เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 188928 บทละครเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


 เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 12:59

ช่วยดูให้หน่อยค่ะ ว่าถอดความถูกต้องหรือเปล่า พอดีลองถอดความเองแล้วรู้สึกว่ามันแปลกๆ
 เมื่อนั้น                                    ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
เสด็จเหนือแท่นรัตน์มณี                      ภูมีเห็นสองอนุชา
จึงตรัสเรียกให้นั่งร่วมอาสน์                สำราญราชหฤทัยหรรษา
แล้วปราศรัยระตูบรรดามา                   ยังปรีดาผาสุกหรือทุกข์ภัย
ซึ่งเราให้หามาทั้งนี้                               จะไปตีดาหากรุงใหญ่
ระตูทุกนครอย่านอนใจ                        ช่วยเราชิงชัยให้ทันการ

ถอดความ....ท้าวกะหมังกุหนิงเสด็จขึ้นแท่นประทับ เมื่อเห็นพระอนุชาทั้งสอง ซึ่งก็คือ ระตูปาหยังและระตูประหมัน จึงตรัสเรียกให้มานั่งร่วมกัน
แล้วถามสารทุกข์สุกดิบ และบอกว่าที่ให้พระอนุชาทั้งสองมานี้ เพื่อให้ไปช่วยตีเมืองดาหา ให้กษัตริย์ทุกนครอย่างได้นิ่งนอนใจ ให้มาช่วยกัน
ชิงชัยในการรบครั้งนี้
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 13:09

ต่อค่า........
  เมื่อนั้น                                     เหล่าระตูปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
 จึงสนองมธุรสพจมาน                          พระมีการสงครามแต่ละครั้ง
จะตั้งหน้าอาสาออกชิงชัย                      มิได้ย่อท้อถอยหลัง
สู้ตายไม่เสียดายชีวัง                                กว่าจะสิ้นกำลังของข้านี้
ถอดความ.....ระตูปาหยังและระตูประหมัน จึงตอบว่า เมื่อมีสงครามในแต่ละครั้ง ก็จะอาสาออกชิงชัยชนะ
ด้วยความไม่ย่อท้อ จะสู้ตายโดยไม่เสียดายชีวิต จะสู้จนกว่าตัวจะตาย
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 13:15

  เมื่อนั้น                                   ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
ฟังระตูทูลตอบชอบที                             สมถวิลยินดีปรีดา
จึงตรัสว่าท่านมาเหนื่อยนัก                     จงไปพักพลขันธ์ให้หรรษา
ตรัสพลางทางชวนอนุชา                         เข้ามหาปราสาทรูจี
ถอดความ....เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงได้ยินที่อนุชาทั้งสองตอบมาก็รู้สึกพอใจมาก จึงตรัสว่า
อนุชาทั้งสองเดินทางมานี้คงเหนื่อยมาก ให้พากองทัพไปพักผ่อน และชวนให้อนุชาทั้งสองเข้าปราสาท
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 13:42

 ลดองค์ลงนั่งบนแท่นทอง         กับด้วยพระน้องทั้งสองศรี
จึงตรัสเล่าความตามคดี             จนใช้เสนีถือสารไป
ถอดความ.....แล้วลงนั่งบนแท่นประทับ พร้อมด้วยพระอนุชาทั้งสอง แล้วตรัสเล่า
ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้อนุชาทั้งสองฟัง (วรรคนี้ จนใช้เสนีถือสารไป หมายความว่ายังไงหรอคะ)
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 13:58

เมื่อนั้น                                           สองกษัตริย์ฟังแจ้งแถลงไข
จึงทูลขัดทัดทานทันใด                                   เป็นไฉนผ่านเกล้ามาเบาความ
อันสุรีย์วงศ์เทวัญอสัญหยา                              เรืองเดชเดชาชาญสนาม
ทั้งโยธีก็ชำนาญการสงคราม                           ลือนามในชวาระอาฤทธ์
กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย                              เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์                            เห็นผิดระบอบบุราณมา
ใช่จะไร้ธิดาทุกธานี                                        มีงามแต่บุตรีท้าวดาหา
พระองค์จงควรตรึกตรา                                  ไพร่ฟ้าประชากรจะร้อนนัก
ถอดความ....เมื่อระตูปาหยังและระตูประหมันได้ยินดังนั้น จึงรีบทัดทานว่า ทำไมท่านถึงไม่คิดให้รอบคอบ
เสียก่อน เมืองดาหานั้น มีวงศ์เทวัญซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์ที่สืบวงศ์มาจากเทวดาปกครองอยู่ อีกทั้งมีพลทหาร
ซึ่งชำนาญการทำสงคราม มีเมืองขึ้นนับร้อย เมืองของเราเป็นเพียงเมืองเล็กๆ เหมือนกับหิ่งห้อยที่ริอาจจะไป
แข่งกับแสงอาทิตย์ หญิงงามใช่ว่าจะมีแต่พระธิดาของท้าวดาหาเท่านั้น ขอให้พระองค์คิดให้ดีๆ เพราะการศึกครั้งนี้
จะทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนได้รับความเดือนร้อน
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 14:07

เมื่อนั้น                                                          ท้าวกะหมังกุหนิงมีศักดิ์
จึงบ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบพระน้องรัก                                    ใช่จะหาญหักวงศ์เทวัญ
ด้วยบัดนี้บุตรีดาหา                                                              จรกาให้มาตุนาหงัน
เราจะยกพลไกรไปโรมรัน                                                ช่วงชิงนางนั้นกับจรกา
ถอดความ.....ท้าวกะหมังกุหนิงไม่เชื่อคำทัดทาน จึงบ่ายเบี่ยงที่จะตอบอนุชาทั้งสอง ตัวเรานั้นก็ไม่
อยากที่จะทำสงครามกับเมืองดาหาหรอก แต่เนื่องด้วยพระธิดาของท้าวดาหาได้หมั้นหมายกับจรกา
จึงจะไปทำศึกเพื่อไปแย่งนางบุษบากับจรกา
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ธ.ค. 11, 14:29

เมื่อนั้น                                                          สองระตูทูลตอบพระเชษฐา
เมื่อนางยังอยู่กับบิดา                                                          ที่ในดาหากรุงไกร
แม้นเกิดการสงครามช่วงชิง                                             ท้าวดาหาหรือจะนิ่งดูได้
จะบอกความไปสามเวียงชัย                                              กรีธาทัพใหญ่มามากมาย
จะเป็นศึกกระหนาบหน้าหลัง                                          เหลือกำลังโยธาทั้งหลาย
ถ้าเสียทีเพลี่ยงพล้ำสิซ้ำร้าย                                               จะอัปยศอดอายแก่จรกา

ถอดความ....พระอนุชาทั้งสองจึงตอบกลับไปว่า นางบุษบายังคงอยู่กับบิดาที่เมืองดาหา ถ้าเกิดสงครามการช่วงชิง
ท้าวดาหาคงไม่อยู่เฉยแน่ ท้าวดาหาคงต้องส่งสาน์สบอกแก่กษัตริย์วงศ์เทวัญทั้งสามเมือง ให้ยกทัพใหญ่มามากมาย
เกิดเป็นศึกครั้งใหญ่ ทั้งศึกนาบทั้งหน้าหลัง ถ้าเราเสียทีเพลี่ยงพล้ำแพ้ขึ้นมา ก็จะอายจรกาไปเสียอีก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ธ.ค. 11, 20:51


คุณ mynamesunsun  คะ

        ไม่เห็นจะแปลกตรงไหนเลยค่ะ  เป็นสำนวนที่มีความพยายามเต็มที่แล้ว

จึงแวะมาให้กำลังใจตามประสาคนชอบอ่าน อิเหนา      อยากชวนให้อ่านตอนอื่น ๆ ต่อไป

ถ้าจะให้ดี  ขอให้อ่านออกเสียง  เพราะคุณจะจำความได้   เข้าใจเรื่อง  หรือสะดุดคำที่อาจนำไปขยายความ

ได้อีก  เช่นคำศัพท์ในบางตอนหมายความว่าอะไร

        การถอดความเป็นร้อยแก้ว  ก็ไม่เห็นที่พลาดพลั้งอะไร  เพียงแต่ยังยึดกับต้นฉบับมากทีเดียว    ลองใช้คำที่ง่าย

คือคำที่คุณคิดว่าคุณเข้าใจ

        หลังจากที่ได้อ่านตอนนี้ทั้งหมดแล้ว   รู้เรื่องความเป็นไป  ใครทำอะไร  กับใคร  ที่ไหน  เกิดอะไรขึ้น   คุณก็จะมั่นใจ

และแปลได้ลื่นไหล


ใน คคห ๑         กษัตริย์ทุกนคร   คือ เมืองขึ้นของกะหมังกุหนิงค่ะ

คคหที่ ๓           สมถวิล  สมดังที่คิดไว้

คคห ๔             ถือสารนี่คือส่งสารไปดาหาขอบุษบาค่ะ     ไม่ใช่สารที่ไปตามน้องมา เพราะน้องย่อมทราบอยู่แล้ว


        ที่จริงก็ไม่มีอะไรยากนะคะ       ขอให้แวะมาที่เรือนไทยบ่อยๆ      ผู้เชี่ยวชาญชิงชัยจะลงกระทู้อิเหนาจากเล่มอื่นอีกในเร็ววัน  คงมีคำอธิบายแปลก ๆ

ตอนอื่นๆที่นับว่าเป็นจัดเพื่องานมงคลก็ยังมีเรื่องรัก หึงหวง  งอนไปงอนมา    ก็ยังไม่ได้นำมาคุยกัน       ขอเชิญเข้าร่วมสนุกตีความกันนะคะ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ธ.ค. 11, 08:49

ลดองค์ลงนั่งบนแท่นทอง         กับด้วยพระน้องทั้งสองศรี
จึงตรัสเล่าความตามคดี             จนใช้เสนีถือสารไป
ถอดความ.....แล้วลงนั่งบนแท่นประทับ พร้อมด้วยพระอนุชาทั้งสอง แล้วตรัสเล่า
ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้อนุชาทั้งสองฟัง (วรรคนี้ จนใช้เสนีถือสารไป หมายความว่ายังไงหรอคะ)



ก็หมายความว่า  ท้าวกะหมังกุหนิงประทับบนแท่นกับพระอนุชาทั้งสองพระองค์แล้ว
ก็ตรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงเนื้อความที่ท้าวกะหมังกุหนิงได้โปรดให้ขุนนางของพระองค์
ออกเดินทางถือสารไปยังเมืองดาหาเพื่อถวายสารนั้นแก่ท้าวดาหา

เวลาถอดความหมายอย่าดูความแต่ละวรรค ให้พิจารณาความวรรคอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย
คำประพันธ์สมัยก่อน มักแต่งเนื้อความไม่จบขาดภายในวรรค หรือ บทคำประพันธ์เดียว
แต่จะเขียนเนื้อความต่อเนื่องกันไปเหมือนเขียนร้อยแก้ว 
เวลาอ่านก็ต้องเชื่อมเนื้อความแต่ละวรรคแต่ละบทให้สัมพันธ์กัน
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ธ.ค. 11, 21:37

ขอบคุณสำหรับทุกคำแนะนำมากนะคะ เอาที่เหลือที่แปลไว้แล้วมาลงน่ะค่ะ
ผิดบ้างถูกบ้าง ยังคงมึนๆเหมือนเดิม
พอดียังไม่ได้แก้ไขตามคำแนะนำเลยค่ะ การบ้านเยอะมากๆ
เลยเอามาลงไว้ เผื่อเอาไว้สอบค่ะ
คำแนะนำดีมากเลยค่ะ ถ้าว่างๆก็จะลองแปลเพิ่มอีกนะคะ
   เมื่อนั้น               ท้าวกะหมังกุหนิงนาถา
จึงตรัสตอบสองพระน้องยา         ซึ่งว่านี้เจ้าไม่เข้าใจ
อันระเด่นมนตรีกุเรปัน            ก็ขัดข้องเคืองกันเป็นข้อใหญ่
ไปอยู่เมืองหมันหยากว่าปีไป         ที่ไหนจะยกพลมา
แต่กาหลังสิงหัดส่าหรี            จะกลัวดีเป็นกระไรหนักหนา
ฝ่ายเราเล่าก็สามพารา            เป็นใหญ่ในชวาแว่นแคว้น
ถึงทัพจรกาล่าสำนั้น            พี่ไม่พรั่นให้มาสักสิบแสน
จะหักโหมโจมตีให้แตกแตน         พักเดียวก็จะแล่นเข้าป่าไป
เจ้าอย่าย่อท้อไม่พอที่            แต่เพียงนี้ไม่พรั่นหวั่นไหว
เอ็นดูนัดดาโศกาลัย            ว่ามิได้อรไทจะมรณา
แม้นวิหยาสะกำมอดม้วย         พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
ไหนไหนในจะตายวายชีวา         ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
ผิดก็ทำสงครามดูตามที         เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
พี่ดังพฤกษาพนาวัน            จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา
ถอดความ.....ท้าวกะหมังกุหนิงจึงตรัสว่า พวกเจ้าไม่เข้าใจหรอกว่า เจ้าฟ้าแห่งเมืองกุเรปัน (อิเหนา) มีเรื่องขัดเคืองกับท้าวดาหาอยู่และไปอยู่เมืองหมันหยาก็หลายปี จะยกทัพมาได้อย่างไร แต่เมืองกาหลัง และเมืองสิงหัดส่าหรี พวกเจ้าจะกลัวอะไรกันหนักหนา ฝ่ายเราก็มีตั้งสามเมืองที่เป็นใหญ่ในชวาเหมือนกัน ส่วนทัพของท้าวล่าสำพี่ชายของจรกานั้น พี่ก็ไม่หวั่นกลัว ต่อให้มาสักสิบแสน (หนึ่งล้าน) ก็จะโจมตีกองทัพให้แตก เดี๋ยวพวกมันก็หนีเข้าป่าไปเอง พวกเจ้าอย่ากลัวไปเลย สงสารวิหยาสะกำเถอะ ถ้าไม่ได้นางบุษบามาคงจะขาดใจตาย ถ้าวิหหยาสะกำตาย พี่ก็คงต้องตายตามไปด้วยแน่ อย่างไรก็จะต้องตายอยู่แล้ว ถึงจะช้าหรือเร็วก็คงเหมือนกัน ผิดกันตรงที่ว่า ถ้าทำสงคราม เคราะห์ดีอาจได้ตามสมใจนึก

   
บันทึกการเข้า
mynamesunsun
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ธ.ค. 11, 21:42

เมื่อนั้น                  สองกษัตริย์ฟังตรัสพระเชษฐา
จะเซ้าซี้ก็จะขัดพระอัชฌา            ต่างก้มพักตราไม่พาที
ถอดความ....เมื่อระตูปาหยังและระตูประหมันได้ยินที่ท้าวกะหมังกุหนิงพูด ก็ก้มหน้าไม่กล้าพูดจา

   เมื่อนั้น                  ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
ชวนสองอนุชาธิบดี               เข้าสู่ที่บรรทมสำราญ
ถอดความ....ท้าวกะหมังกุหนิงเห็นพระอนุชาทั้งสองไม่โต้แย้งใดๆ ก็ชวนทั้งสองให้เข้าที่บรรทมให้สบายใจ




เมื่อนั้น            พระองค์ทรงพิภพดาหา
ครั้นสุริย์ฉายบ่ายสามนาฬิกา      ก็โสรจสรงคงคาอ่าองค์
ทรงเครื่องประดับสรรพเสร็จ      แล้วเสด็จอย่างเยื้องยูรหงส์
ออกยังพระโรงคัลบรรจง      นั่งลงบนบัลลังก์รูจี
ยาสาบังคมบรมนาถ         เบิกทูตถือราชสารศรี
จึงดำรัสสั่งไปทันที          ให้เสนีนำแขกเมืองมา
ถอดความ...ครั้นเมื่อเวลาบ่ายสามนาฬิกาองค์ท้าวดาหาก็เสร็จเข้าสรงน้ำในคงคา จากนั้นก็แต่งองค์ทรงเครื่องประดับทั้งหลาย แล้วจึงเสด็จเยื้องย่างอย่างสวยงามดุจดั่งหงส์ ออกมายังท้องพระโรงแล้วนั่งลง ณ บัลลังก์อันงดงาม เสนาบดีตำแหน่งยาสานั้นได้บังคมทูลเบิกทูตนำราชสารให้พระองค์ ดังนั้นจึงรับสั่งให้เหล่าเสนานำแขกเข้ามาพบในทันที

บัดนั้น            อำมาตย์รับสั่งใส่เกศา
ออกไปพาสองทูตา         เข้ามาประณตบทมาลย์

   ถอดความ....เมื่ออำมาตย์ได้รับคำสั่งแล้ว จึงออกไปพาสองทูตกะหมังกุหนิงให้มาเข้าเฝ้าท้าวดาหา


บัดนั้น            เสนีผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร
จึงให้อาลักษณ์พนักงาน      รับราชสารมาอ่านพลัน

ถอดความ.....แล้วเสนาชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหารจึงให้พนักงานผู้รับผิดชอบรับราชสารมาอ่านถวายพระองค์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 ธ.ค. 11, 04:55



       สวัสดีค่ะคุณ sunsun  ผู้มีการบ้านเยอะ

 
       อย่าพูดอีกว่า ผิดบ้างถูกบ้าง เลยนะคะ     คุณตั้งใจแปลความไว้ด้วยตนเองก็น่านิยม

การจะตีความนั้น  ก็เพียงอย่าข้าม "คำศัพท์"  ไป       ดิฉันเองก็ไม่ใช่จะแปลถูกต้องไปหมดหรอกค่ะ

ท่านผู้ใหญ่มากในวงวรรณคดีก็ตามอ่านกระทู้ใน เรือนไทย อยู่บ้าง   ถ้าท่านว่างก็คงฝากใครมาแก้ไขแนะนำทั้งคุณ

และดิฉันเป็นแน่       เราก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน


อย่าผ่านคำว่า  นาถา  ซึ่งแปลกันว่า  ที่พึ่ง       ที่พึ่งนี้ก็ที่พึ่งของไพร้ฟ้าประชาชนและของน้องสององค์

อิเหนาไม่ได้มีเรื่องขัดเคืองกับท้าวดาหาผู้เป็นอา  (ประไหมสุรีดาหาก็เป็นน้องสาวของ แม่อิเหนา  พยายามจำความสัมพันธ์ให้ได้นะคะ)

ท้าวดาหาต่างหากที่โกรธอิเหนาเพราะทิ้งบุษบา  ไปอยู่กับ เมืองหมันยา(ถอดความว่ากับจินตะหรา  ไม่ได้ไปอยู่ที่เมืองหมันหยาแบบเปลี่ยนสถานที่)  ปีกว่า

ไม่ใช่หลายปี

       ดังพฤกษาพนาวัน  จะอาสัญเพราะลูกดังกล่าวมา    เป็นประโยคสำคัญ     ถามว่า  คุณ sunsun   พอจะนึกออกไหมคะ  ว่าต้นไม้อะไรที่พอมีลูกแล้วก็ตาย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 ธ.ค. 11, 05:28



       บรรทมให้สบายกาย     ไม่ใช่สบายใจ   เพราะถ้าไม่สบายใจก็คงบรรทมไม่ได้


       ท้าวดาหาอาบน้ำแม่น้ำในตอนบ่าย   คงจะหลังบรรทมงีบกระมัง    คงไม่ได้เสด็จลงไปแม่น้ำในเวลาแดดเปรี้ยงเป็นแน่

เดินเหมือนหงส์นี่เท่าที่เห็นมาก็เห็นเดินเหมือนห่านและเป็ด    หงส์นั้นสง่าเมื่อว่ายน้ำเพราะเคลื่อนที่ไปได้อย่างราบรื่นเหมือนการเต้นระบำหงส์เหิร
ข้อความตอนนี้ถอดว่าเดินอย่างสง่าก็แล้วกันนะคะ

เจ้าหน้าที่เบิกทูตทุกวันนี้ประเทศเราก็ยังมีอยู่นะคะ    ยาสานั้นเป็นตำแหน่งถูกต้องแล้ว  คือเป็นหนึ่งในสี่มนตรีผู้ใหญ่  ตั้งได้แต่สี่เมือง

อย่าแปลข้ามคำว่า "อาลักษณ์"  ซิคะ  (ผู้ทำหน้าที่ทางหนังสือในราชสำนัก)    ไม่เก่งจริงๆไม่ได้เป็นหรอกค่ะ   ต้องมีความรู้แม่นยำ 

เท่าที่อ่านพบก็เป็นบุคคลที่เพียรพยายาม   บางรายก็บวชมานาน  มีอาจารย์ที่ล้ำเลิศ   สึกออกมาก็เป็นหลวง    กว่าจะได้เป็นพระก็อีกนาน


       เวลาอ่านหนังสืออย่าคิดว่าตนเองจะมึนนะคะ      ขอให้พักผ่อนให้พอ   ออกกำลังกายเล็กน้อย   ตั้งสมาธิ   

       ไม่มึน  ไม่ร้อน  ไม่เหนื่อยค่ะ

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 20 คำสั่ง