คำชี้แจง
มยิลิราวณัน เป็นพากย์ทมิฬ แปลว่าเรื่อง ราพย์นกยูง (อสูรตนนี้ทรงอุณหิษปักหางนกยูง)
แยกศัพท์เป็น มยิล (นกยูง) _อิ_ราวณัน ; กไต คือ กถา
เป็นเรื่องอยุ่ใน ปกรณ์ทมิฬ
เรียงเป็นภาษาไทยตามคำบอกเล่าของท่านพราหมณ์ ป. สุพรหมัณยศาสตรี แห่งราชบัณฑิตยสภา
เสฐียรโกเศศเล่าถึงเกร็ดเกี่ยวกับเรื่อง "มูลพลำ" ซึ่งมีในรามเกียรติ์ไทยและรามายณะของทมิฬ แต่ความหมายต่างกัน
"พอดีข้าพเจ้าได้
รามายณะภาษาทมิฬ จากแขกทมิฬคนหนึ่งที่ถนนสีลม หนังสือที่ได้มานี้มีขนาดใหญ่และหนาและเป็น ๒ เล่มจบ มีรูปภาพอยู่มากหน้า นึกดีใจว่าคงได้เรื่องบ้างเป็นแน่ เพราะระหว่างที่เราทำการค้นคว้าไปได้ความรู้ว่า อารยธรรมและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนและอินโดนีเซีย ที่ว่าได้มาจากอินเดียหาใช่ได้มาจากมัธยมประเทศทั้งหมดไม่ ส่วนมากมาทางอินเดียภาคใต้ มีชาติทมิฬ เป็นต้น แต่
รามายณะ ที่เราได้มาเป็นภาษาทมิฬ หมดหนทางจะรู้เรื่อง ได้ปรึกษากันอยู่ว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดตกลงว่าลองแบกเอาหนังสือนี้ไปหอพระสมุด ถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรีดู ลางทีจะได้เรื่องอะไรบ้าง
วันหนึ่งเราแบก
รามายณะทมิฬ มาหาความรู้จากพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี หน้าที่ถามตรงที่มีรูปภาพตกแก่พระสารประเสริฐ เมื่อเปิดพบภาพแผ่นใดก็ซักพราหมณ์ว่าเป็นเรื่องตอนไหน ได้รับอธิบายแล้วก็จดไว้ ทำอย่างนี้ล่วงไปสักครู่ใหญ่ก็ถึงภาพแผ่นหนึ่ง มีรูปพระลักษณ์พระรามและบริวาร พญาวานรกำลังแผลงศรตรงไปยังยักษ์ซึ่งมีอยู่หลายตน ตรงนี้พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรีอธิบายว่า กำลังยิงมูลพลำ พอได้ยินคำว่ามูลพลำเราก็หูผี่ง เพราะมูลพลำเป็นน้องสหัสเดชะ มีเรื่องอยู่ใน
รามเกียรติ์ แต่ในต้นฉบับ
รามายณะ ของวาลมีกิก็ไม่มี พระสารประเสริฐถามว่า "ตัวไหนเป็นมูลพลำ" พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรีตอบว่า "หมดนั่น ไม่จำเป็นไม่ออกใช้" พระสารประเสริฐถามว่า "อะไร ไม่จำเป็นไม่ออกใช้ ไอพิษหรือ" เวลานั้นมหาสงครามเพิ่งยุติลงไม่สู้ช้านัก เรื่องใช้ไอพิษในสงครามครั้งนั้นยังเป็นความรู้สึกที่สด ๆ อยู่จึงได้ถามเช่นนั้น ส่วนพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี เวลานั้นพูดไทยยังไม่คล่องและไม่เข้าใจคำไทยว่าไอพิษคืออะไร ในที่สุดพูดไม่เข้าใจกัน ร้อนถึงข้าพเจ้าต้องเป็นล่ามพูดภาษาอังกฤษแทนจึงได้รู้เรื่องว่ามูลพลำไม่ใช่ชื่อพญายักษ์ แต่เป็นชื่อกองทหารรักษาพระองค์ของทศกัณฐ์ เป็นกองทหารที่ทศกัณฐ์เลือกคัดเอาไว้ใช้เมื่อถึงคราวคับขันเข้าที่อับจน เรื่องที่มาของมูลพลำใน
รามเกียรติ์ จะมาจากทมิฬ จะได้มาทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามที ทำให้เราเกิดสนใจเรื่องวัฒนธรรมของทมิฬขึ้นและได้ความรู้แปลก ๆ เกี่ยวกับอักษรศาสตร์ประวัติศาสตร์ของไทยอีกหลายอย่าง
ต่อมาเราพบ
รามายณะ ฉบับของแคว้นกัศมีระ ซึ่งเขาย่อเรื่องไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในนั้นมีเรื่องตรงกันกับ
รามเกียรติ์ อยู่มาแห่ง นึกประหลาดใจว่าทำไมแคว้นกัศมีระซึ่งอยู่ห่างจากประเทศเราเป็นอย่างสุดหล้าฟ้าเขียว จึงมีเรื่อง
รามายณะ พ้องกันกับเรา นึกถึงประวัติศาสตร์อินเดีย ก็ระลึกได้ว่าอารยธรรมของอินเดียฝ่ายใต้ มีชาติทมิฬเป็นต้น เคยแผ่ย้อนขึ้นไปถึงอินเดียฝ่ายเหนือโดยเฉพาะเรื่องลัทธิศาสนานิกายไศวะ เพราะฉะนั้น เราจึงเชื่อว่า
รามเกียรติ์ ของเราจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ดี เห็นจะมาจากทมิฬเป็นส่วนมาก แต่เราก็ไม่สามารถจะทำการค้นคว้าก้าวหน้าต่อไป เรื่องที่มาของ
รามเกียรติ์ ซึ่งเราต้องการทำเพื่อดำเนินตามรอยพระยุคลบาท แห่งพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ดั่งที่มีพระราชปรารภไว้ในพระราชนิพนธ์
บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ก็ต้องยุติลงเพราะทำไปไม่ตลอด"
คัดจาก หนังสืออัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน ของ เสฐียรโกเศศ บทที่ ๑๗ การทำหนังสือร่วมกับนาคะประทีป
