จิตร ภูมิศักดิ์มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า
ในระยะ พ.ศ. ๑๙๕๐ ลงมา ไทยเราเริ่มได้ติดต่อกับประเทศทางยุโรป เริ่มต้นด้วย โปรตุเกส, เดนมาร์ก ต่อมาก็ฮอลันดา, ฝรั่งเศส และอังกฤษ. ฝรั่งเหล่านั้นคืบคลานผ่านอินเดีย, พม่า-มอญ และชวา-มลายู เข้ามายังไทยแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงพากันเรียกคนไทยอยุธยาว่า เซียม (Siam) ตามคำของชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณนี้. ขณะเดียวกันก็ถือเอาคำ เซียม (Siam) เป็นชื่อเรียกอาณาจักรศรีอยุธยาไปด้วย. (อังกฤษเป็นพวกมาทีหลัง เห็นทีจะไม่รู้ว่า Siam นั้นประสงค์จะให้ออกเสียง เซียม หรือมิฉะนั้นก็ออกเสียงไม่ถนัดปาก จึงเอาไปอ่านเป็น ไซเอิม หรือ ไซแอม แปลกพวกออกไป) แต่แม้ว่าพวกฝรั่งที่เข้าติดต่อค้าขายจะเรียกอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาว่า Siam, ทางไทยก็ยังไม่สนใจที่จะใช้นาม สยาม หรือ สามเทสะ เป็นชื่อประเทศในการติดต่อต่างประเทศ. ยังคงเรียกตัวเองวา กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา หรืออะไรที่ยืดยาวทำนองนั้น โดยมีชื่อ ศรีอยุธยา อยู่ข้างใน. เช่นใน "พระราชสาส์นและราชมงคลประณามการ" ของพระเอกาทศรถซึ่งมีส่ง "ไปถึงทองฝิหลิบพระยาประตุการ" (Don Philippe แห่งโปรตุเกส) เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๖๑, เรียกประเทศทั้งสองว่า :
"แผ่นดินเมืองประตุการแลแผ่นดินกรุงพระมหานครทวารวดีศรีอยุธยา."
(จาก การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรถ, ขจร สุขพานิช, วารสารศิลปากร ปีที่ ๔ เล่ม ๔, มกราคม ๒๕๐๔)
คำ สยาม ที่ใช้เป็นชื่อเรียกอาณาจักรทั้งหมด โดยใช้เป็นทางการอย่างเด็ดขาด แทนคำว่า กรุงเทพมหานครฯ นั้น มาเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๔. หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว คำ สยาม ก็ใช้เป็นชื่อของราชอาณาจักรไทยเรื่อยมา. รัชกาลที่ ๕ เมื่อลงพระนามก็มักใช้คำว่า สยามินทร์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งสยาม) แต่ถึงอย่างไรก็ตามความหมายของคำว่า สยาม ก็ยังคับแคบอยู่เพียงบรรดาหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยามเท่านั้น ส่วนเมืองที่เป็นประเทศราชอย่างประเทศเชียงใหม่, หรือเมืองที่เป็นนครรัฐ อย่างนครลำพูน ยังมีฐานะเป็นเมืองของท้าวพระยาสามนตราช มิได้รวมอยู่ในความหมายของคำ สยาม, หากรวมอยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมืองของสยาม.
ข้อนี้จะเห็นได้ชัดจากเอกสารทางราชการเก่า ๆ ในยุคนั้นเช่นในสำเนาร่างประกาศตั้งกงสุลเมืองสิงคโปร์ สมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๖ ดังนี้ :
"สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์นี้ และเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่าง ๆ ทุกทิศ คือ ลาวโยน ลาวเฉียง ในทิศพายัพแลอุดร ลาวกาวแต่ทิศอีสานจนบูรพ์ กัมโพชาเขมรแต่บูรพ์จนอาคเนย์ เมืองมลายูเป็นอันมากแต่ทิศทักษิณจนหรดี แลบ้านเมืองของกะเหรี่ยงบางเหล่าแต่ทิศปจิมจนพายัพและข่าซองและชาติต่าง ๆ อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก...."
จะเห็นว่า ข้อความสีแดงนั้น คือการพรรณนาถึงพวกเมืองขึ้น ดังมีรายการต่อไปอีกยืดยาว. ดูตามนี้แล้ว บริเวณที่เรียกว่าสยามแท้ ๆ (Siam proper) คือบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น นอกนั้นออกไปคือ ประเทศราชชนบทต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองทางการเมืองของสยาม.
