เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 5939 ร่อนทองจากประวัติกววงหยงเด็กชายไว้เปีย
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 15:55



       กววงหยงเป็นเหลนจีนนอกชาวแต้จิ๋ว    ชื่อจ๋าย   มาเมืองไทยแล้วก็มีภรรยาไทย(ไม่ทราบนามและสกุลวงศ์)

ปู่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุตรคนโต ชื่อ บั้น   ย่าเป็นไทยชาวบางยี่ขัน    มีบุตรสี่คนเป็นชายสองหญิงสองสลับกัน

พ่อของกววงหยงชื่อ หลี  หรือ มะลิ        แม่ชื่อ เฮียะ   เท่าที่เล่ากันมา ตาเป็นจีนนอก   ยายเป็นสาวไทยอยู่แถวท่าช้างวังหลวง


       เจ้าของประวัติเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑   ที่เรือนไม้หลังหนึ่ง  ตั้งอยู่ติดคูด้านใต้ของวัดพระยาไกร

ในบริเวณโรงเลื่อยจักรบริษัทบอร์เนียว  อำเภอยานนาวา  จังหวัดพระนคร


       หลี และ เฮียะ  เป็นไทยเชื้อจีน   ชาวกรุงเทพ

       หลีไว้เปีย          เป็นหนุ่มแล้วก็ยังไว้เปีย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 16:17



        ข้อเขียนนี้พยายามจะเก็บความสำคัญอันยิ่งใหญ่ในประวัติของ เด็กไทยเลือดจีนผู้นี้

โดยจะพยายามนำเสนอเกร็ดเล็ก ๆ ในชีวิตของท่าน   ที่ไม่มีผู้พูดถึง   ถ้าพูดกันเงียบ ๆ ดิฉันไม่ได้ยิน   

ที่เปิดประตูไปสู่เรื่องราวที่น่าสนใจในประวัติศาตร์เมืองไทย

ท่านที่พอจะทราบว่า กววงหยงเป็นใคร   กรุณางำความไว้ก่อน

เพราะในสายตาของดิฉัน     เรื่องราวเล็กๆน้อยที่อาตี๋เล่า    สนุกมาก

ที่จริงลูกจีนผู้นี้นับว่าเป็นไทยเต็มตัว  เพราะสายเลือดบรรพชนสตรีล้วนเป็นไทย

อาตี๋ที่ไว้หางเปียท่านนี้ได้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย

ท่านต่อสู้ชีวิต  ใฝ่ศึกษาเป็นที่ยิ่ง    รักความก้าวหน้า    บุตรหลานของท่านก็เป็นท่านผู้มีเกียรติในหลายวงการ

ความบังอาจของดิฉันที่กล้าเรียกท่านว่า  อาตี๋  นั้น    ท่านผู้ใหญ่ของดิฉันของสะดุ้งเป็นแน่ถ้าทราบโดยประการใด

ทำไมท่านเหล่านั้นไม่เล่าให้อาหมวยวันดีฟังบ้างเล่า      ต้องให้อาอ่านเองคิดเอง

วันดีชอบอ่านเกร็ดประวัติ  เกร็ดพงศาวดารนี่นา

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 16:24

เข้ามานั่งฟังด้วยครับ  ยิงฟันยิ้ม พร้อมกับพกแผนที่เข้ามากาง วางดู เสาะหาภูมิสภานถิ่นเดิม อันเป็นต้นกำเนิดแห่งบุคคลที่คุณวันดีกำลังเอ่ยถึงนี้

เห็นคลองด้านล่างวัดพระยาไกร และโรงสีบอร์เนียว จึงได้จัดทิศทางบ้านเรือนและโรงเลื่อยบอร์เนียวคงไม่หนีไกลกันมาก

จักทำตัวเงียบ ๆ ขอนั่งอ่านด้วยความสุข


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 16:25


ประวัติเรื่องนี้ใช้หนังสือสองเล่มสลับกัน   แต่ขออภัยที่จะไม่อ้างอิง  เพราะเกรงว่าจะโดนปาด เชือด และแล่

เรื่องชีวิตของท่านผู้นี้เป็นแค่ฉากหลังของเรื่องบางเรื่องที่อยากนำมาเล่า


        ออกแขกนานมาก      อาวุธทั้งปวงปลุกบูชามาแล้ว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 16:52



       หลีทำงานเป็นเสมียนอยู่โรงเลื่อยจักร

ประมาณสี่ปีต่อมา  ครอบครัวย้ายไปอยู่ สามเพง(รักษาตัวสะกดเดิมเพื่อเสน่ห์ของการอ่าน)เพราะเปลี่ยนอาชีพ

สองปีต่อมา  ครอบครัวย้ายไปเช่าบ้านอยู่ใหม่ในตรอกหลังวัดมหาพฤฒาราม   วัดเดิมชื่อวัดตะเคียน

คูของวัดแล่นขนานไปกับตรอกตื้นเขินไม่น่าดู  เพราะถูกปลูกเรือนคร่อมตลอดไป     ตอนกววงหยงยังเด็กว่ายน้ำไม่เป็น

ยังไปอาบเล่นอยู่บ่อย ๆ          ผู้ใหญ่เล่าว่าจมน้ำไปหนหนึ่ง

       กววงหยงซนมาก   มากกว่าใครๆในแวดวงของท่าน   หวิดเป็นนักเลงไปแล้ว


       ตอนเป็นเด็ก  กลัวตำรวจ  เพราะไว้เปีย     เห็นตำรวจก็หลบแว่บ  หลบหนีอย่างรวดเร็วเพราะกลัวว่าตำรวจจะจับฐานไม่ผูกปี้

วันหนึ่งไปชกกับคู่วิวาทเข้า   ต่อยกัน      ท่านเสียทีโดนกระชากหางเปีย       ท่านเล่าว่า  "นึกขัดใจ  โกรธหางเปียว่าเป็นเหตุของ

การอัปยศ   กลับมาบ้าน  ค้นได้ตะไกร  ก็ห้ำหั้นหางเปียทันที     เมื่อผู้ใหญ่ทราบก็ไม่ว่าอะไร"



     เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗   ย้ายบ้านจากหลังวัดมหาพฤฒารามไปเช่าที่ปลูกเรือนอยู่ปากถนนสาธรใต้   ต่อถนนเจริญกรุง

ต่อมาเป็นที่ว่าการอำเภอยานนาวา

     เป็นเรือนไม้ขั้นเดียว ๓ ห้อง  ทรงมนิลา  มีใต้ถุนสูง   พื้นและเครื่องเรือนเป็นไม้สัก      ฝาเป็นไม้กระยาเลย

มีรั้วปีกไม้สักรอบบ้าน

     ในบริเวณบ้านมีโรงเก็บฟืนแสมไว้จำหน่าย  เป็นโรงขนาดใหญ่  ฝาขัดแตะ   พื้นกระดานไม้สัก   หลังคามุงจาก

เรือนที่อยุ่ก็มุงจาก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 21:48


       ที่ตอนหน้าของโรงไว้ฟืนนี้  ขายหมากสมัด(ขายเป็นคำ ๆ)  และขนมไทยแห้ง ๆ   ทำนองร้านชำ

ด้านหน้าเป็นหน้าถัง  คือปิดเปิดด้วยกระดานเป็นแผ่น  ลากตามรางที่วางไว้

ในเวลานั้นเรือฟืนจะจอดอยู่ที่ริมคลองสาธร   ใครต้องการฟืนก็ไปซื้อจากเรือ   เรือขายหมดก็กลับบ้าน

บางทีชาวบ้านก็ขาดฟืนเพราะเรือยังไม่มา

ผู้ใหญ่ของกววงหยงก็เท่ากับเป็นนายหน้าค้าฟืน            แม่ขยันขันแข็ง  ทุกๆสี่หรือห้าวันก็เช่าเรือพายไปซื้อของที่ตลาดท้องน้ำ

จับพ่อจอมซนติดหัวเรือไปด้วย  หัดให้พายไปบ้างจนพายเรือเป็น

       เพื่อนเล่นแถวบ้านล้วนแต่เป็นหัวไม้และนักเลงโตรุ่นเล็ก     ใครก็ไม่ทราบแทงกววงหยงเข้าที่ชายโครงข้างซ้ายหนหนึ่ง   

ตีหัวเป็นแผลโตหนหนึ่ง               กววงหยงหนีออกจากบ้านไปอยู่วัดหลายวันเพราะถูกล่ามโซ่ไว้ไม่ให้ออกจากบ้านไปเที่ยว

ท่านเองก็ประหลาดใจว่าทำไมเอาตัวรอดมาได้
             
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 ธ.ค. 11, 22:42




       เด็กไทยสายเลือดจีนกววงหยง  ต่อมาได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนเกินที่นับได้

ไม่ได้ไปโรงเรียนจนอายุ ๘ ขวบกว่าเกือบจะ ๙ ขวบ      ท่านเรียนที่โรงเรียนพระยานานา  ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา

ตรงข้าวศุลกากรสถาน  ต่อมาเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำ           ท่านเรียนอยู่ที่นี่ ๒ ปีกว่า


       ต่อมาแม่พาไปฝากอัสสัมชัญ   ต่อรองเรื่องราคาค่าเล่าเรียนกับบาทหลวงคอลอมเบต์  ผู้สร้างโรงเรียน

พ่อสนใจการศึกษาของลูกมาก   แต่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน     ท่านแนะนำให้ตื่นแต่เช้า  สมองจะแจ่มใสและแม่นยำ


       ครูใหญ่ชื่อ กร  อมาตยกุล  หนุ่มฟ้อ     กววงหยงเล่าว่า  "มีหน้าตาพอที่จะให้ผู้หญิงต้องเหลียวชำเลืองดู"   ต่อมาได้

บรรดาศักดิ์เป็นพระยาวินิจวิทยากร
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 05:37


       ครูประถมชื่อ  ยอน  เจมส์เป็นไทยเชื้อฝรั่ง     ครูยอนต่อมาไปรับราชการที่กระทรวงกลาโหม

เปลี่ยนชื่อเป็นนายนิยม  รักไทย(ชื่อประทาน)  มียศเป็นร้อยเอก  และมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบวรบรรณารักษ์

วันแรกที่เข้าห้องเรียนครูยอนก็ให้กววงหยงอ่านหนังสือ เอ บี ซี ให้ฟัง   และให้อ่านคำผสมอย่างง่าย ๆ  

"ข้าพเจ้าก็อ่านได้อีก     ครูยอน เจมส์พลิกต่อไปอีกหน้าหนึ่ง   แล้วบอกว่าพรุ่งนี้เอามาอ่านต่อให้ฟัง  และผละจากข้าพเจ้าไป

โดยไม่ได้บอกสอนอ่านให้กับข้าพเจ้าเลย   ไม่เหมือนกับเด็ก ๆ คนอื่น  ซึ่งเข้าเรียนพร้อม ๆ กัน  ซึ่งครูสอนให้อ่านตาม

ข้าพเจ้าถึงกับร้องไห้ไม่ทราบว่าจะอ่านออกได้อย่างไร"

กลับมาบ้านเล่าให้พ่อฟัง   พ่อก็สอนให้อ่านในตอนหัวค่ำ  และปลุกให้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่ออ่านทบทวน


        นายหลี หรือ มะลิ     สะสมหนังสือ  สมัยนั้นหนังสือก็พิมพ์ขึ้นไม่มาก    กววงหยงเล่าว่าบิดาเป็นคนคิดไม่เหมือนคนอื่น  

ไม่เชื่อเรื่องอะไรง่าย ๆ   ไม่กลัวผี    ประเพณีนั้นอนุโลมตามบ้าง    สร้างเครื่องใช้ในบ้านที่ทำด้วยไม้และถอดได้เป็นชิ้น ๆ เอง    

อิทธิพลความทันสมัยของบิดาคงมีส่วนทำให้กววงหยงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปูพื้นฐานที่กระตุ้นความอยากเรียนอยากรู้

เมื่อกววงหยงเริ่มเข้าทำงานใหม่ ๆ    ได้เผลอหลับไปที่โต๊ะทำงานเมื่อนายฝรั่งมาเจอเข้า   สาเหตุคือตอนกลางคืนได้คร่ำเครียด

เรียนวิธีใช้ลูกคิดแบบใหม่จากบิดา


       กววงหยงเมื่ออายุ ๗ - ๘ ขวบอ่านหนังสือไทยง่าย ๆ ได้คล่องและรับจ้างอ่านหนังสือให้ผู้หญิงในบ้านฟัง   เพื่อนบ้านอีกคนหรือสองคนก็มาฟังด้วย

ไม่มีใครจ้างก็เลยอ่านเองเพราะถูกใจ  เพราะมียักษ์มารอภินิหาร เร้าจินตนาการของเด็ก

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 06:07



       หนังสือที่ตีพิมพ์ขายโดยมากเป็นเรื่องประโลมโลก   ยังมีสุภาษิตคำกลอน  เช่นสุภาษิตสอนหญิง

สุภาษิตขี้ยา  สวัสดิรักษา     นิยายชาวบ้านต่าง ๆ

พ่ออ่าน "ชานพระศรี"  และเล่าให้ลูกฟังบ่อย ๆ     จนลูกจำกลอนได้เป็นเวลานาน   พ่ออ่านนิราศ   ที่บ้านมีนิราศอยู่หลายเล่ม

กววงหยงไม่สนใจอ่านเท่าไร          พ่อเล่าปากเปล่าเพลงยาวของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤิทธิ์

พ่อเล่าด้วยว่าราษฎรอ้างถึงคงพระองค์ท่านว่า  "กรมหลวงภูวตา"


       กววงหยงไม่เคยอ่านเพลงยาวบทนั้นจนเป็นหนุ่ม    ได้อ่านในหนังสือไทย  "สำรับพิเศษ" ของโรงพิมพ์ไท  ถนนรองเมือง 

ของขุนโสภิตอ้กษร     อ่านแล้วก็นำกลับไปให้พ่อดู   ท่านอ่านอยู่หลายเวลา  แล้วบอกลูกว่าพิมพ์ไม่ตรงกับที่ท่านเคยอ่านและจำได้   

ได้บอกให้ลูกจดคำที่ไม่ตรงเป็นตัวดินสอกำกับไว้


       ตอนที่เป็นเด็กโต    กววงหยงชอบอ่านพงศาวดารจีนเพราะเหมาะกับภูมิรู้ของวัยรุ่น         เมื่อท่านเป็นหนุ่มแล้ว

พงศาวดารจีนมีขายอยู่ในท้องตลาดแล้ว    ถ้าต้องการอ่านก็ไปซื้อจากโรงรับจำนำ  เพราะราคาแพงมาก   อยากอ่านจริงๆก็ต้องสืบว่าใครมีบ้าง

แล้วหาทางไปยืมมาอ่าน

       กววงหยงคงไม่คิดเลยว่า   ความสนใจและเส้นทางอ่านหนังสือของท่าน  เป็นแนวทางเดินของนักอ่านรุ่นต่อมา  และเล่าสุ่กันฟัง

ท่านสั่งหนังสืออะไรไว้ที่ร้านหนังสือเก่า   ท่านผ่านมารับไปแล้ว  ทำให้คนที่อยากอ่านหรือขอยืมดูซักแว่บแล้วไม่ทันได้เห็นต้องบันทึกไว้

กลุ่มนักอ่านรุ่นดิฉันตามอ่านและเล่าเรื่องของท่านสู้กันฟังอย่างครึกครื้นตื้นตันและบูชา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 06:17



        "หนังสือพงศาวดารจีนตามที่เล่ามานี้   มีอิทธิพลแก่การเขียนหนังสือของข้าพเจ้าไม่น้อย

โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว  และเป็นบรรไดขั้นแรก   ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน

ได้ดีขึ้น         เป็นผลสะท้อนให้ข้าพเจ้าเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง  คือวัฒนธรรมไทย

ด้วยมีใจเพลาลงจากคติอหังการ (egoism) ซึ่งมีประจำอยู่ด้วยกันทุกคน  ไม่มากก็น้อย"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 06:34



       กวงหยงเรียนอยู่อัสสัมชัญ  ขึ้นชั้น ๕  ได้เพียงเดือนเดียวก็ออก    เพราะญาติแนะนำให้ไปเรียน

โรงเรียนแพทย์ที่ ศิริราชพยาบาลที่กำลังจะเปิด     แต่ไปฝึกงานที่โอสถศาลาอยู่ ๒ - ๓ เดือนโดยไม่มีเบี้ยเลี้ยง

การค้าฟืนแสมที่บ้านถนนสาธรใต้ไม่เจริญเท่าไร   จึงเซ้งไป

ครอบครัวย้ายบ้านอีกครั้ง     แสดงที่อยู่ยังไม่ได้เพราะสหายตาคมจะทราบทันทีว่า เด็กชายไทยเลือดจีน

ไว้เปียของดิฉันคือใคร


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 07:06


        ครอบครัวในเวลานั้นไม่มีรายได้อะไร  นอกจากขายของสวน    "พอเจือจานเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันแก่ลูก ๖ คน"

แม่จ่ายเงินให้เป็นค่าอาหารและค่ารถเมื่อไปฝึกงาน     แต่หนุ่มน้อยเดิน   โดยใช้ขาที่ธรรมชาติให้ไว้

ต่อมาได้ไปทำงานที่โฮเตลโอเรียนเตล   ได้เงินเดือน ๖๐ บาท    "พอจะลืมหน้าอ้าปากได้"    ทำงานตั้งแต่ ๗ นาฬิกา  

กลับบ้านราว ๑๘ นาฬิกา   ไม่มีวันหยุด


       กววงหยงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา


        เมื่อได้เป็นข้าราชการที่กรมศุลกากรแล้ว  เห็นโฆษณาสอนภาษาอังกฤษในเวลากลางคืน   บ้านเป็นตึกสองชั้น  อยู่ที่ถนนตรอกกัปตันบุช

ด้านขวามือเดินเข้าไปเพียงเล็กน้อย   ในบริเวณเดียวกันกับสำนักพิมพ์ "ไทยใหม่"     กววงหยงไปเรียนตอนสองทุ่ม  เป็นนักเรียนคนเดียว

เรียนการแต่งภาษาอังกฤษและการแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย

ครูของท่านเป็นนักเรียนนอกและอดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ      คุณครูมีแขกมาเยือนบ่อย ๆ  ทำให้ไม่ได้เรียนเป็นล่ำเป็นสันนัก

วันดีเข้าใจเอาเองด้วยเห็นเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาบ้าง   ว่าคุณครูและแขกของท่านน่าจะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ

       แขกผู้นี้คือ  เสด็จในกรมราชศักดิ์สโมสร

       ครูคือ   Prince Prisdang


       เรื่องนี้ไม่นับว่าเป็นข้อมูลทองคำเพราะหนังสือหลายเล่มก็ลอกกันต่อ ๆ มา

รายละเอียดเรื่องตำหนักนั้นเพิ่มขึ้นบ้าง


        ตอนนี้ กววงหยง   น่าจะใช้ชื่อไทยแล้ว  ว่า นาย ยง  หรือย้ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 07:11




        ต่อมามีพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร   นายยงจึงมาทำงานที่กรมศุลกากรในตำแหน่งเสมียนโท

เงินเดือน ๕๐ บาท   มีวันหยุด  ไม่ต้องไปทำงานเช้าถึงค่ำ

       หัวหน้าฝรั่งสอนภาษาอังกฤษให้โดยอธิบายไวยากรณ์อังกฤษ   และให้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์สมัยโบราณ 

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 09:40

ครอบครัวย้ายบ้านอีกครั้ง     แสดงที่อยู่ยังไม่ได้เพราะสหายตาคมจะทราบทันทีว่า เด็กชายไทยเลือดจีน

ไว้เปียของดิฉันคือใคร

ข้อมูลที่คุณวันดีให้ไว้ตอนต้นกระทู้



       กววงหยงเป็นเหลนจีนนอกชาวแต้จิ๋ว    ชื่อจ๋าย   มาเมืองไทยแล้วก็มีภรรยาไทย(ไม่ทราบนามและสกุลวงศ์)

ปู่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุตรคนโต ชื่อ บั้น   ย่าเป็นไทยชาวบางยี่ขัน    มีบุตรสี่คนเป็นชายสองหญิงสองสลับกัน

พ่อของกววงหยงชื่อ หลี  หรือ มะลิ        แม่ชื่อ เฮียะ   เท่าที่เล่ากันมา ตาเป็นจีนนอก   ยายเป็นสาวไทยอยู่แถวท่าช้างวังหลวง


       เจ้าของประวัติเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑   ที่เรือนไม้หลังหนึ่ง  ตั้งอยู่ติดคูด้านใต้ของวัดพระยาไกร

ในบริเวณโรงเลื่อยจักรบริษัทบอร์เนียว  อำเภอยานนาวา  จังหวัดพระนคร


       หลี และ เฮียะ  เป็นไทยเชื้อจีน   ชาวกรุงเทพ

       หลีไว้เปีย          เป็นหนุ่มแล้วก็ยังไว้เปีย

มากเพียงพอที่จะทราบว่า เด็กชายไว้เปียนี้คือใคร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ธ.ค. 11, 10:48



อิอิ  มาหาทองคำเนื้อเก้าในตัวประวัติของบุคคลสำคัญค่ะ   ไม่ใช่มาเล่าประวัติท่านเพราะเป็นที่ทราบอยู่   

ประวัติท่านเมื่อมาถึงชื่อตัว  ก็เท่ากับเปิดตัวแล้ว

ขนาดบ้านติดกับบ้านเก่าของท่านยังอ้างว่าเป็นบ้านเก่าของท่านเฉยเลย

เด็กหญิงวันดีเคยติดตามลูกศิษย์ของท่านที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ  ไปเยี่ยมท่านที่บ้านสองครั้ง

เล่าให้สหายกลุ่มนักอ่านฟัง  ฮือฮากันเพราะท่านผู้ยิ่งใหญ่ในวงการหนังสือของเมืองไทยก็เล่าไว้ว่าได้ทรุดตัวลงกราบเท้าฝากตัวเป็นศิษย์

เมื่ออยู่มัธยมปลาย

เด็กหญิงวันดีซึ่งรักษาคำนำหน้านามจนอยู่มัธยม ๖     นับตัวเองเป็นหลานศิษย์ค่ะ  แบบกำลังภายใน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง