เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 30878 สัมผัสกับป่าในอดีต
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 ก.ย. 11, 22:00

ทราบดีอยู่แล้วครับว่า น่าจะต้องมีเรื่องอยากจะทราบค่อนข้างมาก ปัญหาของผม คือ จะเรียงเรื่องอย่างไรดี

เอาเป็นว่า ครั้งนี้จะเป็นเรื่องของนิทานริมกองไฟผนวกกับเรื่องของเสียงและเสือ

ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่คนอ่านนวนิยายแล้วมีข้อสงสัยมากๆ คือ เรื่องของเสือสมิง
 
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ผมอ่านนวนิยายน้อยมาก แต่เท่าที่ได้ยินกล่าวถึงกัน รวมทั้งนิทานริมกองไฟที่มักคุยกันระหว่างตั้งแคมป์ สรุปได้ว่า เสือสมิงนั้นหลอกกินคนได้ สามารถทำเสียงต่างๆได้เพื่อให้คนตายใจ ออกเดินไปให้ถูกขย้ำกิน อะไรทำนองนั้น
จริงหรือไม่ ผมไม่ลบหลู่ ผมไม่แน่ใจ ผมเคยประสบจริงเพียงครั้งเดียว บนเส้นทางเดินเลาะริมหวยขาแข้ง ประมาณครึ่งทางระหว่างปากลำขาแข้งกับบ้านเกริงไกร ในห้วยขาแข้ง เมื่อปี พ.ศ.2515 อันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาวซึ่งผมคิดว่าสัมพันธ์กัน (ในเชิงของอาถรรพ์ป่า)

จะด้วยเหตุบังเอิญอะไรก็ไม่ทราบได้ ผมได้พบเพื่อนเก่าเรียนโรงเรียนเดียวกันในงานแต่งงานแห่งหนึ่งใน กทม. ก็ถามสารทุกข์สุขดิบกันตามธรรมเนียม พอเขารู้ว่าผมทำงานในป่าเขาก็สนใจอยากลองติดตามไปเที่ยวด้วย ผมจัดให้ได้เพราะกำลังแผนจะเดินทางไปทำงานพอดี คณะผมเล็ก มีรถคันใหญ่ (รถ Unimog) มีที่นั่งสบาย ไม่รบกวนใคร และไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายใดๆ ก็เลยรับ

ออกเดินทางตอนกลางคืนจากลาดหญ้า (ต.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี) เพื่อหลบความร้อนและหลบรถลากซุง ช่วงนั้นมีการให้สัมปทานทำไม้บริเวณป่าบ้านนาสวน มีรถลากซุงมาก ปีนั้นเป็นปีแรกที่เริ่มมีการทำไม้ การเดินทางกลางคืนส่วนหนึ่งก็เพื่อส่องดูสัตว์ด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางเปิดใหม่ผ่านกะเหรี่ยงบ้านน้ำพุ (แถวๆถ้ำลอด) ไม่มีการล่าสัตว์นะครับ (จำได้ใหมครับว่า 3 หลักที่ผมถือคืออะไร) ระยะทางก็ประมาณ 80 กม. ใช้เวลาประมาณ 12 ชม. หากเดินทางกลางวันก็หมายความว่าจะต้องตากแดดทั้งวัน แถมไปถึงตอนเย็นหรือค่ำมืดก็ตั้งแคมป์ลำบากอีกด้วย ทางสุดโหดครับ ข้ามน้ำห้วยเดียวกลับไปกลับมาหลายสิบครั้ง (คิดว่าจำได้ว่าเคยนับได้ไม่น้อยกว่า 70 ครั้ง) จำชื่อห้วยไม่ได้แล้วครับ

พอไปถึงตอนเช้า ก็หาคนนำทางรวมทั้งจัดหาคนงานร่วมคณะ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือเพื่อนเดินทาง ซึ่งผมต้องใช้เนื่องจากในยุคนั้นมีคนหลบหนีคดีไปอยู่แถวนั้นมาก รวมทั้งไอ้เสือที่ปล้นบ้านคนด้วย การเป็นคนแปลกหน้าเข้าไปอยู่ในย่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่พึงกระทำเลย จำเป็นต้องมีคนในท้องที่เดินอยู่ด้วยเสมอ เพื่อช่วยอธิบายว่าเราเป็นใคร มาทำอะไร ฯลฯ

ตั้งแคมป์เตรียมตัวเดินตลอดวันเพื่อเข้าป่าลึก รุ่งเช้าอีกวันก็เดินทำงานโดยใช้ช้าง 2 ตัวของกะเหรี่ยงบ้านนาสวน เจ้าของคนหนึ่งชื่อ ทุกกะโพ่ อีกคนหนึ่งชื่ออะไรนึกไม่ออก (ตอนหลังในช่วง พ.ศ.2528 เป็นผู้ใหญ่บ้านนาสวน) กะว่าไปตั้งแค้มป์ที่ริมห้วยนอกบ้านเกริงไกร ช้างนี้ไม่ได้ใช้ขี่นะครับ ใช้บรรทุกของเท่านั้นคือพวกเครื่องครัวและเครื่องนอน  ค่อยไปเล่าเรื่องเกี่ยวกับช้างๆๆๆๆ ต่อภายหลังครับ

เดินจากปากห้วยขาแข้งไปถึงสะพานเจ็ด ก็ข้ามเขาไป 1 ลูก ใช้เวลาขึ้นและลงประมาณ 2 ชั่วโมง พอลงเขา ผมก็แยกไปทำงาน 4 คน ให้คณะเดินทางไปตั้งแคมป์รอที่ที่นัดหมาย กะว่าจะเดินลัดไปพบเส้นทางหลักแล้วเดินไปแค้มป์ ระยะทางการเดินช่วงปากลำขาแข้งถึงบ้านเกริงไกรก็ประมาณ 4 ชม.สำหรับคนเดิน ประมาณ 6-7 ชม.สำหรับช้างเดิน พอประมาณ 2 โมงเย็นก็รู้แล้วว่าหลงเส้นทางเดินลัด จึงเริ่มหาอาหาร หานกได้ 2 ตัวเก็บตุนไว้ก่อน เดินย้อนกลับมาขึ้นทางหลัก เดินได้พักเดียวก็ได้ยินเสียงฝูงลิงเจี๊ยวจ๊าว ผมกับคนของผมอีกคนหนึ่งมีปืนคนละกระบอก ลูกซองแฝดกับไรเฟิ้ล 30.06 ก็แยกออกจากทางไปหาฝูงลิง ให้คนอีกสองคนเดินต่อไปยังแคมป์ ก็กะว่าน่าจะพบอะไรเอามาทำอาหารได้ เพราะลิงตามปกติจะไม่ส่งเสียงทั้งฝูง (ตามปกติผมจะมีอาหารตุนไว้เพียงพอสำหรับสองวันแรกที่เข้าป่า วันอื่นๆหากินเอาตามทาง สำหรับวันนั้นที่แคมป์จะไม่มีอาหารอะไรนอกจากข้าวกับบรรดาเครื่องปรุง มีของกันเหนียวอยู่อย่างเดียว คือ กุนเชียง  1 กก.)

เดินออกจากทางไม่เท่าไรก็พบเก้งตาย สดๆใหม่ๆอยู่ใกล้กอไผ่ขนาดใหญ่ ท้องกลวงโบ๋ ไม่มีลำใส้ พิจารณาอย่างรวดเร็วก็พบว่าที่คอมีรอยขย้ำ ด้วยความรู้ที่มี รู้ได้ทันทีว่าเป็นเสือกัด แต่พอเห็นก้นก็งงเพราะก็มีรอยกัดเหมือนกัน (หมาป่าหรือหมาในจะกัดที่ก้น เสือจะกัดที่คอ) ถามกันในทันทีว่าเอาใหม แล้วก็เกือบจะพร้อมกันก็ตัดสินใจเอา แต่ก็ขอให้แน่ใจอีกนิดว่าโดนอะไรกัดตาย สำรวจรอบๆโดยรวดเร็วก็พบว่ามีรอยใบไม้ถูกกวาดเป็นรูปหยดน้ำขนาดประมาณหนึ่งศอกอยู่หนึ่งรอย ก็รู้เลยว่ามิน่าเล่าทำไมลิงจึงร้อง พิจารณากันว่าเสือกำลังนั่งจะหลอกกินลิง โดยหลอกลิงใ้ห้ลงมาเล่นหางที่แกว่งไปมาเหมือนหางแมวตอนนั่ง ลิงฝูงนี้อยู่แถวๆนั้น ผมเคยเดินสำรวจตามเส้นทางนี้มาก่อนแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งก็เจอลิงฝูงนี้ลงมาเดินตาม พอหันไปดูก็ทำหน้าหลอก ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ จะไล่ก็กลัวถูกทั้งฝูงทำร้ายเอา ก็ได้แต่ระวังให้มากที่สุด

คนของผมก็เอาปืนลูกซองมาให้ผมถือระวังเสือ ส่วนเขาก็ไปเอาเก้งออกมา สองคนช่วยกันยกเก้งเดินไปขึ้นทางหลัก จากนั้นก็เอามีดทื่อๆเลาะกิ่งไผ่ที่หักอยู่บนพื้น ทำเป็นคานหาม สองคนหาม รู้สึกว่าหนักมาก เขาเริ่มไม่ไหวผมก็ให้ร่นเก้งมาทางผมมากขึ้น ระยะทางไม่มากนักหรอกครับที่จะเดินไปถึงแคมป์ ก็ประมาณอีกสักชั่วโมงหนึ่ง แต่ผมสองคนเหนื่อยมาก เดินได้สัก 50 เมตรก็ต้องพักครั้งหนึ่ง อะไรจะหนักปานนั้นก็ไม่ทราบ เลยตัดสินใจหั่นห้วทิ้ง พอไม่ใหวอีกก็หั่นเอาส่วนอกและขาหน้าออกไป เหลือสองขาหลังก็ยังหามกันอีกแล้วก็ยังรู้สึกหนักมากๆ ในที่สุดก็มืด ต้องพัก ติดไฟได้ก็เอานกสองตัวมาย่างกิน ผมให้เขากินหมดเพราะสภาพเขาแย่มากๆ กะว่านอนดีกว่าที่จะเดินต่อไป ไฟฉายก็ไม่มี พรุ่งนี้เช้าค่อยว่ากันใหม่

ประมาณสักสองทุ่มได้ ก็ได้ยินเสียงเก้งเขก คือ ร้องเสียงคล้ายๆ เก็กๆหรือเป็บๆ เก้งไทยเขาจึงเรียกว่า Barking deer ก็ด้วยเหตุนี้เองแหละครับ เสียงดังรอบตัวเลยและอยู่ใกล้ๆด้วย เขียนมานี้ยังขนลุกเลย คนของผมเขาแก่กว่าผมประมาณ 10 ปี และเคยอยู่ป่าล่าสัตว์มาก่อน เขาบอกว่าระวังคืนนี้ให้ดี ช่วยกันอย่าให้กองไฟมอด เสียงเก้งลักษณะนี้ผิดปกติ น่าจะมีเสียงเสือปนอยู่ด้วย เสือออกเสียงหรอกเป็นเก้งเพื่อจะำได้กินเก้ง หรือหลอกเราให้ออกไปยิงเก้งมาเป็นอาหาร จะจริงเท็จประการใดไม่ทราบ แต่เมื่อตั้งใจฟังเสียงจริงๆแล้ว มันก็ดูจะมีความต่างกัน โชคดี ไม่นานคนที่แคมป์ก็ส่งกะเหรี่ยงเดินตามหาพวกผม พบกัน แล้วกะเหรี่ยงก็ยังเดินไปเอาเก้งส่วนขาหน้าที่แขวนไว้กลับมาอีก กะเหรี่ยงหิ้วเก้งทั้งสองส่วนลอยเลยแบบเบามากๆ ก็ตัวเท่าหมาน้อยเท่านั้นเอง แถมไม่มีตับไตใส้พุงอีก จะไม่ให้เบาได้อย่างไร

รุ่งขึ้นเช้าเพื่อนผมไปฉี่ที่ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงเอาำไม้ไปพาดพิงไว้หลังจากทำพิธีต่างๆ พอถอยออกมาก็ชักเลย อย่างเดียวที่ทำได้ก็คือหามออก ระยะเดินประมาณ 2 ชม. ใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น พอเข้าบ้านกะเหรี่ยงได้ ผมก็ถามหาหมอผีให้ไล่ผีเลย แต่ห้ามไม่ให้กินอะไร พอเขาทำพิธีเสร็จ เพื่อนผมก็หายชักไปทั้งคืน ผมให้ต่อแพไม้ไผ่ 15 ลำเอาเพื่อนผมล่องออกมาตาให้วยขาแข้ง เพราะหากจะเดินข้ามเขามาที่รถคงไม่ไหวแน่ พอพ้นบ้านกะเหรี่ยงก็ชักอีกจนถึงเย็นเอาขึ้นรถได้ไปส่งโรงพยาบาล จ.กาญจนบุรี ถึงเช้าพอดี ชักตลอดทางเลยครับ น่ากลัวมาก
สรุปได้ความว่า หมอผีกะเหรี่ยงบอกว่าที่ชักนี้มีทั้งเป็นโรคประจำคัวและมีทั้งผีเข้า เขาไล่ได้เฉพาะผี ส่วนที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเป็นโรคทางสมอง หากมาช้าอีกนิดเดียวก็จะเสียชีวิต

ผมกลับเข้าป่าไปใหม่ด้วยห่วงงานและลูกน้อง กลับไปทำงานแล้วคุยกับชาวบ้านทั้งหลาย วิเคราะห์เหตุการณ์แล้วสรุปได้ว่า ทำผิดไปหมดเลย เริ่มตั้งแต่ไปแย่งอาหารเสือ แทนที่จะยกเก้งออกมาก็ไปลากออกมา คานไม้ไผ่ที่หามก็ไม่ไ่ช่เรื่อง คือใช้ไม้ที่ยังอยู่ในลักษณะเป็นต้น ไม่เหลาเป็นคานให้เรียบร้อย ที่ตั้งแคมป์ก็ไม่อยู่ในที่โปร่งแต่อยู่ในที่อับใกล้ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเขาถือ ไปฉี่รดต้นไม้อีกด้วย  เอาเรื่องนี้มาเล่าให้หมอหนั่น (ตาเกิ้น) ที่เคยพูดถึงตอนแรกๆ ท่านก็คิดว่า ก็เป็นอย่างที่คิดอย่างที่วิเคราะห์นั้นแหละ 

ที่เล่ามาทั้งหมดค่อนข้างละเอียดนี้ ก็เพื่อให้วิเคราะห์กันเองว่า เสือสมิงมีจิงหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ เหตุการณ์ใกล้ตัวที่สุดก็เป็นดังที่เล่ามานี้       

       

 
   

     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 21 ก.ย. 11, 23:31

คุณตั้งยังไม่เห็นเสือสมิงจังๆ.  แต่ได้ยินเสียงเสือเลียนเสียงเก้ง.  เป็นความรู้ใหม่ว่ามันเลียนเสียงได้
ในเพชรพระอุมา. มีแต่งูจงอางทำเสียงกระต๊ากได้เหมือนไก่ป่าตัวเมีย

เพื่อนของคุณตั้งรอดตายมาได้นับว่าทรหดมาก.   จากที่อ่าน. เขาชักอยู่นานกว่า 12 ชั่วโมงทีเดียวค่ะ.   เขาคงไม่คิดจะเข้าป่าอีกละมังคะ

คุณตั้งกลับไปสำรวจป่าอีกหรือเปล่าในระยะหลังๆนี้.    อยากจะรู้ว่าป่าเปลี่ยนแปลงมากไหมในระยะ 20 ปี
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 22 ก.ย. 11, 09:51

เรื่อง เสือสมิง มีบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสต้นที่จันทบุรี ด้วยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม

...เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ไปถึงจันทบุรี
ตอนนั้นจันทบุรีเป็นป่าเสียมากกว่าเป็นเมืองและสวนผลไม้อย่างเดี๋ยวนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมทั้งช้าง ม้าป่า และเสือ โดยเฉพาะเสือถือว่ามีมากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าทางกรุงเทพต้องการเสือก็ต้องมาดักเอาที่นี่ เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการมาก เพราะเหตุนี้ เจ้าเมืองจันทบุรีนอกจากจะต้องดูแลราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณแล้วยังมีหน้าที่คล้ายๆรพินทร์ ไพรวัลย์ คือต้องคอยปราบเสือไม่ให้มารังควานชาวบ้านอีกด้วย
นอกจากเสือจริงแล้วชาวบ้านยังขวัญเสียหวาดผวา เสือสมิง ด้วยดังในพระราชนิพนธ์ ที่ทรงบันทึกไว้ว่า

"...ราษฎรชาวเมืองเชื่อถือกลัวเสือสมิงกันมาก เล่ากันว่าที่เมืองเขมรมีอาจารย์ทำน้ำมันเสือสมิงได้ ศิษย์ได้ลักน้ำมันนั้นทาตัวเข้า กลายเป็นเสือสมิงไปถึง ๓ คน พลัดเข้ามาในแขวงเมืองจันทบุรี ตัวหนึ่งเป็นเสือดุร้าย เที่ยวขบกัดคนตายที่พลิ้ว ๒ คน ที่ปากจั่น ๑ คน ที่ป่าสีเซ็น ๒ คน รวม ๕ คน อาจารย์เที่ยวตาม ได้บอกชาวบ้านว่าศิษย์สามคนลักน้ำมันเสือสมิงทาตัวเข้า กลายเป็นเสือไปทั้งสามคน บิดามารดาของศิษย์นั้นเขาจะเอาลูกของเขา จึงมาเที่ยวตามหา แล้วสั่งไว้ว่าใครพบปะเสือนี้แล้วให้เอาไม้คานตี ฤๅมิฉะนั้นให้เอากะลาครอบรอยเท้าเสือนั้น ก็จะกลับเป็นคนได้ แต่วิธีจะแก้นี้ทำได้ก็แต่เมื่อเสือนั้นยังไม่ทันกินคน รังควานทับเสียแล้ว ถึงจะทำวิธีที่บอกก็ไม่อาจกลับเป็นคนได้"

"...เหมือนเมื่อครั้งก่อนเรามาสัตหีบครั้งหนึ่ง น้ำจืดในเรือหมด ต้องเกณฑ์ให้ทหารขึ้นไปตักน้ำที่หนองบนบกไกลฝั่งประมาณ ๓ เส้น พวกชาวบ้านบอกว่าที่นี่มีเสือสมิงมาเที่ยวอยู่ พระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์มาติดตามเวลากลางคืน แล้วก็ไปนั่งอยู่ที่ใต้ต้นตาลริมหนองน้ำนั้น คอยจะแก้ศิษย์ซึ่งกลับเป็นคน ในเวลานั้นก็ยังอยู่ พวกทหารพากันกลัว กลับมาเล่าจนเรารู้ เราอยากจะให้ไปตามตัวลงมาให้เห็นหน้าอาจารย์สักหน่อยหนึ่ง ก็เป็นเวลาดึกเสียแล้ว ครั้นเวลาเช้าก็ไปเสียจากสัตหีบ ท่านขรัวอาจารย์นั้นป่านนี้เสือมันจะเอาไปกินเสียแล้วฤๅอย่างไรก็ไม่รู้ "


หนังสือเกี่ยวกับเสือสมิง มีหลายเล่มค่ะ
- เสือสมิงจำแลง โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
- เสือสมิง โดย สิริ พัฒนกำจร
- เสือสมิงสิงร่าง โดย พลเรือตรีหญิง จันทนา ศิริสวัสดิบุตร
- ล่าเสือสมิง โดย ฉลอง เจยาคม


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 22 ก.ย. 11, 20:33

คุณตั้งยังไม่เห็นเสือสมิงจังๆ.  แต่ได้ยินเสียงเสือเลียนเสียงเก้ง.  เป็นความรู้ใหม่ว่ามันเลียนเสียงได้
ในเพชรพระอุมา. มีแต่งูจงอางทำเสียงกระต๊ากได้เหมือนไก่ป่าตัวเมีย
เพื่อนของคุณตั้งรอดตายมาได้นับว่าทรหดมาก.   จากที่อ่าน. เขาชักอยู่นานกว่า 12 ชั่วโมงทีเดียวค่ะ.   เขาคงไม่คิดจะเข้าป่าอีกละมังคะ
คุณตั้งกลับไปสำรวจป่าอีกหรือเปล่าในระยะหลังๆนี้.    อยากจะรู้ว่าป่าเปลี่ยนแปลงมากไหมในระยะ 20 ปี

ใช่ครับ ชักอยู่มากกว่า 12 ชม.ครับ ชักประมาณ 1-2 นาทีก็หยุดครั้งหนึ่ง เว้นไป 5-10 นาทีก็ชักอีก เป็นลักษณะอย่างนี้ครับ หากชักต่อเนื่องผมว่าคงแย่ไปแล้ว น่ากลัวมากนะครับ ต้องคอยดู เอาช้อนใส่ปากตอนชักเพื่อกันกัดลิ้น แล้วก็ลุ้นว่าจะหยุดเมื่อไร หยุดชักแล้วก็ต้องลุ้นต่อว่ายังหายใจอยู่นะ นั่นแหละครับระยะทางเดิน 2 ชม. ก็กลายเป็น 10 ชม.
ผมเพิ่งนึกชื่อบ้านออกว่า เดินจากบ้านสะพานเจ็ดไปบ้านไก่เกียง ระยะเดินจากบ้านไก่เีกียงถึงบ้านเกริงไกรประมาณ 2-3 ชม. แล้วก็ทำให้นึกชื่อของกะเหรี่ยงอีกคนที่เป็นเจ้าของช้าง เขามีชื่อเป็นไทยว่า จรูญ  กะเหรี่ยงทั้งสองคนนี้ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ที่อันตรายต่างๆ (ในระดับถึงชีวิต) จากคนในพื้นที่ เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี

ขอพักเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับเสือไว้ก่อน แล้วจะขอต่อไปในเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับช้าง แล้วก็ขอเว้นวรรคไปตอบคำถามเรื่องป่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดครับ การบ้านที่มีสะสมมาก็จะค่อยๆตอบครับ

ผมไม่ได้กลับเข้าไปทำงานในป่าไปอีกเลยตั้งแต่ประมาณปี 2530 เนื่องจากเปลี่ยนลักษณะงานที่ทำ อย่างไรก็ตามก็พอจะตอบได้ในลักษณะที่ไม่ใช่กำปั้นทุบดินว่าก็ต้องเปลี่ยนไปซิ

สำหรับผม ป่าเปลี่ยนไปนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ จากตัวป่าเอง จากฝีมือคน และจากผลกระทบที่เป็นลูกคลื่นต่อเนื่องมาถึง ซึ่ง (ผมคิดว่า)ก็เคยเห็นทั้งสามแบบ และขอยกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

การเปลี่ยนโดยธรรมชาติของตัวป่าเอง ไม่ต้องมีคนไปกระทำเลย ลักษณะนี้เห็นอยู่ 2 ป่า คือป่าแถวบ้านไก่เกียง ในห้วยขาแข้ง และแถวบ้านกีตี้หรือคลิตี้ ในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี
ป่าแรกแถวบ้านไก่เกียง คือ ป่าไผ่ หรือที่เราเรียกว่า ป่าชัฏ หรือชัฏป่าไผ่ เป็นป่าของไผ่หนาม หนามก็ขนาดตำทะลุรองเท้าได้ ครั้งแรกที่ประสบและต้องเดินผ่านไปทำงาน เดินแทบจะไม่ทะลุ ป่ากินพื้นที่กว้างมาก ผมคิดว่าหลายร้อยไร่ เรียกว่าใช้เข็มทิศเดินกะว่าจะออกพ้นไปที่จุดหนึ่ง กลับออกไปอีกจุดหนึ่ง เกือบจะหลงเอาทีเดียว แต่ขอใช้คำว่าหลุดแทน ต่อมาในครั้งที่สอง ห่างกันประมาณ 3 เดือน เดินเฉียดไป อ้าวไผ่ออกดอก มีแต่ขุยไผ่เต็มไปหมด พบไก่ป่ามากมาย แถวชายขอบป่าก็พบไก่ฟ้าพระยาลอด้วย พ้นฤดูสำรวจ กลับไปในอีกปีต่อไป ไม่เหลือความเป็นป่าชัฎอีกเลย โล่งไปหมด เห็นแต่ไผ่เพ็กต้นเล็กๆกำลังเกิดใหม่ (เมื่อไผ่ออกดอกออกขุยก็จะตายยกป่าเลย) ได้เห็นมีต้นไม้บางอย่างที่ไม่ใช่ต้นไผ่เติบโตขึ้น คิดว่าป่านี้ก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นป่าเบ็ญจพันธุ์ต่อไป เสียดายที่ไม่ได้กลับเข้าไปทำงานอีกก็เลยไม่ทราบ อันนี้ช่วงปี 2514-2515

อีกป่าหนึ่งบนเส้นทางก่อนเข้าบ้านคลิตี้ ตามปกติที่เคยผ่านจะเป็นสภาพของป่าค่อนข้างทึบ น่าจะเรียกว่าเป็นลักษณะของป่าดิบแล้ง มีอยู่ปีหนึ่งกลับไปทำงาน พบว่าป่าได้เปลี่ยนไปเป็นลักษณะของป่าละเมาะ ครั้งแรกก็นึกว่ามีการตัดไม้ขนาดใหญ่ เดินเข้าไปสำรวจดูก็พบว่ามีร่องรอยการตัดไม้เพียงเล็กๆน้อยๆตามปกติเท่านั้น ป่านี้น่าจะยังคงสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วดังที่พบในปัจจุบัน

สำหรับกรณีป่าเปลี่ยนโดยคนนั้น คงไม่ต้องกล่าวถึง มีมากมายไปหมด ที่ผมได้สัมผัสและน่าทึ่งที่สุดคือป่าทางตะวันตกของถนนสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร บริเวณบ้างยางสูง ประสบการณ์ก็คือ เดือนมกราคมเข้าไปทำงานในพื้นที่ป่านั้น มองไม่เห็นเดือนเห็นตะวันเลย มีแต่ต้นยางและต้นมะค่าขนาดใหญ่ใบปกคลุม พื้นดินชื้นเปียกแฉะ ในเดือนมีนาคมต่อมาก็เข้าไปอีก คราวนี้โล่ง มีถนนทางลากซุงเต็มไปหมดจนหลง พื้นดินแห้ง มองทะลุไปหมด เป็นป่าที่ได้อนุญาตให้ทำไม้ครับ

อีกป่าหนึ่งก็คือทับเสลา อุทัยธานี โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าซับฟ้าผ่าที่ตั้งสำนักงานรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่เดิมนั้นเป็นป่าดิบชื้น ในช่วงปี 2514-2515 มองไม่ทะลุไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน (ทับเสลาและซับฟ้าผ่าคือช่องเขาที่จะเดินเข้าไปในห้วยขาแข้ง) หลังจากเิริ่มมีการตัดถนนทำเส้นทางยุทธศาสตร์ ก็มีการบุกรุกถางป่าตามมาอย่างมากมาย ผมคงไม่ต้องบรรยายว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ไอ้ที่น่าห่วงก็คือ ผมเข้าไประยะหลังอีกครั้ง จนท.บอกว่าบริเวณห้วยทับเสลานี้แต่ก่อนนั้นมีนกยูงด้วย ผมสะอึกเลย นกตัวใหญ่ปานนั้นมันต้องการที่วิ่งเพื่อจะบิน (Take off) ไม่มีหรอกครับในพื้นที่เช่นนั้น นกยูงฝูงใหญ่อยู่ที่หาดปะนา (หาดควายในภาษาไทย) อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้ว) เป็นที่ราบ โล่ง และพื้นดินชุ่มชื้น มีน้ำแฉะเป็นบางจุด สนใจจะให้ขยายอีกสักเล็กน้อยใหมครัย ??

สำหรับป่าที่เปลี่ยนไปเนื่องจากได้รับผลกระทบนั้น ขอยกตัวอย่างป่าแม่วงค์ทางตะวันตกของนครสวรรค์ ป่านี้เป็นบริเวณของต้นน้ำห้วยขาแข้ง ห้วยแม่วงค์และอื่นๆ เดิมเมื่อปี 2513 นั้น ป่านี้เป็นที่ป่ามีความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำตลอดทั้งปี ไม่ร้อน มีแดดรำไร น่าจะเป็นป่าที่เป็นป่าสำหรับความรู้สึกของคนโดยทั่วไป มีไม้ใหญ่เรือนยอดสูงอยู่มาก มีไม้เรือนยอดระดับกลางไม่มากนัก ไม้พื้นล่างมีมากมายและที่มีมากคือต้นกระชาย มีนกเงือก (นกกก นกกาฮัง) นกแกง (นกเงือกเล็ก) บินว่อนอยู่หลายคู่จำนวนมาก ผมมีประสบการณ์กับเสือในพื้นที่นี้สองสามครั้ง รวมทั้งหมี ช้าง ค่าง ฯลฯ เรียกว่าเป็นป่าในจินตนาการของคนที่ไม่คุ้นกับป่า ส่วนขอบรอบชายของป่านี้เป็นพื้นที่ให้ตัดทำไม้ มีต้นยางใหญ่และไม้มะค่า รวมทั้งปมมะค่า มีมากมาย หลังจากระดมทำไม้กันเรียบร้อยแล้ว ไม่นาน (สองสามปี) ผมก็ได้มีโอกาสกลับไปเห็นอีกครั้ง โอ้ ไม่น่าเชื่อเลย ภาพป่า(ส่วนใน)ที่สวยงามของผมไม่มีอะไรเหลือเลย กลายเป็นป่าแพะ ร้อน ไม่มีนกเงือก ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร

จุดที่ป่าที่เริ่มเปลี่ยนไปนั้น ผมคิุคว่าน่าจะเริ่มในช่วงประมาณปี พ.ศ.2515 เป็นต้นมา หลายป่าที่ตามหลักวิชาการเขาว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมก็เริ่มมีการถางปลูกใหม่ก็เริ่มในช่วงนี้ เคยเห็นป่าทีผมคิดว่ายังคือป่า ถูกถางและปลูกต้นสักก็ประมาณในช่วงนี้

เลยไม่ได้เข้าเรื่องช้างเลยครับ   

           

     

   
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 23 ก.ย. 11, 14:05

เรียนคุณ chupong   ชอบตอนเดียวกับผมเลยครับ


เทวรูปชาวอินคา  ตื่นเต้น อลังการมากครับในความรู้สึกตอนที่อ่านเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเรื่องเลย


ชอบ อะวาโม  แม่เฒ่าผมขาว ผู้มีแต่เสียงไม่เคยเห็นตัวจริง จนกระทั่งตอนจบนางสิ้นใจอยู่ข้างกายของนางเอก 

เกลียด เฒ่าเตเป๊ก    เกลียด ๆๆๆๆๆๆ    อิอิอิ


อินมากไปหน่อยครับ  แหะๆๆๆๆๆๆๆๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 10:44

อ้างถึง
นกยูงฝูงใหญ่อยู่ที่หาดปะนา (หาดควายในภาษาไทย) อยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้ว) เป็นที่ราบ โล่ง และพื้นดินชุ่มชื้น มีน้ำแฉะเป็นบางจุด สนใจจะให้ขยายอีกสักเล็กน้อยใหมครัย ??
อยากให้ขยายค่ะ
คุณตั้งเข้าไปเที่ยวป่าอีกบ้างหรือเปล่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา     ยังเหลือป่าไหนเป็นป่าอยู่บ้างคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 22:16

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่มีโอกาศเข้าไปเดินเที่ยวในป่าใหนเลยครับ ได้แต่ขับรถผ่าน แต่ก็ได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมาก เช่น ตามเส้นทางศรีสัชนาลัย-เด่นชัย เนื่องจากเว้นระยะไม่ได้สัมผัสมานานมากพอสมควร ภาพที่จำได้แถวๆบริเวณประมาณครึ่งทาง คือบริเวณห้วยแม่สิน จากเดิมที่เป็นป่าจริงๆ วันนี้โล่งกลายเป็นสวนผลไม้ไปหมด ที่ผมว่าเป็นป่าจริงๆในสมัยก่อน ก็คือ เมื่อเดินแยกไปตามห้วยไปทางทิศตะวันออกไม่เท่าไรก็ยังพบช้างป่า ผมเคยเดินขึ้นเขาจากห้วยนี้ขึ้นไปทางเหนือ ข้ามเขาที่ชื่อดอยพญาพ่อเืพื่อลงไปหา อ.เด่นชัย บนสันดอยยังพบรังนอนของหมี ทั้งบนง่ามไม้และรอยนอนบนพื้นดิน หากลงร่องน้ำผิด ก็จะโผล่ทางรถไฟสายเหนือบริเวณสถานีปางต้นผึ้ง ซึ่งปัจจุบันนี้บริเวณสถานีนี้เป็นหมู่บ้านและชุมชน ป่าก็โล่งไปหมด ขนาดที่มีน้ำป่าท่วมและดินโคลนถล่ม

สำหรับป่าที่ยังเป็นป่าอยู่นั้น ผมคิดว่าน่าจะยังพอมีให้เห็นอยู่้บ้างนะครับ ซึ่งหากประมวลจากองค์ประกอบหลายๆอย่างแล้ว ผมคิดว่า
  - ป่าในระหว่างเส้นทางห้วยซงไท้ (ที่ทำการและด่านของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร) ไปจนถึงบริเวณที่เรียกว่าปะชิก่่อนขึ้นเขาเข้าสู่พื้นที่ราบทุ่งใหญ่นเรศวร น่าจะยังคงสภาพป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ แถบนี้น่าจะยังพอจะพบกระทิงและช้างป่า
  - ป่าบริเวณต้นน้ำบีคลี่ (หนึ่งในแม่น้ำสามสายที่มารวมกันในเขต อ.สังขละบุร๊ กลายเป็นแม่น้ำแควน้อย) ซึ่งมีต้นน้ำในพื้นที่เดียวกันกับบริเวณที่เรียกว่าปิเต่ง (อยู่ทางทิศเหนือของหมู่เหมืองปิล็อก) ในป่านี้น่าจะยังคงมีหมีขอพอให้เห็นได้
  - ป่าบริเวณใกล้เขตแดนไทยพม่าแถวห้วยเต่าดำ อยู่ทางตะวันตกของแก่งระเบิด (เหนือ อ.ไทรโยค) บางทีอาจจะพบวัวแดง
  - ป่าบริเวณเหนือสุดอ่างน้ำของเขื่อนเจ้าเณร เข้าไปในส่วนที่เป็นแม่น้ำแควใหญ่ ช่วงที่เริ่มเข้าเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ไปจนเลยบริเวณที่เรียกว่าโป่งหอม ในป่านี้อาจจะพบสมเสร็จ
  - ป่าด้านเหนือของห้วยองค์ทั่ง (ห้วยสาขาของแควใหญ่) ตั้งแต่ทุ่งมะขามป้อมเข้าไป ป่านี้ ดีไม่ดีอาจพบนกยูงที่อพยพไปจากหาดปะนาก็ได้
  - ผมมิได้กล่าวถึงป่าที่คนชอบไป เช่น เขาใหญ่ คลองสก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าหากอยากจะทราบว่าป่าที่เราเข้าไปนั้นยังเป็นป่าเดิมๆอยู่หรือไม่ ก็น่าจะลองถาม จนท.ดูว่า อาทิ
  ในเรื่องของต้นไม้ -มีไม้ร่มม้าหรือไม่ หากมีก็ถามต่อว่าแล้วยังเห็นค่างหรือไม่  -มีไม้ขานางบ้างใหม  -มีไม้ไผ่ผากหรือไม่ หากมีก็ถามต่อว่าแล้วมีช้างหรือไม่ ตัวอย่างเหล่านี้แสดงถึงความเป็นป่าที่ยังไม่ถูกรบกวนมากนัก แต่หากถามว่า ป่านี้มีต้นปอมากใหม แล้วได้คำตอบว่ามี ก็แสดงว่าเป็นป่าที่ถูกบุรุกไปแล้ว
  ในเรื่องของสัตว์ -มีพญากะรอกหรือบ่างใหญ่ใหม  -มีหมูหริ่งหรือหมาหริ่งหรือไม่  -มีนกกุลุมพูใหม -มีนกเงือก นกแกงใหม เป็นต้น
ส่วนสัตว์หายากอื่นๆ เช่น สมเสร็จ เม่นหางพวง หมีขอ ชะมดแผง (เห็นแผง) ไก่ฟ้า นกยูง ลิงลม วัวแดง กระทิงข้อเหลือง เหล่านี้ อาจจะพบในบางป่าเท่านั้น   
   

 
 

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 ก.ย. 11, 22:55

ขอขยายความเรื่องนกยูงสักนิดนะครับ

ในประสบการณ์เดินป่าของผม ผมไม่เคยพบบริเวณที่มีนกยูงเลย ยกเว้นที่หาดปะนา อยู่เหนือปากห้วยขาแข้งขึ้นไป ซึ่งเป็นเนินที่ราบอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ น่าจะมีเนื้อที่ระหว่าง 5-10 ไร่ มีหญ้าสูงประมาณเกือบๆเข่า พื้นที่แฉะเป็นหย่อมๆ นกยูงฝูงนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นฝูงค่อนข้างจะใหญ่มาก หรืออาจจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็ได้ เลยมารวมตัวกันอยู่มาก

สวยมากครับ  ดูเขาอยู่กันเป็นฝูง ผมคิดว่าเขากำลังหากินกัน มีการเกี้ยวกันบ้างระหว่างตัวผู้หางยาวกับตัวเมีย คงจังหวะไม่ดีจึงไม่เห็นมีการรำแพนหาง ผมคิดว่าเขาเห็นเรา แต่ไม่ตกใจ ในสมัยที่ผมเดินทำงานนั้น สัตว์แทบจะไม่รู้จักคนเอาเลยทีเดียว (แล้วค่อยทะยอยเล่าให้ฟังถึงความน่ารักต่างๆครับ) พอพวกผมเดินเข้าไปใกล้อีกหน่อย เพราะต้องใช้เส้นทางเดินผ่านที่ราบนั้น พวกนกยูงบางส่วนก็ออกบิน ส่วนที่เหลือก็ค่อยๆบินตามกันไป คะเนดูว่าน่าจะมีไม่น้อยกว่า 30 ตัว ตอนบินนี้ทำให้เห็นว่ามีนกยูงบางตัวมีสีสรรเหมือนตัวผู้ จำได้ว่ามีสีไม่จัดจ้านมากนักและไม่มีพวงหาง ก็ได้ความรู้จากคนนำทาง (เพื่อนร่วมทางในพื้นที่) ว่านกพวกนี้เป็นตัวผู้ที่ไม่มีหางเป็นพวง เขาเรียกว่าพวกสีดอ ชาวบ้านทั่วไปที่เที่ยวป่าแถบนั้นจะไม่ยิงนกยูง เขาว่าหากพลาดไปยิงเอาเจ้าสีดอเข้า จะทำให้ชีวิตตกอับ ครอบครัวแตกแยก แตกแยกกับเพื่อนฝูง ก็เลยไม่มีใครทำอะไรกับนกยูง ที่จริงแล้ว ชาวบ้านป่าจะถือมากเรื่องการยิงหรือฆ่านกขนาดใหญ่ เช่น นกเงือก นกแกง เพราะนกเหล่านี้ มีผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต หากตัวหนึ่งตายอีกตัวก็จะตายตาม (ค่อยทะยอยเล่าให้ฟังครับ)

ผมไม่เคยเห็นที่ใหนอีกเลยครับ ยกเว้นในสวนสัตว์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 15:28

อยากเห็นภาพนกยูงบินจากไปกันทั้งฝูง  คงงามตามาก   กวาดอินทรเนตรหา ยังไม่พบภาพแบบนี้  มีแต่ภาพจับกลุ่มกันอยู่บนพื้นดิน  เลยเอามาลงแก้ขัดไปก่อนค่ะ
ไม่เคยได้ยินชื่อนกยูงสีดอ   รู้จักแต่ช้างสีดอ คือช้างพลายที่ไม่มีงา     ฝากถามคุณเพ็ญชมพูว่าฝรั่งเขาเรียกว่าอะไร    อยากเห็นรูปบ้าง

นานหลายปีมาแล้ว   เพื่อนเอาหางนกยูงมาให้กำใหญ่ สำหรับปักแจกันในห้องรับแขก    บอกว่าได้มาจากฝั่งพม่า   แต่ปักไม่ลง  เลยบริจาคไป   เพราะรู้ว่าได้หางมาก็แปลว่าเจ้าของหางเรียบร้อยโรงเรียนพม่าไปแล้ว   
เสียดายนกแสนสวยพวกนี้ ถ้าจะต้องมาถูกฆ่าเพื่อเอาหางไปประดับแจกัน     ไม่รู้ว่าพรานเขายิงเพื่อกินเนื้อกันด้วยหรือเปล่า


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 15:48

ไม่เคยได้ยินชื่อนกยูงสีดอ    รู้จักแต่ช้างสีดอ คือช้างพลายที่ไม่มีงา     ฝากถามคุณเพ็ญชมพูว่าฝรั่งเขาเรียกว่าอะไร    อยากเห็นรูปบ้าง

นานหลายปีมาแล้ว   เพื่อนเอาหางนกยูงมาให้กำใหญ่ สำหรับปักแจกันในห้องรับแขก    บอกว่าได้มาจากฝั่งพม่า   แต่ปักไม่ลง  เลยบริจาคไป   เพราะรู้ว่าได้หางมาก็แปลว่าเจ้าของหางเรียบร้อยโรงเรียนพม่าไปแล้ว   
เสียดายนกแสนสวยพวกนี้ ถ้าจะต้องมาถูกฆ่าเพื่อเอาหางไปประดับแจกัน     ไม่รู้ว่าพรานเขายิงเพื่อกินเนื้อกันด้วยหรือเปล่า

๑. ไม่เคยได้ยินชื่อ "นกยูงสีดอ" เช่นกัน

๒. ช้างสีดอ = mukna



๓. นกยูงเมื่อถึงเวลามันจะสลัดขนหางอันเก่าออกไป แล้วจะมีขนหางอันใหม่ขึ้นมาแทน ไม่เหมือนงาช้างดอก ไม่เชื่อถามคุณตั้งดูได้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 17:58

^
หางนกยูงเก่าที่ร่วงไปตามธรรมชาติ กับหางนกยูงที่ตัดมาสดๆจากซาก   ดูเหมือนกันไหมคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 18:31

เรื่องนกยูงสีดอนั้น ชาวบ้านป่าเขาเรียกกัน ในความหมายของเขาคือ นกยูงตัวผู้ที่ไม่มีหางเป็นพวงยาว คล้ายกับช้างสีดอครับ

เท่าที่เคยทราบนั้น นกยูงตัวผู้จะทิ้งหางหลังจากฤดูผสมพันธุ์แล้ว ผมไม่ทราบว่าทิ้งจนโกร๋นเลยหรือทิ้งเป็นบางส่วน เคยเห็นแต่พวงหางที่เขาเอามาเสียบเป็นแจกันแล้ว ซึ่งมีมีความยาวหลายขนาด (ในพม่า) ผมเองไม่เคยพบเศษหางนกยูงในป่าเลย ในช่วงเวลาที่พบฝูงนกยูงนั้นจำไม่ได้แม่นครับ แต่อยู่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงของสัตว์นั้นมักจะเป็นช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์  

กรณียิงนกยูงเพื่อกินเนื้อหรือไม่นั้น ตอบได้เลยครับว่า ไม่มี ชาวบ้านป่าเกือบจะไม่กินเนื้อนกขนาดใหญ่เลย เว้นแต่จะอดอยากจริงๆ สังเกตุใหมครับว่า คนจะเลือกกินสัตว์ปีกที่มีเนื้อค่อนมีสีอ่อนเป็นส่วนใหญ่  เนื้อของสัตว์ปีกที่มีสีเข้ม (แดงหรือน้ำตาลแดงเข้ม) มักจะไม่กินกัน ซึ่งสัตว์ปีกที่มีเนื้อสีเข้มนั้น ส่วนมากจะเป็นพวกกินแมลงเป็นอาหารหลักมากกว่าธัญพืช ซึ่งสัตว์ปีกขนาดใหญ่ส่วนมากก็มักจะมีเนื้อสีเข้มไม่น่ากิน ยกเว้นบางชนิด เช่น ไก่งวงและห่าน เป็นต้น

 

  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 18:43

ขอหารือท่านสมาชิกครับ
 
เรื่องที่ผมเขียนในกระทู้ "เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม" นี้ ยังคงอยู่ในสารัตถะของกระทู้นี้หรือไม่

รู้สึกไม่สบายใจครับ เสมือนหนึ่งว่าเอาเรื่องประสบการณ์จริงมาปนกับเรื่องของจินตนาการในวรรณกรรมต่างๆ

ควรจะยกไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่หรือไม่ครับ เป็นกระทู้ในบริบทของเรื่องเกี่ยวกับ สัมผัสกับป่าในอดีต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 18:50

ตกลงแยกกระทู้ตั้งแต่ค.ห. 36   เมื่อคุณตั้งเริ่มเล่าถึงป่าที่ไปประสบมาด้วยตนเอง
มาเริ่มกระทู้ใหม่ อยู่ในห้องประวัติศาสตร์  นะคะ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 28 ก.ย. 11, 09:06

ส่งภาพป่า ที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยมาประกอบ ให้ได้บรรยากาศ..ค่ะ  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง