เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 30979 สัมผัสกับป่าในอดีต
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 16 ก.ย. 11, 20:53

ผมไม่ใช่นักอ่านหนังสือนวนิยาย แต่มีประสบการณ์กับการใช้ชีวิตในป่าเขามาพอควร เลยขอแทรกสิ่งที่ประสบมาในบางเรื่อง ซึ่งคิดว่าคงจะมีการกล่าวถึงอยู่บ้างในวรรณกรรมหลายเรื่อง

การใช้ชีวิตอยู่ในป่านั้น นอกเหนือจากรับผิดชอบในภาระหน้าที่การงานแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบคนในคณะที่ทำงานร่วมกันด้วย สิ่งสำคัญที่สุึดก็คือความสำเร็จของงานและความอยู่รอดอย่างปลอดภัย เราจะทำได้ดีและมีผลสำเร็จก็ต่อเมื่อรู้จักธรรมชาติจริงๆและรู้จักตัวเราจริงๆ

คุณสมบัติสำคัญประจำตัวที่ต้องสร้างให้มี คือ การสังเกต การเรียนรู้ การมีความละเอียด การมีความเข้าใจ และการยอมรับ

เรื่องแรก ระหัสไพรมีจริงใหม มีครับ เป็นเสียงดังเหมือนการเคาะไม้ ดังเป็นระยะต่อเนื่องผ่านที่ที่เราอยู่ แล้วก็ผ่านไป มักจะเกิดในตอนกลางคืน กลางวันก็มี

แล้วมีอะไรเกิดขึ้นใหม มีครับ ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นตลอดคืน เงี่ยหูฟังก็จะได้ยินเสียงสัตว์เหยียบไม้บ้าง ส่งเสียงบ้่าง ตอนเช้าออกไปเดินสำรวจดู ก็จะพบรอยสัตว์เดินอยู่ห่างจากที่พักไม่มากนักหรือไม่พบอะไรเลย บางครั้งเป็นช้างสีดอ ช้างหนุ่มที่เริ่มมีงาออกมาเป็นขนายที่ถูกกันออกจากฝูง (โขลงช้างของไทยมีตัวผู้ได้ตัวเดียว) สีดอเข้าอยู่ร่วมโขลงไม่ได้ แต่จะเดินอยู่ใกล้ๆกับโขลงรอบๆโขลง บางครั้งเป็นเสือ กวาง เก้ง หรืออีเห็น หรือลิงลม

แล้วใครเป็นผู้ทำเสียง ตอบตรงๆว่าไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าเป็นนก อาจจะเป็นนกหัวขวานที่เจาะโพรงไม้อาศัยอยู่ บางทีก็เป็นเสียงเหมือนไม้เสียดสีกันในช่องทางที่ลมพัดผ่านวูบหนึ่ง

ขนาดพอจะคุ้นเคย แต่ได้ยินทีไรก็ขนลุกซู่ทุกที

กลัวใหม แรกๆก็กลัว ต่อมาก็ทำใจให้สะบาย เพราะเหมือนมีเจ้าที่เจ้าทางคอยเตือนเรา อย่างน้อยมันก็เกิดอะไรก็ไม่ทราบฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ทำให้เรารู้สึกตื่นใวต่อเสียงต่างๆที่เข้ามาใกล้ ทั้งๆที่หลับอย่างสะบาย         



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 08:22

เรียนคุณ atsk ครับ

   ผมเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดล่องไพร ของท่านน้อย อินทนนท์ แต่ถ้าหากจะให้เลือกว่าตอนไหนเข้มข้น ตื่นเต้น ดุเดือด แฟนตาซีสุดๆ ผมขอเลือกตอน “เทวรูปชาวอินคา” ครับ

ขออนุญาตเรียนถามคุณnaitang_ ครับ

   อ่านเรื่องเล่าประสบการณ์ของคุณแล้ว อดระทึกตื่นเต้นตามมิได้เลย อยากรู้จังครับ ตอนกลางคืนในป่า เคยได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เสียงซึ่งฟังคล้ายคนหัวเราะ หรือเห็นภาพอะไรก็ไม่รู้ยืนตะคุ่มๆ พอฉายไฟดูก็ไม่มีบ้างไหมครับ
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 10:37

เสียงเหมือนคนหัวเราะไม่เคยได้ยินครับ

เคยแต่ได้ยินเสียงโหยหวนเหมือนคนเจ็บใกล้ตาย เป็นเสียงของบ่างยักษ์ (บ่างตัวใหญ่) ได้ยินในป่าของกาญจนบุรี ย่านห้วยขาแข้งช่วงล่างและป่าทางตะวันตกของไทรโยค บ่างเป็นสัตว์หากินกลางคืน ลองนึกดูซิครับ เสียงนี้คนไม่เคยได้ยินจะรู้สึกน่ากลัวมาก
 
เสียงอีกเสียงที่ได้ยินแล้วน่ากลัว คือเสียงของเขียดแลว (กบทูต) ที่อยู่ในห้วยบริเวณที่มีน้ำแฉะๆ มีน้ำไหลรินเอื่อยๆ และมีทรายกับกรวด เขาจะทำเเป็นอ่างน้ำเล็กๆขนาดไม่เกินสองฝ่ามือ ร้องเรียกคู่ เสียง คือ อืดๆๆๆๆ ก็รู้ว่าเป็นอะไรแต่หากนั่งอยู่เงียบๆแล้วได้ยินเสียงนี้ บางทีก็ขนลุกเหมือนกัน ทำเอาหันหน้าวอกแวกเลย

เสียงของนกเค้าแมวใหญ่ (นกถึดทือ) ที่เกาะหาเหยื่ออยู่บนรากไม้ริมห้วยตามคุ้งน้ำก็น่ากลัว เสียงของมันก็เหมือนกับชื่อของมัน เวาลาเดินตามห้วยตอนกลางคืน ฉายไฟฉายไปบางที่เห็นตาเป็นคู่ๆเรียงกัน สองสามคู่ ก็ทำให้ตกใจได้เหมือนกัน นกพวกนี้พบแถวห้วยขาแข้งค่อนข้างมาก ไม่ค่อยจะพบในป่าอื่นๆ
 
เสียงอื่นๆค่อยเล่าให้ฟังครับ ขอไปทำธุระก่อน
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 11:06

หนูดีดี เคยเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
ยิ่งเดินสูงขึ้นไป ยิ่งรู้สึกว่าตัวเราเป็นอะไรที่เล็กลง เล็กลง เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
ยิ่งตอนที่ปีนขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของยอดดอยได้ มีความรู้สึกว่าเราทำได้ เราภูมิใจ เรายิ่งใหญ่ เราเป็นผู้พิชิตยอดดอยได้
แต่ความรู้สึกเหล่านั้นอยู่ได้เพียงแว๊บเดียว
พอเรามองวิวไปรอบๆ มีแต่ภูเขา อีกมากมายหลายยอด ทอดตัวไกลจนสูดลูกหูลูกตา ท้องฟ้าก็กว้างใหญ่ไพศาล
รู้สึกเลยว่าตัวเราเป็นเพียงแค่อณูเล็กๆ สิ่งที่เราภูมใจนักหนาว่าเป็นผู้พิชิตนั้น เป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
ยิ่งตอนกลางคืนนะคะ ออกมานอนดูดาวนอกเต้นท์ ดาวเยอะมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต และอยู่ใกล้เหมือนจะเอื้อมมือจับได้
ธรรมชาติคือผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง...
บนยอดดอย มีแต่เสียงลมพัดค่ะ บางช่วงก็เป็นเสียงหวีดหวิว รุ่นพี่บอกว่าเสียงลมพัดลงไปในหุบเขาแล้วสะท้อนก้องขึ้นมา..


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 11:53

กระผมกราบขอบพระคุณคุณ naitang เป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับส่ำสำเนียงในป่าที่กรุณาถ่ายทอดผ่านตัวอักษรให้รับฟังกัน อยากรู้อีกแล้วครับ เสียงเสือคำราม ตามโสตประสาทของคุณ naitangนั้นดังอย่างไรครับ เคยอ่านพบในเพชรพระอุมา ท่านพนมเทียนเขียนไว้ รู้สึกจะเป็น “อ้าว....ฮึ่ม” แต่ก็มีวรรณกรรมบางเรื่อง (ผมจำมิได้แน่ว่าล่องไพร หรือลูกไพร ของท่านครูมาลัย ชูพินิจ) เขียนเป็น “ฮะอูม ฮะอูม (แบบกระหึ่ม)” ครับ

   อ่านเสียงสายลมพัดที่คุณดีดีได้ยินบนยอดเขาแล้ว นึกถึงเพลง “ภูพานแห่งการปฏิวัติ” ของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาทันทีครับ

   “ธงพรรคเด่นแดงเพลิงสะบัดโบกพลิ้วเหนือภู
สู้พายุโหมหวิวหวูไม่เคยหวั่นไหว”
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 12:11

ส่งเพลง ภูพานแห่งการปฏิวัติ มาให้ฟังค่ะ... ยิงฟันยิ้ม


แต่อารมณ์ที่ได้ยินเสียงลมพัดบนยอดดอด ไม่ใช่อารณ์แบบนี้ค่ะ
มันวังเวง สงบ มีแต่เรา กับธรรมชาติ บรรยายไม่ถูกค่ะ...
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 17:01

ถ้าความรู้สึกของคุณดีดีเป็นเช่นที่กล่าวมา ผมขอนำบทกวีชื่อ “เขาใหญ่” ในหนังสือ “เขียนแผ่นดิน” ของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาฝากครับ คิดว่าอารมณ์คงละม้ายๆกันบ้างไม่มากก็น้อย

เขาใหญ่
นิพนธ์โดย ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

   หมอกเคล้าเล้าโลมขุนเขา
เผยเงางำฟ้าผาใหญ่
เป็นทิวเป็นเทือกถัดไป
ครึ้มไม้ครึ้มเมฆหมอกมัว

   แดดไล้ลงทอทาทาบ
อบอาบไอลอยเลือนสลัว
ช้าเชือนชวนผาพลิกตัว
ตื่นทั่วเทือกทิวลิ่วลึก

   โชยฉ่ำชื่นฟ้าป่าเขา
คล้ำเงาเคล้าพงดงดึก
เย็นเยียบเงียบงำสำนึก
รู้สึกชีวิตนิดน้อย

   สัตว์ใหญ่ป่าเหย้าเขาใหญ่
ไม้ไล้ลมริ้วปลิวปล่อย
ฟ้ากว้างป่ากว้างคว้างลอย
เพชรพลอยแผ่นดินถิ่นงาม

   (จากหนังสือ “เขียนแผ่นดิน” บทที่ ๘)




บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 17:41

ท่านเนาวรัตน์ แต่งได้ไพเราะสมกับที่เป็น กวีซีไรท์ และศิลปินแห่งชาติค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.ย. 11, 19:02

....เสียงเสือคำราม ตามโสตประสาทของคุณ naitangนั้นดังอย่างไรครับ เคยอ่านพบในเพชรพระอุมา ท่านพนมเทียนเขียนไว้ รู้สึกจะเป็น “อ้าว....ฮึ่ม” แต่ก็มีวรรณกรรมบางเรื่อง (ผมจำมิได้แน่ว่าล่องไพร หรือลูกไพร ของท่านครูมาลัย ชูพินิจ) เขียนเป็น “ฮะอูม ฮะอูม (แบบกระหึ่ม)” ครับ...

ที่ว่าจะเล่าต่อก็เสียงเสือนี่แหละครับ ตอบกันตรงๆ ไม่เคยได้ยิน  น่าจะเป็นลักษณะเสียงคล้ายแมวกรนมากกว่ากระมัง ถ้าได้ยินเสียงเสือก็คงแย่แล้วละครับ แสดงว่าอยู่ใกล้มากๆ และผมคิดว่าคงจะไม่มีใครอยากจะได้ยินหรอก อีกอย่างหากตั้งแคมป์กันเป็นกลุ่มแบบคนกรุง คือรถเข้าถึง เพื่อเอาสัมภาระลง แสดงว่ายังไม่เป็นป่าลึกเท่าไร อาจจะเป็นเพียงชายป่าละเมาะที่อยู่ลึกหน่อย หากจะมีเสือก็คงหนีไปไกล ไม่มาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ยกเว้นแต่จะออกไปนั่งห้างอยู่คนเดียว ป่าที่จะมีเสือก็คือป่าที่มีสัตว์ประเภทเก้ง กวาง เนื้อทราย ละมั่ง ละอง กระจง อาหารของมัน แต่บริเวณที่เป็นละเมาะและมีทุ่งหญ้าอาหารของอาหารเสือของไทยนั้นมันมีขนาดเล็ก ผมไม่เคยเห็นที่เป็นพื้นที่บริเวณกว้างมากๆสักแห่ง พอที่จะเป็นพื้นที่ไล่ล่าแบบในอัฟริกา การไปนั่งห้างก็จะไปนั่งในบริเวณริมโป่งที่มีแ่อ่งน้ำ (โป่งน้ำซับ) หรือไม่มีก็ได้ (โป่งดิน) หรือริมห้วยบางตอนที่มีดินโป่ง สัตว์ที่เป็นอาหารเสือส่วนมากก็จะออกหากินในทุ่งตอนบ่ายแก่ๆ หรือช่วงเริ่มมืดสนิท ช่วงดึกสงัดมักจะไปกินดินโป่ง และช่วงก่อนฟ้าสางก็ลงโป่งที่มีน้ำ จากนั้นก็จะหลบนอนหลบแดดตามชายทุ่ง ไม่หลบนอนอยู่บริเวณชายบริเวณที่เป็นโป่ง เสือก็จะออกหากินช่วงที่สัตว์เหล่านี้ออกหากิน ผมเกือบจะไม่เคยเห็นซากสัตว์ที่เสือกินนอกเขตที่เป็นโป่งเลย ช่วงเวลาที่สัตว์ออกหากินนี้ยังขึ้นกับความสว่างของพระจันทร์ด้วย การส่องสัตว์จึงต้องทำในเดือนมืด ไม่ใช่เดือนหงาย เดือนหงายก็ได้แต่ต้องรอเวลาให้มืดแสงพระจันทร์เสียก่อน การส่องสัตว์ด้วยรถยนต์ก็คงจะไม่ได้ยินเสียงเสือ การเดินส่องก็มีเสียงพอที่จะทำให้เสือหลีกไปหรือเสืออยู่นิ่งๆและเงียบเสียง จะไล่เหล่า (ตีเกราะเคาะไม้) ไล่ให้สัตว์ออกจากที่ซ่อนในตอนกลางวัน เพื่อที่จะล่าก็เป็นการไล่สัตว์ทุกอย่างให้วิ่งออกจากที่ซ่อนกระเจิดกระเจิงไปหมด ก็คงจะไม่ได้ยินเสียงเสือ การไปนั่งห้างนั้นผมว่าทุกคนก็คงไม่ประสงค์จะยิงเสือ คิดแต่จะยิงสัตว์ที่นำมากินได้ หากยิงไม่ตายกลายเป็นเสือลำบากจะยุ่งกันไปใหญ่ (ไว้ค่อยเล่าครับ) การล่าเสือในเมืองไทย เท่าที่เห็นจะเป็นการยิงสัตว์ที่เป็นอาหารเสือทิ้งไว้เป็นเหยื่อล่อ แล้วก็ไม่เห็นเหยื่อล่อเป็นสัตว์ที่เนื้ออร่อยเราเอามากินกัน ที่เห็นก็เป็นกระทิง คือได้ทั้งกระทิงและได้ทั้งเสือ
สรุปว่า เคยได้ยินเสียงเสือกันจริงๆหรือเปล่า ฮืม
ขอหยุดเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ค่อยมาเล่าต่อ 
     
ผมมีประสบการณ์กับเสือไม่ค่อยมาก แต่ก็มากพอสมควร ครั้งแรกก็ที่แถวๆตีนเขามอโกจู อยู่ทางตะวันตกของกำแพงเพชร ข้ามไปก็อุ้มผางของตาก ตั้งเต็นท์นอนอยู่บนที่ราบเล็กๆริมห้วยกับคณะสำรวจอีก 2 เต็นท์ พวกผมออกไปฟันปลาในห้วยเพื่อเอามาทำอาหาร โดยเดินลุยน้ำ ใช้ไฟฉายส่อง แม้ว่าครีบปลาจะยังไหวอยู่ แต่หากปลาอยู่นิ่งๆ ก็แสดงว่านอนหลับ เราก็เอามีดฟันเอา ไม่ต้องแรงขนาดขาดสองท่อนหรอกครับ ชั่วไม่นานก็จะได้ปลามาสักครึ่งกระแ็ป็งได้ ผมหาปลามากินโดยวิธีนี้ เอาวิธีมาจากกะเหรี่ยง ง่ายกว่าตกเบ็ดเยอะ ปลาก็เป็นพวกปลาใบไม้ ปลากั้ง (ลักษณะปลาช่อน ตัวสั้นกว่าเมื่อเทียบสัดส่วน หัวโต ครีบหลังแดง ตัวขนาดไม่เกิน 2-3 นิ้วมือ) แต่ต้องระวังจะฟันเอาหัวงูทีซุกตัวอยู่ริมตลิ่ง พอกลับไปที่เต็นท์ เพื่อนคนหนึ่งนอนอยู่ในเต็นท์เฝ้าแค้มป์อยู่คนเดียว ไม่อยากออกไปเปียกน้ำด้วยเพราะเป็นหน้าหนาว ก็บอกว่า เห็นเงาสัตว์เดินผ่าน เราก็เอาไฟฉายไปส่องดูรอย ปรากฎว่าเป็นรอยเสือครับ ตัวคงเขื่องอยู่ทีเดียว รอยขนาดฝ่ามือได้ ตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยนอนในเต็นท์อีกเลย จะใช้ผ้าใบผืนหนึ่งปูพื้น อีกผืนหนึ่งทำเป็นหลังคา และอีกผืนเล็กปูเพื่อนั่งทำกับข้าวกินข้าวกินเหล้ากัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 10:41

อ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านเพชรพระอุมาตอน ไพรมหากาฬ    มีฉากรพินทร์พาดารินไปนั่งห้าง  ยิงกระทิงด้วย
คุณตั้งคงคุ้นเคยกับป่ามากพอสมควร      เคยได้เห็นหรือได้ยินอะไรแปลกๆ  เหมือนนิทานริมกองไฟไหมคะ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 11:01

เพชรพระอุมา ก็ต้อง ผีกองกอย...ผีโขมด... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 19:06

อ่านแล้วสนุกเหมือนอ่านเพชรพระอุมาตอน ไพรมหากาฬ    มีฉากรพินทร์พาดารินไปนั่งห้าง  ยิงกระทิงด้วย
คุณตั้งคงคุ้นเคยกับป่ามากพอสมควร      เคยได้เห็นหรือได้ยินอะไรแปลกๆ  เหมือนนิทานริมกองไฟไหมคะ

ผมเริ่มรู้จักและเข้าป่าเมื่อยังเด็กๆ ไปกับคุณพ่อ เมื่อเรียนจบ งานที่ทำก็ต้องเข้าป่าทุกๆปี แล้วก็ทำต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี ครับ จะด้วยความเฮงหรือซวย (ขอโทษครับแต่มันได้ความหมายดี) ก็ไม่ทราบ ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในพื้นที่ที่ค่อนข้างจะลำบากและทุรกันดานสุดๆ เป็นพื้นที่ที่แทบจะไม่มีคนอยู่อาศัย ไม่มีถนน เดินอย่างเดียว เป็นป่าใหญ่ ไข้มาลาเรียชุกชุม (เป็นมา 8 ครั้ง มีอยู่ปีหนึ่งเป็น 2 ครั้ง) อยู่ในเขต ผกค. ฯลฯ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบความเป็นอิสระ ชอบผจญ ชอบสัมผัสและเรียนรู้ความแปลกใหม่ ฯลฯ เลยทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความสนุกและพอใจอย่างยิ่ง

มีอยู่สามสิ่งที่ผมถือปฏิบัติเมื่อทำงาน คือ สัจจะ ทำให้กับแผ่นดิน และพอเพียง เท่านี้เองแหละครับที่ทำให้อยู่รอดปลอดภัยมาตลอด แม้จะประสบกับเรื่องอันตรายใดๆก็มีอันเป็นไปให้ร้ายกลายเป็นดีทุกครั้ง สิ่งที่ได้มาจึงคือเรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

ขออภัยเป็นอย่างยิ่ง กรุณาอย่าจะคิดว่าเป็นการคุยโอ้อวด ผมเพียงเพื่อต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ที่น้อยคนจะมีโอกาศ และถ่ายทอดภาพความเป็นจริงในอดีต

ผมติดค้างคำถามเรื่องเงาทะมึนของคุณ atsk และเรื่องนิทานริมกองไฟของคุณเทาชมพู

ก่อนจะไปเรื่องทั้งสองนี้ขอเล่าเรื่องของเสือต่ออีกนิดหน่อยครับ

ครั้งหนึ่ง ได้ตั้งแคมป์นอนอยู่บนหาดทรายในห้วยขาแข้ง แถวบ้านกรึงไกรหรือเกริงไกร (น้ำเขื่อนศรีฯ ท่วมไปแล้วครับ) ด้วยความหนาวในช่วงฤดูหนาว (จำไม่ได้ว่าเป็นช่วงเดือนมกราฯหรือกุมภาฯ) อุณหภูมิลงไปถึงประมาณ 6-7 องศา เราก็สุมกองไฟ หาได้เฉพาะไม้ขอนขนาดเล็กๆ เป็นปกติที่ช่วงประมาณตีสามตีสี่ ไฟก็จะมอดอาจจะเหลือส่วนที่เป็นถ่านคุอยู่เล็กน้อย คืนนั้นนอนกันสะบายมาก ในเต็นท์ผ้าใบสามผืนดังที่เล่ามาแล้ว ตื่นมาก็ช่วงประมาณตีสี่ด้วยความหนาวจัด ไฟมอดสนิทด้วยน้ำค้างแรงมาก ทุกคนก็ตื่นมาช่วยติดไฟกันใหม่จากเศษขอนไม้ที่เหลือ พอรุ่งสางสว่างพอทำจะอะไรกันได้ ก็ได้เห็นรอยตีนเสือเดินผ่านเหยียบขี้เถ้าของกองไฟ ไม่มีใครรู้สึกตัวเลยว่ามีสัตว์เดินผ่าน ตกใจหรือไม่ ไม่ครับ รู้สึกกลัวหรือไม่ อืม นิดหน่อย แต่เชื่อมั่นในความตั้งใจทำงานให้แผ่นดิน ป่าเขารู้ครับ ทุกคนจึงสงบและเฉยๆ เพียงแต่คุยกันว่า คงจะเป็นเพราะว่าเราคิดดีทำดี เลยไม่มีปัญหาใดๆ แล้วเราก้ย้ายแคมป์เดินทำงานต่อไป

ลักษณะงานของผม ทำให้ไม่สามารถตั้งแคมป์ได้ถาวร คือ เปลี่ยนที่ไปทุกวัน ผมเข้าป่าทำงานครั้งละประมาณ 20 วัน อย่างน้อยประมาณ 7 -15 วันในทุกครั้งที่ออกทำงาน จะไปในพื้นที่ที่ไม่มีคนเคยเดิน     

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 ก.ย. 11, 19:43

เพื่อจะเป็นการสลับการตอบคำถาม

ขอไปเรื่องเงาตะคุ่มๆในป่าที่ส่องไฟแล้วไม่เห็นมีอะไร
ตอบได้เลยครับ มีครับ แต่ส่วนมากจะมาจากจินตนาการของเราเอง จากจิตที่ไม่นิ่ง จากใต้สำนึกที่แม้ใจจะบอกว่าไม่คิดไม่จริงแต่จิตทำให้เห็น ผมคิดว่าบางครั้งก็เป็นลักษณะของการเปิดของจิตและสัมผัสที่ห้า เคยเจอผีไหมครับ ผมเคยเจออย่างน้อยก็สองสามครั้งพร้อมกับเพื่อนที่ยืนยันได้ ผมคิดว่าหลายคนเคยเจอ แต่ส่วนมากจะเป็นสัมผัสจากจิตหลอน

ในป่านั้น เมื่อค่ำแล้วก็จะมืดและเงียบสงัด มีแต่เสียงเรไรและเสียงจากกบเขียดแมลงต่างๆ ลองนึกดูสิครับ บางจังหวะเสียงก็จะหยุดไปพร้อมๆกันช่วงอึดใจหนึ่ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ด้วยสัญชาติญาณก็จะเงี่ยหูฟังทันทีว่ามีอะไรเข้ามาทำให้เสียงนั้นหยุดไป ตอนนี้แหละครับ ใจและจิตอยากจะนึกอยากจะเห็นอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เงาต้นไม้จากแสงจันทร์ แสงสะท้อนจากกลุ่มใบไม้ เสียงไม้เสียดสีกัน ตาที่ยังไม่คุ้นกับความมืดอย่างเต็มที่ ล้วนหลอนได้ทั้งนั้น ผมเองแม้จะคุ้นเคยกับป่าและสภาพต่างๆยังขนลุกในบางครั้ง

แต่ ต้องรอบคอบนะครับ หลายๆครั้งเป็นของจริง โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีโขลงช้างป่า ผมเจอมาหลายครั้งในหลายพื้นที่     
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 ก.ย. 11, 10:23

ผู้คุ้นเคยกับพงไพรตัวจริงมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ผมก็หูผึ่งซีครับ ขออนุญาตทิ้งคำถามไว้เพื่อรอคุณnaitang มาแถลงไข  นานเพียงไรก็จะรอครับ

   ว่าด้วยเรื่อง “ช้าง” คุณnaitang เคยเผชิญกับโขลงพญาคชสารแบบจังหน้าไหมครับ
รสชาติมันเป็นแบบไหน และมีวิธีเอาตัวรอด หรือเตรียมรับกับภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้างครับ
 



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 ก.ย. 11, 16:11

คุณตั้งเจอการบ้านเข้าไป 3 ข้อแล้ว
ค่อยๆตอบก็ได้ค่ะ    ขอฟังไปเรื่อยๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง