^
^
สร้างวิมานในทะเล
ถมทะเลบางขุนเทียนเร่งกทม.จมบาดาล
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร หนึ่งในนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ศึกษาวิจัยพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมานาน ฟันธงว่า การจะถมทะเลสร้างเมืองใหม่ไม่น่าจะคุ้มค่าการลงทุน!! พร้อมอธิบายว่า ตลอดแนวชายฝั่งบางขุนเทียนกินเนื้อที่ลึกลงไปในทะเล ๑๐ กิโลเมตร เป็นระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร รวมเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือราว ๑.๘ แสนไร่ และหากต้องการถมเต็มพื้นที่ต้องใช้ทรายไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ล้านคิว คำนวณเป็นเม็ดเงินการลงทุนเฉพาะการถมทรายเพียงอย่างเดียวต้องใช้เงินทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๔ แสนล้านบาท
"เนื้อที่เกือบ ๒ แสนไร่ เทียบแล้วใหญ่โตเกินครึ่งของ จ.สมุทรสาคร การถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่เลียนแบบสิงคโปร์และดูไบนั้น ต้องถมให้สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย ๕ เมตร ซึ่งชายทะเลบางขุนเทียนห่างฝั่งไป ๑๐ กิโลเมตร มีความลึกอยู่ที่ ๖ เมตร หมายความต้องถมทรายสูงถึง ๑๑ เมตร ซึ่งต้องใช้ทรายไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ล้านคิวถึงจะถมได้หมด ที่สำคัญจะหาทรายจำนวนมหาศาลมาจากไหน ลำพังทรายที่มีอยู่ในประเทศคงไม่พอแน่" รศ.ดร.เสรีกล่าว
รศ.ดร.เสรียังอธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของดินบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนว่า ดินบริเวณนี้เป็นดินโคลน เกิดจากตะกอนแม่น้ำ มีความอ่อนตัวสูง หากมีการถมดินก็จะเกิดการยุบตัวลงไปอีก โดยในแต่ละปีแม้ไม่มีการถมดินเพิ่ม ยังเกิดการยุบตัวอยู่แล้วเฉลี่ย ๕ เซนติเมตร หากนำทรายหรือดินจากพื้นที่อื่นมาถมจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักเร่งให้เกิดการยุบตัวลงไปอีก มีการคาดการณ์กันว่าหลังถมพื้นที่แล้วน่าจะมีอัตราการยุบตัวสูงถึง ๑๐ เซนติเมตรต่อปี นั่นหมายความว่าหากมีการถมทะเลสร้างเมืองใหม่บริเวณนี้จริง ๆ จะต้องมีการถมทรายเสริมทุก ๆ ปี เฉลี่ยอย่างน้อยปีละ ๕ เซนติเมตร เท่ากับว่าต้องใช้ทรายอีกหลายร้อยล้านคิวต่อปี แล้วเงินทุนมหาศาลจะหามาจากไหน ?!!
ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่าวไทยหลังถมทะเลแล้ว รศ.ดร.เสรี วิเคราะห์ว่า พื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียน ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ มีคลองสำคัญถึง ๕ คลองที่ต้องไหลลงทะเล คือ คลองสนามชัย คลองสรรพสามิต คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองบางใหญ่ ซึ่งคลองเหล่านี้ถูกใช้ในการระบายน้ำเหนือลงทะเล หากมีการถมบริเวณนี้จริง ก็จะเป็นการขวางทางน้ำ จะเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา
"เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือไหลหลากลงมา กรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ต้องจมบาดาล ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ถมทะเลก็จะไปขวางกระแสน้ำทะเล เกิดปัญหาสายน้ำเปลี่ยนทิศทางส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนเหนือ ไล่ไปตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ จ.จันทบุรี ส่วนทางใต้ไล่ตั้งแต่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาในทะเลเสียหาย จะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้" รศ.ดร.เสรี วิเคราะห์
ขัดแย้งกับแนวคิดของการถมทะเลบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียน ซึ่งหวังจะใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาน้ำทะเลกันเซาะชายฝั่ง และแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น รศ.ดร.เสรี ยืนยันว่า การถมทะเลสร้างเมืองใหม่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ยังมีอีกหลายวิธี อย่างการแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกผืนดิน ต้องมีการปลูกป่าชายเลน เพื่อสร้างระบบนิเวศชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติให้ได้อย่างน้อยห่างฝั่งออกไป ๓๐๐ เมตร ซึ่งเมื่อมีป่าชายเลนมาขวางความแรงของกระแสคลื่นก็จะสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้โดยไม่กระทบกับระบบนิเวศ รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ควรเรียกร้องให้รัฐบาลและเขตการปกครองท้องถิ่นตระหนักถึงปัญหาตรงจุดนี้ เพื่อเร่งสร้างคันกั้นน้ำให้เร็วที่สุดเพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลานานถึง ๕ ปี หากเราลงมือทำกันจริง ๆ วันนี้ก็ยังแก้ปัญหาทันอยู่ เพียงแต่เรายังไม่เริ่มเท่านั้น” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
เล็ก ๆ (คันกั้นน้ำ) ไม่ ใหญ่ ๆ (เมืองในทะเล) จะทำ 