เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 48987 ประชุมประวัติพระยา ภาคที่ ๑ (ลำดับที่ ๑ - ๕๐)
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 23 ม.ค. 12, 08:54

ขอบคุณคุณ piyasann  ที่กรุณามาลงประวัติพระยาจากตระกูลสุรนันทนน์อีก ๒ คน
ตอนนี้  ได้ประวัติพระยาแล้ว ๔๑ คน  เหลืออีก ๙ คนก็จบประชุมประวัติพระยา ภาคที่ ๑ แล้ว
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 23 ม.ค. 12, 16:13

๔๒.พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&group=1&date=30-04-2007&gblog=22


บันทึกการเข้า
chatchawan
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 23 ม.ค. 12, 18:10

๔๓.มหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา(หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2_(%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99_%E0%B8%9E%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D)


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 11:50

๔๔.  พระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะ (ศุข โชติกเสถียร)
เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๔ เปนบุตรเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) ๆ เปนบุตรพระยาโชดึกราชเศรษฐี (เถียน) ผู้ต้นสกุลโชติกเสถียร
เมื่อครั้งพระยาโชดึก ฯ เถียน ยังไม่ได้ทำราชการ ทั้งตัวพระยาโชดึก ฯ แลท่านสุ่นผู้ภรรยา ได้ถวายตัวเปนข้าหลวงอยู่ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
เพราะฉนั้นสกุลโชติกเสถียรจึงเปนสกุลข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกชั้นมา พระยาโชดึกฯ ได้ถวายบรรดาบุตรเปนมหาดเล็ก
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังไม่ได้เสวยราชย์ ส่วนเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) บิดาของพระยารณไชยชาญยุทธนี้
ทรงใช้สอยสนิทติดพระองค์มาแต่ยังเสด็จประทับอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดให้รับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก
ทรงใช้สอยติดพระองค์อยู่อย่างเดิม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนขุนสมุทโคจร แล้วเลื่อนเปนนายชิดหุ้มแพรเปนนายจ่ายง เปนหลวงนายสิทธิ
แล้วเปนเจ้าหมื่นเสมอใจราชแต่ถึงแก่กรรมเสียในที่นั้น ไม่ทันที่จะได้รับพระราชทานยศบันดาศักดิยิ่งขึ้นไป เจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) แต่งงานกับ
ถมยา ธิดาพระยาโชดึกฯ (ฟัก) มีบุตรธิดาหลายคน พระยารณไชยชาญยุทธนี้เปนบุตรใหญ่ ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กแต่ยังเด็ก ตามประเพณีผู้ที่อยู่ในสกุลข้าหลวงเดิม
แล้วไปเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนวัดบพิตรภิมุข จนสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยค ๑ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยารณไชยชาญยุทธ
เปนพระพี่เลี้ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ตั้งแต่อายุพระยารณไชย ฯ ได้ ๑๒ ปี ต่อมาเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๓๓
พระราชทานสัญญาบัตรเปนนายบำเรอบรมบาท ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๕ ได้เลื่อนเปนนายกวด หุ้มแพรมหาดเล็กต้นเชือก ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ เลื่อนเปนนายจ่ายง
 
เมื่อจัดหัวเมืองเปนมณฑลเทศาภิบาล จะจัดตั้งมณฑลนครไชยศรี ตำแหน่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสาครว่าง จะหาตัวผู้ซึ่งสมควรเปนผู้ว่าราชการจังหวัด
จัดการปกครองตามแบบที่ตั้งใหม่ทรงพระราชดำริห์ว่า นายจ่ายงหลักแหลมอยู่คน ๑ ในข้าราชการชั้นหนุ่ม จึงพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเปนพระสมุทสาครานุรักษ์
ออกไปเปนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสาคร เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๔๐ ออกไปอยู่ไม่ช้าก็ปรากฎ คุณวุฒิข้อสำคัญของพระยารณไชย ฯ อย่าง ๑
คือที่สามารถอาจจะทำให้กรมการตลอดจนราษฎรมีความนิยมนับถือทั่วไป คุณวุฒิอันนี้เปนเหตุอย่างสำคัญที่พระยารณไชย ฯ ทำการงานสำเร็จได้ผลดี
มีความชอบมาแต่ไปว่าราชการจังหวัด สมุทสาครครั้งนั้น และในที่อื่น ๆ ซึ่งพระยารณไชย ฯ ได้รับราชการต่อมาจนตลอดอายุ พระยารณไชย ฯ
ว่าราชการจังหวัดสมุทสาคร อยู่ ๔ ปี ปรากฎว่าคุณวุฒิควรจะรับราชการในตำแหน่งสำคัญกว่านั้นได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปน
พระยาศิริไชยบุรินทร์ ย้ายมารับราชการในตำแหน่งปลัดมณฑลซึ่งมีน่าที่ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี เมื่อปี ฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔
รับราชการในตำแหน่งนี้อยู่จนตลอดรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้เปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะถือศักดินา ๑๐๐๐๐
พระราชทานพานทองเปนเกียรติยศ รับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาจนตลอดอายุ
 
มีเรื่องซึ่งควรจะกล่าวเปนพิเศษ ให้ปรากฎในประวัติของพระยารณไชญชาญยุทธอย่าง ๑ ด้วยพระยารณไชยชาญยุทธได้เปนพระพี่เลี้ยงเปนข้ากลวงเดิม
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ดังกล่าวมาแล้ว พอเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติก็ประจวบตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ว่าง
ได้เปนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นไปอยู่มณฑลนครสวรรค์ พอไปถึงในหมู่นั้นเองก็ได้พระแสงศรกำลังรามมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเปนศิริมงคล
แลต่อมาไม่อิกกี่เดือนก็ได้พระยาช้างเผือก คือพระเสวตรวชิรพาหะมาถวายเพิ่มภูลพระบารมีติดต่อกันไป ของที่เกิดชูพระเกียรติยศทั้งนี้ ล้วนได้มาแต่มณฑลนครสวรรค์
ในเวลาแรกพระยารณไชยชาญยุทธขึ้นไปเปนสมุหเทศาภิบาลทั้ง ๒ อย่าง จึงเห็นเปนอัศจรรย์
 
พระยารณไชยชาญยุทธได้เคยรับราชการจรเปนพิเศษหลายครั้งหลายอย่าง ครั้งแรกตั้งแต่ยังเปนนายจ่ายงมหาดเล็ก ก็ได้เปนข้าหลวงไปตรวจราชการทาง
มณฑลปราจิณถึงมณฑลบุรพา เมื่อ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ คราว ๑ นอกจากนั้นก็ล้วนในราชการที่เกี่ยวข้องด้วยปกครองหัวเมืองตามน่าที่ ซึ่งไม่จำต้องยกมาพรรณา
 
พระยารณไชยชาญยุทธได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลหลายครั้ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ เปนต้นมา เครื่องราชอิศริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานเปนอย่างสูง
ในเวลาเมื่อถึงอนิจกรรม คือ รัตนวราภรณ์ มหาสุราภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ นิภาภรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ ๓ รัตนาภรณ์ ว. ป. ร. ชั้นที่ ๓
เข็มพระชนมายุสมมงคลรัชกาลที่ ๕ เข็ม ว.ม. ชั้นที่ ๑ พระราชทานแต่ในรัชกาลที่ ๕ เข็ม ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑
นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเหรียญที่รฦกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ
 
พระยารณไชยชาญยุทธได้แต่งงานกับท่านหุ่นมีบุตรธิดาด้วยกัน คือ
๑. ธิดาชื่อสร้อย เปนภรรยาพระชวกิจบรรหาร ( เลื่อน ณ ป้อมเพ็ชร)
๒. บุตรชื่อนายส่าน ถวายตัวเปนมหาดเล็ก ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้ไปเรียนวิชาอยู่เมืองอังกฤษในเวลานี้
๓. นายโสดถิ์ คนเล็กยังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียน

พระยารณไชยชาญยุทธถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ คำนวณอายุได้ ๔๕ ปี
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 13:18

๔๔.  พระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะ (ศุข โชติกเสถียร)
เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๔ เปนบุตรเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) ๆ เปนบุตรพระยาโชดึกราชเศรษฐี (เถียน) ผู้ต้นสกุลโชติกเสถียร

พ.ศ. ๒๕๑๔  ?  หรือว่าเป็น พ.ศ. ๒๔๑๔  ฮืม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 19:00

๔๕. มหาอำมาตย์ตรี พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน)

   พระยาโอวาทวรกิจ  นามเดิม เหม  ผลพันธิน  เป็นบุตรของหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย ผลพันธิน) และนางธรรมานุวัติจำนง (เพ้ง ผลพันธิน)  เกิดที่บ้านหลังวัดราชนัดดา จังหวัดพระนคร  เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๐  เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง  สอบไล่ได้ประโยคสอง ซึ่งเป็นประโยคสูงสุดในสมัยนั้นเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๓๔ แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่เรียนในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เป็นรุ่นแรกเมื่อวันที่  ๑๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๓๕  มีนักเรียนร่วมชั้นเรียน ๓ คน  และในปลายปีเดียวกันนั้นมีนักเรียนสอนเข้าใหม่อีก ๓ คน แต่คนเก่าก็ลาออกไปเสียก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตร ๒คน พระยาโอวาทฯ เป็นนักเรียนที่เรียนสำเร็จจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์รุ่นแรก สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๓๗ และได้เป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ต่อจากนั้นได้อุปสมบท ณ วัดเทพธิดาราม จังหวัดพระนคร เป็นเวลาหนึ่งพรรษา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปาน) เป็นอุปัชฌาย์
พระยาโอวาทวรกิจ เริ่มรบราชการครั้งแรกเป็นครูฝึกหัดอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แล้วได้เลื่อนหน้าที่ขึ้นเป็นลำดับ จนได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคารเมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี  แล้วได้เป็นอาจารย์สอนพิเศษที่โรงเรียนแผนที่  กรมแผนที่ทหารบกที่สระปทุม  และโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง  วิชาที่ท่านสอนได้อย่างช่ำชอง คือ ภาษาไทย  ต่อมาท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมสูงเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕  ครั้นกระทรวงธรรมการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกขึ้นที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเดิมที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาใน พ.ศ. ๒๔๔๖  ท่านก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนั้น  และได้แสดงความสามารถในการปกครองโรงเรียน อีก ๓ ปีต่อมาจึงได้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนแขวงมัธยมของกรมศึกษาธิการ  แล้วเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชแพทยาลัย 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลเมื่อวันที่  ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายพระยาโอวาทวรกิจซึ่งเวลานั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระโอวาทวรกิจมาสังกัดกรมมหาดเล็ก  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นคนแรก  เมื่อวันที่  ๑๗  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๕๔  ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงวันที่  ๘  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๕๕  กระทรวงธรรมการได้ขอตัวกลับและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖
   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้กลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานสอบไล่ในกรมศึกษาธิการซึ่งเป็นกรมใหญ่คู่กับกรมธรรมการ  โดยกรมศึกษาธิการนั้นแบ่งออกเป็นกรมย่อยๆ มีหัวหน้ากรมเป็นชั้นเจ้ากรม คือ กรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา และกรมราชบัณฑิต ส่วนกรมธรรมการมีหน้าที่จัดการพระศาสนา พระยาโอวาทฯได้แสดงความสามารถในทางบริหารการศึกษา ยังประโยชน์ให้แก่กรมศึกษาธิการเป็นอันมาก จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคหนึ่ง ดูแลการศึกษาในห้ามณฑลคือ กรุงเก่า (อยุธยา)  นครไชยศรี  ราชบุรี  ปราจิณ และจันทบุรี  ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรมวิสามัญศึกษา มีหน้าที่จัดอาชีวศึกษาและโรงเรียนสตรี เป็นกรมคู่กับกรมสามัญศึกษา  ทั้ง ๒ กรมนี้เป็นหน่วยงานสังกัดกรมศึกษาธิการ  นอกจากนั้นท่านยังได้ทำหน้าที่ธรรมการมณฑลกรุงเทพฯ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งในกระทรวงนครบาลแต่ครั้งยังไม่ได้รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย   ตำแหน่งสูงท้ายในราชการของท่านคือ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ  แล้วได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ มีเรื่องเล่ากันว่า เนื่องจากรัฐบาลฝืดเคืองในเรื่องการเงินจำเป็นต้องดุลยภาพข้าราชการ  สำหรับกระทรงศึกษาธิการจะต้องตัดงบประมาณเงินเดือนลงราวปีละหนึ่งแสนบาท  กระทรวงก็จำเป็นที่จะต้องคัดข้าราชการและครูออกเพื่อจะได้ลดงบประมาณเงินเดือนให้เป็นไปตามความต้องการของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ท่านจึงได้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ  เพื่อช่วยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องออกจากราชการน้อยคน  แต่เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น  เห็นว่าท่านทำราชการได้ดีและปฏิบัติหน้าที่ถึง ๒ ตำแหน่งยังไม่สมควรที่จะออก  แต่ท่านก็ไปวิงวอนและชี้แจงเหตุผลให้ฟัง  จึงได้ออกสมประสงค์ เมื่อท่านลาออกนั้น มียศเป็นมหาอำมาตย์ตรี  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า (พานทอง)  ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นบำเหน็จราชการ ชีวิตในกระทรวงศึกษาธิการของท่านจึงสิ้นสุดลงเพียงนี้
ศาสตราจารย์ รอง  ศยามานนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับพระยาโอวาทวรกิจมาแต่เยาว์วัยได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีนิสัยร่าเริง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เคยเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม  แต่เมื่อร่างกายไม่อำนวยให้ท่านเล่นกีฬาหนักๆ ได้  ท่านก็ยังชอบกีฬาอื่นๆ สารพัด ทั้งมีน้ำใจเป็นนักเลงพร้อมกันไปด้วย  ท่านเขียนเรื่องจรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอลลงในหนังสือวิทยาจารย์  มีข้อความที่น่าสังเกตคือ
“จรรยาของผู้ดู จะเป็นพวกข้างใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือดูเป็นกลางๆ ก็ได้แต่ไม่ควรจะมีกริยาวาจาส่อให้เห็นว่าตนทุจริตประการใดประการหนึ่ง เช่น บอกว่าให้ผู้เล่นโดยผิดกติกา หรือ เยาะเย้ยฝ่ายศัตรูในเวลาล้มหรือเตะผิดหรือแพ้ จะช่วยด้วยการบอกก็ดี หรือท่าทางก็ดี ไม่เป็นการห้ามปราม เช่นบอกให้เตะโกล์ บอกให้หลบ บอกเตะแรง ให้หน้าให้ตาก็ได้
การผิดกติกาของการเล่น บางคราวผู้ดูบางคนที่เป็นพวกฝ่ายพวกเล่นมักจะส่งเสริม คนชนิดนี้ได้ชื่อว่าไม่ใช่นักเลง”
   น้ำใจนักกีฬาพาให้ท่านมีเพื่อนฝูงกว้างขวางในวงสังคมและได้รับเลือกเป็นกรรมการคนหนึ่งในสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๕๙  นอกจากนั้นยังกล่าวกันว่า ท่านมักจะหาเรื่องพูดตลกขบขันเล่าให้เพื่อนฝูงฟังอย่างสนุกสนาน ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และรักษาตัวของท่านตามแบบไทย  ชอบไปเที่ยวตามต่างจังหวัดกับพระยาไพศาลศิลปสาตร (รื่น  ศยามานนท์ – ต่อมาเป็นพระยาราชนกูลวิบุลยภักดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย) อธิบดีกรมกรมศึกษาธิการและปลัดกระทรวงธรรมการอยู่เป็นนิจ  นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้แสดงละครเก่งคนหนึ่ง และก็ได้แต่งบทละครไว้หลายเรื่อง  เช่น เรื่องเสียรอย เรื่องใครผิด เป็นต้น กล่าวโดยย่อก็คือ ท่านเป็นครูรอบด้าน เป็นครูสอนหนังสือ เป็นครูแต่งแบบเรียน เป็นครูที่มีความสามารถทางบริหารการศึกษา ทั้งเป็นครูที่เชียวชาญในการแสดงละคร การโต้วาที และยิ่งกว่านั้น ท่านยังเป็นคนใจใหญ่ เมื่อคราวชนะเลิศในการโต้วาทีที่กรมศิลปากร ท่านก็ได้ยกเงินรางวัลทั้งหมดบำรุงกองทัพอากาศเพื่อเสริมสร้างการป้องกันบ้านเมืองของเรา ครูที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทั้งหมดเช่นนี้ ย่อมหาได้ยาก
   ท่านได้แต่งหนังสือ วิธีสอนเลขเบื้องต้น และมีจิตใจรักอาชีพครู ทั้งยังได้เขียนบทความเรื่องการเป็นครู โดยใช้นามปากกาว่า “ครูทอง” ลงในหนังสือวิทยาจารย์ดังนี้
“ไม่ต้องสงสัย พวกครูที่ไม่ได้ประกาศนียบัตรครูมักเข้าใจตนเองว่า ตนไม่มีความรู้ดีในการเป็นครู และคงไม่ใคร่ได้รับตำแหน่งสูงความเข้าใจเช่นนี้ เป็นการดีอยู่ เพราะตนจะได้พยายามค้นคว้าหลักฐานในการเป็นครูมากขึ้น และคนที่เป็นครูมีประกาศนียบัตรแล้วมักเข้าใจตนเองว่าเป็น ผู้มีความสามารถในการสอนตามใบประกาศนียบัตรที่ตนมีอยู่ และคงเดินเข้าสู่ตำแหน่งเป็นลำดับไป ความเข้าใจเช่นนี้ เป็นการไม่ดี เพราะจะพาให้จิตของตนฟุ้งซ่านไป และภายหลังจะปรากฏขึ้นว่า การสอนของตนเลวทรามลง ความจริงครูจะดีหรือเลวอยู่ที่ตัวบุคคล และอยู่ที่การงานที่สอนที่ปกครองโรงเรียน ผลที่สุดคือ ศิษย์ที่ออกไปแพร่หลายอยู่ในกิจการอันชอบด้วย ขนบธรรมเนียมของบ้านเมือง ส่วนสำนักที่ตั้งขึ้นเพื่อรับคนที่มีนิสัยเป็นครูที่เรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดครูนั้น ในสถานที่นั้นก็สอนพวกนั้นให้มีความรู้ความต้องการที่จะให้ออกไปเป็นครู มีกำหนดเวลาเล่าเรียนเป็นขีด เมื่อถึงกำหนดแล้วก็สอบความรู้ พวกที่เรียน นักเรียนคนใดที่มีความรู้ตามที่หลักสูตรวางไว้ ก็ให้นับว่าผู้นั้นเป็นครุได้ ให้ประกาศนียบัตรถือว่าเป็นสำคัญ ใบประกาศนียบัตรนั้น เป็นแต่แสดงความว่าเป็นผู้มีความรู้ เมื่อแรกออกไปรับราชการเป็นครู ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้ สำหรับชั้นประกาศนียบัตร ส่วนการต่อไปภายหน้า อาศัยกิจการที่ตนได้กระทำไปแล้ว ถ้ากิจการเหล่านั้นได้ดำเนินขึ้นไปเจริญดี ตนย่อมได้รับความยกย่องเป็นพิเศษ เหตุฉะนั้นจึงมีบางคนในพวกเดียวกัน ต่างกันไปในตำแหน่งต่างๆ กันไม่ควรจะเข้าใจผิดในเรื่องเช่นนี้”


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 26 ม.ค. 12, 19:04

๔๖. หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)

   หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) เกิดวันที่ ๑๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๓๐ ในรัชกาลที่ ๕ นามเดิม ศร ได้รับพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นสกุล ศรเกตุ ได้ศึกษาวิชาสำนักโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  กับโรงเรียนอาจารย์ สอบไล่ได้จบหลักสูตรตามยุคบัญญัติ แล้วเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ อายุ ๑๙ ปี สืบมาตั้งแต่เวลานั้น แลถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เวลา ๔.๕๕ ก.ท. ในรัชกาลที่ ๖ ในคราวเกิดไข้หวัดใหญ่แพร่หลาย คงได้รับราชการอยู่ ๑๔ ปี อายุได้ ๓๒ ปี
   ในระหว่าง ๑๔ ปี ที่ได้รับราชการมานี้ แรกได้เป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร์ ๔ ปี ต่อมมาได้ย้ายไปเป็นครูโรงเรียนมัธยมพิเศษวัดประทุมคงคา ๒ ปี ครั้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทระงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตั้งแต่ยังตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนได้เลื่อนออกมาตั้งอยู่ที่พระราชวังดุสิต ริมถนนราชวิถี ตลอดจนได้เป็นอาจารย์ปกครองแลผู้บังคับการโรงเรียนนั้น ภายหลังได้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นที่สุด
   รวมเวลาได้รับราชการอยู่ในสำนักกระทรวงศึกษาธิการ ๖ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ ๖๕ บาท จนถึงเดือนละ ๑๐๐ บาท และได้รับราชการอยู่ในพระราชสำนัก ๘ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก จนถึงเดือนละ ๖๐๐ บาท เมื่อถึงอนิจกรรมแล้วยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนเท่าที่ได้รับพระราชทานในที่สุดเป็นจำนวนอีก ๓ เดือน ให้เป็นกำลังแก่บุตรแลภรรยาต่อมา
   การที่ได้มาเป็นข้าในพระราชสำนักนี้ในระหว่าง๘ ปีนั้น หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ ได้รับพระมหากรุณาอีกหลายประการ กล่าวโดยสังเขป คือ
   ๑.ได้มีโอกาสถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง เป็นข้าในหลวงที่ได้มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ฟังกระแสพระราชนิยมเป็นทางปฎิบัติราชการแลปฎิบัติตน ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นได้อยู่เสมอ
   ๒.ได้พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์มีนาม อภิรักษ์ราชฤทธิ์ ตั้งแต่ชั้นหลวงถึงชั้นพระ จนได้เป็นพระยาบริหารราชมานพ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็กสืบมา
   ๓.ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่ชั้น หุ้มแพร จ่า รองหัวหมื่น จนเป็น หัวหมื่น ตามลำดับในกรมมหาดเล็ก
   ๔.ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตราตติยจุลจอมเกล้าพิเศษ พร้อมด้วยเครื่องยศโต๊ะทองกาทอง มงกุฎสยามตั้งแต่ชั้น ๕ ถึงชั้น ๓ ช้างเผือกสยามตั้งแต่ชั้น ๕ ถึงชั้น ๔ ตราวชิรมาลา เหรียญบรมราชาภิเษก เหรียญราชจูรี เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๔ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
   ๕.ได้รับพระราชทานเสื้ออาจารย์ กับเหรียญครู เครื่องหมายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตามตำแหน่งและวุฒิ
   ๖.เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้น ได้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่ารับราชการเสือป่าด้วยอีกส่วนหนึ่ง มาตั้งแต่แรกๆ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศนายเสือป่าถึงชั้นนายกองโท มีตำแหน่งเป็นราชองครักษ์ด้วย
   หัวหมื่น พระยาบริหาราชมานพ ได้ทำการวิวาหมงคลกับ คุณหญิงทรัพย์ บริหารราชมานพ มีบุตรชายแลหญิง รวม ๗ คน ชาย ๑ หญิง ๖ ส่วนบุตรชาย ๑ กับบุตรหญิง ๓ คนนั้น ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว คงเหลืออยู่เวลานี้บุตรหญิง ๓ คน
   หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ ป่วยเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลาเช้าที่บ้านตำบลหลังวัดเทพธิดา ในสมัยเมื่อไข้หวัดใหญ่กำลังแพร่หลาย ชั้นต้นก็ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา แล้วจึงกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ หุ้มแพรหลวงศรีวโรสถ กับมหาดเล็กวิเศษ บุญรอด โรจนารุณ แพทย์ประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ตรวจอาการแลรักษา มีอากาทรงแลทรุดเป็นลำดับมา ครั้นวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แพทย์เห็นอาการทวีขึ้นทำให้ปอดพิการ จึ้งได้เชิญนายพันโท พระศักดาพลรักษ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาช่วยในการรักษา นายพันโท พระศักดาพลรักษ์ ตรวจดูอาการแล้วแนะนำให้ไปอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้วหัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ ได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น นายแพทย์ได้พร้อมกันจัดการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เต็มตามความสามารถ แต่หากเป็นเวลาที่ หัวหมื่น พระบริหารราชมานพ ได้ถึงกาลกำหนดแห่งอายุ อาการของโรคจึงกำเริบขึ้นสุดวิสัยที่นายแพทย์จะรักษาได้ ครั้นวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๔.๕๕ ก.ท. ถึงแก่อนิจกรรม พระราชทานน้ำอาบศพแลหีบทองทึบเป็นเกียรติยศ ภายหลังได้ทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการพระราชทานเพลิงศพ เป้นของหลวงเป็นเกียรติยศพิเศษด้วยอีก ส่วนหนึ่ง ณ วัด จักรวรรดิราชาวาศ ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ แลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแลบ้านเรือนให้บุตรและภรรยาอีกด้วย
   หัวหมื่น พระบริหาราชมานพ เป็นผู้มีสติปัญญาอย่างสุขุม แลอัทยาศัยเยือกเย็นโอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อย มีกิริยาอันสุภาพ ทั้งประกอบด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความสุจริต แลดำเนินการตามกระแสพระบรมราโชวาททุกประการ เป็นที่พอพระราชหฤทัยตลอดมาจนตราบเท่าถึงอนิจกรรม



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 14:46

กระทู้เลื่อนหล่นกระดานไป  จึงต้องออกแรงดึงขึ้นมา

๔๗.ประวัติสังเขปเสวกเอก พระยานครราชเสนี (สหัด  สิงหเสนี)

พระยานครราชเสนี เป็นบุตรของนายพลตรี พระสิงหเสนีศรีสยเมนทรสวามิภักดิ์ (สอาด  สิงหเสนี)
กับคุณหญิงหงษ์  สิงหเสนี

เกิดที่ ต.หัวลำโพง อ.ปทุมวัน จ.พระนคร เมื่อวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒  ปีมะเมีย  ๒๔๒๕

เริ่มศึกษษวิชาการที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส  จากนั้นได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนดังต่อไปนี้
โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส  โรงเรียนอัสสัมชัญ  โรงเรียนราชวิทยาลัย

พ.ศ.๒๔๔๒ เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ  ณ โรงเรียนปรีแปเรตตอรีสกูล  เมืองเคนชิงตัน
และที่ลิงคนซอินลอนดอน  จนสอบได้เนติบัณฑิตอังกฤษ

พ.ศ.๒๔๕๐ เดินทางกลับสยาม มาศึกษาต่อที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในกาลต่อมา)

ธันวาคม ๒๔๕๐ เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ ๕

พ.ศ.๒๔๕๑ อุปสมบทและจำพรรษาที่วัดโสมนัสวิหาร

ก.พ. ๒๔๕๐  รับราชการเป็นผู้ช่วยกองล่าม ฝึกหัดราชการ

ก.ค. ๒๔๕๑  รับราชการเป็นผู้พิพากษาในกองข้าหลวงพิเศษ และไปพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี

พ.ย. ๒๔๕๑ เป็นผู้พิพากษาศาลโปริสภาที่ ๒

ม.ค. ๒๔๕๑ รั้งตำแหน่งหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบุรี

พ.ค. ๒๔๕๒ ช่วยศาลมณฑลนครไชยศรี

ส.ค. ๒๔๕๒ ช่วยศาลนนทบุรี

พ.ย. ๒๔๕๒ เป็นผุ้พิพากาษศาลมณฑลอีสาน

พ.ย. ๒๔๕๔ เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ

ก.พ. ๒๔๕๖ รับตำแหน่งตุลาการศาลรับสั่ง กระทรวงวัง

ต.ค. ๒๔๖๑ รับตำแหน่งเจ้ากรมกรมการเมือง  กระทรวงมหาดไทย

ธ.ค. ๒๔๖๓ เป็น ผวจ.นครราชสีมา

มี.ค. ๒๔๖๕ เป็น ผวจ.ภูเก็ต

พ.ค. ๒๔๗๑  ออกจากราชการ

...
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 15:45

ราชการเสือป่านั้น  พระยานครราชเสนีได้เป็นสมาชิกเสือป่ากองราบหลวงรักษาพระองค์
เมื่อ ๒๔๕๔  จากนั้นได้รับพระราชทานยศเป็นนายหมู่โท  เมื่อ เมษายน ๒๔๕๗
ต่อจากนั้น ได้เป็นเสือป่าราชองครักษ์เวร เมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐ 

มีนาคม ๒๔๖๐ เป็นนายกองตรี ประจำแผนกเสนาธิการ  กองเสนาน้อยราบเบา
และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูสอนวิชาธรรมะระวางประเทศ  ในโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ
ต่อมา เมษายน ๒๔๖๔  เป็นผู้บังคับการกรมเสือป่านครราชสีมา  ในกองเสนาตะวันออก

การเลื่อนยศบรรดาศักดิ์

พ.ค.๒๔๕๔  รับพระราชทานยศ อำมาตย์ตรี มหาดเล็กหุ้มแพร  บรรดาศักดิ์ที่นายหัสบำเรอ หุ้มแพรวิเศษ

พ.ค. ๒๔๕๗  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พระศรีวิกรมาทิตย์

พ.ย. ๒๔๕๗  รับพระราชทานยศ เสวกโท

เม.ย. ๒๔๕๘ รับพระราชทานยศ เสวกเอก

เม.ย. ๒๔๖๒  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พระยาราชเสนา

ต.ค. ๒๔๖๓  เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยานครราชเสนี

ชีวิตสมรส  สมรสกับคุณหญิงถนอม  บุตรีพระเหมสมาหาร (เพิ่ม  สิงหเสนี) กับนางพร้อม สิงหเสนี
หลานพระยาประชาชีพบริบาล (เหม สิงหเสนี) กับคุณหญิงเกษ  สิงหเสนี (สกุลเดิม อินทรกำแหง)
มีบุตรี คือ นางนัดดา  สิงหเสนี  คุณหญฺงถนอม  ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๕ มิ.ย. ๒๔๖๓

ต่อมา  พระยานครราชเสนี ได้สมรสกับคุณหญิงเจือ  สิงหเสนี
ธิดาพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง  สิงหเสนี) กับคุณหญิงตุ่ม  สิงหเสนี
ไม่มีบุตรด้วยกัน

พระยานครราชเสนี มีบุตรกับภรรยาดังนี้

๑.นางนัดดา  สิงหเสนี  ภรรยานายอรุณ  สิงหเสนี
๒.นายสุขเกษม  สิงหเสนี บุตรนางชื้น 
๓.นางสาวศรี  สิงหเสนี  บุตรีนางชื้น
๔.นางประสนีย์  พหลโยธิน  บุตรีนางประยงค์
ภรรยาหลวงอนุสรนนทิกิจ (ชด  พหลโยธิน)
๕.นายเสริม  สิงหเสนี  บุตรนางผิว

พระยานครราชเสนีมีหลานดังนี้

นายสุขเกษม  สิงหเสนี มีบุตรกับหม่อมราชวงศ์ภัทรา  ทวีวงศ์
ธิดาหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ  ทวีวงศ์ ดังนี้
๑.นายสืบสาย  ๒.นายสุนัย  ๓.นางสาวสิวลี  ๔.เด็กหญิง(ยังไม่มีชื่อ)

นางประสนีย์ พหลโยธิน  มีบุตรกับหลวงอนุสรนนทิกิจ ดังนี้
๑.นายนึกรัก  ๒.นางสาวเจตจันทร์  ๓.นางสาวระวาด

พระยานครราชเสนี ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย. ๒๔๘๐
อายุ ๕๕ ปี
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 07 ก.พ. 12, 11:04

๔๘.ประวัติพระยาศรีอัคราช (เมือง)

พระยาศรีอัคราช (เมือง) เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค)

ได้เป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๕ ตำลึง

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คงรับราชการในกรมมหาดเล็ก

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์
เป็นหลวงสุนทรโกษา  สังกัดกรมท่ากลาง  รับพระราชทานเบี้ยหวัด อีกปีละ ๑๐ ตำลึง
รวมเป็นปีละ ๑๕ ตำลึง   ทรงใช้สอยคุ้นเคยแลได้ราชการตามพระราชประสงค์
ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงแก้วอายัด  สังกัดกรมท่ากลาง
เพิ่มเบี้ยหวัดขึ้นอีก ๑๐ ตำลึง  รวมเป็นปีละ ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง

จากนั้น  หลวงแก้วอายัด (เมือง) ป่วย  จึงกราบบังคมทูลลาออกนอกราชการ
แลคงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง  จนกระทั่งหายป่วยไข้แล้ว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการตามเดิม  แลโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงสุนทรโกษา
รับเบี้ยหวัดเท่าเดิมจนสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๓

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิไชยาธิบดีศรีรณรงคฦาไชยอภัยพิริยภาหะ
ผู้สำเร็จราชการเมืองจันทบุรี  แลได้รับพระราชทานพานทองคำเหลี่ยม  เต้าน้ำ  
แลกระโถนทองคำเป็นเครื่องยศด้วย

พระยาวิไชยาธิบดีศรีรณรงคฦาไชยอภัยพิริยภาหะ (เมือง) รับราชการมาช้านาน
จนอายุล่วงได้ ๗๐ ปีเศษ  จึงได้กราบถวาบบังคมลาออกนอกราชการ
ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งยศเป็นที่พระยาศรีอัคราช สังกัดกรมท่ากลาง
รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๒ ชั่ง  แลกลับเข้ามารับราชการใกรุงเทพพระมหานคร

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้รับพระราชทานดวงตรา
ทุติยจุลจอมเกล้า เป็นเครื่องยศ  

วันเดือน ๑๒  ปีกุน  ๑๒๓๗  ป่วยเป็นโรคชรา  จนถึงวันเสาร์  เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ
ปีชวด ๑๒๓๘  เวลา ๗ ทุ่ม  ถึงอาสัญกรรม  อายุได้ ๘๒ ปี
พระราชทานโกศกรมให้ใส่ศพ  ตั้งบนแท่น ๒ ชั้น  ฉัตรตีพิมพ์ ๔ คู่  กลองชะนะ
พื้นเขียว ๔ คู่  พระราชทานพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม  ๓ คืน  เป็นเกียรติยศ


พระยาศรีอัคราช (เมือง) นี้  เป็นบรรพบุรุษของสกุล บุรานนท์  ซึ่งเป็นสกุลย่อยในสายสกุลบุนนาคสายหนึ่ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 07 ก.พ. 12, 11:30

๔๙.ประวัติพระยาดำรงคราชพลขัน (จุ้ย  คชเสนี)

พระยาดำรงคราชพลขัน (จุ้ย) เป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ธอรุ)

เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ผ่านการบรมราชาภิเษกแล้ว  นายจุ้ยจึงได้มารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง
รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๕ ตำลึง

จากนั้น  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปราชการทัพกับเจ้าพระยามหาโยธา ผู้บิดา
รบเจ้าอนุ เมืองเวียงจันท์   ครั้นสำเร็จศึก  เดินทางกลับเข้ามาแล้ว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระธนูสิน
ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์  รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๒ ชั่ง

ต่อจากนั้น  มีพระบรมราชโองการให้ไปทำการร่อนทองคำที่เมืองกำเนิดนพคุณ
เมื่อเดินทางกลับเข้ามาพระนคร  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระนครเขื่อนขันธรามัญราช
ชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม  ผู้สำเร็จราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์
แลได้รับพระราชทานถาดหมากทองคำ  คนโททองคำ  สมปักปูมพกหนึ่ง
เป็นเครื่องยศพระยาเจ้าเมือง  กับเพิ่มเบี้ยหวัดเป็นปีละ ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์ในแผ่นสัญญาบัตรเป็น
พระยาดำรงราชพลขันรามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม
ผู้สำเร็จราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์   แลได้รับพระราชทานประคำทอง ๑ สาย
เพิ่มเบี้ยหวัดเป็นปีละ ๓ ชั่ง  

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ได้รับราชการ
ฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหน้าที่เดิม  จนกระทั่งวันเดือน ๓ ปีกุน ๑๒๓๗
ป่วยเป็นโรคบิด ได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษา  อาการทรงอยู่

วันเดือน ๗ ปีชวด ๑๒๓๘  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์
โปรดให้หลวงจินดาโอสถมาตรวจดู  ว่าเป็นโรคชรา  ประกอบยาให้รับประทาน
อาการผันแปรไป ทรงบ้าง หนักลงบ้าง  

วันเดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ศกเดียวกัน  ขับถ่ายไม่เป็นครั้ง ได้ตามหมอกาแวล
มาตรวจดู  อาการทรุดลงอีก  รวมป่วยมาได้ ๕ เดือนเศษ

ครั้นวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ  เพลาทุ่มหนึ่งเศษ ถึงแก่อนิตยกรรม
อายุได้ ๗๒ ปี  
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 07 ก.พ. 12, 16:32

มีเกร็ดประวัติ พระยานครราชสนี (สหัด  สิงหเสนี) ที่คุณหลวงท่านนำมาบันทึกไว้ในความเห็นที่ ๘๒ คือ
เมื่อเจ้าคุณรับหน้าที่เป็น เจ้ากรมกรมการเมือง  กระทรวงมหาดไทย  เมื่อเดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๖๑  ประจวบกับเริ่มจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในดุสิตธานี  หม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร  นวรัตน สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิตราชธานี จึงได้เชิญท่านราม  ณ กรุงเทพฯ (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖) มาอำนวยการเลือกตั้ง  ต่อจากนั้นไม่นานมีการประกาศใช้ธรรมนูญลักษณปกครองดุสิตธานี  ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญของดุสิตธานี  คณะนคราภิบาลผู้บริหารดุสิตธานีชุดแรกจึงต้องพ้นหน้าที่และต้องมีการเลือกตั้งใหม่  ท่านสมุหเทศาภิบาลก็ได้ไปเชิญท่านราม  ณ กรุงเทพฯ มาจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง  แต่ท่านรามติดธุุระสำคัญ  จึงแนะนำให้ไปเชิญพระยาราชเสนา เจ้ากรมการเมืองที่เพิ่งรับตำแหน่งมาไม่นานให้มาจัดการเลือกตั้งในดุสิตธานีแทน

ข้อสังเกตคือ ท่านเจ้าคุณเพิ่งจะมารับหน้าที่เจ้ากรมการเมืองได้ราวสองเดือนก็ต้องมาอำนวยการเลือกตั้ง  และได้ทำหน้าที่นี้ต่อมาอีกหลายคราว  หรือนี่คือพระราชประสงค์ที่จะสอนข้าราชการในพระองค์ด้วยวิธี Play to Lrarn
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 07 ก.พ. 12, 16:51

๕๐.ประวัติของพระยาวิชิตชลทีศรีสงคราม (ยัง)  ต้นสกุล  สถาณุวัต

เป็นบุตรของพระมหามนตรี (ซับ) ที่แต่งบทละคอนเรื่องระเด่นลันได

พระยาวิชิตชลทีศรีสงคราม (ยัง) เดิมเป็นจางวางในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ครั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว  
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายยัง จางวาง
เป็นที่จมื่นมหาสนิท  ปลัดกรมพลพันขวา  รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง
มีหน้าที่สำหรับทรงใช้สอยให้หาต้นไม้ดอกไม้ผลต่างๆ  รับราชการมาด้วยดีจึงโปรดเกล้าฯ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไชยพร  ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย  เบี้ยหวัดเป็นปีละ ๓๐ ตำลึง

ครั้นขึ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจองเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปสืบราชการทัพ
ณ เมืองเชียงใหม่  เมื่อคราวไปรบทัพเมืองเชียงตุงครั้งหนึ่ง  ครั้นเดินทางกลับเข้ามาพระนคร
โปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งยศเป็นพระอินทรเทพ  เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา
แลพระราชทานสมปักปูมดอกเล็กพกหนึ่ง  เพิ่มเบี้ยหวัดเป็นปีละ ๓ ชั่ง  
จากนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ไปชำระกองพวกอ้ายผู้ร้ายลักกระบือที่กรุงเก่า  จนได้ตัวผู้ร้ายหลายคน
มีความดีความชอบในราชการเป็นอันมาก  เมื่อกลับลงมารับราชการในพระนคร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเพชรปาณี  ราชปลัดทูลฉลองในกรมพระนครบาล
และมีพระบรมราชโองการให้ไปว่าความศาลต่างประเทศ  รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๕ บาท
ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๔ ชั่ง

ครั้นขึ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร
เป็นพระยาวิชิตชลทีศรีสุรสงครามรามราไชยอภัยพิริยภาห  ผู้ว่าราชการเมืองตาก
แลได้พระราชทานถาดหมากทองคำ๑  คนโททองคำ ๑  ประคำทองสาย ๑  กระบี่บ้างทองคำกระบี่ ๑
มาลาเลื้อย  เลื้อทรงประพาศ  แลสัปทน เป็นเครื่องยศ  แล้วกราบถวายบังคมลาขึ้นไปเมืองตาก

วันเดือน ๕ ปีชวด ๑๒๓๘  ป่วยเป็นโรคริดสีดวงเพื่อวาโย  หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาประกอบยาให้กิน
อาการก็ทรงอยู่  พระยาวิชิตชลทีศรีสุรสงครามเห็นว่าหัวเมืองตากนี้  หาหมอรักษาได้ยาก
อาการแห่งโรคมีแต่จะทรุดลงไป  จึงได้ให้พาท่านลงเรือเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ
ได้หานายอาด  นายเวรกรมพระตำรวจนอกซ้าย ผู้รู้วิชาหมอมารักษา  อาการทรงอยู่ ๙-๑๐ วัน
แล้วก็ทรุดลงอีก   เจ้าคุณวิชิตเห็นว่าอาการของโรคคราวนี้คงจะรักษาให้หายยากเป็นแน่แล้ว
จึงได้เรียกประชุมบุตรี มีนางปริก ๑  แลนางหลิน ๑  พร้อมด้วยบุตรที่เป็นผู้ช่วยราชการเมืองตาก
มาสั่งความว่า  เจ้าคุณป่วยคราวนี้เห็นจะไม่รอดตลอดไปได้แล้ว  เจ้าทั้ง ๓ คนพี่น้อง
จงดูแลเข้าของทองเงินข้าทาษที่บ้านบิดาให้เจ้าทั้ง ๓ คนแบ่งปัน

วันเดือน ๑ อาการของโรคกำเริบมากขึ้น  หลวงอภิบาลภูวนารถ (ขาว)
เจ้ากรมทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกขวา บุตรเขย
หลวงยุทธการบัญชา หลานเขย  แลหลวงสารภัณฑวิสุทธิ (เอม)
พนักงานเบิกของต่างๆ สำหรับกรมทหาร หลานเขย
ได้หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาหลายหมอ  อาการก็หาคลายลงไม่  
ตั้งแต่ป่วยมานับได้ ๙ เดือนเศษ  ครั้นวันอาทิตย์ เดือน ๒  แรม ๑ ค่ำ ปีชวด ๑๒๓๘ เพลา ๕ ทุ่ม
พระยาวิชิตชลทีศรีสุรสงคราม ถึงอนิตยกรรม  อายุได้ ๗๐ ปี  

พระราชทานหีบทองทึบใส่ศพ  บุตรเขยทั้งสองและหลานเขยได้จัดการศพ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 07 ก.พ. 12, 17:12

ขอบคุณคุณวีมีที่กรุณามาเพิ่มเพิมข้อมูลเกร็ดประวัติพระยานครราชเสนี (สหัด  สิงหเสนี)
ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ให้คนอ่านได้ทราบโดยทั่วกัน
อันที่จริงมีเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ - ๗ อีกหลายเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้
บางเรื่องก็ถูกทำให้หายไปจากเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่  ครั้นได้อ่านจากต้นฉบับเต็ม
ก็รู้ว่า  อ้อ  นี่ถ้าเขาไม่ตัดออก  คงทำให้เจ้าตัวและทายาทเดือดร้อน  เพราะบางเรื่อง
ก็แทบจะหาคนรู้ไม่ได้แล้ว  เช่นเรื่องเจ้านายกับหญิงสาวในสกุลสำคัญ
ได้กระทำเรื่องไว้มากมาย จนภายหลังต้องพากันไป...ที่ศาลาว่าการ...อย่างเงียบๆ เป็นต้น

ตอนนี้  กระทู้ประชุมประวัติพระยาภาคที่ ๑ (ลำดับที่ ๑ - ๕๐) ได้เดินทางมาจนถึง
ประวัติพระยาคนที่ ๕๐ แล้ว   ฉะนั้น  ผมจะเปิดกระทู้ประชุมประวัติพระยาภาคที่ ๒ (ลำดับที่ ๕๑ - ๑๐๐)
ต่อไป  ทั้งนี้  หากท่านผู้ใดมีข้อมูลจะเพิ่มจากประวัติพระยาที่ได้นำเสนอไป ๕๐ คนข้างต้น
ก็ยังสามารถนำมาลงไว้ได้ หรือจะสนทนาแลกเปลี่ยนความเกี่ยวกับพระยาที่ได้นำมาลงไว้แล้ว
ก็ยังสามารถทำได้   แต่ถ้าจะนำประวัติพระยามาลงใหม่ขอเชิญให้ไปเขียนลงในกระทู้
ประชุมประวัติพระยาภาคที่ ๒ (ลำดับที่ ๕๑ - ๑๐๐)  เพื่อจะได้เรียงลำดับหมายเลขไม่สับสน ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 08 ก.พ. 12, 10:15

ตรวจสอบกระทู้แล้ว  เห็นว่า  ข้ามลำดับที่ ๒๔ ไป  ทำให้ประวัติพระยายังไม่ครบ ๕๐ คน

จึงลงประวัติเพิ่มให้ครบเต็มจำนวน  

๒๔.ประวัติพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)

http://www.thaiclassic.net/ver2011/index.php?option=com_content&task=view&id=27&Itemid=43
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง