เพื่อนร่วมชะตากรรมกับคุณหลวง
เปิดใจ“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เมื่อคลังวรรณกรรมน้ำหมึกล้ำค่า มลายไปกับน้ำท่วมนับแสนเล่ม"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" นักเขียนเจ้าของนามปากกา "สิงห์สนามหลวง" อดีตบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมช่อการะเกด , สังคมศาสตร์ปริทัศน์, โลกหนังสือ และบานไม่รู้โรย เปิดใจกับ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ หลังจากต้องอพยพพาครอบครัวออกจากบ้านย่านรังสิตที่น้ำท่วมสูงจนการอาศัยอยู่ต่อไปเป็นเรื่องแสนเข็ญ
แม้ทุกคนในบ้านจะปลอดภัย แต่ "สุชาติ" บุรุษผู้มีวรรณกรรมเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต กลับต้องทอดทิ้งคลังหนังสือเก่าที่รัก สมบัติทางภาษาอันล้ำค่าจำนวนมากที่ยังกองพะเนินเทินทึกเต็มห้องจมกองน้ำ บางเล่มสำคัญที่น้ำหมึกอาจจางและเลือนหายไปกับน้ำเหนืออันเชี่ยวกราก
วันนี้สิ่งที่ทำได้คือรอความเป็นไปได้ ที่จะกลับไปเก็บผลงานที่เหลือ แต่ความหวังที่จะคืนชีวิตให้กรุหนังสือนับแสนเล่มช่างเป็นเรื่องที่เลือนลางและมิอาจหวังได้เช่นกัน
"สุชาติ"ในวัย ๖๖ ปี เล่าว่า ขณะนี้เขาและครอบครัวได้ย้ายมาพักอาศัยที่ทีวีบูรพา หลังจากบ้านที่เป็นทั้งที่อยู่ และเป็นที่เก็บหนังสือเก่านับแสนเล่ม ตั้งอยู่บริเวณทำนบหลัก ๖ รังสิต ประสบปัญหาน้ำท่วม โดยเรือนบ้าน ๔ หลัง โดยมี ๓ หลังเป็นบ้านชั้นเดียวเก็บหนังสือเก่าที่สะสมมาในรอบ ๕๐ ปีตั้งแต่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๐๕ และ อีก ๑ หลังเป็นบ้าน ๒ ชั้น ซึ่งบนชั้น ๒ เก็บภาพเขียนจำนวนมาก โดยหวังว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากจะกลับไปเก็บภาพเขียนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่
เขาอธิบายถึงที่มาที่ไปของคลังวรรณกรรมที่กระจายอยู่ในบ้านทั้ง ๔ หลังว่า ใช้เป็นที่เก็บสะสมหนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ และนิตยสารรุ่นเก่า ที่ถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ บางเล่มตีพิมพ์เมื่อปี ๒๔๖๘ ปี ๒๔๗๐ ปี ๒๔๗๕ มีหนังสือเก่าอาทิ “ประชามิตร” “เสียงใหม่” “อธิปัตย์” “ประชาธิปไตย” “หนังสือพิมพ์ประชาชาติ” นอกจากนั้น ยังมีหนังสือที่ตีพิมพ์สมัย ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ นวนิยายรุ่นเก่า หนังสืออภินันทนาการและงานปัจจุบันที่เก็บไว้ทั้งผลงานตัวเองและผลงานของ “ศรีดาวเรือง” ภรรยา และมีหนังสือกลุ่มที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามซึ่งเกี่ยวกับความคิดทางสังคมการเมือง นิตยสารบางเล่ม เคยเก็บใส่ถังฝังดินไว้เป็นสิบ ๆ ถังด้วยเหตุผลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในอดีต โดยมีบางส่วนจมไปและบางส่วนก็ยังเหลืออยู่จนกระทั่งผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หากนับจำนวนเล่มทั้งหมดก็น่าจะเป็นแสนเล่ม และมีภาพวาดอีกเป็นหมื่นภาพ
“ผมตั้งใจจะเก็บไว้ให้คนรุ่นต่อไป โดยจะมอบให้ห้องสมุดหรือสถาบันการศึกษา จัดไว้เป็นหมวดหมู่ มีหนังสือการเมือง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” “โลกหนังสือ” นิตยสารทั้งหลาย สารคดี ศิลปวัฒนธรรม ผมสะสมมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕-๒๕๐๖ สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์”
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมสูงจนจมมิดบ้านทั้ง ๓ หลัง และอยู่ระหว่างรอลุ้นทรัพย์สินและสุนัขอีก ๒-๔ ตัว ที่อยู่บนชั้น ๒ ของบ้านอีกหลังหนึ่งนั้น
"สุชาติ" ผู้ผ่านการเป็นบรรณาธิการหนังสือมามากมายเกินครึ่งค่อนชีวิต เล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องปล่อยหนังสือล้ำค่าที่รักจมอยู่กับกระแสน้ำว่า ทั้งครอบครัวช่วยกันยกของขึ้นที่สูงไปบนชั้น ๒ ตั้งแต่ก่อนวันที่ ๒๑ ตุลาคม แต่ก็ประเมินผิด ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมสูงและท่วมอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดต้องใช้แกลลอนเปล่าในการพยุงตัวออกจากบ้าน ซึ่งน้ำขึ้นสูงถึง ๑ เมตรกว่า
"ผมกับภรรยาซึ่งว่ายน้ำไม่เป็นต้องใช้แกลอนผูกพยุงตัวลอยน้ำพร้อมกับลูกชายต้องเกาะต้นกล้วยออกมาด้วยกันพร้อมสุนัขตัวเล็กที่ว่ายน้ำตามมาด้วยอีก ๑ ตัว กระทั่งถึงฝั่ง จึงติดต่อเพื่อนที่ทีวีบูรพาและพักค้างคืนที่ทีวีบูรพาจนถึงขณะนี้"
อย่างไรก็ตาม "สุชาติ" เล่าว่าเขาได้กลับไปดูบ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น (๒๒ ตุลาคม) พร้อมกับทีมงานรายการ “คนค้นคน” พบว่าน้ำขึ้นท่วมบ้านในระดับที่สูงขึ้นไปอีก และระหว่างนั่งเรือกลับออกจากบ้านพร้อมทีม “คนค้นคน” มีสุนัขอีก ๔ ตัว จากที่เลี้ยงไว้ทั้งหมด ๗ ตัว ว่ายน้ำตามมาส่งด้วย โดย ๒ ตัว ว่ายหันหลังกลับไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าทั้งคู่ว่ายน้ำกลับถึงบ้านหรือไม่ ส่วนอีก ๒ ตัว ว่ายน้ำมาถึงทางรถไฟ โดยขณะนี้ไม่ทราบชะตากรรมเป็นอย่างไรเมื่อน้ำสูงข้ามทางรถไฟแล้ว ส่วนอีก ๒ ตัวอยู่ชั้น ๒ ของที่บ้าน ตอนนี้ หากเป็นไปได้ ก็อยากจะมีเรือที่สามารถเข้าไปถึงบ้านได้ เพื่อเก็บภาพวาดที่เหลือพร้อมอุปกรณ์เท่าที่เป็นไปได้และนำสุนัขออกมาในที่ปลอดภัย
“ผมอาจจะประมาท แต่ผมก็ไม่ทราบความเป็นจริง ว่าน้ำจะสูงขึ้นและรวดเร็วขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการแทนที่จะระบายน้ำให้เฉลี่ยกันไป ๕๐:๕๐ แต่มีการมากักไว้บางบริเวณ และไม่ได้รับการแจ้งเตือนความเสี่ยง.. หนังสือที่จมไปแล้วตอนนี้ก็ช่างมัน จมไปหมดแล้ว ผมพยายามช่วยมัน แต่เราไม่รู้ความเป็นจริง ตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปดูบ้าน ซึ่งยังมีสุนัขอยู่บนชั้น ๒ ผมอยากไปเก็บภาพเขียนและอุปกรณ์ หากจะมีอะไรพอเหลืออยู่ ดีกว่าไม่ได้เก็บอะไรกลับมาเลย”สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการแห่งโลกวรรณกรรม ผู้เป็นเจ้าของรางวัลศรีบูรพา พ.ศ. ๒๕๔๐ กล่าวทิ้งท้าย
ทำให้ต้องย้อนนึกถึงถ้อยประโยคหนึ่งที่เขาเคยกล่าวถึง "ภูเขาหนังสือ" ที่เรียงตัวอย่างแออัดในบ้านลอยขึ้นมาในความคิด
"ที่เห็นอยู่นี้เฉพาะหนังสือภาษาไทยนะ ยังมีหนังสือภาษาอังกฤษอยู่ชั้นล่างอีก ตายแล้วเกิดใหม่ก็ยังอ่านไม่หมด"
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว ผู้สื่อข่าวนสพ.ประชาชาติธุรกิจ
