เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5089 ม.ร.ว. หญิงเตื้อง สนิทวงศ์
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 30 ม.ค. 12, 05:22



        อาลัย


        วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘     สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงบันทึกไว้

ในสมุดบันทึกประจำวันของพระองค์ท่านว่า     "บ่ายเรารู้ข่าวว่าองค์หญิงเยาวภามาอยู่ที่เรือนเรา     คุณหญิงเป็นโรคปัจจุบันอาการมาก

.....บ่าย  ๔ โมง  เขามากราบทูลว่าคุณหญิงตายแล้ว       เราสงสารลูกทั้ง ๒ คน ฯ     คนผู้ชายยังไม่ได้สมโภชเดือน    ทั้ง ๒ คน

มาอยู่ที่เรือนเรา"


        การสิ้นชีวิตของคุณย่าข้าพเจ้าในวันนั้น    มีความเกี่ยวกับชีวิตของม.ร.ว. เตื้อง  สนิทวงศ์ด้วย   เพราะต่อมาไม่ช้า

พระบิดาของท่านคือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์  ก็ได้ถวายตัว ม.ร.ว.เตื้อง  แด่สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า   ซึ่งโปรด

ให้เป็นข้าหลวงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์  กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร            ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระบิดา

ของม.ร.ว. เตื้อง   ต้องพระประสงค์จะให้ ม.ร.ว. เตื้องได้อยู่ใกล้ชิดกับเสด็จป้าของข้าพเจ้า   ซึ่งประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น

ถึงแม้ว่า  ม.ร.ว. เตื้องจะนับเป็นชั้นน้าของเสด็จป้า    แต่ท่านก็เกิดปีเดียวกับเสด็จป้า   และยังอ่อนเดือนกว่าเสด็จป้าประมาณ ๗ เดือน

ความใกล้ชิดสนิทสนมที่เกิดขึ้นระหว่างเสด็จป้ากับม.ร.ว. เตื้อง    ก็คงเป็นอยู่ตลอดมาตั้งแต่ครั้งนั้น     จริงอยู่ ม.ร.ว. เตื้องไม่ได้อยู่ในวังหน้านานนัก

เพราะท่านสมัครออกมาศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวังหลัง   จนจบการเรียน  และกลับไปอยู่ที่วังที่เป็นโรงเรียนสายปัญญาเดี๋ยวนี้   และต่อมา

ก็ได้ใช้วิชาที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาของกุลสตรีตลอดมาจนถึงวัยชรา        ถึงกระนั้นก็ยังใกล้ชิดกับเสด็จป้าโดยไม่ขาด

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ  เสด็จป้าโปรดทำกับข้าวเช่นเดียวกันกับม.ร.ว. เตื้อง       ดังจะเห็นได้จากหนังสือตำรับสายเสาวภา

อันเป็นหนังสือซึ่งมีตำรากับข้าวของ ม.ร.ว. เตื้องอยู่เป็นอันมาก


        ข้าพเจ้าเอง   เมื่อนึกเสด็จป้าทีไรก็นึกถึง ม.ร.ว. เตื้องบ่อยครั้งนั้น       การที่ม.ร.ว. เตื้องจากเราไปครั้งนี้   ก็เท่าห่วงโซ่อันสำคัญ

ที่โยงชีวิตปัจจุบันกับชีวิตครั้งนั้นได้สูญหายไปอีกห่วงหนึ่ง        กุศลกรรมที่ม.ร.ว. เตื้องได้ประกอบไว้อย่างมากมาย     คงจะทำให้ท่านคงอยู่

ในความจำและความรักใคร่ของหลาน ๆและศิษยานุศิษย์ต่อไปอีกชั่วกาลนาน


                                           ปิยะรังสิต

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ม.ค. 12, 05:43



        ความทรงจำเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว


        ข้าพเจ้าจำได้ว่าเริ่มรู้จักชื่อ "คุณอาเตื้อง" ดี  เมื่ออายุประมาณ ๖ - ๗ ขวบ      ขณะนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบ

ตำหนักของพระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์เป็นโรงเรียนสตรีของรัฐบาลแล้ว (พ.ศ. ๒๔๖๐)        บรรดาทายาทของตระกูลสินิทวงศ์ 

ซึ่งมีคุณพ่อข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย   ได้ชักชวนญาติพี่น้องให้ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนเป็นประเดิม       เพราะเป็นสถานที่ของวงศ์ตระกูล

ที่ยกให้รัฐบาลเพื่อการกุศล         นอกจากนั้นยังได้ ม.ร.ว. หญิงเตื้อง  สนืทวงศ์   ธิดาของเจ้าของตำหนักเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกด้วย


        ที่จริงอายุอานามของข้าพเจ้าก็ยังไม่สมควรที่จะถูกส่งตัวไปอบรมเป็นนักเรียนกินนอนอยู่ที่บ้านอาจารย์ใหญ่เลย     แต่เนื่องจาก

เล่ากันว่า  ข้าพเจ้าในเวลานั้นมีมารย่ทและความเป็นลูกผู้หญิงน้ิยเต็มที   จะพูดง่าย ๆ ก็ตือเป็น  Tom Boy   ดี ๆ นี่เอง

คุณพ่อจึงส่งให้ไปอยู่ในความดูแลอบรมของ "คุณอาเตื้อง"    ซึ่งท่านเชื่อว่าคงสามารถฝึกข้าพเจ้าได้ดีกว่าอยู่ที่บ้าน   เพราะคุณอา

เป็นผู้ที่เคยผ่านการอยู่ในรั้วในวังมาแล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ม.ค. 12, 05:52



        เมื่อแรกเปิดโรงเรียนสายปัญญา   คุณอาเตื้องมีบ้านอยู่ทางด้านกลังโรงเรียน   ซึ่งในเวลานี้  คือบริเวณถนน ๒๒ กรกฎา

ข้าพเจ้ากินนอนอยู่ที่บ้านคุณอา  และเดินข้ามถนนมาโรงเรียนทุกวัน        ได้รับการฝึกกิริยามารยาทอย่างเข้มงวดกวดขันที่สุด

จนจดจำได้ดีมาจนทุกวันนี้       


        การฝีมือชิ้นแรกที่เรียนจากคุณอาเตื้อง คือ  การถักถุงโครเชต์์์์รูปกลลม ๆ สีม่วงสลับเหลือง    ฉะนั้นพอถึงปลายปีมีงานโรงเรียน

คุณพ่อของข้าพเจ้าจึงได้มาเป็นผู้ซื้อถุงโครเชต์ใบเล็ก ๆ นั้นเอง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ม.ค. 12, 06:05



        ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้เรียนอยู่ในโรงเรียนสายปัญญานาน   เพราะเกิดไม่สบายด้วยโรคต่อมทอมซิลอักเสบ

คุณพ่อจึงให้รับตัวกลับไปอยู่บ้าน   เมื่อหายแล้วก็เปลี่ยนสถานที่เรียนใหม่     เห็นจะเป็นด้วยในเวลาต่อมา

โรงเรียนสายปัญญามีนักเรียนเพิ่มขึ้นมากแล้ว          การประเดิมเข้าเรียนจึงเป็นอันพ้นไปได้


        ถึงจะอยู่ไกลคุณอา  แต่กิตติศัพท์ที่ได้ยินมาเรื่อย ๆ  เกี่ยวกับคุณอา  คือ ม.ร.ว. เตื้องเป็นหญิงไทยที่ทันสมัย   

มีความสามารถเข้มแข็ง  ขยัน  ไม่ชอบอยู่ว่างต้องประดิษฐ์การฝีมือแบบต่าง ๆ   และทดลองปรุงอาหารใหม่อยู่

เรื่อย ๆ        เป็นที่เคารพเกรงกลัวของหลาน ๆ   และเป็นที่รักใคร่เลื่อมใสของบรรดาลูกศิษย์มากหลายจนกระทั่งถึงปลายอายุอันยืนนาน   

ซึ่งจบลงด้วยอาการสงบ


                                                     ม.ล. บัว  กิติยากร

                                                     ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๑๑

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ม.ค. 12, 12:59



        ประวัติ  หม่อมราชวงศ์ เตื้อง   สนืทวงศ์


        ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม   พ.ศ. ๒๔๖๒  ที่วังถนนกรุงเกษม  คือที่ตั้งของโรงเรียนสายปัญญาปัจจุบันนี้

เสด็จพ่อของข้าพเจ้า คือ พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์   มารดาของข้าพเจ้าคือ หม่อมแจ่ม  สนิทวงศ์  ณ อยุธยา

การศึกษาของข้าพเจ้าออกกระท่อนกระแท่นมาก  ลุ่ม ๆ ดอน ๆ  ไม่เป็นไปตามลำดับดังเด็กรุ่นหลัง    เมื่ออายุ ๕ - ๖ ขวบ

ก่อนจะเริ่มเรียนหนังสือไทย   ก็ได้เรียนหนังสืออังกฤษกับแหม่มแมรี ฮิกส์   เพราะในเวลานั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท   

และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร  พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่วังกับเสด็จตา  คือ พระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์   เสด็จตาได้จ้างแหม่มมาสอนหนังสือ        ข้าพเจ้าจึงพลอยได้เรียนด้วย

แต่เรียนอยู่ไม่นานก็เลิก    เพราะพระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์ติดราชการปักษ์ใต้   


        ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้เริ่มเรียนหนังสือไทยที่บ้านกับญาติผู้ใหญ่  คือ  ม.ร.ว. วงศ์  นพวงศ์   ผู้อำนวยการโอสถศาลา(เดิม)   ซึ่งต่อมาตั้งเป็นโรงเรียนพยาบาลกลาง

ครูของข้าพเจ้าอีกผู้หนึ่งในระยะนี้ คือ   ม.ร.ว.  อั้น  สนิทวงศ์  พี่ชายของข้าพเจ้าเอง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ม.ค. 12, 13:40



        หนังสือเรียนในครั้งนั้น  คือ  ชุดมูลบทบรรพกิจ ๖ เล่ม  ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจาริยางกูร) 

ซึ่งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจัดพิมพ์ขึ้น

        เมื่อเรียนจบแม่กนแล้ว   มีอายุได้ ๑๐ ขวบ  ยังอ่านหนังสือไม่ออก      ครั้นได้ฟังเกร็ดพงศาวดารจีนเรื่องซ้องกั๋ง

รู้สึกสนุก    ทำให้เกิดความอยากอ่านหนังสือให้ออกบ้าง   จึงไปขอให้พี่ชายลองสอนให้  แล้วลองหาหนังสือเก่าๆมาลองอ่านเองบ้าง

ก็อ่านได้   ได้ไปอ่านให้มารดาฟัง   ท่านดีใจมาก   คำใดที่อ่านไม่ถูกท่านก็บอกให้    ข้าพเจ้าจึงอ่านหนังสือได้ตั้งแต่นั้นมา   

อนึ่งห้องที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น   มีหนังสือสุภาษิตและเกร็ดพงศาวดารจีนหลายเรื่อง  เช่น  สามก๊ก   สุภาษิตสอนหญิง   สวัสดิรักษา 

กฤษณาสอนน้อง   พาลีสอนน้อง ฯลฯ   ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเหล่านี้ซ้ำ ๆ กันจนจำได้      กลับมาอ่านมูลบทบรรพกิจอีกก็

สามารถอ่านได้แต่ยังเขียนไม่ได้

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ม.ค. 12, 10:45



        สมัยอยู่ในวังและเป็นนักเรียนวังหลัง

        ต่อมามารดาถึงแก่กรรมลง       ราว พ.ศ. ๒๔๔๐  สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระกรุณารับอุปการะ
 
ข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปอยู่ในวัง    ทรงส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง  สมัยแหม่มโคล์เป็นครูใหญ่

ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนชั้นประโยค ๑  เรียนอยู่ ๓ ปี      สำเร็จชั้น ๓ ของโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓   เวลานั้นเรียกว่า standard 3

ชั้นสูงสุดคือ standard 6   

        ขณะที่เรียนอยู่ในโรงเรียนวังหลังนั้น      มักจะต้องช่วยโรงเรียนทำงานพิเศษเสมอ  เช่นการรับแขกเมืองต่างประเทศ

เวลาที่มีแขกเมืองเข้ามาเยือนประเทศไทย   ทางการไม่มีผู้หญิงที่พูดภาษาฝรั่งได้       ทางโรงเรียนกุลสตรีวังหลังจึงมักได้รับ

คำขอร้องให้ส่งครูและนักเรียนสอนไปรับแขกเมืองที่เป็นผู้หญิงเสมอ    สมัยนั้นแฟขั่นแต่งกายถือตามแบบในวัง   ข้าพเจ้าเคยอยู่

ในวังจึงต้องรับหน้าที่ช่วยแต่งตัวให้ครูด้วย         เวลานั้นนิยมใส่เสื้อดุมหลังสพายแพร    ข้าพเจ้าคิดเปลี่ยนเป็นเอาแพรมาจดที่บ่า

เมื่อครูแต่งไปก็ได้รับคำชมเชยว่าเข้าที


       ในปี ๒๔๔๓  เจ้าจอม หม่อมราชวงศ์ข้อ  สนิทวงศ์  พี่ข้าพเจ้าซึ่งรับราชการอยู่ในวังป่วย       ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้

ออกมารักษาตัวที่บ้าน   ระยะนี้เสด็จพ่อทรงกรุณาจ้างครูแหม่มมาสอน   แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี       พอพี่หายกลับเข้าวัง  ข้าพเจ้าก็

กลับเข้าไปอยู่ในวังอีก         ได้ไปรับใช้สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลอลงกรณ์  กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร        ในระหว่างอยู่ในวัง

ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเจ้านาย   ได้เห็นงานพิธีต่าง ๆที่กุลสตรีพึงรู้พึงเรียน         ข้าพเจ้าปักพัดได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง

เมื่อเข้าไปอยู่ในวังครั้งที่สองนี้   ข้าพเจ้าผอมลงทุกที   เนื่องจากนอนดึกและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา     ราวพ.ศ. ๒๔๔๘ จึงทูลลา

ออกมารักษาตัวที่บ้าน   เมื่อหายแล้วก็มิได้กลับเข้าไปอยู่อีก       รวมเวลาที่อยู่ในวัง  ๙ ปี

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 09:38




        พระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๕๔      ทายาทได้พร้อมใจกันยกตำหนักพร้อมกับ

ที่ดินข้างเคียงให้เป็นของรัฐบาล  ใช้เป็นโรงเรียนสำหรับกุลสตรี   ทั้งได้บริจาคทรัพย์ปฎิสังขรณ์ตำหนัก   และจัดหาอุปกรณ์

การสอนตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับโรงเรียน   เปิดรับนักเรียนตั้งแต่วันที่  ๑๗ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๖๐

แล้วนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอพระราชทานชื่อโรงเรียน     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า  โรงเรียนสายปัญญา

ขณะที่จัดตั้งโรงเรียนนั้น  อธิบดีกรมศึกษาธิการ  คือ  พระยาราชนกูล(รื่น  ศยามานนท์) เมื่อครั้งเป็นพระยาไพศาลศิลปศาสตร์   

ได้มาชวนข้าพเจ้าให้ไปเป็นครูใหญ่      ข้าพเจ้าจึงเริ่มเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.  ๒๔๖๐  เป็นต้นมา

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 09:52



บรรพบุรุษของสกุล สนืทวงษ์

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๒  พระพุทธเลิศหล้านภาลัย   มีเจ้าจอมชื่อว่าปราง

เจ้าจอมมารดาผู้นี้เป็นญาติกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีรัชกาลที่ ๑  ทางสกุลบางช้าง   เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า 

ทรงได้เจ้าจอมมารดาปรางมาเป็นบาทบริจาริกา     จึงนับได้ว่าได้พระญาติมาเป็นเจ้าจอมสนิทกันมากขึ้นโดยเป็นผู้ร่วมสกุลกับพระราชชนนี


        เจ้าจอมมารดาปรางมีโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระองค์เจ้านวม   ต่อมาได้รับสถาปนาพระยศเป็นกรมหมื่น  ได้รับพระราชทาน

นามว่า  กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท    ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง      กรมหลวงวงศาธิราชสนิทมีพระโอรสองค์หนึ่ง  ต่อมาได้

เลื่อนพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า   พระราชทานนามว่า  สายสินิทวงศ์   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 10:41




        ท่านผู้หญิงมณีรัตน์   บุนนาค  เขียนถึง  "คุณอา"   หน้า ๕ - ๑๒


         คุณอาเป็นหญิงไทยในกรอบประเพณีเก่าที่ทันสมัยมากผู้หนึ่ง        คุณอาเป็นธิดาคนเดียวของพระองค์เจ้าสายสินิทวงศ์

ที่ได้เข้าเรียนในสำนักของ มิสเอ็ดนา โคล์(แหม่มโคล์)  หรือที่เรียกว่าโรงเรียสตรีวังหลังเมื่อครั้งกระโน้น    ถึงแม้จะไม่ได้สำเร็จ

ตามหลักสูร   แต่ก็เป็นศิษย์ที่แหม่มโคล์ภาคภูมิใจมาก

        การศึกษาของโรงเรียนสายปัญญาในระยะเริ่มแรก  จึงได้หลักมั่นคงทั้งในด้านภาษาต่างประเทศ  การเรือน  ซึ่งรวมถึงการฝีมือ   

การทำอาการ  การฝึกหัดกิริยามารยาท  ตามที่อาจารย์ใหญ่ถนัด  เพราะคุณอาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ 

จากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ทรงรับเลี้ยงไว้ตั้งแต่หม่อมมารดาเสียชีวิต   ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่า  คุณอาได้ผ่าน

มหาวิทยาลัยในวังมาแล้ว

        คุณอามีความคิดก้าวหน้าทันสมัย   ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสายปัญญาสมาคมขึ้น    เมื่อคุณอาครบเกษียณอายุ

พ้นจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ไปพวกศิษย์ก็ยังต้องการให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อไป        คุณอาให้ความร่วมมือ

อย่างดียิ่ง   เช่นยินยอมให้สมาคมจัดงานเต้นรำเป็นครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร  เพื่อหาเงินรายได้เข้าสมาคม     

ในเวลานั้นเสร็จสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว   หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้ไปร่วมในงานเต้นรำคืนนั้นด้วย

ปรากฎว่ามีรัฐประหารจับกุมบุคคลสำคัญที่งานในคืนนั้น       จนเป็นที่จดจำกันไปอีกนานว่าสายปัญญาสมาคมฯ  ริเริ่มจัดงานทำนองนี้เป็นสมาคมแรก

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 11:16



ขออภัยในการสะกดผิดบางแห่ง  เช่นใน คคหที่ ๘  เป็นต้น

เพราะอ่านจากต้นฉบับแล้วพิมพ์ย่อความทันที       ความสนใจอยู่ที่การสะกดแบบโบราณที่พยายามแก้ไข

โดยเปิดพจนานุกรมตามที่ทำได้


ยังมีตำรากับข้าวอื่นๆที่เต็มไปด้วยภาษาโบราณที่น่าฟังมาก  เช่นหุงข้าวกระทะแล้วโยงข้าวเป็นต้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 11:37



ศิษย์ก้นกุฎิ  คุณจร้ส  สนิทวศ์ (ซึ่งต่อมาได้เป็นคุณหญิง  และเปลี่ยนนามใหม่  ขออภัยเป็นอย่างสูงที่ไม่มีข้อมูลนี้)  เล่าว่า


       "ท่านมีน้ำใจครูอันงามตลอดกาล   เป็นอาจารย์ตั้งแต่ต้นจนจบ  ที่จำฝังใจ   "ต้องทำทุกอย่างให้ได้   ไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้

ทำไม่ได้  ทำใหม่ ๆ ๆ ๆ"

ท่านเป็นครูอยู่ตลอดอายุของท่าน   สอนอยู่ตลอดชีวิตจริง ๆ      ท่านมีอาหารแปลก ๆ ที่ทำขึ้นใหม่   ตลอดการฝีมือที่ทำขึ้นใหม่


        การทำบุญของท่าน  เช่นการใส่บาตร   ใส่ครั้งละ ๕๐ - ๘๐ องค์   ของที่ใส่ต้องอร่อย  ประณีต  สวย  น่ารับประทาน

คือใส่แต่ของดี ๆ และทำเองเสมอ ๆ       เช่นมะปรางริ้ว ๕๐ กระทง  กระทลงะประมาณ ๗ - ๘ ผล      ปอกกันคืนยันรุ่ง

หมี่ผัดต้องผัดทีละกะทะ    กะทะละ ๑ กระทง      ขนมทุกอย่างต้องทำเอง  ประณีต  สอาด


        ท่านเป็นผู้ที่ทำบุญไว้มาก   แม้เราจะถูกดุ  จนต้องร้องไห้ไปตาม ๆ กัน   แต่ผลที่รับคุ้มค่า   ไปที่ไหน  ไม่น้อยหน้าใคร

เห็นเขาอวดกันว่าเขาทำอ้ายโน่น  อ้ายนี่  ดีกัน        เข้าไปดู  ที่แท้อาจารย์เราสอนแล้ว  แต่ทำเป็นไม่รู้ดูเขาทำกัน

ท่านฝึกแบบนี้ชำนาญด้วย  และได้ร่วมบุญไปด้วยน่าสรรเสริญ"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 11:42

 
        คุณบุญเจือ   องคประดิษฐ์  เล่าว่า


        ในเย็นวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ นั้น    คุณปฎิบัติภาระกิจประจำวันเป็นปกติ   และเนื่องจากอากาศหนาวมากในวันนั้น

คุณท่านเข้านอนแต่หัวค่ำ    แต่แล้วท่านก็หลับไปเลยเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.  ด้วยโรคชรา


รวมอายุได้    ๘๓  ปี  ๘ เดือน   ๑๘  วัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง