เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4320 ท่านผู้ใดทราบประวัติของ ขุนธนกิจวิจารณ์​(ประยูร ธชาลุภัทร) บ้างคะ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 25 พ.ย. 11, 06:30




       ตำแหน่งสุดท้ายเท่าที่ทราบท่านเป็นรองเสวกโท   นายเวรกรมบัญชีพระราชสำนัก   กระทรวงวัง  พ.ศ. ๒๔๗๕

ข้อมูลที่พอตามได้คือท่านชำนาญทางโหราศาสตร์   และเป็นนักประพันธุ์อาวุโสทางพงศาวดารไทย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 06:40



นามปากกาของท่านคือ อายัณโฆษ

ได้อ่านงานของท่านหลายเรื่องแล้วค่ะ

งานที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางและยังเป็นที่ต้องการของวงการหนังสือเก่า  คือ  ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้

รายละเอียดในเรื่องของธรรมเนียมโบราณน่าประทับใจมากในหลายเรื่อง

ขอความรู้จากผู้ที่เคยอ่านงานของ อายัณโฆษ  ด้วยค่ะ  เพราะยังสงสัยในบางประเด็นเช่น ธรรมเนียมทหาร  และ ศักดินา

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 07:49

ดาบศักดิ์เหล็กนํ้าพี้ โดย อายัณโฆษ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 09:13

คุณวันดีกรุณาหาหนังสือ "อายัณโฆษอนุสรณ์" มาอ่านโดยพลัน
หนังสือนี้พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ
ขุนธนกิจวิจารณ์ (ประยูร  ธชาลุภัฏ)
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ดำรงธรรม  ธนบุรี  เมื่อ ๒๕๐๗
หนา ๗๐ หน้าเศษ  ในเล่มนี้มีเรื่องมละกาแปรพักตร์
และเรื่องสร้อยสยมันตก์วดี  ซึ่งเป็นผลงานของผู้วายชนม์

ท่านขุนธนกิจฯ เกิดเมื่อปีมะเส็งเบญจศก  ๑๑๒
ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๐๖ พระราชทานเพลิงศพเมื่อปี ๒๕๐๗



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 11:18


สงสัยว่าคุณหลวงอ่านมาจาก อายัณโฆษอนุสรณ์  ๒๕๐๗  หรือตรวจย่อมาจากราชกิจจา ฯ หรือหนังสือคู่มือพิเศษได้มาด้วยสัมพันธไมตรี

จากท่านผู้ยิ่งยงทรงศักดิ์ทรงความรู้ที่หอสมุด หรือหอจดหมายเหตุกันแน่คะ


       ถ้าคุณหลวงมี อายัณโฆษ ๒๕๐๗  และได้อ่านแล้ว  ท่านจำตอนสำคัญในเรื่อง มละกาแปรภักตร์  ในเรื่องดวลกริช  ได้หรือไม่

เพราะดิฉันอยากคัดลอกมาลงเพื่อแสดงความรู้กว้างขวางของอายัณโฆษในเรื่องการต่อสู้ของมลายู

เนื่องจากเมื่อถึงฤดู ท้าวกระหมังกุหนิง  ก็จะมีนักเรียนที่หวังอยู่ หวังได้คะแนนดาหน้ามาถามซ้ำกันประจำ

กระหมังกุหนิงไม่ใช่นักรบชรา  แต่เป็นชายฉกรรจ์  เพราะลูกอายุ ๑๖ เท่านั้น   กะหมังกุหนิงก็อายุไม่เกิน  ๔๐  ถือว่าเพียบพร้อม

กำลังว่องไว   ศิลปในการร่ายรำไหมสุรีก็ต้องไม่ด้อยไปจากอิเหนาแน่นอน   อิเหนาได้เปรียบก็เพราะอาวุธเทพประทานอาจคมกว่าหรือยาวกว่า

       สร้อยสยมันตก์วดีนั้น    คนได้อ่านกันทั่วไป


       เจ้าของโกดังหนังสือนวนิยายใกล้บ้านก็ยังไม่กลับจากต่างจังหวัด       คนที่กลับแล้วก็ยังไม่เข้าบ้านขี้เกียจไปกำจัดรา      คนที่น้ำไม่ท่วมก็

ยกหนังสือข้างล่างใส่หกล้อไปฝากอีกโกดังแถวบ้านคุณหลวง  ตอนนี้ไม่สามารถไปนำหนังสือกลับมาได้

       ดิฉันขาดแต่ประวัติท่านเท่านั้น           อยากขอความรู้จากนักอ่านที่ได้อ่านงานของท่านตามที่กล่าวมาแล้ว

       นักประพันธ์ในราชสำนักรัชกาลที่ ๖   ยกย่อง อายัณโฆษ มาก  ดังจากจะเห็นได้ใน อันตวาที ของ ไทยเขษมหลายครั้ง

      ๒๕๐๗    จะว่าเก่าก็ไม่เก่า  แต่ไม่ออกสู่ตลาดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 11:34

เคยอ่านดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ฉบับถ่ายเอกสาร ที่คุณ" มนันยา" เอื้อเฟื้อส่งมาให้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน   ตอนนี้หนังสืออยู่ที่ใดที่หนึ่งในห้องหนังสือเก่าที่บ้าน
ดีใจที่ทราบว่ามีฉบับ pdf. ให้อ่านในเน็ตได้แล้ว

อย่างหนึ่งที่บอกได้เมื่ออ่าน  คือ อายัณโฆษ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือฝรั่ง 2 เรื่อง คือ The Three Musketeers ของ Alexandre Dumas   และอีกเรื่องคือ Etienne Gerard  ของ Sir Arthur Conan Doyle  ผู้แต่งเรื่อง Sherlock Holmes
ทั้งสองเรื่องมีผู้แปลเป็นภาษาไทยหลายครั้ง    เป็นเรื่องการผจญภัยของนายทหารหนุ่มทหารเอกของพระเจ้าแผ่นดิน
นิยายอิงประวัติศาสตร์แนวทหารเอกผจญภัย    คุณหลวงวิจิตรวาทการเคยเขียนเอาไว้เหมือนกัน   เช่นเรื่องครุฑดำ

พูดถึงพื้นความรู้ทางไทย  อายัณโฆษมีความรู้อยู่ไม่น้อย   เช่นให้พระเอกสืบเชื้อสายมาจากทหารมอญ กองอาทมาต  และรายละเอียดข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ     แต่บรรยากาศในเรื่องก็มีหลายตอนออกกลิ่นอายฝรั่ง อย่างนางเอก- เจ้าหญิงกิ่งฟ้าพาหุมัย ปลอมตัวผจญภัยโลดโผนไม่แพ้ผู้ชาย    ลักษณะเป็นนางเอกฝรั่งมากกว่าสาวไทยสมัยอยุธยา  บ้านช่องพระเอกก็ดูเป็นบ้านไทยสมัยรัชกาลที่ 5 อยู้มาก

ที่ไม่เหมือนขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ก็เช่นฉากสุดท้าย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับบนพระยานุมาศมาถึงบ้านใหม่ของพระเอก  ประทับลอยอยู่นอกหน้าต่าง  เพื่อพระราชทานแผ่นหิรัญบัตรแต่งตั้งเป็นพระรามอินทรา  ศักดินา 1000    เจ้านายจะไม่เป็นฝ่ายเสด็จออกไปหาขุนนางเพื่อพระราชทานอะไรให้   แต่จะมีพระบรมราชโองการให้ขุนนางเข้าเฝ้า
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 พ.ย. 11, 11:49



ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ          ใจชื้นเลยเมื่ออ่านความเห็น

การอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน หนังสือกำลังภายในบอกว่า งมงายนัก
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 พ.ย. 11, 09:14

ขุนธนกิจวิจารณ์เคยเรียบเรียงหนังสือเรื่อง "ลำดับราชพงศานุสสรณ์แห่งรามัญประเทศ"
พิมพ์เมื่อปี ๒๔๗๘  พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงธรรมจรรยานุกูลมนตรี (สุด โชติกเสถียร) กับจมื่นสมุหพิมาน(นรหัช โชติกเสถียร)
การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ น่าจะมีอิทธิพลในการแต่งนิยายเรื่อง ดาบศักดิ์เหล็กนํ้าพี้ ของท่านขุนในกาลต่อมา
อีกประการหนึ่ง คือ สงสัยว่าท่านขุนน่าจะมีเชื้อสายมอญด้วย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 พ.ย. 11, 10:06



ภาษาท่านสวยงามมาก   และดูว่าจะเป็นที่นับถืออย่างยิ่งในหมู่นักเขียนของไทยเขษม

ในเรื่องของการต่อสู้ด้วยดาบ  และไม้พลอง  มีแปลกตาอยู่บ้าง

ในเรื่องกริชนั้น  อ่านเพลินทีเดียว

       
       ขอบคุณคุณหลวงเล็กค่ะ   หนังสือโบราณผ่านตาคุณหลวงมากทีเดียว

ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี  จะได้เป็นแหล่งข้อมูลของผู้ใฝ่ใจศึกษาสืบไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 12:36

 ขุนธนกิจวิจารณ์​(ประยูร ธชาลุภัฏ)  เป็นบุตรคนโตของรองอำมาตย์โท หลวงอาชวคดี (ไพศาล ธชาลุภัฏ) มารดาชื่อเจียม   เกิดเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๖   
เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร   เมื่อเรียนจบก็เข้ารับราชการเป็นเสมียนที่กระทรวงวัง(สำนักพระราชวัง) เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๕  ต่อมาเลื่อนเป็นหัวหน้าแผนก แผนกราชพิพิธภัณฑ์   สำนักเลขานุการ  สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๓
ท่านเป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   เคยแสดงละครหลายเรื่อง
ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้เรื่องโบราณคดี และขนมประเพณีในราชสำนักท่านหนึ่ง   ความเชี่ยวชาญอีกด้านคือโหราศาสตร์   เคยทำนายดวงให้นักเขียนหลายคนรวมทั้งคุณสด และคุณเนียน กูรมะโรหิต ด้วย

ท่านเป็นผู้เปลี่ยนชื่อให้นักเขียนหลายคน   ชื่อฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ก็มาจากท่าน 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 12:40

ที่มาของเรื่อง ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้
"อายัณโฆษ" เล่าให้ "สันตสิริ" ฟังว่า   ครั้งหนึ่ง "ศรีสุวรรณ" (หลวงนัยวิจารณ์ หรือเปล่ง ดิษยบุตร) แปลเรื่องเอเตียน เชรา จากบทประพันธ์ของเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์  ลงในหนังสือรายเดือน  คนอ่านติดกันงอมแงม   เป็นเหตุให้ "ศรีสุวรรณ" ออกปากว่าฝีมือฟันดาบไม่มีใครเก่งเกินเอเตียน เชรา ทหารเอกนโปเลียน   "อายัณโฆษ" ได้ยิน จึงบอกว่า  มีซี  เป็นทหารเอกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมาท่านก็เขียน ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้  ลงพิมพ์ใน "ไทยเขษม"  เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๗    ชื่อของนายหมู่ขวัญ  ทหารดาบแห่งกรุงศรีอยุธยาก็ติดปากนักอ่านมานับแต่นั้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 14:31


ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.พ. 12, 14:50



ไทยเขษมซึ่งรวมนักเขียนข้าราชสำนักรัชการที่ ๖  ไว้มากที่สุด    ยกย่อง อายัณโฆษ  และให้เนื้อที่พิมพ์จนจบเรื่องเลยค่ะ

ตอนนี้ได้อ่านหลายเรื่องแล้วค่ะเพราะมีฉบับรวมเล่มอยู่ ๑๗ เล่ม

พระเอกแทบทุกคนจะมีการผจญภัยไปราชการต่างประเทศ  แบบไปราชการลับที่พม่า  ก็ไปเจอเจ้าเมืองพม่าที่แม่เป็นราชวงศ์ไทยโดน

กวาดต้อนมา        ไปมาลายูก็ไปดวลกริชโดยเดินต่ำด้วยการย่อร่าง  และสะบัดไหมสุหรีที่ผูกไว้ที่ข้อมือเพื่อบังตาฝ่ายตรงกันข้ามเวลาแทง

ไม่มีการหลอกแทงหรือแทงลวงเลยค่ะ   แทงทั้งทีต้องหมายจุดสำคัญเท่านั้น

ในการต่อสู้หน้าพระที่นั่งครั้งหนึ่ง  พระเอกใช้กระบองยกขึ้นเหนือศีรษะคู่ต่อสู้แล้วรูดไม้ลงมา   แม่ไม้นี้ยังไม่เคยพบที่ไหนเลย  อาจจะอ่านหนังสือไม่มากพอก็เป็นได้

 
ท่านเขียนตำราโหราศาสตร์ไว้เล่มหนึ่ง   เปนที่ปรารถนาของผู้ศึกษายิ่งนัก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.04 วินาที กับ 19 คำสั่ง