เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 49025 ประชุมประวัติพระยา ภาคที่ ๑ (ลำดับที่ ๑ - ๕๐)
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 08:27

เมื่อเจ้าคุณอิศรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงสิริ) เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
ภายหลังปฏิบัติภารกิจในการสงครามที่ยุโรปแล้ว  เจ้าคุณได้รับพระราชทานยศ
เป็นนายดาบ  และได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาเข้ากล้ากลางสมร
จากนั้น  เจ้าคุณอิศรพงศ์ฯ ได้เริ่มเข้ารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย
และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอิศรพงศ์พิพัฒน์ในกาลต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เจ้าคุณอิศรพงศ์ฯ ได้ย้ายมารับราชการที่กระทรวงวัง
จนกระทั่งได้รับตำแหน่งเจ้ากรมวังนอก  ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการก่อสร้างต่างๆ
การซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างในเขตพระราชฐานและสถานที่ของทรัพย์สิ่นส่วนพระมหากษัตริย์
มีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง  เป็นต้น  

ต่อมา  เจ้าคุณได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์
ซึ่งเป็นคราวเดียวกันกับพระยารัตนพิมพา (หม่อมราชวงศ์สวัสดิ์  อิศรางกูร)
และพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
พระยาทั้งสามคนนี้ เป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคราวสุดท้ายของสยาม

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  ภาวะทางการเมืองผันแปรมาก
เจ้าคุณอิศรพงศ์ฯ พลอยได้รับผลกระทบด้วย  ท่านไม่มีงานทำอยู่หลายปี
จนกระทั่งท่านได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในกรมโยธาธิการ  กรมทางหลวงแผ่นดิน
และ อ.จ.ส. ตามลำดับ

..........
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 08:43

ในช่วงก่อนที่พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์จะแต่งงานนั้น  ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมาก
และเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป  เนื่องจากท่านมีบ้านตึกส่วนตัวอยู่ริมคลองหลอด 
บ้านตึกหลังนี้ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ผู้เป็นบิดาได้จัดซื้อหาเตรียมไว้ให้ท่าน
และที่บ้านตึกหลังนี้  ก็ได้เป็นที่ชุมนุมสังสรรค์ของบรรดาสตรีสาวแก่แม่หม้ายมากหน้าหลายตา
เพราะมักมีหนุ่มๆ เหล่าขุนนางมาประชุมพบปะสังสรรค์กันอยู่เสมอ
เจ้าคุณอิศรพงศ์ฯ เองก็เปิดบ้านตึกรับแขกอยู่ตลอดเวลาด้วย

พระยาอิศรพงศ์ฯ ใช้ชีวิตสำเริงสำราญตามประสาหนุ่มโสดอยู่หลายปี
จนกระทั่งได้สมรสกับหม่อมหลวงสำลี  กุญชร  บุตรีเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์
(หม่อมราชวงศ์หลาน  กุญชร)  เจ้าคุณอิศรพงศ์ฯ จึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิต
จากหนุ่มเจ้าสำราญมาเป็นผู้อยู่ในคลองธรรม

เจ้าคุณมีบุตรธิดา ๓ คน ดังนี้

๑.นายพารณ  อิศรเสนา ณ อยุธยา  สมรสกับนางบุนนาค  สกุลเดิม หงษ์เหิน
มีบุตร คือ  นายพิพัฒน์พงศ์  อิศรเสนา ณ อยุธยา

๒.เรืออากาศโท นุรักษ์  อิศรเสนา ณ อยุธยา

๓.นายนัดดา  อิศรเสนา ณ อยุธยา  สมรสกับนางเสาวนีย์  สกุลเดิม ทองเจือ
มีบุตรธิดา คือ นายวรศิษฏ์    นายวรงศ์    และนางสาวพัทรี

พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ เริ่มป่วยหนักจนไม่สามารถเดินเหินได้ เมื่ออายุได้ ๘๙ ปี
จากนั้นร่างกายท่านก็ทรุดโทรมลงตามวัย  และถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ
อายุได้ ๙๔ ปี ๒ เดือน  เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม  ๒๕๓๒ ฯ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 09:03

๓๘.พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น  วสันตสิงห์)

เกิดที่บ้านริมถนนอัษฎางค์  อำเภอพระนคร  จังหวัดพระนคร
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน  ๒๔๒๖

บิดา  หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (สิงห์โต  วสันตสิงห์)
มารดา  นางท้วม  วสันตสิงห์
ปู่   พระภิรมย์ราชา  (แย้ม  วสันตสิงห์)
(ตระกูลนี้รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยติดต่อกัน ๓ ชั่วคน)

มีพี่น้องตามลำดับอายุดังนี้

๑.ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรนทราธิบดี 
๒.หม่อมลำดวน  ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศืเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.นางเย็น  ยงใจยุทธ
๔.พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น  วสันตสิงห์)
๕.พระสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เข็ม  วสันตสิงห์)

อายุ ๙ ขวบ  เข้าเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
เมื่อสอบไล่ได้จบหลักสูตรแล้ว  ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดราชการกระทรวงมหาดไทย
จากนั้น  สอบไล่ได้สำเร็จแล้ว  จึงเริ่มรับราชการในกระทรวงมหาดไทย
ในตำแหน่งเสมียนสามัญ เมื่อปี ๒๔๔๐  ขณะนั้นอายุได้ ๑๕ ปี 

ปี ๒๔๔๑  ทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งตัวไปเรียนระเบียบแบบแผนการปกครอง
ที่มณฑลอยุธยา

ปี ๒๔๔๒  สอบระเบียบการอำเภอได้  จึงกลับเข้ารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย
ในตำแหน่งนายรองเวรวิเศษ

ปี ๒๔๔๔  ได้รับบรรดาศักดิ์ประทวนเป็นขุนพินิจโวหาร และได้เลื่อนขึ้นเป็นนายเวรวิเศษ

..........
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 08:27

ในช่วงที่พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ปฏิบัติราชการในกระทรวงมหาดไทย
ระหว่างปี ๒๔๔๐ ถึงปี ๒๔๔๔  เวลากลางวันท่านจะไปปฏิบัติหน้าที่
ที่กระทรวงมหาดไทย   ครั้นเวลาค่ำ  ท่านมีหน้าที่ต้องไปคอยรับใช้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่วังวรดิศ
การปฏิบัติหน้าที่ที่วังวรดิศ ได้แก่ อ่านหนังสือราชการถวาย
ร่างหนังสือตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีรับสั่งให้เขียน
เป็นอาทิ

ในช่วงที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปทรงตรวจราชการ
ตามหัวเมืองต่างๆ  หรือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสหัวเมืองหรือต่างประเทศ   พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ก็ต้องตามเสด็จ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปด้วย   เพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่
เลขานุการส่วนพระองค์เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสมอ 

พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้ตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปทรงตรวจราชการ
ตามหัวเมืองทุกมณฑล  ได้ตามเสด็จไปปีนัง สิงคโปร์ และชวา 
ทำให้ท่านได้มีโอกาสเรียนรู้การงานของกระทรวงมหาดไทยอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้  ด้วยเหตุว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังได้ทรงดำรงตำแหน่ง
หน้าที่อื่นๆ ในการบริหารราชการบ้านเมืองอีกหลายตำแหน่ง 
ทำให้พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้พลอยเรียนรู้ราชการบ้านเมืองด้านต่างๆ มากขึ้น
และเป็นต้นทุนสำคัญในการรับราชการต่อมา

.......
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 08:45

ปี ๒๔๔๔  พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ได้เริ่มออกไปรับราชการตามหัวเมือง
โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลกรุงเก่า  แล้วได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง
เป็นเลขานุการมณฑลในปีเดียวกัน  ในระหว่างนี้  พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้รับ
การอบรมสั่งสอนราชการจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
สมุหเทศาภิบาลกรุงเก่าในขณะนั้น

ปี ๒๔๔๕  พระยาเพ็ชรพิไสยฯ สอบประโยคมณฑลได้  โปรดให้ดำรง
ตำแหน่งเป็นนายอำเภอในจังหวัดกรุงเก่า  จากนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็น
ปลัดจังหวัดสิงห์บุรี  และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น
หลวงพิทักษ์ฤทธิรงค์

ปี ๒๔๔๖  ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าหลวงมหาดไทยประจำมณฑลนครสวรรค์ 
และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่เป็นหลวงวิชิตเสนี

ปี ๒๔๔๗  ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้ากรมพลำภังเป็นการชั่วคราว
นาน ๖๐ วัน  และในปีเดียวกันนี้   พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้สมรสกับ
นางสาวเรียบ  บุตรีพระบริหารหิรัญราช (สาย  สุวรรณสุภา)

ปี ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บ.ช. เป็นบำเหน็จ
ที่ได้จัดระเบียบแบบแผนการปกครองอำเภอได้เรียบร้อยดี  และได้ปฏิบัติ
ราชการออกไปตรวจราชการถึงเมืองเมียวดี  ประเทศพม่า

