ลดารมย์   วันนั้นผมเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต

เรื่อง Specific Gravity     ผมเป็นเด็กบ้านอก  ถึงจะผ่านมัธยม ๕ มาแล้ว   ก็ไม่เคยเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เลย

ไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร

        "ทำอะไรอยู่ครับ?"   ผมถามแล้วเดินตรงไปที่โต๊ะของประจวบ

        "การบ้านวิทยาศาสตร์ฮะ"   ประจวบตอบด้วยน้ำเสียงไมตรี  พร้อมกับเงยหน้าขึ้นดูผมด้วยแววตาเอ็นดู  เป็นแววตาที่มีอยู่ประจำในตัวประจวบ

ตราบจนเปลือกตาปิดสนิทไม่มีวันจะเผยขึ้นมาอีก

        "ผมไม่รู้เรื่องเลย  ไม่เข้าใจอะไรสักนิด   และไม่เคยเรียนมาก่อนเลย"   ผมบอกประจวบ   "ช่วยอธิบายให้ผมฟังหน่อยได้ไหมครับ"

         ประจวบอิดเอื้อนอยู่ครู่หนึ่ง   แล้วพูดกับผมแบบปราณีว่า   "ไหนเอาสมุดที่จดมาดูที"

         พอเห็นแค่หัวข้อเรื่องกับการบ้าน  ประจวบแหงนหน้าดูผมอีกครั้ง   แล้วก็ลงมืออธิบายให้ผมฟังเริ่มแต่ต้น   ให้ผมทำการบ้านให้ดูด้วย

แถมยังให้ยืมสมุดไปจดที่บ้านอีกด้วย          เป็นอันว่าประจวบไม่ได้ทำการบ้านของเขาเลยในบ่ายวันนั้น


        ประจวบ วัชรปาณ  โอบอ้อมอารีและเมตตาปราณีเพื่อนมนุษย์เพียงไร        ใครก็ตามที่บากหน้าแบกความทุกข์มาหาแล้ว  ไม่เคยผิดหวังเลย

ประจวบเป็นต้องช่วยเต็มที่เสมอมา     จนกระทั่งเมื่อล้มเจ็บก็พยุงกายไปพูดโทรศัพท์ถึงคนนั้นคนนี้  เพื่อปัดเป่าความเดือดร้อน  และความ

ทุกข์ยากของผู้ที่มาขอความช่วยเหลืออยู่ไม่วาย


        ประจวบอยู่บ้านในซอยสลักหิน ข้างสถานีหัวลำโพง   ผมพักอยู่ที่ตึกแถวบนถนนกรุงเกษม  เชิงสพานทิพยเสถียร (ตอนนั้นเป็นจุดปลายทาง

ของรถรางสายแดงที่วิ่งระหว่างหัวลำโพง -  บางลำพู    ดังนั้นเมื่อเลิกเรียนแล้ว  เราก็เดินนับไม้หมอนรถไฟจากสพานนพวงศ์มรถึงสถานีหัวลำโพงด้วยกัน

       ประจวบจริงจังและจริงใจนักในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์  ในการงานและในแม้ในการกีฬา


       ประจวบเล่นกีฬาอย่างจริงจัง  เมื่อเข้าในรั้วสีชมพูแล้ว  หันมาเล่นกีฬาพุ่งแหลน  ขว้างจาน  มวยปล้ำ  และยิงปืน

       ประหลาดนักหนาที่ประจวบผู้มีปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตพ่วงท้าย  กลับมาสนใจศาสตร์ลึกลับ เช่นโหราศาสตร์และไสยศาสตร์

ประจบบอกกับผมว่า

"อยากรู้นักว่าศาสตร์ทั้งสองนี้มีมูลฐานความจริงแค่ไหน?"


ประจวบศึกษาโหราศาสตร์ตำรับของอินเดีย   จนกระทั่งสามารถถ่ายทอดภาษาสันสกฤตออกมาเป็นภาษาไทยให้ประจักษ์แก่ตาท่านทั้งหลายแล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ก.พ. 12, 15:50



        ในระหว่างมหาสงครามเอเชียบูรพา   ประจวบเป็นผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ประจำกองพันทหารราบที่ ๓๓     ซึ่งมี

พันตรีสฤษดิ์  ธนะรัชต์  เป็นผู้บังคับกองพัน         บุคคลคู่นี้ได้ร่วมเป็นร่วมตายกันมาตลอดสงครามมหาเอเชีบบูรพาจนเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี


ข้อนี้เองที่ต่อมาเมื่อผู้บังคับกองพันมีวาสนาสูงขึ้น  ผู้บังคับหมวดเสนารักษ์กลับมาใกล้ชิดอีกในฐานะแพทย์ประจำตัวและนายทหารติดตาม


ประจวบถูกตามตัวถึง ๔ ครั้ง     ในครั้งที่ ๔  เขาก็ต้องทิ้งอนาคตที่จะทำมาหากินในภูเก็ตขึ้นมา

เขาเล่าให้ฟังว่าการเจรจาครั้งนั้นสั้นนิดเดียว

"ไอ้จวบ!      กูไม่มีใครแล้ว        มึงมาตายกับกูได้ไหม?"

"ถ้าถึงขนาดนั้นล่ะก้อ  เมื่อไรก็เมื่อนั้นล่ะครับ"     หมอประจวบตอบอย่างไม่ต้องหยุดคิดให้เสียเวลาแม้แต่น้อย   "ถ้ายังไม่ถึงตาย  ผมขออย่างเดียวเท่านั้นครับผม"

"อะไรวะ?"

"ขอมีนายคนเดียวครับผม"



        ในคืนวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐  ก่อนเวลาลงมือทำรัฐประหารไม่กี่นาที     จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก

และผู้นำคณะทหารเข้าทำการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.  พิบูลสงคราม   ได้กล่าวแก่คณะนายทหารฝ่ายอำนวยการประจำตัวท่านว่า

"ถ้าทำงานคืนนี้ไม่สำเร็จ     ไอ้จวบ     มึงไปกะกูสองคน   นอกนั้นไม่ต้อง"


        คนจริงย่อมเข้าใจคนจริงด้วยกัน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ก.พ. 12, 21:37


แด่หมอจวบ - เพื่อนรัก - เพื่อนตาย

พล.อ. กฤษณ์  สีวะรา     ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๑๕


        สงครามมหาเอเชียบูรพา       ในตอนนั้นผมเป็นนายทหารอยู่ลพบุรียศร้อยโท   เราได้รับคำสั่งให้ออกไปตั้งหน่วย

ทหารใหม่ ร. พัน ๓๓  ที่ พิษณุโลก  โดยมีจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ในตอนนั้นเป็นพันตรี เป็นผู้บังคับกองพัน    ร้อยโทหมอประจวบเป็นผู้บังคับการหมวดเสนารักษ์

ผมเป็นผู้บังคับกองร้อยกับเพื่อนนายทหารอีกหลายคน     นี่คือจุดร่วมต้นของการเดินทางที่เราร่วมตกระกำลำบาก    มีทุกข์สุขอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีใครยอมทิ้งเพื่อน

รอนแรมอยู่ในป่าเขาดงดิบและควันปืนในสนามรบ  เป็นเวลาถึงสี่ปีเต็มจนกระทั่งสงครามสงบ



หักเชิงซามูไร

        ในระยะนั้น  ทหารญี่ปุ่นมีอยู่ดาษดื่นเต็มเมือง   เมื่อกองทหาร ร.พัน ๓๓เพิ่งจะเช้าไปตั้งกองบังคับการใหม่ที่พิษณุโลกได้เดือนเศษ   ก็เกิดเรื่องเข้าจนได้   

พิษณุโลกเป็นเขตที่กองทหารญี่ปุ่น   ยกกำลังเข้าไปตั้งอยู่เป็นจำนวนมากด้วยกัน           

        วันหนึ่งซึ่งผมยังจำอยู่จนบัดนี้   ตอนนั้นเป็นตอนเย็น   ทหารญี่ปุ่นซึ่งมักจะประลองยูโดกันเกือบทุกวันในหมู่กันเอง   สถานที่ญี่ปุ่นซ้อมยูโดอยู่นั้น

อยู่ใกล้กับบ้านพักของหมอประจวบ

        หมอประจวบตอนนั้นนุ่งโสร่งอยู่บ้าน   ทำซึมเซา         ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าก็นึกว่าหมูสนาม   เข้าไปท้าทายเชิงยูโด    หมอประจวบก็ยังทำเซ่อ ๆ

พวกเราสกิดกันไปมา    ถูกหยามหนักข้อไปแล้ว        วางแผนให้หมอประจวบออกซัดให้ได้    ญี่ปุ่นแสดงศักดากำแหงเต็มที่แล้ว   และแล้วการประลอง

ก็เกิดขึ้น           ต่อกรกันสุดเหวี่ยง   เพราะแม้ไม่ได้ตีตราธงชาติไว้ที่น่าอกก็เหมือนตีตรานั่นแหละ        จะแพ้ไม่ได้

นักยูโดเหรียญทองจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ของเรา  ทุ่มทับจับหักเสียครู่หนึ่ง   จอมยูโดคนแรกของญี่ปุ่นก็หมอบกระแต       

การประลองฝีมือหาได้จบลงเพียงเท่านี้ไม่   ญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้กลับลงสู้อีกสามคนติดๆกัน   หมอประจวบคนเดียว    แม้ต้องสู้ญี่ปุ่น

ถึงสี่คนผลัด   ก็สามารถจับทุ่มฟัดหมอบไปเสียทุกคน     ตั้งแต่นั้นมานายทหารญี่ปุ่นก็ไม่เคยกล้ากำแหงหาญเข้ามาท้าทายถึงชานเรือนอีกเลย

แม้นจะเป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต   แต่พวกเราก็ไม่เคยลืมกันเลย   นับเป็นเรื่องราวที่ลูกหลานและญาติมิตร  ควรจะรู้กันไว้   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 05:56



มุ่งเชียงตุง

        การศึกในตอนนั้นกำลังเข้มข้น   ญี่ปุ่นรุกหนักเข้าพม่าโดยขอให้กองทัพไทยส่งกำลังเข้าสหรัฐไทยเดิม(เชียงตุง)

ร.พัน ๓๓ ซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองเส้นทางลำเลียง  ทั้งถนน  สะพาน  และเส้นทางรถไฟ จากพิษณุโลกไปถึงลำปาง

ได้รับคำสั่งให้มุ่งเข้าสหรัฐไทย (เชียงตุง)

        หมอประจวบผู้บังคับหมวดเสนารักษ์  รู้ดีว่าหนทางข้างหน้าที่เรากำลังมุ่งไปนั้น   จะต้องพบกับอุปสรรคในเรื่องยารักษาโรค

เป็นแน่แท้    เพราะสมัยนั้นโรคภัยไข้เจ็บในป่าเมืองเหนือชุมมาก   โดยเฉพาะมาเลเรีย      ยาควินินและอาเตบรินหายากและมี

ราคาแพงราวกับค่าของทองคำ   ได้เสนอให้จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  รวบรวมยารักษาโรคที่จำเป็นเสียก่อนจะเคลื่อนกำลัง


        เรามุ่งสู่เชียงใหม่   แหล่งตั้งหลักแหล่งใหม่อันเป็นจุดที่จะมุ่งไปสู่เชียงตุงและการรบอันทรหด     ต่อจากนั้นก็เคลื่อนที่ด้วยเท้า

บุกป่าฝ่าดงไปสู่เชียงดาว   มุ่งหน้าไปทางเมืองแหง  เขตติดต่อกับพม่า        เราเดินกันอย่างเดียวเพราะการเดินเป็นพาหนะ

แต่อย่างเดียวที่พาเราบุกป่าฝ่าดงลงห้วยไปได้    เพราะไม่มีทั้งรถทั้งถนน


        เรามาพบกับความทารุณของธรรมชาติอย่างหนักอึ้ง   ระหว่างยกกำลังมุ่งไปสู่เมืองต่วน     ฝนตกอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง

ตลอดหลายวันหลายคืนที่เราออกเดินทาง       ทหารต้องย่ำอยู่ในโคลนเป็นวัน ๆ แล้วก็ขึ้นเขาสลับกันไป   ความจริงการรบทางด้านนี้

อาจกล่าวได้ว่าไม่หนักหนาร้ายแรงอะไรมากนัก       แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมาย     กลายเป็นไข้ป่า(มาเลเรีย)ที่บั่นทอนกำลังของกองทัพ

เป็นอย่างยิ่ง      ทหารป่วยอ่อนเปลี้ยเกือบทั้งกองพัน   และตายลงเพราะโรคร้ายอย่างน่ากลัว       ระหว่างนั้นหมอประจวบนับเป็นกำลังที่เข้มแข็ง

อย่างที่สุด   เป็นคนร่างกายแข็งแรงที่ไม่ยอมให้โรคร้ายเข้าคุกคามง่าย ๆ      มีความรักชีวิตทหารเป็นชีวิตจิตใจ     เอาใจใส่ดูแลและรักษา

ตลอดเวลาไม่ยอมทอดทิ้ง         ร.พัน ๓๓  ทหารล้มตายเพราะมาเลเรียน้อยมากเมื่อเทียบกับหน่วยอื่น ๆ


        พันเอกประจวบ   วัชรปาณ  แม้จะเป็นทหารหมอก็จริง    แต่ในการรบทุกครั้งจะติดตามผู้บังคับกองพัน  ซึ่งบัญชาการรบในแนวหน้า

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตีหรือรับ       ถ้ามีทหารได้รับบาดเจ็บ   หมอประจวบจะอำนวยการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที   ทำให้ขวัญทหารดีตลอดเวลา

เสร็จการรบที่เมืองต่วน   เราถอนกำลังออกย่ำมุ่งไปสู่แม่แตงแล้วย้อนสู่เชียงราย          หมอประจวบคงทำหน้าที่แพทย์และนักรบอย่างเข้มแข็ง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 07:10



(พล.อ. กฤษณ์  สีวะรา  เขียนเรื่องหมอประจวบกับชีวิตท่านในสงครามได้น่าอ่านและเป็นความรู้อย่างยิ่ง    ไม่สามารถย่อความได้
เพราะจะขาดความสำคัญไป      จึงคัดลอกมาแทบทั้งหมด/วันดี)


        ไสยศาสตร์ในการรบ

        ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม    แม้โลกเราจะก้าวมาถึงยุคจรวดส่งดาวเทียมกันแล้ว   ผมยังเขียนเรื่องไสยศาสตร์ในการรบ

จุดประสงค์ในการเขียนครั้งนี้   ก็เพื่อระลึกถึงเพื่อนรักร่วมตายคนหนึ่ง     ซึ่งขณะที่ออกทำการรบอยู่ด้วยกัน  ใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วยในการรบ

เขียนขึ้นเพราะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง        ส่วนจะเชื่อหรือไม่นั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง       กับเขียนขึ้นเพราะการรบของไทย

แต่สมับโบราณก็ได้ใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วยเหมือนกัน  อาทิ การทำพิธีตัดไม้ข่มนาม    การเส้นสรวงสังเวยก่อนออกเดินทัพ


        พันเอก ประจวบ  วัชรปาณ  เป็นบุคคลที่หาไม่ได้ง่ายนักในยุคปัจจุบัน       เป็นคนที่ให้การศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์และวิทยาการมากมาย

ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง    เพราะเตรียมชีวิตไว้เข้าศึกษาเล่าเรียนแพทย์แผนปัจจุบันจนจบเป็นแพทย์ปริญญา    ยังสนใจใน

การแพทย์แผนโบราณ   สนใจวิชาไสยศาสตร์  ภูติผีปีศาจ   สิ่งลึกลับและดำมืด    ไม่ีตัวตนที่ยากแก่การพิสูจน์        อาจกล่าวได้ว่า

หมอประจวบเป็นทั้งหมอแผนปัจจุบัน,   หมอแผนโบราณ,   หมอยา,  หมอเสน่ห์,   หมอผี,   หมอดู,   หมองู,   หมอลงกระหม่อม,

และทำพิธีไสยศาตร์หลายอย่างได้     ในตอนหลัง ๆ ของชีวิตได้ทุ่มเทศึกษาวิชาโหราศาสตร์แบบภารตะเป็นพิเศษ     ซึ่งพื้นฐานเดิมมีอยู่บ้างแล้ว

แต่มามุหนักเอาตอนหลัง ๆ   จนแตกฉานขนาดศึกษาเล่าเรียนภาษาสันสกฤตด้วยตนเอง   เพื่อศึกษาวิชาเกี่ยวกับโหราศาสตร์จากตำราของ

ชาวภารตะ          กับยังเป็นผู้นิยมชมชอบการเล่นพระเครื่องชั้นครู         ชอบการขี่ม้า  ยิงปืนทุกชนิด  เฉพาะชอบลองปืนใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงชั้นอาจารย์

และดำรงความเป็นนักเลงอยู่จนวันที่จากไป


        ระหว่างที่รอนแรมอยู่ในป่าเขาทำการรบอยู่ตลอดสี่ปีนั้น       เมื่อไม่มีการรบ     ไม่ว่าหน่วยทหารจะอยู่ในที่ตั้งปกติหรือพักแรมอยู่ในป่าก็ตาม

เราสามคนมีจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์,  หมอประจวบ  และผม    ต่างใช้ชีวิตเผ็ดร้อนและดุเดือด   ทั้งด้านดีและด้านนักเลง  ยืนหยัดอยู่ด้วยกันตลอด

ไม่ว่าสถานการณ์จะคับขันขนาดไหน  ทั้งกลางดงนักเลงและในสนามรบ   เรามักใช้เวลาว่างขี่ม้าออกไปยังหมู่บ้านไกล ๆ เสมอ     
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 10:50



        ในการรบครั้งสำคัญ ๆ   ร.พัน ๓๓   จะจัดพิธีไสยศาสตร์ก่อนพวกเราจะออกรบเสมอ

อาจารย์หมอประจวบ  จะจัดเตรียมพิธีไสยศาสตร์อย่างครบถ้วน   ตัวเองอาบน้ำชำระร่างกายอย่างหมดจด

นุ่งขาวห่มขาว   นั่งบริกรรมคาถาอย่างมีสมาธิกล้า

        จอมพลสฤษดิ์  ในฐานะผู้บังคับกองพัน ร.พัน ๓๓   ก็จะจัดดอกไม้เจ็ดสีพร้อมธูปเทียน   หมอบคลานเข้าไปกราบอาจารย์

รับการลงกระหม่อมประพรมน้ำมนต์เพื่อความมีชัยและศิริมงคล       ต่อจากนั้นนายทหารทุกคนก็จะเรียงกันเข้าไปรับการทำพิธีทีละคนจนถ้วนทั่วทุกคน

และประหลาดมาก   การรบที่เกิดขึ้นนั้น   แม้เราจะเพลี่ยงพล้ำขนาดหนัก  ก็คลาดแคล้วรอดมาได้ด้วยความเสียหายน้อยทุกที   เวลาชนะรุกไล่ข้าศึก

ก็ดูขวัญทหารเริงใจกันดี   แม้จะเหนื่อยอ่อนแทบขาดใจ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 11:01



        จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม   หมอประจวบเอากระโหลกผู้หญิงที่ดูใหญ่โตผิดธรรมดาไปในการรบตลอดเวลา   

แม้เมื่อสงครามเลิกแล้ว  ใช้ชีวิตอยู่ในยามบ้านเมืองสงบ    กระโหลกดังกล่าวก็อยู่ข้างตัวเสมอ         นับเป็น

ผีผู้หญิงที่เฮี้ยนและให้ความคุ้มครองดี    กระโหลกผีกระโหลกนี้เป็นที่เลื่องลือถึงความเฮี้ยนในหมู่ทหารโดยเฉพาะในหน่วยเสนารักษ์     

หลายคนยอมรับว่าโดนผีหลอก     แม้กระทั่งจอมพลสฤษดิ์เองเมื่อตอนอยู่เมืองเหนือก็ยังบอกหมอประจวบอย่าให้กระโหลกไปกระเซ้าเล่น   

เพราะไม่ชอบ    ได้ทราบว่าในตอนหลัง  หมอประจวบได้ให้คนเอาไปฌาปนกิจเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 15:51



        หมอประจวบเดินทางเข้ากรุงเทพปี ๒๔๙๔   มาใช้ชีวิตราวมกันกับพวกเราอีก     ระหว่างที่ทำงานร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ในชั้นหลังนี้

หมอประจวบมักอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา   แต่งทหารทั้งวัน   พกปืนสองกระบอก   เสียบดาบติดหน้าแข้งสองข้าง  พร้อมกับมีชีวิตอย่างนักเลงกว้างขวางมาก

เข้าเหยียบถิ่นเสือแทบทุกแห่งอย่างไม่ยั้ง    เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลงทั่วหัวระแหง   พอ ๆ กับที่คนในระดับธรรมดา และคณาจารย์

รู้จักหมอประจวบในด้านคุณธรรม


        หมอประจวบในตอนหลังๆ   ได้มุ่งศึกษาเล่าเรียนโหราศาสตร์โดยเฉพาะการผูกดวงระบบภารตะอย่างแตกฉาน

เป็นผู้เรียนภาษาสันกฤตด้วยตนเองจนสามารถอ่านตำราภาษาสันกฤคของอินเดียได้

       
        ชีวิตของ พ.อ. ประจวบ  วัชรปาณ   เป็นผู้ใฝ่ใจศึกษาศาสตร์และวิชาทุกสาขา   มีความรักเพื่อน   รักบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเยี่ยม

ไม่หวังลาภและสฤงคาร   เกิดมาเป็นผู้ให้   ใจคอเด็ดเดี่ยว    ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีทุกข์อยู่เสมอ

ผมระลึกถึงเพื่อนตายอย่างสุดอาลัย   

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 16:15


เทพย์   สาริกบุตร  เขียน


         พี่จวบเป็นผู้ที่เลื่อมใสมั่นคงในพระบวรพุทธศาสนาอย่างฝังจิตใจ   ได้อุปสมบท ณ พัทธเสมาวัดเทพศิรินทราวาส

โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ  ญาณวรเถระ)เป็นพระอุปัชฌาย์        และคติที่เลื่อมใสในเรื่องศาสนานี้เอง

เลยทำให้สนใจในเรื่องเครื่องลางของขลัง   เช่นพระเครื่องยุคต่าง ๆ ตลอดเวลาที่มีอายุอยู่

        นอกจากนั้นยังสนใจเรื่องเวทย์มนต์คาถา   แต่เป็นการสนใจที่มุ่งประสงค์จะค้นหาข้อเท็จจริง   มิได้ลุ่มหลงไปด้วยอำนาจศรัทธาจริต


        เมื่อมุ่งศึกษาศาสตร์ใดก็ตาม   ต้องพยายามเรียนให้รู้แจ้งเห็นจริงจนได้     เช่นเรียนวิชาอยู่คงกระพันชาตรี   นอกจากจะเสกอาพัท

หมากกิน   จนเนิ้อและหนังของตนเอง  สามารถคงทนต่อคมซามูไรอันคมกริบได้แล้ว   ยังได้รับมอบประสิทธิประสาทจากอาจารย์มากระทำต่อให้ผู้อื่นได้อีก

เรียนวิชาเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ   ผู้อื่นเขาเรียนกันแค่รู้    พี่จวบเรียนอย่างเอาจริงจัง  ขนาดได้ชื่อว่า "หมอผี"  เอาเลยทีเดียว   เพิ่งจะรามือเอาตอนอายุย่างเข้าปัจฉิมวัยนี่เอง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 16:22



นี่แหละคน "พุธโทนในราศีมังกร"   ดวงของกวนอู   ใจเดียว  สัตย์ซื่อ  และมีกตัญญูกตเวที

พลโทวัลลถ   โรจนวิสุทธิ์  เขียนเล่าไว้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง