เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18
  พิมพ์  
อ่าน: 37196 ส.ค.ส. ส่ง ความ สวย ด้วยภาพยนตร์วิจิตร
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 10:07

             ส่วนตัวแล้วชอบโศกนาฏกรรมมากกว่า ครับ
             เวลาดูเรื่องที่แฮปปี้ เอนดิ้ง จะได้ความรู้สึกว่า (ตัวละคร)สุขสมหวัง หมดห่วง
จบแล้วไม่(ค่อย)มีอะไรให้ค้างคาต่อ
             แต่เทรเจดี้ จบแบบไม่จบ ความรู้สึกเศร้าสลดในชะตากรรมของตัวละคร
ยังตกค้างอยู่เป็นวัน(ๆ) และยังมีความรู้สึกเห็นใจ ห่วงใยตัวละครที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป
 
บทความภาษาไทยเรื่องโศกนาฏกรรม สำหรับผู้สนใจ ครับ

             http://www.dramalessons.net/2011/07/tragedy-characters/

        1. ละครโศกนาฏกรรมต้องแสดงให้เห็นความทุกข์ทรมานของชีวิตมนุษย์ (เช่น โลภ โกรธ หลง ฯ)
และ จบลงด้วยหายนะของตัวละครเอก ซึ่งหายนะดังกล่าวนั้นเป็นผลที่เกิดจากสิ่งที่ตัวละครได้กระทำลงไป
(ฉะนั้นการให้ตัวละครประสบอุบัติเหตุแบบไม่มีที่มาที่ไป หรือเช่นฟ้าผ่าตายก็จะไม่ใช่ลักษณะนี้)

         2. ตัวละครเอกจะมีสิ่งที่เรียกว่า Tragic Greatness (ความยิ่งใหญ่) ควบคู่ไปกับ Tragic Flaw
(ความอ่อนแอ) กล่าวคือ

Tragic Greatness เป็นความยิ่งใหญ่ของตัวละครเช่นชาติกำเนิดหรือสถานะทางสังคม หรือมีนิสัยเกินกว่า
คนธรรมดาในอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นมีความกล้าหาญมาก มีคุณธรรมมาก ซึ่งจากลักษณะดังกล่าว
ทำให้ตัวละครเอกของละครโศกนาฏกรรมมักจะไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไปเนื่องจากจะต้องเป็นตัวอย่างของ
วีรบรุษ (Hero)

Tragic Flaw คือจุดอ่อนและข้อบกพร่องบางประการในนิสัยของตัวละครเอก อันนำมาซึ่งหายนะ เช่น
ความหยิ่ง ขี้หึง โลภ ฯลฯ

Oedipus the King

"...and what use had I for eyes? Nothing I could see would bring me joy."


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 10:21

          3. ทุกฉากของละครโศกนาฏกรรมจะแสดงถึงความทุกข์ทรมานเพื่อให้ผู้ชมเกิด
ความรู้สึก Pity and Fear (สงสารและหวาดกลัว) ซึ่งการจะเกิดความรู้สึกดังกล่าวได้นั้น
ละครจะต้องทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมก่อน นั่นคือ Involvement เพื่อนำไปสู่ Identification

กระบวนการดังกล่าวพอจะสรุปเป็นขั้นๆ ได้คือ

- ผู้ชมดูละครแล้วเกิดความรู้สึกร่วม – Involvement

- เมื่อการแสดงดี ผนวกกับบทละครที่ยอดเยี่ยมและองค์ประกอบร่วมอื่นๆ คนดูจะแยกตัวเอง
   ออกจากตัวละครไม่ได้เลย จนรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวละครไป(หรืออีกนัยหนึ่งคือการ “ลืมตัวตน”) –
  Identification

- เมื่อคนดูรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละคร ก็จะเกิดความรู้สึก Pity and Fear จากชะตากรรม
   ที่ตัวละครกำลังประสบ

- จากหายนะที่ตัวละครประสบ คนดูซึ่งรู้สาเหตุของสิ่งต่างๆ รู้ที่มาของหายนะ ก็จะเข้าใจ
   “สาเหตุแห่งทุกข์” – enlightenment

          4. ละครโศกนาฏกรรมจะนำผู้ชมไปสู่ Cathasis ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด
ของละครโศกนาฏกรรม กล่าวคือ
             หากดูละครจนจบแล้วไม่เกิด Cathasis นั้นจะถือเป็นการสูญเปล่า
             โดย Cathasis นั้นคือการยกระดับจิตใจ ชำระจิตใจของผู้ชมให้บริสุทธ์
(เช่น รู้ตัวว่าไม่ควรหูเบาแบบ Othello ไม่ทะเยอะทะยานแบบ Macbeth) ขณะเดียวกันก็เป็น
การให้ผู้ชมได้ระบายอารมณ์ที่คั่งค้างไว้ในใจหรือที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึกออกมาซึ่งจะระบายไป
กับความรู้สึกร่วมกับตัวละคร (Involvement)

           ส่วนหนึ่งที่ความคิดเรื่อง Cathasis สำคัญมากกับละครโศกนาฏกรรมซึ่งกำเนิดจากกรีก
ก็เพราะชาวกรีกนั้นเชื่อในเรื่องของชะตากรรม (Fate) ว่ามักดลบันดาลให้มนุษย์เจอกับความทุกข์
ทรมานซึ่งมนุษย์ต้องยอมรับและปลงตก
             ดั่งที่เห็นได้จากการชมละครว่า แม้ตัวละครจะมีความเก่งกาจยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ยังพบกับ
หายนะได้ ผู้ชมที่เป็นคนธรรมดาเองก็หนีกฏธรรมชาตินี้ไม่ได้ เมื่อตระหนักได้เช่นนี้แล้ว ผู้ชมก็จะชำระ
จิตวิญญาณให้บริสุทธ์ ไม่เกิดกิเลสให้ไขว่ขว้าหรือหาสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์

             นอกจากนี้แล้ว ผู้ชมที่ได้ดูละครโศกนาฏรรมนั้นจะรู้สึกได้ว่าการเป็นมนุษย์นั้นถือเป็นสิ่งที่ดี
เนื่องจากรู้ว่ามนุษย์มีความยิ่งใหญ่ในด้านต่างๆ (เช่นการไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมของตัวละครแม้จะต้อง
เจอหายนะเพียงใด) และก็จะเกิดความรู้สึกสูงส่งทางจิตใจ อยากพัฒนาตัวเองให้เป็นดั่งตัวละคร
ในด้านของ Tragic Greatness

          5. ละครโศกนาฏกรรมถือว่ามีคุณค่าสูงสุด กล่าวคือมีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างสูงสุด

Oedipus and Antigone


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 16 ก.พ. 12, 19:24

ทฤษฎีข้างบนนี้มีจุดกำเนิดมาจากละครกรีก  ซึ่งแบ่งเป็น tragedy โศกนาฏกรรม และ comedy หัสนาฏกรรม(ไม่ใช่เรื่องตลก)  วิธีคิดทั้งหมดนี้เป็นของตะวันตกค่ะ   จัดอยู่ในประเภทที่เรียกภายหลังว่า classic 
ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance  ก็มีการนำละครแบบกรีกมาปรับใช้กับประเทศตะวันตกอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ   ละครอังกฤษสมัยก่อนและร่วมสมัยกับเชคสเปียร์มีแนวคิดอย่างที่คุณ SILA ยกมาเช่นกัน    ละครของเชคสเปียร์ถูกวิเคราะห์เข้าในแนวของ tragedy และ comedy แบบกรีกอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าสวมรอยกันไม่สนิทนัก  เพราะเชคสเปียร์เป็นกวีชาวบ้าน ไม่ใช่นักปราชญ์ที่เรียนภาษากรีกและละตินมาก่อน  แต่นักวรรณคดีวิจารณ์ก็อนุโลมให้ว่ามันไปกันได้

ถ้าถามว่า tragedy กับ comedy ต่างกันยังไง สรุปได้สั้นๆว่า tragedy จบด้วย damnation  คือตัวละครเอกตายอย่างน่าสลดใจ  ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวตาย  ประสบอุบัติเหตุตายอย่างไม่น่าจะเป็น    ไม่มีใครแก่ตายอย่างสงบ      แต่ถ้า comedy จบด้วย salvation  คือรอดเคราะห์กรรมทั้งหลายได้  ได้รับอภัยโทษ ยกโทษ   พ้นโทษ แล้วดำรงชีวิตไปได้อย่างสงบตามอัตภาพของตน

โดยส่วนตัวไม่ชอบ tragedy ค่ะ   เพราะดูๆเรื่องราวมันขาดเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ทั้งระหว่างตัวละคร  และความรู้สึกของตัวละครที่มีกับตัวเอง    ที่หายากใน tragedy คือ อภัยทาน ไม่ว่ากับผู้อื่นหรือตัวเอง

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 10:35

         
อ้างถึง
โดยส่วนตัวไม่ชอบ tragedy ค่ะ  เพราะดูๆ เรื่องราวมันขาดเมตตา กรุณา มุทิตา
และอุเบกขา ทั้งระหว่างตัวละคร  และความรู้สึกของตัวละครที่มีกับตัวเอง ที่หายากใน tragedy คือ
อภัยทาน ไม่ว่ากับผู้อื่นหรือตัวเอง

           แต่ คนดูก็จะได้ cathasis (emotional cleansing) เป็นสิ่งตอบแทนนะครับ

ผู้สนใจ Oedepus อ่านเรื่องราวได้ที่กระทู้นี้ ครับ

           http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3578.75

Oedipus and Jocasta (พระมารดาและมเหสี)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 17 ก.พ. 12, 20:56

ใช่ค่ะ ตามหลักดราม่าของกรีก  เขาก็ถือว่าความวิบัติหรือหายนะของตัวละครเอก เป็นเหมือนเครื่องช่วยฟอกใจคนดูให้สะอาด  ยกใจขึ้นสูระดับ enlightenment หรือการรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม
อาจารย์ก็สอนอย่างนี้    แต่มันก็ทำใจให้คล้อยตามนั้นไม่ได้สักที    เพราะรู้สึกว่าต้องลุยเลือดตัวละคร เพื่อไปฟอกอารมณ์ให้สะอาด มันตะขิดตะขวงใจอยู่ตะหงิดๆ

ความคิดแบบโศกนาฏกรรมของกรีก ซึ่งสืบทอดต่อมาในยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของยุโรป   เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นในอำนาจของพระเจ้า   ว่าถึงอย่างไรมนุษย์ก็จะต้องเดินไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้แล้ว    ถ้าหากว่าใคร"ละเมิด" หรือ "แหกคอก" ทำสิ่งที่พระเจ้ากำหนดไว้ว่าไม่ถูกไม่ควร      เช่นพยายามกระโดดจากตำแหน่งฐานะตัวเองขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงกว่าอย่างผิดทำนองคลองธรรม เช่นแมคเมธปลงพระชนม์พระราชาของตัวเองเพื่อจะขึ้นสู่อำนาจแทน    หรือว่าอีดีปุสได้แม่ตัวเองเป็นชายาจนมีลูกด้วยกัน   ผิดทางด้าน incest (การสมสู่กับผู้ร่วมสายเลือดตัวเอง) ก็เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันได้ดีขึ้นมาได้  ตอนจบต้องตายอย่างน่าสมเพชทุกราย

มองด้วยสายตาไทยๆ เราไม่มีความคิดเชื่อมั่นแบบนี้   ก็เลยไม่ค่อยชอบโศกนาฏกรรมเพราะเหตุนี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 10:35

       หวนมองย้อนอดีต ความชื่นชอบเทรเจดี้คงจะเริ่มมาจากตำนานพญา(พระยา)กง พญา(พระยา)พาน
และยายหอมที่ได้อ่านตอนเป็นเด็ก (ซึ่งมีเนื้อเรื่องคล้ายๆ กับ Oedipus)
        จำได้ว่าประทับใจอย่างมากกับเรื่องราวดรามาเข้มข้นเกินนิยายเรื่องอื่นใดทั้งหลาย
และรู้สึกเศร้าสงสารยายหอมเป็นที่สุด ครับ

ภาพเขียนแสดงให้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน สร้างครอบทับพระเจดีย์ที่สร้างขึ้น
ตามตำนาน พญา(พระยา)กง พญา(พระยา)พาน



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 18 ก.พ. 12, 10:53

       คลิปตำนานพญา(พระยา)กง พญา(พระยา)พานจากรายการ พินิจนคร ตอนพระปฐมเจดีย์ ครับ

         
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 19 ก.พ. 12, 21:29

ทำไมยายหอมแกไม่บอกความจริงคะ?   ลืมๆตำนานส่วนนี้ไปแล้ว
เคยสงสัยว่าตำนานพญากงพญาพาน มีที่มาจาก Oedipus  ด้วยการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมจากกรีกมาอินเดีย และอินเดียมาเป็นตำนานของสุวรรณภูมิหรือเปล่า   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 11:11

         ตำนานเรื่องนี้ สุนทรภู่ได้แต่งไว้ในนิราศพระประธม ว่า

เห็นรูปหินศิลาสง่างาม                               เป็นรูปสามกษัตริย์ขัตติย์วงศ์
         ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้                 หวังจะให้ทราบความตามประสงค์
ว่ารูปทำจำลองฉลององค์                            พระยากงพระยาพานกับมารดา

         ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราชย์            เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา
เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา                    กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน

         พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง         ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ
พระยากงส่งไปให้นายพราน                          ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย

         ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง                    แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย                       ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง

         ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว                แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง                          มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร

         พระยากงลงมาจับก็รับรบ                     ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร
ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน                         จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ

         เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล                    จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ                            ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน

         ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด                 ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล
เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์                          จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 11:14

         ส่วนตำนานร้อยแก้วมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ครับ

หนึ่งตำนานบอกว่าทำไม ยายหอมปกปิดความจริง

           พระมเหสีผู้เป็นมารดาได้ติดสินบนเพชฌฆาตให้ฆ่าเด็กทารกอื่นแทนแล้วให้นำโอรส
ไปให้ยายหอมโดยห้ามแพร่งพรายเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด
           ยายหอมก็ทำตามด้วยความรักและความเมตตาในชะตากรรมโอรส และได้ถามชื่อโอรส
เพชฌฆาตบอกว่าพระมเหสีให้ชื่อว่า “พานทอง”
          (คงมาจาก  เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา        กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน)
และกำชับห้ามยายหอมบอกเรื่องนี้แก่ผู้ใดอย่างเด็ดขาดแม้แต่พระโอรสก็ตาม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 11:21

ตำนาน(ต่างๆ) เล่าต่อว่า

           ต่อมายายหอมนำพระกุมารไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมของพระยาราชบุรี
(และได้ตั้งให้เป็นพระยาพาน) ซึ่งขึ้นตรงต่อพระยากง ต่อมาพระกุมารดำริว่าเมืองราชบุรี
ควรเป็นอิสระจึงหยุดส่งเครื่องบรรณาการ เป็นเหตุให้พระยากงยกทัพมาตีราชบุรี
         พระยาราชบุรีให้พระกุมารเป็นแม่ทัพออกรบกระทำยุทธหัตถี และพระยากงถูกพระกุมารฟัน
ด้วยของ้าวจนเสียชีวิต

         หนึ่งตำนานเล่าว่า เมื่อพระกุมารรู้ความจริงทั้งหมดก็เกิดอาการ "พาล" โกรธโทษยายหอม
ที่ไม่บอกความจริงให้รู้ได้ฆ่ายายหอมตาย จึงได้ชื่อต่อมาว่า พระยาพาล(ตามตำนานฉบับนี้)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 11:24

         ประเด็นที่พล็อตเรื่อง Oedipus ช่างคล้ายกับตำนานพญากง พญาพานของบ้านเรานั้น
อ.เจตนา  นาควัชระ ได้กล่าวไว้ว่า

           ตำนานพระปฐมเจดีย์ ที่เกี่ยวกับ "พญากง-พญาพาน" ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
(ส่วนประเด็นที่ว่าอิทธิพลของปกรณัมเรื่องอีดิปุสเดินทางเข้ามาสู่สุวรรณภูมิได้อย่างไร
ยังเป็นปมปัญหาที่นักวิชาการจะต้องค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป ซึ่งก็คงเดินทางผ่านมาทางตักสิลา)

          เรามีวิธีสร้าง " catharsis" (ความโล่งอารมณ์) ในแบบที่วัฒนธรรมกรีกต้นกำเนิด
ไม่รู้จัก ความสำนึกผิดของพญาพานที่นำไปสู่การสร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินเป็นการสร้างความผ่อนคลาย
ด้วยแรงบุญที่ผูกอยู่กับพระศาสนา 
             อีดิปุส "ฉบับนครปฐม" ยอมให้แต่เพียงลูกฆ่าพ่อ แต่ไม่ยอมให้ลูกสมสู่กับแม่ เรารับความรุนแรง
ของต้นแบบอย่างเต็มรูปไม่ได้
             อีดิปุสฉบับกรีกไปไกลกว่านั้นมาก เพราะนอกจากปิตุฆาตแล้วยังมีบาปอันมหันต์ที่มาจาก
การสมสู่กับมารดาเข้ามาทบอีกในตอนท้ายเรื่อง อีดิปุสได้กล่าวรำพันถึงความโหดร้ายแห่งชะตากรรม
ที่ทำให้เขากับลูกของเขาเองเกิดมาจากแม่เดียวกัน ละครของซอเฟอคลีสจึงเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม
ซึ่งเกินเลยไปจากตำนานของไทย แต่เราก็จำเป็นจะต้องรับกติกาของประเพณีโศกนาฏกรรมกรีก
ว่าความรุนแรงที่กล่าวถึงนี้เป็นไปในลักษณะของความโหดเหี้ยมทางปรัชญาด้วย.
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 20 ก.พ. 12, 22:14

เข้ามาอ่านกระทู้นี้ได้สักสองสามครั้งแล้วครับ
แต่ยังอ่านไม่ครบตั้งแต่ต้นจนถึงหน้าล่าสุด

เผอิญมาเห็นคุณ SILA พูดถึง 'catharsis' กับ อ.เจตนา เสียก่อน
เลยพาให้ผมนึกไปถึงหนังเรื่องนี้ได้อย่างไรก็ไม่รู้

ลองค้นดูใน 'ค้นหา' แล้ว ยังไม่พบคำว่า 'Departure' ที่เป็นชื่อหนัง
เลยเข้าใจไปเองว่าน่าจะยังไม่มีใครพูดถึงภาพยนต์วิจิตรเรื่องนี้
ขออนุญาตนำมาฝากกันนะครับผม




บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 10:26

           ได้ดู Departures เมื่อตอนเข้าฉายในโรงเฮาส์ อาร์ซีเอ ครับ

             หนังเล่าเรื่องราวพระเอกนักเชลโลตกงาน ต้องกลับบ้านในชนบทแล้วมาสมัครงาน
ที่นึกว่าเป็นงานการท่องเที่ยว

พระเอก -   The ad said departures, so I thought it meant a travel agency.
นายจ้าง -  That's a misprint. It's not departures, it's the departed.

และความจริงคืองาน   Casketing - Putting bodies in coffins. It bloomed!      

             แม้ว่าบางตอนจะรู้สึกว่าหนังจงใจไปบ้าง เช่นในฉากเปิดเรื่อง หรือตอนที่พระเอกเจอ
เค้สแรกที่(รูปและกลิ่น)หนักหนารุนแรง แต่โดยส่วนรวมแล้วชอบเนื้อหาเรื่องราว บรรยากาศชนบท
ญี่ปุ่น   และตอนจบที่ซาบซึ้งสะเทือนใจและ"โล่งอารมณ์"(แต่พอจะคาดเดาได้และดูจงใจเช่นกัน)

หนึ่งในฉากที่ชอบ เมื่อครู(วิชาชีพสัปเหร่อ)สอนศิษย์เรื่องอสุภศพจากอาหารอร่อย


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 21 ก.พ. 12, 10:58

พี่ผู้กำกับท่านนึง พูดถึงฉากที่คุณ SILA ยกมาว่า 'Irony'
ถ้ามองในมุมของคนทั่วๆไป ที่ไม่คุ้นกับความตายก็อาจจะใช่

แต่ถ้าลองแหยมไปคุยกับพวกนิสิตแพทย์
ที่กล้าเอาผลไม้ถุงวางข้างตัวอาจารย์ใหญ่
แล้วกินไปด้วยเวลาเรียนกรอสล่ะก็... แค่นี้จิ๊บๆ

โดยส่วนตัวผมชอบหนังเรื่องนี้ที่การกำกับศิลป์เป็นหลักครับ
ทั้งภาพ แสง การตัดหนัง และเพลง ฟ้องถึงความละเมียดของโปรดักชั่นได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าโดยส่วนตัวก็แอบรู้สึกว่าหลายๆฉากจะ 'ตั้งใจมากเกินไป' อย่างคุณ SILA ว่าจริงๆ

แต่อย่างน้อย ผมก็ให้คะแนนเรื่องนี้ดีกว่า Benjamin Button ล่ะเอ๊า...
เรื่องนั้นตัดหนังดูไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย ยืดยาวมากเกินไป สวยแต่กำกับศิลป์ครับ



ปล. ผมวิจารณ์โหดไปไหมนี่ ฟังเพลงดีกว่าครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง