เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5511 บวชเถร ต่างกับบวชชี อย่างไร
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 01 ก.พ. 12, 16:32



กระทู้กวนโอ๊ยค่ะ         เห็นอยู่กันหลายคน

มีคนแผดเสียงมาจากสนามหลวงว่า  ไปลองบวชดูซิจ๊ะ   

แหม!!!!   

(อ่านมาจากหนังสือโบราณนะจ๊ะ)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 16:45



ยินดีเล่าเรื่องวิธีต้มไข่ของครูแจ้งให้เป็นของขวัญล่วงหน้า

หรือจะเอาน้ำพริกนางลอยของหม่อมแย้ม  คุณยายของท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรสงศ์ แทน

อ่า...  ต้มไข่น่าจะง่ายกว่า


        เสาะซื้อไข่ไก้ไข่เต่านา    ทำน้ำปลาแมงดาหัวหอมหั่น

แต่ลักขณะต้มไข่ให้สำคัญ      ถ้าต้มดีแล้วมีมันขยันนัก

ถ้าต้มสุกเสียสิ้นก็กินจืด     ต้มเป็นยืดเยอะยางมะตูมตัก

กินกับเข้าสิ้นชามสักสามพัก    แล้วก็มีน้ำหนักตลอดคืน

                                                      เสภาคำครูแจ้ง

อยู่ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์เล่ม ๔   ของคุณอ้วน ธงชัย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 17:40



สนใจตำรากับข้าวของอังกฤษสมัยวิคตอเรียน  เพราะตอนนั้น ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๖๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๐๔  หนังสือที่ดังนักเรียนไทยก็ซื้อกลับมา

พี่น้องที่ได้รับการศึกษาคืออ่านภาษาอังกฤษออก   ก็แปลตำรา  และเรียบเรียงไว้

มีการแนะนำอาหารแปลกๆ  เช่นสัตว์ป่า  หรือ เกม

ไก่ฟ้ามีขายเป็นครั้งคราว  ราคา ๔ บาท  ๕ บาท

ไก่นา  สลึงเฟื้อง

เป็ดน้ำ   ๒ ถึง  ๓ สลึง

นกกระจาบ  มีเป๋นวันๆ   พวงหนึ่ง ๑๐ ตัวสลึงเฟื้อง  ๒ สลึง

นกเขาไฟหรือเขาชวา       สลึงเฟื้อง

นกเขา   ๒ - ๓ สลึง

นกคุ่ม  สลึงเฟื้องถึงสองสลึง

นกฝักบัว   ๕ - ๖ สลึง

นกซ่อม (สไนป์) มีเป็นคราว  ราคา ๑ บาท  แช่น้ำแข็งมาแต่นอกก็มีบ้าง

หมูป่า   ปอนด์ละ ๓ สลึง

เนื้อสมัน   ปอนด์ละ ๓ สลึง  นาน ๆ จะมีทีหนึ่ง



กระต่ายเทศ  ตัวละ ๖ สลึง  แช่น้ำแข็งมาแต่นอก

กระต่ายป่า  ขายตามร้านสัตว์เป็น  ตัวละ ๒ บาท สิบสลึง   กระต่ายป่าที่มาจากนอก  ตัวละ ๓ บาทมีบ้างเป็นคราว ๆ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 07:01


 
กล้วยหลายชนิดที่ใช้เป็นอาหาร  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรวงศ์อธิบายใน แม่ครัวหัวป่าก์


กล้วยน้ำไทย    เรียกอีกชื่อว่ากล้วยกำเนิด 
ไม่เป็นของแสลง    บดกับข้าวสุกป้อนทารก
ผลสุกชอบรับประทานว่าเป็นของเย็น   ไม่เห็นใช้ประกอบอาหารอย่างอื่น
ใช้ในสำรับก็ทั้งเปลือก  ตัดปลายจุก  และเป็นของฝาบาตร
ที่สำคัญเป็นกล้วยที่ใช้ในเครื่องกระยาบวช


กล้วยน้ำละว้า     มี สองชนิด  ไส้ขาว  กับไส้แดง  เรียกมะลิอ่อง
นอกจากรับประทานผลสุกแล้ว    ใช้ทำของหวาน
เผา
ต้มรับประทานกับเกลือ
ที่ห่ามทับ ปิ้งและทุบ  หรือทับให้แบนพรมน้ำเกลือเล็กน้อย
เชื่อมน้ำตาล
ที่ดิบก็ฝานฉาบน้ำตาล
ทำไส้ข้าวต้ม
บวชชี
บวชเถร  ใช้น้ำตาลหม้อให้สีเหลือง
แกงบวช
ชุบแป้งทอดเป็นกล้วยแขก
ที่สุกงอมตากแห้งเรียกกล้วยตาก
ทำขนมกล้วย
กวน
การตั้งขวัญค่ายา ก็ต้องมีกล้วยน้ำละว้า ๑ หวีกับข้าวสาร
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 07:18



กล้วยสั้น
รับประทานผลสุก
ที่งอมก็ผ่าซีกปิ้งและต้มบ้าง


กล้วยหักมุก
รับประทานผลสุก 
เผา   
ต้ม
ปิ้งทาเกลือ   
เชื่อมน้ำตาล
เป็นอหารคนไข้ว่าไม่เป็นของแสลง
ที่ดิบทำกล้วยฉาบ
ใช้ในเครื่องชา   ผลดิบหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก  ล้างน้ำปูน  ตากแดดไว้จนแห้ง 
ทอดน้ำมันมะพร้าวจนกรอบเหลือง   เก็บในโถหรือขวด  อบดอกไม้ควันเทียน  เป็นเครื่องประสมชาที่ดี


กล้วยหอมเขียวกับกล้วยหอมทอง
รับประทานสุก
ทำกล้วยทับ    ต้มกล้วยดิบจนสุก  ห่อกาบหมากเอามือกดจนแบน   รับประทานกับมะพร้าวขูดและเกลือป่นเล็กน้อย
แกงบวช   ต้มกล้วยดิบทั้งเปลือกจนสุก   หั่นยาวเล็ก ๆ แทนฟักทอง
กล้วยที่งอม  ปอกแล้วทับ  ทอดด้วยน้ำมันหมูหรือน้ำมันเนย   ผลเล็กใช้ทั้งผล  ผลใหญ่ตัดครึ่งท่อน  ทอดแล้วเอาเข้าเตาอบให้ผิวเหลืองเกรียม
ใช้รับประทานกับน้ำกะทิกับแตงไทย     ปอกหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ
คนต่างประเทศชอบกล้วยชนิดนี้กินกับเนยแข็ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 07:26

เข้ามาดูกล้วยสั้น  ฮืม สั้นแค่ไหน  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ได้อ่านเรื่องประโยชน์จากกล้วยน้ำละว้า น่าจะเห็นความต่างของ บวชชี และ บวชเถร ได้คือ "เรื่องสี" ที่ออกอมเหลืองซึ่งเกิดจากน้ำตาลหม้อ ส่วนบวชชีออกขาวเกิดจากการใช้น้ำตาลทราย ถูกต้องไหมครับ  เจ๋ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 07:47

ไม่รู้ว่ากล้วยขายยกเครือ จะเป็นเงินกี่อัฐ ขายเป็นผลจักได้กำไรกี่เฟื้อง แต่ที่แน่ ๆ คือ มีการเก็บอากรสวน ประเภท สมพักศร เหมาเก็บผลไม้ประเภทกล้วยแบบเหมาเป็นกอ นับได้ ๕๐ กอ ให้จ่าย ๘ อัฐ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 07:48


        เลี้ยวออกอ่าวใช้ไปไปเล็กน้อยนะคะ   ยังเกี่ยวดองกับอาหารอยู่

        วันก่อนตั้งวงคุยกับสหายสามสี่คนเรื่องสุนทรภู่     ชื่นชมนิยมยินดีในสุนทรภู่มากเพราะท่านมีความรู้กว้างขวาง

สหายคุณพระเฉียบเรียงเรียบประกาศว่า  พระอภัยมณีไม่ดื่มเหล้านะ

"ฮ้า"   ชื่นชุมนุมนักอ่านประท้วงพร้อมกัน

"จริงเหรอ"  ท่านขุนบรรเทิงกับหมื่นบำรุงจักรยาน  ถามเสียงอ่อย

"ไม่จริงน่า"   วันดีขอเถียง  เพราะพึ่งอ่านมาว่าพระอภัยมณีดื่มไวน์ด้วยตอนเสวยดินเนอร์   วรรณคดีเรื่องอื่นๆซัดกันแต่สุราแรง
เช่น สามทับและบรั่นดีและแชมเปญ(ชัยบาน)

"เฮ่ย!??!"

