เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ "กุหลาบ" ในแง่ภาษาและที่มาของคำ"ของที่จะฝากมาให้คอนสตันติน ฟอลคอนนั้น จะเป็นสุราเมืองเปอร์เซีย ๒-๓ หีบ น้ำดอกไม้เทศ ผลไม้เมืองเปอร์เซีย" ข้างต้นเป็นข้อความในจดหมายเหตุพ่อค้าฝรั่งเศสที่ระบุถึงของฝากให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) อัครมหาเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ่งของดังกล่าวล้วนเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของชาวเปอร์เซีย ซึ่งส่งเข้ามาจำหน่ายยังกรุงศรีอยุธยา นอกเหนือไปจากผ้าเยียรบับ ผ้าอัตลัด ผ้าย่ำมะหวาด ผ้าปัศตู ผ้าตาดทอง พรม อัญมณี และม้าเปอร์เซีย (ม้าเทศ)
คำว่า "กุหลาบ" นั้น เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย แต่มิได้หมายความถึงดอกกุหลาบอย่างที่เราเรียกขาน หากหมายถึงน้ำดอกไม้ เพราะดอกไม้ในภาษาเปอร์เซียเรียกกุ้ล ส่วนคำว่าน้ำคือออบ เมื่อเรียกน้ำดอกไม้ ก็คือกุล้อบ ซึ่งคนไทยออกเสียงเพี้ยนเป็นกุหลาบ และเนื่องจากน้ำดอกไม้ที่ส่งเข้ามาขายติดฉลากเป็นภาพวาดดอกกุหลาบ คนไทยจึงอาจเข้าใจว่าดอกไม้ชนิดนี้เรียกขานเช่นนั้น และโดยแท้จริงแล้วน้ำนั้นก็เป็นน้ำที่กลั่นจากดอกกุหลาบจริง ๆ
กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า
กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง เนืองนอง
หอมรื่นชื่นชมสอง สังวาส
นึกกระทงใส่พานทอง ก่ำเก้า
หยิบรอจมูกเจ้า บ่ายหน้าเบือนเสียพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๖ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ เรื่องย่อคือสุเทษณ์เทพ ผู้ทรงฤทธานุภาพ หลงรักมัทนาเทพธิดา แต่มัทนาไม่รักตอบ สุเทษณ์ผิดหวังและโกรธ ถึงกับสาปมัทนา ให้ไปเป็นดอกกุหลาบในโลกมนุษย์ เดือนหนึ่งเมื่อถึงวันเพ็ญ จึงกลายร่างเป็นมนุษย์ ที่สาวและสวยได้วันหนึ่ง ต่อเมื่อใดได้พบรัก โดยมีความรักกับบุรุษเพศ จึงจะเป็นมนุษย์ตลอดไป
ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำเกี่ยวกับชื่อของนางเอกในเรื่องว่าอยากให้ชื่อมีความหมายว่าดอกกุหลาบ ทรงใช้ให้รองอำมาตย์โท หลวงธุระกิจภิธาน (ตรี นาคะประทีป) ไปค้นดู ได้ความว่า "กุหลาบ" ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า "กุพฺชก" ทรงมีพระราชนิพนธ์ว่า
"ก่อนที่ได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น, ข้าพเจ้าได้คิดไว้ว่าจะใช้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้, แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่าดอกกุหลาบ คือ "กุพฺชก" เลยต้องเปลี่ยนความคิด, เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า "กุพชกา" ก็จะกลายเปนนางค่อมไป. ข้าพเจ้าจึ่งค้นหาดูศัพท์ต่าง ๆ ที่พอจะใช้ได้เปนนามสตรี, ตกลงเลือกเอา "มัทนา", จากศัพท์ "มทน" ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก. พะเอินในขณที่ค้นนั้นเองก็ได้พบศัพท์ "มทนพาธา", ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส์ แปลไว้ว่า "the pain or disquietude of love" ("ความเจ็บปวดหรือเดือดร้อนแห่งความรัก"), ซึ่งข้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที, เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องทีเดียว. เรื่องนี้จึ่งได้นามว่า "มัทนะพาธา, หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ" ด้วยประการฉนี้."
