เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 49334 " พระคุณพ่อ" ประวัติของมหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร(ฉิม โปษยานนท์)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 07 พ.ย. 11, 17:51

จบเรื่องซิสซี่ จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย    ว่าจะย้อนกลับมาคุยเรื่องไทยๆบ้าง

ไปค้นตู้หนังสือดูว่าจะหยิบเอาเล่มไหนมาเรียบเรียงเป็นกระทู้ให้อ่านกัน    ก็พบหนังสือที่ได้มานานเกือบ 20 ปีแล้ว เล่มหนึ่ง ชื่อ "พระคุณพ่อ"   ผู้เขียนคือท่านผู้หญิงโฉมศรี (โปษยานนท์) วินิจฉัยกุล   เป็นหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นเมื่ออายุครบ 5 รอบ  มีพี่ๆน้องๆของท่านมาร่วมกันเขียนด้วย  เล่าถึงประวัติของคุณพ่อ  มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพัฒนธนากร  (ฉิม โปษยานนท์)
    
นอกจากประวัติของเจ้าคุณ  เรื่องอื่นๆที่ท่านผู้หญิงโฉมศรีและพี่น้องร่วมกันบันทึก คือชีวิตวัยเยาว์  ความใกล้ชิดและวิธีการเลี้ยงดูุบุตรธิดา ตลอดจนคำสั่งสอนต่างๆของคุณพ่อ     ล้วนเป็นข้อคิดที่คมคายเฉลียวฉลาด   ยิ่งอ่านก็ยิ่งน่าจับใจในความเป็นข้าราชการที่ปราดเปรื่อง และเป็นบิดาที่น่าเคารพของลูกๆ ทุกคน

เลยขอเก็บมาเล่าสู่กันฟังในเรือนไทยค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 พ.ย. 11, 12:28 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 พ.ย. 11, 18:01

พระยาพิพัฒนธนากร  เป็นบุตรของหลวงวารีราชายุกต์ (โป๊ โปษยานนท์) มารดาชื่อท่านเสงี่ยม เป็นบุตรีพระยาภักดีภัทรากร(ตระกูลภัทรนาวิก)  เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2426  ณ บ้าน "โปษ์กี่" ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี

ตามประวัติที่จดจำสืบต่อกันมา  ต้นสกุลโปษยานนท์ได้อพยพมาจากประเทศจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์   แซ่เดิมคือแซ่กิม เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “ทอง” หรือ “ทองคำ”
บรรพบุรุษคนแรกของสกุลนี้ที่มาตั้งรกรากอยู่ในสยาม คือ" เจ้าสัวล่อแช”  เช่นเดียวกับคนจีนอื่นๆ ท่านยึดอาชีพทำมาค้าขาย โดยอาศัยอยู่บนแพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่ตั้งบ้านโปษ์กี่ในภายหลัง) เมื่อกิจการค้าดีมีฐานะมั่นคงขึ้น จึงได้สร้าง “เก๋งจีน” ขึ้นและใช้ชื่อยี่ห้อว่า
“โปษ์กี่”

ในรัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลนี้ให้หลวงพิพัฒนธนากร สังกัดกระทรวงมหาสมบัติ ว่า “โปษยานนท์” เป็นนามสกุลอันดับที่ 686  พระราชทานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2546
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 พ.ย. 11, 18:13

เมื่อเจ้าคุณพิพัฒนยังเล็ก  เช่นเดียวกับกุลบุตรเชื้อสายจีนในไทย  ท่านบิดาก็หาจีนซินแสมาสอนหนังสือจีนให้ที่บ้าน   พออายุ 9 ขวบ ท่านก็ถูกส่งตัวไปเล่าเรียนในประเทศจีน   ที่บ้านเอ้าเคยกิม  ตำบลแต้จิ๋ว   ซึ่งดิฉันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษท่าน   แต่เรียนได้แค่ 3  ปี  ถึงพ.ศ. 2437  บิดาก็เรียกตัวกลับมาเมืองไทย เมื่ออายุ 12 ปี 
ท่านถูกส่งตัวเข้าเรียนต่อในโรงเรียนอัสสัมชัญ    เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไปฝึกทำงานที่ห้างบอเนียวกำปนี เป็นเวลา 1 ปี   จนอายุครบ 20 ปี จึงลาออกมาอุปสมบท ในพ.ศ. 2446   ที่วัดทองนพคุณ
พอครบพรรษาก็สึกออกมาทำงานกับบิดา     ทำอยู่ได้ 3 ปี    ชะตาชีวิตก็เปลี่ยนไปอีก เมื่อหม่อมเจ้าปิยะภักดี ให้คนมาตามท่านไปรับราชการที่กรมฝิ่น (หรือกรมสรรพสามิต) ทรงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองคลังรักษาฝิ่น  และควบคุมกองบรรจุฝิ่นใส่อับ   
ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ 300 บาท 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 พ.ย. 11, 20:55

คุณหลวงวารีราชายุกต์ เป็นคนขยันหมั่นเพียร   สร้างฐานะตัวเองตั้งแต่ค้าขายอยู่ในเรือนแพ  จนกระทั่งมีเงินพอจะซื้อที่ดินริมแม่น้ำ   ปลูกตึกแบบจีนซึ่งจำลองมาจากบ้านเดิมที่เมืองจีน  ต่อมาก็ปลูกตึกใหม่อีกหลังหนึ่งเพิ่มเติม ให้ชื่อว่า โปษ์กี่    แล้วท่านก็เข้ารับราชการจนได้เป็นหลวงวารีราชายุกต์
ท่านมีบุตรหญิง 7 คน ชาย 3 คน   แต่มีภรรยาคนเดียว เพราะท่านไม่นิยมมีภรรยาหลายๆคนอย่างชายสมัยนั้น   ท่านทั้งสองอยู่กันมาด้วยความผาสุกจนสิ้นอายุขัย

แม้ว่ามีฐานะร่ำรวย  แต่คุณหลวงวารีฯ ก็ไม่เลี้ยงดูลูกๆให้สุขสบายแบบเท้าไม่แตะดิน    แม้ว่าที่บ้านมีคนใช้มากมาย ลูกๆทั้ง 10 คนก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานไปคนละอย่างสองอย่าง     ตั้งแต่เด็ก  เจ้าคุณพิพัฒนมีหน้าที่จุดตะเกียงทั่วทั้งบ้าน   ทุกเย็นต้องคอยเติมน้ำมัน  ตัดไส้ตะเกียง เช็ดถูตะเกียงให้สะอาด    นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เหยียบและนวดบิดาเวลาท่านปวดเมื่อยอีกด้วย
ส่วนลูกสาวก็ต้องช่วยกันทำงานบ้าน งานครัว  เย็บปักถักร้อย    ไม่มีใครอยู่ว่างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 พ.ย. 11, 22:00

โปษ์กี่ น่าจะเป็นภาษาจีน  แต่แปลว่าอะไร ไม่ทราบ    ขอคำตอบจากผู้รู้ภาษาจีนค่ะ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 00:10

เคยเห็นรูปภาพบ้านโปษ์กี่ ด้านหน้ามีอักษรภาษาจีนเขียนไว้ว่า “宝记” (bao3 ji4) ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า "เป่า จี้"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พึ่งแจ้งไว้สักนิดว่า สมัยก่อน การเขียนอักษรจีนจะมาจากขวาไปซ้าย ดังนั้นไปเห็นป้าย จะเขียนว่า "记宝"

อนึ่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ของข้าพเจ้าเไม่มีแบบอักษรตัวเต็มแบบโบราณ ที่่เขียนแสดงเป็นแบบตัวย่อของปัจจุบัน

ต่อไปคือความหมาย

宝 เป่า - แปลว่า ของล้ำค่า ของวิเศษ

记 จี้ - แปลว่า เป็นที่รำลึก,จดบันทึก,คัดลอก

แปลรวมกันได้ความว่า "สมบัติวิเศษอันน่าจดจำ"

ภายหลังได้เข้าไปเทียบเสียงว่าเป็นภาษาจีนสำเนียงอะไรในเว็ปไซด์ http://cn.voicedic.com/

ได้เสียงดังนี้

ภาษากวางตุ้ง (广东话) "โป้ว เก่ย" (bou2 gei3)

ภาษาหมิ่นหนานหรือคนไทยเรียกกันว่าภาษาฮกเกี้ยน (闽南话)"โป๊ว กี่" (bou3 gi5)

ภาษาแต้จิ๋ว (潮州话) "โป่ กี่" (bo2 gi3)

ด้วยต้นตระกูลมาจากแต้จิ็ว ข้าพเจ้าเลยคิดว่าน่าจะเป็นการออกเสียงแบบแต้จิ๋ว

อยากฟังเสียงชัดๆเข้าไปตรวจสอบได้จากเว็ปไซด์ข้างต้น

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 17:10

ป้ายหน้าบ้านโปษ์กี่เขียนไว้ดังนี้กระมัง

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 19:16

พบรูปถ่ายป้ายโปษ์กี่  เป็นตัวอักษรจีนสลัก     ในเมื่ออ่านภาษาจีนไม่ออก  ก็ไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า แต่คิดว่ามีส่วนเหมือนกันมาก กับที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลง
พรุ่งนี้จะไปสแกนมาให้ดูค่ะ

ไปค้นความหมายของคำนี้มาแล้ว  ได้ความว่า ที่บ้านโปษ์กี่มีแผ่นป้ายอยู่ 2 อัน   อันแรกเป็นปูนปิดทองอยู่หน้าประตูใหญ่   ก่อนเข้าตัวบ้านซึ่งปลูกเป็นเก๋งจีน    ส่วนอันที่สองเป็นไม้ฉลุลึก  ตัวหนังสือปิดทอง    ตัวอักษรใหญ่เป็นคำว่า โป๊ว  และ กี่   ส่วนตัวหนังสืออยู่ระหว่างกลางเป็นตัวเล็กๆ 2 ตัว อ่านว่า หล่ง และ ฮะ
โป๊ว = ประเสริฐ  เลิศล้ำ สูงส่ง
กี่    = สัญลักษณ์
หลาง   = เจริญรุ่งเรือง
ฮะ   =  รวม
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 19:46

ภาพที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลงคือภาพคำว่า "เป่า จี้" แบบด้วยจีนดั้งเดิมครับ

อ่านจากขวามาซ้าย

ทั้งส่วนตัวของผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความหมายที่คุณเทาชมพูแปลเท่าใดนัก เพราะผมเทียบกับพจนานุกรมจีนเป็นความหมายอย่างที่ผมเขียนไว้ข้างต้น

แต่จะลองไปค้นพจนานุกรมศัพท์โบราณดูก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 20:34

คุณสมศักดิ์ โปษยานนท์ บุตรของพระยาพิพัฒนธนากร ให้คำอธิบายไว้ว่า

" คำว่า โป๊ว  แปลว่าประเสริฐเลิศล้ำค่า  หรือสิ่งที่สูงส่ง    ส่วนคำว่า "กี่" แปลว่าเครื่องหมาย หรือสิ่งควรจำ    ฉะนั้นคำว่า "โปษ์กี่" จึงมีความหมายว่า "สัญลักษณ์ของสิ่งที่สูงประเสริฐล้ำค่า"   ส่วนคำว่า "หล่ง" คือความเจริญรุ่งเรือง    และคำว่า "ฮะ" แปลว่า รวม
หล่งฮะ  จึงได้ความว่า ที่รวมของความเจริญรุ่งเรือง"


ขออธิบายถึงลักษณะของบ้าน
บ้านโปษ์กี่ เป็นบ้านสร้างแบบเก๋งจีน  เรียกตามภาษาแต้จิ๋วว่า "สี่เตียมกิม" (แปลว่าอะไรไม่ทราบ) เป็นลักษณะของบ้านที่มีของใช้ทุกอย่างอยู่ครบครัน    และภายในเป็นที่พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย    หน้าบ้านซึ่งหันไปทางแม่น้ำมีเขื่อนคอนกรีต และมีรั้วรอบเขื่อน  มีบันไดทอดลงสู่แม่น้ำสองด้านด้วยกัน  แต่ละด้านมี 13 ขั้น    บ้านนี้อยู่ฟากตรงข้ามกับห้องเย็นและสะพานปลาถนนทรงวาด

จากท่าน้ำ มีทางเดินกว้างราวสองเมตร  ปูด้วยหินแผ่นใหญ่ๆจากเมืองจีนทอดสู่ตัวบ้าน   ขนาบด้วยอ่างลายครามปลูกบัวสีต่างๆสวยงาม
ด้านซ้ายมีตึกสองชั้นแบบทันสมัย  มีดาดฟ้ากว้างซึ่งเด็กๆลูกเจ้าของบ้านใช้เป็นที่วิ่งเล่นและเล่นว่าวกันในหน้าว่าว    ด้านขวาเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวมีเฉลียวยาวแล่นรอบบ้าน   หลังคามุงกระเบื้อง  เป็นที่อยู่ของลูกชายเจ้าของบ้าน 2 คนและห้องเก็บของของคุณหญิงผัน ภรรยาพระยาพิพัฒนฯ    ข้างบ้านมีชมพู่ขึ้นอยู่ 3 ต้น  ทั้งชมพู่เขียวรสหวาน  ชมพู่รสรสจืด และชมพู่รูปป้อมสีแสดรสเปรี้ยว

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 20:35

ส่วนเก๋งจีน เป็นที่อยู่ของพระยาพิพัฒนฯ ทางปีกซ้าย   ห้องขวาด้านหน้าเป็นที่อยู่ของญาติของท่าน   ส่วนห้องอื่นๆก็เป็นที่อยู่ของลูกๆ และแม่ๆ
เจ้าคุณพิพัฒนฯมีบุตรธิดา 20 คน  เป็นหญิง 10 คน ชาย 10 คน เกิดจากแม่ 8 คนด้วยกัน    ลูกๆและแม่ๆอยู่รวมกันในบ้านนี้ทั้งหมด   เมื่อรวมบริวารและผู้อยู่อาศัยอื่นๆ ในบ้านก็มีคนร่วม 100 คน  ที่เจ้าคุณเป็นหัวหน้าครอบครัวเพียงผู้เดียว

ด้วยความสามารถของท่าน  ท่านปกครองภรรยาทั้งหมด และลูกๆให้อยู่กันมาได้อย่างราบรื่น   มีเวลาอบรมบุตรธิดาอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมแต่ละคนให้มีความสุขความเจริญ ทั้งชายและหญิง    ลูกๆที่เกิดทั้งแม่เดียวกันและต่างแม่ ต่างรักและสนิทสนมกันเป็นอันดี     นอกจากนี้ ท่านสามารถรักษาฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นมาได้ตลอดชีวิต  ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เป็นที่นับถือของคนทั่วไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 21:31

ย้อนกลับไปถึงประวัติของเจ้าคุณพิพัฒนฯ   เมื่อเข้ารับราชการเป็นเสมียนที่กรมฝิ่น   ความจริงเงินเดือนเสมียนคือ 30 บาท   แต่ว่าท่านเป็นคนขยันขันแข็งมาก   เช้าก็ลงเรือจ้างจากบ้านข้ามฟากมาทำงาน   กลางวันก็กลับไปกินข้าวบ้าน    ทำงานอยู่จนเย็น โดยทำงานทุกอย่างไม่เลือกงาน    เลิกงานก็เก็บกวาดที่ทำงาน ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย  เรียกว่าเป็นทั้งเสมียนและภารโรง
เจ้านายทรงทราบเข้า  พอสิ้นเดือนก็ทรงเติม 0 ให้อีก 1 ตัว  จาก 30 บาท เป็น 300 บาท
เจ้าคุณก็ตกใจ  เข้าไปทูลว่ากระหม่อมขอเงินเดือนเพียง 30 บาทเท่านั้น  กลับได้ 300 บาท มันมากเกินไป   กระหม่อมไม่มีรายจ่ายอะไร  เช้าก็ข้ามฟากมา กลางวันกลับไปกินข้าวบ้าน ลูกเมียก็ไม่มี   เย็นไม่รู้จะไปไหนก็ช่วยภารโรงเก็บกวาดห้องจนเสร็จถึงกลับ ก็เท่านั้น
ท่านอธิบดีก็รับสั่งว่า  คุณทำงานมากกว่าคนอื่น  และทำงานได้เรียบร้อย   ฉันไม่ต้องจ้างคนอีกหลายคน  เพราะฉะนั้น 300 บาท ถูกต้องแล้ว รับไปเถอะ

ถ้าพิจารณาจากอัตราเงินเดือน   เจ้าคุณพิพัฒนฯเมื่อครั้งเป็นเสมียน คงทำมากกว่าแค่ช่วยภารโรงแน่นอน   อย่างน้อยก็ทำเท่ากับ 10 คน   ท่านอธิบดีถึงออกปากว่า ท่านประหยัดค่าจ้างคนไปได้หลายคน และเพิ่มเงินเดือนให้ 10 เท่าของเงินเดือนที่ขอไว้

ก็นับว่าท่านดูคนไม่ผิด   เจ้าคุณก็ตั้งอกตั้งใจทำงาน เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจนได้เป็นอธิบดีในที่สุด
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 23:15

เรื่องความหมายนี้อย่างไรอย่างไรผมขอค้นดูก่อน แต่ขณะนี้คิดว่าลูกหลานอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

เดาๆเองว่า คำว่า "หล่ง" น่าจะมาจากคำว่า "หรง" (荣:rong2) ที่แปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง

ส่วนคำว่า "ฮ่ะ" น่าจะมาจากคำว่า "เฮอ" (和:he2) แที่แปลว่า และ, ผสมผสาน, รวมเป็นหนึ่ง

อยากเห็นว่าเขียนเป็นประโยคเต็มๆอย่างไร ถ้าเขียนสี่ตัวติดกัน ปรกติแล้วคนจีนเวลาจะย่ออะไร จะนำตัวแรก และตัวที่สาม จากคำสี่ตัว มาเป็นตัวย่อ

ส่วนคำว่า "สี่เตียมกิม" ถ้าออกเสียงแบบภาษาจีนกลางคือ "สือเตียนจิน" (四点金:si dian jin) แปลได้ความว่าทองสี่มุม

บ้านลักณะนี้เป็นการวางผังบ้านแบบหมิ่นหนาน (แต้จิ๋วจัดอยู่ในกลุ่นนี้นะแหละ) นิยมในกลุ่มแต้จิ๋ว นับเป็นเอกลักษณะแต้จิ๋วชาติเลยทีเดียว

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 23:30

ลักษณะบ้านเช่นนี้โบราณแล้วเฉพาะบ้านคนมีฐานะมีตระกูลจะสร้างได้ แต่ว่าถ้ารวยจัดรวยจริงรวยจนล้นฟ้า จะสร้างให้อลังการซับซ้อนกว่านี้ขึ้นไปก็ได้ แล้วก็จะจัดเป็นอีกประเภทหนึงไป

ผังบ้านแบบนี้พัฒนาขึ้นมาจากผังบ้านพื้นฐานที่เรียกว่าแบบเสือลงเขา "เสี้ยซานหู" (下山虎: xia shan hu)ที่จะมีลักษณะบ้านเป็นรูปเกือบม้าเฉยๆ แต่บ้านแบบ "สี่มุมทอง" จะมีอาคารเตี้ยๆตั้งไว้ด้านหน้าอาคารรูปเกือกม้าอีกที

คล้ายๆประตูกลายๆ แต่ว่าแบ่งส่วนเป็นที่พักอาศัยได้ด้วย

การแบ่งส่วนการใช้งานของตัวบ้าน เมื่อเข้ามาจะเจอลานอยู่ตรงกลาง ห้องใหญ่ตรงกลางบ้านใช้เป็นห้องรับแขก ด้านหลังห้องรับแขกมักตั้งที่บูชาบรรพบุรษ สองข้างห้องรับแขกจะเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ใหญ่ในบ้าน ด้านหน้าเรื่อยไปที่เป็นจะเป็นที่อยู่ของบุตรหลาน เรื่อยไปจนบริวาร

ปรกติบ้านแบบนี้จะไม่นิยมสร้างหน้าต่างหันสู่นอกบ้าน หากจะทำไว้ในบ้าน คติว่าเพื่อเก็บเงินไม่ให้รั่วไหล

ต่อไปนี้คือรูปผังบ้านและหน้าตาบ้าน

ที่มามาจากเว็ปไซด์นี้ http://www.cyxxg.com/csfq/csfs/031018281792_2.html



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 พ.ย. 11, 23:31

และต่อไปนี้คือการวางผังอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ยังจัดอยู่ในตระกูล "สี่มุมทอง" อยู่




บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง