คำให้การของชาวกรุงกลางเก่ากลางใหม่พงศาวดารนั้นแม้ทางการมักเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่ก็ยังมีผู้ลอบคัดลอกไปเผยแพร่บ้าง เอาไปทิ้งขว้างบ้างเพราะไม่รู้คุณค่า อย่างฉบับหลวงประเสริฐฯ นั้นก็ไปได้มาจากยายแก่ที่กำลังจะเอาไปเผา เอกสารฉบับนี้ใส่ถุงของบริจาคลอยตามน้ำมาติดบิ๊กแบ็ก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ขณะกำลังก่อสร้างฟลัดเวย์จึงมีผู้พบเข้า เมื่อตากให้แห้งก็อ่านได้ความดังนี้
“ครั้นถึงเดือน ๙ จุลศักราช ๑๓๗๓ ปีเถาะ ตรีศก พระยาหัวน้ำซึ่งยกทัพมาหยุดยั้งอยู่ที่ทำนบเมืองตากหลายเพลาแล้วแลได้ส่งกองหน้าเข้าหักด่านเมืองพิจิตร กำแพงเพชรจนได้ชัยชนะไปหลายบางจึงให้อาณัติสัญญาณแก่แม่ทัพ ซึ่งแยกย้ายกันรอท่าอยู่ ณ ปากทำนบหลายแห่งว่า บัดนี้พระมหานครเพิ่งผลัดเปลี่ยนอัครมหาเสนาบดีมาเป็นสตรีเพศ น่าจะไม่สันทัดการศึกและยังตั้งตัวไม่ติด แม้นว่าเราพร้อมใจกันเคลื่อนพหลพลโยธาเป็นมวลมหาวารีบุกเข้าโจมตี ก็น่าจักยึดได้โดยไม่ยาก ว่าแล้วก็ให้เคลื่อนทัพตีตามรายทางผ่านบางระกำจนเข้ายึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จ
เมื่อสบโอกาสพระยาหัวน้ำก็นำทัพใหญ่น้อยทั้งปวงเคลื่อนลงไปยึดเมืองนครสวรรค์ แล้วผ่านอุทัย ชัยนาท สิงห์บุรี วิเศษชัยชาญ ลพบุรี จนถึงปากทางเข้ากรุงศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาในครานั้น พระมหาวายุนกเต็นและบริวารได้หอบเอาพระพิรุณแสนห่ามาตกหนักทั้งเหนือแลใต้ทำนบติดต่อกันหลายเพลา ทัพพระยาหัวน้ำจึงฮึกเหิมร่าเริงใจยิ่งนัก ไม่ว่าในหรือนอกกรุงศรีอยุธยาไม่เหมือนกาลก่อน คูคลองระบายน้ำก็มีน้อย ราษฎรปลูกสร้างบ้านเรือนขวางทางชลธารา พฤกษาไพรสณห์ที่เคยหนาแน่นช่วยกีดขวางฤๅดูดซับทัพศัตรูก็ตัดเสียโล่งเลี่ยนเตียนราบ ทั้งยังเกิดเขตนิคมคามใหญ่น้อยล้วนประดิษฐานยนตรการอันมโหฬารล้ำค่าขวางทางไว้ ทัพพระยาหัวน้ำจึงถือโอกาสบุกเข้าโอบล้อมแล้วยึดนิคมคามต่าง ๆ ได้ในที่สุด
พระโหราธิบดีพยากรณ์ว่าดวงดาวในบัดนี้เป็นมหาวิบัติฤกษ์ ฝนฟ้าจะยังตกหนัก เดือน ๑๑ น้ำนอง เดือน ๑๒ น้ำทรง มหานทีเบื้องล่างจะช่วยยกตัวหนุนสูงปิดกั้นมิให้ผู้ใดรุกไล่เราลงไปสู่มหาสาครได้ ทั้งใบบอกรายวันแจ้งว่าเสนาพฤฒามาตย์ แลอำมาตย์ฤๅไพร่ในพระมหานครยังหาได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่างตีความแลประเมินขุมกำลังของเราผิดแผกกัน ปุโรหิตด้านอุทก พิรุณ วาตะ แลม้ารถทศพลก็แยกสังกัดหารวมกันติดไม่ แม้จะระดมสรรพกำลังก่อพนังฤๅปราการบีบล้อมเราให้อยู่ในที่จำกัดก็หารู้ไม่ว่ารังแต่จะทำให้เรารวมกำลังตั้งติดเป็นมวลมหาวารีสามารถทะลุทะลวงค่ายคูประตูหอรบแลเจาะไชกำแพงจนทุกอย่างทลายได้โดยง่าย
พระยาหัวน้ำจึงสั่งให้กองกำลังส่วนหน้ารุกไปตีเมืองปทุมแลนนทบุรี ฝ่ายพระมหานครก็สำคัญว่ากองทัพข้าศึกยกมาเพียงเท่านี้ จึงระดมสรรพนาวาน้อยใหญ่ช่วยกันขับไล่ผลักดันดัศกรให้ลงไปสู่มหานทีด้วยสำคัญว่าเอาอยู่ ครั้นถึงฤดูกฐิน พระยาหัวน้ำก็ยาตราทัพลงมาเหยียบหัวเมืองรอบพระมหานครแล้วแยกออกเป็นทัพหน้าบุกเข้าโจมตีบางบัวทองบางกรวยทางตะวันตกทัพหนึ่ง ทัพหลวงเข้ายึดนวนครนิคมคามแล้วรุกไล่ลัดตรงลงมาทางใต้เข้าสู่พระมหานครอีกทัพหนึ่ง ทัพหลังเลี้ยวไปยังคูคลองต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันออกอีกทัพหนึ่ง กะจะปูดาษกวาดไปทั่วทุกถิ่นที่
ทัพหลวงนั้นมีกำลังกล้าแกร่งมากทั้งด้านรี้พล อาวุธ แลปัญญาดุจสำเร็จศิลปวิทยาจากตักศิลาฉะนั้น จึงมุ่งเข้ายึดสำนักศึกษารายทางมาได้ตลอดตั้งแต่สำนักพระมหาเถรวังน้อย สำนักพระธรรมศาสตร์รังสิต สำนักศรีปทุมบางบัว สำนักเกษตราธิบดีบางเขน ค่ายพักพล ค่ายบัญชาการทัพแลทุ่งกำปั่นนภากาศ ทั้งยังแวะสำนักใบบอกทุกแห่งตามรายทาง แล้วแตกทัพหลวงออกเป็นอนุทัพกระทำจรยุทธมุดช่องร่องรูไปตามที่ต่าง ๆ หมายจะแทรกซึมไปทั่วพระมหานครให้จงได้
เป็นที่อนาถว่าการใช้พสุธาในพระมหานครหาได้สมประโยชน์ต่อการป้องปราบปัจจามิตรไม่ อุทกวิถีที่ควรจะขุดลวงให้ศัตรูตกหลุมพรางแล้วใช้พญานาคฤๅเครื่องพยนต์ตลบหลังดันดูดฤๅสูบออกไปลอยคออยู่ในมหาสาครก็ยังหาทำไม่ คันคูรูร่องช่องทางที่พอจะใช้ได้ก็ตื้นเขินมิได้ขุดลอกมานานปีมีแต่มูลฝอยแลวัชพืชอุดตัน มิฉะนั้นก็ถมเป็นสถลวิถีฤๅสร้างกระท่อมทัพถาวรกีดกั้นไว้
ฝ่ายชาวพระมหานครแม้จะประหวั่นพรั่นพรึง จนต่างขับเคลื่อนม้ารถทศพลขึ้นไปอยู่ตามที่ดอน แลก่อสร้างกำแพงทรายกันข้าศึก บ้างก็อพยพหลบออกไปอยู่หัวเมือง แต่ก็ยังมีผู้ร่วมมือกันต่อต้านศัตรู อัครมหาเสนาบดีแลผู้ว่าราชการพระมหานครต่างเร่งทำการในส่วนของตน ชีพ่อทหารพลเรือนแลพลตระเวนพลอาสาออกช่วยราษฎรเป็นสามารถ ฝูงปู่ครูเถรมหาเถรหลายสำนักต่างพยากรณ์กำลังข้าศึกเป็นที่ครึกครื้น แม้กระนั้นพวกปล้นสะดมงัดแงะทรัพย์สินราษฎร กักตุนข้าวปลาอาหาร ขึ้นสนนราคาสินค้า ยักยอกของอันท่านบริจาคจนถึงควบคุมกุมภีร์แลอสรพิษไม่อยู่ปล่อยให้หลุดรอดออกมาคุกคามราษฎรก็มีอยู่ทั่วไป
ครั้นเข้าเดือนอ้าย พระยาท้ายน้ำผู้ยิ่งด้วยมหิทธานุภาพเห็นว่าบัดนี้สิ้นวสันตฤดูแล้ว พระยาหัวน้ำคงอ่อนล้าเต็มที จำเราจักนำทัพตามลงไปเป็นที่สุด มาตรว่าพระยาหัวน้ำพลาดพลั้งก็ยังพอเข้าเผด็จศึกตลบหลังได้ แต่ถ้ายังไม่สบโอกาสก็จะรั้งรออยู่ก่อนจนกว่าวสันตฤดูใหม่มาถึง บัดนั้นอาณาประชาราษฎรคงยังหาเสพสามัคคีรสกันไม่ อาจลืมรสแห่งยุทธนาการแล้ว อุทกวิถีขับไล่ข้าศึกก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ว่าแล้วพระยาท้ายน้ำก็เร่งยาตราทัพตามลงไป”
เป็นอันสิ้นสำนวนที่พออ่านได้ไม่เลอะเลือนเพียงเท่านี้.
คัดลอกมาจาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 