"ฟังนะ..."

        "เสวยที่แท่นสุวรรณด้วยหรรษา  

พระอะไภยศรีสุวรรณเป็นหลั่นมา      

พร้อมบรรดาสุริย์เผ่าพงษพันธุ์      

กับเข้าไข่ไก่แพนงแกงเป็ดต้ม

จอกน้ำส้มสายชูจิ้มหมูหัน        

ซ่อมมีดพับสำหรับทรงองค์ละคัน

เหล้าบ้าหรั่นน้ำองุ่นยี่ปุ่นดี"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 11:13



มีเสียงแมลงหวี่ถามว่า  เล่าเรื่องพระอภัยมณีทำไม  ไม่เห็นจะเกี่ยว

เลยอธิบายว่าถ้าเป็นอาหารโบราณแล้วก็เกี่ยวกันทั้งนั้น

เรื่องสุนทรภู้ก็เขียนกันมาจะเป็นร้อยครั้งพันครั้ง   ข้อมูลก็ไม่มีอะไรใหม่  หรือที่เก่าจนคนไม่ได้อ่าน  ก็ยังไม่เห็นคนออกมาเล่า

เลยทำโฆษณาไว้ล่วงหน้า  เผื่อว่าจะมีคนสนใจเข้ามาสนทนาเรื่องพระอภัยมณีกันอีกที 



กล้วยไข่   ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเขียนไว้ดิบดีเชียว

        กล้วยไข่มีเป็นฤดูรับฤดูสารท  กล้วยเบิกไพรเป็นอย่างดีใช้รับประทานสุก   แลรับประทานกับข้าวเม่าคลุกบ้าง

ทำของหวานอย่างอื่นก็มี  ข้าวเม่าทอด    ขนมกล้วย   เชื่อมน้ำตาล   หวีที่ลูกเล็กเรียกว่าต่นเต่าใช้ต้มเรียกว่าลวก   เกลือกน้ำตาล


กล้วยน้ำนมราชสีห์   

บางทีก็เรียกว่าหอมจันทน์   ใช้รับประทานสุกอย่างเดียว  มีเป็นครั้งคราวในตลาด


กล้วยเบ็ดเตล็ด

มีกล้วยกรัน  กล้วยครั่ง  กล้วยตีบ  กล้วยน้ำเชียงรายหรือหอมว้า     กล้วยจังนวน   กล้วยตานี   กล้วยร้อยหวี

ใช้รับประทานสุกเป็นส่วนมาก

กล้วยกรัน กล้วยจังนวนนั้น  บสงทีก็ใช้ลวกรับประทานแลเกลือกบ้าง   แต่สีไม่งาม  และรสก็สู้กล้วยหักมุกกล้วยไข่ไม่ได้


กล้าย

เป็นกล้วยป่า  เมื่อนำมาปลูกตามบ้าน  ผลก็เล็กลง

เมื่อสุกแล้วรับประทานดิบรสไม่สู้ดี   จึงใช้เผา  เกลือก เช่นกล้วยหักมุก

บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 11:47

เรียนถามเจ้าของกระทู้...................

หาก -เถร- อ่านเถระ                         แปลว่า พระผู้ใหญ่ ที่มีพรรษาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
      -เถน- อ่านเถน หรือเถนะ            แปลว่านักบวชอลัชชี

เราควรเอาพระผู้ใหญ่พรรษาสูง หรือจะเอาอลัชชี มาทำขนมดี?


 ยิงฟันยิ้ม ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 12:04

ขอบคุณคุณ Srisiam  ค่ะ     ควรสะกดว่า เถน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 15:30

เห็นควรสะกดว่า "บวชเถร"


คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ "เวียงวัง" เรื่อง "เถร-เถน" ไว้ว่า

หนุ่มน้อย ๑๓-๑๔ ขวบ ท่องคล่องปากว่า พระ เณร เถร ชี แล้วเกิดสงสัย ถามว่า คุณยาย เถร นี่เป็นใคร

เด็กยุคนี้ไม่รู้จัก ‘เถร’ หรือ ‘ตาเถร’ เพราะปัจจุบัน ผู้ชายอายุมาก ๆ นุ่งขาวห่มขาวถือศีลบ้าง ทำเป็นถือบ้างที่อาศัยอยู่ในวัดนั้น ดูเหมือนจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะวัดในปัจจุบันไม่เหมือนวัดในสมัยก่อนโน้น ยุคที่ปู่ย่าตายายยังเด็กอยู่

เกือบจะตอบไปตามที่รู้ ๆ เห็น ๆ มาแต่เด็ก แล้วว่าตาเถรเป็นผู้ชายแก่นุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือบางทีก็เหลือแค่ ศีล ๕ อาศัยกินนอนอยู่ในวัด

แต่มาฉุกใจ เปิดดูพจนานุกรม ปรากฏว่าท่านว่าไว้เพียง ๒ คำ คือ

เถร (อ่านว่า เถ-ระ) พระผู้ใหญ่

เถน พระที่เป็นอลัชชี สึกออกมา

จึงเลยนึกขึ้นมาได้ว่าเห็นคำว่า ‘เถน’  อยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง

ต้องค้นดูเป็นการใหญ่ ปรากฎว่าอยู่ในหนังสือ ‘ที่ระลึกในการรับพระราชทานเพลิงศพ นางสาวพร้อม วัฒนศิริกุล พ.ศ.๒๕๐๙’

นามสกุล ‘วัฒนศิริกุล’ นี้ สืบสายลงมาจากพราหมณ์ศิริวัฒน์ พระมหาราชครูพิธีอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสกุลแยกออกไปอีกหลายสกุล คือ สิงหเสนี บูรณศิริ จันทโรจวงศ์ ภูมิรัตน์

เมื่อพม่าเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ผู้คนพลเมืองในกรุงแตกตื่นหนีกันอลหม่าน รวมทั้งบุตรชายหญิงข้าทาสบริวารของพระยาวิเศษสุนทร ผู้สืบสกุลลำดับที่ ๕ ของตระกูลนี้ ซึ่งพลัดกันกับพระยาวิเศษสุนทร เพราะพระยาวิเศษสุนทร มีราชการไปประจำหน้าที่ป้องกันพระนครอยู่

เรื่องราวการหนีพม่าของบุตรหญิงพระยาวิเศษสุนทรนั้นมีความยืดยาว สรุปว่า ครั้นหนีพม่าลงมาอยู่กรุงธนบุรีแล้วได้พบกับบิดาและญาติพี่น้อง รวมกันได้เป็นครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาบุตรหญิง ชื่อ คุณพุ่ม จึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าคันธรส ทรงกรมเป็นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ในรัชกาลที่ ๒

ที่นี้ว่าถึงคำว่า ‘เถน’ คือในสมัยก่อนโน้นไม่ว่าโอรสเจ้านาย ขุนนาง ต้องเรียนหนังสือกับพระที่วัดกันทั้งนั้น ส่วนมากก็เป็นวัดใกล้ ๆ วัง ใกล้ๆบ้าน

กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เรียนกับพระ ซึ่งต่อมา พ.ศ.๒๓๕๙ พระอาจารย์ของท่าน ได้เป็นถึงพระพุทธ โฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ

แต่แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เกิดต้องอธิกรณ์ฐานเมถุนปาราชิก พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๒ รูป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดตั้งกรรมการชำระได้ความสมจริงตามคำฟ้อง จึงโปรดให้สึกลงพระราชอาญาจำขังไว้

ฝ่ายกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เจ็บร้อนแทนอาจารย์ ทรงทอดบัตรสนเท่ห์ เป็นโคลงสี่สุภาพเรื่องนี้มีผู้เขียนผู้เล่ากันอยู่เสมอ จึงขอยกมาเพียงสองบทสุดท้าย ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กริ้วนักคือ

“พิเรนทรแม่นอเวจี  ไป่คลาศ

อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ”

หมายถึงการลงพระราชอาญาสึกพระครั้งนี้ เป็นการกระทำพิลึกอย่างไม่มีใครเขาทำ ซึ่งคงหนีนรกไม่พ้นทั้งอาจพลิกให้แผ่นดินหรือบ้านเมืองกลายเป็นเมืองยักษ์เมืองมารไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นกริ้วนักหนา หากผู้ใดแช่งด่าแผ่นดิน คงจะทรงพระราชดำริว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งสถาปนาขึ้นได้เพียงแผ่นดินเดียว ถึงแผ่นดินของพระองค์เพิ่งจะสามสิบกว่าปี ยังไม่สู้มั่นคงนัก ทั้งเมื่อเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็มีเรื่องราวอันอาจเป็นอันตรายต่อแผ่นดินหลายเรื่องหลายอย่าง จึงโปรดฯให้หาตัวผู้ทิ้งหนังสือ ต้องกันกับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านจึงถูกจับ โปรดฯให้ขังไว้ก่อน แต่ไปประชวรในที่ขังสิ้นพระชนม์ พระชันษาเพียง ๓๐

ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เมื่อต้องพระราชอาญาสึกออกมาแล้ว ผู้คนก็เรียกกันว่า ‘เถนพุด’ แต่จะนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ ไม่เห็นมีที่ใดกล่าวถึง เพียงแต่เล่ากันมาในตระกูลของเจ้าจอมมารดาพุ่มว่า ตั้งแต่นั้น พวกผู้หญิงมักอุทานเวลาตกใจ หรือเดินพลั้งพลาดซวดเซว่า ‘หกขะเมนเถนพุด’

ในหนังสือเขียนว่า ‘เถน’

ทีนี้ ‘เถร’ (อ่านว่า ‘เถน’ เหมือนกัน)

ปรากฏในประเทศรัชกาลที่ ๔ ว่า ผู้ที่เป็น ‘เถร’ นั้นต้องบวช เช่นเดียวกับเณร

ประกาศนั้นว่า “ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามบวชกุลบุตร อายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร”

อนุสนธิจากเรื่องเถรจั่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้โปรดฯให้ประกาศพระบรมราชโองการ ความตอนหนึ่งว่า

“ทุกวันนี้ คนพาลอายุเกินอุปสมบท หลีกหลบเข้าบวชเป็นเถรเป็นเณร อาศัยวัดทำการทุจริตหยาบช้าต่าง ๆ มีเป็นอันมาก

(ดังนั้นหาก) กุลบุตรจะบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังอยู่ในทารกภูมิไปจนถึงอายุได้ ๒๑ ปี (ซึ่ง) สมควรที่จะอุปสมบทพระภิกษุ (แต่) แม้นมีความขัดข้องด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งมิได้อุปสมบท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสามเณรไปอีก ๓ ปี จนถึงอายุ ๒๔ ปี ถ้าพ้นไปกว่านี้ให้สึกเสียเป็นคฤหัสจะได้รับราชการแผ่นดิน ห้ามอย่าให้บวชเป็นเถรเป็นเณรสืบไปอีกกว่านั้น

อนึ่ง ถ้าภิกษุชราอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว จะปฏิบัติในสมณธรรมมิได้ (ต้องการ) จะประจุออกบวชเป็นเถรเป็นเณร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บวชมิได้ห้าม

และ แม้นคฤหัสถ์ชรา อายุล่วงถึง ๗๐ ปี แล้ว จะหากินเลี้ยงชีวิตฆราวาสนั้นขัดสน หากบวชเป็นเถรเป็นเณร พอได้บิณฑบาตฉันเลี้ยงชีวิตโดยง่าย ก็จะได้หักบาญชีคฤหัสถ์

ห้าม แต่อายุกว่า ๒๔ ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปี มิให้บวชเป็นเถรเป็นเณรในระหว่างนั้นเป็นอันขาดทีเดียว"

ในประกาศยังทรงคาดโทษไว้อีกด้วยว่า

“แม้นล่วงพระราชบัญญัติครั้งนี้ อุปัชฌาย์ อาจารย์ผู้บวชให้ก็จะมีโทษฝ่ายพุทธจักร ตัวกุลบุตรผู้บวชก็จะมีโทษทั้งฝ่ายพุทธจักร และพระราชอาณาจักรทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นมหันตโทษ”

สรุปแล้ว ก็คือ

เถร (อ่านว่า เถ-ระ) คือพระผู้ใหญ่ ดังเช่นเรียกคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ว่า พระเถรานุเถระ

เถร (อ่านว่า เถน) ผู้ชายอายุเกินกว่า ๗๐ บวชเป็นเถร อย่างเด็กบวชเป็นเณร นุ่มขาวห่มขาว ถือศีลกินนอนในวัด (คำนี้ไม่มีอธิบายในพจนานุกรม มีแต่ในประกาศพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๔ ดังเล่ามาแล้ว)

เถน พระที่เป็นอลัชชีสึกออกมา ซึ่งไม่ใช่เถร (อ่านว่า เถน) ที่นุ่งขาวห่มขาวอยู่วัด ดังในประกาศพระราชโองการ


 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง