เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
อ่าน: 34254 กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:09

ผลหมาก ที่นิยมใช้รับประทานในเมืองไทย  เป็นหมากลูกใหญ่ที่เนื้อข้างในยังอ่อน แต่หน้าเต็มดี
ถ้าหมากอ่อนเกินไป เก็บไม่ได้ที่แล้ว หน้าจะโบ๋  เรียกว่า หมากหน้าไม่เต็ม  ราคาจะตก
วิธีการดูหมากว่าหมากทะลายไหนเก็บได้ไม่ได้นั้น  คนรับซื้อหมาก  จะให้คนรับจ้างขึ้นหมาก
ปีนขึ้นไปบนต้น  เมื่อถึงทะลายหมาก จะเด็ดหมากออกมา ๑ - ๒ ผล เอามีดตะขอผ่าครึ่งลูก
เพื่อจะดูว่าหมากหน้าเต็มดีหรือไม่  เนื้อหมากแดงหรือขาวซีด  หมากที่ไม่แดง  ออกขาวซีดราคาจะตก
บางทีเห็นหมากลูกเขียว แต่เนื้อข้างในแข็ง เป็นหมากสง  ราคาก็จะตกเหมือนกัน
เพราะเป็นหมากสง คนมักไม่ค่อยรับประทานกัน เพราะแข็ง เคี้ยวยาก เป็นเสี้ยนด้วย  
ดีไม่ดีเจอหมากยันอีกต่างหาก

เมื่อคนรับจ้างปีนต้นหมากผ่าหมากออกดูแล้ว จะเอาหมากนั้นโยนลงมาให้คนรับซื้อหมากดูว่าใช้ได้หรือไม่
ถ้าใช้ได้ก็เอามีดตะขอตัดหมากลงมาทั้งทะลายถือลงมาวางกับพื้นอย่างนิ่มนวล  โยนลงมาไม่ได้
เพราะหมากจะหลุดกระจัดกระจายเก็บยาก  หมากที่ผ่าครึ่งผลดูเนื้อในนั้น  เรียกว่า หน้าหมาก
เวลานับผลหมากเพื่อคิดเงิน  เจ้าของสวนจะไม่คิดหน้าหมากรวมด้วย  
แต่จะเก็บหน้าหมากไว้ไปให้คนเฒ่าคนแก่ที่กินหมาก  หรือบางทีก็ก็ให้คนรับซื้อไปทำหมากตากแห้งด้วยก็มี

การปีนต้นหมาก  ยากกว่าปีนต้นมะพร้าว  เพราะหมากต้นเล็ก  ต้นลื่น  และสูงมาก  หากปลูกมานานๆ
คนปีนหมากจะต้องใช้ผ้าหรือกระสอบทำเป็นวงกลม แล้วบิดเป็นเลข 8 เอาเท้า ๒ ข้างสอดให้ผ้าหรือกระสอบนั้น
อยู่ที่ฝ่าเท้าแล้วจึงปีนขึ้นไป  ผ้านั้นจะช่วยไม่ให้เท้าทั้งสองแยกจากกันและขัดไว้ผิวต้นหมาก ทำให้ปีนง่ายขึ้น
ปีนต้นมะพร้าวก็เหมือนกัน

เมื่อขึ้นหมากต้นหนึ่งเสร็จแล้ว  หากเป็นสวนหมากที่ปลุกหมากชิดกัน  คนปีนหมากไม่ต้องลงจากต้นเพื่อปีนขึ้นต้นใหม่
เขาจะโยกยอดต้นหมากที่ปีนอยู่นั้นให้โน้มไปหาอีกต้นที่อยู่ใกล้กันกันแล้วเหนี่ยวยอดข้ามไปอยู่ที่ยอดต้นหมากต้นต่อไป
การทำอย่างนี้  เรียกว่า  การตีต้นหมาก  โดยมาก คนที่ทำเช่นนี้ได้ต้องชำนาญมาก  น้ำหนักตัวเบา  
ซึ่งเท่าที่เห็นจะเป็นพวกเด็กหนุ่มๆ คนปีนหมากที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ค่อยกล้า  กลัวตก   และที่สำคัญ
ต้องเป็นสวนหมากที่ปลูกเว้นระยะต้นหมากไม่ห่างกัน (ในระยะ ๒ - ๒ ๑/๒ เมตร) ท้องร่องไม่กว้างนัก
จึงจะตีต้นหมากได้  บางสวนปลูกหมากชิดๆ กัน  คนปีนหมากอาจจะขึ้นได้ ๑๐ กว่าต้น โดยไม่ลงจากต้นก็ได้



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:13

เมื่อคุณหลวงเลี้ยงปลาแรดเสร็จแล้ว ขอนำเสนอประโยชน์จากกาบหมากคือ "ขี้เถ้าจากกาบหมาก"

๑. นำขี้เถ้าจากาบหมาก ผสมการบูร ดื่มแก้ท้องเสียได้ดีครับ

๒. นำขี้เถ้ากาบหมากนวดกับข้าวสุก สำหรับติดหน้าหนังเครื่องตนตรีไทย เช่น ตะโพน เปิงมาง จะให้เสียงที่ดังกังวาน ถ้าจะให้ดีต้องใช้ทางมะพร้าวครับ

ดีมากครับ  นี่ก็ประโยชน์อย่างสำคัญที่คนทั่วไปไม่รู้ ขี้เถ้ากาบหมากละเอียดดีเหมือนกัน

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:20

ข้าวห่อกาบหมากค่ะ... ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:22

หมากทั้งทะลาย สุกใช้ได้พร้อมกันหรือคะ...
แล้วทำไม ไม่ฝึกลิงเก็บหมาก แบบฝึกลิงเก็บมะพร้าว...
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:39

คนรับจ้างปีนต้นหมาก  มักจะรับจ้างขึ้นต้นมะพร้าวด้วย
พอถึงฤดูขึ้นขึ้นหมากขึ้นมะพร้าวในช่วงหมากมะพร้าวชุกชุม  
แทบจะต้องจัดคิวจองตัวกันทีเดียว  

หมากที่เก็บส่งขายต่างประเทศนั้น  หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า
เขาเก็บหมากอ่อนผลเล็กเท่าหัวแม่มือเท่านั้น  ส่งออกไปขาย
และไม่ได้ส่งขายเป็นทะลาย  แต่ต้องมาตัดออกเป็นลูกๆ
ล้างให้สะอาด  ตัดแต่งให้สวยงาม  คัดเลือกลูกที่ไม่ได้ขนาดออก
(เล้กเกินไป ใหญ่เกินไปไม่เอา)  ใส่ตะกร้าพลาสติก ปิดอย่างดี
ส่งขึ้นเครื่องบิน ลงเรือไปขายต่างประเทศที่รับประทานหมาก เช่นไต้หวัน
อินโดนีเซีย  อินเดีย เป็นต้น

การนับหมากเมื่อเอาลงมาเป็นทะลายจากต้นแล้ว เป็นงานที่หน้าปวดหัวมาก
คนนับต้องมีสมาธิดีๆ  เพราะหมากลูกเล็ก และแต่ละทะลายจะมีเป็นร้อยๆ ลูก
เวลานับ  จะนับหมาก ๕ ลูก เป็น ๑ มือ  นับอย่างนี้ไปจนครบ ๑๐๐ มือ
ก็จะหากิ่งไม้ หรืออะไรก็ตามแต่  มาถือเอาไว้  แล้วนับต่อไป เมื่อได้กี่ร้อยมือก็ตาม
ตอนที่คิดเงิน  คนรับซื้อจะบอกเองว่า ขอแถมหมากร้อยละกี่มือ
หรือบางทีก็บอกไว้ตั้งแต่ก่อนนับเลยว่า  ๑๐๐ มือ แถม ๕ มือ เป็นต้น
คนนับจะได้นับแถมไปเลย หรือจะมาหักแถมกันตอนหลังนับเสร็จก็ได้ เหมือนกัน

ส่วนคนรับจ้างขึ้นต้นหมาก  จะต้องนับจำนวนต้นที่ตนเองได้ขึ้นไว้ด้วย
คนขึ้นหมากแต่ละคนมีการจดจำนวนต้นหมากที่ขึ้นต่างๆ กันไป  
(แต่ไม่ใช่เอากระดาษปากกามาจดหรอก  เพราะเกะกะเสียเวลา พกพาไม่สะดวก)
เท่าที่เคยเห็น  บางคนเอาลูกหมากมาบากที่ผิวด้วยมีดตะขอเก็บหมาก
เป็นริ้วเล็กๆ ขึ้นตนหนึ่งก็บากริ้วหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะหมดลูกหรือหมดสวน

ถ้าบากเป็นริ้วหมดลูกแล้วยังขึ้นปีนเก็บหมากไม่หมดสวน ก็บากลูกใหม่ต่อไป
ลูกเก่าก็เก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง จากนั้น  เขาจะมานับรอยบากเมื่อขึ้นหมดทั้งสวน
เพื่อคิดค่าขึ้นจากคนว่าจ้าง  โดยมากตกราคาค่าจ้างขึ้นหมากต้นละ ๔-๕ บาทเป็นอย่างต่ำ

บางคนก็ตัดหางทางมะพร้าวให้สั้นกว่าแขนเล็กน้อย  ตัดใบมะพร้าวให้สั้นเหลือสัก ๑๐ ซม.เศษ
แล้วเหน็บหางทางมะพร้าวนั้นไว้ที่ข้างหลัง  เมื่อขึ้นหมาก ๑ ต้นก็ตัดใบมะพร้าวให้สั้นครึ่งหนึ่งลง ๑ ใบ
ทำอย่างนี้ไปจนหมดสวน  คนขึ้นหมากแต่ละคนต้องนับต้นที่ตนเองขึ้นเก็บ  ไม่มีใครนับให้
เป็นวิธีง่ายๆ ที่ชาวสวนยังทำอยู่ทุกวันนี้  (ขึ้นมะพร้าวก็มักใช้วิธีนับต้นอย่างนี้เหมือนกัน)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 16:55

หมากทั้งทะลาย สุกใช้ได้พร้อมกันหรือคะ...
แล้วทำไม ไม่ฝึกลิงเก็บหมาก แบบฝึกลิงเก็บมะพร้าว...

ข้าวห่อกาบหมากก็เคยเห็นเหมือนกันสะดวกดี  ใช้เสร็จแล้วล้างไว้ใช้อีกก็ได้
แต่ต้องเป็นกับข้าวแห้ง  กับข้าวมีน้ำใช้ไม่ได้ 

คุณดีดี พูดถึงกาบหมากใช้ห่ออาหารทำให้นึกถึงสุนทรภู่ขึ้นมา
อยากรู้ใช่ไหมว่าทำไมผมนึกถึงสุนทรภู่  ตอนนี้ยังไม่เฉลย ให้ทุกท่านช่วยกันคาดคะเนว่า
สุนทรภู่มาเกี่ยวอะไรกับกาบหมาก ฮืม ยิงฟันยิ้ม ยิ้ม

หมากทั้งทะลาย  จะแก่พอดีหน้าเต็มใช้ได้ พร้อมกันเกือบทั้งทะลาย
จะมีหน้าโบ๋บ้างก็เล็กน้อย  บางทีในทะลายเดียวกัน ก็มีทั้งหน้าเต็ม หน้าโบ๋เล็กน้อย
และแก่ (สง) บ้างเหมือนกัน  แต่มีไม่มาก 

หมากที่สุก เปลือกจะออกเหลืองส้ม  (เรียกว่าสีหมากสุก หรือสีเปลือกหมาก)
เนื้อหมากข้างในแข็ง สามารถใช้เป็นกระสุนยิงหนังสติกได้  คนไม่เอาไปรับประทานหรอกครับ
แต่จะเอาไปทำพันธุ์หมาก หรือเอาไปใช้ต้มย้อมแหได้

ลิงเก็บหมากไม่ได้หรอกครับ  เพราะลิงมันใช้มีดผ่าหมากดูหน้าหมากไม่เป็น
ต้องใช้คนเท่านั้น  แล้วหมากเวลาเอาลงต้องลงทั้งทะลาย ไม่ใช่หมุนบิดปลิดลงอย่างมะพร้าว
ลิงทำไม่ได้แน่  แถมจะวุ่นวาย  หมากกระจายเก็บกันไม่ไหว 
อย่าเอาสัตว์มาทรมานเลย  เดี๋ยวกลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานสัตว์จะมาประท้วงเอาได้นะ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 21:25

คุณดีดี พูดถึงกาบหมากใช้ห่ออาหารทำให้นึกถึงสุนทรภู่ขึ้นมา
อยากรู้ใช่ไหมว่าทำไมผมนึกถึงสุนทรภู่  ตอนนี้ยังไม่เฉลย ให้ทุกท่านช่วยกันคาดคะเนว่า
สุนทรภู่มาเกี่ยวอะไรกับกาบหมาก ฮืม ยิงฟันยิ้ม ยิ้ม


เอ...สงสัยจะถามยากไปกระมัง  เลยไม่มีคนมาช่วยเดา
เพื่อไม่ให้เสียเวลา  ผมเฉลยเลยแล้วกัน

สุนทรภู่เมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้าพระปฐมวงศ์เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท
ที่เมืองสระบุรี  ได้บันทึกไว้เป็นกลอนตอนหนึ่งว่า

๏ บรรดาเพื่อนเตือนตื่นขึ้นเซ็งแซ่  บ้างจอแจจัดการประสานเสียง  
บ้างม้วนเสื่อมัดกระสอบหอบเสบียง  บ้างถุ้งเถียงชิงสัปคับกัน  
บ้างขึ้นบนขนส่งคนข้างล่าง  เสียงโฉ่งฉ่างชามแตกกระแทกขัน  
จนคนบนสัปคับรับไม่ทัน  หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย  
ย่ามกระสอบกรอบแกรบกระไกรกริก  กลักพริกพลิกแพลงตะแคงหงาย  
"กะโปเล" เชือกร้อยขึ้นห้อยท้าย  เมื่อยามร้ายดูงามกว่าชามดิน ฯ  

กะโปเล  เป็นคำภาษาปากที่กร่อนมาจาก กาบปูเล  ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้าน
ใช้เรียกกาบหมากนั่นเอง  ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเรียกกันอยู่ แต่เรียกกันน้อยลงมาก
สุนทรภู่ได้บันทึกหลักฐานภูมิปัญญาคนไทยไว้ไม่ให้สูญหายหลายอย่าง
อย่างการใช้กาบหมาก หรือกาบปูเล หรือกะโปเล เป็นภาชนะใส่อาหาร
ใช้ในระหว่างเดินทางไกลๆ เพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการขนย้าย
ในระหว่างเดินทาง  ถ้าเป็นชามดิน เครื่องกระเบื้อง หรือภาชนะโลหะ
ย่อมตกแตก กระทบจนกระเทาะ หักบิ่น ปากแหว่ง หรือบุบเสียหายได้
แต่กาบปูเลน้ำหนักเบา  หาง่าย  ทนทาน ขนย้ายง่าย  ตกไม่แตก
ย่อมใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ  น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนี้
ไม่ได้เอาภูมิปัญญาอย่างนี้มาต่อยอดใช้กันในปัจจุบัน  
อาจจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกหรือโฟมได้มากทีเดียว


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 21 พ.ย. 11, 22:27


น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนี้
ไม่ได้เอาภูมิปัญญาอย่างนี้มาต่อยอดใช้กันในปัจจุบัน  
อาจจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกหรือโฟมได้มากทีเดียว


มีคนเอามาต่อยอด เป็นจานกาบหมาก สินค้าโอทอป เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วค่ะ... ยิงฟันยิ้ม
ถ้ามีการรณรงค์ ส่งเสริม ให้ใช้แทนกล่องโฟมได้ จะดีมากทีเดียว...



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 06:02



       นึกถึงด.ญ. คนหนึ่งที่ได้รับของฝากจากแม่ที่ไปค้าขายอยู่ฉะเชิงเทรา   หนึ่งในนั้นคือ ทุเรียนห่อกาบหมาก

ห่อเล็ก ๆที่น่าเอ็นดูเพียงขาดใจ  แสดงความรักความคิดถึงของแม่


     ในปีพ.ศ. ๒๔๒๕   รายการขนมต่างๆของไทยที่นำมาแสดงในนิทรรศการสินค้าพื้นเมือง   คุณอ้วนธงชัย ลิขิตพรสวรรค์แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ

ผู้มีสายตาอันยาวไกลในการจัดพิมพ์หนังสือเก่าต่างๆเพื่อต่ออายุ   เล่าว่าทุเรียนกวนสมัยนั้นมาจากนครศรีธรรมราช  ไม่ใช่ที่จันทบุรี  หรืออุตรดิตถ์   

ตามไปอ่านก็นึกชมคุณอ้วนธงชัยในการอ่านละเอียดเป็นอันมาก    หนังสือบอกว่า


       "ราคาซื้อขายที่บ้านคนทำ  แลราคาซื้อขายในเมืองศรีธรรมราชนั้น  ร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง  ร้อยละสองสลึงบ้าง    มาถึงกรุงเทพ ฯ นับจากเรือ

ร้อยละห้าสลึงบ้าง  ร้อยละบาทบ้าง   ราคาซื้อขายตามตลาดมัดละ ๑ อัฐ" (หน้า ๑๕ - ๑๖)

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 09:36

บ้านคุณหลวงเล็กมีร่องสวน ไม่ทราบว่าในร่องสวนมักจะมีปลาอะไรอาศัยหรือครับ...เครื่องมือจับปลาพวก ข้อง เป็ด ไซ อีรุน ยอ เคยได้เล่นผ่านมือบ้างไหมครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 09:41



คุณหนุ่มสยามคะ         เอ...ไม่เคยเห็นยอใช้ในสวน   ถ้าเป็นริมทางน้ำไหลก็ไปอย่าง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 09:48



คุณหนุ่มสยามคะ         เอ...ไม่เคยเห็นยอใช้ในสวน   ถ้าเป็นริมทางน้ำไหลก็ไปอย่าง

 อายจัง มัวแต่ไปนึกถึงที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงที่คุ้นตา  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 10:50



       ขอปาดถามคุณหลวงหรือจารย์เล็กที่นับถือเรื่องเครื่องมือบางอย่างในการทำนา

ขออภัยเป็นอย่างสูงเพราะท่านกำลังเล่าเรื่องสวนอยู่  เห็นจะไม่เสร็จง่าย ๆ

ขืนปล่อยเวลาให้ผ่านไปคนถามก็จะลืมเสีย  เพราะหนังสือและเอกสารเปลี่ยนที่เสมอ


       เรื่อง  หนามวาดข้าว   กระดานชักข้าว  หลัวสาดข้าว  ไม้เกลี่ยข้าว   พอจะถูไถเข้าใจได้

ไม้ทัตทาข้าว  นี่อะไรคะ    หนามวาดข้าวคืออะไร   วาดนี่คือกวาดมารวมกองกระนั้นหรือ


        เรื่องครกกระเดื่อง  ครกมือ   สากมือ  เข้าใจค่ะ    เห็นตะลุมพุกตำข้าว   อึ้งไปชั่วครู่

เปิดพจนานุกรมแดงน้ำเงินเพื่อสอบทาน

น. ๔๔๗
๑   น.  ไม้ท่อนกลม ๆ  มีด้ามคล้ายค้อนแต่ใหญ่กว่ามาก  สำหรับตำข้าว;
         
          ไม้ท่อนเล็กที่มีด้ามสั้น  ตัวสั้น  สำหรับทุบผ้าให้เรียบ,  กระลุมพุกก็ใช้

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 13:08

บ้านคุณหลวงเล็กมีร่องสวน ไม่ทราบว่าในร่องสวนมักจะมีปลาอะไรอาศัยหรือครับ...
เครื่องมือจับปลาพวก ข้อง เป็ด ไซ อีรุน ยอ เคยได้เล่นผ่านมือบ้างไหมครับ  ยิงฟันยิ้ม

ปลาที่อาศัยในท้องร่องท้องสวน มี ๒ อย่าง
คือ ปลาที่อยู่มาแต่เดิมกับสวน อาจจะเป็นปลาที่เจ้าของสวนหาเอามาปล่อยเอง
หรือเป็นปลาที่หลุดเข้ามาเวลาเปิดท่อน้ำเข้าสวน หรือเป็นปลาที่หลงเข้ามา
เมื่อน้ำหลากน้ำท่วม ประเภทหนึ่ง  กับประเภทหนึ่ง คือปลาที่เจ้าของจงใจ
ปล่อยเลี้ยงไว้ในสวน จะเลี้ยงเพื่อจับขายหรือจับกินก็ตามแต่  

ตามร่องสวน  โดยมากมีปลากระดี่เยอะ  โดยเฉพาะท้องร่องโปร่งๆ แดดส่องถึง
นอกจากนี้ ก็มีปลานิล ปลาช่อน ปลาดุกกระดุกกระดิกเอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ
ปลาหมอ (ฝนตกหนักทีไร มันจะออกมาเดินเล่นนอกท้องร่องทุกที ตามจับกันสนุก)
ปลาตะเพียนช่างเวียนช่างแวะ ทั้งหางแดง หางไม่แดง  (ต้องอยู่น้ำสะอาด ไม่มีแหนจอกลอย
ไม่ฉะนั้นจะใจเสาะลอยตายได้  น้ำเสีย น้ำขุ่น เข้าสวนก็จะลอยขึ้นขอความช่วยเหลือ
ที่ผิวน้ำแล้ว  ปลาตะเพียนก้างเยอะ จับได้ ไม่ทอดก็ต้มเค็มเป็นพื้น)
ปลากระดี่ มีทั้งกระดี่หม้อตัวดำๆ เนื้อเยอะดี  กระดี่นางฟ้า ตัวขาว ตัวใหญ่ดี
แต่ทอดแล้วหดเหลือเนื้อนิดเดียว ก้างโผล่  ปลากริม ตัวน้อยๆ น่ารัก
ปลาซิว  พวกนี้ก็น้ำขุ่นไม่ได้  ลอยขึ้นมาเหมือนกัน  ปลาใบไม้ก็มีเหมือนกัน
ปลาแรด  เลี้ยงมาจนตัวโตหลายกิโลกรัม  แกงทีน้ำแกงมันย่อง  เนื้อไม่เหม็นสาบ
เพราะเลี้ยงทั้งอาหารเม็ด ข้าวสุก และผักหญ้า   ปลาแก้มช้ำ  มากับน้ำในคลอง
แก้มปลาสีแดงชมพู สวยดี  เป็นปลาตระกูลเดียวพวกปลาสร้อย  หาดูยากแล้ว
ปลาสร้อย ว่ายกันเป็นหมู่ๆ เกล็ดสะท้อนแสงวับๆ ผุ้ใหญ่เล่าว่า
สมัยก่อน ฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านจะไปดักปลาสร้อยตามคลอง  ได้ทีละมากๆ
เพื่อเอามาทำน้ำปลาใส่ไหไว้กิน   บางสวนอาจจะเลี้ยงปลาชะโด กระโดดตูมทั้งวันทั้งคืน
ยิ่งช่วงวางไข่  จะดุมาก  สุนัขลงว่ายน้ำในสวนยังถูกกัด จนต้องโดดหนีร้องเสียงลั่นทุ่ง
ปลาไหล  มีเมื่อไรต้องกำจัดเพราะจะไชข้างร่องสวนเป็นรู  
ปลากราย ปลาสลาด ก็มีบ้าง  เนื้อขูดทำแกงเขียวหวาน แกงป่ากินดี
จำพวกปลาเข็ม ทั้งมีสี ไม่มีสี ก็มีมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน
ปลากะสง คล้ายปลาช่อน แต่ตัวออกดำและหัวแหลมกว่า ตัวย่อมกว่า
ปลากด  แต่ก่อนก็เคยมี   ปลากระโห้  เคยจับได้ในคลอง เอามาปล่อยในสวน
ตั้งแต่ตัวขนาดเด็กแรกคลอด  จากนั้น ๒-๓ ปี ลอกท้องร่ิองสวน
จับขึ้นมาตัวใหญ่ หนักสัก ๒๐ กิโลกรัมเศษ  ทำกินอยู่หลายวันกว่าจะหมดตัว


ในสวนนั้น เมื่อจับปลา  จะไม่ใช้ยอ  เพราะเกะกะ  เดี๋ยวยกยอไปมา
จะตกท้องร่องกินน้ำอิ่มก่อนได้ปลา  ข้อง หรือตะข้อง นั้นไม่ใช่เครื่องมือจับปลา
แต่เป็นภาชนะที่ใส่ปลาที่จับได้  นี่ก็ไม่ใช้เหมือนกัน ไซ ใช้ดักปลาตรงทางน้ำไหล
มักจะใช้ในนาหรือทางน้ำตื้นๆ มากกว่า ในสวนใช้ยาก เพราะน้ำลึก
อีรุน ก็ใช้ไม่สะดวกเหมือนกัน  ที่ใช้เห็นประจำ  ก็มีเบ็ด ทั้งเบ็ดเดี่ยว
เบ็ดราว เบ็ดปัก    ตาข่าย (ชาวบ้านเรียกข่ายหรือไข่) แหก็มีใช้บ้าง
มักใช้ในบ่อมากกว่า  สวิง  ไว้ตักปลา หรือใช้สวิงปากกว้าง ที่ใช้ไม้ไผ่
ดัดเป็นวงรีทำขอบปากสวิง  ลงท้องร่องไล่ต้อนปลาเข้าสวิง
อวน ใช้ลากปลาทีละมากๆ เวลาจับขาย (เรียกว่า ตีปลา)
ลัน ใช้ดักปลาไหล  มีทั้งที่ใช้ไม้ไผ่มาทะลวงข้อทำเป็นลัน
กับเดี๋ยวนี้ใช้ท่อน้ำพลาสติกสีฟ้าทำ ใช้ได้เหมือนกัน เบาดีด้วย
เวลาไปดัก เอาหอยเชอรี่มาทุบใส่ลงไปสัก ๒-๓ ตัวต่อลัน ๑ ลูก
เอาไปดักตามทางน้ำเวลาเย็น  เช้าๆ ออกไปกู้ขึ้นมาดู  บางทีได้ปลาไหล
บางทีก็ได้งู  บางทีก็ได้ปลาอื่นด้วย  อีจู้  แต่ก่อนมี  ใช้ดักปลาไหลได้
ไม่เคยใช้สักที  ฉมวก นี่ก็ใช้ สุ่มจับปลา  เคยมีแต่ไม่เคยใช้ในสวน
เอาเท่านี้ก่อน  เดี๋ยวไม่ได้เล่าเรื่องอื่นต่อ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 พ.ย. 11, 13:22

ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่เล่าเรื่องปลา น่าสนุกไม่น้อยเลยครับ

แนบภาพอีจู้ ไว้สำหรับจับปลาไหล


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง