เห็นควรสะกดว่า "บวชเถร" คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ "เวียงวัง" เรื่อง
"เถร-เถน" ไว้ว่า
หนุ่มน้อย ๑๓-๑๔ ขวบ ท่องคล่องปากว่า พระ เณร เถร ชี แล้วเกิดสงสัย ถามว่า คุณยาย เถร นี่เป็นใคร
เด็กยุคนี้ไม่รู้จัก ‘เถร’ หรือ ‘ตาเถร’ เพราะปัจจุบัน ผู้ชายอายุมาก ๆ นุ่งขาวห่มขาวถือศีลบ้าง ทำเป็นถือบ้างที่อาศัยอยู่ในวัดนั้น ดูเหมือนจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะวัดในปัจจุบันไม่เหมือนวัดในสมัยก่อนโน้น ยุคที่ปู่ย่าตายายยังเด็กอยู่
เกือบจะตอบไปตามที่รู้ ๆ เห็น ๆ มาแต่เด็ก แล้วว่าตาเถรเป็นผู้ชายแก่นุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือบางทีก็เหลือแค่ ศีล ๕ อาศัยกินนอนอยู่ในวัด
แต่มาฉุกใจ เปิดดูพจนานุกรม ปรากฏว่าท่านว่าไว้เพียง ๒ คำ คือ
เถร (อ่านว่า เถ-ระ) พระผู้ใหญ่
เถน พระที่เป็นอลัชชี สึกออกมา
จึงเลยนึกขึ้นมาได้ว่าเห็นคำว่า ‘เถน’ อยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง
ต้องค้นดูเป็นการใหญ่ ปรากฎว่าอยู่ในหนังสือ ‘ที่ระลึกในการรับพระราชทานเพลิงศพ นางสาวพร้อม วัฒนศิริกุล พ.ศ.๒๕๐๙’
นามสกุล ‘วัฒนศิริกุล’ นี้ สืบสายลงมาจากพราหมณ์ศิริวัฒน์ พระมหาราชครูพิธีอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสกุลแยกออกไปอีกหลายสกุล คือ สิงหเสนี บูรณศิริ จันทโรจวงศ์ ภูมิรัตน์
เมื่อพม่าเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ผู้คนพลเมืองในกรุงแตกตื่นหนีกันอลหม่าน รวมทั้งบุตรชายหญิงข้าทาสบริวารของพระยาวิเศษสุนทร ผู้สืบสกุลลำดับที่ ๕ ของตระกูลนี้ ซึ่งพลัดกันกับพระยาวิเศษสุนทร เพราะพระยาวิเศษสุนทร มีราชการไปประจำหน้าที่ป้องกันพระนครอยู่
เรื่องราวการหนีพม่าของบุตรหญิงพระยาวิเศษสุนทรนั้นมีความยืดยาว สรุปว่า ครั้นหนีพม่าลงมาอยู่กรุงธนบุรีแล้วได้พบกับบิดาและญาติพี่น้อง รวมกันได้เป็นครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาบุตรหญิง ชื่อ คุณพุ่ม จึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าคันธรส ทรงกรมเป็นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ในรัชกาลที่ ๒
ที่นี้ว่าถึงคำว่า ‘เถน’ คือในสมัยก่อนโน้นไม่ว่าโอรสเจ้านาย ขุนนาง ต้องเรียนหนังสือกับพระที่วัดกันทั้งนั้น ส่วนมากก็เป็นวัดใกล้ ๆ วัง ใกล้ๆบ้าน
กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เรียนกับพระ ซึ่งต่อมา พ.ศ.๒๓๕๙ พระอาจารย์ของท่าน ได้เป็นถึงพระพุทธ โฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ
แต่แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เกิดต้องอธิกรณ์ฐานเมถุนปาราชิก พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๒ รูป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดตั้งกรรมการชำระได้ความสมจริงตามคำฟ้อง จึงโปรดให้สึกลงพระราชอาญาจำขังไว้
ฝ่ายกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เจ็บร้อนแทนอาจารย์ ทรงทอดบัตรสนเท่ห์ เป็นโคลงสี่สุภาพเรื่องนี้มีผู้เขียนผู้เล่ากันอยู่เสมอ จึงขอยกมาเพียงสองบทสุดท้าย ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กริ้วนักคือ
“พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาศ
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ”
หมายถึงการลงพระราชอาญาสึกพระครั้งนี้ เป็นการกระทำพิลึกอย่างไม่มีใครเขาทำ ซึ่งคงหนีนรกไม่พ้นทั้งอาจพลิกให้แผ่นดินหรือบ้านเมืองกลายเป็นเมืองยักษ์เมืองมารไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นกริ้วนักหนา หากผู้ใดแช่งด่าแผ่นดิน คงจะทรงพระราชดำริว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งสถาปนาขึ้นได้เพียงแผ่นดินเดียว ถึงแผ่นดินของพระองค์เพิ่งจะสามสิบกว่าปี ยังไม่สู้มั่นคงนัก ทั้งเมื่อเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็มีเรื่องราวอันอาจเป็นอันตรายต่อแผ่นดินหลายเรื่องหลายอย่าง จึงโปรดฯให้หาตัวผู้ทิ้งหนังสือ ต้องกันกับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านจึงถูกจับ โปรดฯให้ขังไว้ก่อน แต่ไปประชวรในที่ขังสิ้นพระชนม์ พระชันษาเพียง ๓๐
ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เมื่อต้องพระราชอาญาสึกออกมาแล้ว ผู้คนก็เรียกกันว่า ‘เถนพุด’ แต่จะนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ ไม่เห็นมีที่ใดกล่าวถึง เพียงแต่เล่ากันมาในตระกูลของเจ้าจอมมารดาพุ่มว่า ตั้งแต่นั้น พวกผู้หญิงมักอุทานเวลาตกใจ หรือเดินพลั้งพลาดซวดเซว่า ‘หกขะเมนเถนพุด’
ในหนังสือเขียนว่า ‘เถน’
ทีนี้ ‘เถร’ (อ่านว่า ‘เถน’ เหมือนกัน)
ปรากฏในประเทศรัชกาลที่ ๔ ว่า ผู้ที่เป็น ‘เถร’ นั้นต้องบวช เช่นเดียวกับเณร
ประกาศนั้นว่า “ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามบวชกุลบุตร อายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร”
อนุสนธิจากเรื่องเถรจั่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้โปรดฯให้ประกาศพระบรมราชโองการ ความตอนหนึ่งว่า
“ทุกวันนี้ คนพาลอายุเกินอุปสมบท หลีกหลบเข้าบวชเป็นเถรเป็นเณร อาศัยวัดทำการทุจริตหยาบช้าต่าง ๆ มีเป็นอันมาก
(ดังนั้นหาก) กุลบุตรจะบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังอยู่ในทารกภูมิไปจนถึงอายุได้ ๒๑ ปี (ซึ่ง) สมควรที่จะอุปสมบทพระภิกษุ (แต่) แม้นมีความขัดข้องด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งมิได้อุปสมบท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสามเณรไปอีก ๓ ปี จนถึงอายุ ๒๔ ปี ถ้าพ้นไปกว่านี้ให้สึกเสียเป็นคฤหัสจะได้รับราชการแผ่นดิน ห้ามอย่าให้บวชเป็นเถรเป็นเณรสืบไปอีกกว่านั้น
อนึ่ง ถ้าภิกษุชราอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว จะปฏิบัติในสมณธรรมมิได้ (ต้องการ) จะประจุออกบวชเป็นเถรเป็นเณร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บวชมิได้ห้าม
และ แม้นคฤหัสถ์ชรา อายุล่วงถึง ๗๐ ปี แล้ว จะหากินเลี้ยงชีวิตฆราวาสนั้นขัดสน หากบวชเป็นเถรเป็นเณร พอได้บิณฑบาตฉันเลี้ยงชีวิตโดยง่าย ก็จะได้หักบาญชีคฤหัสถ์
ห้าม แต่อายุกว่า ๒๔ ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปี มิให้บวชเป็นเถรเป็นเณรในระหว่างนั้นเป็นอันขาดทีเดียว"
ในประกาศยังทรงคาดโทษไว้อีกด้วยว่า
“แม้นล่วงพระราชบัญญัติครั้งนี้ อุปัชฌาย์ อาจารย์ผู้บวชให้ก็จะมีโทษฝ่ายพุทธจักร ตัวกุลบุตรผู้บวชก็จะมีโทษทั้งฝ่ายพุทธจักร และพระราชอาณาจักรทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นมหันตโทษ”
สรุปแล้ว ก็คือ
เถร (อ่านว่า เถ-ระ) คือพระผู้ใหญ่ ดังเช่นเรียกคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ว่า พระเถรานุเถระ
เถร (อ่านว่า เถน) ผู้ชายอายุเกินกว่า ๗๐ บวชเป็นเถร อย่างเด็กบวชเป็นเณร นุ่มขาวห่มขาว ถือศีลกินนอนในวัด (คำนี้ไม่มีอธิบายในพจนานุกรม มีแต่ในประกาศพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๔ ดังเล่ามาแล้ว)
เถน พระที่เป็นอลัชชีสึกออกมา ซึ่งไม่ใช่เถร (อ่านว่า เถน) ที่นุ่งขาวห่มขาวอยู่วัด ดังในประกาศพระราชโองการ 