เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 16511 มหาเวสสันดรชาดก
นิรันดร์ niran@mut.ac.th
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 09 พ.ค. 01, 00:46

ไม่เข้าใจ
เรียนถามผู้รู้หน่อยครับ

โพธิ์ เวสันตร
ดูกร มหาเวสสันดร  อย่าอาวรโว้เว้ทำเนาเขา ข้ากับเจ้าเขาจะตีกันนั้นไม่ต้องการ
ให้ลูกเป็นทานแล้วยังมาสอดแคล้วเมื่อภายหลัง ...

ที่ผมสงสัยก็คือ ตรงที่ว่า ข้ากับเจ้า หมายถึงใครกับใครครับ
ผมคิดว่าข้า น่าจะหมายถึงพระกัณหาพระชาลี ส่วน เจ้า น่าจะหมายถึงพรามณ์ชูชก

พอผมไปสอบถามอาจารย์ภาษาไทยท่านหนึ่งท่านบอกว่า
ข้าหมายถึงพระเวสสันดร เจ้าหมายถึงพรามณ์ชูชก

ผิดถูกเป็นอย่างไรช่วยชี้แจงแบบมีเหตุผมด้วยนะครับ
ผมค่อนข้างดื้อ บอกเฉย ๆ ไม่ค่อยเชื่อครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 เม.ย. 01, 12:01

ก็ต้องย้อนเรื่องไปก่อนละค่ะ

นี่เป็นเหตุการณ์เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมาร ก็ฉุดกระชากลากตีต่อหน้าพระเวสสันดร  สองกุมารร้องรำพันให้พระบิดาช่วย จนพระเวสสันดรโกรธชูชกที่กล้าตีสองกุมาร  ถึงกลับตรัสว่า

"อุเหม่ อุเหม่ พราหมณ์ผู้นี้นี่อาจองทะนงหนอ มาตีลูกต่อหน้าพ่อไม่เกรงใจ  ธชีเอ่ย  กูมาอยู่ป่าเปล่าเมื่อไร  ทั้งพระขรรค์ศิลป์ชัยก็ถือมา"   แต่แล้วก็ทรงระลึกสติ จึงสอนพระองค์เองว่า
"ดูกร มหาเวสสันดร  อย่าอาวรณ์โว้เว้ทำเนาเขา  ข้ากับเจ้าเขาจะตีกันไม่ต้องการ  ให้ลูกเป็นทานแล้วยังมาสอดแคล้วเมื่อภายหลัง"

จึงหมายความว่าไม่ควรเข้าไปยู่งกับ ข้า คือ สองกุมาร  ที่ถูกไล่ตีโดย เจ้า คือ ชูชก

ต่อจากนั้นพระเวสสันดรก็สงบพ้นจากความเศร้าโศก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 เม.ย. 01, 13:27

มัวไปพิมพ์มาแปะ คุณปะกากะออมเข้ามาตอบให้เสียแล้ว
เอาความเห็นนี้มายืนยันอีกทีค่ะ ไหนๆก็พิมพ์แล้ว
น้ำท่วมทุ่งหน่อยนะคะ คุณนิรันดร์เก็บผักบุ้งเอาเอง

กันฑ์ ๘   กุมาร
....พระบรมราชฤาษีเธอจึงตรัสสอนพระองค์เองว่า  โภ เวสฺสนฺตโรดูกรมหาเวสสันดรอย่าอาวรณ์โว้เว้ทำเนาเขา    ข้ากับเจ้าเขาจะตีกัน   ไม่ต้องการให้เป็นทานแล้วยังมาสอดแคล้วเมื่อภายหลัง   ท้าวเธอก็ตั้งสมาธิดับพระวิโยค  กลั้นพระโศกสงบแล้ว   พระพักตร์ก็ผ่องแผ้วแจ่มใสดุจทองอุไรทั้งแท่งอันบุคคลแกล้งหล่อ   แล้วมาวางไว้ในอาศรม  

คำแปลศัพท์ที่เป็นปัญหากับคนยุคปัจจุบัน
อาวรณ์ = เรื่องมาก ไม่รู้จักจบ
โว้เว้  = เหลวไหล
ทำเนาเขา  = ช่างเขาเถิด
สอดแคล้ว  = กินแหนงแคลงใจ
แกล้ง = แปลว่า ตั้งใจทำ บรรจงทำ ค่ะ
มั

ถอดความออกมา(ตามสำนวนของดิฉัน)ว่า  พระเวสสันดรสอนพระองค์เองว่า...นี่แน่ะเวสสันดร  เธออย่าเรื่องมากไม่รู้จบ เหลวไหลจริง  ช่างเขาเถิด   ข้ากับเจ้าเขาจะตีกัน ทำเหมือนเธอไม่ต้องการยกลูกให้เป็นทาน  แล้วยังจะมาเรื่องมากแคลงใจกับพราหมณ์ในตอนหลังเสียอีก
พอตั้งสมาธิระงับอารมณ์ได้แล้วพระพักตร์ก็แจ่มใสเปล่งปลั่งขึ้นเหมือนแท่งทองที่ช่างบรรจงหล่อนำมาตั้งไว้ในอาศรม


ส่วนประโยคที่เป็นปัญหาคือ
ข้ากับเจ้าเขาจะตีกัน
๑)ตามความเข้าใจของคุณนิรันดร์คือ  พราหมณ์ชูชกตีสองกุมาร  พราหมณ์อยู่ในฐานะเจ้า(นาย)  สองกุมารอยู่ในฐานะข้า(บ่าว)  มายื้ดยุดตีกันชุลมุนอยู่ตรงหน้า  พระเวสสันดรจึงยกภาพที่เห็นตรงหน้ามาเตือนสติพระองค์เองว่า.... ข้ากับเจ้าเขาจะตีกัน ก็เรื่องของเขา  หักใจอย่าไปยุ่งกับเขาเลยเพราะยกลูกให้เป็นทานไปแล้วก็ถือว่าให้จริงๆ  เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ต้องมากินแหนงแคลงใจกันภายหลัง
๒) ส่วนอาจารย์ภาษาไทยท่านนั้น   คุณไม่ได้บอกว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น  ดิฉันเดาว่าท่านตีความว่า ข้ากับเจ้าเขาจะตีกัน คือ
ข้า = I หมายถึงพระเวสสันดร
เจ้า = you หมายถึงชูชก
จะแปลอย่างอื่นไม่ได้ เพราะพระเวสสันดรไม่ใช่ข้า(บ่าว)ของชูชก และชูชกก็ไม่ใช่เจ้า(นาย) หรือเจ้าใหญ่นายโตมาจากไหน  แม้อยู่ในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งทางอินเดียถือว่าเหนือกว่าวรรณะอื่น  การแปลเวสสันดรชาดกก็ไม่ได้ยึดถือเรื่องวรรณะเป็นใหญ่   กลับให้ชูชกยกย่องนอบน้อมพระเวสสันดรด้วยซ้ำ เพราะในสังคมไทย กษัตริย์เป็นใหญ่ที่สุด

ย้อนกลับมาแปลอีกที
แปลว่าพระเวสสันดรทรงคว้าพระแสงศรขึ้นมาจะตีกับชูชก   เพราะไม่ต้องการให้ลูกเป็นทาน แล้วยังกินแหนงแคลงใจที่ชูชกทารุณสองกุมาร  ?
ถ้าคิดยังงั้นละก็อาจารย์ภาษาไทยผิด   เพราะพระเวสสันดรไม่ได้พูดกับชูชก ท่านพูดกับตัวเองต่างหากล่ะคะ  และมีประโยคที่แสดงเห็นชัดว่าท่านเตือนสติตัวเองไม่ให้เข้าไปยุ่งด้วย ไม่ใช่บอกตัวเองว่าจะไปตีกับชูชก หรือแม้แต่เตือนตัวเองไม่ให้ไปตีกับชูชก
อีกอย่างคือชูชกเป็นบุคคลที่ ๓ ในความคิดนี้  ค่ะ  จะเป็น "เจ้า" กับ "ข้า " ไม่ได้

สรุปสั้นๆหลังจากให้เหตุผลมาเสียยาว ว่าดิฉันเข้าข้างคุณนิรันดร์ค่ะ
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 เม.ย. 01, 14:53

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยครับ
วันหลังจะรบกวนใหม่นะครับ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 เม.ย. 01, 02:45

อ่านทีไร ก็ไม่ชอบพระโพธิสัตว์ ปางสุดท้ายก่อนเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้าเลยครับ
ผมคิดเหมือนกับ ลูกสาวของพระเวสสันดร ตรงที่คงจะคิดว่า พ่อทำไมถึงไม่รักเราเลย
จนทำให้ชาติต่อมา มีเฉพาะลูกชายเท่านั้นที่ตามไปเกิดเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าใช่มั้ยครับ ผมอ่านทีไร ผมก็รู้สึกว่า การได้บรรลุถึงธรรมะอันสูงสุด ทำไมต้องทำให้ต้องทำให้คนที่เรารักต้องเจ็บปวดและเดือดร้อน จริง ๆ น่าจะเป็นบาปหรือเปล่า ผมไม่สามารถเข้าใจจริง ๆ
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 เม.ย. 01, 15:54

เห็นด้วย
ถึงไม่รักลูกก็ไม่มีสิทธิที่จะส่งลูกให้ไปเดือดร้อน ถูกคนอื่นทรมาน
ผมคิดว่าน่าจะเป็นแค่นิทานมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผมว่าคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่
เมื่อไปปฏิบัติแล้วจะเกิดผลจริง และไม่จำกัดกาล เรียกว่า อะกาลิโก
คือปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ผลดีเมื่อนั้น

เช่นเมื่อเราลดความยึดมั่นถือมั่นลงได้บ้าง
เวลาเราสูญเสียของที่เรารักก็ไม่ทุกข์มาก
แต่จะไม่ให้รักลูกเลย เอาไปยกให้เป็นทาสคนอื่น อันนี้ก็ทำใจลำบากครับ
ยิ่งเห็นคนอื่นมาทุบตีลูกเราต่อหน้า ผมว่าคงได้ตายกันไปข้างแน่
ผมคงบรรลุยาก
บันทึกการเข้า
อำแดงริน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 เม.ย. 01, 20:17

ตั้งแต่เด็กๆ อ่านเรื่องนี้ครั้งแรกก็ไม่ชอบพระเวสสันดรเสียแล้วค่ะ คนอะไร ใจร้ายจริงๆ
จะเอาตัวเองบรรลุท่าเดียว...5555

เห็นด้วยกะคุณพระนายและคุณนิรันดร์ค่ะ
^___^
อ้อ ไม่เจอกันนานนนนนนน
สบายดีหรือคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 เม.ย. 01, 20:36

เคยคุยกันเรื่องนี้มาแล้วรอบหนึ่ง
อยากให้อจารย์นิรันดร์ คุณพระนาย และอำแดงรินลองหาหนังสือเล่มหนึ่งของทางสวนโมกข์ ชื่ออะไรผมก็ลืมแล้ว จะเป็นตีความเวสสันดรชาดกแบบมองด้านใน หรือยังไงนี่แหละ

ท่านตีความใหม่หมดครับ ท่านว่า เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นปริศนาธรรมหรือสัญลักษณ์ทางนามธรรม บ่งถึงการต่อสู้ในใจคนเรานี่เอง ตัวละครทุกตัวท่านจับตีความใหม่หมดเป็นนามธรรมไปหมด เป็นกิเลสบางตัวบ้างเป็นลักษณะของธรรมมะบางข้อบ้าง เป็นอาการของจิตบางอย่างบ้าง

สรุปแล้ว ไม่มีคนจริงๆ อยู่ในตัวละครเลย ก็เลยไม่เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะกระบวนการในจิตมันไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนใดๆ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 เม.ย. 01, 00:30

ผมมักจะมีข้อสงสัยตรงนี้แหละครับ ถ้าพูดก็คือว่า อย่าไปหวังเลยเรื่องบรรลุ แค่เข้าใจก็ไม่เข้าใจแล้วล่ะครับ อย่าง พรหมวิหาร 4 เนี่ยก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ผมยอมรับว่า ทำได้ยากมากครับ
เมตตา อันนี้ผมว่ามีอยู่ในเกือบทุกคน
กรุณา เช่นเดียวกัน
มุทิตา ยังไม่ยากมาก
อุเบกขา นี่แหละครับ ที่ใกล้เคียงกับเรื่องพระเวสสันดร คือทำยังไงที่เราจะไม่เศร้า เสียใจ กับความทุกข์ของคนที่เรารัก เลย มองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอะไรงี้
ขอแย้งคุณ นกข. นิดนึง ครับ ถึงแม้ตัวละครในพระเวสสันดรจะเป็นนามธรรมก็ตาม
ความรู้สึกของการจะบรรลุจนสามารถ ตัดใจให้ ความรัก ความผูกพันระหว่าง พ่อแม่ลูก ซึ่งเป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่สุด ยังต้องตัดทิ้งเนี่ย ผมยังมีคำถามครับ ว่าเป็นสิ่งที่น่าทำเหรอครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 เม.ย. 01, 05:40

ผมไม่มีหนังสือเล่มนั้นอยู่ในมือเสียด้วย แต่ผมแนะนำให้คุณพระนายไปหาอ่านครับ น่าสนใจครับ

แต่อธิบายตามที่จำได้ลางๆ (ซึ่งอาจจะผิด) ไม่มีความรู้สึกของความรักแบบพ่อแม่ลูกเลยครับ ในการตีความของท่าน "พระเวสสันดร" / "นางมัทรี" เป็น "พ่อแม่" ของ "กัณหา/ชาลี" นั้น ไม่มีคนที่ชื่อเวสสันดร คนที่ชื่อมัทรี คนที่ชื่อกัณหากับชาลี อยู่เลย เป็นลักษณะว่า กัณหาชาลีเป็นความรู้สึกชนิดนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมา เพราะปัจจัย คือ อาการทางจิตชนิดนั้น กับชนิดนั้น ดังนั้นพูดเป็นสัญลักษณ์ได้ว่า ความรู้สึกชนิดนี้เป็น "ลูก" ของอาการทางจิตชนิดนั้น ไม่มีบุคคลอยู่จริงๆ ไม่ได้เป็นพ่อแม่ลูกกันจริงๆ
ดังนั้นในกรณีของการตีความอย่างนี้สำนักนี้ ความรู้สึกที่พ่อแม่ (ที่เป็นคนจริง) รักลูก (ที่เป็นคนจริง) จึงไม่มาเกี่ยวข้องเลย เพราะเรากำลังพูดถึงว่าอาการอย่างนี้ของจิต เกิดจากอาการอย่างนั้น ต่างหาก

เหมือนกับว่าเรามีสมการเคมีอยู่สมการหนึ่งบรรยายถึงปฏิกิริยาเคมี สารประกอบตัวหนึ่ง บวกกับอีกตัวหนึ่ง กลายเป็นตัวใหม่ เอามาเล่าเป็นภาษาวรรณคดีก็อาจเล่าได้ว่า สารตั้งต้น 2 ตัวแรกเป็นพ่อกับแม่ สารตัวหลังเป็นลูก แล้วถ้ามีการแยกสารตัวลูกนั้นออกไปจากบีกเกอร์ ทำให้สารตั้งต้นเย็นลง (-สมมติ) ภาษาวรรณคดีอาจจะเล่าได้ว่า พ่อแม่บริจาคลูกไป แต่ถามว่า เรื่องนี้มีความรู้สึกรักลูกตามประสามนุษย์มาเกี่ยวไหม ถ้าถือตามการตีความนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่เกี่ยวเลยครับ เพาะจริงๆ มันเป็นสารเคมี
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 เม.ย. 01, 06:03

และแท้ที่จริงเอาจริงๆ แล้ว แม้แต่ถ้าจะกล่าวถึงความรู้สึกของคนจริงๆ (ที่ไม่ใช่นามธรรม) ถ้าคุณจะไปนิพพานจริงๆ แล้ว ความเป็นห่วงลูกหลานคุณก็ต้องตัดให้ได้นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 เม.ย. 01, 08:49

คำว่า นิพพาน มีอยู่ในศาสนาและลัทธินิกายอื่นนอกจากพุทธค่ะ อย่าง เชน ของศาสดามหาวีระก็มี
มีวิธีบรรลุกันคนละแบบ
พุทธศาสนาถือว่าการบรรลุนิพพานคือการตัดความเกี่ยวข้องในกิเลสออกไปทั้งหมด ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง
ความรักลูกเมียก็ต้องตัด  ไม่งั้นก็จะวนเวียนกลับมาเกิดใหม่ อยู่ในสังสารวัฏฐ์ไม่หมดสิ้น
การไปให้พ้นคือตัดขาดจากทุกอย่าง  ไม่ยึดมั่นกับอะไรทั้งนั้น

ในฐานะมนุษย์ซึ่งยังไม่คิดจะตัดขาด   ดิฉันอ่านเรื่องนี้ทีไรก็รู้สึกอย่างคุณพระนายทุกทีละค่ะ    ต่อให้รู้ว่าเป็นแค่สารเคมีอย่างคุณนกข.ว่าก็เถอะ
บันทึกการเข้า
อำแดงริน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 เม.ย. 01, 14:10

^______^
คุณนกข.เจ้าคะ
ความรู้สึกรักลูกไม่มี เพราะคิดแบบสารเคมี
แต่ลูกโดนตีแล้วเจ็บ สารเคมีไม่เจ็บนะ
อย่างมากตีเข้าก็บีกเกอร์แตก อิ อิ
มาแซวค่ะ เรื่องธรรมะไม่สู้
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 เม.ย. 01, 11:34

ผมเข้าใจคล้ายที่คุณเทาชมพูอธิบายว่า
จะบรรลุธรรมชั้นสูง ต้องตัดขาดจากอารมณ์ต่าง ๆ ให้ได้
แต่การที่รู้ว่า ถ้าส่งลูกให้ไปเป็นทาสแล้วลูกต้องเดือดร้อนแสนสาหัส
ไม่น่าจะเข้าหลักพรหมณวิหาร
เพราะทำไปเพื่อความสุขของชูชก แต่ตั้งบนความทุกข์ของสองกุมาร
ของพระนางมัทรี และทั้งของประองค์เองด้วย

เห็นด้วยที่ว่า ถ้าจะออกบวช ต้องตัดขาดจากลูกเมีย
แต่ไม่ใช่ยกลูกเมียไปให้คนอื่นทารุณ
อย่างไรก็ตาม ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ก็เป็นวรรณคดีที่ควรอนุรักษ์
แต่เราก็น่าจะใจกว้างให้คนวิจารณ์ด้วยครับ
เด็กที่เรียน ถ้ามองในมุมที่ไม่เหมือนครูหรือต่างจากความเชื่อเดิม
ก็ควรได้คะแนน ถ้าเรียนอย่างมีเหตุผล มิใช่เพียงจำไว้นะ ฉันสอนอย่างนี้
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 เม.ย. 01, 16:41

การตีความที่ผมว่า เป็นแค่แนวเดียวสำนักเดียวเท่านั้นครับ และว่าที่จริง ไม่ใช่แนวที่แต่ก่อนเขาตีความกันมาด้วย สำนักสวนโมกข์ท่านตีความขึ้นมาใหม่ เป็นแต่ส่วนตัวผมชอบการตีความของท่านเท่านั้น

เรื่องนี้สุดแต่ตีความครับ ผมไม่ขัดข้อง ยินดีรับการตีความทุกอย่าง

ที่เขาตีความขึ้นมาแต่เดิมนั้น เน้นเรื่องทานบารมี การให้ พระเวสสันดรให้ทุกอย่าง ให้ช้างม้ารถคชพลธนสารสมบัติ จนถึงบุตรภริยาก็สละได้เป็นทาน เพราะ "พระบิตุรงค์จงรักพระโพธิญาณ".. ในแง่นี้คนแต่ก่อนเขาก็จะชื่นชมว่า พระเวสสันดร เป็น คน ที่บำเพ็ญบารมีขั้นสูงจริงๆ สละหมด แต่พอถูกคนสมัยนี้ถามว่า พระเวสสันดรทำไมเป็นพ่อที่ใจร้ายจัง แล้วสิทธิมนุษยชนของกัณหาชาลี พระนางมัทรีไปอยู่ไหนเสียล่ะ คนเก่าๆ ท่านก็คงจะอึกอักเหมือนกัน เผลอๆ อาจดุส่งด้วยว่าสงสัยอะไร บาป -

ผมเองก็เคยสงสัยอย่างนี้แหละครับ แต่พอทางสายสำนักท่านพุทธทาสท่านบอกว่าท่านจะลองตีความใหม่ เหมือนที่ตีความไซอิ๋ว  "ถอดรหัส" ออกมา จากบุคคลาธิษฐานเป็นธรรมาธิษฐาน ผมเลยเกิดความเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งว่าเอ้อ มองมุมใหม่อย่างนี้ก็ได้เหมือนกันแฮะ

ในการตีความใหม่นี้ ทานไม่ใช่จุดสำคัญที่สุด (ถ้าผมเข้าใจท่านไม่ผิด) แต่เรื่องเวสสันดรชาดกทั้งเรื่องคือสัญลักษณ์ของกระบวนธรรมที่นำไปสู่การปล่อยวาง การปล่อยวาง การไม่ยึดถือมั่น กลายมาเป็นความสำคัญกว่าทาน การเสียสละถูกตีความใหม่เป็นการสำรอกการสลัดสละความยึดถือมั่นออกไป ไม่ใช่การบริจาคเงินทองสิ่งของ อย่างที่บอกแล้ว ตามทีท่านว่า ไม่มีคนจริงๆ สักคนเดียว พระเวสสันดรก็อยู่ในใจเรา ชูชกก็ใช่ ท้าวสีพี กัณหา ชาลี มัทรี พระอินทร์ ... สีพีนคร ป่าเขาวงกตทั้งป่า ฯลฯ ล้วนอยู่ในใจเราหมด เป็นความรู้สึกชนิดต่างๆ เท่านั้นเอง

ผมเรียนด้วยความเสียดายอีกทีว่า ผมจำอธิบายของท่านไม่ได้หมด จำได้ตกๆ หล่นๆ อาจจะผิด แต่เท่าที่ผมจำได้นะครับ คล้ายๆ อย่างกับว่า กัณหา กับ ชาลี น่ะ แทนความยึดมั่นถือมั่นนะครับ ชื่อกัณหารู้สึกท่านจะวิเคราะห์ศัพท์ว่าแปลว่า ดำ ชาลีก็ บ่วง เวสสันดรดูเหมือนคือ โพธิจิต อาการเคลียคลอเคล้าเหมือนลูกแหง่ อาการที่เปรียบได้กับความหวั่นไหวของพ่อที่รักลูก จริงๆ แล้วไม่ได้แปลว่าพ่อที่เป็นคนชื่อเวสสันดร ใจร้ายจัง ขายลูกเล็กๆ น่ารัก 2 คนไปได้ลงคอ เพราะกัณหากับชาลีก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่เด็กตัวเล็กๆ น่ารัก แต่เป็นสัญลักษณ์แสดงความรู้สึกความติดยึดอย่างหนึ่ง อาการทั้งหมดที่ว่ามานั้นท่านแลว่าโพธิจิตยังอาลัยกิเลสบางตัว เกิดการต่อสู้กันในใจเรานี่เอง และในที่สุดก็ปล่อยวางได้ ตัดขาดจากความยึดมั่นถือมั่นได้ มัทรีก็เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรอีกตัวหนึ่งเหมือนกัน ชูชกก็เหมือนกัน

ถ้ามองแบบนี้อย่างของท่าน ซึ่งเป็นมุมใหม่กว่าที่พระแต่ก่อนๆ มาท่านมองนะครับ ก็อย่างที่ผมบอก คือไม่เกี่ยวข้องกับความรักระหว่างพ่อแม่ลูกจริงๆ เลย ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะทั้ง "พ่อ"  ทั้ง "ลูก"  "แม่"  "เมีย "ผัว"  " เจ้ากับข้า"   ฯลฯ น่ะ คือตัวเราเองอยู่ในตัวในใจเราเองทั้งหมดแหละ

ถ้ามองมุมนี้ พระโพธิสัตว์หรือผ้แสวงความจริงคนหนึ่ง บำเพ็ญเพียรละกิเลส แต่บางทีก็ยังมีอาลัยกิเลศนั้นหรือกิเลศมันมันเกาะแข้ขานัวเนียบ้าง แต่ในที่สุดก็ทำใจให้ผ่องแผ้วได้ ตัดกิเลสได้ อย่างนี้ คุณจะไปยุ่งอะไรท่านเล่า จะบอกว่าพระโพธิสัตว์ใจร้าย กิเลสที่เกิดในใจท่าน เปรียบเหมือนท่านเป็นพ่อ เคยมานัวเนียอยู่ตั้งแต่เริ่มชาติภพยังสละตัดทิ้งเสียได้ไม่ใยดี ไม่สงสารกิเลสน้อยๆ ตาดำ ๆ มั่งเลย... แฮ่ะๆ เอางั้นเหรอครับ

บอกแล้วนะครับว่านี่เป็นการตีความแนวหนึ่งเท่านั้น ผมว่าการตีความให้กัณหาชาลีแทนที่จะเป็นคนจริง เป็นเด็กน่ารัก กลายเป็นตัวแทนของกิเลสตัวหนึ่งไป นี่คงทำให้พระสำนักอื่นสะดุ้งเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.04 วินาที กับ 19 คำสั่ง