เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25
  พิมพ์  
อ่าน: 71434 น้ำท่วมกี่ครั้งๆ คนไทยก็ไม่เคยหลาบเคยจำ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 14:11

แล้วผม "เจนภพ จบกระบวนวรรณ" ก็เป็น...คนอพยพ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยไม่เต็มใจ

ผมนึกไม่ถึงจริง ๆ ว่ากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรจะกลายเป็นเมืองบาดาลไปได้ จะให้ผมโทษใครล่ะ?

โทษรัฐบาลหรือโทษผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
 
สงสัยว่าอาจจะต้องโทษทั้งคู่ที่ปล่อยให้ประเทศชาติและเมืองหลวงของเรากลายสภาพเป็นเมืองร้าง เมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล เมืองที่หมดสง่าราศีไปในชั่วพริบตาเพราะใครก็ไม่รู้ ขี้เกียจพูดถึง
 
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมอยู่ในห้องเช่าขนาดที่พอให้คน ๔ คน หมาอีก ๑ ตัวอยู่ร่วมกันได้ที่ในตัวเมือง จังหวัดเพชรบุรี
 
กินข้าวพร้อมหมา กินน้ำขวดเดียวกับหมา ไปไหนมาไหนกับหมา นอนให้หมาหนุนแขน หายใจเอาอากาศเข้าปอดซึ่งเป็นลมหายใจเดียวกันกับหมา ครอบครัวเรากับหมาเสมอภาคกันครับ ไม่มีอะไรสองมาตรฐาน
 
เวลาเหงา ๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็ได้แต่นั่งจ้องตากับหมา แล้วน้ำตาคนกับน้ำตาหมาก็ไหลออกมาพร้อม ๆ กันได้
 
ผมอพยพตัวเองกับครอบครัวออกพ้นจากพื้นที่เสี่ยงภัยมาได้ ๗-๘ วันแล้ว
 
ช่วง ๒-๓ วันแรก ผมนอนผวาทุกคืน พลิกตัวกระส่ายกระสับ นอนหลับได้ไม่เกิน ๑๐ นาที ก็สะดุ้งเฮือก ๆ ทุกครั้ง เป็นห่วงลูกคนโตที่ยังไม่ยอมอพยพตามพวกเราออกมา
 
ในยามที่ท้อแท้ให้นึกถึงหน้าพ่อ-แม่
 
ผมนึกถึงหน้าพ่อตัวเองแทบไม่ออกเพราะท่านตายจากไปนานมากแล้ว
 
แต่พอนึกถึงหน้าแม่ ผมก็ได้แต่สะอื้นในอก แม่ผมอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำเล็ก ๆ ที่ต้องรองรับมวลน้ำมหาศาลที่เขาพยายามผันเอาน้ำมาลงโดยไม่เคยถามสักคำว่าคนนครชัยศรีเขาเต็มใจหรือไม่?
 
บ้านที่นครชัยศรีทั้งของแม่และของแม่ยายผม จมน้ำมิดไปนานแล้ว แม่ยายผมต้องอพยพหนีตายเข้าไปอยู่ที่เมืองนนท์ ส่วนแม่ของผมเอง ตอนแรกผมชวนท่านเข้าไปอยู่ใน ''พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง'' แต่ชวนได้ไม่ถึง ๒ วัน พิพิธภัณฑ์จมน้ำจนไม่เหลือที่ให้ซุกหัวนอน แม่ผมต้องตะเกียกตะกายไปอาศัยบ้านข้าง ๆ อยู่ โดยที่ผมช่วยเหลืออะไรแม่ยังไม่ได้เลย
 
ผมอพยพครอบครัวมาพึ่งชายคาเมืองเพชรบุรีหลายวันแล้ว
 
ไม่มีอะไรทำก็เข้าไปที่หมวดดุริยางค์ทหารบก มณฑลทหารบกที่ ๑๕ จังหวัดเพชรบุรี ติดสอยห้อยตามทหารนักดนตรีไปแสดงปลอบใจพี่น้องคนอพยพเหมือนกัน หัวอกเดียวกันตามศูนย์อพยพผู้พักพิงต่าง ๆ
 
ไปร้องเพลงลูกทุ่งเก่า ๆ ให้เพื่อนพี่-น้องคนไทยได้ฟัง ร้องไปร้องไห้ไปหัวเราะไปเหมือนคนบ้า!
 
๕ โมงเย็นถ้าไม่ได้ไปไหนก็ไปเตะฟุตซอลบ้าง เตะตะกร้อบ้าง ตีปิงปองบ้างกับทหาร
 
ทำอย่างนี้มา ๗-๘ วันแล้วครับโดยไม่รู้อนาคตว่าจะต้องทำอย่างนี้ไปอีกกี่วัน?
 
ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ เมื่อวันก่อนนี้ผมไปปลอบขวัญพี่-น้องผู้อพยพที่แก่งกระจาน เมืองเพชรบุรี ที่อุทยานแห่งชาติซึ่งเราเพิ่งสูญเสียเฮลิคอปเตอร์ไป ๓ ลำ ที่นั่นมีผู้อพยพไปกางเต็นท์นอนอยู่มากกว่า ๔-๕๐๐ คน
 
แต่ไม่มีอาหารให้ผู้อพยพกินเลยแม้แต่มื้อเดียว!
 
นี่มันอพยพไปให้เขาอดตาย หรืออพยพไปเพื่อให้เขาเข้าป่าล่าสัตว์ตกปลากินกันเองหรืออย่างไร
 
จะหาคำตอบจากใครดีล่ะครับ ก็ผมก็เป็นคนอพยพเหมือนกัน!
 
 ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 17 พ.ย. 11, 14:49

เห็นใจทุกท่านที่ตั้งตัวไม่ติดเรื่องเก็บข้าวของหนีน้ำ    เพราะไม่เคยเจอน้ำท่วมรวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้มาก่อน      ชาวบ้านเกือบทุกบ้านที่น้ำท่วมเมตรกว่าขึ้นไป  ล้วนบอกว่าเก็บของหนีไม่ทัน    เอาชีวิตรอดมาได้ก็บุญแล้ว
ปัญหาคือน้ำท่วมแบบนี้เมื่อเกิดได้หนหนึ่ง  ก็มีสิทธิ์เกิดอีกต่อไป   ด้วยภาวะโลกร้อนและอากาศเมืองไทยที่อยู่ในโซนสุดขั้ว    ฝนหนักแล้งหนัก    ต้นปีหน้า น้ำลดเมื่อไรก็ต้องเตรียมตัวกันได้แล้วว่า ถ้าน้ำมาแบบนี้อีก  จะรับมือกันด้วยวิธีใด  ถือหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน   อย่าหวังพึ่งหน่วยงานใดๆ เพราะในยามฉุกเฉิน  คนช่วยมีเป็นหมื่นก็จริง แต่คนรับความช่วยเหลือมีเป็นล้าน   เขาอาจจะมาช่วยเราไม่ทัน

อย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ สำหรับพวกเราที่รักหนังสือยิ่งกว่าของมีค่าใดๆ  คือ
1   คัดเลือกหนังสือเป็น 2  ส่วน   ส่วนที่ต้องเก็บไว้  และส่วนที่บริจาคไปได้    ตัดใจว่าเล่มไหนคงไม่ค่อยได้ใช้ไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วไม่ได้ติดใจจะอ่านอีก   ก็บริจาคให้ผู้อื่นที่อาจใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า
2   เมื่อเหลือหนังสือที่คัดเลือกแล้วว่าต้องเก็บไว้แน่ๆ  ทิ้งไม่ได้   ก็ต้องเก็บไว้ในที่สูง ต่อให้น้ำท่วม 2-3 เมตรก็ยังปลอดภัย     
3   เล่มไหนสำคัญมาก  ทำเป็นไฟล์ให้หมด     (จะด้วยใช้เครื่องสแกนหรือถ่ายรูปไว้ก็ตาม)   ค่อยๆทยอยทำไปวันละเล็กละน้อย   เสร็จแล้วเอาลงคอมพ์ หรือลง external disk  ซึ่งเอาติดตัวไปได้ง่ายมากเวลาเจอภัยธรรมชาติ  หรือจะสร้างโฟลเดอร์เก็บไว้ในเมล์ก็ได้   เมล์บางตัวอย่าง gmail มีที่ให้เก็บเหลือเฟือ  ต่อให้คอมพ์ประจำตัวเสียหาย เราก็ไปเปิดดูจากคอมพ์เครื่องอื่นได้
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 19 พ.ย. 11, 20:18

.


มีข่าวว่าในบางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมขังนานมาก..........................เกือบปี.....?
ทำตลาดน้ำแบบสมัยก่อนซะเลยดีไหมเอ่ย?
แปลงวิกฤติเป็นโอกาสเสีย!


"
 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 19 พ.ย. 11, 22:05

ข่าวหนึ่งที่มักปรากฏซ้ำๆกันในเวลาน้ำท่วม คือข่าวชาวบ้านรื้อกระสอบทรายที่กั้นน้ำ   เพราะทนแช่ในน้ำเน่าต่อไปไม่ไหว ขณะที่เขตติดกันน้ำลดลงมากหรือแห้งไปแล้ว  แต่ทางเขตพวกเขา น้ำยังท่วมอยู่
ล่าสุด  ชาวบ้านลาดสวาย อ.ลำลูกกา กว่า 200 คน บุกรื้อแนวกระสอบทราย บริเวณคลองหกวา แต่ถ้าน้ำไหลผ่านแนวกระสอบทรายไปได้เมื่อไร  ก็จะไปท่วมบริเวณสายไหมที่อยู่ติดกัน   ชาวสายไหมก็ไม่ยอม
ตอนนี้ได้ข่าวว่าทางการยอมเปิดประตูน้ำ ระบายน้ำออกมากขึ้นแล้ว    เป็นอันระงับศึกลงไปได้

จำได้ว่าปี 38  แถวฝั่งธน น้ำท่วม ก็เกิดเหตุการณ์รื้อกระสอบนี้เหมือนกัน   เพราะอีกฟากหนึ่งถนนแห้งสนิท   พวกที่น้ำท่วมอยู่ทนไม่ไหวรื้อกระสอบที่กั้นข้างถนนออก   ผลคือสองฟากน้ำท่วมเท่ากัน  แต่ฝ่ายแรกน้ำไม่ยักลด เพราะเป็นน้ำที่ขึ้นสูงจากแม่น้ำเจ้าพระยา

อินทรเนตรบันทึกว่า ปี 2549 เมื่อน้ำท่วมจ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านหันตราประมาณ 900 ครัวเรือน ถูกน้ำท่วมหนักพากันไปรื้อกระสอบทรายกั้นน้ำบริเวณประตูน้ำวัดกระสังข์ ที่อ.อุทัยที่อยู่ติดกัน เนื่องจากไม่พอใจพื้นที่ของตน รวมทั้งอำเภออื่นๆของจังหวัดถูกน้ำท่วมหมด ยกเว้น อ.อุทัย ที่น้ำไม่ท่วม
 ผลคือน้ำทะลักท่วมเรือนจำ โรงงานผลิตชนวนระเบิด กองวัตถุระเบิด สรรพาวุธ กองทัพบก และศูนย์วิจัยข้าว ซึ่งมีข้าวที่กำลังตั้งท้องเนื้อที่กว่า 100 ไร่ แต่น้ำไม่ไหลเข้าพื้นที่ อ.อุทัย เนื่องจากมีการทำแนวป้องกันหลายชั้น

น้ำคงไม่ท่วมในปี 2554 เป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน  คำถามคือปัญหารื้อกระสอบทราย   มีการป้องกันล่วงหน้าหรือยัง   หรือว่ารื้อทีก็เจรจากันที  แก้ไขกันที   ต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า



 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:10

เพิ่งจะทราบถึงชะตากรรมของนักเขียนอีกท่านหนึ่ง คุณอาริตา (หรือพัดชา)  ขอแสดงความเสียใจด้วยกับการสูญเสียที่ล้ำค่ามหาศาล

คลังหนังสือนักเขียนเมื่อน้ำมาน้ำตาท่วม

“ยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตดี” เจ้าของนามปากกา อาริตา ตอบด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อถามถึงคลังหนังสือมหาศาลที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย

“เขียนหนังสือก็เขียนไม่ออก ได้บรรทัดสองบรรทัดก็ต้องหยุด นวนิยายที่เขียนส่งนิตยสารก็ต้องบอกบรรณาธิการว่า ต้องขอพักสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อน ยังมึนอยู่กับเหตุการณ์ ยังทำอะไรไม่ได้”

“อาริตา” หรือ ทัศนีย์ คล้ายกัน เจ้าของสำนักพิมพ์ ลีลาบุ๊คส์ เป็นนักเขียนนวนิยายและเจ้าของสำนักพิมพ์ มหาอุทกภัยปี พ.ศ.2554 นี้ ทำให้เธอสูญหนังสือหลายหมื่นเล่ม แถมบ้านอีก 3 หลัง จมอยู่ในน้ำอย่างไร้ทางป้องกันใดๆ

ตัวเธอเองต้องกระหืดกระหอบหนีเอาตัวรอด ไปเช่าคอนโดฯ อยู่ในจังหวัดชลบุรี และยังอยู่ในสภาพอกสั่นขวัญหาย “น้ำมาเร็วมาก เร็วจนเราทำอะไรไม่ทัน คว้าได้แต่โน้ตบุ๊ก แล้วรีบพาแม่ออกมาจากบ้านเพื่อเอาตัวรอด”

บ้านของอาริตาหลังแรกที่น้ำจู่โจม อยู่ในหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลประชาธิปัตย์ ตรงข้ามกับตลาดรังสิต “เพิ่งเก็บหนังสือมาจากงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เอามาเก็บไว้ในคลังทั้งหมด ชะตากรรมของหนังสือในงานก็รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร” อาริตาบอก พลางระบายลมหายใจอย่างอ่อนล้า

เธออธิบายว่า คลังหนังสือที่อยู่ในบ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีทั้งหนังสือใหม่และหนังสือเก่า หนังสือใหม่คือ หนังสือที่สำนักพิมพ์เพิ่งจัดพิมพ์ออกมา ทั้งผลงานของตนเอง ผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ

“บางเล่มยังไม่ได้จ่ายค่าพิมพ์ เพิ่งจะพิมพ์ออกมา แล้วเข้าสต๊อกไว้ ยังไม่ทันได้ออกขายเลยสักเล่มเดียว จมน้ำไปหมดแล้ว”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:11

ส่วนหนังสือเก่า “เป็นหนังสือวิชาการ หนังสืออ้างอิง และหนังสือเล่มโปรดที่เราซื้อเก็บไว้ บางเล่มหาซื้อที่ไหนไม่ได้ อีกแล้ว บางเล่มชอบมาก เอามาไว้ที่ที่นอนเลย”

อาริตาฉายภาพเหตุการณ์วันน้ำเข้าบ้านว่า ปกติฝนตกน้ำท่วมอย่างไรก็ตาม จะไม่เกิดปัญหาเพราะมีการป้องกันไว้เป็นอย่างดี แม้ระดับน้ำจะเหนือถนนประมาณ 1 เมตรก็สามารถกั้นอยู่ แต่คราวนี้ไม่อาจทำอย่างที่ผ่านมาได้

“น้ำทะลักเข้ามา เรากั้นไม่อยู่ น้ำค่อยๆ เข้ามาและสูงขึ้นๆ วันแรกเลยคือวันที่แนวกั้นน้ำที่นวนครแตก ระดับน้ำที่เข้ามา แค่วันแรกก็เอารถเข้าบ้านไม่ได้แล้ว”

หลังที่สองอยู่ที่บ้านภัสสร ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

บ้านหลังนี้ “ตัวบ้านใหญ่ใช้เก็บหนังสือ มีห้องทำงาน แรกๆ มีการวางแผนว่าจะไม่ย้ายออกไปไหน หวังเป็นที่อยู่ของคนในครอบครัวทั้ง 6 คน แต่เมื่อถึงวันที่ 20 ตุลาคม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าใจหาย สูงถึง 1 เมตร จึงต้องหนี”

บ้านหลังที่สามของอาริตา อยู่ริมถนนรังสิต-นครนายก “บ้าน หลังนี้ เก็บนวนิยายเก่าๆ ไว้มาก น้ำเข้าไปเป็นหลังล่าสุด มันจมไปอย่างรวดเร็ว ค่าของหนังสือเก่า เราประเมินค่าไม่ได้ แต่ถ้าคิดเฉพาะหนังสือใหม่ไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท นี่ไม่รวมความเสียหายอื่นๆ”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:13

นาทีนี้คิดจะทำอะไรหรือ “เราไม่รู้เลยว่า น้ำจะท่วมเจ็ดวัน สิบห้าวัน หนึ่งเดือน หรือว่าสองเดือน ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าจะท่วมขัง อยู่นานแค่ไหน และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เราเขียนนิยาย เรากำหนดเรื่องราวได้ แต่นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเกินคาดคิด เราไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย” อาริตาบอก

ธรรมชาติเขียนบทชีวิตให้คนบ้างแล้ว

ชีวิตของอาริตาเคยพบน้ำท่วมหนักๆ มาแล้วอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง คือเมื่อปี พ.ศ.2526 และ พ.ศ.2538 สองครั้งนั้นไม่เคยหวาดหวั่น ไม่เคยกลัวและไม่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่คราวนี้ “เราต้องทิ้งบ้าน  รถเมล์ไม่วิ่ง อาหารการกินหาซื้อไม่ได้ เราไม่อาจใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติท่ามกลางน้ำท่วมได้เหมือนเมื่อปีก่อนๆ”

ท่วมครั้งก่อนๆ “เราเดินลุยน้ำไปจ่ายตลาดได้ โอภาปราศรัยกับเพื่อนบ้านได้ ทำงานที่บ้านได้ แต่ครั้งนี้เราต้องหนีออกจากบ้าน ได้มาแต่คอมพิวเตอร์และงานที่อยู่ในเครื่องบรรจุข้อมูลบางส่วนเท่านั้น อย่างอื่นต้องซื้อหาเอาข้างหน้าทั้งหมด”

การตัดสินใจหนีออกจากบ้าน “เราตัดสินใจถูกแล้วที่ออกมาเพราะระดับน้ำที่บ้านสูงมาก สูงขึ้นไปถึงที่นอนเลย ไม่รู้ชะตากรรมบ้านของตัวเองเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้ระดับน้ำเพิ่มไปถึงไหนแล้ว แต่ที่แน่ๆ คนในหมู่บ้านแทบไม่มีใครอยู่แล้ว”

สภาพปัจจุบัน “มันทำให้เราเกิดอาการจิตหลอน มันดราม่าสุดขีด ยิ่งกว่านวนิยายที่เราเขียนเสียอีก”

สาเหตุการท่วมขัง เธอมองว่า การบริหารจัดการน้ำไม่เป็นเอกภาพ การกักน้ำ การปล่อยน้ำไม่มีความสัมพันธ์กัน และย้ำว่า “อย่าคิดว่ารังสิต คลองหลวงเป็นท้องทุ่งนาสิ นักวิชาการบางคนคิดกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ทุ่งรังสิต คลองหลวงเป็นหมู่บ้านหมดแล้ว การกักน้ำ การปล่อยน้ำต้องคิดถึงความเป็นจริงตรงนี้ด้วย”

และที่สำคัญ “การกักน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ อย่างไม่เหมาะสมนั้น นับเป็นความเห็นแก่ตัว ถ้ามีการยอมกันบ้าง เสียสละกันบ้าง ความเดือดร้อนก็จะไม่หนักหนาอย่างนี้”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:14

บรรดานักเขียนที่คลังหนังสือจมน้ำ มิใช่เพียง “อาริตา”ที่ยังช็อกอยู่กับเหตุการณ์เท่านั้น ยังมี ลันนา เจริญสิทธิชัย ที่อยู่บ้านบัวทอง หนังสือจมน้ำนับ 10,000 เล่ม ชีวี ชีวา หรือ จตุพล บุญพรัด ที่บ้านอยู่นนทบุรี และที่หนักหนาสาหัสสุดๆ เห็นจะเป็น สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด

บ้านสุชาติอยู่ข้างเมืองเอก เลยจากตลาดรังสิตเข้าไป ความเสียหายมีทั้งหนังสือ และภาพเขียน

สุชาติ นอกจากจะเป็นนักเขียน ศิลปินวาดภาพ ยังเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง บ้านของสุชาติมีอยู่ 4 หลัง สร้างเป็นบ้านชั้นเดียวให้หนังสืออยู่ถึง 3 หลัง รวมหนังสือในบ้านกว่า 100,000 เล่ม เมื่อน้ำมาอย่างรวดเร็ว นอกจากจะนำหนังสืออะไรออกมาไม่ได้แล้ว ตนเองและครอบครัวก็หนีน้ำออกมาอย่างทุลักทุเล

การซับน้ำตานักเขียนที่คลังหนังสือถูกน้ำท่วมเสียหาย ไพลิน รุ้งรัตน์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกว่า ชาวแวดวงน้ำหมึกน่าจะมีการช่วยกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็อาจเป็นแรง เพื่อเป็นการส่งแรงใจให้แก่กัน

การจะทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างยามนี้ “ยังคิดไม่ออก เพราะมึนกับเหตุการณ์เหมือนกัน อาจจะเป็นการตั้งกองทุน หรือเพื่อการรองรับเหตุการณ์ที่อาจจะมีต่อไป หรือเป็นห้องสมุดเพื่อให้นักเขียนได้นำหนังสือไปฝากไว้ในที่ปลอดภัยก็ได้”

วงการหนังสือในภาวะน้ำท่วม นอกจากนักเขียนถูกน้ำท่วมคลังหนังสือแล้ว สำนักพิมพ์ต่างๆ ยังผวาไปตามๆ กัน เพราะถ้าน้ำเข้าคลังได้เมื่อใด     เมื่อนั้นหนังสือราคาแพงๆจะกลายเป็นกระดาษเปียกน้ำอันไร้ค่าไปทันที.

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
10 พฤศจิกายน 2554, 05:00 น.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:19

คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สูญเสียหนังสือและงานเขียนจากน้ำท่วม  ใจหายและเข้าใจความรู้สึกของคุณศักดิ์ศิริ เมื่ออ่านข่าวนี้  แต่ก็ดีใจด้วยที่ยังมีกำลังใจจะลุกขึ้นมาอีกครั้ง
*****************
ที่พำนักเจ้าของกวีนิพนธ์ชื่อ “มือนั้นสีขาว” อันโด่งดัง ที่เคยใช้ชีวิตเรียบง่าย เขียนหนังสือ เขียนรูป แต่งเพลง นอนเปล และกวาดใบไม้ แต่ต้องอพยพย้ายครอบครัวระหกระเหินหนีน้ำท่วม เจ้าตัวบอกว่าเพิ่งกลับมาดูบ้านได้ 3 วันเท่านั้น ภาพเบื้องหน้าที่ปรากฏคือ เศษซากความฝันที่แตกสลาย

“บ้านผมที่นครสวรรค์นี่ถือเป็นด่านรับน้ำของแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่าน จะไหลมาบรรจบที่นี่ แต่ปีนี้มันไม่ได้มาตามธรรมชาติ มันถูกกั้นไว้ปริมาณมากๆ ก็สะสม แล้วพนังกั้นมันก็ดันมาพังกะทันหัน พื้นที่เห็นแห้งๆ ก็มีน้ำไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วจนถึงเอวแค่เพียงชั่วโมงเดียว รับมือไม่ทัน บ้านจมน้ำทุกหลัง”

ศักดิ์สิริ เล่าว่า แม้บ้านของเขาไม่หรูหราใหญ่โต สมบัติพัสถานก็ไม่ได้มีท่วมเป็นภูเขาเลากา มูลค่าที่ประเมินความเสียหายจึงไม่ค่อยเยอะนัก แต่คุณค่าทางจิตใจที่บอบช้ำต่างหากที่มากมายมหาศาล

“คนมักประเมินค่าความเสียหายกันที่ราคาค่างวดของสิ่งของ แต่สมบัติล้ำค่าของผมที่เสียหายมันประเมินไม่ได้ ตั้งแต่ต้นฉบับงานเขียนที่เขียนไว้ด้วยลายมือที่เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ อันเปรียบเสมือนประวัติการทำงาน เหมือนรอยเท้าที่เราฝากไว้ พอมันหาย ก็ไม่ต่างอะไรจากความทรงจำของเราได้พลาดพรายหายไปด้วย ความฝันของเราถูกน้ำท่วมไปแบบนี้ ไม่รู้จะตีราคาค่างวดได้ไหม

“นอกจากนั้นยังมีหนังสือที่มีลายเซ็นของเพื่อนนักเขียนประทับไว้ จดหมายโต้ตอบกับนักเขียนที่เรารักและเคารพนับถืออย่างกับสิงห์สนามหลวง ชมัยพร แสงกระจ่าง โปสต์การ์ดที่ใครฝากความคิดถึงส่งมาจากทางไกล หนังสือบางเล่มที่แม้หาซื้อใหม่ได้ในเวอร์ชันปกใหม่ แต่สำหรับเราปกเก่าๆ อันนั้นมันมีความหมายลึกล้ำ ส่วนสมบัติที่สำคัญที่สุดคือลายมือของอาจารย์จ่าง แซ่ตั้ง กวีที่ถือเป็นวีรบุรุษของเราที่เขียนไว้ว่าศิลปะคือการทำรูปธรรมของนามธรรมให้ปรากฏ และทำให้นามธรรมของรูปธรรมให้ปรากฏ มันเหมือนคติสอนใจเราในการทำงานมาทั้งชีวิต” น้ำเสียงของเขาฟังดูปล่อยวาง แต่ยังเจือด้วยความเศร้าซ่อนไว้ลึกสุดใจ

“คิดในแง่ดี น้ำท่วมกวาดทุกอย่างไปหมด บ้านก็โล่งดีเหมือนกัน ภาพเศษซากความเสียหายที่ทิ้งร่องรอยไว้ก็ไม่ได้ทำให้สลดหดหู่ คราบไคลความสกปรกนั้น เช็ดถู ทำความสะอาด ไม่นานก็จะลบล้างออกได้ ไม่เป็นไรหรอก”  

จากโพสต์ทูเดย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:27

อีกคนหนึ่งคือวิรัตน์ โตอารีย์มิตร  นักเขียนคอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ญามิลา วนาโศก และปลาอ้วน
 
“อ่วมเหมือนกัน โดนเยอะ น้ำท่วมรอบนี้ยิ่งเสียกว่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2549 อีกที่เมืองอุทัยฯ โดนหนักๆ แค่ 3 วันเท่านั้น เมืองทั้งเมืองก็ท่วมเป็นอันเรียบร้อย” เสียงหัวเราะขันขื่นในลำคอ

“40 วันที่อยู่ในภาวะประสบภัยน้ำท่วมมันเหมือนฝันร้าย เครียดนะ ต้องคอยเฝ้าเครื่องสูบน้ำ ดูมันทำงาน แล้วก็ต้องเหนื่อย ทั้งขนย้ายหนังสือ คอมพิวเตอร์ ข้าวของต่างๆ ขึ้นชั้นบน ก่ออิฐบล็อก คอยวิดน้ำที่ซึมไหลมาจากพื้น ตอนนี้น้ำลดจนแห้งหมดแล้ว ยิ่งเครียดกว่า เพราะซากสกปรก ร่องรอยความเสียหายของเมือง อาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วม มันเป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย” เขาบ่นพึมพำ

“เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์ราว 67 เล่ม ก็โดนผลกระทบไปเต็มๆ บางเล่มก็ขอแคนเซิลไปเลย เขียนไม่ทัน บางเล่มต้องรีบเร่งปิดต้นฉบับ เพราะตอนนั้นน้ำกำลังจ่อเข้ากรุง ผมก็ต้องรีบปั่นต้นฉบับ สมาธิก็กระเจิดกระเจิง มัวพะวงอยู่กับการเฝ้าน้ำ เขียนไม่ค่อยสะดวก ไม่ไหลลื่นเท่าไหร่ แต่ก็เขียนเรื่องน้ำท่วมนี่แหละครับ”
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:35

รายชื่อนักเขียนที่ถูกน้ำท่วม ในครั้งนี้
รวบรวมโดย สื่อในเครือเนชั่น จำนวน 69 ท่าน

จังหวัดนครสวรรค์

          1.ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

          2.ภาณุพงษ์ คงจันทร์

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          1.นพดล ปรางค์ทอง

          2.สายฝน ตรีนาวงษ์

จังหวัดลพบุรี

          1.ปานศักดิ์ นาแสวง

จังหวัดปทุมธานี

          1.เจน สงสมพันธุ์ (สำนักพิมพ์นาคร)

          2.ทัศนีย์ คล้ายกัน (อาริตา)

          3.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

          4.นิวัติ กองเพียร

          5.ภาวินี อินเทพ

          6.พิชัย วาสนาส่ง

          7.สุมิตรา จันทร์เงา

จังหวัดนครปฐม

          1.นิวัต พุทธประสาท

จังหวัดนนทบุรี

          1.ขจรฤทธิ์ รักษา

          2.จตุพล บุญพรัด

          3.วัชระ สัจจะสารสิน

          4.บินหลา สันกาลาคีรี

          5.ธีร หนูทอง

          6.นิภา บางยี่ขัน

          7.ภูวนาถ เผ่าจินดา

          8.อาจินต์ ศิริวรรณ

          9.อนุสรณ์ ติปยานนท์

          10.พินิจ หุตะจินดา

          11.เพชรลดา เฟื่องอักษร

          12.สาโรจน์ มณีรัตน์

          13.อาริยา สินธุ

          14.ประดับเกียรติ ตุมประธาน

          15.ชาติณรงค์ วสุตตกุล

          16.ประพต เศรษฐกานนท์

          17.ประวิตร ว่องวีระ

          18.ทวีทรัพย์ ศรีวโล

          19.เสฐียรพงษ์ วรรณปก

กรุงเทพฯ

เขตดอนเมือง

          1.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

          2.นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์

          3.พิสิฐ ภูศรี

          4 ฐนธัช กองทอง

          5.ศัลยา สุขนิวัตติ์

เขตหลักสี่

          1.อาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

เขตบางเขน

          1.คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

          2.ปรีดา ข้าวบ่อ

เขตคันนายาว

          1.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

          2.พินิจ นิลรัตน์

          3.วาสนา ชูรัตน์

เขตสายไหม

          1.เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

          2.เริงชัย ประภาษานนท์

เขตลาดพร้าว

          1.ธิดา บุนนาค

          2.หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ

เขตจตุจักร

          1.มาลีรัตน์ แก้วก่า

เขตคลองสามวา

          1.วันทนีย์ วิบูลย์กีรติ

เขตบางแค

          1.ประภัสสร เสวิกุล

          2.ประชาคม ลุนาชัย

          3.ศ.ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์

เขตภาษีเจริญ

          1.อาจารย์รื่นฤทัย สัจจะพันธุ์

          2.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ

          3.ศรีโสภา วงศาโรจน์

          4.วรรณา-อเนก นาวิกมูล

          5.เจนภพ จบกระบวนวรรณ

          6.นายจรัล พากเพียร

          7.อัศศิริ ธรรมโชติ

เขตบางพลัด

          1.อโณชา ปัทมดิลก

          2.จิรภัทร อังศุมาลี

          3.ทองแถม นาถจำนง

เขตหนองแขม

          1.จรัญ ยั่งยืน

          2.จิตติ หนูสุข

          3.สุนันท์ พันธุ์ศรี

เขตทวีวัฒนา

          1.รสนา โตสิตระกูล

          2.เรืองเดช จันทรคีรี

เขตตลิ่งชัน

          1.ศักดา วิมลจันทร์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 13:40

ได้ข่าวว่าคุณทองแถมอพยพครอบครัว ลี้ภัยไปอยู่ราชบุรี ค่ะ
คงไม่สะดวกที่จะเข้ามาสนทนาในเรือนไทย  ช่วงนี้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 23 พ.ย. 11, 16:12

ขอแสดงความเสียใจต่อนักเขียนทุกท่าน (หลายท่านเป็นนักเขียนในดวงใจ)

 ร้องไห้

ขออนุญาตต่อตอนที่ ๗ และ ๘

รู้สู้ flood ตอน ๖







 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
jotbot1414
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 14:00

เอาใจช่วยนะๆ
บันทึกการเข้า

เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 25 มี.ค. 15, 09:22

น้ำท่วมในฤดูแล้ง

ฝนหลงฤดูถล่มกรุงเทพฯ น้ำท่วมถนนหลายสาย การจราจรเป็นอัมพาตทั่วกรุง โดยผู้สื่อข่าวรายงานช่วงสายวันที่ ๒๔ มีนาคม เกิดฝนตกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทำให้น้ำระบายไม่ทันเอ่อท่วมถนน การจราจรติดขัด อย่างหนัก เช่น ถนนสุขุมวิท โดยที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา พบชั้นใต้ดินที่เป็นห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต (สาขาโรบินสันสุขุมวิท) เกิดน้ำดันขึ้นมาจากท่อระบายน้ำพุ่งขึ้นท่วมขังสูงราว ๓๐ ซม. ทำให้ชั้นวางสินค้าได้รับความเสียหาย ทางห้างต้องสั่งปิดให้บริการในส่วนชั้นใต้ดิน และประสานงานหน่วยบรรเทาสาธารณภัย กทม. มาร่วมสูบน้ำออกและนำถุงทรายมาทับปากฝาท่อน้ำไว้ ส่วนรอบ ๆ ห้างช่วงถนนอโศกที่อยู่ไม่ไกลมากนัก มีน้ำท่วมขังบนท้องถนนราว ๒๐-๓๐ ซม. ต้องเร่งระบายลงคลองแสนแสบ

ข่าวจาก ไทยรัฐ



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง