เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 9165 ขอความรู้ เรื่องการศึกษาสมัยก่อน
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


 เมื่อ 13 ธ.ค. 11, 17:14

ขอความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กไทยย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 60 ปีค่ะ 

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ธ.ค. 11, 17:41

ย้อนหลังไป 60 ปีก่อน   เด็กจะเรียนอนุบาลหรือไม่เรียนก็ได้  อายุ 8 ขวบ ถึงเกณฑ์เข้าร.ร.  แต่เด็กในเมืองหลวงไปเรียนกันก่อนหน้านั้นสองหรือสามปีแล้ว
ประถมมี 4 ปี  เรียนจบก็ถือว่าจบเกณฑ์บังคับ   จะเรียนต่อหรือไม่เรียนก็ได้      ถ้าเรียนต่อก็ขึ้นเรียนมัธยม 1 ถึง 6   ต่อจากนั้นแยกไปเรียนสายอาชีวะ หรือไม่ก็ไปทางสายสามัญ   ถ้าสายสามัญ เรียนต่อ ม. 7 -8  จบชั้นมัธยมบริบูรณ์    จากนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัย   ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งระดับอนุปริญญา และระดับปริญญา(ตรี)
ถ้าไปเรียนอาชีวะ  เรียน 3 ปี ได้ปวช.  เรียนอีก 2 ปีได้ปวส. 
ขอตอบคร่าวๆแค่นี้ค่ะ  ไม่ทราบว่าคุณแอนนาอยากจะรู้ทางด้านไหนบ้าง
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ธ.ค. 11, 21:21

แล้วเด็กบ้านนอก ก็เดินไปโรงเรียน ไม่ใส่รองเท้า บางโรงเรียนก็ไม่มีอาคารเรียนเป็นของตนเอง
ต้องใช้ศาลาวัดเป็นอาคารเรียน
พักกลางวันเวลาเพล เพราะนักเรียนมักจะเป็นลูกศิษย์พระด้วย
เช้าเรียนเลข บ่ายเรียนภาษาไทยหรือแล้วแต่ครูจะสอน
ครูคนเดียวสอนทุกวิชา ก่อนกลับบ้านท่องสูตรคูณทุกวัน
กระดานดำใช้ดินหม้อผสมน้ำข้าวทา ไม่มีสมุด ใช้กระดานชนวน ดินสอหิน ชั้นมัธยมใช้สมุด ดินสอดำ ปากกาคอแร้ง
เด็กเกเร มักถูกทำโทษด้วยไม้บรรทัดหรือไม้เรียว หรือแปลงลบกระดาน
กราบหนังสือเรียนทุกครั้งก่อนและหลังเรียน ห้ามเดินข้ามหนังสือ
บางอำเภอไม่มีโรงเรียนมัธยม ต้องไปเรียนที่อื่น หญิงพักบ้านญาติชายมักเป็นศิษย์วัด
เด็กที่สนใจเรียนจึงมักได้ดี
เด็กไม่สนใจเรียน แต่ผู้ปกครองอยากให้เรียนก็จะช่วยดูแลให้ตั้งใจเรียน
พระ  ครู ผู้ปกครองช่วยกันดูแล
ผู้ที่ได้เรียนสมัยเมื่อหกสิบปีก่อนส่วนใหญ่จะเป็นคนดี
ออ้ ม ๘ ใช้ข้อสอบกลาง เหมือนกันทั่วประเทศ
เป็นเรื่องจริง แต่ให้อ่านเล่นๆ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ธ.ค. 11, 07:42

มีผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  ตัวท่านนั้นกว่าจะเข้าโรงเรียนประชาบาลก็อายุ ๙ ขวบแล้ว  เรียนไปพาสชั้นไปจบมัธยม ๖ เมื่ออายุ ๑๕ ปี  แล้วไปเรียนครูจนจบ กศ.บ.ประสานมิตรเมื่ออายุ ๒๑ ปี  แล้วเข้ารับราชการเป็นครูประชาบาล  สอบชิงทุนทุนฟุลไบรท์ไปศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา  มีกำหนด ๔ ปี  แต่ใช้เวลาเรียนไม่ถึง ๒ ปี ก็จบกลับมารับราชการ  ต่อมาโปรเฟสเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาติดต่อมาให้ไปทำดอกเตอร์ให้ทุน ๔ ปี  ท่านต่อรองว่าไม่มีเวลาขอไปเรียนเพียง ๒ ปี  ทางสหรัฐตอบตกลง  จึงไปเรียนจนจบในเวลา ๑ ปี ๓ เดือน  จบแล้วไปขายไแสกรีมแขางอเมริกันดำ  แล้วนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาระบบการศึกษาของชาติ  ด้วยแนวคิดว่า การศึกษาไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน  ท่านได้ตั้งโรงเรียนทำมาหากินที่จังหวัดฉะเชิงเทราบ้านเกิดของท่าน  โรงเรียนนี้นอกจากสอนวิชาการในห้องเรียนแล้ว ยังสอนให้นักเรียนได้รู้จักการทำมาหาเลี้ยงชีพพร้อมไปกับการเล่าเรียน  อาทิ สอนให้นักเรียนปลูกต้นไม้  วันนี้ขายได้ ๕ บาทก็ขาย  ขายยังไม่ได้ก็รดน้ำพรสนดินต่อไป  ค้นไม้เจริญเติบโตก็ขายได้ราคามากขึ้น เป็นต้น
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ธ.ค. 11, 17:51

รบกวนขอความรู้เพิ่มเติมอีกนิดค่ะ

เรียนถามอาจารย์เทาชมพู

เข้ามหาวิทยาลัย   ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งระดับอนุปริญญา และระดับปริญญา(ตรี)
ถ้าไปเรียนอาชีวะ  เรียน 3 ปี ได้ปวช.  เรียนอีก 2 ปีได้ปวส.

- สมมุติเข้าอักษรฯ (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคณะฮิตสุดของสาวๆใช่ไหมคะ) ถ้าเรียนจบแค่อนุปริญญา  จะได้วุฒิอะไร  แล้วทำงานอะไรได้บ้างคะ (นอกจากครู ซึ่งเข้าใจว่าฮิตสุดอีกเช่นกัน)

- อาชีวะ และ ปวส เรียนทางสาขาไหนบ้างคะ  Finishing school รวมอยู่ในนี้ด้วยหรือเปล่าคะ


เรียนถามอาจารย์ puyum

ม ๘ ใช้ข้อสอบกลาง เหมือนกันทั่วประเทศ [/color] เป็นเรื่องจริง แต่ให้อ่านเล่นๆ

หมายถึงหนังสืออ่านนอกเวลาหรือเปล่าคะ

เรียนถามอาจารย์ V_Mee

พอจะกรุณาบอกชื่อผู้ใหญ่ท่านนี้ได้ไหมคะ  หรือจะหาอ่านประวัติของท่านได้จากไหน  ชีวิตของท่านน่าสนใจมากค่ะ  อยากอ่านรายละเอียดจริงๆค่ะ


กราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ



[
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ธ.ค. 11, 19:14

คนไทยรุ่นท่านอาจารย์เทาชมพูหรือรุ่นอายุ ๔๐ ปลายๆ  ล้วนทันข้อสอบรวมของกระทรวงศึกษาธิการทุกคนครับ
สมัยนั้นข้อสอบรวมที่เรียกว่าข้อสอบกระทรวงนั้น ๔ ระดับชั้นด้วยกัน คือ ประถม ๔  มัธยม ๓ หรือต่อมาเปลี่ยนเป็น ประถม ๗  มัธยม ๖ หรือ ม.ศ. ๓  และเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ หรือต่อมาเปลี่ยนเป็น ม.ศ. ๕  ซึ่งเรียกว่าตัวประโยค
ทั้ง ๔ ระดับชั้นนี้จะต้องสอบข้อสอบกระทรวงกันทุกคน  เพียงแต่ชั้นประถม  มัธยม/ ประถม ๗  และ มัธยม ๖/ม.ศ. ๓  แต่ละโรงเรียนต่างรับข้อสอบจากกระทรวงศึกษาธิการหรือในต่างจังหวัดรับข้อสอบจากจังหวัดหรืออำเภอ  แล้วไปดำเนินการจัดสอบในวันและเวลาที่ทางกระทรวงกำหนดพร้อมกันทั่วประเทศ  สอบแล้วทางโรงเรียนต้องรวบรวมกระดาษคำตอบส่งให้ทางกระทรวงหรือจังหวัดหรืออำเภอเป็นผู้ตรวจ  แล้วจึงส่งผลการสอบกลับมาให้โรงเรียนอีกครั้ง  แต่สำหรับชั้นเตรียมอุดมปีที่ ๒ หรือ ม.ศ. ๕ นั้นต้องไปสอบรวมกันที่สนามสอบโรงเรียนรัฐบาลที่กำหนด  ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ  เช่นตัวผมเรียนโรงเรียนเอกชนมาถึงเวลาสอบต้องไปสอบที่สนามสอบโรงเรียนวัดราชาธิวาสพร้อมกับโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน  สอบเสร็จราวกลางเดือนมีนาคม  ไปประกาศผลสอบพร้อมกันทั่วประเทศราวต้นเดือนเมษายน  จากนั้นก็เป็นเวลาสอบเอนทรานส์  แล้วไปลุ้นระทึกกันอีกทีตอนเดือนกลางเดือนพฤษภาคม

มีเรื่องที่เจ้าตัวท่านเล่าให้ฟังเอง คือ มีนักเรียนรุ่นพี่ของผมท่านหนึ่งท่านอยากจะเป็นตำรวจมาก  พอสอบไล่ชั้นเตรียมอุดมปีที่ ๒ แล้ว  ท่านก็ไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ  ผลสอบเข้านายร้อยตำรวจได้  แต่สอบตกชั้นเตรียมอุดมปีที่ ๒  เลยต้องเรียนชั้นเตรียมต่ออีกปี  ปีนี้สอบชั้นเตรียมได้  แต่สอบเข้านายร้อยตำรวจไม่ได้  จนปีที่ ๓ ท่านจึงสอบเข้านายร้อยตำรวจได้  และรับราชการมาจนเกษียณอายุในยศพลตำรวจตรี

ผู้ใหญ่ที่คุณ Anna ขอทราบชื่อนั้น  ท่านชื่อ ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์  หรือจะเรียกท่านว่า "นายก๊วก" ท่านกลับหัวเราะชอบใจเสียอีก  ท่านปลัดโกวิทเป็นนักการศึกษาที่เข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง  กล่าวกันว่า สมัยที่ท่านเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการนั้น  ห้องสุขาของสำนักงานปลัดกระทรวงนั้นสมกับชื่อห้องสุขาจริงๆ  เพราะท่านปลัดท่านให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดมากๆ  และเป็นปลัดกระทรวงที่ให้ความสำคัญกับนักการภารโรงและคนสวน  ถึงกับพานักการภารโรงและคนสวนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปดูงานที่สิงคโปร์  ในสมัยปลัดโกวิทจึงมีแต่คนชมว่า สวนของกระทรวงศึกษาธิการสวยงามกว่าสมัยใดๆ
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ธ.ค. 11, 21:03

ขอเสริมของท่าน V_Mee ท่าน ดร โกวิท ท่านเคยให้นักเรียนปลูกผักกางมุ้ง มีคนวิจาร์ท่านกันมาก
ส่วนเรื่องนักเรียน ม.๘ ใช้ข้อสอบกลางเหมือนกันทั่วประเทศ เป็นเรื่องจริงครับและยังประกาศรายชื่อผู้สอบได้
อันดับ ๑-๕๐ ของประเทศด้วย
ขอโทษด้วยครับ ที่ทำให้เข้าใจผิด เรื่องที่เล่าเป็นเรื่องจริงครับ
ไม่ไช่หนังสือนอกเวลา
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ธ.ค. 11, 08:24


ขออนุญาต "พาออกทะเล" เมื่อเอ่ยถึง "นายก๊วก" ทำให้นึกถึง "ร้านนายก๊วก" ที่บางปะกง ริมถนนบางนาตราด

พบบทความที่เล่าถึง ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ กับร้านนายก๊วก ขอนำมาลงไ้ว้ ณ ทีนี้

ทางชีวิตของก๊วก บางปะกง

โดย กุสุมา โยธาสมุทร
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)


จากดอกเตอร์เช็ดจาน สู่เจ้าของภัตตาคารที่เปิดกิจการมานานกว่า 23 ปี บนเนื้อที่ 37 ไร่ย่านบางปะกง

ใช่ ! เรากำลังพูดถึง ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปัจจุบันเจ้าของร้านอาหารเก่าแก่ ที่มีผู้คนกล่าวขวัญและร้องอ๋อเมื่อเอ่ยนาม “ร้านก๊วก”

ลูกชายชาวสวนหมาก มะพร้าว มะม่วงตามเส้นทางของพ่อ และลูกแม่ค้าขายรำเลี้ยงหมูที่ล่องเรือไปช่วยแม่ทำงานทุกอย่างที่จะช่วยได้ ทำให้อาจารย์โกวิท อดีตปลัดกระทรวงศึกษา ผู้ก่อตั้งแนวคิดเปลี่ยนแปลงการสอบเข้าจากชั้นประถมสู่มัธยมด้วยการจับฉลากและเลือกเรียนบ้านใกล้โรงเรียนแทนบ้านไกลใช้ปฏิบัติกันทุกวันนี้ สนใจและริเริ่มค้าขายมาแต่เด็ก ๆ

แม้จะเป็นคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน เด็กชายโกวิท ก็ไม่ได้ใช้ความเยาว์วัยเล็กสุดของครอบครัวเหมือนเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน

“ผมทำทุกอย่างที่พี่น้องทุกคนทำ พี่ ๆ ไปไหน ก็ไปด้วย จับปลา ยกยอ ดำกุ้งรดน้ำผัก เลี้ยงไก่จนจำชื่อไก่ได้ทุกตัวตั้งแต่เล็ก ยังหาลำไพ่ด้วยการให้น้าชายเช่าควายเผือกที่ผมมีอยู่ตัวหนึ่ง”

แววออกกับงานด้านค้าขายให้บริการแต่เล็กแต่น้อย เรื่อยไปจนถึงช่วงที่ได้รับทุนยูซอมไปทำปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา ก็ใช้เวลาว่างรับจ้างเช็ดรถ เช็ดไปเช็ดมาจนได้เป็นผู้จัดการ ว่างจากเช็ดรถ ไปรับจ้างล้างชามร้านอาหารจีน จนจะได้เลื่อนเป็นแคชเชียร์ บางครั้งต้องช่วยเสิร์ฟ ดร.โกวิทก็ปฏิเสธที่จะรับเงินเดือนและตำแหน่งที่สูงกว่า ด้วยเหตุผลว่าเกรงในเพื่อนที่อาจพาแฟนเข้ามาทานอาหารแล้วไม่กล้าสั่งดอกเตอร์สวมสูทผูกเนกไท

เมื่อยังพอมีเวลาว่างอีก ก็ไปรับจ้างตัดต่อหนังที่บริษัทเล็ก ๆ ที่ชื่อ HILLAM’ S FILM ที่เมือง SALTLAKE CITY ทำไปทำมาเจ้าของบริษัท ก็ยกให้รับผิดชอบงานเองทั้งหมด และก่อนจากสหรัฐ ฯ ก็ได้ทำหนังสือขอยืดเวลาจากกระทรวงศึกษาที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อหาประสบการณ์อีกเล็กน้อยและประสบการณ์ที่ดร.โกวิทอยากทำ ก็คือเช่ารถติดแอร์คอนดิชั่นขนาดใหญ่ผลิตไอศกรีม พร้อมอุปกรณ์ผลิตไอศกรีมโคน เช่ากันในราคาวันละ 84 เหรียญสหรัฐ ตกประมาณ 2,000 กว่าบาท และเพียงชั่วค่อนวันก็ได้ทุนคืน ที่เหลือเป็นกำไรเหนาะ ๆ

พอกันทีกับชีวิตที่โชกโชนกับงานหลากหลายอาชีพ ที่อาจารย์เองเชื่อว่า โรงเรียนต้องไม่กวดวิชากันให้มากมายประสบการณ์ต่างหากที่เด็กควรจะได้วันละอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อความเข้าใจชีวิตที่ไม่ต้องผ่านการเอนทรานซ์

เมื่อตนเองมากด้วยประสบการณ์ชีวิตแล้ว ครั้นเมื่อแต่งงานไปกับอาจารย์กิ่งเพชร เอี่ยมสกุล ก็เกิดความคิดว่าอยากจะทำอะไร ที่ลูกหลานจะได้เป็นประสบการณ์เลี้ยงชีพได้มาก ไปกว่าการสอนเด็กให้มีความรับผิดชอบแต่ต้องทำงานตามลำพัง

“ผมทำพิธีเปิดเพิงเล็ก ๆ ขายน้ำมะพร้าว โดยสมเด็จพระสังฆราชสมัยนั้น มีเบียร์ มีอาหารขาย ก็ขายได้ดีกับพวกทหารอเมริกันที่มาสร้างทาง”

ลูกค้าที่เคยได้ลองลิ้มชิมรส น้ำมะพร้าว หอมหวาน “ร้านนายก๊วกแปดริ้ว” นี่ต่างก็ร่ำลือกันว่าอร่อยเหลือหลาย

“ผมชอบชื่อร้านนายเหมือน ขายเครื่องหวาย มันดูเรียบ ๆ ดี และอีกครั้งก็ชอบชื่อร้านอาหาร “หายห่วง” ที่อยุธยาก็มาคิดดูว่าจะตั้งชื่อร้านอาหารของเราอย่างไรให้มันดูเรียบ ๆ และก็ต้องเป็นชื่อที่ไม่บอกว่าเรานั้นเก่งหรือเลิศลอยอะไร เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา อยากมากินกันเอง”

นั่นคือที่มาของชื่อร้าน “นายก๊วก” และเพราะชื่อนี้ นี่เอง ที่ทำให้ภรรยาอาจารย์โกวิท วรพิพัฒน์ โกรธอาจารย์แทบเป็นแทบตาย ไม่ยอมพูดจาด้วยกว่า 2 อาทิตย์ ด้วยคิดว่า เป็นเพียงการดำเนินกิจการเล่น ๆ อย่างไรก็ตาม ชื่อนี้ก็ติดตาติดใจ จนขยายเป็น “ก๊วก 3” ที่บางปะกง และที่นี่เป็นที่เดียวที่อาจารย์โกวิทซื้อที่ดินเป็นของตนเอง โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของเพื่อนที่ยกให้ในฐานที่ช่วยใช้หนี้แทน

ร้านนายก๊วกถือได้ว่าเป็นร้านอาหารชื่อดังย่านบางปะกง สถานที่เป็นเรือนไทยหลังใหญ่ โดดเด่นสง่าริมถนนบางนา-ตราด ปัจจุบันร้านนายก๊วกมีรายได้วันละประมาณ 70,000 - 80,000 บาทบนเนื้อที่ 37 ไร่ แบ่งปันให้แก่หุ้นส่วนที่เป็นญาติ ๆ กัน 150 หุ้น หุ้นละ 15,000 บาท เมื่อ 20 กว่าปีก่อน อาจารย์โกวิท เล่าว่า หุ้นส่วนเหล่านี้ กว่าจะเข้าหุ้นได้ ก็ต้องทำใจให้เชื่อมั่นในกฎบัตร 2 ข้อของอาจารย์โกวิทที่ห้ามหุ้นส่วนทุกคนเข้ามายุ่งการบริหารนอกจากนั้นหุ้นส่วนเหล่านี้ ก็ต้องไม่ขี้สงสัย และถ้าสงสัยเมื่อใดเป็นได้ถอนหุ้นคืนไปตามราคาที่อาจารย์ อยากให้คืนอีกด้วย เรียกว่า อยากหุ้นก็ต้องเชื่อมั่นในความเป็น “นายก๊วก โกวิท” กันก่อน

ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตครูประชาบาล ครูใหญ่ หัวหน้าหน่วยศึกษา รองอธิบดี อธิบดีกรมสามัญศึกษาและล่าสุดก่อนเกษียณ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยามหลังเกษียณ อาจารย์โกวิทที่ยังดูหนุ่มแน่นผิดวัยใฝ่ฝันอยากได้ความเป็นอิสระจากงานที่กระทรวงมาอยู่กับต้นไม้ต้นไร่ที่อาจารย์โกวิท รวบรวมซื้อหาตัดต่อ กิ่งก้านด้วยตัวเอง ทำให้บริเวณร้าน “ก๊วก บางปะกง” ร่มรื่นไปด้วยต้นดอกเฟื่องฟ้า นับแสนต้น อีกทั้งต้นวาสนากว่า 30,000 ต้น

“ตอนอยู่กระทรวง ผมอยากลาออกมานานแล้ว คิดว่ามาอยู่กับต้นไม้ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่บริสุทธิ์ให้แก่สังคม ทำตัวเป็นประโยชน์ เคยขอลาออก แต่ราชการนั้นเข้าง่าย ออกยาก ญาติพี่น้องก็ไม่อยากให้ออก เพราะเห็นมาไกลแล้ว ก็เลยอยู่ไปจนเกษียณ”

ตอนนี้ดอกเตอร์โกวิทได้เส้นทางชีวิตสายใหม่ที่จะเดินควบคู่ไปกับต้นไม้ที่อาจารย์ เชื่อว่าจะต้องอยู่ด้วยกันกับคนให้อากาศที่ดี ให้นกได้อาศัย คนก็ได้เป็นที่พักอาศัย อาจารย์โกวิทยังคิดว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นต้องสัมพันธ์กันกับเศรษฐกิจ

“ผมตั้งใจจะลดที่นั่งคนมาทานอาหารลงในเร็ว ๆ นี้ และจะเปิดเป็นที่นั่งทานกาแฟ ท่ามกลางแมกไม้ที่ผมมีในร้านก๊วก บางปะกงนี้ แล้วก็จะทำเป็นห้องสมุดด้วย อยากให้ผู้คนที่ซื้อต้นไม้ของผมไปได้รู้ว่าต้นที่ซื้อไปราคา 50,000 บาทนั้น เมื่อก่อนราคาเพียง 5 บาทเท่านั้น จึงอยากให้ช่วยกันปลุกสร้าง เพราะผมเชื่อว่าสมบัติในดิน ยิ่งแก่ ยิ่งแพง”

คงคล้าย ๆ ดร. โกวิทที่ยิ่ง “ก๊วก” ยิ่งรวย !!!


และแนบท้ายด้วยบรรยากาศเก่าๆ วันประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สนามจุ๊บ (สนามกีฬาจุฬาฯ) ที่ไม่มีให้สัมผัสอีกแล้วในปัจจุบัน


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ธ.ค. 11, 19:20

คุณ ลุงไก่  หยิบยกเรื่อง "แนวคิดเปลี่ยนแปลงการสอบเข้าจากชั้นประถมสู่มัธยมด้วยการจับฉลากและเลือกเรียนบ้านใกล้โรงเรียนแทนบ้านไกลใช้ปฏิบัติกันทุกวันนี้"  ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ดร.โกวิท  วรพิพัฒฯืนี้ผู้ที่เปลี่ยนแนวคิด โรงเรียนชาย  โรงเรียนหญิง ที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มาเป็นระบบสหศึกษาทั่วทุกโรงเรียนเช่นในปัจจุบัน

เรื่องนี้ท่านได้เล่าถึงแนวคิดที่สั่งให้เปลี่ยนโรงเรียนชายโรงเรียนหญิงมาเป็นสหศึกษาว่า เป็นเพราะปัญหาสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ  ที่นับวันการจราจรยิ่งติดขัดมากขึ้น  หากจะต้องให้ผู้ปกครองเทียวรับส่งบุตรหลานที่โรงเรียนชายและโรงเรียนหญิง  ผู้ปกครองและตัวนักเรียนก็จะต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางโดยใช่เหตุ  ถ้าได้มาเรียนรวมกันเสียในโรงเรียนเดียวกันก็จะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

สำหรับภาพบรรยากาศการดูผลสอบที่คุณลุงไก่กรุณานำมาใช้ชมเป็นการแถมท้ายนั้น  ชวนให้ระลึกถึงคราวไปดูผลสอบ ม.ศ. ๕ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  ซึ่งพอวิทยุประกาศว่า เจ้าหน้าที่ท่านนำผลสอบมาติดประกาศแล้ว  แม้เป็นเวลากลางคืนก็ออกไปดูกัน  แถมสถานที่ติดประกาศก็ไม่มีไฟส่องสว่าง  เลยต้องใช้วิธีจุดกระดาษหนังสือพิมพ์แทนไฟฉายหรือเทียนไข  สนุกกันจริงๆ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 ธ.ค. 11, 12:58

พ่อผมเป็นนักเรียนมัธยมฯ รุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จากเด็กท้องนาแถวทุ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี เลี้ยงควาย ทำนา ตามประสาลูกชาวนา จบ ป. ๔ ย่าส่งพ่อกับลุงไปเป็นเด็กวัดอยู่กับหลวงน้าซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่ัวัดจอมทอง อำเเภอบางขุนเทียน เรียนจนจบ ม. ๖  (เทียบได้กับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หรือมัธยมต้น) ยังจำภาพของพ่อที่ติดในใบสุทธิ ม.๖ ได้่ว่าเป็นชุดยุวชนทหาร สมัยนั้นกระทรวงศึกษาธิการยังเรียกว่า กระทรวงธรรมการ

จบ ม.๖ ลุงผมสอบได้เรียนต่อชั้นเตรียมอุดมฯ ที่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง น่าจะเป็นรุ่น ตมธก. ๓ และจบธรรมศาสตร์บัณฑิต ช่วงที่เรียนธรรมศาสตร์ ลุงไปสมัครรับราชการเป็นเสมียนที่กรมสรรพสามิต

พ่อผมสอบเตรียมนายเรือได้ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน ต้องมาสอบเข้าเรียนโรงเรียนชุมพลทหารเรือเป็นนักเรียนจ่า ซึ่งเรียนฟรี มีเครื่องแบบให้ มีข้าวหลวงให้กินฟรี มีเบี้ยเลี้ยง มาเรียนจบตอนสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นแล้ว ได้ยศจ่าโท

สมัยนั้นน่าจะเรียกชั้นมัธยมปลาย (ม.๗ - ม.๘) ว่าชั้นเตรียมอุดมศึกษา ๑-๒ แต่อ่านหนังสือหลายๆ เล่ม แล้วก็ยังสงสัยอยู่ว่าเขาเรียกอย่างไรกันแน่

ชีวิตเด็กวัดสมัยนั้นตามที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง ไม่ได้สดวกสบาย เนื่องจากเด็กวัดมีมาก การกินอยู่ก็ขัดสน จะอาศัยข้าว กับข้าว ที่ชาวบ้านใส่บาตรก็คงไม่พอกินจนอิ่ม ต้องแสวงหาเอาตามในวัดและรอบๆ วัด รวมถึงคลองหน้าัวัดด้วย เด็กวัดก็จะมีรุ่นพี่ รุ่นน้องเช่นเดียวกัน รุ่นน้องต้องอยู่ใต้การดูแลปกครองของรุ่นพี่ตามที่หลวงน้าสั่ง อย่าข้ามรุ่นกัน เรื่องการตีกัน ชกต่อยกันเป็นเเรื่องปรกติของเด็กวัด

ที่จำได้ไม่ลืมคือเรื่องแกงเหาะ เรื่องหาปลาไหลในโกดังเก็บศพมาทำอาหาร ปลาไหลตัวโตๆ ทั้งนั้น พ่อบอกว่ามันเข้าไปกินศพ เรื่องเก็บมะพร้าวริมโกดัง ต่อยมะพร้าวออกมาแล้วน้ำมะพร้าวมีสีเหลือง ไม่ได้ขาวใสอย่างที่เราทานกัน เพราะรากมะพร้าวมันดูดน้ำหลืองจากศพ เรื่องทำผีหลอกกัน ฯลฯ

เด็กวัดที่มาจากต่างจังหวัดสมัยนั้นจนถึงรุ่นหลังสงครามโลก มักจะเป็นคนใต้ คือมาจากจังหวัดทางภาคใต้ แทบไม่มีเด็กวัดที่มาจากภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนมากจะมาเรียนที่ธรรมศาสตร์กัน เด็กวัดรุ่นผม (คือเพื่อนผมที่มาเป็นเด็กวัดแล้วเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ) ส่วนมากจะมาจากภาคอีสาน

ผมไม่ได้เป็นเด็กวัด แต่เรียนชั้นประถมและมัธยมในโรงเรียนที่คำนำหน้าชื่อว่าวัด สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ปัจจุบันนี้แปรสภาพเป็นสำนักงานฯ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ย่อว่า สพฐ นั่นแหละ (เรียกไม่ถูก)

...

จะเกี่ยวกับที่ จขกท อยากทราบไหมเนี่ย?

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ธ.ค. 11, 18:13


อ้างถึง
รบกวนขอความรู้เพิ่มเติมอีกนิดค่ะ

เรียนถามอาจารย์เทาชมพู

เข้ามหาวิทยาลัย   ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งระดับอนุปริญญา และระดับปริญญา(ตรี)
ถ้าไปเรียนอาชีวะ  เรียน 3 ปี ได้ปวช.  เรียนอีก 2 ปีได้ปวส.

- สมมุติเข้าอักษรฯ (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคณะฮิตสุดของสาวๆใช่ไหมคะ) ถ้าเรียนจบแค่อนุปริญญา  จะได้วุฒิอะไร  แล้วทำงานอะไรได้บ้างคะ (นอกจากครู ซึ่งเข้าใจว่าฮิตสุดอีกเช่นกัน)

- อาชีวะ และ ปวส เรียนทางสาขาไหนบ้างคะ  Finishing school รวมอยู่ในนี้ด้วยหรือเปล่าคะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ธ.ค. 11, 18:16

มื่อ 60 ปีก่อน  คณะอักษรศาสตร์ไม่มีอนุปริญญาค่ะ   มีเรียน 4 ปีแล้วจบได้ปริญญา     แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งอย่างธรรมศาสตร์และศิลปากร มีอนุปริญญา  เรียน 3 ปี   
อาชีวะ เปิดสอนด้านพาณิชย์  การเรือน การช่าง ค่ะ  ปวช. = ประกาศนียบัตรวิชาช่าง   เรียน 3 ปี  จากม. 6  ปวส= ประกาศนียบัตรวิชาช่างชั้นสูง  เรียนต่อจากปวช.อีก 2 ปี
ฟินิชชิ่งสกูล เปิดอยู่ในโรงเรียนสตรีประเภทคอนแวนต์    จบม.6  แล้วเรียนต่ออีก 3 ปี   ได้ ปวช.   เป็น Secretarial school สอนพวกชวเลข พิมพ์ดีด  การเรือนพวกเย็บปักถักร้อย    การจัดดอกไม้ เต้นรำแบบบอลรูม   พวกนี้ไม่ได้เรียนเพื่อจะเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย   เป็นหลักสูตรของกุลสตรีตามแบบยุโรป    ที่เรียนจบอายุประมาณ 19  ก็พอแล้ว  ถ้าถามว่าไปทำงานอะไร ส่วนใหญ่จะไปเป็นคุณนาย
ตอนดิฉันเด็กๆ ทันเห็นรุ่นพี่เรียนในฟินิชชิ่งสกูลกัน  แต่พอขึ้นชั้นมัธยม   วิชานี้ยกเลิกไปแล้ว
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ธ.ค. 11, 19:06

ขยายความคุณลุงไก่  เรื่องชื่อชั้นเรียนครับ

เมื่อแรกจัดระบบการศึกษาของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  เรียกชั้นเรียนในสมัยนั้นว่า ปฐม ๑ และ ๒  แต่ละชั้นยังแบ่งซอยเป็นปฐม ๑ ชั้น ๑ ๒ ๓  และ ปฐม ๒ ชั้น ๑ ๒ ๓ ด้วยครับ  พอประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้วจึงแบ่งเป็น อนุบาล ประถม ๑ ๒ ๓  มัธยมต้นเรียกว่า มัธยม ๑ ๒ ๓  มัธยมกลางเรียกว่า มัธยม ๔ ๕ ๖  และมัธยมปลาย  เรียกว่า มัธยม ๗ ๘  ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยม ๘ เรียกว่า จบมัธยมบริบูรณ์  สามารถไปทำงานเป็นเสมียนห้างฝรั่งหรือรับราชการได้เงินเดือนขั้นต้นเดือนละ ๒๐ บาทเลยทีเดียว

ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนการศึกาาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙  กำหนดให้การเรียนสามัญแบ่งเป็น อนุบาล  ประถม ๑ ๒ ๓ ๔  มัธยมต้น คือ มัธยม ๑ ๒ ๓  มัธยมปลาย คือ มัธยม ๔ ๕ ๖  ส่วนมัธยมปลายเดิมนั้นทางราชการเห็นว่า ถ้านักเรียนเรียนจบชั้นมัธยม ๘ แล้วสอบเข้าเรียนในชั้นอุดมศึกษาไม่ได้  ก็จะเป็นการเสียเปล่า  จึงมีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาในยุคนั้นเปิดการเรียนในชั้นเตรียมอุดม  แล้วให้ผู้ที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยสอบเข้าเรียนในคณะวิชาที่สนใจสอบเข้าเรียนต่อตั้งแต่จบชั้นมัธยม ๖ ส่วนผู้ที่สอบเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมไม่ได้ก็จะได้เปลี่ยนไปเรียนสายอาชีวศึกษาแทน  ในช่วงเวลานั้นจึงมีสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกาาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  โรงเรียนเตรียมนายร้อย  โรงเรียนเตรียมนายเรือ  โรงเรียนเตรียมแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

มีหม่อมเจ้าโอรสในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพระองค์หนึ่งทรงเล่าให้ฟังว่า  สมัยที่ทรงเรียนชั้นมัธยม ๘ นั้น  มีระเบียบของกระทรวงธรรมการกำหนดว่า นักเรียนทุกคนแม้จะสอบวิชาใดๆ ได้เกิน ๕๐% แต่หากสอบตกวิชาภาษาไทยเพียงวิชาเดียวจะถูกปรับตก  ต้องเรียนซ้ำชั้นแม้ว่าคะแนนรวมทุกวิชาจะได้เกิน ๕๐% ก็ตาม  ผลสอบปีนั้นปรากฏว่าท่านชายที่ทรงเล่าเรื่องนี้ทรงสอบวิชาอื่นๆ ได้คะแนนดีหมดแต่ทรงสอบตกภาษาไทยเลยต้องทรงซ้ำชั้น  ปีถัดมาจึงทรงสอบไล่ได้และได้ทรงเข้าเรียนในภาควิชาเหมืองแร่  คณะวิศวกรรมศาสตร์  ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่จบออกมาแล้วต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าในดง  จึงไม่ถูกขัดขวางจากรัฐบาลในขณะนั้น

โรงเรียนเตรียมต่างๆ คงเปิดสอนมาจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  ทางราชการจึงได้ตระหนักว่า นักเรียนจบมัธยม ๖ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้  ไม่สมัครที่จะไปเรียนทางสายอาชีวะ  หากแต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่อไป  กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ปรับปรับเปลี่ยนการเรียนในระดับชั้นเตรียมอุดมเสียใหม่  โดยเลิกโรงเรียนเตรียมทั้งหลาย  แต่คงไว้เฉพาะโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน  แล้วจัดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชาย  ส่วนโรงเรียนสตรีอนุญาตให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมสายอักษรศาสตร์  โรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมในเวลานั้นทั่วประเทศมีอยู่ไม่มากนัก  ดูเหมือนจะมีไม่ถึง ๕๐ โรงเรียนด้วยซ็ำ  เพราะโรงเรียนประจำจังหวัดเกือบทั้งหมดยังเปิดสอนเพียงชั้นมัธยม ๖ เท่านั้น

การเรียนการสอนในชั้นเตรียมอุดมในยุคหลังสงครามนี้  ถ้านักเรียนสตรีอยากจะเรียนในสายวิทยาศาสตร์ก็จะต้องไปเรียนร่วมกับนักเรียนชายในโรงเรียนชาย  ส่วนนักเรียนชายที่จะเรียนสายอักษรศาสตร์ก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนสตรี  แต่ตัวนักเรียนยังคงสังกัดโงเรียนชายและโรงเรียนหญิงที่ตนสังกัดอยู่  ผมเคยเรียนถามปัญหานี้จากนักเรียนยุพราชวิทยาลัยและนักเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพในยุคนั้นหลายท่าน  ว่าเวลาที่แต่ละท่านเรียนจบชั้นเตรียมอุดมศ฿กษาปีที่ ๒ แล้ว  ประกาศนียบัตรที่กระทรวงศึกษาธิการออกให้นั้น  ระบุว่าท่านจบจากเรียนเดิมที่สังกัดหรือโรงเรียนที่ท่านไปเรียนจนจบหลักสูตร  แต่ท่านเหล่านั้นต่างก็บอกว่าจำไม่ได้

ต่อมาเมื่อประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓ แล้ว  แผนการเรียนวิชาสามัญได้เปลี่ยนไปเป็น อนุบาล  ประถมต้น ประกอบด้วยประถม ๑ ๒ ๓ ๔  ประถมปลายประกอบด้วย ประถม ๕ ๖ ๗  ต่อไปเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น คือ ม.ศ. ๑ ๒ ๓  และมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ม.ศ. ๔ ๕  กับมีมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ  ประกอบด้วย ม.ศ. ๔ ๕ ๖  ส่วนชั้นเตรียมอุดมปีที่ ๑ ๒ เดิมนั้นเปลี่ยนมาเป็น ม.ศ. ๔ ๕ นั้นเอง

นอกจากแผนการศึกษาดังได้กล่าวมาแล้ว  ในการจัดการศึกษาของไทยแต่เดิมมายังอนุญาตให้สามเณรเล่าเรียนวิชาสามัญร่วมกับนักเรียนทั่วไปได้ด้วย  สำหรับนักเรียนชายหญิงอนุญาตให้เรียนรวมกันได้ในชั้นประถม  เมื่อขึ้นชั้นมัธยมต้องแยกเรียน  นักเรียนชายเรียนโรงเรียนชาย  นักเรียนหญิงคงเรียนในโรงเรียนสตรี  เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาชู้สาว  แล้วกลับอนุญาตให้นักเรียนชายหญิงมาเรียนรวมกันอีกครั้งในระดับชั้นมัธยมปลายหรือเตรียมอุดม
บันทึกการเข้า
บัวรัศมี สีทอง
อสุรผัด
*
ตอบ: 33


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ธ.ค. 11, 13:58

แม่ของป้าบัวเป็นคนพูดน้อย  ไม่ชอบเล่าเรื่องราวอะไรๆ  แต่มีฝีมือด้านอาหารและขนมเป็นเลิศ

อุปนิสัยด้านนี้ส่งผ่านมาชั้นหลานชายคนเดียว han_bing   จำได้ว่า  เมื่อยังเล็กๆ รู้แต่ว่า แม่จบ ป.๓

จนกระทั่งแม่เสียชีวิต จะเขียนประวัติของแม่ผู้มาแต่เมืองจีน (เกาะไหหลำ)  เขียนเสร็จไปให้คุณลุง

ทองดี  หาญศึกษา  ส.ส. คนแรกของจังหวัดชัยภูมิ  ญาติผู้พี่ของแม่ได้ตรวจ  ถูกทักว่า  แม่เนียงของหลานจบชั้น

มัธยม ๓ มิใช่ ประถม ๓ โรงเรียนหาญศึกษา ของลุงเอง   ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

โอนกิจการให้คุณลุงวิเชียร  สาคะริชานนท์  เป็นโรงเรียนของสาคริชวิทยา

มิน่าเล่า... สมัย พ.ศ. 2507 ป้าบัวเข้าเรียนชั้น ป.๕  โรงเรียนโพนทองพิทยา  ต้องเล่าเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

ก็ได้แม่เนียงสอน a b c  This is a book.  แต่มิเคยเฉลียวใจว่า แม่อ่านภาษาอังกฤษได้อย่างไร

แม่เนียง เกิด พ.ศ. ๒๔๖๘  หากได้เรียนภาษาอังกฤษที่ชัยภูมิ  ก็แสดงว่า การศึกษาของไทย

แต่เก่าก่อนก็เปิดกว้างสำหรับประชาชนผู้อยู่หัวเมืองไม่ใช่น้อยเลย  ก็คาดว่า น่าจะเป็น พ.ศ. ๒๔๘๐ ค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ธ.ค. 11, 07:01

ระบบการศึกษาที่คุณบัวรัศมี สีทอง กล่าวถึงนั้น  น่าจะเป็นระบบการศึกษาในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อต้นรัชกาลที่ ๖  ก่อนประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ ๒๔๕๖  ซึ่งเวลานั้นระบบการศึกษาไทยจัดเป็นประโยคมูลและประโยคประถม  เมื่อประกาศใช้แผนการศึกาาชาติ ๒๔๕๖ แล้ว  ชั้นประโยคมูลเปลี่ยนเป็น ประถม ๑ ๒ ๓  และประโยคประถม เปลี่ยนเป็นมัธยม ๑ ๒ ๓
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 20 คำสั่ง