เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 13460 ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 12 ม.ค. 12, 11:44

       

        รับขวัญคุณเพ็ญชมพูด้วยกระทู้นี้

อะแฮ่ม  คุณเพ็ญชมพูคนเก่ง   โชคดีที่เราไม่เคยเล่นซ่อนหากันเนาะ

(มีเสียงกระแอมแถวนี้เกรียวเลยว่าจะไปซ่อนหลังพุ่มไม้ไหวหรือ)

ข้อมูลของดิฉันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่ะ  เพราะอ่านเพิ่มขึ้นก็ไปเจอเรื่องแปลก ๆ

เรื่องก.ศ.ร. กุหลาบ  ข้อมูลเก่าโกร๊กที่ใช้  คือที่อยู่ในอ้างอิงค่ะ  หน้า ๑๑๒  บอกจำนวนภรรยาว่ามี ๘ คน

บุตร  เป็นหญิง ๑๖  และ ชาย ๑    ตกโลหิตคนหนึ่ง 

ตอนที่ทำบัญชีเหลือบุตรหญิง ๕ คน  บุตรชายคนหนึ่งเท่านั้น


        หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านเรานี้   เมื่อ ๙๖  ปีมานี้   ลอกข่าวมาจากหนังสือเดลิเมล์  ว่า

ก.ศ.ร. กุหลาย  อายุ ๘๔ ปี  ได้สมรสกับ  แม่ จอม (ผู้เป็นหญิงงาม)  อายุ ๓๐ ปี   ทั้งบ่าวสาวได้ถ่ายรูปคู่ และจดทะเบียนตามกฎหมาย

หนังสือพิมพ์ว่า  "This couple has their picture taken and their names enrolled in the registered in accordance with religious and legal requirement on July 1".

อ้าว!??!      ทะเบียนอะไรกันเล่า            ตามธรรมเนียมฝรั่ง  หนังสือพิมพ์ก็อวยพรให้การสมรสผลิตทายาทออกมาอีกคน   ซึ่งจะเป็นคนที่ ๒๒

        เดลิเมล์จ๋า   นับผิดจ้ะ    เมื่อรวมหลานบุตรของบุตรถึงมี ๒๒ คนจ้ะ

        อ่านอะไรก็อ่านให้จบก่อนซิจ๊ะ

        นี่คือข้อมูลเก่าที่ไม่มีใครทันเห็น          ดิฉันไปเก็บมาจากตึกหลังที่ทำงานคุณวีมีค่ะ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 12 ม.ค. 12, 12:09


เมื่อคุณมนันยาอยากจะศึกษาเรื่องนายกุหลาบ  ได้ไปเรียนถามคุณหลวงอภิบาลฯ
ขออ่านหนังสือของนายกุหลาบที่คุณหลวงอาจจะมีอยู่บ้าง   ก็ได้คำตอบว่า
" ไม่มีหรอก ในบ้าน  'ท่าน' สั่งให้ทำลายหมด"
แต่ ' ท่าน' ที่ว่านี้คือท่านไหน  คุณหลวงฯไม่ได้บอก คุณมนันยาก็ไม่ทราบ

ไม่รู้ว่าคำบอกเล่าของคุณหลวงอภิบาลฯ จะถือเป็นหลักฐานชั้นที่หนึ่งได้หรือไม่       
แต่คุณมนันยายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นที่รู้กันในบรรดาลูกหลานเครือญาติ 
ไม่มีใครมีหนังสือนายกุหลาบอยู่ในครอบครองสักคน

แม้แต่ตอนที่คุณมนันยาไปที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือของนายกุหลาบมาอ่าน 
ก็ได้รับแจ้งว่าอยู่ในห้องหนังสือต้องห้าม(ภาษาราชการเรียกว่าอะไรไม่ทราบ   ภาษาบอกเล่าเป็นคำนี้) 
ถ้าจะเข้าไปอ่านต้องขออนุญาตจากผอ.หอสมุด ในขณะนั้นคือคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
คุณมนันยาก็ไปขออนุญาตคุณหญิง  ก็ได้รับอนุญาต   พบว่าหนังสือนายกุหลาบที่ถูกต้องห้ามนั้น
มีอยู่หลายเล่ม หลายประเภท  ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่ง     
ห้ามถ่ายเอกสาร ต้องจดด้วยมือ ลอกข้อความออกมา

ถ้อยคำของพยานที่เคยใช้ชีวิตร่วมสมัยกับนายกุหลาบย่อมเป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ ได้
และน่ารับฟังอยู่   แต่ก็ควรพิจารณาบริบทแวดล้อมจากการให้การของคุณหลวงอภิบาลฯ ด้วย
ผมไม่ทราบว่า  คุณมนันยาไปสอบถามจากหลวงอภิบาล เมื่อหลวงอภิบาลอายุได้เท่าไร
แต่คงจะห่างจากปีที่พิมพ์หนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ครั้งแรก ๒๕๓๙  พอสมควรทีเดียว


อย่างไรก็ดี  สิ่งไม่ควรมองข้าม คือ ข้อมูลประวัติหลวงอภิบาลฯ (ทราบว่า นักสะสมตามหากันนัก)
ที่คุณวันดีได้เอามาลงไว้   บ่งบอกว่า  นายชาย  บิดา และหลวงอภิบาลฯ ไม่ได้อาศัยอยู่กับนายกุหลาบ
ในระยะเริ่มแรกที่นายกุหลาบเริ่มพิมพ์หนังสือสยามประเภท  กล่าวอย่างนี้  บางคนอาจจะแย้งว่า
ก็นายกุหลาบอ้างนายชายเป็นคนถามเอาความรู้ต่างๆ จากนายกุหลาบ ลงในสยามประเภทไม่ใช่หรือ
ข้อนี้แก้ได้ว่า  นายกุหลาบคงแต่งเอาชื่อนายชายมาเป็นตัวละครดำเนินเรื่องเท่านั้น
ตัวจริงนายชายคงรับราชการอยู่ต่างจังหวัด    เมื่อคุณหลวงอภิบาลฯ ติดตามบิดาไปอยู่ต่างจังหวัด
โอกาสที่จะได้รู้เห็นกิจการของนายกุหลาบก็คงเมื่อคุณหลวงอภิบาลเติบโตได้หลายขวบ
ถึงกระนั้นก็คงไม่ได้คลุกคลีอาศัยอยู่กับนายกุหลาบมากนัก  เพราะนายชายมีเรือนแล้ว
คงจะอาศัยอยู่บ้านต่างหาก  แต่คงได้ไปเยี่ยมนายกุหลาบบ้าง


ส่วนเรื่องทำลายหนังสือที่นายกุหลาบพิมพ์ไว้นั้น  ผมคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายหลังที่นายกุหลาบถึงแก่กรรม
เมื่อ ปี ๒๔๖๔   ตามที่มีคนค้นคว้าไว้  บอกว่า นายกุหลาบเลิกออกสยามประเภท เมื่อปี ๒๔๕๑
แต่จากนั้นก็ยังพิมพ์หนังสืออื่นๆ ออกมาอีก  ส่วนสยามประเภทที่เหลืออยู่ คงจะส่งขายตามร้านหนังสือ
แต่คงจะขายไม่สู้ดีนัก  เพราะสยามประเภทรวมเล่มรายปีแต่ละเล่ม มีราคาสูง  ประกอบกับ
หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พงศาวดาร หรือเรื่องเก่าๆ ในปลายรัชกาลที่ ๕ ก็มีพิมพ์ทยอยกันออกมา
โดยเฉพาะหนังสือของพอพระสมุด  มีทั้งพิมพ์แจกในงานศพสามัญชน และงานพระศพเจ้านาย
และโรงพิมพ์ต่างๆ ขอไปพิมพ์จำหน่าย  ซึ่งน่าจะถูกกว่าหนังสือสยามประเภทมาก
นั่นอาจจะเป็นเหตุให้นายกุหลาบหันมาพิมพืหนังสือเล่มเล็กและบางลง  เพื่อจะได้ขายได้ราคาไม่แพง
แต่เรื่องเก่าๆ ที่นายกุหลาบพิมพ์ขายนั้น  ก็ไม่ใช่เทรนด์  ที่คนที่พออ่านออกเขียนได้ในสังคมตอนนั้นสนใจ
เพราะในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์ก็มีออกมามากหัว  หนังสือนิยายแปลก็เริ่มมีบ้างแล้ว
เรื่องอ่านเล่น  ก็มีหนังสือวัดเกาะเพราะหนักหนา ที่ราคาย่อมเยา  หนังสือนายกุหลาบจึงตกเทรนด์


เมื่อนายกุหลาบไม่มีทุนพิมพ์หนังสือต่อไปได้  อาจจะยุติกิจการโรงพิมพ์สยามประเภท
ประกอบกับอายุมากขึ้น  จึงไม่สะดวกที่จะทำงานโรงพิมพ์ต่อไป  กระนั้นหนังสือที่พิมพ์แล้ว
คงจะค้างอยู่ในโรงพิมพ์พอสมควร  แน่นอนว่า  ลูกหลานของนายกุหลาบคงจะไม่มีใครสนใจ
ที่จะดำเนินกิจการโรงพิมพ์ต่อจากบิดา  เพราะต่างมีกิจการอาชีพอื่นที่ดีกว่า ชำนาญกว่างานโรงพิมพ์
เมื่อนายกุหลาบถึงแก่กรรมแล้ว  มรดกในโรงพิมพ์ จึงไม่มีใครรับ  อาจจะต้องขายโรงพิมพ์ไป
แต่หนังสือในโรงพิมพ์นั้น  หากไม่ได้เอาไปให้โรงพิมพ์ใดรับไปขายต่อ   ลูกหลานก็คงทำลายหมด
เพื่อไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานเอาไปหาประโยชน์  วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการเผาทำลาย
นั่นอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือนายกุหลาบหมดสิ้นในครั้งนั้น


ส่วนต้นฉบับหนังสือนายกุหลาบ  หากไม่ถูกทำลาย  ก็คงจะเอาไปถวายวัดหรือหอพระสมุด
เพื่อเป็นกุศลอุทิศแก่นายกุหลาบ  

ส่วนโรงพิมพ์นายกุหลาบนั้น  ต่อมาก็กลายเป็นโรงพิมพ์ชื่อดังที่ออกหนังสือดีมีสาระประโยชน์
ซึ่งสมัยหนึ่งเจ้าคุณหนึ่ง คุณพระหนึ่ง คุณหลวงหนึ่ง  เป็นนักประพันธ์มีชื่อได้ส่งผลงานไปลงพิมพ์
อยู่บ่อยๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 12 ม.ค. 12, 14:15

ผมไม่ทราบว่า  คุณมนันยาไปสอบถามจากหลวงอภิบาล เมื่อหลวงอภิบาลอายุได้เท่าไร
แต่คงจะห่างจากปีที่พิมพ์หนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ครั้งแรก ๒๕๓๙   พอสมควรทีเดียว

ที่ถูกต้องคือ

คุณเทาชมพูคงอ้างอิงจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ คุณมนันยา ธนะภูมิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๐-๗๑)

รองอำมาตย์เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา  ตฤษณานนท์)

ชาตะ  วันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๔๑


มรณะ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๒๖

นับถึงปีที่พิมพ์หนังสือ คุณหลวงฯ ก็อายุได้ ๘๔ ปี

คุณมนันยาน่าจะสอบถามข้อมูล่จากคุณหลวงอภิบาลฯ ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ซึ่งขณะนั้นคุณหลวงฯ ก็น่าจะมีอายุประมาณ ๘๐ ปี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 12 ม.ค. 12, 16:23

คุณเพ็ญฯ มาช่วยแก้ ขอบคุณครับ  ผมใช้สลับไปสลับมาอยู่สองสามเล่ม
เลยจำพลาดไป

เอ แต่คุณเพ็ญฯ กรุณาช่วยหาข้อมูลให้หน่อยว่า คุณหญิงกุลทรัพย์ 
ได้เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างปีใดถึงปีใด
เข้าใจว่าน่าจะเป็นราวๆ ปี ๒๕๒๐ หรือเปล่า

เพราะถ้าคุณมนันยาไปสอบถามคุณหลวงอภิบาลฯ ในช่วงก่อน
หรือช่วงที่คุณหญิงดำรงตำแหน่งผอ.หอสมุดแห่งชาติ 
คุณหลวงอภิบาล อายุได้เกือบ ๘๐ ปี หรือเกินกว่านั้นเล็กน้อย

เรื่องคำให้การของคุณหลวงอภิบาลนั้น  เท่าที่อ่านดูจากคำที่คุณเทาชมพู
ได้ถ่ายทอดมาจากคุณมนันยา   ส่อว่า  คุณอภิบาลอาจจะไม่ค่อยทราบข้อมูล
เกี่ยวกับนายกุหลาบมากนัก   ทำให้คุณมนันยาต้องไปหาข้อมูลถึงหอสมุดแห่งชาติ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 12 ม.ค. 12, 22:09

เอ แต่คุณเพ็ญฯ กรุณาช่วยหาข้อมูลให้หน่อยว่า คุณหญิงกุลทรัพย์  
ได้เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างปีใดถึงปีใด
เข้าใจว่าน่าจะเป็นราวๆ ปี ๒๕๒๐ หรือเปล่า

คุณหลวงเล็กเข้าใจถูกแล้ว คุณหญิงกุลทรัพย์เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ - พ.ศ. ๒๕๒๙

เมื่อคุณมนันยาอยากจะศึกษาเรื่องนายกุหลาบ  ได้ไปเรียนถามคุณหลวงอภิบาลฯ ขออ่านหนังสือของนายกุหลาบที่คุณหลวงอาจจะมีอยู่บ้าง   ก็ได้คำตอบว่า
" ไม่มีหรอก ในบ้าน  'ท่าน' สั่งให้ทำลายหมด"
แต่ ' ท่าน' ที่ว่านี้คือท่านไหน  คุณหลวงฯไม่ได้บอก คุณมนันยาก็ไม่ทราบ

ถึงคุณหลวงอภิบาลฯ จะเคยมีหนังสือของนายกุหลาบ ก็คงสูญไปเพราะท่าน "ไฟ" แล้ว

แต่ต่อมาภายหลังไฟไหม้บ้านหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ผู้เป็นหลาน จึงสูญไป

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 13 ม.ค. 12, 03:16



หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ
หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์​(นัดดา  ตฤษณานนท์)

ณ เมรุวัดธาตุทอง
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์  อายุ ๒๓ ปี  ได้อุปสมบทหนึ่งพรรษา ณ วัดราชบพิธ


อนุสรณ์  ของ  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราข  สกลมหาสังฆปริณายก

         อาตมากับคุณหลวง  ได้อุปสมบทร่วมพระอุปัชฌาย์  คือเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศเธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

สกลมหาสังฆปรินายก  จำพรรษา ณ วัดราชบพิธ  อยู่กุฏิใกล้เคียงกัน  เมื่อพุทธซักราช ๒๔๖๔   จึงคุ้นเคยกันสนิทสนมในฐานะภิกษุรุ่นเดียวกัน

คุณหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์   มีอัธยาศัยงาม  น่านับถือ   รักหมู่รักคณะเป็นอันดี    ได้จดจำนวกะภิกษุรุ่นเดียวในครั้งอุปสมบท  ตลอดชีวประวัติ

ตราบเท่าการสิ้นชีวิตของแต่ละคนไว้    จนถึงได้สั่งให้บุตรธิดาขอร้องอาตมา   ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดในสมัยอุปสมบท   ยังมีชีวิต

เหลืออยู่เพียงผู้เดียว   ได้กรุณาเป็นประธานนำไฟพระราชทานเพลิงศพ          นับว่าคุณหลวง ฯ มีนิสัยมั่นคงต่อสำนักอุปสมบทของตนมิขาดสาย

สมลักษณะอุบาสกโดยแท้ 



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 13 ม.ค. 12, 03:42



คำไว้อาลัยของญาติ

       อาศัยที่พี่หลวงเป็นคนชื่นบาน  มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ   โรคภัยเบียดเบียนน้อย    จึงมีอายุ

ยืนยาวถึง ๘๕ - ๘๖ ปี        ในบั้นปลายของชีวิตก็มีความเป็นอยู่อย่างสงบ  สุขกาย  สุขใจ

ไม่มีกังวลห่วงใยใคร  เพราะลูก ๆ ทั้ง ๗ คน  มีครอบครัวเป็นหลักฐาน     ความเป็นอยู่เรียบร้อยสมบูรณ์

พูนสุข



ลูก ๆ

        คุณป๋าจากไป  เมื่ออายุ  ๘๕ ปี สองเดือน  ด้วยโรคหัวใจวาย


หลานปู่

       คุณปู่ปรกติแล้วจะเป็นคนช่างพูดช่างคุย  และมักจะมีเรื่องราวเกร็ดความรู้ของบรรพบุรุษมาเล่าให้หลาน ๆ ฟังเสมอ

โดยเฉพาะเมื่อหลานคนใดถามขึ้น   ท่านก็จะพอใจและพูดคุยด้วยความสนุกสนาน


หลานตา

       คุณตาเป็นนักสะสมตัวยง  โดยเฉพาะหนังสือ  ตุณตามีหนังสือเป็นตู้ ๆ    หนังสือส่วนใหญ่เก่ามากจนกระดาษเหลือง

เพราะเก็บไว้นานตั้งแต่คุณตายังหนุ่ม         หนังสือที่ขาดไม่ได้ในตู้ของคุณตา  คือ  พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๖ และ วรรณคดีไทย

แต่น่าเสียดายที่ตอนน้ำท่วมปี ๒๕๒๖  หนังสือของคุณตาเสียหายไปหลายเล่ม  เพราะเปียกน้ำ       ที่จริงเรื่องนี้  คุณยายห้ามเล่าให้คุณตาฟัง 

เพราะกลัวว่าคุณตาจะเสียดาย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 13 ม.ค. 12, 03:53


ชีวะประวัติส่วนตัว   หน้า  ๒๔

        ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔   ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดใกล้บ้าน    ซึ่งในขณะนั้นบิดามารดามีบ้านอยู่ที่ถนนมหรรณพ  กรุงเทพมหานคร


   
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 13 ม.ค. 12, 23:10

ขอร่วมแจมด้วยครับ อ่านคำถามจ.ข.ก.ท. แล้วก็พยายามนึกว่า ถ้าจะโดนเผา ก็อาจจะเป็นตอนที่แต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราช ร.ศ. 119

ไปค้น พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปมาักับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนท้ายๆ เรื่อง ไต่สวนนายกุหลาบ ก็ไม่พบว่า องค์คณะกรรมการสอบสวน ทรงให้เผาหนังสือ ...... ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพอพระทัยกับคำวินิจฉัยของคณะไต่สวน ไม่ได้มีการ "สั่งเก็บ" หรือ "เผาทำลาย" ในพระราชหัตถเลขา แต่อย่างใด ..........

ผมเคยได้มีโอกาสเห็นหนังสือ ของก.ศ.ร. กุหลาบ จากบ้านนักสะสมนิรนามท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่า สมัยเจ้าคุณปู่ กับคุณพ่อ ซึ่งเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง  ต้องเก็บหนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบใส่หีบล็อกกุญแจ เอาไปซ้อนไว้ ไม่ได้ใส่ตู้กระจกสวยงาม อย่างเช่นหนังสือของหมอสมิท หรือราชกิจจานุเบกษา และอื่นๆ  (เสียดายไม่ได้ถามว่า เพราะอะไร?)  ...................

ด้วยความที่ บรรพบุรุษส่งมรดก(หนังสือ) ต่อกับทายาทผู้รู้คุณค่า จึงอยู่รอดมาได้จนปัจจุบัน  แต่หลายๆ บ้าน ลูกหลานไม่รู้คุณค่าของ สิ่งที่ตัวเองได้รับมรดกมา  ขายซาเล้งเห็นเป็นของไร้ค่าก็เยอะ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือยุคกระโน้น ค่อยๆ สาบสูญหายไปมากกว่าการถูกเผา
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 10:42


คุณเทาชมพูคงอ้างอิงจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ คุณมนันยา ธนะภูมิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๐-๗๑)

นายกุหลาบมีอายุยืนมากและยังได้เขียนหนังสือโดยอาศัยการค้นคว้าจากเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีของตนอยู่จนถึงบั้นปลายของชีวิต แต่ในเมื่อความจำเลอะเลือนเสียแล้ว ผลงานที่ปรากฏในระยะหลังการทำหนังสือสยามประเภทจึงไม่มีคุณค่าอะไรหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริงอย่างมาก ดังนั้นจึงปรากฏว่าผู้มีอำนาจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้สั่งเก็บและทำลายหนังสือของนายกุหลาบอย่างถอนรากถอนโคน  หนังสือของนายกุหลาบเท่าที่เหลือรอดมาได้ก็โดยการเก็บซ่อนตามบ้านต่าง ๆ ของบุตรหญิงหรือตามบ้านผู้ชอบสะสมของเก่าไม่กี่ท่าน ซึ่งเรื่องนี้นายกุหลาบได้บันทึกไว้และดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการผู้รักหนังสือ


คุณมนันยา คงอ้างอิงจากบทความ  "ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ของสิริ ประชาลักษณ์ วารสารหลังเทวาลัยของฝ่ายปฏิคมคณะอัำษรศาสตร์ ปี ๒๕๑๘ ฉบับที่ ๒ อีกที

ในหนังสือของคุณมนันยาเล่มเดียวกับที่คุณ เพ็ญชมพูกล่าวถึง จะอยู่ที่หน้า ๖๙ ต่อ ๗๐

"ยังพอมีงานของท่านผู้นี้อยู่บ้าง น่าที่จะมีผู้นำเอางานเหล่านี้มาพิมพ์กันอีก ก่อนที่จะสูญสลายไปเพราะการถูกกว้านมาทำลาย เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าขมขื่นเพียงใดสำหรับวงวิชาการของไทย เมื่อนึกถึงภาพของหนังสือจำนวนมากทีี่ผู้รักความรู้ท่านหนึ่งพากเพียรเขียนขึ้น แต่กลับต้องถูกปฏิเสธและถูกทำลายทิ้งโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้อ่าน"

คุณ สิริ ประชาลักษณ์ จะอ้างอิงจากที่ใดต่อ คงต้องค้นกันต่อไปครับ

ที่อ่านแล้ว ไม่พบว่า กล่าวถึงการถูกเผา - เก็บทำลาย คือ บทความ "ท้าทายบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชวงศ์ไทย จารึกไว้เมื่อปลายคริสศตวรรษที่ ๑๙ กรณีเรื่องของ ก.ศ.ร. กุหลาบ โดย เคร๊ก เจ. เรโนลดล์ แปล - พิมพ์โดยสยามอารยะ พ.ศ. ๒๕๓๘

(แปลจาก The Case of K.S.R. Kulap: A Challenge to Royal Historical Writing in Late 19th Century Thailand Craig J. Reynolds - ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Australia's national university ) ในวารสารสยามสมาคม (J.S.S.) Vol. ๖๑ Part II, กรกฏาคม ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

แต่ อ. เคร๊ก อ้างหนังสือ นิทานชาวไร่ ของ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี อยู่หลายครั้ง น่าไปลองค้นต่อน่ะครับ.........
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 28 มิ.ย. 12, 10:51

Craig J. Reynolds นักประวัติศาสตร์ไทย ชาวอเมริกัน ได้วิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไว้ว่า

"การที่จะมองข้าม ก.ศ.ร.กุหลาบไปโดยพิจารณาแต่เพียงว่าเขาเป็นนักกุ และนักปลอมแปลงนั้นจะเป็นการมองข้ามประวัติศาสตร์ไทยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายประการ และก่อให้เกิดสีสันแก่วงสังคมของชาวสยามในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่อย่างมาก อาทิเช่น ในด้านของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาได้บุกเบิกและขัดเกลาเทคนิคการพิมพ์หนังสือพิมพ์และใช้ความเป็นสื่อมวลชนของเขานั้น พาตนไปสู่ความมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ"

สิริ ประชาลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในเรื่อง "ก.ศ.ร.กุหลาบ : ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ในหนังสือ "หลังเทวาลัย" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า

"เป็นเรื่องประหลาดและน่าเศร้าที่รัฐบาลสยามทำตัวเป็นปฏิปักษ์คอยจองล้างจองผลาญบุคคลผู้ใฝ่ความรู้ท่านนี้ ในทำเนียบ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่  ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่ปรากฏว่ามีนาม "สยามประเภท" อยู่เลย!  รัฐบาลสยามปฏิเสธหนังสือทุกเล่มของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่าไม่ใช่ "หนังสือ" (ทำนองเดียวกับงานเขียน ๒ เล่มของแหม่มแอนนา ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ความพยายามทุกวิถีทางขัดขวางมิให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น) หนังสือของท่านจึงหาอ่านได้ยากจนทุกวันนี้ เพราะมันถูกนำไปใส่หีบลั่นกุญแจ และติดป้าย "ทรงอายัด" ห้ามประชาชนอ่าน!!  เมื่อมีผู้ไปขอค้นคว้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุด ทรงให้พิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง "จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ" ออกมาเผยแพร่แทน ภาพของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเลอะเลือนไป และมีอยู่ ๒ ทางสำหรับอนุชนรุ่นต่อมา นั่นคือทางแรกไม่ทราบและไม่รู้จักว่าท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นใคร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้น,ในทางที่สอง ถ้าจะรู้จักก็รู้จักในฐานะที่ท่านเป็นนัก "กุ" ผู้มีสติไม่สมบูรณ์นัก"


 รูดซิบปาก

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง