บ๊ะ..ตบเข่าไปด้วย... มันต้องแบบนี้ซิ พ่อปักษาวายุ

ออกขุนสยาม ตบเข่าทำเป็นนักเลงหัวไม้ตามบ่อนไก่ชนไปได้
นายสะอาดแห่งแขวงเมืองประทุม (ทราบว่า เคหสถานยังร่มเย็นดีเพราะน้ำ)
ตอบได้ดี การทำทำนบรออย่างที่ท่านเจ้าคุณโบราณราชธานินทร์ได้เขียนไว้นั้น
ยังเห็นมีอยู่มาจนปัจจุบัน คือปักเสาไม้ ๒ แนว แล้วเอาดินใส่ตรงกลาง
ผมผ่านไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม เห็นทำนบอย่างนี้มากมายขวางทางน้ำอยู่
(แต่จริงก็เอาไม่อยู่สักทำนบหนึ่ง เพราะกระแสน้ำแรงและมีปริมาณมาก
เกินกว่าประสิทธิภาพของทำนบหัวรอจะขวางทางไว้ได้) เมื่อกล่าวถึงหัวรอ
ก็ให้นึกกลอนตอนหนึ่งในนิราศพระบาท ที่กล่าวถึงหัวรอว่า
๏ เข้าลำคลองหัวรอตอระดะ ดูเกะกะรอร้างทางพม่า
เห็นรอหักเหมือนหนึ่งรักพี่รอรา แต่รอท่ารั้งทุกข์มาตามทาง
หัวรอ คือทำนบชะลอกระแสน้ำ หัวรอที่คูขื่อหน้านั้น มีความสำคัญมาก
นอกจากจะกั้นให้กระแสน้ำไม่ให้ไหลเทผ่านแต่คูขื่อหน้าอย่างเดียว
ทำให้มีน้ำไหลไปยังแม่น้ำเดิมที่ไปทางพระราชวังหรือคลองเมืองไม่ตื้นเขินแล้ว
หัวรอนี้ ยังช่วยให้มีน้ำไหลเข้าในคลองต่างๆ ในตัวเกาะเมืองอยุธยาด้วย
ถ้าดูตัวเกาะอยุธยาจะทราบว่า มีคลองที่ขุดแนวเหนือใต้อยู่หลายคลอง
(ลักษณะอย่างเดียวกับคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ แถบรังสิตลำลูกกา)
คลองเหล่านี้เข้าใจว่าขุดตื้นกว่าแม่น้ำรอบเกาะ มีประโยชน์ในการสัญจรทางเรือ
ภายในเกาะเมืองอยุธยา โดยเฉพาะคลองเหล่านี้ จะมีเรือพายเข้าออก
เพื่อนำสิ่งของมาขายตามตลาดต่างๆ ภายในเกาะเมือง และมีเรือที่มาซื้อสินค้าไปขายต่อ
สัญจรไปมาไม่ขาด หากกระแสน้ำในคลองเหล่านี้ไหลไม่แรงแล้ว
คลองเหล่านี้ก็จะตื้นเขินเร็ว พายเรือไม่ได้ การค้าในเกาะก็อาจจะซบเซา
เพราะตลาดอาจจะต้องย้ายไปอยู่รอบๆ เกาะติดกับฝั่งแม่น้ำแทน
ประโยชน์ในประการต่อมาของหัวรอ เป็นเรื่องสุขาภิบาลในเกาะเมือง
หลายท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า เกาะเมืองอยุธยาตามบันทึกทั้งหลาย
มีชุมชน ผู้คนอาศัยอยู่มากมาย เขาจัดการกับของเสียในตัวเมืองอย่างไร
เกาะเมืองอยุธยานั้น มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เมื่อมีคนมาก
การใช้น้ำอุปโภคบริโภคก็ย่อมมีมาก ไม่ว่าจะเป็นชำระล้างอาบ
ทำกิจกรรมต่างๆ และที่สำคัญคือ เส้นทางน้ำ คือที่ขับถ่ายของประชาชน
ชาวเมืองอยุธยาที่อาศัยในเกาะ เมื่อจะปลดทุกข์ คงไปทุ่งไม่สะดวก
เพราะต้องออกเดินไกลมาก หรือไม่ก็ต้องข้ามฟากไปนอกเกาะ ซึ่งคงไม่ทันการณ์
สุขาที่ใกล้ตัว คือ คลองและแม่น้ำ แต่การขับถ่ายลงน้ำนั้น ย่อมไม่ถูกสุขลักษณะ
ตามคตินิยมของคนปัจจุบัน เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดและแหล่งน้ำสกปรก
แต่เพราะเกาะเมืองอยุธยาเป็นชุมทางน้ำของแม้น้ำ ๓ สาย ทำให้มีน้ำมาก
และน้ำไหลแรง ช่วยปัดเป่าของเสียที่ชาวบ้านปลดปล่อยลงน้ำให้ไหลกระจัดกระจายไป
โดยไม่ทับถมตกตะกอนอยู่กับที่ ก่อเกิดเชื้อโรคได้น้อยลง
แต่ถ้าไม่มีหัวรอ น้ำในแม่น้ำเดิมตอนบนและตามคลองภายในเกาะจะไหลช้าลง
กระแสน้ำจะตัดตรงลงไปที่คูขื่อน้ำหมด สิ่งปฏิกูลจะตกค้าง แล้วโรคระบาดก็จะตามมา
เมื่อหัวรอกระแสน้ำในคลองและแม่น้ำเดิมก็จะไหลแรงขึ้น เป็นผลดีต่อการชะล้างของเสีย
แต่ถ้าในบางปีเกิดภาวะแห้งแล้งตอนเหนือ ฝนตกน้อย น้ำน้อย
ก็เกิดปัญหาเหมือนกัน เพราะกระแสน้ำไหลไม่แรง
น้ำในคลองและแม่น้ำมีน้อย ไม่พอที่จะพัดพาสิ่งปฏิกูลที่ชาวบ้านขับถ่ายไปได้หมด
เกิดการทับถม โรคระบาดอย่างโรคห่าก็จะบังเกิดขึ้น เหตุการณ์อย่างนี้
มีบันทึกพระราชพงศาวดารและปูมโหรอยู่หลายครั้ง เชิญไปหาอ่านดูได้