เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6015 "ท่านอาจารย์วงศ์ทิพย์สุดา ไม่ต้องการอะไรของใครเลย"
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 10 ต.ค. 11, 22:45



เล่าโดยคุณหรรษา  บัณฑิต    ในหน้า  ๑๗๕ - ๑๗๗  ในหนังสืออนุสรณ์ 

"๑๐๐ ปี   ท่านอาจารย์วงศ์ทิพย์สุดา  เทวกุล   ๑๒ พฤศจิกายน  ๒๕๓๗"


       คุณหรรษา "เป็นผู้หนึ่งที่เคยใกล้ชิดองค์ท่านอาจารย์   เคยได้รับพระกรุณาและความห่วงใยอยู่เสมอ

แสดงให้เห็นพระอัชฌาสัยที่แท้อันควรแก่การสรรเสริญยิ่ง        ดังจะยกมาเล่าเป็นส่วนหนึ่ง"

"เพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มิเคยได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด   จะได้รู้จัก  "ท่านอาจารย์  ผู้ทรงคุณธรรมสูงส่งพระองค์นี้มากขึ้น

อันเป็นจุดมุ่งหมายของคณะผู้ทำ"



หน้า ๑๗๖     เรื่องท่านอาจารย์กับโรงเรียน

       "เมื่อคราวเปิดหอประชุม   ท่านอาจารย์ทรงปลาบปลื้มมากที่ได้รับพระราชทานนามหอประชุมอันมีเกียรติว่า   "หอประชุมวไลยอลงกรณ์"

ตามที่กราบบังคมทูลขอไป   เวลานั้นพอดีกับข้าพเจ้าเป็นนายกสมาคมอยู่   รับสั่งให้ไปหาฤกษ์เพื่อทำพิธีเปิด         ข้าพเจ้าจึงเอา

ดวงชะตาของท่านไปให้ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผิน) วัดบวรนิเวศวิหาร ดู   เพราะในเวลานั้นโหรหาฤกษ์แล้ว   ท่านเจ้าคุณพรหทมุนีื  ท่านแม่นมาก   


ครั้งแรกไม่ได้บอกว่าดวงของใคร      ท่านรับเอาไปดูสักครู่ก็พูดว่า


"ดวงนี้แปลก   ไม่ต้องพึ่งใคร   มีแต่ให้คนอื่นพึ่ง   ใจดีด้วย  มีเกียรติมาก"

ข้าพเจ้าทำเป็นถามว่า  เมื่อไรจะได้ลาภ


ท่านเจ้าคุณพรหมมุนีตอบว่า   "ทำไมคุณถามอย่างนั้น     ดวงนี้ไม่ต้องการอะไรของใครเลย   ลาภก็มีอยู่แล้วตลอดเวลา   รวยด้วย"

แล้วท่านพูดต่อว่า   "ดวงของคนคนนี้   จะยินดีรับลาภก็แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น          ไม่ยินดียินร้ายกับเงินทองของใครหรอก

นี่คุณเอามาทำไม   คนคนนี้เป็นใคร"


       ข้าพเจ้าเลยกราบลงกับพื้นแล้วเรียนท่านตามตรง  ว่าเป็นดวงของท่านอาจารย์ข้าพเจ้ามาหาฤกษ์เพื่อเปิดหอประชุมโรงเรียน

ท่านเลยหัวเราะ  แล้วพูดต่ออีกว่า   "เห็นไหม   อาตมาบอกแล้วว่า   ดวงนี้ต้องรับลาภจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น  จึงจะพอใจ"

ใครจะคิดว่าทุกอย่างนั้นเป้นไปจริงตามที่ เจ้าคุณพรหมมุนี  ตรวจดวงชะตาเมื่อเก้าปีมาแล้ว   แม้ว่าลาภนั้นจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วหนึ่งวันก็ตาม"




 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 09:30



       "เรื่องการใช้จ่ายของโรงเรียนแล้ว    ท่านอาจารย์ทรงรอบคอบที่สุด     จนบางครั้งข้าพเจ้าทูลว่า

คงไม่มีอาจารย์ใหญ่ที่ไหนเหมือนท่านอาจารย์อีกแล้ว    ถ้าเงินส่วนพระองค์แล้ว   ทรงจ่ายได้ไม่เสียดาย

ใครเจ็บไข้  ประทานหมอ  ประทานยา   ใครทำบุญวันเกิดวันตายประทานช่วยทำบุญ   ประทานเงินค่าเล่าเรียน

แก่เด็กที่ไม่มีเงินเสีย   แล้วไม่เคยรับสั่งบอกใครเลย     แต่ส่วนเรื่องเงินของโรงเรียนแล้ว  เป็นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว

วันหนึ่งเสด็จไปกับข้าพเจ้า  รับสั่งให้แวะไปสพานหันหน่อย         คราวนั้นข้าพเข้าเพิ่งกลับมาจากจังหวัดปราจีณ

ก็ตามเสด็จเข้าไปจนถึงสำเพ็ง        นึกว่าจะทรงซื้ออะไร         ทรงซื้อกระดาษฟางเป็นจำนวนมาก      ข้าพเจ้า

ทูลถามว่าซื้อไปทำไม   รับสั่งว่าจะเอาไปให้โรงเรียนใช้ (นักเรียนประจำ)   แล้วให้เจ๊กขนมาใส่รถ   เจ๊กขนไม่หมด

ทรงหิ้วเอง        กระดาษนั้นหนักมาก         ข้าพเจ้าก็หิ้วเต็มสองมือแล้วเดินพลางอดบ่นไม่ได้       ทำไมท่านแม่

ต้องทรงมาซื้อเอง   ครูมีตั้งหลายคน  ไม่ให้มาซื้อ            ตอนนี้กริ้วข้าพเจ้าใหญ่     

"ส่งมาเถอะ  จะหิ้วไปเอง      บ่นไปได้  หรือถือว่าเป็นคุณนายข้าหลวง   กลัวใครเขาจะเห็น   อายหรือ  ส่งมานี่"   

หัตถ์ยังว่างอีกข้างหนึ่ง   เสด็จเข้ามาดึงมัดกระดาษฟางไปจากข้าพเจ้า ๆ เลยทูลว่าทีนี้ไม่บ่นอีกแล้ว   แต่ข้าพเจ้าก็แอบมาบ่นอีกจนได้

ว่าทำไมท่านอาจารย์จึงเสด็จไปซื้อกระดาษฟางเอง            คุณครูท่านหนึ่งบอกว่า       ท่านชอบเสด็จเอง   คนก็มีถมไป

แต่ว่าเสด็จเองแล้วซื้อได้ถูกกว่าคนอื่น   และจะได้รู้ราคาตลาดเพื่อเซฟเงินโรงเรียนด้วย   


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 09:42



       อีกวันหนึ่งให้ข้าพเจ้าพาเสด็จไปเวิ้งนครเกษม          ข้าพเจ้าจะถามว่าจะทรงไปซื้อกระดาษอีกหรือยังไง

ก็กลัวถูกกริ้ว   ไม่กล้าถาม   เดินตามเสด็จไปเงียบ ๆ         เสด็จไปเข้าร้านโปเกหลายร้าน   ในที่สุดข้าพเจ้า

ก็ได้รู้ว่า   ทรงซื้ออะไร       ผ้าผวยเก่า ๆ   เวลาเจ๊กคลี่ของถวาย   ข้าพเจ้าต้องเอามือปิดจมูก   กลิ่นสะอาดมันไม่มี

แล้วคุณนายข้าหลวงก็ต้องหิ้วห่อผ้าผวยเก่า ๆ เหล่านี้มาขึ้นรถ        อดไม่ได้จริงๆจึงทูลถามว่า   ทรงซื้อไปทำไม

คิดว่าจะซื้อไปแจกคนงานก็คงไม่ใช่  เพราะราคามันถูกและกลิ่นแย่มาก           รับสั่งตอบอย่างภาคภูมิพระทัย

ที่ซื้อได้ถูกและสมประสงค์ว่า    เอาไปซัก  แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ   ทำผ้าขี้ริ้วถูโรงเรียน        ผ้าขี้ริ้วเปลืองมาก

ต้องใช้ผ้าอย่างนี้   ถูกดีหน่อยแล้วทนด้วย         ข้าพเจ้านิ่งเงียบไปเลย"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 12:57



สำนวนชวนรำลึก

       สำนวนของหลาย ๆ ท่าน   เขียนถวายความรำลึกถึงท่านอาจารย์ในโอกาสต่าง ๆ กัน


คำสดุดีจาก หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ  โสณกุล

    ท่านเป็นคนดีจริง   ใคร ๆ ก็นิยมชมชอบ    รู้สึกนิยมนับถือท่านมาก   ในความสุจริต  ในน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ในอัธยาศัยอันเพียบพร้อมไปด้วยอุดมคติสูง        และความเพียรพยายามอันล้ำเลิศ       แม้นจะเป็นคนรุ่นราวคร่าวเดียวกัน   

ข้าพเจ้าก็มีแต่ความนิยมและความเคารพยำเกรงท่าน



ม.ร.ว. บุญรับ  พินิจชนคดี

     ท่านอาจารย์องค์นี้  ข้าพเจ้าเคยเห็นมาตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก   ทรงมีพระอัธยาศัยสุขุม เยือกเย็นโอบอ้อมอารี

ทรงเตือนข้าพเจ้าอยู่เสมอ      เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็กซน      จะเห็นได้ว่าทรงมีพระนิสัยเป็นครูมาตังแต่พระชันษายังน้อย

และได้ทรงเป็นอาจารย์ที่ดี   น่าเคารพในสมัยที่เป็นครู   ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้



คุณหญิงดิฐการภักดี

       สำหรับข้าพเจ้าเองพูดได้ว่ามีความสำเร็จในการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปต่างประเทศในครั้งนั้น   ก็เพราะท่านอาจารย์ได้ประทานกำลังใจเป็นเหตุหนึ่ง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ต.ค. 11, 09:40



จดหมายเหตุของโรงเรียนราชินีบนที่ทรงบันทึกไว้ด้วยลายพระหัตถ์  ตั้งแต่ปี พ.ศ.​๒๔๗๒

ขอคัดลอกสิ่งที่น่ารู้และความพิเศษของโรงเรียนที่มีประวัติอันเกรียงไกรยาวนาน


หน้า ๕๙

พระยาเทววงศ์  เจ้ากรมให้นาฬิกาตั้งเรือนใหญ่เป็นสมบัติของโรงเรียน ๑ เรือน


ครูผู้ชายที่มาสอนวิชาต่างๆคือ

พระเรี่ยมวิรัชพากต์     สอนภาษาฝรั่งเศส

ขุนจำนงพิทยประสาท     สอนวิทยาศาสตร์  เคมิสตรี

หลวงอิงคศรีกสิกร     สอนพฤกษศาสตร์

ขุนอาจดรุณวุฒิ     สอนการคำนวน

หลวงชวลักษณ์    สอนชวเลข


(นักอ่านหนังสือเก่า ค้นเพิ่มเติมจาก หนังสือ "พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราข ๒๔๗๔

คุณพระเรี่ยมวิรัชพากย์(เรี่ยม  ทรรทรานนท์)  ได้เคยนำประวัติของท่านมาลงไว้ใน "เรือนไทย"
และได้ขออนุญาตคุณริชาร์ด ใจสิงห์นักสะสมที่เคารพสูงสุด  เข้าไปดูพจนานุกรมฉบับแรกของท่าน   นักสะสมเมตตาอนุญาต
แต่นักอ่านพะรุงพะรังด้วยขบวน  ยังไม่ได้ไป

ขุนจำนงพิทยประสาท (เสนอ  ฉลองวิทย์)   รองอำมาตย์โท    ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย   จังหวัดพระนครกลาง

ขุนวิรุฬจรรยา (จันทร์   เงินมาก)   รองอำมาตย์โท    ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย   จังหวัดพระนครกลาง

หลวงอิงคศรีกสิกร  (เอี้ยง  ต่อมาเปลี่ยนเป็น อินทรี   จันทรสถิตย์) อำมาตย์ตรี   อาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม
จังหวัดนครราชสีมา   M.S. Agri.     ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในวงการเกษตรของประเทศไทยมากมาย  ไม่สามารถนำมาลงได้
ในที่นี้เพราะเนื้อที่ไม่พอค่ะ

ขุนอาจดรุณวุฒิ    (เนย   การุณยะวณิช)   รองอำมาตย์โท   สังกัดกระทรวงธรรมการ

หลวงชวลักษณ์   ราชทินนามที่ใกล้เคียงที่สุดคือ  หลวงชวลักษณ์ลิขิต(ดำเนิร   จิตรกถึก)  รองเสวกเอก   นายเวรกองทะเบียน
กรมพระอาลักษณ์  กรมราชเลขาธิการ     กราบขออภัยทายาทของท่านถ้าเกิดผิดพลาดประการใด  เพราะในตำราไม่มีหลวงชวลักษณ์อื่นใด)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ต.ค. 11, 10:17



จดหมายเหตุ

๗ เมษายน ๒๔๗๒

ได้รับเงินจากพระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ  อธิบดีกรมพระคลังข้างที่    เป็นเงินที่สมเด็นพระเจ้าพี่นางเธอ 

เจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินทรธรทรงพระกรุณาประทานบำรุงโรงเรียนในปี ๒๔๗๒ นี้   สำหรับเป็นค่าเงินเดือน

คนงาน  ค่าน้ำกับค่าไฟฟ้ารวมทั้งปีเป็นเงิน ๒๔๐๐ บาท


๑๗/๒/๗๒

วันนี้เป็นวันแรกเปิดโรงเรียน     ได้มีการพิธี คือ

๐๘๓๐  นาฬิกา      พระสงฆ์ ๕ รูป  มีเจ้าคุณเทพมุนีวัดเบญจมบพิตรเป็นประมุข  ได้เจริญพระพุทธมนต์แล้วก็รอพระฤกษ์อยู่

๐๙๐๐  นาฬิกา      พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธิศิริโสภา   เสด็จแทนพระองค์พระเจ้าพี่นางเธอ(มีหม่อมเจ้าหญิงนงลักษณ์ทัศนีย์

                       หม่อมเจ้าหญิงเถาทองตรา   กับนางสาวสายใจ  ณ มหาชัย   โดยเสด็จด้วย)



๑๒/๔/๗๓          ทุกวันเสาร์ตั้งแต่ ๙ นาฬิกาเป็นต้นไป   หลวงประดิษฐ์ไพเราะจะมาสอนดนตรีแก่นักเรียนที่สมัครจะเรียน

                      และทุกวันพุธตอนบ่ายเวลา ๑๕ - ๑๗ นาฬิกา           ถ้าติดราชการมาไม่ได้   นางสาวชิ้น  ศิลปบรรเลงจะมาแทนตัว


๔/๔/๗๕            กระทรวงธรรมการแจ้งว่า  นางสาวสายหยุด  เก่งระดมยิง  สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้เป็นที่ ๓   
                      จะได้ไปเรียนวิชาต่างประเทศโดยทุนของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ต.ค. 11, 10:59



พ.ศ. ๒๔๗๘

๑๖/๘/๗๘        วันนี้เวลา ๑๐.๓๐  หลวงบริบาลเวชกิจกับนายแพทย์ฟื้น  บุณยรัตเวช    มาที่โรงเรียน
                    ขอให้พาไปดูโรงสีหลีเคี่ยนจั่นที่ทำข้าวนึ่ง   ส่งกลิ่นเหม็นมาถึงโรงเรียน


๑๕/๘/๗๘        ในปีนี้น้ำท่วมมากกว่าทุกปี    ขึ้นท่วมถึงถนนและสนามหน้าโรงเรียน

๓๐/๘/๗๘        วันนี้น้ำท่วมมาก   ถนนหน้าโรงเรียนก็ท่วมหมด



พ.ศ.  ๒๔๗๙

๒๘/๖/๗๙         วันนี้  นักเรียนตามชั้นต่าง ๆ รวม ๓๐ คนเศษ  กับครูบางคนไปโรงเรียนล่างในงานฉลอง  น.ส. ฉลบชลัยย์  มหานิรานนท์
                     
                     ที่สอบชิงทุนเล่าเรียนแผนกอักษรศาสตร์ได้ที่ ๑   และจะได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ


๑๒/๙/๗๙         สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า   เสด็จมาทรงฟังโต้วาที     ของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่แปด  ญัตติที่ว่า   "นิ่งดีหรือพูดมากดี"
                     
                     เสด็จมาเวลา  ๐๙๔๐ น.    เสด็จกลับเวลา  ๑๐๔๕ น.       


๒๕/๑๐/๗๙       ครู ๒ คนไปสอบอ่านพูดอังกฤษ  และอ่านพูดฝรั่งเศส

๑๔/๑/๗๙         วันนี้คนสวนกับคนงานช่วยกันตัดต้นไม้ใช้แทนฟืนของโรงเรียน

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ต.ค. 11, 11:47



พ.ศ. ๒๔๘๑

๘/๘/๘๑            นักเรียนที่เกิดปีฉลูสหะชาติ   จะต้องไปเข้าแถวต้อนรับพระเจ้าอยู่หัว  ในวันที่ ๑๕ เดือนนี้
                 
                      มีการซ้อมรับเสด็จในวันที่ ๑๑ นี้ด้วย


๑๖/๑๑/๘๑         โรงเรียนปิดเนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทรสิ้นพระชนม์


๒๔๘๔ - ๒๔๘๕     

๑๗  พค.            เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนนี้   งานพระเมรุสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า  กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร   

                      ครูโรงเรียนนี้ ๙ คน  กับนักเรียน ๖๓       ได้เข้ากระบวนเดินตามพระศพ  ไปสมทบกับ

                      ครูและนักเรียนโรงเรียนราชินีล่างด้วย
 

๓๐ กันยา           น้ำเริ่มท่วม

๑ ตค                น้ำท่วมมากขึ้น

๒ ตค                น้ำท่วมมากขึ้น

๓ ตค                วันนี้วันเสาร์   โรงเรียนปิดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป   เนื่องในเหตุน้ำท่วมมากขึ้น

                       การไปมาไม่สดวกอย่างยิ่งเป็นลำดับ


พ.ศ.  ๒๔๘๘ - ๒๔๘๙

๙  มิ.ย.             วันนี้ได้ทราบข่าวอันน่าสลดใจและเสียใจอย่างสุดซึ่งของชาวเรา

                       ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต  เวลา ๙.๐๐  น.

                       (ตามคำแถลงการณ์ของรัฐบาลว่าเป็นโดยอุปัทวเหตุมี่ทรงลูบคลำปืน  แล้วปืนลั่น)


๑๐ - ๑๖  มิ.ย.      เนื่องด้วยการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   รัฐบาลสั่งให้โรงเรียนทุกโรงเรียนหยุดมีกำหยด ๗ วัน 

                        ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๐  ถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๘๙


๒๖  กค.              โรงเรียนปิด ๑ วัน เพื่อให้นักเรียนไปถวายบังคมะรับรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหืดล

                         นักเรียนไปราว ๑๙๐ คน  ครู ๑๙ คน       ไปถึงเวลา ๐๘๓๐ น.  กลับจวนเที่ยง

                         สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงเพราะไม่ค่อยทรงสบาย

                         สมเด็จพระราชชนนีเสด็จมาให้เฝ้าแทนพระองค์

บันทึกการเข้า
นิชสยาม
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.ค. 14, 23:44

ขอบคุณค่ะ เรียนที่นี่มา14ปี ตั้งแต่อนุบาลจนจบม.6 เพิ่งจะมีโอกาสได้อ่าน ดีใจมากๆเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง