เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21
  พิมพ์  
อ่าน: 123547 ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 11:49

ก่อนจะออกรับราชการ ตามธรรมดาจะให้นักเรียนเลือกเหล่า และหน่วยที่จะไปอยู่ได้ตามผลการสอบและความสมัครใจดังเช่นรุ่นพี่ ๆ
แต่สำหรับรุ่นนี้ ทางการกำลังปรับแผนการบรรจุกำลังเพื่อรับสถานการณ์ ดังนั้นเดิมที่จะให้เลือกได้สี่เหล่า คือ ทหารอากาศ (นักบิน) ทหารม้า ทหารราบ และเหล่าพลาธิการ
พวกเราจึงต้องผิดหวัง เพราะมีคำสั่งให้บรรจุนักเรียนรุ่นนี้ในเหล่า ทหารราบ ทั้งหมด คือ บรรจุเป็น สำรองราชการ บก.แผนกที่ ๑ กรมจเรทหารบก ที่ ลพบุรี (ปัจจุบันคือศูนย์การทหารราบ จว.ประจวบคีรีขันธ์) ทั้ง ๒๙ นาย
และแต่งตั้งยศเป็นว่าที่นายร้อยตรี คำสั่งทหาร ที่ ๔๕ / ๑๖๙๐ ลง ๒๘ เม.ย.๒๔๘๓ รับพระราชทานเงินเดือนชั้น ๒๖ เดือนละ ๘๐ บาท

สำหรับนักเรียนนายเรือ พร  ยั่งยืน แต่งตั้งยศเป็นว่าที่นายเรือตรี เข้าประจำกรมนาวิกโยธินทหารเรือ ที่สัตหีบ
ส่วนพวกตำรวจทั้ง ๑๐ นาย แต่งตั้งเป็นนายร้อยตำรวจตรี และบรรจุเป็นรองสารวัตรประจำสถานีต่าง ๆ ในกรุงเทพ

พวกเราทั้ง ๒๙ นาย เดินทางไปรายงานตัวที่แผนกที่ ๑ กรมจเรทหารบก ลพบุรีพร้อมกันเพื่อรับการอบรมพิเศษ หลักสูตรอาวุธหนัก กำหนด ๑ เดือน แต่ไม่จบหลักสูตรเกิดความจำเป็นต้องส่งตัวเข้าประจำกรมกอง เพราะเมื่อ ๑๐ พ.ค. ๒๔๘๓ เยอรมันเริ่มรุกใหญ่ทางแนวรบด้านตะวันตก จึงมีคำสั่งบรรจุเข้าประจำกรมกองต่าง ๆ
ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้บังคับหมวดกองพันทหารราบที่ ๗ (ร.พัน.๗) บางซื่อ กทม. มารายงานตัวเมื่อ ๒๓ พ.ค. ๒๔๘๓ ผู้บังคับกองพันชื่อ พ.ท.หลวงพิฆาตปรปักษ์ รองผบ.พัน.ชื่อ พ.ต.ขุนบำเพ็ญเสนีย์
ข้าพเจ้ารับการบรรจุในกองร้อยที่ ๒ ผบ.ร้อย.ชื่อ ร.อ.ประวัติ  ชุษณโยธิน ผบ.ร้อย.มอบภารกิจให้รับผิดชอบทหารเก่า มี ร.ต.นธิ   แย้มสกุล นักเรียนนายร้อยรุ่นพี่ รับผิดชอบทหารใหม่
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 12:12

เดือน กรกฎาคม ทางการได้เรียกทหารกองหนุน รุ่นปราบกบฎ (พ.ศ.๒๔๗๖) เข้ารับการฝึกหลักสูตร ๔๕ วัน เพื่อเสริมกำลัง ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ฝึกทหารรุ่นนี้
ในระยะนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองด้านอินโดจีนฝรั่งเศสเริ่มตึงเครียด ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวดในกองพันทหารราบที่ ๓ ที่ พญาไท กทม. รวมเวลาที่อยู่ ร.พัน.๗ เป็นเวลา ๕ เดือน

วันที่ ๒๐ ต.ค. ๒๔๘๓ รายงานตัวเข้าสังกัด ร.พัน.๓ ซึ่งมี พ.ท.หลวงไกรชิงฤทธิ์ เป็น ผบ.พัน. พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ (นิ่ม   ชโยดม) เป็นรองผบ.พัน.
ข้าพเจ้าบรรจุในร้อย.๒ ซึ่ง ร.อ.อัมพร   เสือไพฑูรย์ เป็น ผบ.ร้อย. มีนายทหารรุ่นเดียวกันได้บรรจุมาก่อนแล้ว อยู่ร้อย. ๑ คือ ว่าที่ร.ต.สำราญ   ขีโรธ
ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ฝึกทหารกองหนุนหลักสูตร ๔๕ วันอีกรุ่นหนึ่งเพื่อเสริมกำลังใน ร้อย. ๑ และ ๒ และขยายกำลัง ร้อย.๓
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 12:43

วันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง กองบัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วย
๒๕ พ.ย. ๒๔๘๓ ตั้ง พ.อ.หลวงวิชิตสงคราม เป็นเสนาธิการทหารบก
ตั้งกองทัพบูรพา โดย พ.อ.หลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ ๑ ด้านบูรพา, ตั้งกองทัพอีสาน โดย พ.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ ๒ ด้านอีสาน
ตั้งกองพลพระนคร ขึ้นตรงต่อกองทัพบูรพา โดย พ.ท.หลวงไกรชิงฤทธิ์ เป็น ผบ.พล. และ พ.ต.เติม   กนิษฐานนท์ เป็นรอง ผบ.พล.
กองพลพระนคร ประกอบร้วย ร.พัน.๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ , ร.พัน.๓ และ ร.พัน.๙ เป็นกำลังรบหลัก มี กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ (ป.พัน.๑) , กองร้อยทหารช่าง และกองร้อยรถถังสนับสนุน
สำหรับ ร.พัน.๓ นั้น พ.ต.ขุนนิมมานกลยุทธ ได้เลื่อนเป็น ผบ.พัน. สำหรับร้อย.๑, ร้อย. ๒ และร้อย.๔ คงเดิม
ส่วนร้อย. ๓ เอานายทหารใหม่ รุ่นหลังข้าพเจ้า ๑ รุ่น คือ ว่าที่ ร.ต.พร   ธนภูมิ มารักษาการผบ.ร้อย.

ในขณะนั้นแต่ละกองร้อยมีนายทหารคือ ผบ.ร้อย. ๑ นาย และ ผบ.หมวด ๑ นาย
ร้อย.๑ ร.อ.อุดม   วรรณศิริ
ร้อย. ๒ มี ร.อ.อัมพร    เสือไพฑูรย์ เป็น ผบ.ร้อย. และข้าพเจ้า ว่าที่ ร.ต.ไพบูลย์   ขจรพันธุ์ เป็น ผบ.หมวด
ร้อย.๓ มี ว่าที่ร.ต.พร ธนภูมิ คนเดียว รักษาการ ผบ.ร้อย.
ร้อย.๔ มี ร.อ.ขุนทอง   ไกรจิตติ เป็น ผบ.ร้อย. และ ร.ต.ยง   ณ นคร เป็น ผบ.หมวด
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 12:57

ภายในกองพลพระนครนั้น มีนายทหารรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าอยู่ด้วยกองพันละ ๑ นาย คือ
ร.พัน.๑ ฯ มี ร.ต.สมจิตร   ชมะนันทน์
ร.พัน.๙ มี ว่าที่ ร.ต.ยนต์   วรรณรักษ์ ส่วนที่ ร.พัน.๓ มีว่าที่ ร.ต.สำราญ   ขีโรธ และข้าพเจ้า
ต่อมาในต้นเดือนธ.ค. ๒๔๘๓ ได้บรรจุนายดาบมาประจำหมวดต่าง ๆ ภายในกองร้อยที่ยังขาดอยู่จนครบ
ในร้อย. ๒ ที่ข้าพเจ้าประจำอยู่ มีข้าพเจ้าเป็น ผบ.หมวด ๑, นายดาบทรวง  ฯ เป็น ผบ.หมวด ๒ และนายดาบคำปั้น  ฯ เป็น ผบ.หมวด ๓

วันที่ ๑๒ ธ.ค. ๒๔๘๓ ร.พัน.๓ กองพลพระนคร เคลื่อนย้ายทางรถไฟจากสถานีมักกะสันไปลงรถที่สถานีอรัญประเทศ แล้วลำเลียงต่อโดยรถยนต์ไปเข้าที่ตั้ง บ้านโนนหมากหมุ่น และบ้านโคกสูง
เข้าพักแรม ๑ คืน วันรุ่งขึ้นก็แยกย้ายเข้าประจำหลักเขตแดน โดยมี ๒ กองร้อยในแนวหน้า ร้อย.๑ อยู่หลักเขตที่ ๔๕ - ๔๖
ร้อย.๒ หมวด ๑ คือหมวดข้าพเจ้า เข้าที่ตั้งหลัก ๔๔ ซึ่งเป็นแหลมยื่นออกไปข้างหน้า ภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ใหญ่เล็กประปราย แต่เป็นป่าหญ้าคาและดงสาบเสือขึ้นอยู่ทั่วไป
มีทางคนเดินจากบ้านยางในเขตเขมรมาผ่านหลัก ๔๔ เข้าไปยังบ้านโนนหมากหมุ่น และบ้านโคกสูง เป็นทางหนีภาษี ซึ่งมีมานานแล้ว
มีลำธารเล็ก ๆ และมีเส้นทางอยู่หลายทาง แต่ป่าหญ้าคาและป่าสาบเสือขึ้นปกคลุม จนยากที่จะมองเห็น
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 13:12

ในตอนเช้า ต้องออกสำรวจเส้นทางทุกวัน เพื่อปรับวางกำลังและที่ตั้งอาวุธให้สอดคล้องกับข้าศึกที่จะเข้ามาสู่ที่ตั้งของเราได้
ถ้าเราวางกำลังไม่ดี อาจจะถูกโอบหลัง หรือถูกล้อมได้ง่าย, สำรวจครั้งไร ก็พบเส้นทางใหม่อยู่เรื่อย
ที่หลัก ๔๔ นี้ หมวดของข้าพเจ้าปะทะกับข้าศึก ๒ ครั้ง เป็นกำลังข้าศึกที่ออกมาลาดตระเวนหาข่าว กำลังไม่เกิน ๑ หมวด

ครั้งแรก ปะทะกันในขณะที่วางกำลังเฝ้าอยู่ที่หลัก ๔๔ เป็นการปะทะครั้งแรกในชีวิตทหารของข้าพเจ้า และทหารในหมวดด้วย
พอเห็นตัวกันไว ๆ ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจ ลั่นกระสุนออกไปโดยไม่ต้องสั่งยิงกันประมาณ ๒๐นาที ข้าศึกก็ถอนตัวกลับ
ผลคือไม่ได้อะไรเลย ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย
ครั้งที่ ๒ ห่างจากครั้งแรก ๕ วัน ฝ่ายเราวางกำลังหน้าหลัก ๔๔ ประมาณ ๕๐๐ เมตร ข้าศึกมาลาดตระเวน คาดว่าเราอยู่ที่เดิม จึงถูกยิงตาย ๒ คน ถูกจับ ๒ คน เพราะถูกยิงบาดเจ็บ
เป็นทหารต่างด้าวของฝรั่งเศสผิวดำ ชาติเซเนกัล

หลังจากนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับไปรวมกับกองร้อย กองพัน เพื่อขึ้นแนวทางด้านหลัก ๔๕ - ๔๖ เลยเข้าไปยึดบ้านพร้าว
ส่วนด้านหลัก ๔๓ - ๔๔ ให้ ร.พัน.๑ ฯ ขึ้นรับมอบ และเตรียมเข้ายึด บ้านยาง ในเขตข้าศึกต่อไป
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 13:35

ในวันแรกเดินทางผ่านหลักกม. ๕๕ - ๕๖ เข้ายึดบ้านพร้าวไว้ได้เมื่อเวลาประมาณ ๑๔๐๐ น. โดยไม่ได้ปะทะกับข้าศึกเลย กำลังทหารทั้งกองพันได้วางรายรอบหมู่บ้านเป็นรูปวงกลมที่ขณะนั้นเป็นหมู่บ้านร้าง
ราษฎรอพยพออกไปทั้งหมด
กำลังส่วนหน้าที่เข้ายึดบ้านพร้าวเป็นกำลังรบแท้ ๆ ไม่มีส่วนช่วยรบสนับสนุนเลย ทหารมีแต่ข้าวกับไข่เค็มในหม้อที่บรรจุไว้ในเป้สะพายหลังเป็นอาหารมื้อเย็นเท่านั้น
นายทหารมีแต่ตัวกับเป้หลังและปืนพก ส่วนเตียงสนาม เครื่องนอน และหีบเครื่องแต่งกายยังมาไม่ถึง
ในคืนนั้น ข้าพเจ้าและทหารต้องนอนในชุดสนามที่โคนต้นไม้ ใช้กระติกน้ำเป็นหมอนหนุนหัว เนื่องจากเป็นที่กลางแจ้ง ลมโกรกในปลายเดือนธันวาคม ทำให้หนาวจนนอนขดเป็นตัวกลม ๆ
จะสุมไฟก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นที่สังเกตของข้าศึก ข้าพเจ้านอนไม่หลับทั้งคืน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 22 มี.ค. 12, 16:58

เพิ่งจะเข้าเน็ทได้ในเย็นวันนี้ ขอบอกเพียงว่ากำลังสนุกเลยครับ ในหนังสือมีรูปประกอบบ้างหรือเปล่า อย่างน้อยรูปผู้เขียนก็ยังดี

ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 09:20

มีแต่รูปของผู้เขียนครับ ไม่มีรูปของกองพันในการรบเลย

รุ่งขึ้น กินข้าวเช้าประมาณ ๐๕๐๐ น. ครั้นประมาณ ๐๖๐๐ น. ผบ.พัน.สั่งเคลื่อนย้ายกำลัง
เราต้องออกเดินทางไปช่วยกองพลลพบุรีที่ถูกข้าศึกโอบล้อมอยู่ในขณะนั้นการเดินทางอาศัยทางเกวียนเป็นแต่เครื่องชี้ทิศทาง
เราต้องเดินในป่าโปร่งและป่าละเมาะสองข้างทางเกวียนนั้น โดยแยกเป็นสองกองร้อยในแนวหน้า และหมวดตามกันภายในกองร้อย
การเดินทางลำบากบางครั้งสะดุดเถาวัลย์หกล้มอยู่บ่อย ๆ เป็นการเดินที่เร่งรีบไม่ได้หยุดเลย

เวลาประมาณ ๑๒๐๐ น. เราก็ออกจากป่าสู่ที่ราบโล่ง ดูเตียนสุดลูกหูลูกตา ทุ่งอย่างนี้เรียกว่า ทุ่งตาเสด แต่ไม่ใช่ทุ่งหญ้าธรรมดา
เป็นหญ้าเพ็กสูงท่วมหัว ถ้าไม่ใช่เนินดินดัดแปลงแล้ว ปืนกลจะตั้งยิงไม่ได้เลยชักรู้สึกทอดอาลัย เพราะถ้ามีการยิงต่อสู้กันแล้ว
เราจะตกเป็นเหยื่อของข้าศึกที่ได้ดัดแปลงภูมิประเทศไว้อย่างดี อย่างไม่มีทางสู้ เช่นเดียวกับที่กองพลลพบุรีโดนมาแล้ว
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 09:35

ในขณะที่หิวจนตาลายและวิตกกังวลอยู่นั้น ก็พอดีได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับไปพักที่บ้านพร้าวได้ เพราะข้าศึกทราบว่าเรามาโอบหลัง จึงถอยหนีไปแล้ว
เราเดินทางกลับรู้สึกมาได้เร็วมาก ขาไปเดินในรกในพง ลาดตระเวนไปด้วยใช้เวลา ๖ ชั่วโมง
ขากลับเดินมาตามทางเกวียน เราถึงบ้านพร้าวและกินอาหารกลางวันเวลาประมาณ ๑๕๐๐ น.

วันนี้เอง เวลาประมาณ ๑๗๓๐ น. ปรากฎว่าข้าศึกส่วนหนึ่ง กำลังไม่เกิน ๑ หมวดเข้ามาลาดตระเวนหาข่าว จึงเกิดการยิงกัน
ผบ.พัน.สั่งเข้าประจำแนว ยิงตอบโต้กันประมาณ ๒๐ นาที ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก อากาศมืดลงมองไม่เห็นตัวกัน
แต่ฝ่ายเราก็ไม่กล้าย้ายที่ตั้งหรือดำเนินกลยุทธใด ๆ ทั้งในขณะนั้นก็ไม่ทราบว่ามีข้าศึกเท่าใด นอกจากกำลังที่เผชิญหน้าอยู่แล้วยังมีในทิศทางอื่นหรือไม่
ฝนก็ตกหนักลงมาทุกที พวกเราต้องนอนจมโคลนอยู่อย่างนั้นเอง จนหยุดตกเวลา ๒๐๐๐ น. และได้รับคำสั่งให้ถอนตัวเข้าที่พักได้
เมื่อลุกขึ้นเปียกโชกไปทั้งตัว กลับถึงที่พัก ปรากฎว่าหีบสนามลอยอยู่ในน้ำท่วมเหนือพื้นดินตั้ง ๒๐ ซ.ม. วันนั้นต้องกินข้าวกันเวลา ๒๑๐๐ น. และกินกันมืด ๆ
โดยไม่กล้าจุดไฟเลย
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 10:10

เวลา ๐๕๐๐ วันรุ่งขึ้น ผบ.พัน.สั่งให้กองพันออกเดินทางไปตามถนนดินซึ่งฝรั่งเศสตัดไว้อย่างดี รถยนต์วิ่งได้สะดวกระหว่างบ้านพร้าว กับบ้านเตยเสียม
หรือบ้านทับไทย (คือตำบลที่ในสมัยโบราณ กองทัพไทยเคยมาพักอยู่ที่ตรงนี้)
เมื่อถึงลำธารแห้งเล็ก ๆ แห่งหนึ่งติดกับถนน นับว่าเป็นชัยภูมิที่ดี เพราะอาศัยพรางตัวทหารในลำธารได้ในความกำบังของต้นไม้ในป่าโปร่ง
ขณะนั้นเวลาประมาณ ๑๗๐๐ น. ผบ.พัน.จึงให้ยึดภูมิประเทศ ร้อย.๑ ด้านซ้ายมือ
เมื่อหันหน้าไปยังข้าศึกลำธารเฉียงจากซ้ายไปทางขวามือ ร้อย. ๑ จึงอยู่เยื้องไปทางหลังเล็กน้อย
ส่วนร้อย.๒ วางกำลังในลำธารทางขวามือของถนน และอย่างเช่นเคย หมวด ๑ ของข้าพเจ้าอยู่ข้างหน้า ส่วนหมวด ๒ หมวด ๓ อยู่ข้างหลังลงไปตามลำดับ

เมื่อวางกำลังเสร็จแล้วก็ไม่ต้องดัดแปลงอะไรมาก เพราะขอบลำธารเป็นที่กำบังกระสุนอย่างดี เพียงถากถางทางยิงบ้างเล็กน้อย
และเตรียมการยิงเวลากลางคืน พร้อมทั้งวางยามข้างหน้าและทางข้างก็เสร็จเรียบร้อย พักผ่อนได้เมื่อเวลาประมาณ ๒๐๐๐ น.

ต่อจากนั้นผ่านไป ๑ คืน กับอีก ๑ วันในตอนเย็นเราก็ได้ยินเสียงการต่อสู้ทางด้านซ้ายของกองพัน
นั่นคือ ร.พัน.๑ ฯ ซึ่งขึ้นผลัดเปลี่ยนหมวดของข้าพเจ้าที่หลัก ๔๔ได้เคลื่อนที่ปะทะกับข้าศึกที่บ้านยาง
มีการยิงกันเป็นระยะ ๆ เราต่างเข้าประจำแนวเตรียมพร้อม พอตกค่ำเสียงปืนก็เงียบไป
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 10:27

(ข้อมูลต่อมาในหนังสือ ฯ พิมพ์ว่า "ประมาณ ๑๔๐๐ น. จำวันไม่ได้ ประมาณ ๑๐ - ๑๕ มกราคม ๒๔๘๔" น่าจะพิมพ์ผิด เพราะเป็นเวลากลางวัน
ผมขอเปลี่ยนเวลาเป็นกลางคืน และระบุวันที่ ๑๖ มกราคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์รบที่มีชื่อเสียงครั้งนี้)

ประมาณ ๐๒๐๐ น. วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๔ พวกเราตื่นเพราะได้ยินเสียงการยิงกันอีก ทางด้าน ร.พัน.๑ ฯ
และทางเราก็ได้ยินเสียงคนเดินคุยกัน เสียงม้า (ม้าต่าง) ร้องดังมาทางถนนจากบ้านเตยเสียมตรงมาที่กองพันของเราวางอยู่
เราจึงอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะรับเหตุการณ์อยู่แล้ว
ประมาณ ๐๒๓๐ น. มีทหารส่วนหน้าของข้าศึกเดินผ่านหน้าหมวดของข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ากระซิบสั่งทหารไว้แล้ว ไม่ให้ยิงปืนจนกว่าข้าพเจ้าจะเริ่มยิง
จึงปล่อยให้ข้าศึกเลยเข้าไปถึงหน้ารังปืนกลหนักของ ร้อย. ๔ และบางคนได้เลยรังปืนกลไปบ้าง จนถึงหน้าหมวดอาวุธ ปร. ของกองพันแล้ว
ร.ต.ยง   ณ นคร จึงสั่งเริ่มยิง เมื่อทางร้อย. ๔ ยิง หมวดข้าพเจ้าก็เริ่มยิง เลยมีการยิงจากฝ่ายเราตลอดแนว

หมายเหตุ ม้าต่าง คือม้าที่บรรทุกสัมภาระ
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 11:04

ข้าศึกตรงหน้าเราจึงถูกปืนกลกวาดล้มเป็นใบไม้ร่วงโดยไม่ทันรู้ตัว เข้าใจว่ากำลังส่วนนี้ของข้าศึก ๑ กองพันถูกทำลายลงสามในสี่ส่วน และตอนบ่ายวันนั้นเราจับได้ธงไชยเฉลิมพลของกองพันทหารต่างด้าวซึ่งเป็นกองพันที่ดีที่สุดของฝรั่งเศส

ทราบภายหลังว่าข้าศึกใช้กำลัง ๑ กรมโดย ๒ กองพันทหารราบญวนเขมรทางด้าน ร.พัน.๑ ฯ
และใช้กำลัง ๑ กองพันทหารต่างด้าวทางด้าน ร.พัน.๓ โดยตั้งใจจะเข้าตีเราในเวลารุ่งสว่าง คิดว่าเรามีกำลังเพียง ๑ กองร้อย รออยู่ที่บ้านพร้าว
ไม่ทราบว่าเราได้ขยับแนวมาอยู่ข้างหน้าบ้านพร้าวแล้ว

การรบในครั้งนี้ ทำให้ ร.พัน.๓ ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญติดที่ธงไชยเฉลิมพลในนามของกองพัน
ไม่มีนายทหาร นายสิบ พลทหารคนใดได้รับรางวัลพิเศษแต่อย่างใดไม่
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 22:56

เมื่อเสร็จสิ้นการรบในวันนั้นแล้ว มีทหารในหมวดข้าพเจ้าถูกยิงตาย ๑ คน ส่วนอีก ๒ คนบาดเจ็บ โดยกระสุนปืนเฉียดนัยน์ตา
ทำให้ตาบอดไปข้างหนึ่ง อีกคนกระสุนถูกกระบังหมวก สะท้อนเฉี่ยวเอาใบหูแหว่งไปข้าง
ส่วนทหารในหมวดอื่นและกองร้อยอื่น ไม่มีใครเป็นอันตรายเลย

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๔ ไทยรับข้อเสนอของญี่ปุ่นเพื่อยุติสงคราม ในระหว่างการเจรจา ร.พัน.๓ เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้ง หมู่บ้านเตยเสียม
เพื่อเตรียมการรุกต่อไปยังศรีโสภณ
วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ เริ่มพักรบ มีกำหนด ๑๕ วัน และพักรบเรื่อยมา
ในระหว่างหยุดพักรบไม่มีอะไรทำ ทหารจะมั่วสุมเล่นการพนัน ผบ.พัน.จึงสั่งให้ต้อนจับสัตว์ป่า มีเก้ง กวาง เป็นต้นส่งไปไว้ที่เขาดินวนา
และในตอนปลายกุมภาพันธ์ ร.พัน.๓ กลับมาพักที่ อ.อรัญประเทศ เพื่อเตรียมกลับกรุงเทพ
เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ จึงเป็นหน่วยขัดตาทัพไว้ก่อน จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ก็เดินทางกลับที่ตั้งปกติ พญาไท กทม.
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 23:42

มีบันทึกถึงรถถังที่เข้ามาร่วมเหตุการณ์ด้วย แต่ออกไปในทางที่ไม่ได้เป็นการยกย่องเหมือนท่านอื่น ๆ ดังนี้

ในตอนบ่ายประมาณ ๑๔๓๐ น. หลังจากที่ข้าศึกได้สงบการยิงไปหมดแล้ว ได้มีรถถังจากกองพลพระนครขึ้นมา ๒ คัน
นำโดยร้อยเอกคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เมื่อขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ลงตรวจภูมิประเทศขับออกไปแนวหน้าเลยได้ออกไปยิงข้าศึกที่ยังหลงเหลืออยู่
แล้วหลงทิศทางกลับมายิงทหารฝ่ายเรา จนเกือบจะทับรังปืนกลหนักของฝ่ายเรา
กว่าจะติดต่อกันได้ก็เล่นเอาทหารอลหม่านทั่วทั้งแนวหน้า เมื่อใช้ธงผูกผ้าเช็ดหน้าสีขาวโบกและเคาะข้างรถจึงได้ทราบ
ฝ่ายพลขับลงมาข้างล่าง พูดคุยว่าออกไปพบข้าศึกถูกยิงบาดเจ็บนอนอยู่ยกมือยอมแพ้ ก็เลยทับไป

เสร็จแล้วก็กลับขึ้นรถถังออกไปไล่ยิงข้าศึกอีก ในที่สุด วิ่งไปตกคูทางปลายของลำธารที่ฝ่ายเรายึดอยู่
ผบ.ร้อย.๒ จึงสั่งให้หมวด ๒ และหมวด ๓ ขึ้นต่อปีกหมวด ๑ และยืดแนวออกไปคุ้มครองรถถัง
โดยไล่ยิงข้าศึกที่ขึ้นมาปีนอยู่บนรถถังเมื่อตกและติดคูเอียงอยู่นั้น แก้ไขเอาพลประจำรถถังนั้นกับนายสิบอีกนายออกมาได้

ต่อมาภายหลังพลประจำรถถังได้รับเหรียญกล้าหาญ
บันทึกการเข้า
Thammarat
อสุรผัด
*
ตอบ: 29


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 00:15

มีเรื่องราวเพียงเท่านี้ครับ บันทึกต่อจากนี้ของผู้เขียน เป็นการรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒

อีกประเด็นที่ผมสนใจ คือเรื่องของรถถังเรโนลของฝรั่งเศส ๖ คัน นำมาแสดงที่สวนอัมพร ตามอ้างถึงในความคิดเห็นที่ ๑๐๓
และภาพในความคิดเห็นที่ ๑๐๔
อ้างถึง
“ถ้าแพ้ พวกเราคงต้องโดนลงโทษรุนแรงแน่ แต่นี่ข้าศึกก็ตายมากมาย ยึดรถถังมาได้ตั้ง ๖ คัน  
ความจริงมันก็ถูกของเขา ถ้าเราทิ้งทีมั่นเดิมที่เขาวางไว้แล้วไปพลาดท่าเสียบ้านพร้าว แนวรับของเราที่เชื่อม บ้านยาง โพธิ์สามต้น ไปทางศรีโสภณคงแตก”

ข้อมูลของผม รถถังนี้ไม่ได้ถูกยึดโดย ร.พัน.๓ ที่บ้านพร้าว แต่ยึดได้ในปลายเดือนมกราคม เป็นห้วงสงบศึกชั่วคราว จำนวน ๕ คัน
โดยกองพันทหารราบที่ ๕ หรือ ร.พัน.๕ หน่วยจากหาดใหญ่ จว.สงขลา มีบันทึกการรบของหน่วย และ ผบ.ร้อย.ในเหตุการณ์ บันทึกไว้อยู่ ๒ สำนวน
หลักฐานอีกชิ้นคือรายงาน / สรุปข่าวของกองบัญชาการทหารสูงสุด จะแจ้งว่ายึดได้เมื่อใด

อีกทั้งผมก็เคยตามหาเจ้ารถถังทั้ง ๕ คันนี้ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนบ้าง ก็พบจำนวน ๒ คัน เชื่อได้ว่าเป็นรถถังที่กล่าวถึง เพราะไทยไม่ได้ซื้อรถประเภทนี้มาใช้ในกองทัพ
คันแรก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารสรรพาวุธ กทม. ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นพิพิธภัณฑ์
คันที่ ๒ ศูนย์การทหารม้า สระบุรี นำมาปรนนิบัติบำรุง - ซ่อมแซม ยังวิ่งได้อยู่ และเก็บที่ศูนย์การทหารม้า
ลองตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องดีไหมครับ ?
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง