เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 15780 ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 08 ต.ค. 11, 18:57

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   ขณะนี้ บ้านผมกำลังเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากเขตบึงกุ่มซึ่งครอบครัวเราพำนักอยู่ก็สุ่มเสี่ยงต่ออำนาจเกรี้ยวแห่งแม่พระคงคา ผมเลยนึกถึงความหลังสมัยก่อนขึ้นมาได้ นำมาสู่การตั้งกระทู้เพื่อขอรับความรู้จากทุกท่าน ครับ

   พ.ศ. ๒๕๒๖ เด็กชายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ อายุ ๕ ขวบ ยังเพลิดเพลินอยู่กับของเล่น รถบังคับคือสิ่งสุดโปรด เล่นรถไปฟังเสียงฝนฟ้าซู่ซ่าครั่นครืนไป จำได้ว่าเข้านอนสักสองทุ่มเศษโดยมีสำเนียงพิรุณคะนองขับกล่อม จะตื่นมากี่หนก็ยังมิหยุด กระทั่งเช้าจึงเพลาเม็ด แต่พอตกบ่ายก็กระหน่ำชนิดทำนบฟ้าทลาย เป็นเช่นนี้หลายวันครับ ครั้นน้ำท่วม หน้าบ้านก็เอ่อขึ้นมาถึงหน้าแข้ง โชคดี ตอนนั้น คุณตา (ผู้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓) ยังอยู่แหละยังแข็งแรง ท่านเป็นนายช่างใหญ่ ควบคุมการวางกระสอบทรายกั้นน้ำเอง ภายในบ้านจึงไม่โชกชุ่มแม้สักนิด ถึงกระนั้นก็หวุดหวิดเต็มทีครับ  ผมยินเสียงเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทำงานทั้งวัน คุณน้าว่ามีรถยีเอ็มซีของทหารอากาศมารับส่งคนในหมู่บ้านด้วย รามคำแหงระดับน้ำสูงถึงสะเอว (คุณพระช่วย!) โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ต้องเลื่อนไปเปิดภาคเรียนใหม่หลังลอยกระทง ความทรงจำของผมที่หลงเหลือมาก็มีเท่านี้ครับ ท่านผู้อ่านมีความหลังฝังจิตเกี่ยวกับน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ อย่างไรบ้าง โปรดเมตตาถ่ายทอดบันทึกไว้เพื่อเป็นวิทยาทานให้ผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ต.ค. 11, 19:16

ปี พ.ศ. 2526 มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ที่คุณชูพงษ์ได้เป็นลูกพ่อขุนคนหนึ่งที่นี่นั้น เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำลึกกว่า 2 เมตร จนมหาวิทยาลัยต้องปิดการเรียนการสอนไปเกือบ 3 เดือน มั้ง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ต.ค. 11, 22:15

คุณ kaew.ratana เขียนเล่าเรื่องน้ำท่วมปี 2526 ไว้ในอีกเว็บหนึ่ง   เห็นภาพชัดเจนปานประหนึ่งคลิปวิดีโอ  จึงขออนุญาตลอกมาลงในกระทู้นี้ให้ทบทวนความหลังกันค่ะ

     " ยังจำได้ว่า สัปดาห์นั้นไปทำงานที่ทับแก้ว   และต้องพักที่บ้านพักข้าราชการ 2-3 วัน พอถึงเย็นวันศุกร์ก็กลับกรุงเทพฯ ไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อที่บ้าน (โทรศัพท์ราชการใช้ส่วนตัวไม่ได้) หนังสือพิมพ์ก้ไม่มีให้อ่าน เรียกว่า ไม่รู้ข่าวอะไรเลย
      ทุกคนเดินทางเข้ากรุงเทพโดยรถบัสของมหาวิทยาลัย ...พอมถึงเพชรเกษม อีกสัก2-3 ก.ม.จะถึงแยกท่าพระ  รถบัสไม่สามารถวิ่งต่อไปได้เพราะน้ำสูงมาก เราต้องลงเดินกัน  ข้าราชการใส่กระโปรง ใส่รองเท้าส้นสูงเดินจับมือกัน ฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว จนเซไปเซมา 
      ทุกก้าวย่างที่ยกเท้าขึ้น น้ำก็จะซัดรองเท้าให้หลุดจากเท้าได้ทุกก้าว   แถมภาพท่อระบายน้ำที่อาจจะไม่มีฝาปิด หรือบ่อเปิด ก็หลอน กลัวว่าจะก้าวลงบ่อเหล่านี้ โดยไม่รู้ตัว  พากันเดินจับมือกัน เหมือนเด็กอนุบาลต่อแถวรถไฟ จึงทำให้มั่นใจมากว่า หากเกิดอะไรขึ้นจะช่วยกันทัน
      ระยะทาง 2-3 ก.ม.ที่เดินกันใช้เวลาร่วม1-2 ช.ม.กว่าจะมาถึงแยกท่าพระก็ 6โมงเย็นกว่าๆแล้ว     บริเวณแยกท่าพระน้ำแห้ง ...ทุกคนเหนื่อยกันมาก หวังว่าจะมีรถเมล์มาให้เรากลับเข้ากรุงเทพฯได้   แล้วก็มีรถเมล์มาจริงๆแต่เราก็ขึ้นไม่ได้...
      รถเมล์กว่าจะมาแต่ละคันก็ทิ้งช่วงนานร่วม 20 นาที แต่พอเห็นแล้วก็เข่าอ่อน เพราะคนโหนออกมานอกรถ    ทุกคนคงอยากจะถึงบ้านให้เร็วที่สุด ข้อลำใครแข็งก็เหนี่ยวประตูรถเมล์มาได้แม้ตัวจะอยู่นอกรถก็ตาม   รถวิ่งมาถึงทางแยกก็ทิ้งโค้ง มาข้างน้ำหนักมาก เห็นแล้วก็ไม่มีปัญญาจะขึ้นเพราะที่จะวางเท้ายังไม่มี   ก็ยืนรอรถกันต่อไป
     จากท่าพระถึงบางโพ  กว่าจะได้ขึ้นรถก็ค่ำมากแล้ว ประมาณสัก 4 ทุ่ม รถมาถึงแยกเกียกกาย   ปรากฏว่าน้ำท่วมคอสะพาน และอาจจะท่วมตลอดย่านบางโพเพราะใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาเพียงกิโลเดียว   
     สมัยนั้นไม่มีแนวกั้นน้ำ รถไม่วิ่งตรงไปบางโพ จะทำไงล่ะเรา        คิดถึงเพื่อนสนิทที่อยู่วรจักร คงน้าไม่ท่วม ก็ต่อรถไปถึงหน้าบานเพื่อน ราว 5 ทุ่มเศษ ...กดกริ่งเรียกบริษัทของครอบครัวเพื่อน  เป็นตึก 5 -6 ชั้นอยู่แถวนั้น ชั้นล่างทำธุรกิจ  เวลานี้ไม่มีพนักงานอยู่แล้ว...
     เพื่อนมาเปิดประตูรับ เขาทำหน้าตกใจมาก เพระเราไปยืนหน้าซีด ใส่ชุดดำจุดขาว(ไว้ทุกข์ให้คุณแม่)  และมาในเวลาที่เขานึกไม่ถึง....น่ากลัวไหม...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ต.ค. 11, 22:17

(ต่อ)
       รีบบอกเพื่อนว่ากลับบ้านไม่ได้ เขาก็เข้าใจรีบ ชวนเข้าบ้าน ...บอกเขาว่ายังไม่ได้ทานอะไรเลยตั้งแต่เที่ยง จะตายอยู่แล้ว  ขอข้าวกับไข่เจียวสักฟองก็พอ...บ้านนี้เขาอยู่แบบร้านค้า...หมดเวลางานแม่บ้านก็กลับบ้านหมด   จำไม่ได้ว่าวันนั้นทานอะไร ..แต่ก็รอดชีวิตมาได้     รีบโทรบอกทางบ้านว่าไม่ต้องเป็นห่วง ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว 
        รุ่งขึ้นถึงได้กลับบ้าน  โอ้โฮ...น้ำท่วมหนัก ถนนกลายเป็นคลอง มีเรือพายอยู่บนถนน น่าตื่นตะลึงมากค่ะ
        เราอยู่ในสภาพนั้นราวเดือนเศษ จนถึงวันลอยกระทง ก็ลอยกันหน้าบ้านบ้าง บนถนน(คลอง )บ้าง  จำได้ไม่ลืมเลยค่ะ
        ************************
        ดิฉันไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ  แต่จำได้ว่าเพื่อนที่อยู่ตามซอยต่างๆเล่าว่าต้องนั่งเรือออกจากบ้านมาทำงาน    บางคนออกจากบ้าน หิ้วกระโปรงไว้   นุ่งผ้าถุงลุยน้ำออกมา  ถึงปากซอยสู่ถนนใหญ่  ก็ขอเข้าร้านปากซอยเปลี่ยนจากผ้าถุงเป็นกระโปรง เพื่อต่อรถไปทำงาน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ต.ค. 11, 22:42

จำได้ว่ามีพายุเข้าเป็นจำนวนมาก จำได้คือ พายุชื่อ คิม, เฮอร์เบริด์ จึงได้เข้าไปดูข้อมูลพายุรายปีได้ว่า

พายุที่พัดเข้าในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ มีแค่ ๕ ลูกเท่านั้น เดือน กันยายน ๑ ลูก, ตุลาคม ๓ ลูก และพฤศจิกายน ๑ ลูกเท่านั้น

พายุลูกแรกที่เริ่มส่งผลกระทบให้น้ำท่วมเริ่มในปลายเดือนกันยายน ๒๕๒๖ ก่อตัวขึ้นวันที่ ๒๙ กันยายนที่ฟิลิปปินส์มุ่งหน้าเข้าภาคเหนือของประเทศไทยในวันที่ ๓ ตุลาคม เข้าจังหวัดน่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและสลายตัวไป ส่วนหางพายุที่วนเวียงดังกงจักรพาดทับพื้นที่ภาคกลางประเทศ ให้ฝนตกอย่างหนัก

ระหว่างวันที่ ๗  ตุลาคม ๒๕๒๖ พายุก่อตัวขึ้นเป็นดีเพรสชั่นที่ทะเลจีนใต้ พัดเข้าปลายแหลมญวน และเข้าสู่ดินแดนไทยทางอีสานตอนใต้ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ซึ่งอิทธิพลทำให้บริเวณภาคกลางมีฝนตกมาก พายุนี้ชื่อ เฮอร์เบริต์ และสลายตัวไปในดินแดนประเทศไทย

ฝนยังไม่ทันจางหายไปพายุดีเพรสชั่นลูกใหม่ได้ก่อตัวขึ้นที่เดิม ชื่อ “คิม” มุ่งหน้าเข้าเมืองโฮจิมินห์ พายุก่อตัววันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖ และเข้าประเทศไทยที่ปราจีนบุรีในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ผ่านอยุธยา อ่างทอง ออกเมืองกาญจนบุรีวันที่ ๑๙ ตุลาคมและมุ่งหน้าไปพม่าต่อไป

จำได้ว่าฝนตกแบบข้ามวันข้ามคืน ตกตลอดทั้งวัน ส่วนน้ำที่ท่วมนั้นเป็นน้ำเหนือที่สมทบลงมายังกรุงเทพมหานคร
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ต.ค. 11, 22:58

ขณะนั้น ด.ช.หนุ่มสยาม เริ่มขึ้นบ้านใหม่ในที่ซอยศูนย์วิจัย ซึ่งหลังน้ำท่วมคลี่คลายแล้วทำให้ทราบว่า เป็นซอยหนึ่งที่ถูกกล่าวขานจากสังคมว่าเป็นซอยที่น้ำท่วมลึกถึงเอว หน้าอก แต่ข้าพเจ้ากลับรอดมาได้เพราะอยู่ต้นซอย ไม่ได้เข้าลึกไปกลางซอยซึ่งพื้นที่สมัยก่อนเป็นที่ลุ่ม ป่าต้นธูปฤาษีและมีบึงอยู่จำนวนมาก

น้ำท่วมหน้าบ้านข้าพเจ้าสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตรใช้กระสอบทรายวางไว้หน้าบ้าน ส่วนท่อระบายน้ำก็อุดด้วยกระสอบทราย แต่ก็ยังมีน้ำซึมเข้าประมาณตาตุ่ม หากสูงกว่านี้เครื่องสูบน้ำจะทำงาน ด้วยการกดกระเดื่องให้ทำงานจากโฟมที่วางไว้ หากน้ำสูงถึงระดับโฟมจะยกตัวขึ้นดีดให้คันชักยกตัวกดสวิซท์เครื่องสูบน้ำให้ทำงาน

ปลานั้นมีหลุดเข้ามาได้ ปลาช่อนตัวงาม ๆ ตัวยาวเท่าคืบ อยู่กันจนโต, ปลาหมอเป็นฝูง ๆ จับเอามาชุบแป้งทอดกินกัน, ปลาหางนกยูงมาเป็นแพลอยมาให้ช้อนเล่นสนุกสนาน

ยังจำได้ว่าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือตอนนี้เรียกว่า ถนนวิภาวดีรังสิต น้ำท่วมเลยตาตุ่มเช่นกัน เรือพายรับจ้างเริ่มมีมาให้บริการ ท้ายซอย ๕ บาท ไกลหน่อย ๑๐ บาท ต่อรองกันได้ ยายแก่ ๆ สวมงอบพายให้ นั่งเรือพายไปก็ลองเอาเท้าราน้ำให้สมคำพังเพย หรือไม่ก็ขอไม้พายจากยายมาลองพายดู พายไปวนไปวนมาจนยายบอกให้พอจึงได้คืนไป

ไม่นานก็มีข่าวอันเป็นขวัญกำลังใจอย่างมหาศาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตรวจน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่บางกะปิ ห้วยขวาง รามคำแหง ซอยศูนย์วิจัย บึงมักกะสัน พวกเรารอดตายแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางรอบนอกกรุงเทพมหานครก็เกิดโครงการเขื่อนดินป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ โดยเรียกว่า King Dyke ซึ่งออกมาในรูปแบบถนนป้องกันน้ำไหลท่วมเข้ามายังพื้นที่ชั้นใน และระบบประตูน้ำต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาท...ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 08:53

กราบขอบพระคุณทุกๆท่านครับที่กรุณาแบ่งปันความหลัง ทำให้ภาพรัวๆรางๆของผมกระจ่างชัด

   เรียนคุณลุงไก่ครับ
   ถ้าผมโตกว่านี้ในตอนนั้น คงมีอะไรคุยมากกว่าบอกกล่าวเพียงสั้นๆในตอนต้นกระทู้ ทราบระดับน้ำที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันการศึกษาขั้นอุดมของผมแล้ว ตกใจครับ สูงมาก อยากฟังประสบการณ์ของลูกพ่อขุนใน พ.ศ. ๒๕๑๖ จังครับ
มหาวิทยาลัยยังเปิดการเรียนตามปกติได้หรือไร? หรือผู้ใหญ่ได้หยุดยาวเหมือนเด็กๆไปด้วย ๒๕๒๖ น้าสาวคนเล็กของผมท่านจบรามแล้ว เลยไม่มีความหลังมาเล่าให้ฟังเท่าไรครับ

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ
   อ่านบันทึกของคุณkaew.ratana  ที่อาจารย์กรุณานำมาลงไปพลาง ผมก็ภาวนาไปพลาง ขอให้ปีนี้อย่าเป็นเช่นอดีตเลย เพราะผมมีหนังสือวรรณคดีเก่าจำนวนหลายเล่มอยู่ ถ้าน้ำท่วมสูงต้องขนของขึ้นชั้นสองของบ้าน คงขนย้ายหนังสือไปไม่หมดแน่ๆครับ

   เรียนคุณหนุ่มสยามครับ
   ผมลองเรียนถามญาติผู้ใหญ่ ปรากฏว่า บ้านเราไม่มีปลาหลุดเข้ามาให้จับเลย ข้าวของต้องซื้อตุน คุณหนุ่มสยามได้ปลาฟรีๆมิต้องซื้อหา ถือว่าแม่พระคงคาท่านประทานมาให้ เป็นโชคเล็กๆท่ามกลางวิกฤตจริงๆครับ
 
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 09:20

ผมมีบันทึกอีกชิ้นหนึ่งมานำเสนอต่อทุกท่านครับ จากฝีมือของกวีรัตนโกสินทร์ ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านเขียนบทกวีนี้ลงคอลัมน์”ข้างคลองคันนายาว” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ท้ายบทกวีลงวันที่ไว้ว่า ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ข้อความมีดังนี้ครับ

พิสดาร
รจนาโดย ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

   เดือนสิบเอ็ดน้ำนองนองน่องน้อง
เดือนสิบสองน้ำลงคงความหมาย
พอเดือนอ้ายไหลรี่ล้นปรี่ปราย
ถึงเดือนยี่คลี่คลายเริ่มไหลลง

   นี่น้ำท่วมน้ำเถื่อนเดือนสิบสอง
ยิ่งน้ำนองน้ำเน่าเข้าโหมส่ง
ยังไม่มีทีท่าว่าจะทรง
ฝนกลับหลงฟ้าถล่มประโคมซัด

   ฤดูเดือนเคลื่อนคลาดให้ขัดข้อง
เทวดาท่าจะบ๊องจึงข้องขัด
เกิดอาเพศพิสดารสารพัด
ให้โดดเด่นเห็นชัดเฉพาะกรุง

   เห็นเรือหางซ่าซู่อยู่บนถนน
เห็นรถยนต์อยู่ในน้ำดำพลุ่งพลุ่ง
ป้ายจอดรถมีเรือจ้างอยู่นังนุง
เกิดท่าทุ่งบึงบางขึ้นกลางเมือง

   มหาห้วยรามคำแหงห้วยแห่งใหม่
ห้วยหัวหมากถัดไปให้นองเนื่อง
หมู่บ้านหนองเสรีน้ำอยู่เยื้อง
ถัดไปเบื้องถึงบางกะปิมี

   ที่เวิ้งว้างกว้างกว๊านการเคหะ
กอสวะผักตบเข้ากลบที่
คลองซุปเปอร์ไฮเวย์วิภาวดี
คลองเพชรบุรี คลองอ่อนนุช คลองบางนา

   คนอยู่น้ำย่ำน้ำกำเนิดใหม่
เริ่มแตกไคลครีบหางอย่างมัจฉา
ง่ามนิ้วตีนตกสะเก็ดเป็นเกล็ดปลา
พัฒนาล่าสุดมนุษย์น้ำ

   พวกอยู่ในห้องหับปรับอากาศ
เขาผงาดโง้งเห็นเป็นควายถ้ำ
เร่งล้อมรุมสุมเขาเง่างึมงำ
จัดกิจกรรมแก้ปัญหาอย่างทารก

   บ้างว่าต้องไปเอาชาวฝรั่ง
มาช่วยคิดช่วยสั่งช่วยนั่งถก
ขจัดน้ำทำเขื่อนช่วยเลื่อนยก
ทั้งกอกกกอสวะขจัดไป

   โอ้ว่าแก้วโกสินทร์แผ่นดินสยาม
ย่างศรีสามศตวรรษปัจจุสมัย
ถือฤกษ์เย็นเป็นเรือนเถิดเพื่อนไทย
อยู่นานนานก็อยู่ได้คุ้นไปเอง





บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 09:28

ผมต้องกราบขออภัยคุณลุงไก่ครับที่อ่านข้อความในความคิดเห็นที่หนึ่งไม่ถี่ถ้วน สรุปคือ ม. รามคำแหงปิดเรียนสามเดือน ข้อสงสัยต่อมาคือ แล้วเวลาสอบของภาคการศึกษาต่อไปเลื่อนไปอยู่เดือนไหนนี่ ถึงอย่างไรก็ยังอยากฟังคำบอกเล่าของลูกพ่อขุนยุคนั้นอยู่นั่นเองขอรับ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 18:03

ผมต้องกราบขออภัยคุณลุงไก่ครับที่อ่านข้อความในความคิดเห็นที่หนึ่งไม่ถี่ถ้วน สรุปคือ ม. รามคำแหงปิดเรียนสามเดือน ข้อสงสัยต่อมาคือ แล้วเวลาสอบของภาคการศึกษาต่อไปเลื่อนไปอยู่เดือนไหนนี่ ถึงอย่างไรก็ยังอยากฟังคำบอกเล่าของลูกพ่อขุนยุคนั้นอยู่นั่นเองขอรับ

ลืมเกือบหมดแล้วครับ อธิบายง่ายๆ ว่าระดับน้ำในรามฯ หัวหมาก ปีนั้นสูงขนาดไหน
น้ำท่วมเกือบถึงพื้นชั้นล่างตึกคณะมนุษย์ศาสตร์ เหลือบันไดไว้สักสองขั้นที่ไม่ท่วม เอาไว้สะบัดน้ำในรองเท้าที่ถอดออก ส่วนตึกชั้นเรียนเดียว (สมัยนั้น) น้ำท่วมถึงขอบบนของหน้าต่าง
เทอมต่อไปก็รวบรัดเวลาเรียนให้น้อยลงไปสักเดือน ตอนภาคฤดูร้อนเหลือเวลาเรียนแค่เดือนเดียว
ลานพ่อขุนน่ะ พวกนักศึกษาเอาเรือเข้ามาพายเล่นกันสนุกไปเลย แต่องค์พ่อขุนอยู่สูง น้ำเลยท่วมไม่ถึงองค์ท่าน
หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้นแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย น้ำจากข้างนอกจึงไม่ไหลเข้า กลายเป็นต้องคอยสูบน้ำออกอย่างเดียว

กรุงเทพมหานครปัจจุบันในพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในก็ใช้หลักการป้องกันน้ำท่วมแบบนี้ครับ

ผมเป็นประเภทไปสอบอย่างเดียว นานๆ จะไปเข้าเรียนสักครั้งหนึ่ง กับไปลงทะเบียนเรียน ไปสอบ และไปดูผลสอบ ความจำได้เลยน้อยน่ะครับ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 22:53

ผมขอเล่าประสพการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมที่คุณชูพงษ์อยากทราบเป็นการเคาะสนิมเครื่องบันทึกความจำของผม ที่อาจจะต้องใช้อีกครั้งหนึ่งในเร็ววันนี้

เมื่อปี๒๕๑๖ ผมเรียนจบสถาปัตย์พอดี แล้วได้งานออกแบบและคุมงานหมู่บ้านเสรี หัวหมาก ตอนนั้นเขาเพิ่งจะถมดิน เห็นว่าถ้าให้ผู้รับเหมาที่นั่นไปถมที่ของแม่ในซอยกรุงเทพกรีฑาก็จะได้ราคาถูก เพราะรถขนดินจะวิ่งจากบ่อดินแถวนั้นเลยไปอีกนิดเดียว แม่ก็ตกลง ผมก็จัดการถมดินไปสูงเมตรครึ่ง

ไม่นานผมก็ไปบวชอยู่วัดบวรฯ จวนออกพรรษาแล้วช่วงหนึ่งฝนตกมากติดต่อกันสองสามวันจนมีข่าวว่าน้ำท่วม พอฝนหยุดโยมแม่ไปหาที่กุฏิ ท่าทางกังวลจัดเชิญให้นั่งก็ไม่นั่ง ยืนที่หัวกระไดบอกว่า ท่านๆ เค้าบอกว่าดินที่ท่านไปถมที่ๆหัวหมากไว้น่ะ ละลายไปกับน้ำหมดแล้ว ผมก็เต้นผาง นึกในใจว่าจะเป็นไปได้รื้อ แต่ก็รับปากจะไปดูให้เห็นกับตา

ต่อมามีอุปัฏฐากอาสาขับรถพาผมไป จำได้ว่าน้ำท่วมเกินครึ่งล้อตลอดทางแต่ก็พอคลานไปได้ไม่น่าเบื่อ เพราะรถยังไม่มากเหมือนสมัยนี้ ผ่านหน้ารามก็เห็นน้ำท่วมเต็มพื้นที่ รถวิ่งได้ถึงทางแยกเข้าซอยกรุงเทพกรีฑา หลังจากนั้นต้องเหมาเรือหางยาวที่มาจอดบนถนนคอยรับจ้างยังกับท่าเรือ  นั่งตากแดดจีวรปลิวตัดตรงข้ามทุ่งไป เล็งเป้าหมายสนามกอล์ฟที่เห็นต้นไม้หรอมแหรม พอใกล้แล้ววนหาที่ดินของแม่  พบว่าเป็นเกาะเล็กๆปริ่มน้ำอยู่พอเดินได้ ก็ลงจากเรือไปยืดเส้นยืดสายเสียหน่อย ก่อนกลับไปรายงานให้โยมแม่สบายใจ หลังสึกน้ำลดเป็นปกติแล้วไปดู ไม่เห็นว่าดินมันจะละลายไปไหนซักกะนิดเดียว

หลังจากนั้นย้ายมาปลูกบ้านที่นั่น และทำงานเป็นผู้จัดการของบริษัทพรีเมียรโพรดักส์ เมื่อก่อนโรงงานตั้งอยู่ในซอยเต็กเฮงหยูก่อนถึงหมู่บ้านเสรี ถัดโรงพักหัวหมากไปเล็กน้อย

ปี ๒๕๒๖ มีพายุโซนร้อนวิ่งเข้าญวนแล้วกลายเป็นดีเพรสชั่น ฝนตกหนักทั่วประเทศ น้ำเหนือทำท่าจะมาก กทม.สมัยนั้นผู้ว่าเป็นนายพลทหารเรือที่เกษียณแล้ว ป๋าเปรม นายกรัฐมนตรีดึงมานัยว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่เขี้ยวลากมากเขมือบเหมือนนักการเมืองอาชีพบางจำพวก ท่านก็ทำตามแผนป้องกันกรุงเทพชั้นในซึ่งสำนักการระบายน้ำเสนอ ฝั่งตะวันออกที่น้ำจากคลองแสนแสบปกติจะไหลผ่านไปออกแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ทำเขื่อนปิดกั้นน้ำในบริเวณทุ่งแถบนี้ทั้งหมดไว้ ด้านในก็ใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ระดมกันสูบน้ำในคลองแสนแสบออกมาด้านนอก ทำอย่างนี้พอเกิดฝนตกหนักครั้งหนึ่งในระยะกลางเดือนกันยายน ย่านหัวหมากก็น้ำท่วมสักครึ่งแข้ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 23:01

สมัยนั้นท่วมหลังฝนตกเป็นเรื่องปกติ คนก็ไม่ได้โวยอะไร แต่งงๆอยู่เหมือนกันว่าทำไมน้ำไม่ค่อยจะลด พอเข้าตุลาคม มีพายุโซนร้อนชื่อคิม (Kim) ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยมุ่งเข้าหากรุงเทพมหานคร ฝนตกหนักมากตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๖  พายุลูกนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย

พอฝนหยุด ทั้งที่บ้านและโรงงานของผมก็น้ำท่วม ถนนในบ้านท่วมเล็กน้อยแต่ถนนหน้าบ้านท่วมแค่เข่า โทรเรียกให้ลูกน้องเอารถปิ๊กอัพมารับ พอเข้าซอยเต๊กเฮงหยูเห็นน้ำท่วมหนักเอาการ โรงงานโอสถสภากำลังเร่งสูบน้ำระบายออกมาที่ถนน เป็นน้ำสีแดงอันเกิดจากคลังลูกอมโอเล่โดนน้ำท่วม  เย็นวันนั้นตอนกลับบ้าน น้ำในซอยกลายเป็นน้ำสตรอเบรี่ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ
 
โรงงานของผมนั้น บนถนนซอยน้ำท่วมมิดโคนขา ในตัวโรงงานครึ่งแข้ง เห็นแล้วระเหี่ยหัวใจยิ่งนัก เครื่องจักรทั้งหมดอยู่ในน้ำ ผมประชุมกันแล้วพยายามหาข่าวจากบริษัทแม่บ้าง หน่วยงานราชการบ้าง หนังสือพิมพ์ ทีวีก็ไม่มีข่าวว่าน้ำจะท่วมอย่างนี้อีกนานเท่าไร ไม่มีคำตอบอะไรจากใครทั้งสิ้น

สามวันต่อมา น้ำบนถนนสีแดงสดใสกลิ่นสตรอเบรี่ก็กลายเป็นน้ำครำ ใหลเข้ามาในโรงงานผมกลิ่นเหม็นฉุนแสบไปถึงโพรงจมูก ทหารเอาเรือท้องแบนมาบริการประชาชนในหมู่บ้านเสรี คนงาน พนักงานของผมก็ได้อาศัยเรือทหารนี้ มีผมคนเดียวที่ใช้รถกระบะของโรงงาน วิ่งระหว่างบ้านมาทำงานทุกเช้าเย็น เคยนั่งเรือเข้าไปดูในหมู่บ้านเสรีครั้งหนึ่ง บางโซนชั้นล่างจมไปกว่าครึ่ง ตอนนั้นปาเก้หลุดลอยออกมาบนถนนเป็นแพใหญ่ ผู้คนสีหน้ามีความทุกขเวทนามาก ผมเองก็ไม่ได้มีสภาพต่างไปจากพวกเขา ช่วยกันกับคนงานพยายามลุยน้ำเก็บของที่ยังใช้ได้ให้พ้นน้ำ ชิ้นงานที่ผลิตเสร็จแล้วรอส่ง ถูกลูกค้าที่กิจการของเขาน้ำไม่ท่วมโทรมาเร่งทุกวัน ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร บอกว่าน้ำท่วมแค่นั้นแค่นี้ก็ไม่ค่อยจะยอมเชื่อ บางรายโทรมาด่าผมเสร็จก็ยังแถมด่าเลขาผมจนร้องไห้ ช่วงนี้เราหนักหนามาก ลุยน้ำกอบกู้เครื่องจักรจนเป็นโรคผิวหนังที่ขากันทุกคน มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 23:10

ผมมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจอย่างแรงคือ ควรที่จะต้องทำคันกั้นน้ำแล้วสูบน้ำออก ให้พื้นที่บางส่วนของโรงงานผลิตต่อไปได้หรือไม่ เพราะถ้าทำก็ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก บริษัทก็ขัดสนอยู่ ทำไปแล้วอีกหกเจ็ดวัน เกิดน้ำลดก็เสียดายเงินแย่
 
พอดีได้ยินทีวีบอกว่า ปู่เทียม(ฉายาของท่าน)ผู้ว่ากทม.จะมาตอบคำถามประชาชนว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด โดยจะใช้ห้องประชุมของสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพที่สีลม เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ที่สนใจจะมาฟังและซักถามด้วยตัวเอง

ถึงวันดังกล่าว ผมออกจากบ้านแต่หกโมงเช้า รถกระบะที่ขับวิ่งไปได้แค่ประมาณโรงพักหัวหมาก ต้องจอดกลางถนนและยืนไปบนกระบะรถสิบล้อของทหารที่เอามาบริการประชาชนแทนรถเมล์ เนื่องจากถนนรามคำแหงหน้ารามน้ำท่วมมากไม่มีรถอื่นใดจะลุยผ่านได้ ผมมองเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วก็เศร้าใจ อาคารสมัยนั้นไม่ได้หนาแน่นเช่นทุกวันนี้ เห็นทั่วอาณาบริเวณเหมือนอ่างใบยักษ์ น้ำท่วมเต็ม พลับพลาทรงไทยน้ำระดับเกือบถึงชายคา ตึกต่างๆตล้ายกับลอยอยู่กลางน้ำ

จากรถทหารก็ต่อรถเมล์ที่สี่แยกคลองตัน ผมไปถึงห้องประชุมก่อนเวลาเล็กน้อย คนเต็มห้องแล้ว กำหนดการคือ๑๐นาฬิกาที่ปู่เทียมจะปรากฏกายแต่กว่าจะออกมาบนเวทีก็สายกว่านั้นมาก พิธีกรก็ได้แต่พูดอู้ไปอู้มาจนคนกระสับกระส่ายแล้ว ปู่จึงออกมาเหมือนคนอดหลับอดนอน พออารัมภบทเสร็จ พิธีกรก็ยิงคำถามสำคัญทันทีว่า ท่านผู้ว่าครับ ประชาชนอยากจะทราบว่าน้ำจะท่วมขังอย่างนี้อีกนานเท่าใด ที่ท่านผู้ว่าบอกว่ามีคำตอบนั้น ขอเชิญท่านผู้ว่าเลยครับ

ปู่เทียมทำสีหน้าหงุดหงิดขึ้นมาทันที ยื่นหน้าไปหาไมโครโฟนพูดกรอกลงไปเสียงดังชัดเจนว่า คำถามของท่านที่ถามมานั้น ผมจะตอบให้ท่านได้เข้าใจให้ชัดเจน คือ ท่านต้องไปถามเทวดา จึงจะได้รับคำตอบ

คนฟังตกตะลึงไปเสี้ยววินาที และแล้วเสียงโห่ฮาแสดงความไม่พอใจก็ดังขึ้นลั่นห้อง กว่าพิธีกรจะทำให้สงบลงได้ก็เล่นเอาปู่เทียมทำท่าจะวอร์คเอ้าท์ พอจัดให้พูดทีละคน คนแรกก็พูดว่า เราไม่อยากให้ท่านผู้ว่าเล่นสำนวนเช่นนั้น ที่มากันนี่ ทุกคนอยากได้คำตอบที่จะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของกทม.ได้ ปู่เทียมจึงเสียงอ่อยลงว่า ที่พูดเช่นนั้นเพราะตนไม่ทราบจริงๆ อย่างเช่นจะมีฝนตกลงมาอีกหรือเปล่า ใครจะไปทราบได้นอกจากเทวดา คราวนี้เสียงโห่ยิ่งดังกว่าเก่า ดูเหมือนจะมีคนขว้างปาก้อนกระดาษไปบนเวทีด้วย ปู่เทียมนั่งทำท่าเหมือนจะเป็นลม ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเหนื่อยหรือความโกรธ ขณะนั้นคนฟังบางส่วนเริ่มเดินออกจากห้อง ผมจึงเดินตามออกมาคิดว่าเราได้คำตอบแล้ว




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 09 ต.ค. 11, 23:30

เมื่อผมมาโรงงานในวันรุ่งขึ้น ก็ให้สั่งซื้อของมาทำแนวกั้นน้ำในตัวโรงงาน แล้วสูบน้ำออก ได้พื้นที่ส่วนหนึ่งกลับมาทำงาน จับแพะชนแกะหาเงินเดือนมาจ่ายพนักงานและคนงานให้อยู่ไปเป็นเดือนๆ  ชีวิตสาหัสสากันกับน้ำท่วมทุกคน

น้ำเริ่มลดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ บทจะลดก็ลดเร็วมาก แต่รวมแล้วน้ำท่วมขังในท้องที่หัวหมากครั้งนี้ หกเดือนเต็มๆ ผมคิดว่า คงไม่มีเมืองหลวงของประเทศไหนอีกแล้วที่น้ำจะท่วมยาวนานเช่นนี้อีก ชาวบ้านหมู่บ้านเสรีประกาศขายบ้านทิ้งกันเป็นแถว แต่ถึงจะราคาถูกอย่างไรก็ไม่มีคนซื้อ


หลังจากนั้น งบประมาณก็ถูกทุ่มเข้ามาบริหารจัดการในท้องที่ดังกล่าว น้ำก็ไม่ท่วมอีกเลย
 
แต่ปีนี้ชักยังไงๆอีกแล้ว

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 ต.ค. 11, 10:40

เรียนคุณลุงไก่ครับ

   แม้ผมจะยังเป็นเด็กอ่อนเรียนอนุบาลในยุคนั้น แต่บัดนี้ ผมคือหนึ่งในบัณฑิตราม ฉะนั้น เวลานั่งรถผ่านมหาวิทยาลัยก็จะคอยถามคุณน้าว่ารามเริ่มท่วมหรือยัง เมื่อเช้าขึ้นรถเมล์ หน้ารามรถติดแล้วครับ

   กราบขอบพระคุณประสบการณ์อันได้รายละเอียดยิ่งจากท่าน NAVARAT.C  ขอรับ

   ฟังจากท่านเล่าแล้ว ผมสยองครับ บ้านตนเองอยู่ถนนนวมินทร์ ๒๔ แม้ญาติๆจะช่วยกันปลอบว่า ปีนี้น้ำไม่ท่วม หรือท่วมก็นิดหน่อย ผมก็ยังใจตึกตึกอยู่มิรู้วาย ยอมรับตรงๆว่ากลัว กลัวหนังสือจำนวนมากจะขนย้ายไม่หมดครับผม
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง