เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 123845 ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 21:29

ปกน.แบบ77  เป็นปืนกลหนักสร้างโดยบริษัท Vickers Armstrong ประเทศอังกฤษ ใช้กระสุนขนาด .303 British (7.7x56 mm.)อัตราการยิง 450-600 นัด/นาที ระบายความร้อนด้วยน้ำ บรรจุกระสุนด้วยสายกระสุนผ้าใบ 250 นัด กองทัพบกสั่งเข้ามาใช้ในราชการเมื่อปีพ.ศ. 2477 ได้ใช้ในช่วงสงครามอินโดจีนพอดี และเป็นพระเอกในสมรภูมิบ้านพร้าว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 21:32

หมดของฝ่ายไทย

ผมจะหยุดเผื่อจะมีใครซักถาม ก่อนจะไปทางฝั่งฝรั่งเศสต่อครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 00:20

จำชื่อคนเขียนได้ไหมครับ
พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์หรือเปล่า ผมกำลังหาหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน จำได้แน่ๆว่าท่านดังมาจากเจ้ามาร์ตินนี้แหละ

ไม่ใช่เสธ.ทวีครับ  จำชื่อไม่ได้ เพราะหลายปีแล้ว แต่คนเขียนเป็นแค่พลปืนหลังครับ เป็นชั้นประทวนเท่านั้น และถ้าจำไม่ผิด ร.ร. พลปืนหลังจะมีเปิดเรียนแค่รุ่นเดียวด้วยครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 06:25

อืมม์ ครับๆ นึกออกแล้ว

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 06:58

เห็นมีคำว่า(สมรภูมิ)บ้านพร้าวอยู่ในเรื่องด้วย เลยเอามาลงไว้เป็นเครื่องเคียงของแถม
.
.
.


ป้าเล็ก:
ความทรงจำบางเรื่องเกี่ยวกับ " ล้อต๊อก " ศิลปินแห่งชาติ
โดย พล.อ.ท. ศรีศักดิ์ สุจริตธรรม

   เมื่อครั้งสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสอุบัติขึ้นระหว่างวันที่ ๖ - ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
รวมเวลา ๒๒ วันนั้น ผู้เขียนเพิ่งเรียนจบหลักสูตรจากโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศมาใหม่ๆ
และได้ถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวดบินที่ ๓ ฝูงบินตรวจการณ์ที่ ๖๖ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมี เรืออากาศเอก
ละเอิบ ปิ่นสุวรรณ ( พลอากาศตรี ) เป็นผู้บังคับฝูง และมีนาวาอากาศตรีหาญ กฤษณะสมิต เป็นผู้บังคับ
กองบินน้อยที่ ๕

   ในคราวนั้นฝูงบินของเราได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นกับกองบินผสมภาคบูรพามีที่ตั้งอยู่ ณ สนามบินดงพระราม
จังหวัดปราจีนบุรี ในความบังคับบัญชาของนาวาอากาศโท หลวงเชิดวุฒากาส ( พลอากาศโท ) กองบินผสม
ภาคบูพานี้มีหน้าที่ป้องกันทางอากาศด้านตะวันออกของประเทศ และสนับสนุนการเข้าตีของกำลังกองทัพ
บูรพา ซึ่งมี พันเอก หลวงพรหมโยธี ( พลเอก ) เป็นแม่ทัพด้านบูรพา มีหน้าที่เข้าตีและยึดดินแดนคืนทางด้าน
ตะวันออกของประเทศ โดยรุกไล่เข้าตีกำลังทหารของฝรั่งเศสในอินโดจีน ซึ่งประกอบด้วยทหารแขกมอรอคโค
ไนจีเรีย และทหารพื้นเมืองชาวกัมพูชาและเวียดนาม บังคับบัญชาโดยนายทหารฝรั่งเศสทั้งสิ้น รวมทั้งกำลัง
ทางอากาศมีเครื่องบินขับไล่แบบโมรานประมาณ ๙ เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบปอร์เต้ เครื่องบินขนส่ง
และเครื่องบินตรวจการณ์อีกจำนวนหนึ่ง

  กำลังทางทหารของฝรั่งเศสในอินโดจีนครั้งนั้นมีจำนวนจำกัด ขาดทั้งกำลังทางอาวุธยุทโธปกรณ์ และขาด
ทั้งการส่งกำลังบำรุงที่จำเป็น รวมทั้งกำลังหนุนจากประเทศแม่ เหตุเพราะพ่ายแพ้แก่กองทัพอันเกรียงไกรของ
เยอรมันในยุโรป จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบให้กับกองกำลังทหารไทย และต้องยอมคืนดินแดนบางส่วนให้กับ
ฝ่ายไทย ในที่สุดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสก็สิ้นสุดลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย

   ในตอนนั้น กำลังทหารของกองบัญชาการภาคทักษิณของญี่ปุ่นได้เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ เข้าสู่เกาะไหหลำ
และซาเหมาของจีน เมืองฮานอย ไฮฟอง และไซง่อนของอินโดจีนตามลำดับ รวบรวมกำลังเพื่อประสงค์
จะเข้ายึดประเทศไทยและประเทศมลายูของอังกฤษในวันเวลาเดียวกัน คือวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ อันเป็น
วันเริ่มต้นของสงครามมหาเอเซียบูรพา

   ๖ มกราคม ๒๔๘๔ ฝูงบินของเราได้เข้าที่ตั้งที่สนามบินดงพระรามเป็นที่เรียบร้อย หน้าที่ของผู้เขียนคือ
ทำหน้าที่นักบินลาดตระเวนตรวจการณ์ในพื้นที่ของข้าศึกในจังหวัดพระตะบอง ศรีโสภณ มงคลบุรี
ตั้งแต่อรัญประเทศ ลึกเข้าไปในประเทศกัมพูชา บินคุ้มครองขบวนลำเลียงทั้งทางรถไฟรถยนต์ของกำลัง
ภาคพื้นดินสู่แนวหน้า ที่หมายหลักคือสถานีรถไฟอรัญประเทศ ฝึกทบทวนนายทหารนักบิน และทหาร
ภาคพื้นดินที่ถูกระดมเข้าประจำการในระหว่างกรณีพิพาทครั้งนี้อีกด้วย

  ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเป็นนักบินเพิ่งจบมาใหม่ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ดีพอ แต่เมื่อมารับภาระรับผิดชอบในการฝึก
ทบทวนนักบินที่ถูกระดมเข้าประจำการใหม่ ๕ - ๖ คนก็ไม่เป็นปัญหาหนักอกนัก เพราะเขาเหล่านั้นเป็นนักบิน
มานาน มีฝีมือ ความชำนิชำนาญในทางการบินและมีชั่วโมงบินสูงกว่าผู้เขียนมากมาย เพียงแต่ใช้เวลา
แนะนำทบทวนให้คุ้นเคย โดยนำขึ้นฝึกบิน ๒ - ๓ เที่ยวก็เป็นอันใช้ได้ เช่นเดีนวกับทหารภาคพื้นดินที่ถูกระดมเข้ามา
ซึ่งพวกเขาเพิ่งจะปลดประจำการได้เพียงปีสองปี ใช้เวลาฝึกทบทวนแนะนำให้ใช้อาวุธในการรบเพียงอาทิตย์เดียว
ก็ใช้ทำการรบได้แล้ว

  ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักกับ พลทหารสวง ทรัพย์สำรวย ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศิลปินแห่งชาติ และดารา
ตลกชื่อดังแห่งฟ้าเมืองไทยในนาม " เสี่ยล้อต๊อก " พลฯ สวงถูกระดมเข้ามาในสังกัดกำลังภาคพื้นดินกองบิน
ผสมภาคบูรพา เขาเคยเป็นทหารกองประจำการ สังกัดกองบินน้อยที่ ๒ ดอนเมืองและปลดประจำการเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๓ ตอนนั้นเขาอายุแก่กว่าผู้เขียน ๒ - ๓ ปี

   สำหรับพลฯ สวง ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า " ล้อต๊อก " ถูกบรรจุครั้งแรกให้ประจำหมู่ปืนกลหนัก ป้องกันสนามบิน
ตั้งอยู่ท้ายสนามบินติดกับหมวดกสิกรรม ของกองร้อยสัมภาระของมณฑลทหารบกปราจีนบุรี ที่นี่มีการเลี้ยงหมู - ไก่
และทำสวนครัวด้วย

  คืนหนึ่งดึกมากแล้ว ราวตี ๓ เห็นจะได้ มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดถึงจังหวัดปราจีนบุรี เข้าใจว่า
เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดปอร์เต้เพียงลำเดียว ได้ทิ้งลูกระเบิดลงในบริเวณค่ายทหารดงพระรามอย่างสะเปะสะปะ
ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก ได้รับการต่อต้านขัดขวางจากหมู่ปืนกลหนักพอประมาณ แต่ก็ไม่ได้ถูกยิง
เสียหายแต่อย่างใด เพราะบินอยู่ในระยะสูงมาก การทิ้งระเบิดกลางคืนครั้งนี้เป็นครั้งแรก และได้มีผลทาง
ทำลายขวัญและกำลังใจพอสมควร เครื่องบินข้าศึกกลับไปเมื่อเกือบค่อนรุ่ง

  ตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น ล้อต๊อกมาหาผู้เขียนสะกิดให้ไปกินลาบหมูที่ตายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก
ในคืนที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ล้อต๊อกได้ผูกไมตรีทำความรู้จักกับผู้เขียน ซึ่งตอบรับเชิญไปในงานเลี้ยง
อย่างกันเองทันที ตามความรู้สึกของผู้เขียนเห็นว่าการที่ล้อต๊อกมาเชิญผู้เขียนซึ่งเป็นนายทหารและเป็น
ผู้บังคับบัญชาไปกินเลี้ยงอาจจะเป็นเพราะอยากจะคุ้นเคยและอาจจะให้ผู้เขียนจ่ายค่าเหล้าบุหรี่ก็เป็นได้
เพราะฝ่ายเลี้ยงมีลาบและต้มยำหมูเป็นอาหารและกับแกล้มอันโอชะอยู่แล้ว งานเลี้ยงวันนั้นจบลงไม่ดึกนัก
แต่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักล้อต๊อกดีขึ้นพอสมควร เพราะว่าต่อๆ มาไม่ว่าจะมีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาโจมตี
ทิ้งระเบิดหรือไม่ก็ตาม ล้อต๊อกก็หาทางจำหน่ายหมูของแผนกกสิกรรมทหารบกเป็นลาบ ผัดเผ็ด และต้มแกง
ให้ผู้เขียนได้กินอยู่เนืองๆ

  ล้อต๊อกเป็นคนมีแววศิลปินและนักแสดง สามารถทำให้ผู้คนหัวเราะขบขันในคำพูด ท่าทาง การแสดงได้
ตลอดเวลา จนถึงกับบางครั้งสามารถเล่นลิเกแสดงคนเดียว ทั้งร้อง ทั้งรำ และทำเสียงดนตรีได้ทุกรูปแบบ
ใช่แต่เท่านั้น ล้อต๊อกยังสามารถเล่นกีฬาได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล ตะกร้อ และมวย และเล่นได้
ดีเสียด้วย ผู้เขียนมาทราบภายหลังว่า ก่อนเป็นทหาร ล้อต๊อกเคยขึ้นชกมวยบนสังเวียน โดยใช้ชื่อว่า " สวง สรงโซดา "
และได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่ง

  ต่อมา ล้อต๊อกได้ย้ายเข้ามาอยู่เป็นทหารเดินหนังสือในกองบังคับการกองบินผสมภาคบูรพา ซึ่งที่นี่เองที่ทุกครั้ง
เมื่อนักบินและผู้ทำการในอากาศที่กลับมาจากปฏิบัติภารกิจการรบประจำวัน จะต้องมารายงานผลการปฏิบัติ
การรบต่อผู้บังคับการหน่วยบินโดยละเอียดทุกขั้นตอน เช่นได้ไปโจมตีทิ้งระเบิดสนามบิน ที่ตั้งหน่วยทหาร
ขบวนลำเลียง และสะพาน ที่จุดนั้น เมืองนี้ ได้รับความเสียหาบ เกิดไฟลุกไหม้เป็นต้น การรายงานการรบทุกครั้ง
จะไม่พ้นสายตาของล้อต๊อกกับพวกทหารรับใช้เดินหนังสืออีก ๓ - ๔ คน ซึ่งจะคอยเงี่ยหูฟังอยู่อย่างตั้งใจ
พอตกตอนเย็นพวกเขาเหล่านี้ ( ยกเว้นผู้ถูกเวรยาม ) จะรีบแต่งตัวไปเที่ยวตลาดในเมือง จุดหลักก็คือแม่ค้าขาย
อ้อยขวั้นหน้าแฉล้ม ซึ่งสนใจในพวกเขา เพราะมีรายได้ดีใช้จ่ายเงินมือเติบ กระเป๋าหนัก มีการเหมาอ้อยขวั้น
เป็นตู้ๆ แล้วยังให้ข่าวการรบที่น่าตื่นเต้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง โดยพวกเขาเหล่านี้จะมาสนทนาและโม้
ให้พวกแม่ค้าอ้อยขวั้นและผู้มาร่วมฟังถึงผลการรบที่พวกนักบินได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อตอนเช้า
วันนั้นโดยละเอียด ตามที่ได้แอบได้ยินมา

  " อั๊วได้ไปโจมตีทิ้งระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำที่เมืองศรีโสภณ..." พลทหารฉุน พูดขึ้นในตอนหนึ่ง

  " เฮ้ย - ฉุน อั๊วสิถึงจะแน่..." ล้อต๊อกสอดขึ้นทันควัน " อั๊วเป็นปืนหลังของผู้ฝูงเฉลิมเกรียติ ( จอมพลอากาศ
เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ) อั๊วซัดกับฝูงโมรานไปหลายชุดจนแตกฝูงกระจุยกระจายที่บ้านพร้าว...."

  ( ความจริง เรืออากาศเอกเฉลิมเกียรติขึ้นบินกับเครื่องฮ็อว์ค ๒ ขาแข็งซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยว
มีนักบินคนเดียว ไม่มีพลปืนหลัง )

  หลังจากโม้ให้พวกแม่ค้าอ้อยขวั้นกับพวกฟังอย่างสนุก เมื่อถึงเวลา ๒ ทุ่ม วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ก็จะออกอากาศกระจายข่าวการรบประจำวันไปทั้วประเทศ ตรงกันกับที่พวกล้อต๊อกมาโม้เอาไว้ไม่มีผิดเพี้ยน
เล่นเอาพวกแม่ค้าผู้รับฟังเชื่ออย่างสนิทใจ ว่าพวกเขาเป็นนักบินที่ไปปฏิบัติการรบมาจริงๆ

  ยังไม่จบเพียงแค่นั้น บางครั้งผู้เขียนได้มีโอกาสตรวจของขวัญและจดหมาย ซึ่งบรรดาพ่อแม่ญาติพี่น้อง
หรือลูกเมียคนรักเขียนมาถึงคนเหล่านั้น ในทำนองหวังดีและห่วงใยว่า " ลูกรัก...พี่...น้อง...อย่าบินผาดโผน
ให้มากนัก จะเป็นอันตราย..." ทำให้นึกปลงอนิจจัง และรู้สึกขำขันอยู่ในใจความเป็นคนช่างคุยของล้อต๊อก
และพรรคพวกไม่ได้

   หลังจากสงครามกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศสสิ้นสุดลงแล้ว ล้อต๊อกได้เข้าสู่วงการบันเทิง โดยเข้าร่วม
สังกัดกองดุริยางค์และกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ซึ่งมี นาวาอากาศตรี ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร ( พลอากาศตรี )
เป็นหัวหน้า ท่านผู้นี้ต่อมาได้สร้างคณะละคร " ศิวารมย์ " อันมีชื่อเสียงและได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง " บ้านไร่นาเรา "
ที่มีเรืออกาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ( พลอากาศเอก ) เป็นพระเอก นอกจากนั้นยังได้สร้างดาวตลกชื่อดังอีกหลาย
คนเช่น ล้อต๊อก, จิ๋ว ดอกจิก , สมพงษ์ พงษ์มิตร , พูลสวัสดิ์ ธีมากร รวมทั้งได้สร้างพระเอกนักร้องและดาวร้าย
ขึ้นอีกหลายคน สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ , ทักษิณ แจ่มผล , และถวัลย์ วรวิบูลย์ เป็นต้น

   เมื่อผู้เขียนย้ายเข้ามาประจำอยู่ดอนเมือง ล้อต๊อกก็ยังไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ ที่บ้านพักนายทหารของผู้เขียน
ซึ่งอยู่คนเดียว ( โสดชั่วคราว ) บางครั้งก็มาพร้อมกันหลายๆ คน และพักค้างคืนก็มี โดยนอนกับพื้นข้างเตียง
ในห้องนอนของผู้เขียน เมื่อมาแล้วก็กินข้าวดื่มเหล้า และร้องรำทำเพลงแสดงตลกกันไปตามประสาคนโสด
ระหว่างสงคราม ( สงครามมหาเอเซียบูรพา ) สุรสิทธิ์เป็นนักเรียนจ่าอากาศหลังทักษิณรุ่นหนึ่ง ทั้งสองเคยเป็น
ลูกศิษย์ของผู้เขียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ ส่วนล้อต๊อกมาจากทหารกองประจำการ แต่มีอายุและอาวุโสกว่าทั้งสองคนนี้

   อยู่มาวันหนึ่ง ทั้ง ๓ คน คือ ล้อต๊อก ทักษิณ และสุรสิทธิ์มาเยี่ยมผู้เขียนเช่นเคย หลังจากกินเหล้ากันไปพักหนึ่ง
เข้าใจจะเป็นทักษิษและสุรสิทธิ์พูดอะไรเกินเลย ทำนองประมาทล้อต็อกว่าเป็นคนคร่ำครึไม่โดดเด่นทันสมัย
และไม่ได้รับความนิยม สู้พวกเขาไม่ได้ การพูดครั้งนั้นทำให้ล้อต๊อกโกรธมาก และชี้หน้าต่อว่า แถมสั่งสอน
ทักษิณและสุรสิทธิ์ทันที ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ดี ตราบเท่าทุกวันนี้

   " เฮ้ย ไอ้สิทธิ์ ไอ้สิน มึงอย่าทะนงตัวนัก มึงถือว่าเป็นพระเอกและดาวร้ายชื่อดัง อีกหน่อยพวกมึงอายุ ๔๐ - ๕๐
ขอถามว่า ยังจะมี " ม " ตัวไหนมาจ้างพวกมึงไปเป็นพระเอกและผู้ร้ายส่วนกูสิวะ จะเป็นดาวตลกได้ตลอดชีวิต...
มึงคอยดูกู ชั่วชีวิตนี้บั้นปลายของชีวิตกูจะต้องได้เป็นศิลปินแห่งชาติให้จงได้..."

   การปะทะคารมและคำพูดของล้อต๊อกในคืนวันนั้น ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร เพราะต่อจากนั้นมา สุรสิทธิ์
โด่งดังสุดขีด เป็นนักร้องมีชื่อ และพระเอกสุดยอด หนังดังในเวลานั้นคือเรื่อง " สุภาพบุรุษเสือไทย " ของคุณแท้
ประกาศวุฒิสาร นักสร้างและผู้อำนวยการมีชื่อ แล้วก็ค่อยๆ โรยราลงไปตามอายุ และเสียชีวิตไปในที่สุดเมื่ออายุ
เพิ่ง ๕๐ ปีต้นๆ ส่วนทักษิณดังในฐานะดาวร้ายคับจอที่ไม่มีตัวจับอยู่พักหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ลาโรงไปทำสวนทำไร่
อยู่จังหวัดลำปาง และถูกยิงเสียชีวิตในฐานะดาวร้ายจริงๆ เมื่อายุเกือบ ๖๐ ปี ส่วนล้อต๊อกก็ยังคงเป็นดาวตลก
ชื่อดังต่อมา อายุยิ่งมากก็ยิ่งได้รับความนิยมนับถือจากดารารุ่นน้องๆ ลูกๆ หลานๆ ในฐานะบรมครูอย่างทั่วหน้า
และประชาชนคนดูก็ให้ความนิยมชมชอบไม่น้อยหน้ากัน ในฐานะดาวตลกบรมครูแห่งฟ้าเมืองไทย

  ล้อต๊อกได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง เมื่ออายุ ๗๐ ปีเศษ สมกับที่เคยลั่นวาจาไว้
ต่อหน้าผู้เขียนคราวปะทะคารมกับทักษิณแจ่มผล และสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีเศษมาแล้ว
ล้อต๊อกเพิ่งถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๐ ปีเศษ

   นี่คือส่วนหนึ่งของความทรงจำของผู้เขียนเกี่ยวกับ " ล้อต๊อก " จ่าอากาศตรี สวง ทรัพย์สำรวย ศิลปินแห่งชาติ
และดาวตลกเอกแห่งฟ้าเมืองไทย

 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:13

ระหว่างที่ผมทำการบ้านให้คุณศิวาวุธเอาภาพที่ถุกต้องไปเขียนการ์ตูน ท่องเน็ทหาข้อมูลไปทั้งเวปของไทยและของฝรั่ง ที่ล่าช้าเพราะเกิดความงุนงงสงสัยตลอดไม่อาจสรุปได้ เวปฝรั่งบางเวปก็เขียนละเอียดว่าไทยซื้อปืนของบริษัทไหนไป รุ่นอะไร เมื่อไหร่ แต่หาข้อมูลฝ่ายไทยไม่ได้

วันนี้ผมไปธุระที่ตลาดไม้แถวบางโพ เลยตั้งใจเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธทหารที่ริมคลองบางซื่อ เผื่อจะได้อะไรดีๆมาฝากขาประจำของกระทู้นี้
สรุปว่า ไทยซื้อปืนต่างๆมาเยอะ แต่จำนวนไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่มีระห้สภาษาไทย นอกจากที่นำมาประจำการเป็นอาวุธหลักเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:20

ป้ายเขาอ่านว่า พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธ ยินดีต้อนรับ

ผมโทรศัพท์ตามเบอร์ที่ให้ไว้ในเวปแต่โทรกี่ครั้งๆก็ไม่มีคนรับ แต่พอเข้าไปทุกคนก็ต้อนรับดีครับ เอากุญแจไปเปิดประตูอาคารให้ผมเข้าไปดู แม้จะไปคนเดียวก็ตาม

ในห้องโถงที่ก้าวเข้าไปนั้น มีปืนแต่ละแบบทั้งปืนเล็กปืนใหญ่ เยอะมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕มาเลยทีเดียว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:24

นี่เป็นปืนกลเบา แบบ ปกบ.66  หรือปืนเมดเสน ผู้ผลิตเดียวกันแต่คนละรุ่น นี่จึงทำให้รูปในเวปไม่เหมือนกัน เล่นเอาผมงงไปหมด ความจริงกองทัพบกมีใช้ทั้งคู่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:28

ปกน.แบบ77  เป็นปืนกลหนักสร้างโดยบริษัท Vickers Armstrong ประเทศอังกฤษ

สังเกตุที่มือจับนะครับ รุ่นนี้มือจับคู่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:33

เยอะไปหมด ขาตั้งไม่เหมือนกันสักอัน นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมดูรูปในเวปแล้วงง ไปดูของจริงยิ่งงงหนัก หลายกระบอกไม่มีป้ายบอกข้อมูลอะไรเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:35

ปกน. แบบ66 หรือปืนกล Browning M1917




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:45

พอถ่ายถึงตรงนี้ มีนายทหารหญิงเดินมาบอกยิ้มๆว่า เขาห้ามถ่ายรูปค่ะ

ผมก็ร้องว่าอ้าว แล้วจะจำได้อย่างไรเล่าครับ

แต่ผมก็เป็นคนว่าง่าย ไม่ให้ถ่ายก็เลิกถ่าย ที่ถ่ายไปเธอไม่ติดใจก็ดีถมไปแล้ว ผมเดินดูครบรอบเธอก็บอกให้ไปดูปืนเล็กชั้นบน ผมก็ขึ้นไปดู ไม่มีใครเฝ้าก็จริงแต่ก็ขอถ่ายมาให้ท่านเห็นบรรยากาศเพียงรูปเดียว

คนรักของประเภทนี้คงดูได้ทั้งวัน แต่ผมดูไปหน่อยเดียวก็ชักจะตาลาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:47

ก่อนออกมา จ่าที่เฝ้าอยู่เอาแผ่นพับมาให้ ผมก็รับมาเป็นของฝากท่านทั้งหลายอีกนั่นแหละ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:48

หน้าใน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 22:50

หน้าหลัง


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง