กล้วยไม้ที่พบในดินแดนไทยน่าสนใจเนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่พบหลากหลายชนิดมากครับ เนื่องจากดินแดนนี้อยู่เหนือเส้นสูตรสูตรนิดเดียว เป็นป่าเขตร้อนชื้น และชื้นสูง พวกสกุลหวาย และสกุลสิงโตจะครองพื้นดีได้มากกว่าพวกสายแวนด้า หากไปเมืองจันทบุรี คงต้องเจอ "เหลืองจันทบูร" เป็นแน่

ในบันทึกการเดินทางฉบับนี้ มีข้อน่าสนใจมาก คือการค้นพบกล้วยไม้หลายชนิด มีการนำมาทบทวน ตีพิมพ์เป็นบทความ ในหนังสือที่ผมได้นำภาพปกมาให้ชมในกระทู้ก่อนครับ ในภายหลัง Prof. Dr. Gunnar Seidenfaden ปรมาจารย์อนุกรมวิธานกล้วยไม้ไทย ได้นำมาทบทวนและตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กชื่อ "
The Descriptiones Epidendrorum of J.G. Konig 1791 by Gunnar Seidenfaden (Olsen & Olsen Fredensborg 1995)"
ในหนังสือดังกล่าว กล่าวถึงกล้วยไม้ ที่ทราบแน่ชัด 24 ชนิด เช่น
1. ค้นพบครั้งแรกของโลก โดย คุณหมอโคนิก ในการสำรวจครั้งนี้
Appendicula hexandra (J.König) J.J.Sm. หางแมงเงาใหญ่ ,
Malaxis ophrydis (J.König) Ormerod in G.Seidenfaden. สิกุนคล,เปราะนกคุ้ม ,
Trichoglottis orchidea (J.König) Garay. เอื้องสายสุคนธ์ ,
Eria tomentosa (J.König) Hook.f. เอื้องตาลหม่น, เอื้องบายศรี เป็นต้น
2. บางชนิดค้นพบก่อนหน้านี้ หรือภายหลัง แต่ใช้คำอธิบายจากตำราเล่มอื่น
Aerides odorata Lour. เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด ,
Malaxis calophylla (Rchb.f.) Kuntze แห้วหมูป่า, หูเสือ. ,
Thrixspermum centipeda Lour. เอื้องแมงมุมขาว ,
Dendrobium pachyphyllum (Kuntze) Bakh.f.. เอื้องมะลิสองใบ ,
Dendrobium crumenatum Sw., . หวายตะมอย ,
Bromheadia finlaysoniana (Lindl.) Miq.,. ตานโขมย เป็นต้น
สำหรับ "เหลืองจันทบูร" นั้น ตีพิมพ์ชื่อครั้งแรก เมื่อปีค.ศ. 1887 โดย Heinrich Gustav Reichenbach นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Dendrobium friedericksianum Rchb.f., ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่
Mr. D. Friederick นักกล้วยไม้รุ่นแรกๆ ของสยาม ซึ่งทำงานอยู่ที่ห้าง บีกริม แอนด์ โก ผู้ส่งตัวอย่างกล้วยไม้ เหลืองจันทบูร ไปยังยุโรป เพื่อตั้งชื่อ ครับ (ใครพอจะทราบ เรื่องราวเกี่ยวกับ Mr. D. Frederick บ้างหรือไม่ครับ ว่าเป็นใคร ?)
ผมคิดว่า ตอนคุณหมอโคนิก สำรวจที่เมืองจันทบุรี ก็อาจจะได้พบกล้วยไม้ชนิดนี้บ้าง เพราะสมัยก่อนมีมากแถบจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด แต่ด้วยเวลาที่คุณหมอเดินทางมาคือเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ กล้วยไม้ชนิดนี้ กำลังออกดอก ท่านอาจจะไม่ได้เก็บตัวอย่างไป หรืออาจจะเก็บไปแล้ว แต่ตาย หรือสูญหายไปก่อนที่จะมีการทบทวนจากนักพฤกษศาสตร์รุ่นต่อมาครับ จึุงมาค้นพบและตั้งชื่อที่หลัง ห่างกันเป็น 100 ปี
เหลืองจันทบูรนี้ ทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โปรดมาก (จริงๆ โปรดกล้วยไม้หลายชนิด โดยเฉพาะ ฟาแลนนอปซิส และหวาย ถึงกับทรงเอยพระโอษฐ์ให้ นักกล้วยไม้ท่านหนึ่ง "ฉันมีที่เป็นร้อยๆ ไร่ (ที่วังสวนบ้านแก้ว) เธออยากทำอะไรก็ไปทำ แต่เลี้ยงกล้วยไม้มาให้ฉันได้ดูบ้างก็แล้วกัน" แต่แล้วโครงการนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้่น ไม่เช่นนั้น อาจจะเป็นโครงการกล้วยไม้ที่มีประโยชน์ต่อชาติในปัจจุบันแล้วก็เป็นได้
แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ได้พยายามอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ "เหลืองจันทบูร" ให้อยู่คู่เมืองไทย สืบต่อไปครับ