Wandee
|
พระประวัติหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช
มีเขียนเล่าไว้สองตอน ตอนแรกตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนได้อภิเษกสมรส
เขียนโดยเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ(ลดาวัลย์)ในรัชกาลที่ ๕ ให้ชื่อว่า "สัญญาอดีต เรื่องท่านหญิง"
ตอนที่สอง เริ่มแต่ได้อภิเษกสมรสแล้ว เสด็จมาประทับที่วังเพชรบูร เนื่องด้วยระยะเวลาที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรอินทราชัยประชวรสิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล พระอนุชา กำลีงศึกษาอยู่ต่างประเทศ
ได้ปรารภว่าใคร่จะทราบการเป็นมาของเจ้าพี่(หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร) ที่ได้ทรงผูกพันกับสมเด็จพระพันวสาฯ มาอย่างไร
จึงได้ทราบเรื่องการเป็นมาจากหม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา (ดิศกุล) เทวกุล ทรงเล่าให้ฟัง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 06 ธ.ค. 11, 14:14
|
|
หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร พระนามเดิมที่เสด็จในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระบิดาประทานให้ว่า "จิรบุญนี"
ประสูติวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
กับหม่อมบุญยืน ชุมพล ณ อยุธยา
พระโอรสธิดาที่ร่วมหม่อมมารดา มี ๔ พระองค์คือ
๑. หม่อมเจ้าหญิงจิรบุญนี
๒ หม่อมเจ้าชายฐิติศักดิ์วิบูลย์
๓. หม่อมเจ้าชายธานีเสิกสงัด
๔. หม่อมเจ้าหญิงจงจำเนียร
เจ้าพี่เจ้าน้องที่ต่างหม่อมมารดา
๑. หม่อมเจ้าชายอุปลีสาร
๒. หม่อมเจ้าหญิงจงใจถวิล หม่อมมารดาคือ หม่อมจำเริญ ชุมพล ณ อยุธยา
๓. หม่อมเจ้าชายอุปลีสาณ
๔. หม่อมเจ้าชายกมลีสาณ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นหม่อมมารดา
๕. หม่อมเจ้าชายชมิยบุตร หม่อมคำเมียง ชุมพล ณ อยุธยา เป็นหม่อมมารดา
๖. หม่อมเจ้าชายชุมปกบุตร หม่อมมารดาคือ หม่อมปุ๊ก ชุมพล ณ อยุธยา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เพ็ญชมพู
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 06 ธ.ค. 11, 14:20
|
|
มีภาพจาก พันทิป มาช่วยเสริม ที่อาคารบุญจิราธรในซอยสุขุมวิท ๕๑  บริเวณทางเข้า มีแผ่นจารึกลายพระหัตถ์รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระนามแก่ "หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร" (พระนามเดิม "จิรบุญญินี") 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 06 ธ.ค. 11, 14:32
|
|
สหายท่านใดจะเอื้อเฟื้อพระรูป ยินดีและขอบคุณเป็นอันมาก
ท่านที่ปลื้มใจคิดจะเข้ามา "ปาด" เพราะมีข้อมูลอยู่บ้างนั้น ขอโปรดระงับใจไว้ก่อน เนื่องจากงานเขียนของเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ (ลดาวัลย์) นั้น นุ่มนวลและน่าอ่านมาก ข้อมูลก็ "วงใน" จริง ๆ ตั้งใจจะคัดมาฝากเพราะเป็นเรื่องหาอ่านยากค่ะ
สมัยที่ท่านหญิงประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวชในซอยกลาง(สุขุมวิท ๔๙) เจ้านายเสด็จเยี่ยมท่านหญิงกันบ่อย ประชาชนทั้งปวงที่สัญจรไปมาหน้าปากซอยหรือมะรุมมะตุ้มอยู่ที่ร้านเก๋วยเตี๋ยวหมู "แซว" หรือร้านไอสครีมน้อยหน่าปากซอย ได้เฝ้าชมพระบารมีกันเนือง ๆ
ที่ทราบว่าท่านใดจะเสด็จเวลาใดนั้น รถตุ๊กๆจะโดนขอให้ร่วมมือเลื่อนรถก่อน การจอดรถใกล้ๆปากซอยก็ไม่มี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เพ็ญชมพู
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 06 ธ.ค. 11, 14:48
|
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 06 ธ.ค. 11, 15:01
|
|
"เสด็จในกรมพระบิดาประทานนามท่านหญิงว่า "จิรบุญนี" ครั้นเสด็จเข้ามาในกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ทรงเปลี่ยนพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "บุญจิราธร" ในเวลาที่ทรงพระมหากรุณาเปลี่ยนนามใหม่พระราชทานนั้น ได้ทรงแสดงพระราชจริยา
ให้ประจักษ์ว่า ไม่ได้เพ่งเล็งแต่จะให้เพราะ ได้ทรงเรียกปฎิทินมาตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงตกลงพระราชทานนามว่า "บุญจิราธร"
สังเกตได้ว่าท่านหญิงพระองค์นี้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศรัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ต้น ซึ่งเรียกตามประสาสามัญชนได้ว่าชะตาต้องกัน
ดูให้ทรงแสดงพระอิริยาบถต่อท่านว่า ทรงเอ็นดูถึงลูบห้วตบหลังบ่อย ผิดกว่าเด็ก ๆ รุ่นเดียวกันในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับพระราชทานนามใหม่แล้ว
ก็มักจะเรียกกันว่าท่านหญิงลาว ซึ่งทำให้น่าเอ็นดูเพิ่มขึ้นด้วย ซ้ำมีอยู่องค์เดียว เจ้านายจึงทรงอี๋กันมากทั้งนั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 07 ธ.ค. 11, 02:33
|
|
ท่านหญิงเริ่มจะเข้ามาอยู่ในวังเมื่องานรัชมังคลาภิเษก เสด็จในกรมพระบิดาต้องเสด็จเข้ามาจากอุบล ฯ
เนื่องในงานนั้น ท่านหญิงจึงตามเสด็จพระบิดามาในงานนั้นด้วย ในเวลานั้นท่านหญิงน่ารักน่าเอ็นดู
เสียจริง ๆ เสด็จในกรมพระบิดาทรงเป็นผู้สนพระทัยในการแต่งกายของผู้หญิง ท่านช่างแต่งตัวสวยงามและ
แปลกตาผู้พบเห็น สมัยนั้นสตรีบรรดาศักดิ์ นอกจากเจ้าน้อยดารารัศมี (พระราชชายา)แล้ว ก็ไม่มีใครนุ่งถุง
(ผ้าซิ่น) มีแต่ก๊กในกรมนี้แห่งเดียว ทรงช่างแต่งประทานลูกเมียท่านทุกคน บนเกศาก็ประดับดอกไม้สดบ้าง
ดอกไม้ทองประกอบลูกปัดขาว เช่นทำเป็นดอกเกศเมือง งามน่าเอ็นดูมาก ผ้าถุงไหมเชิงทองเวลานั้นยังไม่มีใครแต่ง
วิธีนุ่งก็ยาวถึงข้อเท้าแบบแต่งราตรีสมัยนี้ ท่านใช้แพรหรือลูกไม้กว้าง ๆแต่พันเข้ารูปเป็นเสื้อเสร็จในตัว ไม่ต้องตัดเป็นชิ้น
เป็นตะเข็บ เมื่อเสร็จแล้วดูงามมาก แต่จะต้องเป็นทรงในแบบเสื้อแจคเก็ต(jacket) ที่ไม่มีชายเอวคลุมนอกผ้าถุง
แต่ให้กลายเป็นชายห้อยเข้าที รวมทั้งหมดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งสวยทั้งเก๋ ไม่น่าจะทำลืมกันเสียเลย ถ้าจะกลับ
ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เดี๋ยวนี้ก็ไม่น่าจะขัดเขิน สวยกว่าเครื่องแต่งกายสตรีปัจจุบันที่หยักรั้งตั้งท่าเหมือนจะชกต่อยกันเป็นไหน ๆ
ท่านหญิงเจ้าของท่านก็ไม่ฟื้นฟูขึ้น คนอื่นก็ไม่มีใครกล้าทำกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 07 ธ.ค. 11, 14:02
|
|
ได้กล่าวแล้วว่าท่านหญิงจะเข้ามาอยู่ในวังนั้น เริ่มด้วยงานรัชมังคลาภิเษก พระบิดาต้องเสด็จเข้ามาในงานพิธี
ท่านหญิงท่านชายที่เจริญบ้างแล้ว และหม่อมก็ตามเสด็จมาด้วย พวกเราจึงได้ชมแบบการแต่งกายผู้หญิงของเสด็จในกรม
อย่างติดตาติดใจ ที่จริงในระหว่างงานพระราชพิธีรัชชมังคลาพิเษก ทั้งงานที่กรุงเก่า (อยุธยา) และที่กรุงเทพ ฯ ท่านหญิงยังอยู่กับ
เสด็จพ่อเวลาเสด็จพ่อเข้ามาในงานพระราชพิธี ท่านหญิงก็ตามเสด็จมาด้วย ก็ทรงพาท่านหญิงเข้ามาอยู่ทางฝ่ายใน ไม่ประทับรวมกัน
ท่านหญิงยังเยาว์ชันษา ๘ ขวบเท่านั้น เมื่อพระบิดาทรงปล่อยให้เข้ามาองค์เดียว ท่านก็อุตส่าห์เลี้ยงองค์เอง วางตัวได้เหมาะสมไม่
รุงรังขวางหูขวางตาใคร หาที่นั่งที่ลุกได้ถูกต้อง ไม่ทำความรบกวนใครหรือร้องไห้งอ ๆ แงๆ ด้วยความตื่นเต้นเก้อเขินอันน่าจะมีแก่เด็กขนาดนั้นบางคน
ภายหลังเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วท่านเล่าว่า เสด็จพ่อรับสั่งให้เข้าไปที่คุณจอมมารดาชุ่มในรัชกาลที่ ๔ พระมารดาของเสด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เวลา
นั้นท่านคุณจอมมารดายังแข็งแรง เข้าสมาคมหลวงต่างๆได้ ในกรมพระบิดาของท่านไม่ทรงสนพระทัยหาดีในทางประจบประแจงใคร ขึ้นกับสำนักนั้น
ไม่ขึ้นกับสำนักนี้ การที่ท่านหญิงได้เข้ามาอยู่ที่สำนักพระวิมาดาก็เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 07 ธ.ค. 11, 15:26
|
|
เมื่องานรัชมังคลาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีงานวัดเบญจมบพิตร ร้านของหลวง ปีนั้นเป็นปีเสด็จกลับจากยุโรป
ทรงซื้อตุ๊กตาฝรั่งต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์ของตุ๊กตาทุกอย่าง มีโภคภัณฑ์ บ้านเรือน ล้วนแต่เหมือนของคน
คนใช้ได้จริง ๆ แต่เป็นของตุ๊กตา ร้านหลวงปีนั้นจึงขายตุ๊กตาและขายหนังสือไกลบ้านเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ ซึ่งต้องพิมพ์เป็นตอน ๆ
เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานมาถึงสมเด็จหญิงพระองค์น้อย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี)
ฉบับหนึ่งพิมพ์ขายไปดูเหมือนราคาเล่มละ ๑ บาทเท่านั้น จำไม่ได้เพราะผู้เขียนได้รับพระราชทานฟรี สินค้าสองสิ่งนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ชายหญิงนิยมซื้อกัน แต่ตุ๊กตาดูเหมือนจะขาดทุน เพราะเด็กชอบกันมาก เพียรเข้าลูบคลำจับต้องสิ่งที่ตนชอบ
เมื่อทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็มักจะพระราชทานฟรี ท่านหญิงก็เป็นองค์หนึ่งที่อยู่ในจำนวนที่ได้รับพระราชทานฟรีมาก ส่วนเจ้าของร้าน
ผู้รับรองแขกที่เข้าร้านก็คือสมเด็จหญิงพระองค์กลาง สมเด็จหญิงพระองค์น้อย สำหรับสมเด็จหญิงพระองค์กลาง (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา
กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา) ท่านมีพระนิสัยโปรดเอาธุระแก่คนที่ได้ทรงพบปะเป็นพิเศษทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมีพระปฎิสันถารให้คนสบายใจไม่เก้อเขิน
ข้อนี้เป็นทุนประจำพระองค์อยู่แล้ว
เมื่อท่านหญิงเข้าเฝ้าในหลวงก็ดี หรือจะเลือกของเล่นก็ดี สมเด็จหญิงพระองค์กลางก็จะทรงกุลีกุจอรับรองและทรงแสดงพระเมตตาปรานีต่อท่านหญิงอย่างเป็นกันเอง
ท่านหญิงจึงชักจะติดสมเด็จหญิง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นทีท่าความสนิทสนมในระหว่างสองพระองค์ดังนั้น เมื่อจะมีพระราชดำรัสอะไร
ที่เกี่ยวกับท่านหญิงจึงมักจะรับสั่งกับสมเด็จหญิงพระองค์กลางเสมอ
เป็นธรรมดาของเด็กทุกคนเมื่อเห็นใครแสดงความเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษกว่าคนอื่นในหมู่เดียวกันนั้น ก็ย่อมสมัครรักใคร่ติดพันในผู้นั้น
ผู้เขียนเห็นท่านจูงกันต้อย ๆ บ่อย ๆ
ในที่สุดสมเด็จหญิงพระองค์กลางก็ทรงชวนอย่างหยอก ๆว่าอยู่ด้วยกันไหม ท่านหญิงก็ทูลว่าอยู่ ก็เลยอยู่กันจริง ๆ
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อทรงทราบว่าอยู่จริง ๆ ก็ดูพอพระราชหฤทัยมีการทรงลูบเศียรตบเศียรอยู่บ่อย ๆ
แท้จริงพระบิดาของท่านไม่ได้มีพระประสงค์ที่จะให้ลูกท่านอยู่ในวัง หรือถวายพระวิมาดา เพราะไม่ทรงคุ้นเคยกับพระวิมาดา
และพระวิมาดาก็ไม่ได้ทรงรู้เห็นเป็นใจกับสมเด็จหญิงพระองค์กลางด้วย พูดอย่างปากชาวบ้านก็ว่าท่านทั้งสองท่านเคยอุปภัมภ์ค้ำชูกันมาแต่ลำพังเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 08 ธ.ค. 11, 16:29
|
|
ทีนี้จะกล่าวถึงขบวนเสด็จของท่านหญิงที่เข้ามาอยู่ในวังอย่างจริงจัง มีหญิงผู้ใหญ่ผู้ดีคนหนึ่ง
เป็นพระญาติฝ่ายคุณจอมมารดาของเสด็จในกรม ชื่อคุณสุข ท่านหญิงทรงเรียกว่าคุณอา ที่ตำหนักพระวิมาดา
ก็พากันเรียกว่าคุณอาหมด แม้แต่สมเด็จหญิงทุกพระองค์ ก็เรียกแม่สุขอยู่แต่พระวิมาดากับท่านป้าสารภีเท่านั้น
คุณอาปกครองข้าหลวงและอบรมดูแลท่านหญิง ท่านหญิงทั้งรักทั้งกลัว ถัดมาก็ข้าหลวงพื้นเมืองชาวพื้นเมืองอุบลทั้งนั้น
อายุราว ๑๓ ปีขึ้นไปถึง ๑๗ ปีหลายคน ประมาณ ๑๐ คนเห็นจะได้ จำชื่อได้คือสาวแต๋ สาวหลอด และชื่ออะไรอีกจำไม่ได้
ลางคนก็หน้าตาหมดจด
ท่านหญิงนั้นพระรูปพระโฉมก็สมบูรณ์ดี แต่โดยที่โอ๊ะกัน และเพราะถวายพระเกียรติกันมาแต่เมืองอุบล ฯ เลยยังต้อนรับเสด็จอุ้มกันอยู่นานพอดู
เมื่อคุ้นเคยชินกันแล้วจึงเลิกอุ้ม ได้กล่าวแล้วว่าการที่ท่านหญิงเข้ามาอยู่ในตำหนักพระวิมาดาโดยที่พระบิดามิได้มีพระประสงค์ที่จะให้พระธิดา
ของท่านเป็นชาววังเลย ท่านจึงมิได้ติดต่อเฝ้าแหนทำความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระวิมาดาเลยจนตลอดกาล
พระชะตาของท่านหญิงนับว่าเป็นผู้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ ใครเห็นใครรัก ใครเข้าใกล้ใครชอบ ติดใจ
ท่านหญิงเริ่มทรงศึกษาประถมต้นมาจากเมืองอุบล ฯ เมื่อเข้ามาอยู่ในวังแล้วสมเด็จหญิงพระองค์กลางก็ทรงเริ่มเร่งรัดการศึกษาจนจบ
หลักสูตรของโรงเรียนราชินีสมัยนั้น(มัธยม ๖) แต่ท่านหญิงโปรดวิชาวาดเขียนเป็นพิเศษ อันมีเค้าเงื่อนมาแต่ทรงพระเยาว์
จนสมเด็จหญิงพระองค์กลางทรงสังเกตได้แน่ว่าท่านหญิงจะเป็นช่างเขียน มีเรื่องอยู่ว่า วันหนึ่งท่านหญิงขึ้นเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งถามสมเด็จหญิงพระองค์กลางว่าท่านหญิงมีนิสัยอย่างไร
สมเด็จหญิงพระองค์กลางกราบบังคมทูลว่า ชอบวาดเขียน จึงมีพระราชดำรัสว่าดี ขอให้ช่วยสนับสนุน
ท่านหญิงนอกจากจะสนพระทัยในการวาดเขียนแล้ว ยังเป็นผู้โปรดสิ่งสวยงามต่าง ๆ ทั้งของธรรมชาติและของประดิษฐ์
พระเนตรและพระหัตถ์มีศิลปเท่า ๆ กัน ที่ว่าพระเนตรและพระหัตถ์มีศิลปเท่า ๆ กันนั้น ลางคนช่างสังเกตความสวยงามของ
สิ่งต่าง ๆได้ถูกถ้วนละเอียดดี แต่ทำด้วยมือเองไม่ได้ สำหรับท่านหญิงท่านมีศิลปทั้งทางสมองและทางกาย
ข้าพเจ้าจึงเรียกว่า พระเนตรและพระหัตถ์มีศิลปเท่ากัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 08 ธ.ค. 11, 17:04
|
|
เมื่อถึงวันชันษาครบ ๑๑ ปี ก็ได้ทรงรวบเกศายาวซึ่งเกล้ามวยอยู่ประจำให้เป็นจุก แล้วก็เข้าพิธีเกศากันต์
ในพระบรมมหาราชวัง ณ พระที่นั่งดุสิต ฯ ตามพระราชประเพณีของพระราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ แต่ก่อนกุลสตรีทั้งหลายเมื่อโกนจุกแล้ว
ผู้ปกครองก็เริ่มกวดขันกิริยามารยาทสอดส่องทีท่าของเด็กวัยรุ่นอย่างเคร่งครัด ท่านหญิงผู้มีนิสัยซื่อตรงไม่เป็นผู้มีเล่ห์เหลี่ยม
เมื่อถูกผู้ปกครองซักไซ้เรื่องใดก็ตาม ก็มักจะว่าโพล่ง ๆ ไปตามอารมณ์ ไม่เลี่ยงเลี้ยวไปตามเหตุการณ์ ดังที่เรียกว่าช่างแก้ตัว
สมเด็จหญิงพระองค์กลางผู้ปกครองจึงมักจะห่วงใยว่าท่านหญิงไม่ปราชญ์เปรื่องสมพระทัย ท่านหญิงเป็นเด็กโบราณ เป็น
สาวโบราณ ไม่สูสีเอาเรื่องเอาราวของหนุ่มสาวที่นิยมกันมาเป็นอารมณ์ในพระทัย ทั้งๆที่ท่านมีความสมประกอบพร้อมในองค์ของท่าน
เรียบร้อย อ่อนหวาน ละมุนละไม ไม่เป็นคนสวยบาดตาก็จริง แต่เป็นผู้หญิงที่น่าเอ็นดู น่ากรุณา น่าคบหาสมาคมเป็นมิตร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 08 ธ.ค. 11, 17:28
|
|
ท่านหญิงพระองค์นี้ ถ้าจะพูดกันตามสำนวนเก่า ๆ ก็ต้องพูดว่าเป็นลูกแก้วลูกขวัญพ่อของแม่ได้
เช่นการที่เสด็จในกรมพระบิดาจะได้อพยพครอบครัวกลับเข้าประทับกรุงเทพ ฯ สมพระหฤทัยของพระองค์ท่าน
อย่างเรียบร้อยราบรื่นก็เนื่องจากท่านหญิงเป็นต้นเหตุประกอบด้วยประการหนึ่ง คือกาลวันหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถ์เลขาถึงเสด็จในกรมไปยังอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อเสร็จงานพระพิธีรัชมังคลาพิเษกแล้ว
เสด็จในกรมต้องเสด็จกลับไปประจำราชการยังจังหวัดอุบล ฯ แต่ทรงปล่อยท่านหญิงพระธิดาที่ติดพระองค์ ๆ เดียวของท่าน
ไว้ในกรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณาสอดส่องข่าวทุกข์สุขของท่านหญิง จากการที่ทรงมีพระราชปฎิสันถารกับพระองค์หญิง
เองบ้าง มีพระราชดำรัสถามจากสมเด็จหญิงพระองค์กลางผู้ปกครองบ้าง ส่งไปพระราชทานเสด็จในกรมให้ทรงทราบเนือง ๆ
วันหนึ่งมีพระราชดำรัสถามท่านหญิงว่าจะเอาอะไร ท่านหญิงกราบบังคมทูลว่าจะเอาเสด็จพ่อ จึงทรงมีพระราชดำรัสกับท่านหญิงว่า
แล้วจะจัดการให้
ต่อมาจึงทรงมีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานไปถึงเสด็จในกรมเป็นความว่า ลูกสาวสบายเป็นปรกติดี ได้ถามว่าจะเอาอะไร
มันว่าจะเอาพ่อ ด้วยเหตุนี้ประกอบด้วยส่วนหนึ่ง เสด็จในกรมพระบิดาจึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อพยพ
ครอบครัวเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ
นับว่าท่านหญิงได้ฉลองพระเดชพระคุณพระบิดาได้แต่ยังเยาว์ เพราะทราบว่า เสด็จในกรมมีพระหฤทัยทรงดำริอยู่ว่าอยากกลับมาตายในกรุงเทพ ฯ
ข้อนี้เป็นเพียงพระปรารถ ไม่ถึงกับแสดงความเบื่อระอาในการต้องประทับจำเจอยู่ที่เมืองอุบล ฯ ตั้งหลายปีมาแล้ว แม้กระนั้นก็เป็นโอกาส
อันสำคัญของท่านหญิงที่ได้ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดาอย่างน่าชื่นใจ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 09 ธ.ค. 11, 03:12
|
|
คุณสมบัติอันน่ารักของท่านหญิงนั้นได้ปรากฏมาตลอดตั้งแต่เยาว์วัยจนผ่านถึงวัยรุ่นด้วยความสวัสดีมีชัย
ถึงเป็นสะใภ้หลวงชั้นเอก คือเป็นพระชายาของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถบรมราชชนนีพระพันปีหลวง โดยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี
พระมหากรุณาทรงเป็นพระราชธุระสู่ขอท่านหญิงต่อพระบิดา แล้วพระราชทานพระมหากรุณาทรงทำพระราชพิธีหมั้น
และอภิเษกสมรสพระราชทานอย่างเต็มพระเกียรติ แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์์์์์ทุติยจุลจอมเกล้าด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 09 ธ.ค. 11, 03:35
|
|
ผู้เขียนเป็นโรคชอบชื่นชมคนแต่งตัวสวย ๆ แปลก ๆ จึงต้องขอกล่าวถึงการแต่งองค์ท่านหญิงในแบบทูลกระหม่อมฟ้าติ๋ว
ทรงออกแบบในวันพิธีหมั้นอย่างละเอียดสักหน่อย เวลานั้นสมเด็จหญิงพระองค์กลางยังมีพระชนม์อยู่ ท่านหญิงแต่งองค์ที่ตำหนักเล็กในสวนสุนันทา
ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จหญิงพระองค์กลางและท่านหญิงอยู่ด้วยกัน ทูลกระหม่อมฟ้าติ๋วเสด็จมาทรงแต่งประทานด้วยพระองค์เอง
ฉลองพระองค์เย็บสำเร็จรูปมาจากวังเพ็ชรบูรด้วยฝีมือของคุณท้วน บุนนาค เป็นผู้ตัดเย็บตามพระบัญชาของทูลกระหม่อม
แบบของทูลกระหม่อมโปรดทรงใช้แพรไม่บางนักเกลี้ยง ๆ เนื้อทิ้ง ๆ สะบัดพริ้ว เย็บเป็นเสื้อ แล้วแต่งแพรอีก ๒ สีเย็บซ้อนกัน
ใช้ตะเข็บเข้าถ้าอย่างเย็บถลกบาตรพระให้แลเห็นทั้งสองหน้า แล้วพันองค์โอบชายไปเบื้องซ้าย ปล่อยทิ้งชายยาวถึงลาก
ไปกับพื้น ส่วนเบื้องล่างก็ใช้ถุง (ผ้าซิ่น) ไหมเชิงทองเมืองอุบลฯ รวมแล้วไม่แพ้ซิ่นของเสด็จในกรมตามที่กล่าวมาแล้ว
การแต่งแปลกคล้ายคลึงกันนี้ ได้เห็นเสด็จพระนางลักษมีลาวัณย์ทรงแต่งเมื่อวันพระราชทานพระสุพรรณบัตรตั้งเป็นพระองค์เจ้า
เปิดงานที่วังปารุสกวัน แบบนั้นไม่ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ท่านทรงออกแบบหรือผู้ใด งามดีเหมือนกัน
แต่ดูเป็นฝรั่งไปหน่อย เป็นอันว่าข้าพเจ้าตัดสินถวายให้ของเสด็จในกรมงามเป็นที่ ๑ ของทูลกระหม่อมฟ้าติ๋วเป็นที่ ๒
ที่เสด็จพระนางลักษมี ฯ เป็นที่ ๓ ส่วนงานวันอภิเษกสมรสข้าพเจ้าจำไม่ได้ ดูไม่ใครเอิกเริกเหมือนพิธีหมั้น เห็นว่าจะเป็นเพราะเวลา
ใกล้เคียงกับการสิ้นพระชนม์ของเสด็จในกรมพระบิดาหรืออย่างไร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 09 ธ.ค. 11, 03:57
|
|
พอท่านหญิงได้ทรงหมั้นแล้วไม่ช้า พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ เมื่อท่านหญิงได้รับพระราชทานพระมหากรุณา
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพืธีอภิเษกสมรสแล้ว ก็เสด็จไปอยู่วังเพชรบูรที่ตำหนักตึกด้านวัดสระปทุม
ในวังนั้นทูลกระหม่อมทรงสร้างที่ประทับต่าง ๆเป็นการชั่วคราว มีหลายตำหนักที่เป็นไม้ ทรงตั้งชื่อตำหนักเหล่านั้นว่า
ตำหนักปฐม เรือนลมพัดชายเขา เป็นต้น ส่วนพระตำหนักใหญ่อย่างถาวรสำหรับเฉลิมพระเกียรตินั้น กำลังตั้งต้นสร้าง
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอาณาบริเวณวังเพ็ชรบูร ให้ติดกับสระใหญ่ คือตรงด้านหลังของกรมตำรวจปัจจุบันนี้
ซึ่งเพิ่งจะลงรากพื้นล่างยังไม่เสร็จ ทูลกระหม่อมก็เสด็จสิ้นพระชนม์เสีย และเมื่อเสด็จพระองค์บุษบันบัวผันพระอภิบาล
ของทูลกระหม่อมซึ่งได้เสด็จออกมาประทับอยู่ที่ตำหนักปฐม เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวังแล้ว ท่านหญิงจึงมา
ประทับอยู่ที่ตำหนักนั้น แต่เมื่อท่านหญิงมีพระชันษาล่วงเข้ามัชฌิมวัยแล้ว ก็ทรงมีพระราชประสงค์ความสุขในเรื่อง
ของหญิงผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไป คือต้องมีห้องเก็บสัมภาระรุงรังต่าง ๆ เป็นต้น ท่านจึงต่อตำหนักอีกหลังหนึ่งเชื่อมเข้าให้ได้
ระดับเดียวกันกับตำหนักปฐม คือเป็นที่ประทับตลอดมาจนทุกวันนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|