เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 16318 นายพินิจ สมบัติศิริ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 22 ต.ค. 11, 10:21




       ในงานหนังสือที่เพิ่งผ่านพ้นไป    หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเลอศักดิ์  สมบัติศิริ

เมื่อวันอาทิตย์ที่๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  เป็นที่ต้องการและมีผู้ตามหาตามร้านต่าง ๆ      นักอ่านหนังสือเก่ามี

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพินิจ  สมบัติศิริเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๐  อยู่ด้วย   จึงอยาก

จะนำประวัติของท่านมาเล่าไว้พร้อมกันใน "เรือนไทย" นี้     คงจะเป็นที่สนใจของท่านที่สนใจประวัติศาสตร์และตระกูลขุนนาง

ตามสมควรเพราะเป็นสกุลทั้งสองเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริต  มีความรู้   มีบทบาทในการรับราชการเพื่อประเทศชาติ     มีชีวิตครอบครัวที่งดงาม

เฉพาะสายสกุลของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าอ่านอยู่แล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 ต.ค. 11, 10:39


          ต้นตระกูลสมบัติศิริ

          "ต้นตระกูลของนายพินิจ  สมบัติศิริ  อยู่ในตระกูลตั้ง   มาจากเมืองซัวเถา  มณฑลแต้จิ๋ว  ประเทศจีน

เข้ามาในเมืองไทยเมื่อประมาณ​ ๒๐๐ ปีมาแล้ว


ลำดับที่ ๑       พระยาศรีอากร (เต๊กงึ้น  แซ่ตั้ง) เป็นทายาทลำดับที่ ๒๒  ของตระกูล

เป็นบุตรคนที่ ๖  ของนายงี่   เกิดที่ตำบลกัวตึ้ง   เมื่อวันที่ ๒๐  เดือนสอง  ปีฉลู พ.ศ. ๒๒๗๖   ในสมัยราชวงศ์เช็ง

(พ.ศ. ๒๑๘๗ - ๒๔๕๕)  

มีตำแหน่งเป็น ซุ่ยอ่าง (สมุหเทศาภิบาล)        

ในวันกลางคนได้เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศไทยจนได้รับแต่งตั้ง  พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีราชอากร          

รับราชการสนองพระเดชพระคุณถึง ๓ สมัย  คือสมัยปลายศรีอยุธยา     สมัยรัชกาลที่ ๑  และ รัชกาลที่สอง



ลำดับที่ ๒       พระยาสมบัติวานิช  (เงี้ยบสุน  แซ่ตั้ง)   ชื่อไทยว่านายบุญศรี

เป็นบุตรคนหนึ่งของพระยาศรีราชอากร

มีตำแหน่งในเมืองจีนเป็น อ่วงง้วน (ข้าหลวงต่างพระองค์)

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในไทยเป็น พระยาสมบัติวานิช
    
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 22 ต.ค. 11, 11:25



ลำดับที่ ๓          นายอากร  ฉาย  แซ่ตั้ง (ฮวดใช้  แซ่ตั้ง)

บุตรพระยาสมบัติวานิช    ได้ทำการค้าขายสืบต่อจากบิดา   ซึ่งคงไม้ได้ทำการค้ากับประเทศจีนแล้ว 

แต่ผูกขาดเป็นนายอากรสุราในจังหวัดพิษณุโลก และ สุพรรณบุรี

มีบ้านอยู่ริมคลองหัวลำโพงแถวสะพานเหลือง

นายอากรฉายมีบุตรธิดา ๕ คน   คือ   นายยู่อี่   นางแฉล้ม   นายกอ(พระยามไหสวรรย์)   นายฮั้ว  และ นายเต๊ก


ลำดับที่ ๔          นายยู่อี่  สมบัติศิริ       มีภรรยาชื่อนางกรี   มีบุตรธิดารวม ๔ คน คือ

พระอรรถพากย์จรรยาวัตร (อัชว  สมบัติศิริ)    นายศรีเสนา  สมบัติศิริ (พระยาศรีเสนา)       นางอุปนิคสิตสารบรรณ(นวล  สุวรรณทัต)

และนายเอิบ   สมบัติศิริ


ลำดับที่ ๕          นายศรีเสนา (ฮะ)  สมบัติศิริ          เกิดปี พ.ศ. ๒๔๓๒          รับราชการปี ๒๔๕๐

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๒๔๕๓   นายชำนาญกระบวน

๒๔๕๔   พันพุฒอนุราช

๒๔๕๖   หลวงศักดิ์เสนี

๒๔๖๐   หลวงธุรนัยพินิจ

๒๔๖๑   พระธุรนัยพินิจ

๒๔๖๙   พระยาศรีเสนา

          ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖   นายศรีเสนา  สมบัติศิริ (หลวงศักดิ์เสนี) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  วานิชากริ 

โดยใช้คำหลังของพระยาศรีราชอากร กับพระยาสมบัติศิริ        แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้และพระราชทานเป็น "สมบัติศิริ"

(Sampatsiri)


          นายศรีเสนา  ได้สมรสกับ คุณหญิงถวิลหวัง  ประทีปเสน  มีบุตรคนหนึ่ง คือ นายพินิจ   สมยัตืศิริ

นายศรีเสนาได้สร้างเจดีย์ตระกูลสมบัติศิริ ไว้ที่วัดทองนพคุณ  เขตคลองสาน  กรุงเทพมหานคร  และบรรจุอัฐิของตระกูล  คือ

๑.   คุณหญิงแย้ม   มารดานายอากร  ฉาย  แซ่ตั้ง

๒.   นายอากร ฉาย  แซ่ตั้ง

๓.   นายยู่อี่  สมบัติศิริ"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 10:21



       คุณพินิจ  สมบัติศิริ  เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๖๓  ณ อำเภอคลองสาน(ถนนลาดหญ้าในปัจจุบัน)

จังหวัดธนบุรี   เป็นลูกชายคนเดียวของนายศรีเสนา สมบัติสิริ   และคุณหญิงถวิลหวัง (ประทีปะเสน)

บรรพบุรุษมาจากเมืองจีน   แต่ไม่ใช่พ่อค้า   ถูกส่งตัวมาโดยจักรพรรดิจีน  คล้าย ๆกับเป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี

เดินทางมาโดยเรือสำเภา  บรรทุกทองคำแท่งและข้าวของมาถวายพระเจ้าอยู่หัวของไทย   พอมาถึงสยาม  ก็ต้องอยู่กันเป็นปีถึงจะได้กลับไปได้ใหม่

ถูกขอให้ทำราชการ  จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาศรีราชอากร


       นายศรีเสนา  สมบัติศิริ  เริ่มรับราชการเป็นรองเวร(เสมียน)เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๐         แล้วเลื่อนเป็นนายเวร  ปลัดกรมมหาดไทยมณฑลปราจีณในปี ๒๔๕๕

ในปี ๒๔๕๗  ได้รับทุนไปเป็นนักเรียนวิชาการปกครองที่ประเทศอังกฤษ   เป็นนักเรียนมหาดไทยรุ่นแรก

เมื่อเรียนจบกลับมา   รับราชการเป็นผู้ตรวจการมณฑลปักษ์ใต้และอีกหลายอย่าง

ในปี ๒๔๖๑   ได้เป็นปลัดมณฑลปัตตานี(รองจากเทศามณฑล)    จากนั้นไม่นานก็เลื่อนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี   ตำแหน่งในตอนนั้นใช้คำว่าเจ้าเมือง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 11:38



       ด้านประวัติศาสตร์การต่างประเทศของไทย   ท่านได้รับเลือกเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่นคนแรก

เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจในปี ๒๔๘๕   ท่านกลับมาเป็นสมุหพระราชวัง  และเป็นประธานกรรมการพระราชสำนัก

และกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ   แล้วยังเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย

หลังจากเกษียณอายุ   ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี


       คุณหญิงถวิลหวัง (ศรีเสนา) สมบัติศิริ   มีฝีมือในการประดิษฐ์ที่ละเอียดอ่อนงดงาม   ได้ถวายงานรับใช้พระพันปีหลวง

ทั้งในด้านการเขียนปัก   การจัดดอกไม้สด   หาคนมีฝีมือเทียบเทียมยาก   เป็นผู้นำในงานสังคมของสตรี   เป็นกรรมการสภากาชาด   

เป็นนายกสโมสรอาสากาชาด   เป็นกรรมการสมาคมสตรีไทย   เป็นกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีตั้งแต่สมัยแรก ฯลฯ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 15:02



       คุณพินิจเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากอัสสัมชัญบางรัก  ถูกส่งตัวไปเรียนต่างประเทศ

ไม่ได้ไปที่ประเทศฝรั่งเศสทันที   ได้รับทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพให้ไปเรียนที่ฮานอย

โรงเรียนชื่อ Lycee Albert Sarraut   ครูทุกคนมาจากปารีส   ข้อสอบข้อเขียนมาจากปารีสหมด

ตอนนั้นคุณพ่อของคุณพินิจเป็นปลัดทูลฉลองมหาดไทย   คุณพินิจเรียนอยู่ที่นั่น  ๖ ปี  พูดฝรั่งเศสได้คล่อง

ท่านเล่าว่าท่านกลับเมืองไทยทุก ๆ หยุดเทอม ๓ เดือน   

       ตอนที่ไปนั้น  ท่านนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลงที่อรัญประเทศ   ต่อแท้กซี่ไปพระตะบอง    จากพระตะบองขึ้นรถไฟไปพนมเปญ

นั่งแท้กซี่จากพนมเปญไปไซ่ง่อน    แล้วนั่งรถบัสโกโรโกโสอีกสามวันสามคืนไปฮานอย

       ที่โรงเรียนมีราชวงศ์เขมร ลาว และญวนมาเรียนด้วย   และคนไทยที่รับทุนอีก ๓ -๔ คน

     
       คุณพินิจเกือบไม่ได้ไปเรียนต่อที่ปารีส  ฝรั่งเศสเพราะสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในยุโรป     

แต่เพราะสายตาที่ยาวไกลของคุณพ่อ   การศึกษาของคุณพินิจก็ดำเนินไป
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 15:37

ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถือกำเนิดจากคณะบาดหลวงจากประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีการสอนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียนด้วย ต่อมาการเรียนภาษาฝรั่งเศสจำกัดเฉพาะเด็กห้องที่เรียนเก่งหรือห้อง King จะได้รับการเรียนภาษาฝรั่งเศส ... อา แบ แซ แด.. ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 16:19



คุณพินิจเรียนอยู่แผนกฝรั่งเศสที่อัสสัมชัญค่ะ(หน้า ๗๖)

เรื่องโรงเรียนที่ฮานอยนี้มีเด็กไทยเรียนอยู่หลายคนนะคะ    ไว้ค้นข้อมูลให้ครบครันแล้วมาคุยกันในโอกาสข้างหน้า

ตามที่เคยได้ฟังท่านผู้ใหญ่เล่ามาว่า  เชื้อสายของผู้นำเหล่านี้สนิทสนมกันทางสายเลือดอยู่แล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ต.ค. 11, 16:46



       เมื่อคุณพินิจไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั้น  คุณพ่อเป็นทูตที่ญี่ปุ่น    คุณพินิจแวะไปหาท่านเพื่อจะไปลา   

เป็นจังหวะเดียวกับเยอรมันบุกโปแลนด์      เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒  แต่ยังไม่ประกาศสงครามกัน

ถ้าเป็นพ่อของคนอื่นคงไม่ให้ลูกไป  แต่คุณพ่อผมบอกว่า  ไปเรียนเถอะ


       หลังจากเดินทางไปปารีส   ได้เข้าเรียนที่  L'Ecole des Beaux Arts   ทางสถาปัตยกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒

หนึ่งปีให้หลังกองทัพนาซีก็ได้บุกเข้ายึดกรุงปารีส     โรงเรียนปิด  เรียนต่อไม่ได้   คุณพินิจอยากจะเรียนต่อ  อยากจะเรียนภาษาฝรั่งเศส

เลยไปประเทศสวิส   อยู่ที่นั่น ๘​ปี


       "ก่อนวันที่เยอรมันจะเข้าฝรั่งเศสวันหนึ่ง   เป็นภาพที่น้อยคนจะได้เห็นนอกจากคนฝรั่งเศส หรือคนในฝรั่งเศส

เพราะเมื่อพูดถึงฝรั่งเศสนี่   ทุกคนจะนึกถึงความสนุกสนานรื่นเริง   แต่วันนั้น  เราได้เห็นคนฝรั่งเศสน้ำตาตก   แล้วหนีออกจากฝรั่งเศสเท่าที่จะหนีได้   

มีรถยนต์ก็ไปรถยนต์   ที่เดินก็เดิน   บางคนเอาของใส่รถเข็นเด็ก   เป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก    มันดูแล้วชวนเวทนาว่า  ฝรั่งเศสเป็นอย่างนี้

ภาพเหล่านี้ค่อนข้างจะประทับใจผม" (หน้า ๗๙)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ต.ค. 11, 08:55


       คุณพินิจต้องออกจากปารีสในวันนั้น   เพราะไม่ทราบล่วงหน้าว่าเมื่อเยอรมันเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไร

นักเรียนไทยถูกอพยพไปอยู่ชายทะเลใกล้ ๆ กับสเปน   อยู่ได้สักอาทิตย์ก็รู้ว่าเยอรมันเข้าปารีสแล้ว  แต่ไม่มี

เหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น  ก็กลับไป

       ตอนนั้นเยอรมันชนะทุกประเทศหมดแล้ว   ปรกติฝรั่งเศสกับเยอรมันเกลียดกันมาก    แต่วันที่เยอรมันเข้า

ฝรั่งเศสนั้น    เขาคงสั่งกันไว้ดี   จัดแจงอะไรต่ออะไรเอาไว้ดี    หมายความว่าพอทหารเยอรมันเข้ามาในร้านอาหารหรือที่ไหนก็แล้วแต่

พอก้าวล้ำประตูเข้าไป   คนฝรั่งเศสจะระวังตรงตะเบ๊ะทุกคน


       ในภาวะสงครามอาหารชาดแคลน    ไม่กี่วันโรงเรียนก็ปิด   คุณพินิจกับเพื่อน ๆ ก็พากันไปเรียนต่อที่กรุงเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


       ตอนที่ไปอยู่ใหม่ ๆ   การส่งเงินจากเมืองไทยใช้เวลาไม่นานทั่งๆที่เป็นภาวะสงครามโลก   แต่ต่อมาในยุคหลังใกล้กับสงครามจะสงบ

คือเมื่ออเมริกาเริ่มจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร  ประมาณ ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘  เงินทองสิ่งของส่งอะไรไม่ได้แล้ว   ขลุกขลักขัดสนไปทั่ว

นักเรียนไทยก็ต้องทำงานด้วยทั้งๆที่ไม่มีสิทธิที่จะทำงาน เพราะที่นั่นเขากวดขัดเรื่องคนต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศเขา   

แต่เราก็ทำงานแบบไม่ได้เงิน        พวกที่เรียนกฎหมายหรือหมอ  เมื่อไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็ทำงานไม่ได้   จึงไปทำนาบ้าง  ไปรีดนมบ้าง 

ไปเก็บมันฝรั่งบ้าง  ได้อยู่ฟรีแล้วก็ได้กินด้วยเป็นการทุ่นค่าใช้จ่าย

       คุณพินิจถึงยังเรียนไม่จบ  แต่การเขียนแบบไม่มีอันตราย   เขียนตามแบบที่สถาปนิกบอกให้เขียน   จึงไปทำงานตามสำนักงานสถาปนิกได้

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ต.ค. 11, 09:34


(หน้า  ๘๑)

       "ตอนนั้นนักเรียนไทยในสวิสทุกคน   ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ

พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ยืมกันคนลพ ๒๐๐ ฟรังก์แน่ะ   แต่ก็ไม่พอใช้กัน   พวกเราก็เลยต้องทำงานด้วย  ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิทำงาน"



"ชะตาชีวิตของคุณพินิจที่ต้องออกไปศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้  ได้ลิขิตให้คุณพินิจได้มีโอกาสเฝ้าเจ้านายที่สำคัญสี่พระองค์  

ผู้ที่ในระยะเวลาต่อมา   ล้วนมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือกับชาติบ้านเมือง   คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี   รวมทั้งพระราชธิดา

และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์  ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


       ชีวิตส่วนพระองค์ที่เรียบง่ายของสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ   ผู้ทรงคุณอันประเสริฐเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม  

และเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวไทยในต่างประเทศ       ในสมัยสงครามที่ยากลำเค็ญ   พระจริยาวัตรต่าง ๆ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ  

เป็นแนวทางที่คุณพินิจยกย่องอย่างสูงส่ง   และอาจถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิด

ของความผูกพันและความจงรักภักดีอย่างจริงใจ   ที่คุณพินิจมอบไว้ต่อเจ้านายทุกพระองค์  และได้มีสืบเนื่องมาตลอดชีวิต"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ต.ค. 11, 14:27



        หลักสูตรสถาปนิกใช้เวลาเรียน ๕ ปี   แต่คุณพินิจต้องอยู่สวิสเซอร์แลนด์ถึง ๘ ปี  เพราะไม่มีเรือโดยสาร

กลับประเทศไทย    ตอนนั้นก.พ.ต้องการสถาปนิกจบจากต่างประเทศมาทำงานศิลปากร    จึงออกค่าใช้จ่าย

ในการเดินทางกลับบ้านให้

   
        สถาปนิกหนุ่มกลับมาถึงเมืองไทยเมื่ออายุ ๓๐ ปี    กลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ     

แต่คุณพินิจก็มีหญิงสาวในดวงใจที่ได้รู้จักและประทับใจตั้งแต่สิบปีก่อน   เธอคือ นางสาวเลอศักดิ์  เศรษฐบุตร ตอนนั้นกำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งสองเขียนจดหมายติดต่อกันอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๙          เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยความสัมพันธ์ของทั้สองก็ยิ่งทวีความแนบแน่น

สถานที่นัดพบก็เป็นราชวงศ์  รับประทานอาหารกลางวันและซื้อหนังสือ

       ไม่นานเจ้าคุณศรีเสนาก็ไปสู่ขอนางสาวเลอศักดิ์    ให้กับลูกชายคนเดียว

       งานมงคลสมรสของกิ่งทองใบหยกจัดขึ้น ในวันที่ ๒ พฤษภาคม  ๒๔๙๐    จัดที่โรงแรมรัตนโกสินทร์   และคู่สมรสไปฮันนีมูนที่โรงแรมรถไฟหัวหิน

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ต.ค. 11, 15:17


       คุณพินิจเริ่มทำงานที่กรมศิลปากร  กระทรวงศึกษาธิการ  ในตำแหน่งผู้ช่วยนายช่างตรีกองสถาปัตยกรรม  เงินเดือน ๖๐ บาท


       คุณพินิจเล่าว่า "ตอนกลับจากนอกใหม่ ๆ  ชีวิตผมแย่หน่อย  เพราะไม่มีเพื่อนเลย   ผมไปเมืองนอกตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ  

ก็เลยไม่มีเพื่อนฝูงที่รู้จักในกรุงเทพ   ไม่รู้จักใครเลย   รู้จักแต่เพื่อนที่ที่ทำงานด้วยกัน   ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับเมืองไทยนานนิดหนึ่ง

ปัญหามันอยู่ที่ภาษาไทยที่เราไม่คล่องนัก   เพราะเคยใช้ภาษาฝรั่งเศสจนเคยตัว   แต่เรื่องด่าพ่อล่อแม่นี่สบายมาก   เรื่องเขียนนี่แย่

เขียนไม่ได้เลย    เวลาที่เขียนหนังสือให้เขาพิมพ์   เขาแก้แดงหมด  เขาว่าถ้าส่งตามที่ผมเขียน  ไม่มีใครรู้เรื่องหรอก   ก็เลยต้องปรับตรงนี้เยอะมาก"


       คุณพินิจไม่มีโอกาสจะได้ทำงานโก้ ๆ ที่ได้เงินเยอะ   ช่วยทำบ้านเพื่อน ๒ - ๓ คน   ช่วยดัดแปลงธนาคารแห่งหนึ่ง  และก็ทำงานที่อื่นอีกไม่กี่ชิ้น


       ในปีพ.ศ. ๒๕๐๐  คุณพินิจได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกของกรมศิลปากรไปร่วมงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงบรัสเซลล์  ประเทศเบลเยี่ยม  

ได้นำศิลปะอันเก่าแก่และทรงคุณค่าของไทยไปให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม   เป็นการเลียนแบบพระที่นั่งกลางน้ำในพระราชวังบางปะอิน  เป็นที่เลื่องลือมาก

กิจกรรมต่าง ๆ ก็มาแสดงที่หน้าศาลาเต็มไปหมด   เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ ก็ลงรูปศาลาไทยว่าเป็นหนึ่งศาลาที่มีคนสนใจมาก



       การทำงานของคุณพินิจก้าวหน้าไปตามขั้นตอน        


       ในปีพ.ศ. ๒๕๐๑  ได้เป็นหัวหน้ากองหัตถศิลป์

       ความสามารถที่ที่โดดเด่นทำให้กองหัตถศิลป์ในยุคของคุณพินิจเป็นยุคที่เฟื่องฟู      จนเรียกได้ว่าเป็นกองเดียว

ในกรมศิลปากรที่มีความเป็นเอกเทศมากที่สุด   ทำรายได้ให้กับกรมมากที่สุด      


       ลักษณะการทำงานของคุณพิินิจเป็นที่ถูกใจผู้ใต้บังคับบัญชามาก   เนื่องจากต้องบังคับบัญชาศิลปินผู้มีอารมณ์ไม่เหมือนคนทั่วไป

ศิลปินก็เอาใจยากอยู่  นึกจะทำก็ทำ  ถ้าไม่อยากทำมาเร่งเท่าไรงานมันก็ไม่เดิน    


       อาจารย์เรืองสุข   อรุณเวช  ประติมากรมือหนึ่งของกองหัตถศิลป์ เล่าว่า  "หน้าที่ของกองหัตถศิลป์คือออกไปทำอนุสาวรีย์ต่าง ๆ  

ท่านก็มีหน้าที่โดยตรงต้องสั่งงานพวกผม      ก่อนนั้นคนที่เป็นหัวหน้ากองไม่ค่อยจะเข้าใจคนที่ทำงานศิลปินเท่าไร    คือไม่ใช่ขี้เกียจนะ  

แต่มันเป็นอารมณ์ว่าอยากทำงานกันหรือเปล่า

       พออาจารย์พินิจเข้ามาเป็หัวหน้ากอง   ท่านก็เข้าใจอารมณ์ของพวกเรา  อาจเพราะท่านก็มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวเองเหมือนกัน

เวลาท่านให้งานพวกผมทำ   ท่านจะไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของงานเลย   คือให้พวกผมรับผิดชอบงานทั้งหมดด้วยตนเอง

คุณจะทำเมื่อไหร้ก็ได้   ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ    อยากทำเมื่อไรค่อยลงมือก็แล้วกัน        เพราะท่านเข้าใจอย่างนี้   ท่านก็ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่

พวกผมก็ชอบใจกันใหญ่       รู้สึกว่าท่านเป็นคนที่น่านับถือ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน   แบบนี้ทำให้งานเสร็จทันเวลา   ดีกว่าบังคับให้เสร็จทันตามเวลา

อย่างที่คนอื่นๆเตยทำกัน"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ต.ค. 11, 06:56



       คุณพินิจทำงานอยู่กองหัตถศิลป์ ๖ ปี ๗ เดือน   แล้วย้ายไปเป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗

เป็นช่วงที่ต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง   และเขตพระราชฐานด้านใน

ไม่เพียงแต่จะเข้าไปบูรณะพระบรมมหาราชวังและเขตพระราชฐานชั้นใน   อันเป็นเขตที่น้อยคนนักจะเข้าไปถึง

คุณพินิจยังเป็นผู้ออกแบบพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต    เป็นหนึ่งในคณะที่ซ่อมแซมบูรณะพระราชวังบางปะอิน   

พระราชวังไกลกังวล หัวหิน   พระที่นั่งอนันตสมาคม   รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


       แม้ว่างานต่าง ๆ ในสมัยที่ทำงานอยู่ศิลปากรจะไม่ใช่ผลงานของคุณพินิจโดยตรง   แต่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผน

เป็นที่ปรึกษาให้คณะทำงาน    ให้คำแนะนำงานด้านสถาปัตยกรรม   การวางผัง  การออกแบบ  เขียนแบบ   ควบคุมดูแลงานก่อสร้าง

และซ่อมแซม   ตรวจการจ้าง   งานส่วนใหญ่ที่คุณพินิจทำจึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะของชาติ  รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการงาน

ศิลปะของชาติ   รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงความศักดิ์สิทธิ์เหนือดวงใจของไทยทั้งมวล


       "และงานที่เป็นเรื่องสะเทือนใจคุณพินิจมากที่สุดก็คือ   ได้เป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างพระเมรุมาศถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล   

ซึ่งเป็นองค์เหนือหัวที่คุณพินิจเคยได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์    นับว่าเป็นความ

โทมนัสใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้"   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 พ.ย. 11, 12:16



       ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือคือรองอธิบดีศิลปากร   ท่านอยู่กับกรมศิลปากรเป็นเวลา ๓๐ ปีเต็ม



       ต่อมาท่านได้เข้ารับตำแหน่งอธิบดีในกรมศาสนา    "เข้าไปเดือนแรกก็มีคนลองดี   คือจะมีหนังสือว่าจะส่งเงินให้วัดใดก็ตามที่ขอมา

จะต้องส่งมาให้ท่านเซ็นอนุมัติ   สมมติว่าเป็นเงินจำนวนสามหมื่นบาท   พิมพ์หน้าเอกสารตัวจริง  แต่สำเนาอาจจะเป็นสามแสน

เพื่อนได้เตือนท่านว่าจะเซ็นให้อ่านก่อน   พอไปถึงก็เจอเลย   เขาคงคิดว่าเราเซ็นข้างหน้าแล้วข้างหลังไม่ดูอะไรอย่างนั้น

ผมเข้าไปอยู่ไม่เท่าไหร่   มีอยู่เช้าหนึ่งผมก็เอาซองขาวไปแจกทุกโต๊ะ   เรียกว่าย้ายฟ้าผ่ากันเลย   โดนกันทุกคนไม่เว้น

โชคดีนะที่ผมไม่โดนยิงทิ้งตอนนั้น"

       "ผมเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่ง   ถ้าหากอยู่ในหน้าที่การงานที่ต้องทำ  ไม่ถือว่างานที่ทำเป็นเรื่องใหญ่     ผมเคยจับพระกลางบางลำพู

เพราะเห็นพระสงฆ์กำลังเรี่ยไรตามถนน   ผมจอดรถกลางถนนทันทีเลย  ตำรวจก็มาไล่    ผมบอกเดี๋ยวก่อน  เดี๋ยวค่อยมาว่ากัน

ผมขอจับพระก่อนก็แล้วกัน   ตำรวจกลัวเลย   ไม่รู้ว่าไอ้นี่มาจากหน่วยงานไหนถึงมาจับพระกลางตลาดบางลำพูอย่างนี้     ผมจับพระสงฆ์มาถามว่า

ท่านมาจากวัดไหน   รีบโทรศัพท์ให้คนจากกรมศาสนามามารับตัวไปวัดเลย   จากนั้นก็เล่นงานเจ้าอาวาสอีกองค์ต่อ    เพราะตามกฎแล้วพระสงฆ์

จะออกมาเรียไรนอกวัดไม่ได้     ตอนนั้นจับสึกเลย   ไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น"

       "สำหรับผม   พระที่ดีคือพระที่ไม่ยุ่งกับทางโลกทั้งหมด   มีความสำรวมตามพระวินัยและกฎของสงฆ์ทุกอย่าง"
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง