เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3988 การค้าระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ในสมัยศตวรรษที่ ๑๘
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 18 ม.ค. 12, 19:52

การค้าขายระหว่างจีนและฟิลิปปินส์

ในช่วงก่อนปลายศตวรรษที่ ๑๘ การค้าสำเภาระหว่างจีนและฟิลิปปินส์รุ่งเรืองมาก วิธีการค้าขายระหว่างจีนและฟิลิปปินส์โดยพื้นฐานแล้วจะดำเนินการค้าโดยพ่อค้าชาวจีนจากประเทศจีนรวมไปถึงพ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์

ในช่วงแรกเริ่ม การค้าจะดำเนินไปโดยตัวพ่อค้าชาวจีนจัดทำการค้าด้วยตนเอง โดยทำการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนและของพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ น้อยมากที่จะทำการค้าผ่านชาวเสปนหรือชาวจีนโพ้นทะเล บางครั้งในเรือลำหนึ่งๆ มีพ่อค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากับสำเภาเป็นจำนวน ๔๐ – ๕๐ คน เมื่อถึงฟิลิปปินส์ก็ได้ขายสินค้าด้วยตนเองตามที่ต่างๆ ภายหลังรัฐบาลเสปนที่ปกครองฟิลิปปินส์จึงได้ตั้งพื้นที่สำหรับการขายผ้าไหม เรื่อยไปจนถึงสินค้าต่างๆจากจีนขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่พ่อค้าชาวจีนใช้ในการหาซื้อสินค้าต่างๆของฟิลิปปินส์กลับประเทศ

ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีพ่อค้าชาวจีนชื่อว่า “เยว่  เชียง ยง” (叶羌镛:ye qiang yong)ได้บันทึกเรื่องราวการค้าขายระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ไว้อย่างละเอียด ในจดหมายความทรงจำเรื่อง “บันทึกแดนลูซอน” (吕宋记略:lu song ji lue) เนื้อความบางส่วนได้บันทึกว่า

ข้าพเจ้าใช้มาตรเวลาของการเดินเรือเทียบเป็นลี เรือได้เดินทางเท่ากับ ๑ ชั่วยามเทียบได้เดินทาง ๑๐๐ ลี้ (๑ ชั่วยามเท่ากับ ๒ ชั่วโมง – ผู้แปล) เริ่มต้นเดินทางจากเซี่ยงไฮ้(上海:shang hai) ถึงเมืองหนิงโป (宁波:ning bo) ใช้เวลา ๑๒ ชั่วยาม จากหนิงโปไปถึงเมืองเซี่ยเหมิน (厦门:xia men) ใช้เวลา ๔๐ ชั่วยาม (เซี่ยเหมินเรียกตามสำเนียงฮกเกี้ยนเรียกว่าเอ้หมึง – ผู้แปล) จากเมืองเซี่ยเหมินไปถึงลูซอนใช้เวลา ๗๒ ชั่วยาม รวมเวลาเดินทางแล้วใช้เวลาทั้งหมด ๑๒๔ ชั่วยาม เป็นระยะทาง ๑๒,๔๐๐ ลี้ หากลมทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือแรง ๗ วัน ๗ คืนก็มาถึงแล้ว ภายใน ๑ เดือนก็อาจเดินทางไปกลับได้

หากจะเดินทางไปแดนสยามโดยมากเป็นชาวกวางตุ้ง หากเดินทางมาลูซอนโดยมากเป็นชาวฟูเจี้ยน ในแดนสยามชาวกวางตุ้งอาศัยมากกว่าชาวหมินหนาน (ในที่นี้หมายถึงชาวฟูเจี้ยน – ผู้แปล) ในแดนลูซอนชาวหมินหนานอาศัยมากกว่าชาวกวางตุ้ง...

เมื่อเรือเข้าถึงบริเวณนอกท่าเรือ จะมีทหารเรือเข้ามาตรวจ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าจะมีข้าราชการเข้ามาตรวจนับจำนวนคน และตรวจสอบรูปพรรณคนเรือ ภายหลังนายเรือจะเข้าพบกับเจ้าเมืองและแสดงการทำความเคารพโดยการถอดหมวกออกและชูขึ้นตามธรรมเนียมของที่แห่งนี้

ต่อมาสินค้าภายในเรือจะถูกนำออกมาตรวจนับนับและกำหนดราคา เมื่อขายสินค้าเสร็จจึงแบ่งสรรกำไรกัน โดยแบ่งเป็นอัตรา ๒ ต่อ ๓ ต่อ ๕ (ครั้งไปสยามขายสินค้าได้ไม่ดี นายเรือจึงมิได้รับส่วนแบ่ง) ภาษีที่ต้องเสียนั้นเสียต้องเสีย ๖ ใน ๑๐ ของสินค้า โดยชำระภาษีที่กองพระคลังสินค้า ...

เมื่อถึงท่าเรือเกาะลูซอน เราได้ทำการตรวจตราผ้าผ่อนและลังยาสูบ และจำหน่ายสินค้า การค้าขายที่นี้ออกจะป่าเถื่อนอยู่ การซื้อขายดำเนินไปเรื่อยๆจนกระทั่งเรือจะออกจากท่า ณ ที่นี้ยาสูบและเหล้าเป็นของต้องห้าม แต่พวกชาวจีนได้แอบนำพามาเป็นการส่วนตัวก็หาได้มีใครเข้ามาตรวจสอบไม่...

การค้าขายที่นี้บ่อยครั้งเป็นการค้าขายแบบเงินเชื่อ ๗ – ๘ วันจึงจะได้รับเงินค่าสินค้าคืนมา...”

การค้าระหว่างจีนและฟิลิปินส์ภายหลังศตวรรษที่ ๑๘ เริ่มตกต่ำลง เนื่องจากเรือของเสปนและประเทศต่างๆในยุโรปได้เข้ามาแทนที่การค้าต่อระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ โดยเข้ามาค้าขายโดยตรงกับจีนเลย ในบันทึกสมัยพระเจ้าเฉียนหลง (ค.ศ. ๑๗๘๑) ได้กล่าวถึงการเข้ามาของเรือชาวยุโรปที่มาซื้อสินค้าของจีน ภายหลังถึงขั้นมีการตั้งสถานีการค้าในกวางตุ้งและเซียเหมิน และการค้าทางเรือสำเภาที่เคยมีก็ค่อยๆลดบทบาทและเสื่อมลง

บรรณานุกรม

喻常森 “明清时期中国与西属菲律宾的贸易”,载《中国社会经济史研究》2000年第一期 第 44 – 45 页
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 19:56

เคยมีคนถามข้าพเจ้าไป เลยแปลให้คนๆนั้น

ไหนๆก็ไหนๆเลยนำมาเผยแพร่ต่อ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ม.ค. 12, 00:30

ขอบคุณ คุณภูมิ มากๆครับผม...

เคยแปลงานเรื่องการค้าลูกปัดในฟิลิปปินส์
ใน Bead Trade ของ Peter Francis Jr ไว้เมื่อสักสองปีก่อนเห็นจะได้
ขออนุญาตเอามาแปะแลกกันนะครับ

ชานชาลาตะวันตกที่ฟิลิปปินส์

   ไม่นานนักหลังจากโคลัมบัสกลับมาจากการเดินทางครั้งแรก สันตะปาปา Alexander ที่ 6 ได้ตีพิมพ์จดหมาย 2 ฉบับขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1493 ซึ่งใช้แบ่งโลกออกเป็นมณฑลของสเปน และโปรตุเกส และแก้ไขเส้นแบ่งนี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 เส้นแบ่งนี้ลากผ่านบริเวณที่ควรเป็นกลางมหาสมุทรแอตแลนติค (มีเพียงการเดินทางครั้งแรกของโคลัมบัสเท่านั้นที่เป็นเครื่องอ้างอิง) รอยโป่งตัวของประเทศบราซิลนั้นเป็นจุดสิ้นสุดดินแดนของโปรตุเกส ดินแดนโลกใหม่ทั้งหมดทางตะวันตกเป็นของสเปน และทางตะวันออกเป็นของโปรตุเกส ในทางปฏิบัติจึงหมายความว่าสเปนสามารถสำรวจต่อไปจากที่โคลัมบัสทำไว้ และโปรตุเกสสามารถสำรวจต่อไปทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา เมื่อทราบต่อมาว่าโลกนั้นกลม เส้นแบ่งดังกล่าวก็ถูกต่อขยายออกไปรอบลูกโลก

   “เส้นแห่งการแบ่งอาณาเขต” (“เส้นของสันตะปาปา” ตามคำพูดของชาวโปรแตสแตนท์) นั้นแตกแขนงออกไปมากมาย สเปนซึ่งเป็นบ้านเกิดของสันตะปาปาอเลกซานเดอร์ จึงใช้การจัดการโบสถ์ในการควบคุมดินแดนทั้งหมดในอเมริกา ยกเว้นบราซิล มากกว่านั้นการจำกัดเส้นทางการสำรวจและการค้ายังส่งผลต่อการค้าทางทะเลของเอเชีย ประเทศมหาอำนาจที่นับถือศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ ปฏิเสธเส้นแบ่งนี้ แต่สเปนและโปรตุเกสก็ปฏิบัติตามนั้นมานานหลายศตวรรษ

   โปรตุเกสอ้างสิทธิ์ในดินแดนทั้งหมดทางตะวันออกของเส้นแห่งการแบ่งอาณาเขตนี้ และอนุญาตให้ตัวเองเดินทางลงไปยังแอฟริกาและอ้อมไปทางตะวันออกในที่สุด แต่เมื่อมีกำลังคนในบังคับไม่มากนัก วิธีของโปรตุเกสจึงเป็นการตั้งถิ่นฐานในเมืองท่าหลักตามเส้นทางนี้ เพื่อให้เป็นเครือข่ายอำนาจข้ามโลก ชาติคริสต์ที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ เช่น ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และชาติอื่นๆก็ใช้วิธีเดียวกันนี้แผ่ขยายอำนาจของตนใน “ซีกโลก” ของโปรตุเกส

   สเปนได้รับดินแดนขนาดใหญ่ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นมันมาก่อน แม้จะเสียดินแดนตอนบนให้กับพลังจากชาติโปรแตสแตนท์ แต่สเปนก็ได้ครอบครองดินแดนละตินอเมริกาส่วนใหญ่จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดีสเปนยังอยู่ห่างไกลจากความร่ำรวยของทวีปเอเชียมาก จนเมื่อใน ค.ศ. 1519 Ferdinand Magellan นักเดินเรือชาวโปรตุเกสซึ่งทำงานให้สเปนเดินทางอ้อมปลายทวีปอเมริกาใต้ และล่องเรือ 98 วันไปจนถึงฟิลิปปินส์ตะวันออก ที่ซึ่งการตายของเขาบนเกาะ Mactan (Cebu) มิได้ทำให้การค้นพบเส้นทางเดินเรือมายังเอเชียจากทางตะวันตกด้อยค่าลงเลยแม้แต่น้อย

   ถึงแม้สเปนจะสามารถมาถึงเอเชีย แม้จะด้วยความพยายามจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาเรือแกลเลียนก็ถูกส่งออกจาก Acapulco ในเม็กซิโก ขนเงินจากเหมืองที่ Taxco และ Zacatecas ในเม็กซิโก และ Potosf ในโบลิเวีย พวกเขาเดินเรือมายังมะนิลาในฟิลิปปินส์ ที่ซึ่งสามารถใช้แร่เงินซื้อของสาระพัดชนิดจากพ่อค้าจากทั่วเอเชีย สินค้าฟุ่มเฟือยจากเอเชียจึงถูกส่งไปยัง Acapulco โดยบรรทุกจาก “ถนนจีน” ไปยังเม็กซิโกซิตี้ และกระจายตัวออกไป จำนวนมากยังหลงเหลืออยู่ใน Nueva Espana แต่ส่วนที่มีราคาที่สุดมักถูกส่งไปยัง Veracruz หรือบรรทุกต่อไปในเรือแกลเลียน ซึ่งจะร่วมเดินทางไปกับเรือจากอเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริเบียน เป็นกองเรือรบของสเปนเพื่อป้องกันโจรสลัดปล้น ความร่ำรวยของเอเชียจึงถูกส่งไปถึง Seville

   จากจุดเริ่มต้น ชาวสเปนบรรทุกลูกปัดไปกับพวกเขายังฟิลิปปินส์ Pigafetta บันทึกเอาไว้ว่า แมกเจแลนถวาย “ลูกปัดผลึก” ให้กับกษัตริย์แห่ง Butuan แม้จะยังไม่ทราบแต่ลูกปัดนี้อาจเป็นผลึกหิน หรือแก้ว “cristallo” จากเวนิสก็ได้ แมกเจแลนยังห้ามปรามการแลกเปลี่ยนลูกปัดระหว่างคนของเขากับชนพื้นเมือง “คนหนึ่งเสนอจะแลกลูกปัดผลึก 6 สาย กับเศษทองคำกองหนึ่ง แต่โดยหน้าที่แล้วท่านผู้พัน (แมกเจลแลน) ไม่อนุญาตในการต่อรองและกล่าวว่าไม่ควรได้ยินถึงการแลกเปลี่ยนทองคำจากใครอีก จึงเตือนให้ชาวสเปนคนอื่นๆทราบ” (ตัดความโดยผู้เขียน)

   ใน ค.ศ. 1565 Lagazpi มอบ หรือแลกลูกปัดในหมู่บ้าน 2 แห่งใน Ladrone ที่ Leyte และ Cebu บันทึกข้อความใน ค.ศ. 1665 จาก “ค่ายของพระราชา” ในเซบู ต้องการสิ่งต่างๆจาก Neuva Espana หลายอย่างในนั้นเป็นของสเปนโดยเฉพาะ ได้แก่
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 ม.ค. 12, 00:43

ลูกปัดจำนวนมาก สี น้ำเงิน เขียว และเหลือง สีละสิบกองใหญ่
ปะการังเนื้อดีจากทุกแห่ง 4 ปอนด์
แก้ว 300 กิโลกรัม (สีฟ้า)
ลูกปัดสีเขียวและเหลือ 1,000 พวง
กระดิ่ง 500 โหล

   เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าลูกปัดที่ถูกกล่าวถึงคือชนิดไหนอย่างแน่นอน โคลัมบัสนำเอาลูกปัดเม็ดเล็กสีเหลือและเขียวไปกับเขา ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นลูกปัดพันรูปห่วงซึ่งถูกใช้ในอเมริการาว ค.ศ. 1550 หรือหลังกว่านั้น Brill และ Hoffman แสดงความคิดเห็นว่าลูกปัดนี้เป็นลูกปัดที่มาจากดินแดนของสเปนเนื่องจากไอโซโธป ของตะกั่วในเนื้อแก้ว แม้จะมีอุตสาหกรรมการผลิตแก้วที่ Nueva Espana ใน ค.ศ. 1542 แต่ก็ไม่ทราบได้ว่ามีการผลิตลูกปัดขึ้นที่นั่นหรือไม่
 
   ในทางโบราณคดีลูกปัดยุโรปที่เก่าที่สุดในฟิลิปปินส์ถูกขุดพบที่สุสานใน Calatagan เกาะลูซอน แหล่งโบราณคดีที่เริ่มต้นติดต่อก่อนนี้มีลูกปัดแก้วเวนิส 5 เม็ด เป็นลูกปัดเชฟรอน 3 เม็ด ส่วนอีก 2 เม็ดเป็นลูกปัด Nueva Cadiz ขนาดเล็ก (ภาพสีที่43) และลูกปัด 2 ชนิดนี้พบได้ทั่วไปในแหล่งที่มีการติดต่อกับสเปนในยุคต้น แต่ก่อนหน้านั้นการค้าลูกปัดในฟิลิปปินส์มีลูกปัดจากเอเชียเป็นหลักมานานกว่ามาก

   ชาวจีนเป็นพ่อค้าและผู้ผลิตลูกปัดหลักในหมู่เกาะก่อนที่ชาวตะวันตกจะมาถึง เมื่อมะนิลาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายของระบบการค้าโลกซึ่งเชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียผ่านอเมริกา จีนจึงเพิ่มปริมาณการค้าที่เกาะแห่งนี้ ราว ค.ศ. 1570 Gonzales de Mendosa รายงานว่ามีสำเภาจีนกว่า 20 ลำเข้ามาที่มะนิลาทุกปี ใน ค.ศ. 1588 Francis Pretty ชาวอังกฤษนับได้ราว 20 – 30 ลำ ใน ค.ศ. 1609 Antonio de Morga ให้ตัวเลขไว้ที่ราว 30 – 40

   De Morga บอกเราว่าเรือแกลเลียนนั้นดึงดูดความสนใจของคนเป็นจำนวนมาก คนบางส่วนที่มีถิ่นพำนักอยู่ในมะนิลา และส่วนอื่นๆที่ล่องเรือเพียงบางช่วง เป็นที่น่าประทับใจว่ารายชื่อดินแดนที่พ่อค้าเหล่านี้เดินทางมามีทั้ง จีน ญี่ปุ่น โมลุกะ มะละกา สยาม กัมพูชา บอร์เนียว ปัตตานี และแม้แต่โปรตุเกส ซึ่งนำเอาไวน์แบบโปรตุเกส และผลไม้ (บางส่วนผลิตขึ้นในกัว) และอินเดีย เปอร์เชีย ตุรกี และสินค้าจากมาเก้า สิ่งที่โปรตุเกสนำกลับไปยังมะละกานั้น คือ มรกตจากโคลัมเบีย

   อย่างไรก็ดีจีนเป็นผู้ค้าหลัก ถึงแม้ว่าการค้าในมะนิลาจะไม่สามารถดำเนินไปได้ถ้าปราศจากชาวจีน แต่ de Morga หวังจะเห็นว่าปริมาณของคนกลุ่มนี้ลดลง สำเภาจีนนั้นนำมาซึ่งสินค้าที่น่าประทับใจ รวมถึง “tacley ซึ่งหมายถึงลูกปัดหลากชนิด คาร์นาเลียนที่ร้อยเป็นสาย และลูกปัดหินทุกสี”

   ลูกปัดหลายชนิดกระจายตัวไปในกลุ่มชนที่ชื่นชอบลูกปัดในฟิลิปปินส์ การค้าจีนนั้นสำคัญมาก De Morga บ่นถึงชาวจีนบางส่วนที่ “ไปค้าขายจากเกาะสู่เกาะในเรือสำปั้น ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก” หากว่าปริมาณเรือเหล่านี้ลดลง “หรือมิได้มีชาวจีนมากเช่นนี้ เมื่อนึกถึงเกาะภายใต้การครอบคลุมทางการค้าของชนชาตินี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก่ออาชญากรรม และเรื่องชั่วร้ายนับไม่ถ้วน อย่างน้อยที่สุดคนพวกนี้ก็ทำจารกรรมไปทั่วเกาะ ตระเวนไปในแม่น้ำ คลอง และท่าเรือ ซึ่งพวกเขารู้จักดีกว่าที่ชาวสเปนรู้จัก”

   ในทางโบราณคดี เรือจมซึ่งเป็นสำเภาจีนที่ Palawan แสดงให้เห็นถึงการค้าลูกปัดจีน เรือ Royal Captain no. 2 กำหนดอายุจากเซรามิคได้ระหว่าง ค.ศ. 1573 – 1620 อาจกำลังออกจากมะนิลาไปบอร์เนียว เรือบรรทุกลูกปัดแก้วขดสีแดงทองแดง และลูกปัดแก้วไม่มีตะกั่วพันหลายครั้งสีฟ้าและขาว การสำรวจทางชาติพันธุ์วิทยาพบว่าแก้วจีนและอเกตจากอินเดียเป็นลูกปัดหลักที่ใช้มากที่สุดในเกาะเป็นเวลานาน ลูกปัดจากยุโรปที่ใช้เป็นลูกปัดมรดกรุ่นแรกที่สุดนั้นอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว (บทที่17)

   อีกจุดหมายหนึ่งของลูกปัดแก้วจีน คือ อเมริกา เนื่องจากการค้าทางทะเลของเอเชียแผ่ขยายตัวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไป เรือแกลเลียนของสเปนชื่อ Nuestra Senora de la Concepcion ซึ่งล่มลงที่ Saipan ใน ค.ศ. 1638 ระหว่างกำลังมุ่งหน้าไป Acapulco สินค้าที่บรรทุกอยู่นั้นมีลูกปัดคาร์นาเลียนไม่ทราบแหล่ง ลูกปัดแก้วตะกั่วสูงจากจีนสีฟ้า และลูกปัดแก้วสีแดงทองแดงจากจีน ซึ่งเหมือนกับที่พบจาก Nueva Espana ชาวสเปนนั้นใช้ลูกปัดน้อยมาก แต่ชาวอเมริกันพื้นเมืองอาจซื้อพวกมัน ลูกปัดสีฟ้าซึ่งเรียกในหมู่นักสะสมชาวอเมริกาว่า “ลูกปัด Padre” นั้นผลิตจากจีนอย่างแน่นอน ลูกปัดสีขาวที่มีอายุมากกว่าและใช้เป็นลูกปัดมรดกในหมู่ชนชาติ Mixe เฉพาะในหมู่บ้าน Mixistlan และ Yacoche เมือง Oaxaca เม็กซิโก ก็เป็นลูกปัดแก้วจากจีน ลูกปัดแก้วสีแดงทองแดงทรงกรวยหกเหลี่ยมประกบที่พบจาก St. Catherines จอร์เจีย แสดงให้เห็นว่าลูกปัดแก้วจากจีนถูกขายออกไปนอกอเมริกาของสเปนด้วย

   ลูกปัดยุโรปมิได้เข้าสู่ตลาดในฟิลิปปินส์อย่างโดดเด่นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรืออาจเป็นช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ลูกปัดชุดเดิม ผู้ค้ากลุ่มเดิม และเส้นทางสายเดิม ยังคงอยู่ต่อมาอีกนาน นี่เกิดจากผลการขาดความสนใจต่อลูกปัดจากสเปน หรือ ความสัมพันธ์ที่โดดเดี่ยวของเกาะหรือไม่? เงื่อนไขที่แตกต่างของชาวอินโดนิเชียควรถูกกล่าวถึงต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง