เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9515 ท่านใดทราบประวัติของ หลวงจบกระบวนยุทธกับคุณหญิงเครือวัลย์ บิดามารดาของท่านผู้หญิงจงกล ค
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


 เมื่อ 09 ม.ค. 12, 09:39

ท่านผู้ใดมีประวัติของท่านทั้งสอง รบกวนขอข้อมูลด้วยนะครับ...ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ม.ค. 12, 11:44

ไม่ทราบว่าต้องการประวัติละเอียดมากน้อยเพียงใด
หนังสืองานศพพันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม  กระบวนยุทธ)
มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งเป็นหนังสืออยุธยาอาภรณ์  คุณสมภพ จันทรประภา แต่ง
เล่มนี้ไม่มีประวัติ  แต่เห็นแพร่หลาย
อีกเล่มเป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติของคุณหลวงจบกระบวนยุทธล้วนๆ
ทั้งอย่างย่อและอย่างละเอียด  (เล่มสีเขียว)

ส่วนหนังสืองานศพคุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ
ตอนนี้ยังเอื้อมมือไปหยิบไม่ถึง  คงตั้งใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง
กว่าจะหยิบได้ 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ม.ค. 12, 08:58

จากหนังสืออนุสรณ์หลวงจบกระบวนยุทธ
ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม  กระบวนยุทธ)
วันอังคาร  ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐

ตามประวัติในสมุดทะเบียนทหารบก จดบันทึกไว้ว่า

พันตรี  หลวงจบกระบวนยุทธ
ชื่อเดิม  แช่ม  นามสกุล  ถนัดรบ
ต่อมาเมื่อทางการได้มีประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
และมีประกาศให้ตั้งและเปลี่ยนชื่อตามวัธนธัมในสมัยนั้น
ท่านก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก  "แช่ม" เป็น "ถนัด" และเปลี่ยนนามสกุลจาก "ถนัดรบ"
เป็น "กระบวนยุทธ"

บ้านเกิดของหลวงจบกระบวนยุทธ อยู่ที่บ้านมหาพราหมณ์  อำเภอเสนาใน  จังหวัดกรุงเก่า
ส่วนบ้านเกิดในครั้งหลังสุด อยู่ในคลองบางมด  อำเภอบางขุนเทียน  จังหวัดธนบุรี

บิดา ชื่อ นายเทียน
มารดาชื่อ นางทองคำ
ปู่ ชื่อ หมื่นวิเศษสรพล (พ่วง) เป็นข้าราชการชั้นประทวนสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ภรรยา ชื่อ คุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ

หลวงจบกระบวนยุทธ เกิดเมื่อวันพุธ  ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะตรีศก ๑๒๕๓
ตรงกับวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๓๔

เข้ารับราชการทหารเป็นนักเรียนนายร้อย เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๕๐
ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบก  ขึ้นทะเบียนเป็นทหารประจำการ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน  ๒๔๕๒

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร  ตามลำดับดังนี้
นายร้อยตรี ๑๑ เมษายน ๒๔๕๕
นายร้อยโท  ๒๒ เมษายน  ๒๔๕๗
นายร้อยเอก  ๒๓ มีนาคม ๒๔๕๙
นายพันตรี  ๗ พฤษภาคม ๒๔๗๐

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจบกระบวนยุทธ ศักดินา ๘๐๐
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม  ๒๔๖๕
ได้คืนบรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๘๕
แล้วกลับมาใช้บรรดาศักดิ์ตามเดิม ตามความแจ้งความทหาร ลงวันที่ ๑๖ เมษายน  ๒๔๘๘

รายละเอียดเรื่องเงินเดือน  คงไม่ต้องกล่าวถึง

เป็นนายทหารกองหนุน บก. จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ  เมื่อ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๖
เพราะต้องหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏ

เป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดกองบังคับการจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๖  เพราะอายุเกินกำหนดนายทหารกองหนุน

เป็นนายทหารพ้นราชการ สังกัดกองทัพบก  ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๖ 

บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ม.ค. 12, 13:39

เข้ามารอคุณหลวงด้วยใจจดจ่อ......ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ม.ค. 12, 16:37

ประวัติคุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ
จากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ ต.จ. ต.ม.
ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม  เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘


คุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ เป็นบุตรีของนายเปรม  ณ พัทลุง

นายเปรม  ณ พัทลุง  เป็นบุตรคนที่ ๑๙ ของพระยาพิชิตเสนามหาพิไชย
อภัยพิไชยศรีสงคราม  เจ้าเมืองพัทลุง  ซึ่งรู้จักกันในชื่อ พระยาพัทลุงทองขาว

พระยาพัทลุงทองขาว  เป็นบุตรของพระยาแก้วโกรพพิไชย  บดินทรศรีสุรินทรเดชะไชย 
มไหศวรรย์อนันตะพิริยปรากรมพาหะ  เจ้าเมืองพัทลุง  ซึ่งรู้จักกันในชื่อ  พระยาพัทลุงขุนคางเหล็ก
เป็นบรรพบุรุษต้นสกุล  ณ  พัทลุง

พระยาพัทลุงขุนคางเหล็ก  มีบิดาคือ พระราชบังสัน  (ตะตา)
พระราชบังสัน (ตะตา) เป็นหลานปู่ของสุลต่านสุลัยมาน
บิดาได้พาเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
และเป็นมหาดเล็กร่วมสมัยกับนายสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
และนายบุนนาค (เจ้าพระยามหาเสนา)

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระยาพัทลุงขุนคางเหล็กได้นำบุตรคือพระยาพัทลุงทองขาว
ไปเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวทำราชการมหาดเล็ก  พร้อมกับน้องชายอีก ๔ คน คือ
นายกลิ่น  นายฉิม  นายบุญศรี  และนายบุญไทย  ต่อมา  นายทองขาว
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  หลวงศักดิ์  นายเวรมหาดเล็ก
และได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาพิชิตเสนามหาพิไชย  เจ้าเมืองพัทลุง
สืบตำแหน่งหน้าที่ต่อจากพระยาพัทลุงขุนคางเหล็ก บิดา
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ม.ค. 12, 17:09

พระยาพัทลุงทองขาวสมรสกับคุณปล้อง  บุตรีคนที่ ๒ ของพระยาราชวังสัน (หวัง)
(พระยาราชวังสัน (หวัง) เป็นพระอัยกาในสมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒))
คุณหญิงปล้อง  มีบุตรบุตรี ๙ คน  บุตรีคนโต  ชื่อ นางผ่อง
นางผ่องสมรสกับพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ)  เสมียนตรากรมพระคลังมหาสมบัติ
มีบุตรบุตรีด้วยกัน ๖ คน  บุตรีคนที่ ๓ คือ เจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ ๓
เป็นพระชนนีในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  ต้นราชสกุล ศิริวงศ์

พระยาพัทลุงทองขาว มีบุตรกับภรรยาอื่น  อีกจำนวน ๑๙ คน รวมกับบุตรบุตรีที่เกิดกับคุณหญิงปล้อง
เป็น ๒๘ คน แต่ทราบชื่อเพียง ๒๑ คนเท่านั้น

นายเปรม บุตรคนที่ ๑๙ ของพระยาพัทลุงทองขาว  บิดาได้นำเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวทำราชการ
พร้อมกับพี่ชาย (บุตรคนที่ ๘ ของพระยาพัทลุงทองขาว) ชื่อ  นายนิ่ม  ซึ่งต่อมาได้รับราชการ
เป็นปลัดในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต  พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลิ่น  เจ้าจอมมารดากลิ่นนี้เป็นน้องของพระยาพัทลุงทองขาว

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นายเปรม  ได้มีตำแหน่งเป็นจางวาง  แต่ไม่ทราบสังกัดกรม   และได้สมรสกับสตรีชาววัง
มีบุตรคนหนึ่ง ชื่อ  นายแป้น   นายแป้นคนนี้  ต่อมาได้รับราชการเป็นอัยการ  
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงผจญคดี   มารดาของหลวงผจญคดีถึงแก่กรรมตั้งแต่คุณหลวงยังเยาว์
ลูกพี่ลูกน้องของมารดาคุณหลวงได้รับหน้าที่เลี้ยงดูคุณหลวงต่อมา  จนได้เป็นภรรยาคนที่ ๒ ของนายเปรม
และมีบุตรีด้วยกัน ๑ คน คือ คุณหญิงพยงค์  จากนั้น  นายเปรมได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ
และย้ายไปอยู่ที่สวนแถวบางมด  และได้สมรสกับหญิงชาวสวนบางมด ชื่อ นางคล้อย  มีบุตรีด้วยกัน ๒ คน
คือคุณหญิงเครือวัลย์ กับนางเคลื่อน

คุณหญิงเครือวัลย์  เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน  ๒๔๓๘
ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗

นายเปรมมีน้องสาวร่วมมารดา เป็นบุตรีคนที่ ๒๐ ของพระยาพัทลุงทองขาว คือคุณหญิงแข  เพชรปาณี
เป็นภริยาของพระยาเพชรปาณี เจ้าเมืองไชยา  (สกุล ไชยาคำ)  คุณหญิงเครือวัลย์ รักเคารพคุณหญิงแข
ผู้เป็นอามาก  เคยได้ติดตามรับใช้ไปในที่ต่างๆ รวมทั้งได้เคยติดตามคุณอาไปเยี่ยมญาติที่มาเลเซียในรัฐต่างๆ
และที่สิงคโปร์  และมีบางครั้งที่คุณหญิงเครือวัลย์ ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่มาเลเซียและสิงคโปร์ด้วยตัวเอง

คุณหญิงเครือวัลย์  สมรสกับพันตรี  หลวงจบกระบวนยุทธ  (แช่ม  กระบวนยุทธ) มีบุตรธิดา ๓ คน
คือ  

๑.ท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร  สมรสกับจอมพลถนอม  กิตติขจร  มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน
๒.นางการุณ  คุณวัฒน์  สมรสกับนายศักดิ์  คุณวัฒน์  มีบุตรธิดาด้วยกัน ๒ คน
๓.นายบรรยง  กระบวนยุทธ   ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ม.ค. 12, 08:19

จอมพล ถนอม  กิตติขจร  เขียนคำไว้อาลัยไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงเครือวัลย์  จบกระบวนยุทธ  ความตอนหนึ่งว่า

"ผมรู้จักท่าน (คุณหญิงเครือวัลย์) มาตั้งแต่ปี ๒๔๖๓  เมื่อผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
ท่านเป็นภรรยาของนายร้อยเอก แช่ม  ถนัดรบ ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
ท่านมาที่บ้านนายพันตรี หลวงรามรณภพ คุณลุงของผม ซึ่งต่อมาได้เป็นนายพันเอก พระไกรสิทธิสราวุธ
ปลัดโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม  ท่านและคุณลุงของผมอาศัยบ้านพักราชการหลังโรงเรียนนายร้อย
จึงไปมาหาสู่กันเสมอๆ  บางครั้งท่านก็พาสูกสาว ๒ คนมาด้วย  เพราะคุณป้าสะใภ้ของผมท่านรักเอ็นดูเด็กหญิงนั้น

ปี ๒๔๖๕  ครอบครัวของหลวงจบกระบวนยุทธย้ายบ้านมาพักใกล้บ้านคุณลุงของผม เพียงมีคูกั้นเท่านั้น
ยิ่งทำให้ไปมาหาสู่กันบ่อยยิ่งขึ้น  ลูกสาวคนโตของคุณหญิงมักลงเล่นน้ำในคูพร้อมกับญาติๆ ของผม

ปี ๒๔๖๘  หลวงจบกระบวนยุทธได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำการที่กรมทหารราบที่ ๑๐ จังหวัดอุบลราชธานี
ผมก็ไม่ได้พบท่านทั้งสองอีกเป็นเวลหลายปีจนถึงปี ๒๔๗๓   ผมได้ออกไปเป็นนายทหารรับราชการ
ที่กองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๘ จังหวัดเชียงใหม่  จึงได้พบครอบครัวคุณหลวงจบกระบวนยุทธ
ซึ่งคุณหลวงได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพัีนอยู่ที่นั่น  ที่สำคัญคือบ้านพักของผมอยู่ติดกับบ้านพักของคุณหลวง

จากนั้น  ผมเกิดรักใคร่ชอบพอกับลูกสาวคนโตของท่าน (ท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร)
แต่คุณหญิงเครือวัลย์ไม่พอใจ  เนื่องจากลูกสาวท่านมีหนุ่มอื่นหมายปองอยุ่ก่อนแล้ว
ตอนนั้นผมยังใช้รถจักรยานขี่ไปไหนมาไหน  ส่วนหนุ่มคนที่มาหมายปองลูกสาวท่านมักจะขี่รถจักรยานยนต์บ้าง
ขับรถยนต์บ้างมาหาลุกสาวท่านถึงที่บ้านเป็นประจำ  เจ้าหนุ่มนั่นพูดเก่ง  ชวนคุณหยิงคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้
ไม่รู้เบื่อ  ท่านชอบใจหนุ่มคนนั้นมาก   ส่วนผมซึ่งเป็นคนพูดจาน้อย  ท่านจึงไม่สนิทสนมด้วย
ระหว่างนั้น  มีภรรยาของผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกคุณหญิงว่า  ถ้าผมมาขอลูกสาวของคุณหญิงแต่งงาน
ก็อย่าให้ไปเชียว  เพราะหากให้แต่งงานกัน  ต่อไปลูกสาวของคุณหญิงจะลำบาก   เนื่องจากผมเพิ่งออกมาเป็นาายทหารใหม่ๆ
ยังต้องส่งเสียเลี้ยงน้องอีกหลายคน  คุณหญิงท่านเชื่อคำเขาบอก  เพราะไม่ชอบผมเป็นทุนอยู่แล้ว

ส่วนหลวงจบกระบวนยุทธนั้น  ท่านเห็นว่าผมเป็นนายทหารหนุ่มที่เอาใจใส่การงานดี  ขยัน  มีอนาคตไกล
มีความรับผิดชอบดี  อายุเท่านี้ยังสามารถส่งเสียเลี้ยงน้องได้หลายคน   แต่คุณหญิงท่านไม่ชอบผม
เมื่อท่านไม่ชอบผมมากขึ้น  ท่านก็ลั่นวาจาไว้ว่า  หากผมไปสู่ขอลุกสาวท่าน
ท่านจะไม่ให้เป็นอันขาด เพราะ "ฉันไม่อยากให้ลูกสาวฉันลำบาก"  ท่านมักจะบอกใครๆ อย่างนี้เสมอ
.........
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ม.ค. 12, 08:50

"ความรักของผมมีอุปสรรคเช่นนั้น  ผมก็คิดหาทางได้ลุกสาวท่านเปฌ็นเจ้าสาวให้ได้และก็ทำได้สำเร็จ

วันที่ ๑๔  มีนาคม ๒๔๗๓  เป็นวันแต่งงานของผมกับลูกสาวของคุณหญิงเครือวัลย์
ขบวนขันหมากของผมจัดใหญ่โตมาก   มีนายร้อยเอก หลวงเดชรณรงค์  ผู้บังคับกองร้อยที่ผมสังกัด
เป็นผู้นำขบวนขันหมากแห่ไปบ้านเจ้าสาว  มีนักเรียนหญิงเข้าแถวในขบวนยาว
นักเรียนคู่หน้าสุดถือขันหมากและสินสอดทองหมั้น  ซึ่งก่อนนั้น  ได้มีการติดต่อเจรจาสู่ขอลูกสาว
ต่อคุณหลวงจบกระบวนยุทธก่อนแล้ว  คุณหญิงเครือวัลย์ท่านไม่ชอบผม  ไม่อยากยกลูกสาวให้ผม
จึงแกล้งเรียกสินสอดทองหมั้นเป็นทองคำหนักถึง ๒๐ บาท นับว่าเป็นสินสอดมูลค่าสูงมาก
ในยุคสมัยที่ก๋วยเตี๋ยวยังชามละ ๓ สตางค์  คุณหญิงท่านคงคิดว่า  นายทหารชั้นผู้น้อย
ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๘๐ บาท  คงจะไม่อาจหาสินสอดทองหมั้นมาตามที่ท่านเรียกได้แน่ๆ
แต่ผมก็หาวิธีหยิบยืมจากผู้ใหญ่ที่นับถือมาจนได้  แล้วค่อยผ่อนส่งทีหลัง
เฒ่าแก่ฝ่ายผม คือ หลวงเจริญเขตเขลางค์นคร  ซึ่งเป็นปู่น้อยของผม


เมื่อขบวนขันหมากของผมไปถึงบ้านเจ้าสาว  เฒ่าแก่สองฝ่ายเจรจาจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็นำตัวเจ้าสาวมาที่ห้องพิธี  แต่คุณหญิงเครือวัลย์ท่านไม่ยอมออกมาด้วย

เมื่อฝ่ายผมมอบสินสอดทองหมั้นแล้ว  ถึงเวลารดน้้ำ้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว  มีนายพันเอก  พระยามหาณรงค์เรืองเดช
ผู้บังคับบัญชากรมทหารราบที่ ๘ ซึ่งมีเมตตาแก่ผมมาก  ได้กรุณามาเป็นประธานในพิธีรดน้ำ

แขกทยอยมารดน้ำกันจนหมดแล้ว  ถึงคราวที่พ่แม่เจ้าสาวต้องรดน้ำแก่บ่าวสาว
คุณหญิงเครือวัลย์ท่านทำท่าว่าจะไม่ยอมออกมารดน้ำ  โดยอ้างว่าท่านยังคุมการทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อไม่เสร็จ
ญาติผู้พี่ของท่านคนหนึ่งถึงกับต้องเข้าไปขอร้องและจูงมือคุณหญิงให้ออกมารดน้ำแก่บ่าวสาวจนได้
แต่กระนั้นท่านก็ไม่ยอมไปร่วมในพิธีส่งตัวบ่าวสาวอีกอยู่ดี

เมื่องานแต่งงานผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาผมได้ย้านมาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการที่โรงเรียนแผนที่
ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๗๔  ตามที่ผมสอบแข่งขันได้  ผมได้ย้ายมาเช่าบ้านที่ถนนดินสอ
และผมก็ได้มีลูกสาวคนแรกที่บ้านหลังดังกล่าว

ผมกับภรรยาเลี้ยงลูกด้วยกันมาจนถึงต้นปี ๒๔๗๕  หลวงจบกระบวนยุทธได้รับคำสั่งให้ย้ายมาประจำการ
เป็นผู้บังคับกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๓ บางซื่อ  (ต่อมาเป็นที่ตั้ง ร.๑ พัน ๓ รอ.) คุณหลวงจึง
ได้พาครอบครัวจากเชียงใหม่ลงมาอาศัยอยู่ที่บ้านพักหลังใหญ่ในกรมทหาร 
คุณหลวงจบกระบวนยุทธคิดถึงลูกสาวมากอยู่ตั้งแต่เธอแต่งงานแยกออกมาแล้ว 
ประกอบกับคุณหญิงท่านก็ใจอ่อนเมื่อเห็นว่าผมมีหลานให้ท่านแล้ว   ท่านทั้งสองจึงขอให้ผมย้ายครอบครัว
ไปอาศัยอยู่กับท่าน  ภรรยาของผมทราบความเช่นนั้นก็ดีใจมาก  ที่จะได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่และน้องๆ
และมีคุณหญิงช่วยเลี้ยงดูหลานอีกด้วย

........
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ม.ค. 12, 14:32

หนังสืองานศพพันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม  กระบวนยุทธ)
มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งเป็นหนังสืออยุธยาอาภรณ์  คุณสมภพ จันทรประภา แต่ง
เล่มนี้ไม่มีประวัติ  แต่เห็นแพร่หลาย
อีกเล่มเป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติของคุณหลวงจบกระบวนยุทธล้วนๆ
ทั้งอย่างย่อและอย่างละเอียด  (เล่มสีเขียว)

ภาพ พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ จากหนังสืออยุธยาอาภรณ์

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 12:13



คุณหญิงเครือวัลย์  เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน  ๒๔๓๘
ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗


...................

บุตรสาวคนโตของคุณหญิง...ท่านผู้หญิงจงกล เกิดปี 2458

แต่งงาน 2473

มีหลานสาวคนโตให้คุณหญิงปี 2474 (คุณนงนาถ  เพ็ญชาติ)

เห็นได้ว่า คุณหญิง เป็นคุณยายตั้งเเต่อายุเพียง 36 เท่านั้น

และเมื่อคุณหญิงสิ้นบุญ บุตรสาวของท่าน...ท่านผู้หญิงจงกล มีอายุย่างเข้า 80 ส่วนหลานสาวคนโตอายุก็ 63

ถ้าเทียบกับครอบครัวทั่วๆไป อายุของหลานขนาดนี้ คงหาปู่ย่า ตายาย ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ยากมากๆนะครับ

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง