เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 34294 กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 02:01

สะพานข้ามท้องร่องนั้น  ชาวสวนมักใช้ไม้สุดแต่จะหาได้ง่ายมาทอดทำเป็นสะพานพอเดินข้ามได้ไม่หัก
มีตั้งแต่ต้นมะพร้าวไปจนท่อเหล็กขนาด ๓ นิ้ว  และมักทอดท่อนเดียว ไม่ค่อยทอดคู่
เว้นแต่ไม้นั้นเล็กเดินยากจึงทอดคู่เพื่อให้เดินสะดวก  หรือทอดไม้คู่กรณีที่ไม้ที่ทอดไว้เดิมเริ่มเก่าผุ

สะพานต้นหมาก  ชาวสวนจะเลือกหมากต้นสูงๆ ซึ่งปีนขึ้นไปเก็บหมากยาก โค่นลงทั้งต้น
โดยก่อนโค่นจะต้องผูกเชือกไว้กลางต้น  ให้สูงสัก  ๕ เมตรขึ้นไป  แล้วเอาปลายเชือกอีกด้านไปผูกไว้
กับต้นไม้อื่นที่อยู่พ้นจากปลายยอดหมากที่จะโค่น  เพื่อเบี่ยงต้นหมากไม่ให้ล้มไปผิดทางฟาดต้นไม้อื่น
หรือถ้าโดนบ้างก็เสียหายน้อยหน่อย  และไม่ไปล้มไปโดนสิ่งก่อสร้างหรือขวางทาง
การล้มต้นหมากสูงๆ ต้องใช้คน ๒ คน  คนหนึ่งคอยดึงเชือกให้หมากล้มตามทิศทางที่ต้องการ
อีกคนเอามีดโต้ฟัน หรือขวานจามไปที่โคนต้นหมาก  คนที่คอยดึงเชือกต้องรั้งดึงต้นหมากตลอดเวลา
ที่คนตัดลงมือตัด  และต้องดูด้วยว่าต้นหมากจะโค่นลงมาหรือยัง  เพื่อจะได้วิ่งหนีให้พ้นรัศมี
ที่ต้นหมากจะล้มลงมา   การโค่นต้นหมาก ๑ ต้น ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ก็เสร็จ
เมื่อล้มหมากได้แล้ว   เอามีดฟันยอดให้ขาดจากต้น   เก็บหมากอ่อนที่พอขายได้เอาไปขายต่อ
ส่วนหมากสงเปลือกเหลืองส้มทิ้งไป  อันที่จริงยอดหมากอ่อนก็สามารถเอาไปต้มกินได้เหมือนยอดมะพร้าว
รสออกหวานเอียนๆ  เอาไปต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริกดีเหมือนกัน  แต่ไม่ค่อยเห็นคนทั่วไปนิยมกินกัน


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 02:02

เมื่อตัดยอดหมากออกเหลือแต่ลำต้นแล้ว   ชาวสวนจะเลือกเอาส่วนโคนลำต้นซึ่งแก่เนื้อไม้แข็งแรง มีเปลือกสีเทา
ปล้องห่าง วัดให้ความยาวพอเหมาะที่จะเอาไปทอดเป็นสะพานข้ามท้องร่องโดยใช้เชือกหรือกะโดยสายตา
ซึ่งมักไม่พลาด   แล้วตัดเป็นท่อนตามต้องการ  แล้วสองคนก็แบกไปทอดที่หัวร่องสวนที่ต้องการจะทอดสะพาน
โดยต้องหาไม้อื่นมาทอดเป็นสะพานชั่วคราวไว้ก่อน  โดยมากเป็นไม้กระดานเพื่อให้เดินแบกต้นหมากได้ง่าย
เมื่อแบกต้นหมากมาถึงหัวร่องสวนที่จะทอดต้นหมากแล้ว  ชาวสวนจะขุดดินตรงที่จะทอดสะพานให้ลึกพอประมาณ
กว้างพอเอาต้นหมากลงได้  เมื่อได่หลุมแล้วก็เอาต้นหมากวางลงไปในหลุม  เอาดินที่ขุดอัดข้างต้นหมากให้แน่น
เท่านี้สะพานต้นหมากก็จะไม่กระดุกกระดิกกลิ้งไปมา  เดินข้ามได้สะดวก


สะพานต้นหมากถ้าใช้ข้างโคนหมากที่แก่  จะมีอายุการใช้งานประมาณ ๑ ปีขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นไม้ที่ใช้ใกล้ยอดขึ้นมาอายุการใช้งานจะน้อยประมาณ ๓ - ๖ เดือน
ต้นหมากเมื่อใช้ไปนานๆ จะผุจากแกนกลางในลำต้น  ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยง
เมื่อแกนกลางเหี่ยว  เนื้อแกนกลางก็หดกลางเป็นช่องกลวง  
เปลือกนอกต้นหมากก็จะมีรอยแตกบ้าง  ถ้าหากแบกของหนักข้ามสะพานหมาก
ก็อาจจะหักหรือแตกได้   ยิ่งเป็นต้นหมากใกล้ยอดด้วยแล้วไม้จะผุเร็วมาก ใช้ได้ไม่นาน
ก็ต้องเปลี่ยนไม้ใหม่
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 02:21

การเดินข้ามสะพานไม้ต้นหมาก หรือไม้อื่นที่มีลักษณะกลม
ชาวสวนจะเดินโดยวางฝ่าเท้าให้ขวางไม้เล็กน้อย ไม่วางเท้าตรงทีเดียว
พยายามทรงตัวให้น้ำหนักให้เที่ยง  แล้วก้าวเดินไปข้างหน้า
โดยก้าวยาวพอประมาณ ไม่รีบรนจนเกินไป เท่านี้ก็สามารถเดินข้ามได้สบาย
ผู้ที่ไม่ถนัดเดินสะพานอย่างนี้  ต้องหาไม้ค้ำช่วยพยุงตัวเวลาเดินข้าม
โดยไม้ค้จะปักลงดินไว้ที่กลางท้องร่อง เมื่อเดินก็จับปลายไม้
โยกไปตามสะพานที่เดิน


ชาวสวนมักไม่ใช้ไม้กระดานมาทอดสะพานข้ามสวนข้ามท้องร่อง
เพราะไม้กระดานเป็นไม้มีค่าใช้ทำบ้านหรือใช้ทำสะพานชั่วคราว
แล้วชักเอาไปล้างเก็บในบ้าน  เนื่องจากไม้กระดานเป็นไม้จริง
มีราคาแพง หายาก และเป็นของมีค่าประจำบ้าน 
จึงไม่เหมาะจะเอาไปทอดทำสะพานตามร่องสวนตากแดดตากฝนเปื้อนโคลนดิน
ชาวสวนจึงหวงแหนไม้กระดานนักหนา  ถึงแก่เก็บไม้กระดานมอบเป็นมรดก
ให้ลูกหลานกันก็มี  สะพานข้ามท้องร่องสวน  ชาวสวนจึงใช้ไม้เท่าที่หาได้
เอามาทอดพอเดินได้เพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น

มีบางสวนเหมือนกันที่จะไม่ทอดสะพานทิ้งไว้
เพราะเกรงว่าคนจะข้ามไปลักเก็บของที่ปลูกไว้
เมื่อใช้งานสะพานเสร็จแล้วก็จะชักสะพานเก็บกลับบ้านก็มี
เมื่อจะข้ามก็แบกไม้มาทอด  สวนเหล่านี้ท้องร่องจะกว้าง
และลึกพอสมควร  เพื่อป้องกันคนกระโดดข้าม
แต่อย่างว่า  ขนาดชักสะพานออก 
ก็ยังไม่วายมีคนเข้าไปลักเก็บของที่เขาปลูกกันได้หน้าตาเฉย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 07:43

คุณหลวงเล็กพยายามมากที่จะหาคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อข่าวให้ทราบ  ยิงฟันยิ้ม

แทรกภาพท้องร่องสวนและการวางสะพานจากลำต้น ต้องเดินให้เร็ว ตัวตรง เท้าขวาง และมีไม้ไผ่ปักรอไว้เพื่อมือจับ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 08:12

ใช่ครับออกขุนหนุ่มสยาม  ผมพยายามหาคอมพิวเตอร์เพื่อแวะมาเรือนไทยให้ได้
แม้เพียงชั่วขณะก็ตาม  ได้ทราบว่า  มีสมาชิกเรือนไทยได้ทราบข่าวคราวของผม
เรื่องมหาอุทกมาโจมตีเคหสถานแตกไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
(แลปัจจุบันนี้  มหาอุทกก็ยังยึดพื้นที่เคหสถานแลโดยรอบอยู่ในระดับต้นขาอ่อน
มาได้หลายเพลาแล้ว  โดยเพิ่มขึ้นและลดลงตามระดับน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละวัน)

หลายท่านได้แสดงความเป็นห่วงใยแก่ผม  ซึ่งผมได้ทราบผ่านสหายท่านหนึ่ง
ได้แจ้งความให้ทราบมาเป็นระยะๆ  ก็รู้สึกชุ่มชื่นใจว่า  หลายท่านยังมีแก่ใจ
เป็นห่วงใยผมในยามที่มวลน้ำมายึดพื้นที่เคหสถานอย่างปัจจุบันทันด่วน
ผมขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วง   

แน่นอนว่า  มหาอุทกที่ทะลักทลายมากระทันหันในวันก่อนวันปล่อยผีของฝรั่งนั้น
ได้ทำอันตรายทรัพย์สินในเคหสถานไปหลายส่วน  โดยเฉพาะหนังสือต่างๆ
และเอกสารที่ผมใช้ในการค้นคว้า  ซึ่งไม่สามารถขนย้ายหนีมหาอุทกได้ทันการณ์
เพียงชั่วเวลาไม่กี่นาที   น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  บ่าเข้าท่วมในเรือนถึงหัวเข่า
หนังสือและเอกสารจ่อมจมไปน้ำถึง ๘ ส่วน ใน ๑๐ ส่วน  โดยการประมาณการ
แม้ว่า ต่อมา ผมจะได้กอบกู้เก็บงมหนังสือและเอกสารขึ้นมาได้บ้าง
(ใช้เวลางมกู้ ๖- ๗ วัน วันละ ๓ ชั่วโมง) ก็หาได้ทรัพย์คืนมาครบถ้วนเท่าเดิมไม่
จำเป็นที่จะต้องทอดทิ้งหนังสือและเอกสารไปเป็นกองพะเนิน
(ตอนนี้ก็ยังกองทิ้งอยู่หลังเรือน  รอน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ  จะได้ทำการฌาปนกิจต่อไป)
ที่งมกู้มาได้  ก็ใช่ว่าจะมีสภาพดังเดิม  หลายเล่มมีสภาพเหมือนทหารผ่านศึก
ที่พิการแขนขาขาด  เป็นโรคต่างๆ นานา  บางเล่มมีสภาพเหมือนศพลอยอืดพองเต็มที่
ต้องประคองอุ้มมาขึ้นขาหยั่งพาดผึ่งไม้ให้ของเหลวไหลตกจนหมด
หนังสือและเอกสารเหล่านี้  คงจะต้องผ่านการพิจารณาสังขารด้วยอสุภกรรมฐานต่อไป
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 08:35

เมื่อวัยเยาว์ แถวบ้านฝั่งธน เป็นสวนผลไม้ทั้งนั้น การข้ามท้องร่องมีอยู่ ๒ วิธี คือเดินข้ามสะพานต้นหมาก หรือไม่ก็กระโดดข้าม เด็ก ๆ จะชอบวิธีหลังมากกว่า

กิจกรรมที่ประทับใจในวัยเยาว์อีกอย่างหนึ่งคือ การวิดท้องร่อง จุดประสงค์คงมี ๒ ประการคือ ลอกเอาโคลนตมขึ้นมาไว้บนร่องสวน อีกอย่างหนึ่งคือจับปลาที่อาศัยอยู่ในท้องร่องสวน ที่พบมากเห็นจะได้แก่ ปลากระดี่ เป็นปลาขาประจำที่พบได้เสมอ  ที่พบแล้วจะดีใจมากคือ ปลาช่อน และ ปลาดุก

การวิดท้องร่อง ก็ทำแบบเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ในปัจจุบัน คือทำคันกั้นน้ำหัวท้ายของท้องร่องในตอนที่เราต้องการวิดน้ำ คันกั้นน้ำไม่ได้ใช้กระสอบทราบแต่เป็นดินเหนียวจากท้องร่องนั่นเอง

จำได้ว่า ชอบกิจกรรมนี้มาก ยืนดูอยู่ครั้งละเป็นชั่วโมง ๆ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 พ.ย. 11, 08:41

ภาพท้องร่องสวนที่ออกขุนสยามนำมาประกอบกระทู้นั้น  ตื้นเขินมาก
พิจารณาจากตลิ่งข้างท้องร่อง  แสดงว่า  ไม่ได้ขุดลอกโคลนเลนขึ้นมาหลายปี
ท้องร่องอย่างนี้  ถ้าเลี้ยงปลา  ปลาก็จะไม่โต 
แต่ถ้าจะขุดลอกท้องร่องสวนขนัดนี้  ก็เห็นจะสิ้นแรงงานไม่ใช่น้อย
เพราะนอกจากใช้กระโซ้ตักโคลนเลนสาดขึ้นหลังร่องสวนแล้ว
(พิจารณาดูแล้ว  ท่าทางหลังร่องจะไม่พอไว้โคลนเลนที่เอาขึ้นเป็นแน่)
ต้องเอาพลั่วแทงดิน  แทงข้างท้องร่องแต่งข้างใหม่ให้เข้ารูป
ถ้าเป็นคนที่รับจ้างลอกท้องร่องสวน  คงจะคิดหนักเหมือนกัน

การวิดท้องร่องนั้น  ทำได้หลายวิธี  บ้างก็สูบน้ำออกหมดทั้งขนัดสวน
บ้างก็กั้นทำนบชั่วคราวไว้บางส่วนแล้วขุดลอกฝั่งที่วิดน้ำแห้ง
เมื่อเสร็จฝั่งหนึ่งก็ทิ้งไว้ให้ดินโคลนหมาดสัก ๑-๒ วัน
แล้วค่อยสูบน้ำอีกฟากที่เหลือมาไว้ฟากที่ทำเสร็จแล้ว  ทำการขุดลอกต่อไป

การสูบน้ำหรือวิดท้องร่อง  ถ้าเป็นแถวบ้านต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีใครยืนดู  ต้องโดดลงไปลงโคลน
สนุกมาก  เพราะจะจับปลาได้เยอะ  เจ้าของสวนจะเอาปลาแจกหรือขาย
และก็จะเก็บไว้ทำพันธุ์ด้วยบางส่วน   นอกจากนี้ก็จะได้หอยขมหอยโข่ง
เอามาทำอาหาร  แกงหอยขมนี่กินดี  แกงหม้อใหญ่ๆ แจกให้ไปดูดหอยขมกันสนุก
ส่วนหอยโข่งเดี๋ยวนี้หาดูยากมาก  แทบไม่เห็นแล้ว  โดนหอยเชอรี่ยึดพื้นที่หมด

ยิ่งตอนนี้  มหาอุทกมาเยี่ยมบ้านหลายวัน  หอยเชอรี่ออกวาดลายฝากไข่หอย
ไว้ตามผนังบ้าน ต้นไม้ เต็มไปหมด   แหม ถ้าไข่หอยกินได้  ก็คงจะดีเหมือนกัน
เยอะจริงๆ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 พ.ย. 11, 09:22

ไข่หอยเชอรี่ สีสวยดี กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ... ยิงฟันยิ้ม
แต่เอามาทำปุ๋ยได้ค่ะ..เคยเห็นในทีวี ตากแห้งแล้วบดผสมกากน้ำตาล..

เคยนึกสงสัยมานานว่า ชาวสวนทำไมต้องเดินข้ามท้องร่องลำบากแบบนั้น
ทำไมไม่ทำสะพานไม้ถาวรแบบโค้งๆ ให้เรือลอดได้
เพิ่งถึงบางอ้อ ด้วยคำอธิบายของคุณหลวงนี่เอง ขอบคุณค่ะ
แล้วสวนของคุณหลวงมีต้นอะไรบ้างคะ....น้ำลดเร็วคงไม่เสียหายมากนะคะ

ต้นไม้ที่บ้าน ที่มีอยู่อย่างละต้น สองต้น แช่น้ำมาเกือบเดือน ต้นมะเฟืองเริ่มใบเหลืองร่วงแล้วค่ะ
มะม่วง มะยม กับมะนาว มีใบร่วงบ้าง แต่ก็ยังดีอยู่ น้อยหน่า กับดาหลา ตายไปเรียบร้อย
ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกระเพรา พริก ว่านต้นเตี้ยๆ จมน้ำมิดเลยค่ะ คงไม่รอด...
น้ำยังอยู่ระดับเอว คงอีกนานกว่าจะลด...
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 พ.ย. 11, 09:35

ไข่หอยเชอรี่ สีสวยดี กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ... ยิงฟันยิ้ม

เนื้อหอยรับประทานได้แต่ควรทำให้สุก เพื่อป้องกันอันตรายจากพยาธิ  

ส่วนไข่หอยคุณดีดีอย่าไปรับประทานเชียว



เห็นสวย ๆ อย่างนี้มีพิษร้ายนักแล

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 06:05



       ฟังว่าที่บ้านคุณดีดีน้ำยังอยู่ในระดับเอว  ใจก็หายแว๊บ   เรื่องต้นไม้เสียดายดาหลาเพราะเวลาปลูกต้องทนุทนอม

และเวลานี้เป็นเวลาออกดอกเสียด้วย  กลิ่นหอมระรื่น    เรื่องพืชผักสวนครัวก็เป็นเรื่องที่ฟื้นกันใหม่ได้


       เรื่องระดับน้ำนี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่  เพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน    เห็นในข่าวว่าชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง สูงไม่เกืน ๑๗๐ ซม.

เมื่อถูกถามว่าน้ำในบ้านสูงเท่าไร   เขาผู้นั้นสับมือขวากับต้นแขนซ้าย(แสดงความสูง)สอง-สามทีแล้วพูดว่า สองเมตร     

ได้ใช้คำถามนี้กับสหายแทบทุกคนด้วยความห่วงใย       สหายรูปร่างสูงสง่าตอบว่าแค่อก   ขึ้นมาถึงคอแล้ว   ตอนนี้ลดไปถึงเอว     

ดิฉันก็ใช้คำถามว่าถึงเอวแล้วหรือกับสหายทั้งหลายต่อมา          ด้วยความหลงลืมของสาวน้อยเผลอถามสหายปากบางเฉียบไปว่า

 "ครึ่งเอวหรือยัง"     สหายสวนว่า "ไม่ทราบสิ    เพราะไม่เคยแบ่งเอวซ้ายขวาสักที"       

       
       บ้านของคุณอาร์ท47 ก็ยังท่วมอยู่และเสียหายมาก     เพราะรถยนต์และมอเตอร์ไซด์จมน้ำมาหลายอาทิตย์แล้ว     

สอบถามแกมสอบสวนว่าไฉนไม่อุ้มมอเตอร์ไซด์ขึ้นชั้นสอง        คุณอาร์ทบอกเรียบ ๆ ว่า บันไดแคบจ้ะ  และไม่อยู่บ้านด้วยวันนั้น

แต่หนังสืออยู่ดี   พงศาวดารจีนบางชุดยังขาดอยู่ไม่ครบชุด  จำจะต้องไปหามาเพิ่มเติม


       ได้ยินว่าคุณหลวงเล็กสามารถเดินออกจากสวน  ขึ้นรถเมล์   ขึ้นรถไฟ(วันแรกเดินมาตามทางรถไฟหลายกิโลเมตร) ออกมา

รักษาสถานที่ทำงานได้อาทิตย์ละหลายวันก็ใจชื้น    เพราะน้ำแห้งเมื่อไรท่านก็คงไปเดินหาหนังสือใหม่เมื่อนั้น         


       ข่าวเรื่องคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณที่คุณเพ็ญชมพูกรุณานำมาเล่า  กระเทือนใจดิฉันมากเพราะเป็น true fan ของคุณเจนภพมานานแล้ว


       พี่สมบัติ  พลายน้อยนั้น  หนังสือสำคัญ ๆ ของท่านอยู่ชั้นบน  ไม่มีใครเคยเห็น  เพราะเคยมีเจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์งาน

ของท่านมาขอยืมไปตรวจสอบ  แล้วก็ไม่คืนกันหลายสิบเล่ม  ท่านเลยเก็บที่เหลือขึ้นข้างบนมานานแล้วค่ะคุณร่วมฤดี


       น้ำท่วมครานี้   นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการหนังสือเก่ามาก  เพราะหนังสืออ้างอิง  และหนังสือสำคัญ ของนักสะสมที่เป็นที่รู้จักดีสูญไปมาก

โรงพิมพ์เล็กๆเสียหายมหาศาล      คนขายหนังสือมือสองก็สูญหนังสือไปทั้งๆที่ป้องกันแล้ว     และไม่มีตลาดที่จะขายต่ออีกหลายเดือนเนื่องจากคนซื้อหนังสือ

มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องจำเป็นอื่นๆก่อน

     
       




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 06:32


รายชื่อเครื่องมือทำนาและราคา  ที่นำมาแสดงในนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย พ.ศ. ๒๔๒๕

หลายอย่างก็ไม่รู้จัก    ขอคำอธิบายจากท่านทั้งปวงด้วยค่ะ



สะเยาะ                               บาทแปดอัฐ

เหลียน                                ๓๒  อัฐ  มีดขนาดใหญ่  ใบมีดแบน ปลายกว้างโคนแคบ  สันหนาและโค้งดุ้งขึ้น  โคนมีดทำ
                                        เป็นบ้องกรือกั่นสดอติดกับไม้ด้ามยาว  ใช้ถางป่า  ตัดอ้อย  หรือรานกิ่งไม้เป็นต้น,    อีเหรียนก็เรียก

รัวแทงดิน                             บาท ๑๖ ​อัฐ

จักรวิดน้ำ                             แปดบาท (ระหัดราคาสี่สิบบาท)

แกละตัดข้าว                          ๘ อัฐ(เคียวราคา ๔๘ อัฐ)

มันเกี่ยวข้าว                           ๔๐ อัฐ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 10:36

ใช้อินทรเนตรสอดส่องพบ แกะและมัน ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

คุณ submachine ให้รายละเอียดว่า

แกะเกี่ยวข้าว ใช้ในภาคใต้ แถวสุราษฎร์บ้านผมเรียก "มัน" นัยว่าการใช้แกะ หรือมัน เก็บทีละรวง ทำให้ข้าวร่วงน้อยกว่าการใช้เคียวเก็บทีละหลาย ๆ รวง

การใช้หนีบตัวแกะที่มีใบมีดระหว่างร่องนิ้วชี้กะนิ้วกลาง โดยให้คมมีดหันออก แกนกลม ๆ ที่ขวางอยู่ด้านหลัง จะเข้าอุ้งมือพอดี คราวนี้ เวลาเก็บข้าวก็ใช้ปลายนิ้วชี้กะปลายนิ้วกลาง ดึงรวงข้าวเข้าหาคม คมจะตัดขาด เอาข้าวที่เก็บได้ใส่ไว้ในอีกมือ

คนที่ใช้เก่ง ๆ จะสามารถถือรวงข้าวไว้ในมือที่ถือแกะได้นับสิบรวง ก่อนจะถ่ายใส่มืออีกข้าง

วิธีนี้ เก่งอย่างใรก็ช้ากว่าใช้เคียวครับ แต่ข้าวร่วงน้อย

เคยใช้สมัยเด็ก ๆ แต่ตอนนี้ เขาใช้รถเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว มัวใช้แกะเก็บข้าว เวลาที่เสียไปไม่คุ้มกับงานที่ได้ เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นกันมากกว่า

เป็นของที่เหมาะกับยุคไม่เร่งรีบ ไม่ต้องวอรี่เรื่องการหาเงิน เดี๋ยวนี้ได้แต่ระลึกถึงครับ


 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 10:56

หน้าตาอีกแบบหนึ่งของ แกะหรือแกระ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 13:14


โอ....น่าสนใจค่ะคุณเพ็ญ

ขอบคุณเหลือหลาย


       แวะไปดูที่ปทานุกรมหลวงของสถาบันภาษาศาสตร์  ศัพท์พื้นเมือง  น. ๕๖๐

แกะ     เครื่องสำหรับเกี่ยวข้าวที่ละรวง   มันก็ว่า


แวะอ่าน  "กล้วยทอด"  น. ๕๕๕

๑.   กล้วยแขก

๒.   ขนมชนิดหนึ่งใช้กล้วยทั้งผล  หรือผ่าชุบแล้วทอด    สตูลเรียกขนมเกาะเดาะ

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 20 พ.ย. 11, 15:22




เหลียน                                ๓๒  อัฐ  มีดขนาดใหญ่  ใบมีดแบน ปลายกว้างโคนแคบ  สันหนาและโค้งดุ้งขึ้น  โคนมีดทำ
                                        เป็นบ้องกรือกั่นสดอติดกับไม้ด้ามยาว  ใช้ถางป่า  ตัดอ้อย  หรือรานกิ่งไม้เป็นต้น,    อีเหรียนก็เรียก

นำภาพจากชุมชนคนรักมีดมาให้ชม มีดเหลียน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.108 วินาที กับ 20 คำสั่ง