เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3407 อยากทราบเรื่องการเสนอกองทัพเจียงไคเช็คปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทยตอนสงครามโลก ?
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


 เมื่อ 15 ธ.ค. 11, 14:12

บันทึกของร.ต.ท.เฉียบ อัมพุนันท์ เขียนไว้ว่า ...

"สงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ยอมจำนนแล้ว บางคนในคณะรัฐมนตรีของนายควง อภัยวงศ์ ได้เสนอที่จะให้กองทัพจีนของเจียงไคเช็คเป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธกองทัพทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป(คือตั้งแต่เส้นขนานที่ลากผ่านอำเภอบางมูลนากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเสลภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นไป) แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ ไม่ยอม"

มีท่านอาจารย์ผู้รู้ท่านใดทราบเหตุการณ์ตอนนี้บ้างครับ ผมค้นจากแหล่งอื่นก็ยังหาไม่เจอ  เป็นเหตุการณ์สั้น ๆ ที่แม้ไม่เกิดจริงแต่ก็น่าสนใจทีเดียว
 
บัณรส บัวคลี่
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ธ.ค. 11, 14:31

สาส์นของนายปรีดี  พนมยงค์

ถึงอดีตเสรีไทย และ ทายาท
ชานกรุงปารีส

วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

สวัสดีมายังเพื่อนอดีตเสรีไทยและทายาทที่รักและนับถือทั้งหลาย

ด้วยเพื่อนอดีตเสรีไทยและทายาทหลายท่านได้แจ้งมายังผมว่าจะบำเพ็ญการกุศลทำบุญอุทิศให้แก่เพื่อนอดีตเสรีไทยที่ล่วงลับไปแล้วในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ปีนี้ ในโอกาสนั้นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ก็จะบริจาคโลหิตของตนมอบให้สภากาชาดเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ผมจึงมีความยินดีและขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านทั้งหลาย และหวังว่าท่านทั้งหลายที่สามารถไปยังวัดพระศรีมหาธาตุตามวันที่กล่าวนั้นคงจะได้ร่วมบำเพ็ญการกุศลครั้งนี้ด้วย

ในโอกาสนี้ ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกถึงคำปราศรัยของผมต่อผู้แทนหน่วยขบวนเสรีไทยต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งแสดงถึงเจตนาอันบริสุทธิ์และวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทย มีความสำคัญที่ผมขอคัดมากล่าวในที่นี้ว่า

..................................................

ส่วนขบวนการอื่นใดจะมีแผนการทางการเมืองและทางการทหารอย่างไรและติดต่อกับประเทศมหาอำนาจใดนั้นก็เป็นเรื่องที่ขบวนการนั้นต้องชี้แจง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการติดต่อระหว่างขบวนเสรีไทยกับรัฐบาลจีนและกองบัญชาการสัมพันธมิตรในย่านเอเชียอาคเนย์นั้น ผมขอชี้แจงว่าในระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่นนั้นประเทศสัมพันธมิตรอื่น ๆ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองยอมรับรองว่าจีนมีรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวซึ่งตั้งอยู่ที่นครจุงกิงโดยมีเจียงไคเช็คเป็นประมุข พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งโจวเอินไหลให้เข้าร่วมในรัฐบาลจีนนั้นในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่ง และฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนได้เปลี่ยนฐานะกองทัพแดงให้เป็นกองทัพลู่ที่ ๘ และกองทัพที่ ๔ ใหม่ของรัฐบาลจีน ส่วนรัฐบาลจีนของหวังจิงไวที่นานกิงนั้นขบวนการเสรีไทยไม่ติดต่อด้วย ส่วนเขตกองบัญชาการสัมพันธมิตรนั้นในขั้นแรกสัมพันธมิตรได้ตกลงให้เจียงไคเช็คเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเขตประเทศจีนและในแหลมอินโดจีน ซึ่งถ้าคงเป็นเช่นนั้นต่อไปแล้วเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะเจียงไคเช็คก็มีอำนาจส่งกองทหารจีนเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย ต่อมาสัมพันธมิตรได้ตกลงกันตั้งเขตบัญชาการสูงสุดแห่งเอเชียอาคเนย์ภายใต้ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทแทน ส่วนเจียงไคเช็คคงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเฉพาะในเขตประเทศจีนเท่านั้น แม้กระนั้นเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เจียงไคเช็คก็ได้เสนอว่าให้ถือเส้นขนานที่ ๑๖ เป็นเขตใต้สุดแห่งสมรภูมิจีนในประเทศไทยด้วย คือหมายความว่าดินแดนไทยที่อยู่เหนือตั้งแต่อำเภออุ้มผาง, อำเภอบางมูลนาก, อำเภอบ้านไผ่, อำเภอเสลภูมิ, อำเภอเขมราฐ ขึ้นไปนั้นจะต้องอยู่ในเขตที่เจียงไคเช็คส่งกองทหารจีนเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น แต่เมื่อผมได้ทราบข่าวเจตนาของเจียงไคเช็คเช่นนั้นแล้วจึงได้ติดต่อกับรัฐบาลอเมริกัน ขอให้ใช้อิทธิพลจัดการให้เจียงไคเช็คส่งกองทหารจีนมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเฉพาะที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ในประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสเท่านั้น ส่วนทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยขอให้ยอมวางอาวุธแด่ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรแห่งเอเชียอาคเนย์ ซึ่งส่งทหารอังกฤษมาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเท่าที่จำเป็นแล้วถอนทหารออกไปจากประเทศไทย ประธานาธิบดีทรูแมนจึงได้ออกคำสั่งหมายเลข ๑ ลงวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ สั่งให้กำลังทหารญี่ปุ่นทั้งหมดในประเทศไทยยอมจำนนแก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดภาคเอเชียอาคเนย์ ดังนั้นคนจีนก๊กมินตั๋งจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเห็นกองทหารอังกฤษเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย จึงได้ก่อกรณีที่เรียกกันว่า "เลี๊ยะพ่ะ" ขึ้น แต่จีนคอมมิวนิสต์บางคนที่ลี้ภัยอยู่ในสยามสมัยนั้นได้อาสาร่วมมือกับฝ่ายไทยในการต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อกรณี "เลี๊ยะพ่ะ"

.............................................................

ในที่สุดนี้ ผมขอเดชะคุณพระศรีรัตนตรัยและอานิสงส์แห่งความเสียสละรับใช้ชาติของเพื่อนอดีตเสรีไทยที่วายชนม์ไปแล้วจงดลบันดาลให้เพื่อนเหล่านั้นประสบสุขคติในสัมปรายภพ และขออวยพรให้ทายาทของเพื่อนเหล่านั้นอีกทั้งเพื่อนเสรีไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งราษฎรไทยผู้รักชาติทั้งหลายจงประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลมีความสุขความเจริญยิ่งทุกประการเทอญ

ปรีดี พนมยงค์

ฉบับเต็มอ่านที่ เว็บสถาบันปรีดี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ธ.ค. 11, 14:46

โห !  เร็วมากเลยครับ
ขอบพระคุณท่านเพ็ญชมพู
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ธ.ค. 11, 10:16

พบเรื่องนี้ที่กระทู้ "เรื่องเล่าจากอดีตที่โรงเรียนวัดพลับพลาชัย" ในเวป วิชาการ.คอม ท่านเจ้าของกระทู้ใช้นามว่า "แขชนะ"เป็นผู้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในความเห็นเพิ่มเติมที่ 642 ดังนี้


ผมมีเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่พ่อผมเก็บไว้ รู้สึกว่าจะเคยเล่าให้ฟังบ้างแล้วในตอนต้นๆของกระทู้ ต้องขอย้อนความหลังเล็กน้อย เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน......

หลังจากที่พ่อจบ ม.8 แล้ว พ่อผมได้รับทุนไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยหวงผู่ หลังสำเร็จการศึกษา เกิดสงครามกลับบ้านไม่ได้ จึงไปสมัครเป็นนายทหารจีน ตอนหลังพอญี่ปุ่นยอมแพ้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พ่อผมก็ถูกส่งมาประจำการที่กองพล 93 ในฐานะนายทหารคนสนิทของท่านนายพล ยศของพ่อขณะนั้นคือ พันโท ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย
เอกสารของพ่อฉบับนั้นลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2488 เป็นจดหมายจากนายอำเภอเชียงแมนถึงพ่อ เพื่อสมานพันธไมตรี โดยพ่อผมเป็นล่ามของฝ่ายทหารจีนในกองพล 93

กองทัพจีนมาช่วยปลดอาวุธญี่ปุ่นและคืนดินแดนให้แก่ประเทศไทยที่อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง (ซึ่งเป็นของไทยในขณะนั้น) ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว
แสดงว่า เมื่อปี พ.ศ.2488 เรายังมีจังหวัดล้านช้างอยู่ ซึ่งได้คืนมาจากฝรั่งเศสจากการเจรจา สิ่งที่ผมไม่เข้าใจคือดินแดนอำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้างนั้น
กลายเป็นของลาวอีกตั้งแต่เมื่อไร และอย่างไร

ปัจจุบันเมืองเชียงแมนเป็นเมืองที่น่าท่องเทียวเมืองหนึ่ง มีวัดเชียงแมนไชยเชษฐาราม ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงด้านทิศตะวันตกตรงกันข้ามกับเมืองหลวงพระบาง
ต้องนั่งเรือข้ามฝากที่ท่าวัดเชียงแมน เป็นเรือติดเครื่องยนต์ลำเล็กนั่งได้10 คน เรือจะรอคนเต็มลำแล้วจึงจะออกเรือ
หมู่บ้านเชียงแมนมีลักษณะเป็นหมู่บ้านในชนบทอย่างแท้จริง พระอุโบสถมีลักษณะคล้ายกับวัดในเชียงใหม่ โดยเฉพาะซุ้มประตูโขงของพระอุโบสถ
บานประตูแกะสลักไม้ปิดทองเรื่องพระเวสสันดรชาดก คันทวย ลวดลายประดับคล้ายกับแบบสมัยล้านนา มีความสง่างามน่าชม
นอกจากนี้ยังมีผ้าพระบฏปักทองเป็นรูปพระพุทธเจ้าที่หาดูได้ยาก











บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง