ลา ลูแบร์ เขียนไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บรรดาศักดิ์มีทั้งหมด ๗ ชั้นคือ พระยา, ออกญา, ออกพระ, ออกหลวง, ออกขุน, ออกหมื่น และออกพัน แต่ออกพันในสมัยนั้นเลิกใช้แล้ว
คำว่า "ออก" หมายความคล้ายกับว่า "หัวหน้า" เพราะมีบรรดาศักดิ์อีกอย่างที่ไม่มีตำแหน่งคือ ออกเมือง ซึ่งดูเหมือนจะแปลว่า "หัวหน้าเมือง" บุคคลต้องได้รับแต่งตั้งเป็นออกเมืองเสียก่อน จึงจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง
ลา ลูแบร์ เข้าใจว่าคำว่า "ออก" ไม่ใช่ภาษาสยาม เพราะมีคำว่า "หัว" ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "หัวสิบ" ซึ่งเป็นตำแหน่งนายท้ายช้าง "หัวพัน" คือผู้เชิญธงมหาราชในเรือพระที่นั่งทรง
ผู้ที่มียศศักดิ์สูงกว่าจะไม่ใช้คำว่า "ออก" เรียกผู้ที่มียศศักดิ์น้อยกว่าตนเลย เช่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งกับออกพระพิพิธราชา ก็ตรัสแต่ว่า พระพิพิธราชา เฉย ๆ เท่านั้น บุคคลผู้กล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของตนเอง ก็งดกล่าวคำว่า "ออก" เป็นการถ่อมตัวโดยมรรยาท และประชาชนพลเมืองซึ่งเป็นส่วนน้อยก็ละเลยไม่ใช้คำว่า "ออก" เช่นเรียกออกญายมราชว่า ญายมราช ออกหมื่นไวยว่า หมื่นไวย ดังนี้เป็นต้น
ลา ลูแบร์ยังกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ในประเทศลาวว่า พญา (เพี้ย), หมื่น และพระก็ยังใช้กันอยู่ บางทีคงมีบรรดาศักดิ์อย่างอื่นอีกที่เหมือนกัน โดยทำนองเดียวกับตัวบทกฎหมายกระมัง
