เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 123748 ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 18:22

ชนะข้าศึกอย่างเด็ดขาดแล้ว ขนาดนั้นขุนนิมฯท่านยังจะโดนเล่นงานเอาอีกหรือครับนี่

คนไทยนี่ เรื่องอิจฉาริษยา  ปัดแข้งปัดขากันนี่ เป็นมาแต่โบราณจริงๆ แม้วันนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นเลย
ก็ทำได้แต่บ่นๆ ไป
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 22:30

ในการรบไม่ว่าแบบไหน ชัยชนะคือเป้าหมาย    ส่วนแผนย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ตามสถานการณ์ที่อาจฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อใดก็ได้    
ถ้าหากว่าพลเอกพร ทำตามคำสั่งเปี๊ยบ  แล้วเกิดแพ้ฝ่ายฝรั่งเศสขึ้นมา พลอยให้ที่มั่นอื่นๆล้มเป็นโดมิโนกันหมด   อะไรจะเสียหายกว่ากัน
เมื่อชนะแล้วถูกเล่นงานด้วยข้อหาเล็กว่าฝ่าฝืนคำสั่ง ก็น่าเห็นใจท่าน   ก็ยังดีที่คุณหลวงไกรฯ ไม่เอออกห่อหมกสั่งลงโทษทหารที่รบชนะมาหยกๆ

สงครามอินโดจีนนับเป็นสงครามขยายดินแดนครั้งแรกของไทยในรอบ...เท่าไรล่ะ...100 ปีได้ไหมคะ     ไม่รู้ว่าจำผิดหรือเปล่าว่าเรารบขยายดินแดนกันในสมัยรัชกาลที่ 3  ด้วยฝีมือแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา    ในรัชกาลที่ 4  และ 5  ไม่มี   แถมในรัชกาลที่ 5  สยามตกเป็นฝ่ายถูกรุกรานจนต้องเฉือนดินแดนให้เขาไป  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 02 ก.พ. 12, 22:31

เพิ่งมีสมัยรัฐบาลจอมพลป. ที่ไทยเริ่มนโยบายรุกกลับไปบ้าง     เพราะฝรั่งเศสกำลังซวนเซจากสงคราม    ถือว่านโยบายการทหารของเราฮึกเหิมเอาการในสมัยนั้น    ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายล้วนๆของจอมพลป. ผู้ศึกษาวิชาการทหารมาก่อน หรือว่าเป็นชั้นเชิงด้านการต่างประเทศของคุณหลวงวิจิตรวาทการ  ที่คิดว่าจังหวะนี้ดีที่สุดแล้วที่จะเอาคืนจากเจ้าอาณานิคมที่เคยทำกับเรา 
ในเมื่อไม่แน่ใจ  ก็เลยขอยกความดีให้ท่านทั้งสองอย่างละครึ่ง เท่าๆกัน  ก็แล้วกัน

อีกเรื่องหนึ่ง   อ่านพบจากปวศ.ที่ฝรั่งบันทึกไว้ ว่าก่อนหน้านี้จอมพลป. ผูกมิตรกับญี่ปุ่นเพราะเล็งเห็นว่าเป็นมหาอำนาจในเอเชีย   ถึงขั้นส่งทูตไปญี่ปุ่นเพื่อขอความร่วมมือหากว่าไทยจะทำศึกกับฝรั่งเศส      แต่ผลการเจรจาไม่ค่อยจะดีเท่าไร   เพราะเมื่อยื่นข้อเสนอไปแบบนี้ก็ต้องหมูไปไก่มา   มีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้าง  ไม่มีทางให้กันฟรีๆ    เมื่อญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอขอเข้ามาใช้เส้นทางบกและเมืองท่าของไทยเป็นทางผ่าน เพื่อเปิดศึกกับทัพอังกฤษในมาเลย์เซีย    ไทยไม่ยอม  ญี่ปุ่นก็เลยรั้งรอไว้ไม่โดดเข้ามาถือหางไทยเต็มตัว
บันทึกการเข้า
N.S.
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 11:36

นักเรียนใหม่ ตัวเล็กๆคนนึงมาแอบเกาะประตูห้องเรียนแต่เช้าแล้วค่ะ อาจารย์..  อายจัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 21:35


ยินดีต้อนรับคุณN.S.ครับ
เข้ามานั่งข้างในแล้วร่วมอภิปรายได้เลยครับ
อย่าเกาะประตูนาน เดี๋ยวประตูของเขาจะพังไป

ขออนุญาตท่านอาจารย์ใหญ่

อ้างถึง
ในการรบไม่ว่าแบบไหน ชัยชนะคือเป้าหมาย ส่วนแผนย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ตามสถานการณ์ที่อาจฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
ถ้าหากว่าพลเอกพร ทำตามคำสั่งเปี๊ยบ แล้วเกิดแพ้ฝ่ายฝรั่งเศสขึ้นมา พลอยให้ที่มั่นอื่นๆล้มเป็นโดมิโนกันหมด อะไรจะเสียหายกว่ากัน

พลเอกพร ตอนนั้นท่านเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ยศต่ำสุดในระดับสัญญาบัตรคือว่าที่ร้อยตรี อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านขุนนิมฯ ท่านก็ทำตามคำสั่งท่านขุนนิมเปี๊ยบ หาที่บกพร่องมิได้ การแพ้หรือชนะ เป็นความรับผิด-รับชอบของผู้บังคับบัญชา ท่านเป็นเพียงหางแถว  จะถูก จะผิดก็แค่เลขท้ายสองตัว

ทหารนั้นถือวินัยอย่างเคร่งครัด คำสั่งผู้บังคับบัญชานั้น ไม่มีสิทธิ์วิจัยวิจารณ์ว่าผิดหรือถูก ควรหรือมิควร ต้องปฏิบัติตามสถานเดียวจะหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะในระหว่างศึกสงคราม ผู้ใดละเมิด กฏอัยการศึกระบุโทษสูงสุดไว้ถึงประหารชีวิต

เรื่องคำสั่งต้องเป็นคำสั่งนี้  ทหารมักยกเรื่องในพงศาวดารนี้เป็นอุทาหรณ์

“…..มีพระราชโองการตรัสปรึกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดอ่านล่อลวงเป็นหลายครั้ง ยังมิหนำซ้ำกลับแข็งเมืองต่อรบอีกเล่า แลจะละพระยาแสนหลวงไว้นั้นมิได้ จำจะยกพยุหโยธาทหารไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ จะเห็นเป็นประการใด

ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำรินั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสให้จัดกองทัพพลฉกรรจ์สี่หมื่น ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ปืนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิวให้พร้อมไว้

แลดำรัสให้หานายปานผู้น้องเจ้าพระยาโกษาธิบดีอันถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งรับอาสาออกไปได้ราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสนั้น เข้ามาเฝ้าแล้วก็มีพรราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้นายปานเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แลทรงพระกรุณาดำรัสว่า

“ ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น ชำนิชำนาญในการอันเป็นแม่ทัพ แลบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชาย ไปตีเมืองเชียงใหม่ยังจะได้หรือมิได้ “

เจ้าพระยาโกษาปานจึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอลองศึกดูก่อน แลจะขอรับพระราชทานพระราชอาญาสิทธิ์เหมือนพระโองการนั้น ถ้าแลเห็นจะทำสงครามได้แล้ว ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าถวายให้จงได้ “

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ชอบพระทัยในถ้อยคำเจ้าพระยาโกษากราบทูลนั้น ทรงพระโสมนัสดำรัสสรรเสริญสติปัญญาเป็นอันมาก แลทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงดาบต้นอันทรงอยู่นั้น ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์

แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น แล้วดำรัสอนุญาตว่า ท่านจงไปลองศึกดูตามความปรารถนาเถิด

เจ้าพระยาโกษาจึ่งรับพระราชทานพระแสงดาบแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาออกมายังศาลาลูกขุนใน จึ่งสั่งมหาดไทยกลาโหม ให้แจกพระราชกำหนดข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งหลาย ฝ่ายทหาร พลเรือน กะเกณฑ์พลสามพัน ให้ยกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พะเนียดโดยกว้างสามเส้น โดยยาวสามเส้นสิบวา

แลให้ตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายเอาปลายปักลงให้สิ้น ขุดมูลดินเป็นสนามเพลาะ ปักขวากหนามตามธรรมเนียมพร้อมเสร็จ ให้สำเร็จแต่วันพรุ่งรุ่งแล้วสามนาฬิกา ถ้าแลเราไปเลียบค่าย หน้าที่ผู้ใดไม่สำเร็จในเพลานั้น ก็จะลงโทษแก่ผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต

เจ้าพระยาจักรี กลาโหม แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลาย ได้แจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ต่างคนต่างเร่งกะเกณฑ์กันทุกหมู่ทุกกรมในวันนั้น ได้พลมาสามพันแล้วก็ให้ไปตัดไม้ไผ่อันจะมาทำเป็นเสาค่ายนั้นคนละสองท่อน แล้วก็ยกขึ้นไปยังที่ใกล้พะเนียด แบ่งปันหน้าที่กันตั้งค่ายแต่ในเพลากลางคืน

วันนั้นทุกหมู่ทุกกรม แลปักเสาเอาปลายลงดินเอาต้นขึ้นสิ้น ชิดกันเป็นถ่องแถวแต่เบื้องบน เบื้องล่างนั้นห่างกันไปเป็นอันมาก แลกระทำการทั้งปวง พอรุ่งก็สำเร็จ

ในขณะนั้นขุนหมื่นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง เห็นเชิงค่ายทั้งหลายห่างกันนักจึ่งปักกลับเอาต้นลงดิน แทรกเข้าเสาหนึ่งในระหว่างอันห่างนั้น แล้วว่าแต่ก่อนเขาทำมาดังนี้ แลซึ่งเอาปลายปัก ลงดินนี้ มิเคยเห็นทำมาแต่ก่อน

จึ่งเจ้าพระยาโกษาก็สั่งแก่เจ้าพนักงานทั้งหลาย ให้ตระเตรียมราชพาหนะแลเครื่องขัตติยราชาบริโภคทั้งปวง ไว้รับโดยทางชลมารค สถลมารค พร้อมเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าแล้วเพลาสามนาฬิกา เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น

ครั้นได้ศุภฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ ดุริยางคดนตรีสนั่นกาหลกึกก้องกลองชนะ โครมครื้นเพียงพื้นนทีธารจะทำลาย ให้ขยายพยุหยาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามขบวน แห่แหนแน่นไปโดยชลมารค ตราบเท่าถึงที่ประทับตำบลเพนียด

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง สถิตยังพลับพลาอันเป็นที่ราชาอาสน์เดียรดาษด้วยท้าวพระยาทั้งปวง แวดล้อมโดยซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วก็ขึ้นขี่ช้างพระที่นั่ง บรมราชคชาธารสารตัวประเสริฐ เพริดพร้อมด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงชัย ดูไสวไพโรจน์ด้วยท้าวพระยาเสนาบดี พริยโยธาหารแห่เป็นขนัด โดยขบวนบรมราชพยุหยาตราสถลมารค เลียบค่ายไป

จึ่งเห็นไม้เสาลำหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามาแล้วจึ่งถามว่า ท่านกระทำดั่งนี้จริงหรือ

เจ้าหน้าที่กราบเรียนว่าจริง เจ้าพระยาโกษาจึ่งว่า

“ ตัวท่านละเมิดมิได้ทำตามพระราชโองการแห่งเรา โทษท่านถึงตาย “

แล้วก็ให้ประหารชีวิตเสีย แลให้ตัดเอาศรีษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น แล้วก็คืนลงสู่เรือพระที่นั่งกลับเข้ามายังพระราชวัง

เจ้าพระยาโกษาทำครั้งนั้นเพื่อให้คนทั้งหลายเข็ดขาม คร้ามอำนาจอาญาสิทธิ์ขาด ในราชการงานสงครามครั้งนั้น

ครั้นมาถึงพระราชวังก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถวายพระราชโองการอาญาสิทธิ์ และพระแสงดาบคืนเสีย แล้วก็กราบทูลแถลงการทั้งปวงซึ่งไปลองศึกนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ

แล้วบังคมทูลพระกรุณาขออาสาไปตีเอาเมืองเชียงใหม่มาทูลถวาย

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงโสมนัสดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพหลวง แลให้พระยาวิชิตภักดีเป็นยกกระบัตร พระยาสุรินทรภักดีเป็นเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปแนกองหน้า พระยาสุรสงครามเป็นกองหลัง ถือพลช้างม้าพลานิกรเดินเท้าทั้งหลาย ยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่…….”



เรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาของท่านขุนนิมฯนั้น  หากถามทหารคนใดว่าผิดวินัยไหม  ร้อยทั้งร้อย ไม่เฉพาะพลเอกพรก็ต้องบอกว่าผิด  จะว่าว่าถูกไปไม่ได้  ขุนนิมฯเองท่านก็ยอมรับ

แต่ถามว่าท่านทำถูกไหม ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่าทำถูก เสธฯพรท่านก็บอกว่าขืนอยู่ที่เดิมละก็ตายแน่ๆ

ผมเห็นว่า ขุนนิมฯท่านมีความเสียสละอย่างใหญ่หลวง การตัดสินใจของท่าน ถ้าพลาด หากไม่ตายเพราะลูกปืนของข้าศึกก็อาจตายด้วยลูกปืนที่พระธรรมนูญทหารจัดให้
หากชนะหรือเสมอ ความผิดของท่าน ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้บังคับบัญชา


บังเอิญโชคเข้าข้าง ชัยชนะของท่านใหญ่หลวงเสียจนความผิดทางวินัยกลายป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 22:21

    หลักการทหารที่ท่านนวรัตนยกมา  ทำให้ทหารไทยตกอยู่ในชะตาค่อนข้างหนัก    อย่างสงครามคราวนี้ ถึงชนะก็ผิดวินัย หวุดหวิดจะเอาตัวไม่รอด     ไม่ต้องพูดว่าถ้าแพ้ฝรั่ง   หรือเสมอตัว เช่นฝรั่งเศสถอยไปทัน    ท่านขุนและว่าที่ร้อยตรีพรจะไปจบอนาคตลงตรงไหน
    ส่วนทหารฝรั่งเศส ดูๆแล้วน่าจะโชคดีกว่าของเรา     ขนาดแพ้ยังได้เหรียญกล้าหาญ    มีคำประกาศเกียรติคุณเสียด้วย
    หรือฝรั่งเศสถือว่า ทหารเขาถึงแพ้ก็ไม่ได้ทำผิดวินัย?


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 22:34

     ระหว่างรออภิปรายจากนักเรียนหลังชั้นบ้าง ข้างประตูบ้าง  ยิ้มเท่ห์  ดิฉันขอคั่นเวลาด้วยนโยบายขยายดินแดนของรัฐบาลสมัยนั้น  ว่านอกจากรบเชิงรุก  รัฐบาลจอมพลป. ยังวางนโยบายที่ทันสมัยล้ำหน้ากว่านโยบายประชาคมอาเซียนในสมัยนี้   ด้วยการจูงใจให้ประชาชนในอินโดจีนฝรั่งเศสอพยพเสรีเข้ามาในประเทศไทย  คือไม่ต้องมีพาสปอร์ตวีซ่า  อยากมาก็มาอาศัยในเมืองไทยได้เลย

     นโยบายเรื่องนี้ทำกันเต็มรูปแบบทางราชการ ไม่ใช่แค่ออกปากโฆษณาประชาสัมพันธ์  เห็นได้จากในปี 2483 กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวง เรื่องยกเว้นค่าธรรมเนียมและการปฏิบัติตามระเบียบการเข้าเมืองแก่ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในสิบสองจุไท หัวพัน หลวงพระบาง เวียงจัน สะหวันนะเขต จำปาสัก และกัมพูชา   และให้ช่วยเหลือแก่ผู้อพยพ  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 22:34

           ตามมาด้วยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 44/2483 ว่า 
              ดินแดนอันได้ชื่อว่าแคว้นสิบสองจุไทย หัวพันทั้งห้าทั้งหก แคว้นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ท่าแขก สุวรรณเขตต์ จำปาศักดิ์ และกัมพูชา เป็นราชอาณาจักรของไทยมาแต่เดิม โดยได้รวมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศไทย และอยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยมาช้านานนับร้อยๆ ปี.....มีเลือดเนื้อเป็นชนชาติไทยและมีจิตใจรักอิสรเสรีอย่างพี่น้องของเขาในประเทศไทย.....กระทรวงมหาดไทยจึงถือว่า.....เป็นบุคคลเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทยโดยบริบูรณ์

         ส่วนทางประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ก็ทำกันเข้มแข็ง   ด้วยการเปิดวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาเขมรและเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน 2483 ออกอากาศเชิญชวนประชาชนในอินโดจีนฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นชาวลาว เขมร และเวียดนามให้อพยพเข้ามาในประเทศไทย ไม่เช่นนั้น  ก็ให้ต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน
         รัฐบาลยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันช่วยเหลือ “พี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและกรุงกัมพูชา”โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้ว  ให้ต้อนรับคนเหล่านั้นเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินด้วยดี  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 22:50

ขอแทรกนิดเดียวครับ

เรื่องที่ฝรั่งเศสให้เหรียญกล้าหาญแก่กองทหารของตนที่พ่ายแพ้นั้น ผมมองหลายแง่หลายมุม

ถ้าท่านยังจำกันได้ วันรุ่งขึ้นจากที่ทหารไทยได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่นั้นเอง เป็นวันที่๑๗ มกราคม เกิดยุทธนาวีขึ้นที่เกาะช้างซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างชัยชนะ ในตอนค่ำวิทยุไซ่ง่อนรายงานผลการรบ ระบุว่าได้ทำลายเรือรบเราไปหลายลำ ทหารเรือไทยตายนับร้อย แต่ลงท้ายทำนองว่า ขอสดุดีน้ำใจในการสู้รบของทหารไทย ที่ต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญในการรบครั้งนี้

ฟังสำเนียงแล้ว เหมือนเขาแดกดันพวกเดียวกันอย่างไรชอบกล ก็พี่แกไม่คิดจะสู้เลยเอาแต่จะหนีท่าเดียว

รัฐบาลไทยให้เหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานประจำเรือธนบุรีและผู้บังคับการเรือผู้วายชนม์  ฝรั่งเศสก็ต้องให้เหรียญกล้าหาญแก่กองพันที่๓กรมทหารต่างด้าวที่๕บ้าง เป็นเรื่องที่จะไม่ให้กองเชียรผิดหวัง

ทั้งหมดเป็นเรื่องจิตวิทยาทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 03 ก.พ. 12, 23:13

แห่ะๆ ท่านอาจารย์บอกให้นักเรียนหลังห้องบ้าง ข้างประตูบ้างช่วยอภิปราย  เพื่อไม่ให้เงียบเหงา ขอแสดงความเห็นบ้างนิดหน่อยครับ

ผมว่าที่ท่านขุนฯแกไม่ได้ไปยึดบ้านพร้าวตามคำสั่ง  แต่ไปซุ่มโจมตีแทนนั้น น่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธการศึกมากกว่าการจงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชานะครับ
เพราะแม้จะได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปยึดที่นี่ จุดนี้ แตในฐานะผู้ปฏิบัติการ ถ้าท่านเห็นว่าการไปตั้งมั่นทีอื่นปลอดภัยกว่า หรือมองเห็นสถานการณ์  ปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธตามความเหมาะสม แบบนี้ไม่น่าเป็นการขัดคำสั่งแต่อย่างใด
ถ้าผู้ปฏิบัติตาม หรือผู้นำหน่วย ไม่รู้จักพลิกแพลง ทำตามคำสั่งอย่างเดียวเป๊ะๆ แบบนั้นมีหวังละลายทั้งหน่วย

นายพลหรือผู้นำหน่วยเก่งๆ มักจะมีชื่อเสียงในเรื่องการมีวิสัยทัศน์  มองภาพรวมสถานการณ์จากข่าวสารที่จำกัดได้แม่น  ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสถานการณ์ มากกว่าพวกบื้อๆ ยึดตามตำราหรือคำสั่งเป๊ะๆ แต่ผู้นำหน่วยแบบหลังมักจะมีมากกว่า

ดังนั้น ถ้ามีใครไม่พอใจ หาว่าขัดคำสั่ง ผมมองว่าผู้นั้นออกจะยึดติดตัวหนังสือมากไป หรือน่าจะมาจากการอิจฉาริษยามากกว่า จึงหาช่องทางเล่นงานหรือตำหนิ เพราะแทนที่จะดูผลงาน กลับดูแต่กระบวนการทำงาน ว่ายึดตามคำสั่งหรือตำราหรือไม่
แต่จริงๆ แล้ว แม้ปัจจุบัน เราก็ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่แบบนี้ไม่น้อย(บ่นอีกแล้ว)

ส่วนเรื่องการมอบเหรียญกล้าหาญของทางฝรั่งเศส   น่าจะเป็นนโยบายเรียกขวัญกำลังใจและโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าครับ เพราะตอนนั้นสงครามยังไม่จบ โอกาสที่มวลชนของแต่ละฝ่ายจะรู้ข่าวสารที่เป็นจริงของฝ่ายตรงข้ามมีน้อย แถมข่าวสารที่ได้รับก็ไม่รู้จริงหรือไม่ ขวัญกำลังใจจึงสำคัญ
ดังนั้นแม้จะแพ้ยับเยิน  แต่ละฝ่ายย่อมไม่ยอมรับ  จึงต้องมีการมอบเหรียญตกรางวัลกันตามธรรมเนียม  จนสงครามหรือความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจบแล้ว นักประวัติศาสตร์ตัวจริงจึงจะพอหาข้อมูลจริงมาเปิดเผยกันได้
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 04 ก.พ. 12, 06:00


คือว่า มันมีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนแผนก่อนหน้า แล้วไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ก็ผ่าฝืนกระทำน่ะครับ  ตรงนี้แหละที่โดนตำหนิ   อย่างไรก็ตามการสื่อสารสมัยโน้นมันแย่มาก เรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆกว่าจะรู้อะไรเป็นอะไร คงใช้ต้องใช้เวลาบ้าง

พอดีวิกโน้น คุณเจียวต้ายกำลังฉายเรื่อง “เรื่องเล่าจากสงครามอินโดจีน” ซึ่งเขียนโดย พ.ท.ชาญ กิตติกูล อดีตนายทหารสื่อสารผ่านศึกในกองทัพบูรพา ประจำการอยู่ที่อรัญประเทศ  ตอนที่เขายิงกันน่าประหลาดที่อยู่แค่นั้น แต่เรื่องที่ท่านฟังเขามาเล่าแล้วนำมาเขียนต่อให้คนทั่วไปอ่าน  กลับกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไปเลย

ลองอ่านดูครับ

สาเหตุที่ทหารไทยจับเชลยได้นั้น เรื่องยาวสักนิด ขอได้โปรดทนอ่านต่อไป

การรบในตอนกลางช่วงเวลาที่เริ่มปะทะ จนกระทั่งพักรบ ทหารไทยรุกคืบหน้ายึดพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นจนมาถึงบริเวณที่พวกเราเรียกกัน ว่า “โพธิ์สามต้น” ( อยู่ในแดนเขมรครับ ไม่ใช่ฝั่งธนบุรี) ณ ที่นั้นทหารไทยมาพบค่ายกล ที่ฝ่าย เสธ.ของข้าศึกทำขึ้น ต้องหยุดชงักอยู่นานกว่าจะผ่านไปได้

ค่ายกลที่ว่านั้น ไม่ใช่ค่ายกลแบบพงศาวดารจีนหรอกครับ แต่เป็นค่ายกลแบบที่คนไทยเรียกว่าเพนียด แบบที่จังหวัดอยุธยาทำขึ้นในสมัยจอมพล ป.เป็นผู้นำ เพื่อแสดงการคล้องช้างแบบโบราณนั่นเอง ธรรมดาเพนียดเขาต้องทำทึบทั้งสี่ด้าน แต่ข้าศึกทำไว้เพียงด้านหน้ายาวประมาณ ๔ เส้น ด้านข้างติดถนนสายพระตะบอง – ปอยเปต ทำไว้ไม่เกินหนึ่งเส้น ทหารไทยก็รุกเข้าไปถึงเสียก่อน

ลักษณะของเพนียด ใช้เสาในป่านั่นแหละ แต่เป็นไม้เนื้อแข็ง โตขนาดสามกำยาวประมาร ๓-๔ เมตร ฝังดินเรียงกันเป็นนิ้วมือ เจาะช่องไว้กว้างไม่เกิน ๖ นิ้วไว้เป็นระยะ ๆ ช่องนี้ใช้สอดปากกระบอกปืนยิงทหารไทย โดยอาศัยเสาเป็นเกราะกำบังกระสุนของทหารไทย กว่าฝ่ายเราจะผ่านเพนียดไปได้ ต้องใช้กำลังโอบล้อมเข้าด้านข้างและด้านหลัง ต้องเสียเลือดเนื้อกันบ้างละ รบกันนี่นาจะไม่ให้ตายได้อย่างไร

บริเวณหน้าเพนียดข้าศึกถางป่าสาบเสือเสียเตียน ปล่อยไว้แต่ต้นไม้เล็ก ๆ เท่านั้น ณ สนามรบแห่งนี้ผมเข้าไปเที่ยวเมื่อหยุดยิง ยังพบศพทหารข้าศึกถูกฝังอยู่หลายศพ บางศพใครเอาเอาหัวกระโหลกมาเสียบไว้ก็ไม่รู้ กลิ่นศพยังมี ถึงกับต้องอุดจมูกเวลาเข้าใกล้ ภายในเพนียดพบร่องรอยการต่อสู้อย่างโชกโชน รอยเลือดยังแห้งกรังอยู่ตามพื้น

พอเพนียดถูกตีแตก ข้าศึกคงเจ็บขั้วหัวใจ จึงสั่งกองพันทหารเสือของเขามาจากไซ่ง่อน ทหารกองนี้เป็นทหารรับจ้างมีชนเกือบทุกชาติสังกัดเป็นทหาร กิตติศัพท์การรบของทหารกองนี้ดังเหมือนพลุแตก จนได้เหรียญกัวเดอร์แกส์แขวนธงประจำกอง แต่พอมาพบทหารไทยที่ข้าศึกเห็นเป็นช้างป่า ถึงกับลงทุนสร้างพะเนียดจะเอาไว้ต้อนก็ต้องแตกยับ ถูกจับได้ ถูกฆ่าร้อยกว่า ทั้งนี้เพราะการดูถูกทหารไทยนั่นเอง

จะว่าทหารไทยเก่งก็ไม่แน่ จะว่าไม่เก่งก็ไม่ถูก คนไทยมีเลือดประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่พูดกันว่า ลงเลือดเข้าตาละก็สู้ยับ อาศัยการข่าวหรือแนวที่ ๕เราดี ฝ่ายเราจึงรู้ถึงการเดินทางของทหารรับจ้าง และเตรียมถลุงไว้อย่างงดงาม และข้าศึกก็ถูกเป่าหูมาแล้วว่า ทหารไทยไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องกลัว นั่นเองความประมาทจึงเกิดขึ้น เดินลอยชายร้องเพลงมุ่งหน้าไปที่หนองน้ำ เพื่อจะอาบน้ำและพักค้างคืน หารู้ไม่ว่าเดินเข้าไปสู่คีม ซึ่งฝ่ายเราวางกำลังยิงไว้อย่างดียิ่ง โดยมีอาวุธปืนกลเป็นหลัก และเสริมปีกด้วยรถถัง

พอทหารรับจ้างส่วนหน้าเดินไปเจอปากกระบอกปืนเข้า ก็ผงะจะถอยหลัง บางคนออกทางข้างก็ไปจ๊ะเอ๋กับปากกระบอกปืนด้านหลังเช่นกัน ผลสุดท้ายทุกคนเฮโลจะย้อนกลับ แต่ไม่ทันการเพราะถูกรถถังเข้าปิดปากถุงเสียแล้ว การปะทะจึงเข้าขั้นตลุมบอน ระหว่างเหล็กกับเนื้อคน ผมเห็นจะไม่ต้องอธิบายละเอียดว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายยับเยิน ทหารรับจ้างจนตรอกถึงกับปีนขึ้นบนรถถัง พยายามหาทางจะเอาระเบิดหย่อนลงในตัวรถ แต่ถูกกระบอกปืนตีตก แล้วก็ถูกสายพานของรถเหยียบย่ำเหลวเละ ไอ้เรื่องไม่ตายคงไม่ต้องพูดถึง

สองฝ่ายต่างเสียเลือดเนื้อ ฝ่ายไทยคงไม่กี่คน แต่ฝ่ายตรงข้ามถึงกับต้องระดมคนงานไปขุดหลุมขนาดใหญ่ ทำการฝังอยู่จนค่ำจึงเสร็จ ขบวนรถบรรทุกเชลยวิ่งมาถึงหน้ากองทัพบูรพา มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของกองทัพเป็นผู้ถือธงประจำกองพันที่จับได้ ท่ามกลางการต้อนรับ จากท่านแม่ทัพและฝ่ายต่าง ๆ แล้วเอาเชลยไปขังไว้ที่โรงรถดังกล่าวมาแล้ว


ดูเถิดครับ ท่านว่าทหารต่างด้าวฝรั่งเศสโดนทหารท่านขุนนิมฯยิงตายยับเยิน ขณะกำลังเดินลอยชายไปหนองน้ำเพื่อจะอาบน้ำ นี่ทหารสื่อสารนะเนี่ย  คุณเจียวต้ายเอาเรื่องที่ท่านเขียนมาลงได้๘ตอนแล้ว สำหรับตอนที่ผมตัดมาลงนี้เป็นตอนที่๖ กล่าวถึงเรื่องเชลยศึก ขาประจำเรือนไทยลองเข้าไปอ่านดู พ.ท.ชาญ กิตติกูล ท่านเขียนตามที่ท่านรู้ ก็น่าจะเขียนหลังเหตุการณ์นานพอสมควร แปลกที่ยังรู้ความจริงเพียงแค่นี้ แต่ก็อ่านสนุกดีครับ

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K11640522/K11640522.html

เดี๋ยว(แปลว่าฉากต่อไปนะครับ ไม่ใช่อีก๑๐นาทีข้างหน้า) ผมจะเอาเรื่องเชลยศึกมาเล่าต่อ รัฐบาลไทยว่าไปคนละทางกับพ.ท.ชาญ กิตติกูลเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 04 ก.พ. 12, 09:18

อ่านแล้วก็น่าเห็นใจคนทำหนังประวัติศาสตร์  เพราะเวอร์ชั่นจากข้อมูลในอดีต ไม่ว่าเรื่องไหน มีหลายเวอร์ชั่น   แต่เวลาลงมือทำ ต้องเลือกทำเวอร์ชั่นเดียว  ก็ยากอยู่เหมือนกันว่าจะเอาเรื่องไหนแบบไหน
บางทีเรื่องที่มีข้อมูลเชื่อถือได้ ก็ค่อนข้างจืด    ที่สนุกสนานออกรสออกชาติ  ก็ไม่ค่อยจะแน่ใจว่าตรงตามข้อเท็จจริงหรือเปล่า   หนักกว่านี้ึคือบางครั้งข้อมูลออกมาชนกันดังสนั่น  ราวกับช้างประสานงา   ก็ยิ่งทำให้งงสนิทว่าอย่างไหนกันแน่
คนเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ตกที่นั่งเดียวกันกับคนทำหนังละค่ะ

เรื่องสงครามอินโดจีน  เกิดมาเจ็ดสิบกว่าปีนี้เอง    ไม่ถึงร้อย   คนที่ทันเห็นเหตุการณ์ก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน   ข้อมูลยังหลากหลาย    ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ย้อนหลังไปร้อยๆปี ว่าข้อมูลจะชนกัน  หรือต่างกันขนาดไหน

ปั่นเรตติ้งเสร็จแล้วก็ถอยไปนั่งอยู่หลังห้อง  ใกล้ๆท่านอื่น  รอชมฉากต่อไปค่ะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 04 ก.พ. 12, 16:14

ผมก็ติดตามทั้งกระทู้นี้ทั้งของคุณเจียวต้ายที่ Pantip ด้วย

ความเห็นส่วนตัว ผมว่าพวกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพวกเหตุการณ์สงคราม  เอกสารที่น่าจะตรงกับความเป็นจริงที่สุด น่าจะมาจากระดับผู้บังคับบัญชาเป็นคนเขียน เช่นพวกรายงานสรุปการยุทธ สรุปยุทธวิธี
หรือเป็นรายงานที่เขียนตอนหลังโดยนักประวัติศาสตร์จากการสอบถามเหตุการณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย หลายๆ ระดับ

ส่วนเรื่องเล่าที่มาจากบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์  มักจะให้รายละเอียด เห็นภาพ ตื่นเต้นอ่านสนุก แต่เพราะกรอบในการรับรู้ที่จำกัด และบทบาทเกี่ยวข้องที่จำกัดของแต่ละบุคคล จึงไม่อาจครอบคลุมภาพรวมสถานการณ์ทั้งหมด
ยกเว้นผู้เขียนจะไปสัมภาษณ์ หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจและถ่ายทอดภาพรวมทั้งหมดมาได้

ยิ่งถ้าผู้เล่าเป็นระดับพลทหาร หรือชั้นประทวนที่ต้องรับคำสั่ง มุมมองภาพรวมจะยิ่งจำกัดมาก เพราะคงแต่หน้าที่รับคำสั่ง ไม่ใช่ตัดสินใจ 
แถมตอนหลังเมื่อมาคุยๆ กัน ก็คุยกันแต่กับระดับปฏิบัติการเหมือนกัน เช่นไปถามเพื่อนนายสิบที่ทำการรบ ว่าเป็นไงบ้าง ก็จะได้แต่ภาพที่ระดับนายสิบด้วยกันเข้าใจ แต่ไม่ได้รับรู้เหตุผลในการตัดสินใจของหน่วยเหนือขึ้นไป
ดังนั้นความรับรู้ความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงครับ  ยิ่งถ้าผู้เล่า เอามาเขียนหรือเล่าจากความทรงจำหลังจากระยะเวลาผ่านไปนานๆ เหตุการณ์ที่จำได้ก็มักจะเป็นเหตุการเฉพาะหรือพิเศษ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ มากกว่า
และอาจหลงลืมเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ไป หรืออาจจะลำดับเวลาของเหตุการณ์ผิด  หรือนำสองเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกัน มารวมเป็นเหตุการณ์เดียวกัน

อย่างของ พ.ท. ชาญ ตอนสงครามท่านเป็นนายสิบ ท่านจะเล่าได้เฉพาะส่วนที่ท่านเกี่ยวข้อง ส่วนที่ระดับ ผบ. เค้าตัดสินใจกัน ท่านคงไม่ทราบมาก แถมบางเหตุการณ์ท่านก็ฟังมาจากเพื่อนทหารด้วยกัน ซึ่งคงไม่ใช่ระดับท่านขุนฯ ผบ. โอกาสที่ท่านจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็น่าจะมีสูงครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 04 ก.พ. 12, 17:26

       ย้อนความหลัง
       ไทยเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส 5 ครั้ง   
       ครั้งที่  1   ปี พ.ศ.  2410   เสียส่วนใหญ่ของประเทศเขมรและเกาะ 6 เกาะ  ประมาณเนื้อที่  124,000  ตารางกิโลเมตร
       ครั้งที่  2   ปี พ.ศ.  2431    เสียแคว้นสิบสองจุไทย     ประมาณเนื้อที่   87.000  ต.ร.ก.
       ครั้งที่  3   ปี พ.ศ.  2436   เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง      ประมาณเนื้อที่   243,000 ต.ร.ก.
       ครั้งที่  4   ปี พ.ศ.  2446   เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขง      ประมาณเนื้อทีื    62,500  ต.ร.ก.
       ครั้งที่  5   ปี พ.ศ.  2449   เสียจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ  เนื้อที่ประมาณ  51,000  ต.ร.ก.

       จากเว็บสารานุกรมไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 04 ก.พ. 12, 22:21

เรื่องเล่าต่อๆกันมาเนื่องในการรบระหว่างทหารไทยกับฝรั่งเศสนี้ ผมนึกขึ้นมาได้ ครั้งอยู่ชั้นมัธยมต้น คุณครูสอนประวัติศาสตร์ไทยเล่าในห้องเรียนว่า ครั้งหนึ่งทหารฝรั่งเศสจะเข้าโจมตีทหารไทย นายทหารประชุมกันบอกว่า คนไทยไปเรียนวิชาทหารมาจากฝรั่งเศสทั้งนั้น คงจะตั้งรับตามตำราอยู่หลังแนวป่า ใช้ป่าเป็นแนวกำบัง  ฉะนั้นปืนใหญ่ทุกกระบอกให้ระดมยิงไปหลังแนวป่า ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาทหารไทยท่านนั้นไม่เคยเรียนตำราฝรั่งเศส จึงพากองทหารมาซุ่มอยู่หน้าแนวป่าเพราะจะได้เห็นข้าศึกชัดดี ฝรั่งเศสระดมยิงปืนใหญ่ไปหลายตับ คิดว่าทหารไทยคงจะยับเยินไปแล้ว จึงสั่งทหารราบให้บุกเข้ามาอย่างชะล่าใจ เลยโดนเรายิงตายเกลื่อนกลาด ที่เหลือยอมให้จับเป็นเชลยนับสิบคน

มาอ้อในตอนนี้เอง ที่คุณครูเล่าให้ฟังนั้น ก็เป็นอีกเวอชั่นหนึ่งของสมรภูมิบ้านพร้าวนั่นเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง