เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 27722 บรรดาศักดิ์ของแพทย์มีอะไรบ้างครับ
คนธรรมพ์สัญจร
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


 เมื่อ 21 พ.ย. 11, 13:10

สวัสดีคับผมอยากทราบเรื่องเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ไทยของฝ่ายแพทย์มียศและตำแหน่งอะไรบ้างครับเพราะผมไม่เคยเห็นของแพทย์เลยครับรบกวนผู้รู้บอกให้หน่อยนะขอรับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 13:29

บรรดาศักดิ์ เป็นศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทานให้ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนมาแต่สมัยโบราณ  สมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็นขั้นประทวนและสัญญาบัตร  บรรดาศักดิ์ที่พระราชทานข้าราชการทั่วไป มี ๖ ชั้นตามลำดับดังนี้ หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา 

อาจารย์ โรงเรียนแพทย์ (ที่จบในประเทศ) จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน แล้วเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ  อาจารย์ศิริราชได้เป็นพระยา ๑ คน คือ พระยาเวชสิทธิพิลาศ  แพทย์ที่จบจากศิริราชได้เป็นพระยา ๕ คน เท่านั้น  อาจารย์ที่ได้ปริญญาจากต่างประเทศจะเริ่มต้นเป็นหลวง
     
นามบรรดาศักดิ์หรือ “ราชทินนาม” จะบอกถึงตำแหน่งที่ทำงาน เช่น พระยานครพระรามเป็นเจ้าเมืองลพบุรี  พระยาแพทยพงศาวิสุธาธิบดีเป็นเจ้ากรมหมอหลวง  เจ้าพระยาพลเทพเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตร  เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็จะได้รับพระราชทานราชทินนามใหม่ (ฉะนั้น เวลากล่าวถึงข้าราชการ จึงมักจะบอกชื่อตัวหรือฉายาไว้หลังราชทินนามด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นใคร)  นอกจากตั้งตามตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชทินนามอาจตั้งตามคุณสมบัติเฉพาะบุคคล เช่น พระสอนถูกระบอบ พระยาโอวาทวรกิจ พระบำบัดสรรพโรค พระทิพย์จักษุศาสตร์ หลวงกุมารแพทย์ หลวงกุมารประเสริฐ  สมัยหลังราชทินนามมักจะคิดจากชื่อตัวหรือชื่อสกุล เช่น หลวงไวทเยศรางกูร หลวงพิณพากยพิทยเภท พล.ร.อ. หลวงสินธุ์สงครามชัย

ราชทินนามของอาจารย์ ศิริราชมีที่มาต่าง ๆ กัน คือ

บรรดาศักดิ์แพทย์แผนโบราณ เช่น หลวงไตรกิศยานุการ หลวงพินิจไวทยาการ หลวงราชพรมมา
 
ราชทินนามตามความสามารถเฉพาะตน เช่น พระอาจวิทยาคม พระอัพภันตราพาธพิศาล หลวงอายุรแพทย์พิเศษ พระศัลยเวชวิศิฎ หลวงไวทเยศรางกูร หลวงกายวิภาคบรรยาย ขุนศรีภิษัช หลวงศัลยเวชพิศาล  ขุนศัลยแพทย์ ขุนชีวัทพิเศษ ขุนสมรรถสูติการ

ราชทินนามที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นชุดสำหรับอาจารย์โรงเรียนแพทย์มีดังนี้

ชุดที่ ๑ พระยาเวชสิทธิพิลาศ ขุนเวชศาสตร์พินิต พระเวชกิจพิศาล หลวงเวชการพิเศษ
ชุดที่ ๒ หลวงบริบูรณเวชสาส์น หลวงบริบาลเวชกิจ พระยาบริรักษ์เวชการ ขุนบริหารเวชศาสตร์
ชุดที่ ๓ ขุนสารีรวิทยาวิลาส ขุนอายุรศาสตร์วิลัย ขุนกายวิภาคพิศาล

ราชทินนามที่ผูกขึ้นจากชื่อตัว เช่น หลวงเฉลิมคัมภีรเวทย์  หลวงพิณพากยพิทยาเภท ขุนเกตุทัศน์วิทยาพยาธิ หลวงวาทวิทยาวัฑธน์ หลวงพรหมทัตเวที

อาจาร์ย์ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ปีเดียวกัน ราชทินนามจะคล้องจองกัน

หลังพ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่มีการพระราชทานบรรดาศักดิ์อีก  ต่อมามีกฎหมายให้เลิกบรรดาศักดิ์ ผู้มีบรรดาศักดิ์ทุกคนต้องเวนคืนราชทินนาม และกลับไปใช้ชื่อตัว  แต่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้ราชทินนามหรือส่วนหนึ่งของราชทินนามเป็นชื่อตัว ชื่อรอง (เอาอย่างฝรั่ง) หรือนามสกุลก็ได้ เช่น พระยาบริรักษ์เวชการเป็น นพ.บริรักษ์ ติดติรานนท์  หลวงเทพวรสันต์เป็น นพ.เทพ วรสันต์  ขุนสันติสุขบริหารเป็น นพ.สันต์ สันติสุข  ขุนฉันทศาสตร์โกศลเป็น นพ.ไย ฉันทศาสตร์โกศล  ขุนสอนสุขกิจเป็น นพ.สอน ส.อันตริกานนท์  พระยามไหศวรรย์เป็นนายกอ มไหศวรรย์ สมบัติศิริ  พล.อ.อ. ขุนรณนภากาศเป็น พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคณี  หลวงสถิตนิมานการเป็นนายชวน สถิตนิมานการ

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่เวนคืนบรรดาศักดิ์ขอกลับมาใช้บรรดาศักดิ์ได้ดังเดิม  อาจารย์ศิริราชกลับไปใช้บรรดาศักดิ์ตามเดิมเกือบทุกท่าน นอกจาก ศ.นพ.เฉลิม พรมมาส ซึ่งใช้ชื่อเดิมนามสกุลเดิมไม่กลับไปใช้บรรดาศักดิ์อีก

จาก ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช  โดย สรรใจ แสงวิเชียร, พ.บ., พ.ด.


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 13:48

สวัสดีค่ะ คุณ คนธรรพ์สัญจร

       ชื่อแรกที่พวกเราน่าจะจำกันได้ คือ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้   สารสิน)   หลายปีมาแล้วมีหนังสือเล่มใหญ่

ออกมาของ ของวิมลพรรณ  ปีตะธวัชชัย    ดิฉันประมาทไม่รีบไปหาหนังสือด้วยคิดผิดว่าคงเหลือตกมาถึงมือสักเล่มล่ะน่า

ดิฉันจำได้ว่าตอนที่คุณพจน์ สารสินตอนที่ได้เป็นเลขาธิการซีอาโต้   คนไทยชื่นชมกันมากเพราะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ

ในเวลานั้นดิฉันก็ได้รับทราบว่าบิดาของคุณพจน์ชื่อ เทียนฮี้   แต่ความเป็นเด็กก็มิได้สนใจต่อไป   ทราบเพียงว่าคุณพจน์

สารสินสง่างามและรักษาเกียรติยศมากเพียงไร   ดิฉันได้มีโอกาศได้ร่วมรับประทานอาหารกับท่าน  ในฐานะเด็กเรียนจบมาใหม่ๆ

คุณพ่อของเพื่อนเป็นนักธุรกิจใหญ่เรียนจบมาจากญี่ปุ่นได้ชวนพวกเราเด็กๆไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นแถวศาลาแดง

       หนังสือ "สารสินสวามิภักดิ์"  เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก   เห็นทีจะต้องป่าวร้องให้สหายนักหาหนังสือเก่าไปหาให้สักสองเล่ม


       ถ้าอ่านหนังสือเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕   จะเห็นชื่อหมอเทียนฮี้โผล่ขึ้นมาหลายสิบครั้ง  เพราะหมอได้รับราชการ และไปทัพสำคัญๆ

หลายครั้ง     ถ้าหาหนังสือของท่านได้  จะกลับมาเล่าค่ะ    เพียงคัดลอกจากเว็บต่าง ๆ  ไม่เพียงพอสำหรับ "เรือนไทย" ค่ะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:14

   

กระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๔๗๔    มีบรรดาศักดิ์แพทย์ดังต่อไปนี้ค่ะ

(อ้างอิง  "หนังสือพิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราข ๒๔๗๔"   หน้า ๕๕๘ - ๕๖๒)


กรมสาธารณสุข

กองบัญชาการ

ผู้ช่วยอธิบดี                   อ.อ. พระยาบนิรักษ์เวชชการ

เลขานุการ                     ร.อ.ท. ขุนทะเบียนโอสถ

กองสุขศึกษา

นายเวร                         ร.อ.ท. ขุนสุภัทรเวชชวิจารณ์

หัวหน้าหน่วย แผนกส่งเสริมสุขาภิบาล
                                  ร.อ. หลวงทรงบุณแพทย์

กองโอสถศาลารัฐบาล

ผู้อำนวยการ                    อ.ต.  พระวรภัทราทร

ปลัดกรม                        ร.อ.ท. ขุนโอสถสิทธิการ

นายเวร                          ขุนเวชชภัณฑ์พิทักษ์


กองสุขภาพ

ผู้อำนวยการ                     อ.ต.  พระบำราศนราดูร

ขุนนิทเทสสุขกิจ

ขุนสงัดโรคกิตติ์

พระเชษฏฐ์ไวยทยการ

หลวงพะยุงเวชชศาสตร์


กองบุราภิบาล

หลวงพิบูลเภสัชกิจ

     
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:21


กองแพทย์สุขาภิบาลแห่งพระนคร

เจ้ากรม                        พระไวทยวิธีการ

อ.ต. พระชาญวิธีเวทย์

อ.ต.พระบรรจงพยาบาล

ร.อ.อ. ขุนบริรักษ์คณานนท์

ร.อ.อ. หลวงวิจารณ์สุขกรรม

ร.อ.อ. หลวงเวชชสารบริรักษ์

ร.อ.อ.  หลวงสิริแพทย์พิสุทธิ์


โรงพยาบาลโรคติดต่อ

ร.อ.ท.  ขุนทรงสุขภาถ


โรงพยาบาลกลาง

อ.ท. หลวงนิตยเวชชวิศิษฎ์

ร.อ.อ.  หลวงสนั่นวรเวชช์
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:24

สวัสดีครับคุณวันดี ไม่ได้ทักทายกันนานมาก เข้ามาตอบกระทู้เรื่องราชทินนามแพทย์ด้วยความรู้เต็มเปี่ยมเหมือนเช่นเคย

จักขอส่งข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

พ.ศ. ๒๔๔๙ โรงเรียนเวชสโมสร มีแพทย์ผู้จัดการโรงเรียนนามว่า "พระพิศณุประสาตรเวช"

ปีเดียวกัน มีการแต่งตั้ง "นายรอด" แพทย์ประจำมณฑลพายัพ เป็น "ขุนประสิทธิเวชสาตร" ตำแหน่งกรมการในมณฑลพายัพ ถือศักดินา ๕๐๐ ไร่

ที่มาราชกิจจานุเบกษา

"ขุนพิสิฐสรรพวิจารณ์" นายเวรพยาบาล
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:25

โรงพยาบาลโรคจิตต์

ผู้อำนวยการ                       อ.ต. หลวงวิเชียรแพทยาคม

ร.อ.อ.  หลวงพิจิตรภิสัชการ

ร.อ.ท.  ขุนอาจอนามัย


วชิรพยาบาล

ผู้อำนวยการ                        อ.ต. หลวงแพทยโกศล

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:38

ถ้าหากว่าคุณคนธรรมพ์มีเวลา  ใช้กูเกิ้ลค้นหานามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ ที่มีคำว่า เวช ไวทยะ แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, ไวทยะชีวิน, ตีรแพทย์, มิลินทแพทย์,เวชชาชีวะ 
จะพบบรรดาศักดิ์ของแพทย์อยู่ในประวัติผู้ขอพระราชทานนามสกุล  เพิ่มเติมมากขึ้นค่ะ



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:39

       ราชกิจจานุเบกษาเป็นเอกสารที่น่าอ่านเสมอค่ะ       อาการเจ็บป่วยของเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่  หนังสือหลายเล่มก็จะอธิบายไว้

อย่างน่าสนใจมากค่ะ   ว่าอาการตั้งแต่แรกเป็นอย่างไร   หมอหลวงหมอเชลยศักดิ์ผู้ใดได้รักษา  หรือประชุมกันออกความเห็นว่าอย่างไร

ผู้รักษาพยาบาลคือใคร     การรับประทานได้ครึ่งชามโคมบ้าง  ฝาชามโคมบ้าง   นับเป็นช้อนเลยค่ะ    ใครเป็นผู้จัดการงานศพ

บางทีก็ลงไว้ละเอียดมาก   จนกระทั่งงานพระราชทานเพลิงศพเลยค่ะ

       ประวัติศาสตร์ของเรายังขาดเอกสารอ้างอิงอีกมาก    เพราะผู้รักษาพยาบาลและจัดการงานศพนั้น   แม้นว่าเป็นบุตรบุญธรรมที่

ขอมาเลี้ยงตั้งแต่เป็นทารก   ก็มีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะรับมรดกบ้านเรือนและทรัพย์ทั้งปวง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:40

ราชทินนามของชาวต่างประเทศที่เป็นนายแพทย์ ก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 14:55

การจัดองค์กรในกรมหมอในสมัยรัตนโกสินทร์ ตามที่มีหลักฐานบันทึกไว้  มีลักษณะเกือบจะลอกแบบอย่างของ กรมหมอโรงพระโอสถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

กรมหมอในโรงพระโอสถ เป็นต้นสังกัดของ “หมอหลวง” ทั้งหมด และอยู่ใต้กำกับของ พระบรมวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เช่นในสมัย พ.ศ. ๒๔๐๘ มีกรมหมื่นวงศาธิราช ทรงกำกับกรมหมอ หัวหน้าหมอหลวงทั้งปวง คือ พระยาแพทยพงษาวิสุทธิ (ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ตำแหน่งนี้เรียกว่า จางวาง แพทยาโรงพระโอสถ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ เป็น ออกยาแพทยาพงษาวิสุทธาธิบดีอภัยพิริยนรากรมพาหุ)

บรรดาหมอในกรมหมอโรงพระโอสถ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ “หมอโรงใน” และ “หมอโรงนอก”

“หมอโรงใน” มีหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดเยียวยา พระบรมวงศานุวงศ์ในเขตพระราชฐานชั้นใน ส่วน “หมอโรงนอก” เป็นหมอที่รับพระบรมราชโองการ ไปตรวจเยี่ยมและบำบัดรักษาข้าราชการผู้เจ็บป่วย

แม้ว่าหมอโรงใน และหมอโรงนอกจะแยกจากกันแต่อยู่ภายใต้บังคับของ เจ้าหมอกรมโรงพระโอสถ คือพระยาแพทยพงษาวิสุทธิ ผู้บังคับบัญชารองลงไป ได้แก่ เจ้ากรมหมอยาขวา (หลวงราชนิทานและหลวงราชพรหมา) ปลัดกรมยาซ้าย (พระสิทธิสาร) ปลัดกรมหมอยาขวา ซึ่งหมอหลวงสังกัดกรมหมอยาขวา และหมอยาซ้าย จะผลัดเปลี่ยนเข้าประจำราชการ ผลัดละ ๔ วัน ๔ คืน โดยเข้ามาประจำราชการอยู่ในพำนักซึ่งเป็นโรงพระโอสถด้วย ซึ่งก็คือคลังยานั่นเอง

กล่าวได้ว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากกรุงศรีอยุธยา คือ มีกรมโรงพระโอสถเพียงกรมเดียวรวมผู้ชำนาญการไว้ทุกประการ คือ หมอยา หมอนวด หมอกุมาร หมอตา หมอผี หมอทรพิศม์ หมอพยุงครรภ์ ซึ่งต่างไปจากราชการในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

จาก เว็บหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณพ์สุขภาพไทย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 15:15

กรมหมอวังหน้า

มาถึงกรมหมอ น่าเสียดายที่ไม่ได้เปรียบเทียบกับขุนนางกรมหมอวังหลวง   เลยไม่รู้ว่าตรงกับตำแหน่งอะไร
น่าสังเกตอีกข้อว่า เป็นกรมแรกที่จางวางมีศักดินาน้อยกว่าเจ้ากรม  แม้จะอยู่ในลำดับสูงกว่า
พระยาประเสริฐฯ จางวาง เป็นพระยาและจางวาง ศักดินา ๑๐๐๐   ส่วนเจ้ากรม พระศรีมโหสถ และพระศรีศักดิราช เป็นคุณพระ แต่ศักดินา ๑๖๐๐ ทั้งสองท่าน

ไม่ทราบว่าคุณ art  และคุณ bhanumet เห็นอย่างไรบ้างคะ




กรมหมอ ในพระไอยการพลเรือน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือกรมแพทยาโรงพระโอสถ และกรมแพทยาหน้า, หลัง

พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี จางวางแพทยาโรงพระโอสถ       นา 2000
พระทิพยจักร เจ้ากรมหมอยาขวา                                  นา 1400
พระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย                                  นา 1400
หลวงราชพิมาน ปลัดขวาทิพจักร                                   นา 800
หลวงราชพรหมา ปลัดซ้ายทิพจักร                                 นา 800
หลวงสิทธิพรหมา ปลัดซ้ายสิทธิสาร                               นา 800
หลวงเทวพรหมมา ปลัดขวาสิทธิสาร                               นา 800
(และมีขุนหมื่นในกรมหมออีกมาก มีกรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรคขึ้นกรมนี้อีก เหลือจะพรรณนา)

พระศรีมโหสถ เจ้ากรมแพทยาหน้า                                นา 1600
ขุนราชแพทยา ปลัดทูลฉลอง                                     นา 600
ขุนพรหมเกวี ปลัดนั่งศาล                                         นา 400
พระศรีศักราช เจ้ากรมแพทยาหลัง                                นา 1600
ขุนรัตะแพทย์ ปลัดทูลฉลอง                                      นา 600
ขุนศรีเกวี ปลัดนั่งศาล                                             นา 400
พันในกรม                                                         นาคล 100

ตามความเห็นของผมนะครับ
พระยาประเสริฐในวังหน้าเทียบที่แพทย์พงศาในวังหลวง เพราะศักดินาวังหน้ากึ่งหนึ่งพอดี ข้อนี้ไม่เป็นปัญหาใหญ่

แต่อย่างที่อาจารย์เทาสงสัย อย่างที่เห็นในวังหลวงเจ้ากรมแพทยาหน้า, หลังราชทินนามและศักดินาเหมือนกันกับวังหน้า
เหมือนจนผมคิดว่าที่จริงกรมแพทยาหน้า, หลังนี้ บางที เมื่อสมัยอยุธยานั้นขึ้นในวังหลวง แต่พอสมัยหลังเช่นรัตนโกสินทร์
ก็ย้ายทั้งกรมไปขึ้นกับวังหน้า ไม่ขึ้นกับวังหลวงแล้ว เพราะราชทินนามและศักดินาเหมือนกัน

และเพราะมาจากวังหลวง ศักดินาที่ติดมาก็ไม่ได้ลดตามควรเป็น ปล่อยไว้อย่างนั้นจนเกิดลักหลั่นในทำเนียบขุนนางถึงปัจจุบันนี้
(เรื่องนี้เป็นการสันนิษฐานทั้งหมดเองโดยกระผม ไม่มีข้อมูลใดอ้างอิงเลย)

แต่น่าคิดอย่างหนึ่งว่า กรมแพทยานี้คงใหญ่พอตัว เพราะมีทั้งปลัดทูลฉลอง และปลัดนั่งศาล เเหมือนกรมจตุสดมภ์
และบางกรมที่สำคัญๆ ด้วย

กรมหมอน่าจะใหญ่ค่ะ  ทั้งวังหลวงวังหน้า  ดิฉันมีทำเนียบนามขุนนางหมอของวังหน้ามาฝากคุณ art อีก
 กรมหมอยา ราชทินนามระบุหน้าที่ชัดมาก  "- โอสถ" เรียงแถวกันมาทุกท่าน
กรมหมอนวด มีชื่อคล้องจองกันด้วย  ประสาทวิจิตร ประสิทธิ์หัตถา  คงจับเส้นแม่นยำมาก




มีกรมหมอฝรั่งซ้ายขวาด้วย   ในพระไอยการฯ ไม่น่าจะมี  หรือว่ามี?  ขอคุณ art ช่วยเปิดดูอีกทีได้ไหมคะ
ยังสงสัยว่า ราชทินนาม เมทรีแวทยา คือแพทย์ทางไหน    ส่วนขุนชำนาญระงับพิศม์  พอเข้าใจ  พิศม์ ก็คือ พิษ
คงจะมีหน้าที่ให้ยาที่ปัจจุบันเรียกว่า ปฏิชีวนะ กระมัง
ถ้าคุณหมอ CVT เข้ามาเห็นกระทู้นี้  อาจจะพอนึกออก




เมทรี น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาฝรั่งกระมั้งครับ

เป็นภาษาฝรั่งแน่นอน เดาว่ามาจากคำว่า medicine --> เมทรี อ่านว่า เม-ซี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 15:56

พูดถึงบรรดาศักดิ์และราชทินนามของแพทย์แล้ว
คิดได้ถึงหนังสืออ้างอิงเล่มใหญ่ของคุณวันดี ที่กล่าวถึงขุนนางหัวเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก

คุณคนธรรพ์สัญจรคงต้องไหว้วานคุณให้วันดีช่วยค้นแล้วล่ะครับราชทินนามของพวก

-สาธารณสุขมณฑล
-แพทย์ประจำจังหวัด
-แพทย์สุขาภิบาลจังหวัด

ข้อมูลผมนั้นพอมี แต่ตอนนี้ลอยคอเล่นน้ำอยู่ในบ้านครับ  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
คนธรรมพ์สัญจร
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:24

ครับขอบคุณทุกท่านที่โพสเร็วทันใจผมเหลือเกินครับ แต่แพทย์ที่ได้รับราชทินนามนี่ก็มีเยอะเหมือนกันนะครับแล้วสมัยก่อนนี่แพทย์ภาคพายัพสุงสุดถึงพระยาไหมครับ เอ่อคุณวันดีครับผมก้คงต้องรอคุณวันดีมาเล่าต่อด้วยนะครับขอให้หาได้ไหวๆนะครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 17:07

แพทย์ประจำท้องถิ่นนั้น  สมัยก่อนขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
การแต่งตั้งให้แพทย์ประจำท้องถิ่นมีบรรดาศักดิ์นั้น 
เริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๖ ปลายๆ รัชกาล  โดยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
จะนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ทำประทวนตราพระราชสีห์ตั้งบรรดาศักดิ์แพทย์ประจำท้องถิ่น
แพทย์เหล่านี้ถ้าต่อไปได้ไปประจำมณฑลก็จะได้เลื่อนขึ้นไปเป็นข้าราชการ
ชั้นสัญญาบัตรได้

แพทย์ประจำท้องถิ่นที่เป็นข้าราชการชั้นประทวน  โดยมากบรรดาศักดิ์จะอยู่ที่ชั้นหมื่น ขุน
ไม่มีสูงกว่านี้  ถ้าเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง  มักจะเป็นชั้นสัญญาบัตร

ส่วนที่ถามว่า สมัยก่อนนี่แพทย์ภาคพายัพสุงสุดถึงพระยาไหมครับ
เท่าที่ทราบ ไม่มีครับ  เป็นหลวงก็น่าจะสูงแล้ว  ที่ถึงคุณพระน่าจะไม่มี
ถ้าขึ้นชั้นคุณพระหรือพระยาน่าจะอยู่ส่วนกลางหรือนั่งประจำกระทรวงกรม
หรือไม่ก็เป็นผู้ตรวจการ  ชั้นพระยานี่ต้องเป็นเจ้ากรมแล้วครับ

อยากจะเอาชื่อบรรดาศักดิ์แพทย์ประจำท้องถิ่นมาลงให้เหมือนกัน
แต่สภาพการณืไม่เอื้ออำนวย  ถ้าคุณคนธรรพ์ฯ รอได้โปรดรอ
ถ้าต้องการข้อมูลด่วนมาก  คงต้องไหว้วานสมาชิกท่านอีกที่สะดวกจัดให้แทน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 20 คำสั่ง