เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 12026 ขอรบกวนสอบถามท่านผู้รู้ครับเรื่อง วรรค สดับ รับ รอง ส่ง
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


 เมื่อ 17 ต.ค. 11, 12:59

ผมจำกลอนได้ 2 บท ดังนี้

" กลอนสุภาพพึงจำมีกำหนด     กลอนหนึ่งบทสี่วรรคกรองอักษร
วรรคละแปดพยางค์นับศัพท์สุนทร   อาจยิ่งหย่อนเจ็ดหรือเก้าเข้าหลักการ

ห้าแห่งคำคล้องต้องสัมผัส  สลับจัดรับรองส่งประสงค์สมาน
เสียงสูงต่ำต้องเรียงเยี่ยงโบราณ  เป็นกลอนการครบครันฉันนี้เอย  "



ที่ผมสงสัยคือ  ทำไมในกลอนบทนี้ถึงใช้คำว่า สลับ  ไม่ใช่ สดับ  เหมือนในปัจจุบันครับ


กลอนนี้มาจาก หนังสือเรียนภาษาไทย ทักษะสัมพันธ์  เล่ม ๑  ปกสีเหลือง


เพื่อเป็นการขอบพระคุณท่านผู้รู้ทุกท่าน  ผมขอมอบบทกลอนที่ผมชอบมากที่สุดในชีวิตให้ได้อ่านกัน บางท่านอาจจะเคยอ่านมาแล้วก็ต้องขออภัยด้วยครับ

จากเรื่อง แข่งหนังตะลุง   จากหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นมัธยมปลาย  จำเล่มไม่ได้ครับ  เป็นเล่มเก่าที่รุ่นผมไม่ได้เรียน  เพราะรุ่นผมใช้เล่มใหม่ครับ แต่พอดีไปอ่านเจอในห้องสมุด และใช้เวลาท่องอยู่ครึ่งชั่วโมง 

เป็นตอนที่ หนังพริ้งกับหนังเที่ยงจะแข่งกัน 



"พริ้งแสดงแข่งเที่ยงไม่เบี่ยงบิด    ฝากญาติมิตรให้ประจักษ์อีกสักหน
เที่ยงช้างงากล้าแกร่งมากแรงชน    พริ้งช้างทนทานสู้รู้เชิงมา

ขอประกาศญาติทุกท่านในงานนี้   ฝ่ายใดดีท่านจงส่งเสริมค่า
หนังตะลุงจักรุ่งฤทธิ์เพราะวิทยา    มีประชาเป็นผู้เชิดชูชม"



และยังมีตอนที่หนังเที่ยงกำลังป่วยใกล้จะตาย  แล้วหนังพริ้งว่ากลอนรำลึกถึงและขอให้หนังเที่ยงหายป่วย ไพเราะมากอ่านแล้วจะร้องไห้ แต่ผมจำไม่ได้ และหาหนังสือเล่มนั้นไม่ได้แล้ว ใครหาได้ช่วยเอามาลงให้อ่านด้วยนะครับ


ขอบพระคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ต.ค. 11, 14:58

ผมจำกลอนได้ 2 บท ดังนี้

" กลอนสุภาพพึงจำมีกำหนด     กลอนหนึ่งบทสี่วรรคกรองอักษร
วรรคละแปดพยางค์นับศัพท์สุนทร   อาจยิ่งหย่อนเจ็ดหรือเก้าเข้าหลักการ

ห้าแห่งคำคล้องต้องสัมผัส  สลับจัดรับรองส่งประสงค์สมาน
เสียงสูงต่ำต้องเรียงเยี่ยงโบราณ  เป็นกลอนการครบครันฉันนี้เอย  "



ที่ผมสงสัยคือ  ทำไมในกลอนบทนี้ถึงใช้คำว่า สลับ  ไม่ใช่ สดับ  เหมือนในปัจจุบันครับ


กลอนนี้มาจาก หนังสือเรียนภาษาไทย ทักษะสัมพันธ์  เล่ม ๑  ปกสีเหลือง


ผมก็ท่องมาอย่างเดียวคุณ atsk  ถ้าจำไม่ผิด ผู้แต่งคือ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (จิตร จิตรกถึก)
อยู่หนังสือประชุมลำนำ   

อันที่จริง  กลอนเพลงยาว กลอนสุภาพ  กลอนตลาด  กลอนสักวา กลอนดอกสร้อย
หรือกลอนอื่นๆ อีกมากมายหลายประเภท ก็ล้วนมีที่มาจากกลอนเพลงพื้นบ้านมาก่อน
โดยพัฒนามาจากกลอนหัวเดียว  กลอนสังขลิก  จากนั้นก็กลายมาเป็นกลอนเข้ารูปแบบ
ซึ่งมีลักษณะบังคับเป็นระเบียบมากขึ้น  และเป็นการกลอนเขียน ไม่ใช่กลอนสดว่าปากเปล่า

อย่างไรก็ดี  การเรียกแต่ละวรรคของกลอน ๑ บท ยังคงอิงตามลักษณะกลอนเพลงพื้นบ้าน
กล่าวคือ  เมื่อฝ่ายหนึ่งว่าเพลงขึ้นต้นมา   อีกฝ่ายฟังได้ความจากฝ่ายแรกได้ความว่าอย่างไร
ก็กล่าวเกริ่นสรุปที่ฟังได้ไว้ในวรรคแรก  อันเป็นเหตุให้เรียกวรรคแรกของกลอนว่า  วรรคสดับ 
ทีนี้  ต่อมา  คำว่า  สดับ  ตามปากคนไทยอะไรก็เพี้ยนไปตามธรรมชาติ  ที่มุ่งให้ออกเสียงสะดวก
สดับ  จึงกลายเป็น  สลับ  ในกลอนเขียน  กลอนวรรคสดับ  เป็นการเกริ่นเปิดประเด็นให้คนอ่านทราบ

ส่วน รับ  หมายถึง  กลอนวรรคถัดมา เป็นการกล่าวโต้ตอบความที่ฝ่ายแรก  เหมือนประหนึ่ง
รับคำท้าแล้ว  เนื้อความวรรคนี้เป็นการเริ่มโต้  หรือถ้าไม่โต้  ก็ต้องขยายความจากวรรคแรก
โดยให้เนื้อความรับ(สัมพันธ์)กับวรรคแรก

วรรครอง  เป็นกลอนที่สนับสนุนเนื้อความวรรครับให้ชัดขึ้น  หรือขยายเนื้อความต่อมา

วรรคส่ง  เป็นวรรคจบลงท้าย  ซึ่งต้องลงท้ายให้ประทับใจ และถ้าเป็นเพลงพื้นบ้าน
ก็จะได้ฮากันวรรคนี้   พร้อมกับทิ้งกลอนให้อีกฝ่ายแก้ต่อไปแบบแสบๆ คันๆ

อธิบายอย่างนี้  อิงตำราบ้างไม่อิงบ้าง
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ต.ค. 11, 16:29

ขอบพระคุณมากครับคุณหลวงเล็ก

ใช่ครับกลอนบทนี้จะอยู่ใน ประชุมลำนำของ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (จิตร จิตรกถึก)   แล้วหนังสือทักษะสัมพันธ์ หยิบเอามาอีกทอดหนึ่ง


เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วครับ  เรื่องวรรคต่างๆ



ผมนึกว่าผมอ่านประชุมลำนำคนเดียวเสียอีก เพราะโดนเพื่อนว่าประจำ  "เป็นคนโบราณ  มาเรียนสัตวแพทย์ทำไม ไปเรียนอักษรสิ "   ก็คนมันชอบเนาะ

คุณหลวงเล็ก  ได้อ่าน  สูตรไทยนับ ไทยหลง  สูตรฝนแสนห่า  หลวงธรรมาภิมณฑ์  ไหม๊ครับ  อ่านแล้วเข้าใจไหม๊   ผมพยายามแล้ว มึนพะย่ะค่ะ   แต่ก็อยากแต่งเป็นครับ







บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ต.ค. 11, 18:15

อะฮ้า  อย่างนี้  ต้องเรียกว่า เป็นศิษย์ร่วมคัมภีร์ ครับ

ผมอ่านประชุมลำนำตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย
อ่านจากห้องสมุดของโรงเรียนด้วยความอยากรู้เรื่องร้อยกรองไทยให้มากๆ
คุณหลวงธรรมาภิมณฑ์ท่านแต่งตำรานี้เมื่อมีอายุมากแล้ว
แต่ก็นับว่าเป็นตำราที่น่าสนใจมาก  เพราะไม่ได้รวมแต่ฉันทลักษณ์
อย่างโคลงฉันท์กาพย์กลอนร่ายเท่านั้น  แต่ยังรวมเอาฉันทลักษณ์
ท้องถิ่นมาใส่ไว้ด้วย   ถ้าจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกก็ไม่ผิด
ความที่ท่านเป็นครูมาก่อน  จึงแต่งหนังสือนี้ให้อ่านง่าย

ผมตามหาซื้อหนังสือนี้อยู่นานหลายปีกว่าจะได้มาครอง ๒ เล่ม
(โปรดอย่าถามว่า ได้มาด้วยสนนราคาเท่าไร  เคยบอกให้เพื่อนด้วยฟัง
เขาร้องกรี๊ด  และหาว่าผมโกหก  เพราะเขาซื้อได้แพงกว่าผม ๓-๔ เท่า)

อ่านไปเถอะครับ  คุณจะเรียนวิชาสาขาอะไรไม่สำคัญ
เพราะสาขาที่คุณเรียนนั้น มันคือความเจริญของอาชีพในวันข้างหน้า
ส่วนอะไรที่คุณสนใจ  ถ้าไม่ผิดกฎหมายศีลธรรมอันดีแล้ว
ถือเป็นงานอดิเรกและความรู้ความสามารถพิเศษ
ผมเคยเห็นหมอบางคนเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น
หรือหมอบางคนอาจจะชื่นชอบเพลงยุค60s 70s ชนิดเข้าใส้
หรือคุณหมอบางคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องเก่าๆ
ของแบบนี้  ว่ากันไม่ได้  ลางเนื้อชอบลางยาครับ

เรื่องสูตรไทหลง ไทนับ ฝนแสนห่า  ผมอ่านครับ
ผมเคยเอามาตั้งเป็นคำถามในกระทู้แฟนพันธุ์แท้รามเกียรติ์
เล่นเอาขุนศึกในกระทู้นั้นเกิดอาการวิงเวียนพิพักพิพ่วนไปหลายวัน

สูตรซ่อนพรางอักษรนั้น  ไม่ใช่การแต่งร้อยกรอง
แต่เป็นกลวิธีเขียนหนังสือสำหรับพรางไม่ให้ผู้อื่นรู้
นัยว่า  โบราณท่านใช้ในยามสงคราม  เพื่อไม่ให้ข่าวรั่วไหล
ถึงคุณแต่งเป็น  ก็คงไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากนัก
ฉะนั้นรู้เอาไว้บ้างก็พอครับ  ไม่ต้องแต่งเป็นหรอกครับ
เดี๋ยวจะหาเรื่องปวดหัวโดยใช่เหตุ


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ต.ค. 11, 18:39


ผมตามหาซื้อหนังสือนี้อยู่นานหลายปีกว่าจะได้มาครอง ๒ เล่ม
(โปรดอย่าถามว่า ได้มาด้วยสนนราคาเท่าไร  เคยบอกให้เพื่อนด้วยฟัง
เขาร้องกรี๊ด  และหาว่าผมโกหก  เพราะเขาซื้อได้แพงกว่าผม ๓-๔ เท่า)


คนที่ว่าร้องกริ๊ดนี้ คงเป็นคนเดียวกับที่กระผมคิดไว้ใช่ไหมคุณหลวง  ตกใจ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ต.ค. 11, 18:42


คนที่ว่าร้องกริ๊ดนี้ คงเป็นคนเดียวกับที่กระผมคิดไว้ใช่ไหมคุณหลวง  ตกใจ

คุณอาร์ทไม่ควรถามชี้นำอย่างนี้  เดี๋ยวเราจะพลอยเจ็บตัวกันนะ
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 ต.ค. 11, 11:13

ถ้ามันราคาแพงขนาดนั้น  ผมไปถ่ายเอกสาร ทั้งเล่มเลยได้ไหม๊ครับ  อยากได้มาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเหมือนกันครับ

เดี๋ยวต้องลองไปคุยกันพี่บรรณารักษ์ ดู
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ต.ค. 11, 14:11

ถ้ามันราคาแพงขนาดนั้น  ผมไปถ่ายเอกสาร ทั้งเล่มเลยได้ไหม๊ครับ  อยากได้มาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเหมือนกันครับ

เดี๋ยวต้องลองไปคุยกันพี่บรรณารักษ์ ดู


หนังสือประชุมลำนำเล่มที่คุณหลวงเล็กว่า คงเป็นพิมพ์แรก ราคาถึงแพงหนักหนา
ว่าแต่พิมพ์แรกนั้น ใช่ปี 2514 หรือไม่  ฮืม

ใต้เท้าช่วยแจ้งความที ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ต.ค. 11, 08:29

ถ้ามันราคาแพงขนาดนั้น  ผมไปถ่ายเอกสาร ทั้งเล่มเลยได้ไหม๊ครับ  อยากได้มาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเหมือนกันครับ

เดี๋ยวต้องลองไปคุยกันพี่บรรณารักษ์ ดู

เพื่อการศึกษาค้นคว้า  การทำสำเนาทั้งเล่มน่าจะย่อมเยาและดีกว่าครับ

หนังสือประชุมลำนำเล่มที่คุณหลวงเล็กว่า คงเป็นพิมพ์แรก
ราคาถึงแพงหนักหนา
ว่าแต่พิมพ์แรกนั้น ใช่ปี 2514 หรือไม่  ฮืม

ใต้เท้าช่วยแจ้งความที ยิงฟันยิ้ม

ถูกต้องตามนั้น
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ต.ค. 11, 16:20

ตอบเจ้าของกระทู้ ผมเป็นสมาชิกใหม่สด ๆ (บ่ายศุกร์21ต.ค.) ขอแลกเปลี่ยนว่า กลอนที่ยกมาเรื่องหนังพริ้งนั้น น่าจะเป็น พริ้ง พระอภัย ของภิญโญ ศรีจำลอง ครับ
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ต.ค. 11, 19:33

ขอบคุณมากครับ คุณ bunnaroth  น่าจะใช่มั้งครับ เพราะผมไม่เคยอ่านหนังสือตัวเต็ม

เคยแต่อ่านในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ที่หยิบยกเนื้อหามาจากหนังสืออื่นๆประกอบกันเข้าเป็นหนังสือเรียน 

เมื่อใช้ google หาดูปรากฏว่า ใช่จริงๆด้วย 

แข่งหนังตะลุง
 
หากใครที่ผ่านการเรียน ชั้น ม.ศ.3 หลังปี 2520 เป็นต้นมาคงจะปฎิเสธไม่ได้ว่า ไม่รู้จักเรื่องสั้นเรื่อง “แข่งหนังตะลุง”โดยภิญโญ ศรีจำลอง เพราะว่าเป็นเรื่องสั้นที่ถูกบรรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนภาษาไทยในสมัยนั้น…และตัวละครอย่าง พริ้ง พระอภัย ละครตัวเอกของเรื่องก็ถูกภิญโญ ศรีจำลอง จับวิญญาณของนายหนังตะลุงบรรจุไว้ในชีวิตไว้อย่างเต็มเปี่ยมทุกอณูเส้นเลือดก็ว่าได้…



http://yuthpa.wordpress.com/2011/03/14/khangnangtalung/


ผมต้องตามหาหนังสือเล่มนี้ให้ได้ 
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 24 ต.ค. 11, 09:34

ที่บ้านพ่อ-แม่ผมมีเล่มนึงครับ จำได้ว่านานมากแล้วร่วม ๆ  30 ปี ผมก็ชอบอ่านเล่มนั้นครับมันเป็นวรรณกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ไม่ยัดเยียด #พริ้ง พระอภัย // บัณรส
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 24 ต.ค. 11, 10:12

ขอบคุณมากครับคุณ บัณรส

ผมต้องหาหนังสือเล่มนี้ให้ได้ สักวัน



ปล   คุณ บัณรส ชื่อเพราะจังเลยครับ  แปลว่าอะไรครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 24 ต.ค. 11, 10:36

บัณรส = สิบห้า

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 ต.ค. 11, 11:04

ขอบคุณค๊าบบบบบบบ  คุณ เพ็ญชมพู
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 20 คำสั่ง