เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
อ่าน: 34257 กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 14:53

ออกขุนเอามาแต่อีจู้  แล้วป้ากะปู่หายไปไหนล่ะ  หรือว่าอพยพหนีน้ำท่วมยังหาทางกลับบ้านไม่ได้
 ยิงฟันยิ้ม

ก่อนจะไปเรื่องอื่น  มีสหายฝากถามมาว่า  มีดซุย มีหน้าตารูปร่างสัณฐานอย่างไร ฮืม
ใครก็ได้ช่วยอธิบายและหาภาพมีดซุยมาให้ชมเป็นที่ชื่นใจสักหน่อย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 15:36

ออกขุนเอามาแต่อีจู้  แล้วป้ากะปู่หายไปไหนล่ะ  หรือว่าอพยพหนีน้ำท่วมยังหาทางกลับบ้านไม่ได้
 ยิงฟันยิ้ม

ก่อนจะไปเรื่องอื่น  มีสหายฝากถามมาว่า  มีดซุย มีหน้าตารูปร่างสัณฐานอย่างไร ฮืม
ใครก็ได้ช่วยอธิบายและหาภาพมีดซุยมาให้ชมเป็นที่ชื่นใจสักหน่อย

ป้ากับปู่ มัวแต่กู้อีจู้ เลยไม่ได้มาครับ  ยิ้มเท่ห์

•มีดซุย
มีดซุยคือมีดพกประจำตัวที่ชายหนุ่มมักพกติดตัวอยู่เสมอ คำว่าซุย หมายถึงแทงหรือผลักดันหรือแทงซ้ำ ดังนั้นจากศัพท์แล้วจึงเห็นว่าเป็นมีดพกที่ใช้เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการ ต่อสู้ในระยะประชิดคล้ายกับกริชหรือมีดพก

มีดซุย เป็นมีดปลายแหลม มักมีขนาดยาวประมาณ ๖ นิ้ว และกว้างประมาณ ๑ นิ้ว ส่วนด้ามอาจใช้ไม้ไผ่หรือไม้จิงทำก็ได้ หรือบางคนที่พิถีพิถันใช้เขากวางหรืองาช้างหรือกระดูกสัตว์ทำด้ามก็สวยงาม ตามรสนิยม

มีดซุย ซึ่งเป็นมีดพกนี้มักจะมีฝักมีดด้วย การทำฝักมีดดังกล่าวใช้ไม้ไผ่หรือไม้จิงมาเหลาให้ได้ขนาดกว้างและยาวกว่าตัว มีดเล็กน้อย แล้วผ่าไม้นั้นให้เป็นสองซีกให้มีขนาดเท่ากันเจาะด้านในให้เท่ากับตัวมีด ทั้งความยาว ความหนาและความใหญ่ เมื่อเจาะแล้วนำมาประกบกันและรัดด้วยหวายถักปอบห้า คือปลอกรัดสัก ๓ แห่ง

มีดซุยเป็นอาวุธประจำตัว ใช้พกติดตัวไปในที่คิดว่าจะมีอันตราย หรือพกพาติดตัวไปในเวลากลางคืน โดยเสียบไว้ที่เอว นอกจากเป็นมีดประดับที่มีไว้เพื่อป้องกันตัวแล้วยังใช้ปอกผลไม้และหั่นซอย วัตถุที่ไม่ใหญ่นักได้อีกด้วย


เครื่องมือมีดล้านนา


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 17:12

ดีครับ  ออกขุนสยาม


จะเล่าเรื่องแครง หรือ ตะแครง  เป็นเครื่องใช้ชาวสวนใช้ตักน้ำในท้องร่องสวน
รดน้ำต้นไม้ 

แครงนั้น  ปัจจุบัน มีขายตามร้าน  ลักษณะเป็นโลหะทรงกระบอกปากผายเล็กน้อย
คล้ายหม้อปรุงอาหารที่มีด้ามจับ   น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม
มีที่สอดด้ามไม้พร้อมในตัว  เมื่อซื้อมาแล้ว ก็หาไม้ไผ่ขนาดกำลังดี
ยาวสักวาเศษ มาสอดเข้าไปให้แน่นก็ใส่การได้

แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน  ไม่มีแครงสำเร็จขายอย่างนี้
ชาวบ้านจะใช้สิ่งของใกล้ตัวมาทำแครงไว้ใช้ต่างๆ กันไป
เช่นบางบ้านเอากระป๋องนมผงเด็กอ่อนมาผูกกับไม้ไผ่มีง่ามด้วยลวดเส้นเล็ก
ก็ใช้ได้ดี  แต่กระป๋องนมผงจะเป็นสนิมผุเร็ว
บางบ้านใช้หม้อแกงเก่าๆ ที่บุบหรือมีรูรั่วเล็กๆ (ถ้าไม่อยากปะใช้การต่อ)
ก็เอามาผูกต่อไม้ไผ่มีง่ามทำเป็นแครงใช้ได้  ทั้งนี้ควรเลือกหม้อใบไม่ใหญ่มาก
เวลาจ้วงตักน้ำจะได้ไม่หนักมาก  บางบ้านลงทุนหน่อย
ก็ไปซื้อกกระป๋องสแตนเลสตักน้ำใบเล็ก ที่จุน้ำได้ ๑ ขันพลาสติกขนาดใหญ่
มาถอดเอาหูกระป๋องออก  เจาะรูร้อยลวดผูกยึดกระป๋องกับไม้ไผ่มีง่าม
เท่านี้ก็ได้แครงไว้ใช้ตักน้ำรดต้นไม้ หรือจะวิดน้ำสาดต้นไม้ก็ได้

บางคนสงสัยว่า  ทำไมต้องใช้แครงตักน้ำรดต้นไม้  ก็ในเมื่อสวนมีท้องร่องน้ำอยู่รอบๆ
ให้ต้นไม้เอารากดูดน้ำเองก็ได้นี่ หรือไม่ก็เอาถังน้ำไปจ้วงตักรดก็ได้ 
หรือถ้าให้ดีก็เอาเรือใส่เครื่องสูบน้ำล่องลงท้องร่องสูบน้ำรด จะไม่ดีกว่าหรือ

ก็อธิบายดังนี้  ท้องร่องสวนนั้น  ไม่ได้มีน้ำเต็มเพียบสวนเสมอตลอดเวลา
อีกทั้งข้างตลิ่งสวนก็มักจะลื่น  จะก้มเอื้อมเอาถังตักน้ำรดต้นไม้คงไม่ทันกิน
แถมจะลื่นตกน้ำ  หรือไม่ก็ปวดเมื่อยเปล่าๆ  ถ้าใช้แครง ถึงน้ำในท้องร่อง
จะลดลงไปเท่าไรก็สามารถใช้แครงตักน้ำขึ้นมารดต้นไม้ได้  โดยไม่ต้องก้มเอื้อมลงไปตักน้ำ
การรดน้ำต้นไม้ต้องพิจารณาขนาดต้นไม้  ต้นไม้ใหญ่ต้องรดน้ำหลายแครงให้ชุ่ม
ต้นไม้เล็กต้องค่อยๆ รด ห้ามสาดน้ำแรง เพราะดินโคนต้นจะกระจายหายหมด
ยิ่งใส่ปุ๋ยด้วย  ปุ๋ยจะกระเด็นหายหมด 

การรดน้ำด้วยแครง  ถ้าตักรดธรรมดา ก็ไม่มีปัญหา ทำไม่ยาก
แต่ถ้าตักน้ำรดแบบสาด  หรือสาดพุ่มยอดไม้  ต้องใช้แรงกำลังแขนมาก
เพราะต้องยกแครงสูงเพื่อให้น้ำกระจายกว้าง หรือให้น้ำลงตรงจุดที่ต้องการ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  สำหรับในสวนที่มีต้นไม้สูงๆ หรือไม้พุ่มปลูกเกะกะ
ถ้าใช้แครงวิดตักไม่ดี  ด้ามแครงอาจจะไปขัดกับกิ่งไม้วัดคนถือแครงตกท้องร่องได้
คนที่ใช้แครงตักน้ำรดหรือสาดต้นไม้บ่อยๆ แขนจะแข็งแรง  คนที่ไม่เคยใช้แครง
เมื่อใช้แครงใหม่ๆ อาจจะปวดแขนปวดไหล่เวลานอนกลางคืน

แครงยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก  เช่น ใช้สอยไม้ผล
ใช้ตักโคลนเลนในท้องร่องโปะที่โคนต้นไม้ เพื่อให้เป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้
ใช้ใส่ของยื่นส่งข้ามท้องร่องสวน  เป็นต้น

ส่วนการใช้เครื่องสูบน้ำรดต้นไม้นั้น มีข้อเสียคือ  น้ำที่ออกจากเครื่องสูบ
มีปริมาณมาก  และแรง  น้ำจะไปพาดินโคนต้นไม้ไหลลงท้องร่อง  ทำให้ท้องร่องตื้นเร็ว
ต้นไม้เล็กจะถูกแรงพัดเสียหายได้

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 11:25

เครื่องใช้ของชาวสวนอีกอย่างหนึ่ง ที่ใช้วิดน้ำรดต้นไม้ คือ หนาด

หนาด  ทำด้วยไม้ไผ่  ตัวหนาดที่ใช้ตักวิดน้ำนั้น  สานด้วยตอกเส้นใหญ่
มีกระพุ้งก้นหนาดค่อนมาทางด้ามจับ  ปากขอบหนาดจะมอบขอบด้วยไม้ไผ่ดัดเป็นวงรีรูปไข่
มัดด้วยเส้นหวาย  มีด้ามไม้ไผ่ผูกตรงปากหนาดยาวประมาณ ๒-๓ เมตร
หนาดนี้มีน้ำหนักเบากว่าแครงมาก  แต่ใช้ตักน้ำอย่างแครงไม่ได้  
เพราะน้ำจะรั่วออกตามช่องเส้นตอกที่สานหนาด  จึงต้องใช้วิดน้ำจากท้องร่องสาดต้นไม้
การใช้หนาดต้องจ้วงหนาดลงน้ำเร็วๆ แล้วรีบยกขึ้นสาด  เพื่อไม่ให้น้ำรั่วออกหมด
ถ้าสาดใกล้ๆ ก็ไม่ต้องยกหน้าสูง  แต่ต้องสาดน้ำรดต้นไม้ไกลหน่อยก็ยกหนาดให้สูงขึ้น

ปกติการใช้หนาดรดน้ำต้นไม้  เมื่อสูบน้ำเข้ามาในท้องร่องสวนจนเต็มเพียบ
หากน้ำในท้องร่องไม่เต็มเพียบ  จะต้องใช้หนาดไม่สะดวก  จะต้องจ้วงลงไปตักน้ำมาก
ทำให้ต้องออกแรงมาก  และไม่สะดวก  เมื่อน้ำเต็มเพียบท้องร่องแล้ว
ก็จับหนาดวิดน้ำสาดรดต้นไม้ได้  โดยคนรดน้ำจะต้องเดินและยืนที่ริมตลิ่งเพื่อจ้วงตักน้ำสะดวก
ยืนให้มั่นคงขระรดน้ำ  เพราะน้ำที่เพียบตลิ่ง  จะทำให้ดินริมท้องร่องนิ่มและลื่นมาก
ถ้ายืนไม่ดีก็อาจจะลื่นตกท้องร่องป๋อมแป๋ม  เมื่อยืนได้ที่ก็จับหนาดให้มั่นคง
จ้วงน้ำ ไม่ต้องจ้วงน้ำลึกนัก เอาแค่ครึ่งหนาดก็พอ  จะได้ยกหนาดสาดได้ไว ไม่หนักแรง
แล้ววิดน้ำสาดขึ้นรดต้นไม้เร็ว  การรดน้ำด้วยหนาดมักทำกันสวนผัก  เพราะสะดวก
ในสวนที่มีไม้ยืนต้น  ก็ใช้หนาดได้ แต่อาจจะเกะกะบ้าง หากปลูกไม้ไว้ริมตลิ่งด้วย

การเดินรดน้ำต้นไม้ด้วยหนาด  สามารถเดินหน้าหรือถอยหลังก็ได้  ตามสะดวก
ถ้าเดินหน้า จะต้องเหยียบดินที่รดน้ำเปียกแล้ว  จะทำให้ลื่นและเลอะ  
แต่ถ้าถอยหลังรด ก็จะไม่เปื้อนไม่ลื่น  แต่ต้องถอยให้ดี  
เพราะอาจจะพลาดตกท้องร่องลงไปงมกุ้งได้
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 12:04

ทั้ง กะโซ้ แครง และ หนาด ใช้ตักน้ำในร่องสวนรดต้นไม้ เหมือนกัน...
ทำไมต้องมีตั้ง 3 อย่างคะ ... มันต้องมีความต่างกันสิ เน้อ....ต่างกันตรงไหนคะ..
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 12:11

มีสหายคนหนึ่ง  เปรยๆ ขึ้นมาว่า  ชาวสวนแต่ก่อน ไม่มีเตาแก๊สเตาไฟฟ้าใช้
ต้องใช้เตาฟืนเตาถ่าน  อยากให้คุณหลวงเล่าเรื่องฟืนและเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารของชาวสวน  

เอาชาวสวนแถวๆ บ้านผมเป็นกรณีศึกษาก็แล้วกัน
ชาวสวนแถวบ้านผมนั้น มีต้นไม้ให้เก็บใช้เป็นฟืนเชื้อเพลิงมากมาย
แค่ต้นมะพร้าวอย่างเดียวก็มีฟืนใช้เหลือเฟือ

ส่วนของต้นมะพร้าวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นั้น  โดยทั่วไปคงนึกถึงกาบมะพร้าวแห้งๆ
หรือกะลามะพร้าวที่เหลือจากการขูดมะพร้าวคั้นกระทิแล้ว
แต่ที่จริง  ทางมะพร้าวแห้งๆ ก็เก็บเอามาทอนเป็นฟืนใช้ได้ทั้งทาง
ตะโหงกทางมะพร้าว สามารถผ่าเป็นฟืนได้หลายท่อน  

ใบมะพร้าวแห้ง  ก็ลิดออกจากทางมัดให้ดี  ใบมะพร้าวใบใหญ่ๆ ช่วงยาวๆเอาไว้มุงจาก
ใบเรียวเล็กๆ เอาไปเป็นเชื้อเพลิงตอนจุดไฟในเตา  บางบ้านมีใบมะพร้าวแห้ง
มัดเก็บไว้ไต้ถุนเป็นสิบๆ มัดทีเดียว

ทางมะพร้าวถ้าลิดใบออกหมดแล้ว  แต่ทางยังไม่แห้งสนิทดี  
จะเอาพิงพาดไว้ตามต้นไม้ใหญ่ๆ จนกว่าจะแห้งจึงเอามีดโต้มาทอนรอนเป็นท่อนๆ

รกมะพร้าว  เก็บเอามาใช้เป็นเชื้อไฟตอนจุดเตาไฟก็ดี
รกมะพร้าวนี่  คนรับจ้างขึ้นมะพร้าวมักจะรื้อล้างให้คอมะพร้าวสะอาดทุกครั้งที่ขึ้น
เพื่อไม่ให้หนูหรือกระรอกมาอาศัยอยู่  (บางทีก็มีงูมาศัยเหมือนกัน)
แต่บางทีก็ต้องจ้างคนมาล้างคอมะพร้าวเหมือนกัน  เพราะคนขึ้นมะพร้าวเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยล้างให้
รกมะพร้าวยังมีประโยชน์อื่นอีก  คือให้แทนผ้ากรองของเหลวได้

จั่นมะพร้าวแห้ง  หางหนู กาบเฉียง ก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หมด
อีกอย่างซึ่งเอาใช้เป็นฟืนได้  คือลูกมะพร้าวอ่อนที่หนูหรือกระรอก
เจาะกินเนื้อในจนเป็นรูแล้วหล่นลงมาที่พื้น  เอาผ่าครึ่งโดยยังเหลือเปลือกติดกันบางส่วน
ร้อยเป็นพวงผูกกับต้นไม้ ตากไว้ให้แห้ง  เมื่อจะใช้เอามีดสับให้ชิ้นเล็กลง
ใช้เตาได้  ไฟแรงดีเหมือนกัน

กะลามะพร้าว  ให้ไฟแรงดี  แต่ติดตรงที่มีเขม่า ทำให้หม้อกระทะดำ  ขัดยาก
จึงมักเอาไปเผาถ่านมากกว่า   แต่เผาถ่านมะพร้าวก็ต้องระวังเนื่องจากไฟจะลุกกลายเป็นขี้เถ้าหมด
ถ้าทำไม่ดี  การเผาถ่านกะลามะพร้าว  มักใช้ถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร เป็นที่เผา
เมื่อไฟลุกกะลาดีก็เอากระสอบชุบน้ำโชกปิดลงไปให้หนาๆ เท่านี้ก็ได้ถ่านใช้
หรือจะเผาถ่านอย่างเผาถ่านไม้ทั่วไปก็ได้  แต่ต้องมั่นเดินดู

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 12:22

ทั้ง กะโซ้ แครง และ หนาด ใช้ตักน้ำในร่องสวนรดต้นไม้ เหมือนกัน...
ทำไมต้องมีตั้ง 3 อย่างคะ ... มันต้องมีความต่างกันสิ เน้อ....ต่างกันตรงไหนคะ..

ผมไม่เคยเห้นและไม่เคยใช้กะโซ้ตักน้ำรดน้ำต้นไม้ 
เคยใช้และเคยเห็นชาวสวนเขาใช้ตักโคลนเลนขึ้นหลังร่องสวน
แม้ว่ามันจะมีลักษณะคล้ายโชงโลง  แต่ลักษณะการใช้งานต่างกัน

กะโซ้  ทำด้วยโลหะไม่เป็นสนิม  ด้ามไม้ไผ่  ไม่ต้องมีขาหยั่ง
ส่วนโชงโลง  ทำด้วยตอกไม้ไผ่สาน  มีขนาดใหญ่กว่ากะโซ้ มีขาหยั่ง ผูกกับโชงโลง
ใช้วิดน้ำจากลำประโดงเข้าท้องนา 

แครงนั้นเป็นโลหะไว้ใช้ตักน้ำรดต้นไม้ไกลๆ หรือต้นไม้เล็กๆ หรือต้นไม้ที่เพิ่งปลูก เพิ่งตั้งต้น แต่จะใช้วิดสาดก็ได้ 
ส่วนหนาดใช้วิดสาดอย่างเดียว  ตักน้ำไม่ได้รั่วออกหมด  และใช้ได้สะดวกเมื่อน้ำเพียบท้องร่อง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:47

การรดน้ำผักในปัจจุบัน สะดวก รวดเร็วมาก ใช้เครื่องยนต์สูบน้ำพ่นผ่านท่อพีวีซี


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 24 พ.ย. 11, 12:15

การใช้เครื่องสูบน้ำใส่เครื่องลากรดต้นไม้ในท้องร่องนั้น   นิยมใช้กันในสวนผักหรือสวนไม้ผล
ที่มีพื้นที่กว้างมากๆ เป็นหลายไร่  จะเดินรดน้ำด้วยแครงหนาดคงจะใช้เวลานาน
ยิ่งเป็นสวนผักต้องใช้รดน้ำเป็นฝอย  สาดแรงๆ ไม่ได้  ผักช้ำ ผักล้มหมด  ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ


แต่ถ้าเป็นร่องสวนขนาดไม่กว้างมาก  ท้องร่องไม่ยาวนัก  ต้นไม้ไม่ได้ปลูกหนาแน่น
เดินรดน้ำด้วยหนาดด้วยแครงก็ประหยัดเงินดี  แถมได้ออกกำลังกายด้วย


เรือรดน้ำต้นไม้ในร่องสวน  เป็นเรือลำเล็ก ยาว ๑ ๑/๒ - ๒ เมตร  แต่ก่อนเป็นเรือไม้
เดี๋ยวนี้เป็นเรือเหล็ก เรือพลาสติกไฟเบอร์  ถ้าเป็นเรือไม้  เขาจะทำช่องหัวเรือ ติดตะแกรง
ให้น้ำรอดขึ้นมาในเรือ แล้วเอาท่อสูบน้ำวางลงไปเพื่อสูบน้ำเข้าเครื่องสูบน้ำ
เรือสูบน้ำรดต้นไม้นี้  ถ้าใช้กับสวนผักอย่างในภาพข้างบน  มีตลิ่งชานท้องร่อง
พอเดินลากเรือได้  แต่บางไม้ผลบางอย่าง  มีพุ่มไม้เกะกะ  เดินลากเรืออย่างนี้ไม่สะดวก
หรือสวนอย่างสวนพลู ซึ่งจะปลูกค้างพลูใกล้ตลิ่งมาก  เดินลากเรือไม่สะดวก
ชาวสวนต้องลงท้องร่องรุนเรือรดน้ำแทน   เรือรดน้ำนี้  ยังใช้เป็นเรือพ่นยาฆ่าแมลง หรือฉีดรดปุ๋ยได้ด้วย
และเรือรดน้ำนี้  ยังสามารถใช้พายออกหาปลาได้ด้วย  ใช้สัญจรไปมาก็ได้
อย่างน้ำท่วมมากอย่างนี้  ชาวสวนที่มีเรือรดน้ำ  จึงมักไม่กังวลเรื่องหาซื้อเรือมาใช้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 20 คำสั่ง