ปี ๒๔๕๐  ได้เลื่อนเป็นผู้รั้งปลัดมณฑลนครสวรรค์   และได้ช่วย
สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์จัดการรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมาร  ในคราวที่เสด็จประพาสหัวเมือง
ฝ่ายเหนือ  การเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี   ได้รับพระราชทานหนังสือ
พระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงเป็นรางวัล  และมีพระราชหัตถเลขา
และพระบรมนามาภิไธยพระราชทานมาในหนังสือเล่มดังกล่าวด้วย

............
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 14:53

ปี ๒๔๕๑ ได้เป็นปลัดมณฑลนครสวรรค์  และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเฑียรฆราษ

ปี ๒๔๕๓  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
กระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งข่าวว่า  มีช้างพลายเชือกหนึ่ง เป็นช้างสำคัญ
อาศัยอยู่ในเขตป่ารอยต่อระหว่างเมืองนครสวรรค์กับเมืองพิจิตร
กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีตราสั่งให้ท่านคุมกำลังคนหาช้างต่อในเมืองนครสวรรค์
ออกไปสมทบกับกองของพระยาพิไชยรณรงค์สงคราม  ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร
เที่ยวแซกโพนหาช้างสำคัญเชือกดังกล่าว  และให้ตระเตรียมช้างต่อ เสบียงอาหาร
สำหรับกินอยู่ในป่าได้ครบ ๓ เดือน  ถ้าไม่พบช้างสำคัญก็อย่ากลับให้กลับเข้ามา

การติดตามหาช้างสำคัญคราวนั้นมีความยากลำบากหลายประการ ได้แก่
เมื่อท่านขี่ช้างติดตามไปกับช้างต่อเที่ยวตรวจช้างเถื่อนอยู่นั้น  บังเอิญ
ระหว่างทางพบช้างพังแม่โขลงแล่นเข้ามาชนช้างที่ท่านขี่อยู่อย่างแรง
ทั้งช้างแม่โขลงและช้างที่ท่านขี่นั้นต่างกระเด็นถอยหลังไปด้วยแรงประทะทั้งสองฝ่าย
ต่อจากนั้น  มีช้างพังแม่โขลงอีกเชือกหนึ่ง วิ่งไล่ตามหลังช้างที่ท่านขี่
หมายจะทำอันตราย  โชคดี  หมอช้างไสช้างต่อมาขวางได้ทัน
ช้างพังแม่โขลงเห็นงาช้างต่อเข้าก็ล่าถอยหนีไป

พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ออกตามหาช้างสำคัญอยู่หลายวันด้วยความยากลำบาก
จนกระทั่งประสบพบช้างสำคัญเข้า  ทั้งนี้ด้วยเป็นพระบารมีแห่งรัชกาลที่ ๖
ที่จะทรงได้ช้างสำคัญคู่รัชกาลของพระองค์  บันดาลบให้กองช้างต่อของพระยาเพ็ชรพิไสยฯ
ได้พบช้างสำคัญดังกล่าว  และได้คล้องได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๕๔
ต่อมาช้างสำคัญเชือกนี้  ได้ผ่านพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง  มีนามว่า

    "พระเศวตวชิรพาห อุดมลักษณคชินทร
รัตนกุญชรทุติยเศวต โลมเนตร์นัขนฤมล
เอกทนต์ทักษิณ ปรัศอุบัติพ้องต้องตำรา
เทพามหาพิฆเนศวร์ อัคนิเทเวศน์รังสฤษดิ์ประสิทธิ์
ผลชนมายุยืนยง กำเนิดคงแขวงนครสวรรค์
พลันมาสู่พระบารมี นฤบดีฉัฏฐรัชกาล
คู่สมภารภูเบศร์ พิเศษสรรพมงคล
สุภัทรผลเพียบพูล จรูญพระเกียรติภูมินทร์ หัสดินประเสริฐเลิศฟ้า ๚"

เป็นช้างเผือกคู่พระบารมีรัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้ยืนโรงมาจนตลอดรัชกาล
และล้มลงเมื่อปี ๒๔๘๘

การคล้องช้างสำคัญได้คราวนั้น  พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้ลงมาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทาน
เข็มข้าหลวงเดิม ที่กรุงเทพฯ ในเดือนเดียวกันนั้น  และในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน
ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท  เดือนกันยายนถัดมา  ได้ช่วยสมุหเทศาภิบาล
มณฑลนครสวรรค์จัดการรับเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง
เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์  และได้รับพระราชทานดุมทองคำลงยา ส.ผ.เป็นบำเหน็จรางวัล
นอกจากนี้ ก็ยังได้รับพระราชทานชื่อบุตรธิดาด้วย จำนวน ๔ คน ว่า ศิริเลิศ  แม้นวาด
กองกาญจน์  และเมืองเริง

..........


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 15:17

เดือนตุลาคม  ๒๔๕๔  รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ ไปยังจังหวัดนครสวรรค์
ในพระราชพิธีสมโภชช้างสำคัญ   พระยาเพช็รพิไสยฯ ต้องจัดการรับเสด็จ
แทนสมุหเทศาภิบาลที่ติดไปราชการนอกพื้นที่   ท่านได้รับพระราชทานยศเสือป่า
เป็นที่นายหมู่ตรี กองเสือป่า  ได้รับพระราชทานธงประจำตัว  ได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็นพระยายอดเมืองขวาง  ตำแหน่งปลัดมณฑลนครสวรรค์
ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๔   ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
ท่านได้เดินทางลงมาเข้าเฝ้าฯ ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง
พระเศวตวชิรพาห ที่กรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ช.

ปี ๒๔๕๕  รับพระราชทานยศเสือป่าเป็นนายหมู่โท

ปี ๒๔๕๖  ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี   
ได้รับพระราชทานยสเสือป่าเป็นนายหมู่เอก 

ปี ๒๔๕๗  ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีว่างลง
ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเพชรบุรี
ปีเดียวกันนี้  ได้รับพระราชทานนามสกุล "วสันตสิงห์"
เดือนมกราคมปีเดียวกัน  จัดการรับเสด็จรัชกาลที่ ๖
และต้อนรับกองราชบริพาร ๑๗๖๐ คนที่เสด็จฯ มาและมาพักแรม
ที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเสด็จฯ ออกจากเพชรบุรี
ท่านได้คุมกองเสือป่าเพชรบุรีสมทบกองเสือป่าหลวงเดินทางไกล
ได้รับพระราชทานยศเสือป่าเป็นนายหมวดเอก ผู้บังคับกองพันที่ ๒
กองเสือป่าเพชรบุรี

ปี ๒๔๕๘ เดือนพฤศจิกายน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม.
ด้วยเหตุได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายในจังหวัดเพชรบุรีจนราบคาบ
และได้ทำถนนหนทางในจังหวัดให้สามารถเดินทางได้สะดวก
เดือนธันวาคม ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก
เดือนกุมภาพันธ์  ได้นำเสือป่าเพชรบุรีเข้าร่วมฝึกหัดวิธียุทธ
สมทบกับกองเสือป่าหลวง   ได้รับพระราชทานยศนายกองตรี

.............
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 15:40

ประวัติการรับราชการของพระเพ็ชรพิไสยฯ นั้นมีรายละเอียดมากนัก
จะขอรวบรัดตัดความเอามาลงแต่ที่เห็นว่าสำคัญๆ ดังนี้

ปี ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประทานชื่อบุตรคนหนึ่งของพระเพ็ชรพิไสยฯ ว่า ลาภ
ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ต.จ.ว. พร้อมโต๊ะทอง กาทอง

ปี ๒๔๖๐ ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่

ปี ๒๔๖๒ เป็นนายกองโท กองเสือป่า

ปี ๒๔๖๔  เป็นมหาอำมาตย์ตรี

เมื่อมาประจำหน้าที่ที่เชียงใหม่ ได้รับประทานชื่อบุตรคนหนึ่ง
จากพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ว่า อรอวล
ได้จัดสร้างโรคพยาบาลสุขาภิบาลที่เชียงใหม่
เป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรเงินชาวเชียงใหม่จัดซื้อเครื่องแพทย์สำหรับโรงพยาบาลดังกล่าว
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๗  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์
ได้เสด็จไปทรงเปิดโรงพยาบาลดังกล่าว

จัดสร้างสนามบินจังหวัดเชียงใหม่
ชักชวนชาวเชียงใหม่บริจาคเงินซื้อเครื่องบินให้แก่กองทัพอากาศ
จำนวน ๒ ลำ (เครื่องบินเชียงใหม่ ๑ และเชียงใหม่ ๒)

ปี ๒๔๖๙  จัดการรับเสด็จรัชกาลที่ ๗ ในคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ
และจัดการพระราชพิธีสมโภชช้างเผือกด้วย  ได้รับเครื่องราชฯ ท.ม.
ซองบุหรี่อักษรพระปรมาภิไธย  เหรียญจักรพรรดิมาลา (ทำราชการครบ ๒๕ ปี)
และยังได้รับพระราชทานชื่อบุตร ๔ คน ว่า พวงเพ็ชร สุเทพ สุพรหม และใจใส

ปี ๒๔๗๐  คุมช้างเผือกจากเชียงใหม่ลงมาที่กรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ
เพื่อขึ้นระวางสมโภช ได้รับพระราชทานแหนบทองคำลงยารูปช้างเผือก

ปี ๒๔๗๑  ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
ปี ๒๔๗๓  ได้จัดการรับเสด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์กและพระราชวงศ์
ในคราวเสด็จฯ มาทรงเยือนจังหวัดแพร่
ปี ๒๔๗๔  ย้ายมาเป็นปลัดบัญชาการนครบาล
และดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการจังหวัดพระนครและธนบุรี

บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 22:15

พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์(แม้น  วสันตสิงห์) ใช่บิดาของหม่อมศิริเลิศ  เทวกุล ณ อยุธยาหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 ม.ค. 12, 15:53

ปี ๒๔๗๔ พระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดการศึกษาประชาบาลขึ้นในจังหวัดพระนครและธนบุรี
ตามพระราชบัญยัติประถมศึกษา  ทำให้เกิดโรงเรียนประชาบาลในกรุงเทพฯ ทั่วไป
โดยชั้นแรกท่านเจ้าคุณฯ ได้กราบทูลขอใช้สถานที่เมรุปูนวัดสระเกศ
จากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  มาแก้ไขดัดแปลงซ่อมแซมใช้เป็นอาคารเรียน
โรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านบาตร ๑   ต่อมาได้สร้างโรงเรียนอาชีพช่างเหล็ก
แล้วจัดเมรุปูนนี้เป็นสถานที่กลางใช้อบรมวิชาต่างๆ แก่ครูประชาบาล
รวมทั้งมีการจัดสอบเลื่อนฐานะทุกวิชาด้วย

ปี ๒๔๗๖ มีโรงเรียนประชาบาลในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น ๒๒๖ โรงเรียน

๖ ๗ ๘ เมษายน ๒๔๗๕  ท่านเจ้าคุณได้ทำหน้าที่จัดงานสมโภชพระนคร
๑๕๐ ปี และสมโภชพระปฐมราชานุสรณ์  ฉลองสะพานพระพุทธยอดฟ้า สำเร็จเรียบร้อยดี

ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  พระยาจ่าแสนบดี  สมหพระนครบาล
ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 
พระยาเพ็ชพิไสยฯ จึงได้ทำการในตำแหน่งสมุหพระนครบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง
ทำให้ท่านต้องทำการสั่งการประจำที่ศาลาว่าการนครบาลทั้งกลางวันกลางคืน
อยุ่บ่อยครั้ง  เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติประจำ

เดือนมีนาคม ๒๔๗๖ ออกรับพระราชทานบำนาญ  ฐานรับราชการมานาน
(๓๒ ปี)

หลังจากนี้  พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น  วสันตสิงห์) ก็ยังได้รับเชิญ
ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ อีกมาก  มีกรรมการและเลขาะการจัดการสลากกินแบ่ง เป็นต้น

พระยาเพ็ชรพิไสยฯ มีบุตรธิดากับคุณหญิงเรียบ  วสันตสิงห์  ดังนี้

๑ หม่อมศิริเสิศ  เทวกุล ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าสุรวุฒิประวัติ  เทวกุล

๒.นางสาวแม้นวาด  วสันตสิงห์

๓.นางสาวกองกาญจน์  วสันตสิงห์

๔.นายเมืองเริง  วสันตสิงห์  สมรสกับหม่อมหลวงปานตา  มาลากุล

๕.นายลาภ  วสันตสิงห์  สมรสกับนางพรรณเลิศ  เกตุทัต

๖.เด็กชายแอ๋น  วสันตสิงห์

๗.นายพวงเพ็ชร  วสันตสิงห์

๘.นางอรอวล  อิศรางกูร ณ อยุธยา  สมรสกับนายจรูญพันธุ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา

๙.นาวาโท สุเทพ  วสันตสิงห์

๑๐.พันเอก สุพรหม วสันตสิงห์  สมรสกับนางเพ็ญโฉม  โชติกเสถียร

๑๑.นางใจใส  บุนนาค  สมรสกับนายประธาน  บุนนาค

ต่อมา เมื่อคุณหญิงเรียบ  เพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ถึงแก่กรรมแล้ว
ท่านได้ทำการสมรสกับคุณหญิงเจียมจิต  น้องสาวคุณหญิงเรียบ 
ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

.........................
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 20 ม.ค. 12, 16:15

พระยาเพ็ชรพิไสยฯ มีความสามารถในทางหนังสืออยุ่มาก
ท่านสนใจค้นคว้าวรรณคดี และโบราณคดี  ชอบแก่กาพย์กลอน

ในระหว่างที่รับราชการอยู่ที่เชียงใหม่  ท่านได้เรียบเรียง
หนังสือความรู้รอบตัวให้ครูทดลองใช้สอนนักเรียน
เรียบเรียงหนังสือตำนานจังหวัดเชียงใหม่  โดยย่อความจาก
พงศาวดารและตำนานโยนก   แต่งบทร้องคำกลอนสอนจรรยา
ให้นักเรียนร้องประจำตามลำดับชั้น จำนวน ๒๕ บท เคยได้พิมพ์ใช้
ในมณฑลพายัพ

บทร้องดังกล่าว เมื่อท่านย้ายมาประจำที่กรุงเทพฯ ได้แต่งเพิ่มเติม
เป็น ๓๐ บท ให้นักเรียนโรงเรียนประชาบาลในกรุงเทพฯ ขับร้อง

ปี ๒๔๗๐  ท่านกับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  แต่งหนังสือโคลงระยะทาง
พระวิมาดา  กรมพระสุทธาสินีนาฎ เสด็จประพาสเชียงใหม่และล่องลำน้ำปิง

ปี ๒๔๗๐ แต่งฉันท์ว่าด้วยเบญจกัลยาณี  ความงามของสตรี ๕ อย่าง

ปี ๒๔๗๗  ท่านแต่งฉันท์เรื่องนกไนติงเกลและดอกกุหลาบ  ส่งไปลงพิมพ์
ในวารสารวิทยาจารย์   และได้เรียบเรียงแก้ไขพระราชพงศาวดารสังเขป
ซึ่งได้แต่งไว้ตั้งแต่ครั้งรับราชการอยู่เชียงใหม่  จนเสร็จบริบูรณ์  รวม ๓ ภาค

งานประพันธืของท่านคงมีอีกมาก  นอกจากนี้ท่านยังชอบเล่นกีฬา
เช่น ฟุตบอล เทนนิส และกีฬาคล้องช้างที่ท่านชอบและชำนาญมาก
สามารถทำท่าคล้องช้างได้งามสง่า   

ท่านเจ้าคุณสนิทกับท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรนทราธิบดีมาก
มักไปมาหาสุ่กับประจำ จนกระทั่งท่านผู้หญิงถึงแก่อนิจกรรม
ท่านจึงดูเหงาหงอยลงมาก   และต่อมาท่านก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด
จนกระทั่งอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๕ เวลา ๒๒.๒๕ น.
อายุได้ ๗๘ ปี ๕ เดือน ๒๓ วัน 

อนึ่ง  พระยาเพ็ชรพิไสยฯ นี้เป็นคนที่รอบคอบ  ท่านได้เตรียมสมุดประวัติ
และบันทึกการรับราชการของท่านใส่ซองไว้พร้อมแล้วนำไปมอบแก่
นายเมืองเริง เก็บรักษาไว้  ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐  ซึ่งเอกสารเหล่านั้น
เจ้าภาพงานศพพระยาเพ็ชรพิไสยฯ ได้นำมาเรียบเรียงไว้ในหนังสืองานศพได้
อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง.

หมายเหตุ  ประวัติพระยาเพ็ชรพิไสยฯ นี้มีรายละเอียดมาก 
ได้ตัดทอนออกไปหลายส่วน  เก็บมาเล่าเท่าที่อยากให้ท่านผู้อ่านทราบ
ผู้ใดสนใจประวัติอย่างละเอียดเชิญไปอ่านในหนังสืองานศพของเจ้าคุณเถิด.
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 20 ม.ค. 12, 16:36

๓๙.ประวัติขุนตำรวจตรี  พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ  สุวรรภารต)

เป็นบุตรนายทองอยู่  สุวรรณภารต  โขนหลวง
เป็นพี่ชายต่างมารดา ของพระยานัฎกานุรักษ์ ( ทองดี สุวรรณภารต)
เป็นศิษย์ของครูบัว ทศกัณฐ์ตัวดีมีชื่อเสียง ซึ่งปู่ของจมื่นสมุหพิมาน หรือ หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ)

เกิด ๒๑ สิงหาคม ๒๔๐๔
๒๔๓๓ เข้ารับราชการเป็นโขนหลวง
๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนระบำภาษา
๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงระบำภาษา
๒๔๕๔  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระระบำภาษา
๒๔๕๘  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพรหมาภิบาล
๒๔๕๙  ได้ย้ายมาประจำกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
สังกัดกระทรวงวัง  ได้รับพระราชทานยศ ขุนตำรวจตรี
๒๔๖๙  ปลดออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

๒๘ กุมภาพันธุ์ ๒๔๖๙  ถึงแก่กรรม  อายุได้ ๖๖ ปี


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 22 ม.ค. 12, 09:06

พระยาอภัยพิพิธ (เสศ หรือ เศษ หรือเสพ สุรนันทน์)

บุตร์ นายพลพ่าย (เรือง) (สืบเชื้อสายมาแต่ พระยารามจตุรงค์ ผู้จับกุมพระยาสรรค์ สำเร็จโทษ และอันเิชิญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองสิริราชสมบัติ) ท่านฉิมชู เป็นมารดา

- ทำราชการ เป็น มหาดเล็ก ในแผ่นดิน พระพุทธเลิศหล้าฯ

- ฝากตัวอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามหามกุฏ ในปลายแผ่นดินที่ ๒

- ตามเสด็จเจ้าฟ้ามหามกุฏ ไปอยู่วัดมหาธาตุ เมื่อทรงผนวช.

- ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ได้ทำราชการอยู่ในกรมพระราชวังที่ ๓ ได้ตามเสด็จในงานพระราชสงครามปราบปรามขบถอนุเวียงจัน มีความชอบ โปรดตั้งให้เป็น นายปรีดาราช หุ้มแพร.

นายปรีดาราช ได้ท่่านน้อย บุตร์พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) เป็นภรรยา มีบุตร์ด้วยกัน ๓ คน.

บุตร์ที่ ๑ หญิง ชื่อ ฟ้อน เป็นภรรยา ขุนอินทรักษา (บุด)

บุตร์ที่ ๒ ชื่อ ป่อง ตายแต่เล็ก

บุตร์ที่ ๓ ชาย ชื่อ - ตายแต่เล็ก

อยู่บ้านในตรอกศาลเจ้าครุฑ. เมื่อกรมพระราชวังที่ ๓ สวรรคตแล้ว ได้ลงมาทำราชการในวังหลวง. ท่านน้อย ป่วยโรคป่วง (?) ถึงแก่กรรมที่บางอีร้า ขณะกลับจากไปนมัสการพระพุทธบาท.

นายปรีดาราช ได้ท่านพุ่ม บุตร์คุณไภย (เป็นโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ชื่อเจ้าฟ้าทัศไภย) ข้าหลวงในทูลกระหม่อมฟ้ามหามกุฏ เป็นภรรยา มีบุตร์ด้วยกัน ๒ คน.

บุตร์ที่ ๑ ชาย ชื่อ เลื่อน (เป็นพระยาราชสัมภารากร)

บุตร์ที่ ๒ ชาย คลอดได้ ๗ วันตาย.

ยกมาอยู่บ้าน ถนนใหม่ตรงหน้าวัดมหรรณ์.

ท่านพุ่ม ป่วยโรคลมมหาสดม (?) ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๓๕ ปี.



ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า

โปรดให้เป็ฯ นายจ่าเนด แล้วเลื่อนเป็น หลวงอินทรโกษา ปลัดกรมพระคลังราชการ

- ได้ท่านน้อย เป็นภรรยา ได้ย้ายมาอยู่บ้านเก่าที่ทำโรงหวยทุกวันนี้ .

ประมาณปีเศษ ก็มิได้อยู่ด้วยกัน เพราะท่านน้อยทำไม่ชอบอัทธยาศรัย

-ได้ท่านจั่น บุตร์หลวงเพ็ชร์อินตรา ข้าหลวงในทูลกระหม่อมฟ้ามหามกุฏ เป็นภรรยา มีบุตร์ด้วยกัน ๑ คนเป็นชาย ตายแต่เล็ก

ได้ย้ายมาอยู่บ้าน ข้างบ้านบาตร์ข้างใต้.

ประมาณ ๒ ปีเศษ ท่านจั่น ป่ายยเป็นวรรณโรคที่ถันประเทศ(?) ถึงแก่อนิจจกรรม.



ในแผ่นดินพระจอมเกล้า.

- โปรดให้เป็น พระยาพิพัฒโกษา ราชปลัดทูลฉลองในกรมท่ากลาง.

- พระราชทาน เจ้าจอมวัณ บุตร์พระอินทรเดชะ (นิ่ม, ฉิม) ซึ่งเป็นเจ้าจอมอยู่งานในสมเด็จพระนั่งเกล้า. ให้เป็นภรรยา

ได้รับพระราชทาน คนโฑ...(อ่านไม่ออกครับ)   คนระนาดหม่อมไกรษร ภรรยานายทั่งกลนท ๑ บุตร์ชาย ๑


เมื่อเป็นพระยาพิพัฒโกษา ได้รับพระราชทาน

โต๊ะทองคำรองล่วม  คณโฑน้ำทองคำ  กระโถนทองคำ  สลักพุ่มโคมเพ็ชร์

ภายหลังได้พระราชทาน เหรียญทองคำใหญ่มีตราแผ่นดินดวงหนึ่ง สำหรับติดเสื้อ. พานหมากทองคำเหลี่ยนมไม้สิบสองมีเครื่องกินครบ คณโฑกระโถนทองคำ ถมปักลายสมปักปูมเขมร เสื้อเข้าขามอย่างน้อย ส่านแหวนพิรอด ทองคำแท่งหนึ่ง หนัก หกตำลึง เบี้ยหวัดปีละ ๗ ที่บ้านที่ปากคลองผดุง แต่ท่าวัดแก้วฟ้าถึงริมแม่น้ำ



ในแผ่นดินพจะจุลจอมเกล้า.

โปรดให้เป็น พระยาอภัยพิพิธ ตำแหน่งในกรมท่ากลาง ยศเดิม ได้รับพระราชทาน ตราสำหรับสวมคอ มัณฑา..อาภรณ์ดวงหนึ่ง และทุติยจุลจอมเกล้าดวงหนึ่ง

อายุได้ ๗๒ ปี ก็ถึงแก่กรรม ท่านมีบุตร์กับภรรยาอื่นๆ อีก ๙ คน.


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 22 ม.ค. 12, 09:24

พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน)

บุตร์ พระยาอภัยพิพิธ (เสศ) ท่านพุ่ม บุตร์คุณไภย เป็นมารดา.

ในแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ

รับราชการเป็นมหาดเล็ก. ( มหาดเล็กหลวงในพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ หมาดเล็กรายงานตรวจราชการพระคลัง รัชการที่ ๔  เป็น นายรองสรรพวิไชย เอกสารอีกฉบับว่า เป็นนายสรรพวิไชย หุ้มแพร นายยาม ยามพระแสงเวรเดช ในรัชกาลที่ ๔ บวชในสำนักสมเด็จพระวันรัตน (ทับ) วัดโสมนัส)

ในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าฯ

เป็นหลวงอินทรโกษา ในกรมพระคลังราชการ (ปลัดกรมพระคลังราชการ)

เป็นพระยาราชสัมภารากร เจ้ากรมพระคลังราชการ ภายหลังได้รับพระราชทานยศ เป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้สำเร็จราชการนครเชียงใหม่. แล้วกลับมาประจำ กรมพระคลังราชการ จนถึงอนิจกรรม.

แต่งโคลงรามเกียรติต้องไมยราบ(?) และโคลงต่างๆ ถวาย. ไปเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการ ณ เมืองนครเชียงใหม่ี ได้รับพระราชทาน โต๊ะทอง กาทอง. แต่งโคลงนิราชระยะทางเมืองนครเชียงใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานเครืองราชอิศริยาภรณ์ ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๓ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕

มีบุตร์เท่าที่ทราบ.

บุตร์ที่ ๑. ชาย ชื่อ  เฉื่อย เป็นหลวงอินทรโกษา

บุตร์ที่ ๒. หญิง ชื่อ เลือง รับราชการในกระบรมมหาราชวัง ในรัชกาลที่ ๕, แล้วกราบบังคมลาออกไปได้สามีชื่อ พระณรงค์.

บุตร์ที่ ๓. หญิง ชื่อ ขาว คุณหญิง ปริก ราชสัมภารากร มารดา. หม่อมห้าม ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม (ม.จ.เณร)

บุตร์ที่ ๔ ชาย ชื่อ พื้น

บุตร์ที่ ๕ ชาย ชื่อ เพี้ยง

บุตร์ที่ ๖ หญิง ชื่อ พิง


*** ท่านพุ่ม บุตร์คุณไภย
 คุณไภย คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชาย ทัศไภย พระราชโอรสที่ ๒  ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สิน) กับ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เจ้าหญิงฉิม หรือเรียกในราชสำนักนครศรีธรรมราชว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ ราชธิดาของเ้จ้าพระยานครศรีธรรมราช.

ถึงรัชกาลที่ ๒ เป็นพระอินทอำไพ หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า พระอินทรอภัย ถูกสำเร็จโทษในพ.ศ. ๒๓๕๘.


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 22 ม.ค. 12, 09:30

หลวงอินทรโกษา (เฉื่อย สุรนันทน์)

บุตร - มหาอำมาตย์ตรี พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์) และคุณหญิง มอญ ธิดาพระยาราชสัมภารากร (เทศ) หลานปู่พระยามหานิเวศน์ (ยัง) ผู้สร้างวัดพระยายัง.

มีธิดา ๑ คนชื่อ พร้อง ต่อมาเป็น คุณท้าวอนงค์รักษา (พร้อง ทองเจือ ต.จ.) ภรรยา มหาเสวกตรี พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง