เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 123829 ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 10:43



        ครั้นเมื่อเวลา ๓ นาฬิกาของวันที่ ๑๖ มกราคม       เริ่มได้ยินเสียงยานยนต์ของข้าศึกมาแต่ไกลหลายคัน

แสดงถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายข้าศึก

        จนกระทั่งเวลา ๔ นาฬิกา   กองทหารต่างชาติได้ส่งลาดตระเวณก่างทหารไทยราว ๒๐ เมตร   ตรวจการณ์อยู่ประมาณ ๕ นาที

ฝ่ายเราก็สงบนิ่งอยู่ด้วยความใจเย็นและมีวินัยอันดีเยี่ยม         ถึงแม้สุนัขที่มากับข้าศึกจะวิ่งเข้ามาในแนวทหารไทยและดม

ทหารไทยคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง  แต่ก็ไม่เห่า   ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่เห่า        จากนั้นพลลาดตระเวณนำและสุนัขข้าศึก

จึงได้กลับไป  โดยคิดว่าไม่มีทหารไทยอยู่ที่ห้วยยาง   ทั้งๆที่มีกำลังอยู่ทั้งกองพัน


        อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา  คือเมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา   นาทีระทึกใจก็ได้อุบัติขึ้น

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 10:57



        กรมทหารราบที่ ๕  กองพันที่ ๓  ของกองทหารต่างชาติ  ซึ่งมีประวัติการรบอย่างโชกโชน  และเป็นหน่วยกล้าตายชั้นหนึ่ง 

ที่มีกิตติศัพท์การรบอันเกรียงไกรมาแล้วในอินโดจีน   ได้เคลื่อนกำลังเป็นขบวนตามเส้นทางที่ฝ่ายเราวางกำลังไว้    ปล่อยให้

แนวหน้าของข้าศึกเลยแนวรบไปด้วยความใจเย็น        เมื่อกำลังส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่สังหารแล้ว      สัญญาณการยิง

จากจากปืนกลของร้อยตรียง  ณ นคร จึงได้ระเบิดขึ้น          พร้อมกับเสียงคำรามจากปืนทุกกระบอกของกำลังฝ่ายเราทั้งกองพัน


สู้รบถึงขั้นตะลุมบอนกันด้วยดาบปลายปืนอย่างทรหดจนเวลา ๗ นาฬิกา


เสียงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดและเสียงสั่งการดังลั่นไปทั่วยุทธภูมิ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 11:07




       ด้วยยุทธวิธีของกองพันทหารราบที่ ๓   ในบังคับบัญชาของพันตรี ขุนนิมมานกลยุทธในครั้งนี้   

สามารถบดขยี้ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตไปประมาณ ๔๐๐ นาย      ถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก

ตัวผู้บังคับกองพันของกองทหารต่างชาติเสียชีวิตในที่รบ



ยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกที่ประดับเหรียญกล้าหาญครัวเดอแกร์ไว้ได้


กองทหารเขมรและทหารญวนที่ติดตามมาอีกสองกองพันแตกกระจัดกระจายไป


นับว่ากองทหารต่างชาติซึ่งผ่านการรบอย่างโชกโชนมาแล้วได้พินาศย่อยยับเกือบหมดทั้งกองพัน

ด้วยพิษสงของทหารไทย


        ฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นายคือ  พลทหารจอน  ปรีพงศ์  และได้รับบาดเจ็บสาหัส ๒ นาย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 11:14



        วีรกรรมอันยิ่งใหญ่  เป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบแก่กำลังพลในหน่วย    นามบรรดาศักดิ์

"นิมมาณกลยุทธ"   อันมีความหมายว่า  "ผู้วางแผนการยุทธ์อันลึกล้ำเลิศ"  ได้รับการอัญเชิญมาเป็นชื่อ

ฐานปฎิบัติการเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่านและกระตุ้นเตือนให้กำลังพลทุกนายได้ประพฤติปฎิบัติตาม

ตัวอย่างอันดีงามเช่นวีรชนในอดีตของหน่วยได้กระทำมาแล้ว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 11:22



ธงชัยเฉลิมพล  ประดับเหรียญกล้าหาญ "ครัวเดอแกร์"  และเหรียญมังกรของกองทหารฝรั่งเศส

ยึดได้ในการรบที่บ้านพร้าว  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภออรัญประเทศประมาณ ๒๐ กิโลเมตร  เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๘๔

นำมาจัดแสดงให้ประชาชนชมที่สวนอัมพร  ใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า   


แต่เดิมเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ   ต่อมาได้คืนให้ฝรั่งเศสไปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 11:32



        นายทหาร ร.๑  พัน ๓


ว่าที่ร้อยตรีพร  ธนะภูมิ

ร.อ.ขุนทอง  ไกรจิตติ

พ.ท. นิ่ม  ชโยดม

ร.อ. อัมพร  เสือไพทูรย์

ร.อ.  อุดม  วรรณศิริ

ว่าที่ ร.ต. สำราญ  ขีโรท   

นายดาบทองคำ

ว่าที่ ร.ต.  วัน  ทั่งจั่น

ว่าที่ร้อยตรีไพฑูรย์   ขจรพันธุ์

นายดาบมนัส   สาบุตร

ว่าที่ร.ต. ชลอ  ทัตติ

ร.ท. ยง  ณ นคร

นายดาบชิต

ว่าที่ร.ต.  แฉล้ม  มานิต


(คัดลอกมาโดยสมบูรณ์   ความมีเพียงนี้ค่ะ)

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 14:01

อยากเรียนถามว่า

บทความข้างต้น บันทึกโดยพันเอกนิ่ม ชโยดม ดังที่ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน

หรือ

เป็นบทความที่หนังสือศิลปวัฒนธรรมย่อยมาลงอีกทีหนึ่งครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 14:20



      กองบรรณาธิการถ้าย่อความก็คงต้องให้เครดิตคนทำงานเป็นแน่

แจ้งขอบคุณแล้วบอกว่าจะได้ใช้ประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านต่อไป

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 14:39

ข้อความดังกล่าว มีผู้ลอกมาลงในเวปหลายรายโดยไม่บอกที่มาที่ไป ผมเพิ่งบัดนี้เองทราบว่าต้นตอมาจากหนังสืองานศพของท่าน

ตัวเลขทหารฝรั่งเศสที่ตายในสำนวนนี้บอก๔๐๐คน
แต่บางสำนวน อ้างคำกล่าวของพันตรี ขุนนิมฯเอง บอกท่านประมาณว่าตาย ๔๙ศพ บาดเจ็บ๑๑๐
"ข่าวทหาร" บอกตาย๒๐๐เศษ บาดเจ็บอีกมาก

เอกสารของฝรั่งเศสบอกว่านายทหารยศร้อยโทกับทหารอีก๒๙คนเสียชีวิต ไม่กล่าวถึงผู้บาดเจ็บ

รายละเอียดของการรบก็ว่าไปคนละเรื่อง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 15:23

อ้างถึง
กองพันทหารต่างด้่าวที่ 5 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองพันทหารแห่งตังเกี๋ย เป็นกอง(หรือกรม?)ทหารต่างด้าวที่ตั้งขึ้นในค.ศ. 1930 ในยุคของสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศส ยุบเลิกไปเมื่อค.ศ. 2000 ตามประวัติ เคยมีบทบาทปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่สอง และในสงครามอินโดจีนและสงครามในอัลจีเรีย

หมายเหตุ regiment แปลได้ตั้งแต่กรมทหารลงไปจนถึงกองทหาร ท่านเจ้าของกระทู้แปลว่ากองพัน ดิฉันก็ถือตามนั้นค่ะ

ครับ ผมไม่ใช่ทหาร ตอนแรกก็งงอยู่นาน อันที่จริงก็งงหลายเรื่องจึงเรียบเรียงกระทู้ได้ช้า สงสัยอะไร ก็ต้องเสียเวลาค้นคว้าหาคำตอบเป็นวรรคเป็นเวร

III/5 REI เป็นชื่อย่อของกองพันที่๓ ของกรมทหารต่างด้าวที่๕ครับ

ทหารต่างด้าวนี้ ว่ากันตรงๆก็คือทหารรับจ้างรบที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สนว่าประวัติของแต่ละคนจะเป็นโจร หรือฆาตกรมาจากขุมนรกไหนของโลก จะเชื้อชาติหรือสัญชาติใดไม่เกี่ยงหากทดสอบผ่านการฝึกอันทารุณได้ ดังนั้นทหารในกรมนี้จึงมีทุกสีผิว ฝรั่งเศสขุนเอาไว้ส่งไปรบในบรรดาเมืองขึ้นต่างๆ  ส่วนมากในอัฟริกาที่ทหารฝรั่งเศสประสพผลสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังจากเจ้าของประเทศเดิมอย่างเข้ากระดูกดำ เพราะพวกนี้จะฆ่าพลางปล้นพลาง มารบกับทหารไทยในสมรภูมิเขมรครั้งนี้  พอแพ้ก็ปล้นชาวบ้าน เอาเศษเล็กเศษน้อยไปด้วยไม่ยอมถอยกลับมือเปล่าๆ

ทหารพื้นเมืองที่เกณฑ์มาจากญวนและเขมรไม่เรียกว่าทหารต่างด้าว แต่เรียกว่าทหารพื้นเมือง พวกนี้ไม่มีน้ำยาอะไรเพราะฝรั่งเศสก็ไม่ไว้ใจที่จะให้ใช้อาวุธดีๆ รบกับไทยในช่วงแรกก็เอาแต่แตกพ่ายแทบจะไม่ได้รบ จนรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสต้องสั่งการให้กรมทหารต่างด้าวที่๕ ซึ่งประจำการอยู่ที่ตังเกี๋ยเคลื่อนพลมา กะจะตีโต้ทหารไทยให้กระเจิง

ประมาทนักก็เลยเละเป็นเนื้อบะช่อ

ใจเย็นๆกับผมหน่อยนะครับ สมรภูมิที่บ้านพร้าวนี้ยังมีเรื่องเล่าให้ฟังอีกเยอะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 20:00

มายกมือรายงานตัวก่อนครับ ว่าตามกระทู้เรือธนบุรีทุกวัน วันนี้มาตามเรียนกระทู้นี้ต่อ ธรรมดาชอบนั่งหลบมุมเงียบๆ หลังห้อง  ถ้าครูไม่ถามมิกล้าแสดงตัวครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 27 ม.ค. 12, 07:02

ขอบพระคุณคุณวันดีที่มาปูเรื่องให้นะครับ
ขอบคุณคุณประกอบด้วย ที่ส่งเสียงให้ทราบว่าชอบ

ผมจะไม่ย้อนกลับไปเรื่องที่ทำไมจึงเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนะครับ เอาเป็นว่ากองทัพบก ได้จัดกองทัพบกสนาม โดยมีพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย กองทัพบูรพา กองทัพอีสาน กองพลผสมปักษ์ใต้ กองพลพายัพ และกองพลผสมกรุงเทพ  

ขอยังไม่พูดถึงกองทัพอื่นๆก่อน ขอเริ่มที่กองทัพบูรพาซึ่งพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี มีทหารในสังกัดดังนี้

กองพลพระนคร ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๑, ที่ ๒ และ ที่ ๓
กองพลลพบุรี ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๔, ๖, ๓๗, ๑ (หนุน), ๒๙ (หนุน) และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๔
กองพลปราจีนบุรี ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๕, ๘, ๔๕, ๓๑ (หนุน) (จัดแบบกองพันอัตราศึก) และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่
กองพลวัฒนานคร ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่
กองพลจันทบุรี ประกอบด้วย กองพันนาวิกโยธินที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, กองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน ๔ ), กองพันทหารปืนใหญ่นาวิกโยธิน, กองทหารช่าง (ทบ.) และ กองทหารสื่อสาร (ทบ.)



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ม.ค. 12, 07:10

กองทัพบุรพาได้รับมอบภารกิจให้เข้าตีด้านประเทศเขมรตามทิศทางแนวถนนอรัญประเทศ ศรีโสภณ พระตะบองเพื่อมุ่งเข้ายึดกรุงพนมเปญ  บรรจบกับกองทัพอิสานที่จะรุกเข้าทางด้านสุรินทร์ เพื่อยึดเสียมราฐ นครวัต กำปงทม มีเป้าหมายที่พนมเปญเหมือนกัน   จากนั้น ให้ทั้งสองกองทัพกวาดล้างข้าศึกขึ้นไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อบรรจบกับกองพลพายัพที่จะรบจากลาวลงมาทางใต้

แผนปฏิบัติการรบของกองทัพบูรพาคือ ให้กองพลวัฒนานคร ที่ยกมายึดพื้นที่เพื่อป้องกันชายแดนตั้งแต่ต้นเป็นกองหนุน   ให้กองพลพระนครอยู่ทางด้านเหนือ กองพลลพบุรีอยู่ทางใต้ ทำการรุกจากอรัญประเทศ ผ่านด่านปอยเปต สู่ศรีโสภณ และพระตะบอง
ส่วนกองพลจันทบุรี ให้ทำการเข้าตีทางไพลิน ไปบรรจบกับกองพลลพบุรีที่พระตะบอง
กองพลพระนคร ให้ทำการยุทธบรรจบกับกองทัพอิสาน ที่รุกเข้าทางด้านสุรินทร์ สู่เสียมราฐ  มายังศรีโสภณ

แผนที่ข้างล่างนี้ฝรั่งเศสทำไว้ แสดงกำลังทหารทั้งสองฝ่ายในการรบด้านเขมร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 27 ม.ค. 12, 07:19

วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔ กองทัพบูรพาก็ดีเดย์  กองพลลพบุรีเป็นหัวหอก เคลื่อนที่ผ่านกองพลวัฒนานครซึ่งกระจายกำลังรักษาชายแดนด้านอรัญประเทศอยู่  เข้าตีข้าศึกที่ด่านปอยเปตซึ่งเป็นแนวหน้าของอินโดจีนฝรั่งเศส  กองพลนี้มีกำลังสามกองพัน ขั้นแรกให้กองพันทหารราบที่ ๖ ภายใต้การบังคับบัญชาของพันตรี หลวงราญปฏิเวทเป็นหน่วยแรกรุกเข้ายังที่ประตูชัยปอยเป็ตซึ่งฝรั่งเศสดัดแปลงที่มั่นและวางกำลังตั้งรับแข็งแรงมาก มีทั้งลวดหนามและดงกับระเบิด พอเห็นทหารไทยบุกเข้าไปฝรั่งเศสก็เผาหญ้าแห้งเป็นเครื่องกีดขวาง การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายเราใช้ความพยายามถึงสองวันกว่าจะสามารถบุกเข้าประชิดขนาดใช้ดาบปลายปืนเข้าตะลุมบอน จนฝรั่งเศสถอดใจ ต้องสั่งถอยปล่อยให้ทหารไทยยึดปอยเปตได้วันที่ ๗ มกราคม แต่เราก็บาดเจ็บล้มตายเยอะ

ในภาพเป็นประตูชัยที่พรมแดนไทยเขมรอรัญประเทศในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่จากทรากที่ถูกทิ้งไว้ปรักหักพังในระหว่างสงครามครั้งนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 27 ม.ค. 12, 07:30

ต่อจากนั้นกองพันทหารราบที่ ๘ และกองพันทหารราบที่ ๔ ก็รุกคืบหน้าต่อไปตามแนวถนนปอยเปต-ศรีโสภณ พอได้สักประมาณ ๒๐ ก.ม.ก็ถึงแนวตั้งรับของข้าศึกซึ่งฝรั่งเศสสร้างเป็นพะเนียดคล่อมถนนไว้  ใช้ขอนไม้ทั้งต้นมาวางซ้อนกันไว้เป็นชั้น ๆ ด้านหน้าขึงลวดหนามแขวนกระป๋องไว้เป็นระยะ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ภายในที่มั่นขุดคูสนามเพลาะติดต่อถึงกันโดยตลอด และมีคลังเก็บกระสุนวัตถุระเบิดไว้จำนวนมาก

ทหารราบกองพันที่ ๘ เคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าไปในเวลากลางคืน ประมาณสามชั่วโมงก็มาติดอยู่ที่ลวดหนามหน้าแนวตั้งรับของข้าศึกนี้  แล้วเลยถูกระดมยิงอย่างหนักโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อน เกิดความระส่ำระสายรวนเรไปหมด ผู้บังคับบัญชาจึงต้องรายงานขอกำลังหนุน ได้กองพันทหารราบที่ ๖ มาช่วย เคลื่อนกำลังขึ้นมากว่าจะถึงแนวรบก็ใช้เวลาสามชั่วโมงเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ให้กองพันที่ ๘ พอได้ข่าวกองหนุนกำลังมามีกำลังใจยึดพื้นที่อยู่ได้โดยไม่ถอย  พอถึงแล้วกองพันที่ ๖ ก็เคลื่อนที่เข้าโอบปีกทางด้านซ้ายจนสุดแนวป้องกันแล้วเข้าตีด้านหลัง  พอเห็นทหารไทยรบจริงจังข้าศึกจึงแหวกวงล้อมถอยไป ฝ่ายเราสามารถยึดค่ายพะเนียดได้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ก็เสียกำลังพลของกองพันที่ ๘ ไปในตอนแรกพอสมควร

รูปประกอบ ทหารฝรั่งเศสขณะเตรียมสร้างค่ายรับการบุกของฝ่ายไทยก่อนจะเกิดการรบจริงในเวลาต่อมา




บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง