เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 93369 วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:21

เมื่อสิบหกปีมาแล้ว คือในพ.ศ.๒๕๓๘ ผมได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งที่กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ขึ้นสำหรับร่วมแจกในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพของคุณลุง พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ พี่ที่เคารพรักของแม่ หนังสือขนาดแปดหน้ายกนี้ดูไม่เหมือนหนังสืองานศพ เพราะผมวาดปกเองให้ดูดุเดือดสมกับชื่อเรื่อง “เมื่อธนบุรีรบ” อันเป็นบทความที่คุณลุงเขียนขึ้นจากเหตุการณ์ที่ท่านประสพด้วยตนเองเมื่อครั้งเป็นเรือโท ปฏิบัติหน้าที่นายป้อมปืนท้ายเรือหลวงธนบุรี คราวดวลปืนใหญ่สู้กับเรือรบฝรั่งเศสแบบสามรุมหนึ่งในการรบที่เกาะช้าง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ปีพ.ศ.๒๔๘๔

คูณลุงเกือบจะตายเสียคราวนั้นเพราะกระสุนปืนใหญ่ฝรั่งเศสยิงโดนร.ล.ธนบุรีหลายนัด ลูกหนึ่งทะลุเข้าไปในป้อมปืนท้ายแต่บังเอิญไม่ระเบิด ทำให้ท่านรอดชีวิตกลับมาจนได้รับราชการในตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นนายทหารเรือคนเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพ ที่นอกนั้นเป็นนายพลทหารบกทั้งสิ้น




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:30

หนังสือเล่มนี้ นอกจาก“เมื่อธนบุรีรบ”อันเป็นเรื่องเอกแล้ว ยังได้รวมเอาบทความต่างๆเขียนโดยฝ่ายทหารเรือไทยและฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการและไม่ทางการที่น่าสนใจมารวมเล่มไว้ ตอนนั้นไม่มีอินทรเนตรอันศักดิ์สิทธิ์ให้นั่งสอดส่องอยู่กับบ้าน อยากรู้อะไรทางฝ่ายเขาก็ต้องควักกระเป๋าดั้นด้นไปค้นที่ฝรั่งเศส โชคดีที่ผมมีเพื่อนรุ่นน้อง ขอประทานโทษที่ขอพาดพิง คือคุณวนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร ผู้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่อยู่ปารีสในครั้งกระนั้น ช่วยค้นห้องสมุดทหารเรือได้เอกสารและภาพถ่ายมาได้ปึกใหญ่ แถมช่วยแปลความต่างๆให้ผมอีก หลังจากหอบกลับมาสกัดเอาฝอยๆออกไปแล้ว เหลือแต่ที่สมควร ก็นำมาลงประกอบในหนังสืองานศพคุณลุงด้วย

หนังสือ“เมื่อธนบุรีรบ”แม้แพร่หลายอยู่ในวงจำกัด แต่ก็เห็นมีเซียนนำภาพและเรื่องบางตอนเฉพาะที่ถูกใจตน ลอกไปลงในกระทู้บ้าง ในบล๊อกต่างๆบ้างอยู่เนืองๆ เห็นแล้วรำคาญใจที่ข้อเท็จจริงบางอย่างถูกบิดเบือนไปตามดีกรีความรักชาติของผู้แต่ง แต่ผมไม่ว่าอะไรหรอก

บัดนี้คิดว่า ผมน่าจะเอาข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเขียนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ให้อ่านสนุกๆตามแบบฉบับของกระทู้ สำหรับท่านที่ชอบหาความรู้ทางอินทรเนตรโดยเฉพาะ ไม่ใช่บทวิชาการนะครับขอบอก แต่เลือกห้องประวัติศาสตร์ในเรือนไทยนี่แหละเป็นเวทีนำเสนอ
การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นมีประโยชน์อย่างสำคัญคือ เมื่อเรียนรู้ความผิดพลาดของอดีตแล้ว พึงระวัง อย่าทำอะไรเดิมๆที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก ผมหวังว่าอนุชนที่สนใจเข้ามาอ่าน นอกจากสาระบันเทิงแล้ว จะได้รับข้อคิดนี้ และนำไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในปัจจุบันและอนาคต

และเช่นเดิมครับ เชิญท่านทั้งหลายให้เข้ามาช่วยเสริมสร้าง(กรุณาอย่าเสริมแต่ง) หรือใครจะตั้งคำถาม ถ้าตอบได้ผมก็จะตอบอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเห็นต่างก็ได้ ผมน้อมรับและยินดีที่จะได้ถกกัน สำหรับกูรูที่ประสงค์จะพาออกจากทะเลขึ้นฝั่งไปบ้างก็ไม่ว่า แต่อย่าไปไกลมากนะครับ เอาแค่ขุดหอยช้อนปลาหาเขียดปาดอยู่แถวชายหาดก็แล้วกัน เดี๋ยวผมจะพากลับออกทะเลไม่ถูก ถ้าสนใจจะต่อเรื่องเหตุการณ์ในกรณีพิพาทอินโดจีนจริงๆแล้วละก็ ควรแยกกระทู้ผมจะไปแจมด้วย จะเอาเป็นมหากาพย์อย่างกระทู้ครั้งกระโน้นก็เอากัน



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:32

ในปี๒๕๗๕ คณะทหารกลุ่มหนึ่งเป็นแกนนำในการปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในนามของคณะราษฎร ครั้นได้อำนาจมาแล้วก็เสียเวลาจัดการปราบกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่าง ทั้งฝ่ายเจ้าและฝ่ายเดียวกันแต่คนละพวกอยู่สองสามปี จึงมีความสงบพอที่จะมีเวลามองเหตุการณ์บ้านเมืองข้างหน้า ขณะนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจในยุโรปเริ่มชัดเจนแล้ว โลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสงครามมากขึ้นและอาจจะเป็นวงกว้าง เพราะญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเอเซียหลังจากเอาชนะกองทัพอันเกรียงไกรของรัสเซียอย่างเด็ดขาดทั้งสงครามทางบกและทางเรือ เปิดทางให้กองทัพซามูไรเข้าไปยึดครองคาบสมุทรเกาหลีและกำลังรุกคืบเข้าสู่จีน แน่นอนว่าจะต้องเหยียบเท้าเจ้าอาณ่านิคมทางแถบนี้เข้าสักวัน หากญี่ปุ่นไม่บรรเทาความฮึกเหิมลงแล้ว สงครามก็น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยความคิดของรัฐบาลทหาร(ในคราบของนักประชาธิปไตย) สยามควรจะต้องสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้นมาบ้างเพื่อรับมือกับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นในปีพ.ศ.๒๔๗๘ สภาผู้แทนราษฎรจึงตรากฏหมาย ออกเป็นพระราชบัญญัติให้ทุ่มงบประมาณเพื่อซื้อหรือสั่งสร้างสั่งต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้งสามกองทัพครั้งมโหฬารที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:34

ตรงนี้ต้องขอดักคอบางคนไว้ก่อน ผมเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของคณะนายทหารครั้งนั้นว่า มิได้จัดหางบประมาณซื้ออาวุธเพื่อหวังค่าคอมมิสชั่นเข้ากระเป๋าดังยุคหลังๆที่คนนินทาพวกผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายกัน ภัยที่กำลังมาใกล้ตัวช่วงนั้นมันชัดเจนมาก มหาอำนาจยุโรปหลายชาติไม่สนใจจะขายอาวุธให้ชาติอื่น ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นที่เต็มอกเต็มใจมากที่จะต่อเรือรบให้รัฐบาลไทยในราคาย่อมเยากว่าราคามิตรภาพ ผมเดาเอาเองว่าญี่ปุ่นหวังไทยให้นำเอาอาวุธเหล่านั้นไปฟาดฟันกับฝรั่งแทนตน การประมูลส่วนใหญ่ มีผู้เข้าร่วมสามประเทศ ได้แก่ เยอรมันซึ่งเสนอราคาสูงลิบลิ่วแบบไม่หวังจะได้ลูกค้า อิตาลีที่เสนอราคาถูกกว่าเยอรมันมาก แต่ก็แพงกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว  อเมริกานั้นยอมขายเครื่องบินรบให้จำนวนหนึ่ง พอไทยอยากได้อีกก็ถามว่ายูจะเอาไปทำกันอะไรเยอะๆ ไทยจึงต้องไปซื้อจากญี่ปุ่นแทน แต่สมรรถนะยังสู้กันไม่ได้




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:36

ผมจะว่าเฉพาะ " พ.ร.บ.บำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ " เพื่อนำเข้าเรื่องตามหัวข้อกระทู้ ซึ่งรวมความแล้วกองทัพเรือได้สั่งต่อเรือรบตามรายการดังนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:38

เรือสลูป ๒ ลำ จากญี่ปุ่น (ร.ล. ท่าจีน ร.ล.แม่กลอง) เป็นเรือรบเอนกประสงค์ติดอาวุธทุกอย่างครบ มีแม้กระทั่งเครื่องบินทะเลบรรทุกที่ท้ายเรือด้วย ระหว่างสงคราม ร.ล.ท่าจีนโดนระเบิดสัมพันธมิตรที่สัตหีบ ท้องทะลุถึงไม่จมก็ไม่รุ่ง ซ่อมไม่ดีเท่าเดิมก็ปลดระวางไป หลังสงครามอเมริกันจัดหาเรือรบมาให้ใช้ใหม่ กองทัพเรือขึ้นระวางแทนในชื่อเดิม
 
ในยามสงบร.ล.แม่กลองใช้เป็นเรือฝึก นักเรียนนายเรือเรียกว่าเรือครู อยู่ยงคงกระพันมาหลายสิบปี คุ้มแล้วคุ้มอีก สุดท้ายล้าสมัยเกินจะปรับปรุง ปลดระวางไปเมื่อ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙นี้เอง ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอยู่ที่ป้อมพระจุลฯ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:45

เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๙ ลำ (ร.ล.ชลบุรี  ร.ล. ตราด  ร.ล. ภูเก็ต ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์  ร.ล.จันทบุรี  ร.ล.ระยอง  ร.ล.ชุมพร  ร.ล.สงขลา) รายการนี้อิตาลีประมูลได้ไป

เรือชุดนี้เป็นเรือที่เกือบตกสมัย เพราะยังใช้เครื่องจักรไอน้ำอยู่ เป็นจุดอ่อนที่เรื่อรุ่นใหม่ๆจะเริ่มติดตั้งเครื่องดีเซลกันแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:47

เรือตอร์ปิโดเล็ก ๓ ลำ จากญี่ปุ่น (ร.ล.กันตัง ร.ล.คลองใหญ่ ร.ล.ตากใบ)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:49

เรือปืนหนักป้องกันชายฝั่ง ๒ ลำจากญี่ปุ่น (ร.ล.ศรีอยุธยา ร.ล.ธนบุรี)
เรือรบสองลำนี้เป็นที่ทรงอานุภาพที่สุด แต่ดวงไม่ดี แพ้อะไรที่ตกลงมาจากฟ้าคล้ายๆกัน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:54

เรือดำน้ำ ๔ ลำจากญี่ปุ่น (ร.ล. มัจฉานุ ร.ล. วิรุณ ร.ล. สินสมุทร ร.ล.พลายชุมพล)

เป็นเรือขนาดมินิ ใช้งานไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ดำที่ต้องปลุกพระกันนานกว่าจะยอมโผล่ ประโยชน์ที่ได้จริงๆคือเอามาเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าป้อนรถรางระหว่างสงคราม หลังจากที่เครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดโรงไฟฟ้าวัดเลียบพังพินาศ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 08:58

๖ เรือลาดตระเวนเบา ๒ ลำ (ร.ล.ตากสิน-ร.ล.นเรศวร)

อิตาลีประมูลได้ไป แต่ยังต่อไม่ทันจะถึงไหนก็เกิดสงครามขึ้นเสียก่อน ทัพกองเรืออิตาลีอ้างกฏหมายของเขายึดเรือไปขึ้นประจำการในตั้งชื่อใหม่ว่า Edna และ Visuvio รัฐบาลบอกจะคืนเงินค่าจ้างต่อเรือให้แต่สุดท้ายก็ชักดาบ เพราะเรือรบสองลำนี้ก็โดนเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดจมอยู่หน้าอู่หลังปล่อยเรือลงน้ำ ทำการติดตั้งอาวุธยังไม่ทันจะแล้วเสร็จ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 09:00

คณะผู้นำทางทหารของไทยสมัยนั้นคาดการณ์ได้แม่นยำ สมกับที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเล่าเรียนจบมา เพราะอีก ๓ ปีเท่านั้นฮิตเลอร์ก็นำกองทัพเยอรมัน เปิดยุทธการสายฟ้าแลบเมื่อวันที่1 กันยายน 1939 (ตรงกับพ.ศ. ๒๔๘๑) ส่งเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดวอร์ซอว์ แล้วยาตราทัพรถถังอันไร้เทียมทานบุกตลุยเข้าโปแลนด์ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันทันที ซึ่งอีกไม่นานเกินรอก็จะลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒

เวลาก็พอดีกับเรือรบที่เราสั่งต่อ เครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผู้ผลิตได้ทยอยส่งมอบให้กับกองทัพไทยเกือบหมดแล้วก่อนหน้าอย่างฉิวเฉียด แต่แทนที่จะเก็บไว้ป้องกันตนเอง ไทยกลับเขม้นสายตาไปที่อินโดจีนฝรั่งเศส ก็มันมีเรื่องแค้นต้องชำระกันมาตั้งแต่ร.ศ. ๑๑๒ เผอิญกับว่าปลายปีนั้น พันเอกหลวงพิบูลสงครามเบ่งบารมีดับพระยาพหลพันเอกเฒ่า ขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แล้วควบรัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศ เล่นซะที่เดียว๔ตำแหน่ง ก้นยังไม่ทันอุ่นก็สั่งปราบพวกที่ต้องสงสัยว่าไม่ชอบตน ให้เนรเทศไปเป็นยาจกอยู่นอกพระราชอาณาจักรบ้าง จับเอาไปตั้งศาลพิเศษขึ้นมาสั่งยิงเป้าเสีย๑๘ศพบ้าง จำคุกระยะยาวบ้าง ตลอดชีวิตบ้างรวมแล้วอีก๒๕ ผู้คนตระหนกตกใจว่าเล่นกันแรงเกิน ถึงกับตั้งฉายาว่าเป็นยุคทมิฬไม่เป็นมงคลต่อบ้านเมือง พอดีฝรั่งเศสร้อนรนไปเอง เห็นว่าประเทศของตนรบติดพันกับเยอรมันแบบโดนถลุงไกล้จะหมอบอยู่เช่นนี้ ไทยอาจคิดตลบหลังอาณานิคมอินโดจีนได้ จึงติดต่อเข้ามาขอทำสัญญาไม่รุกรานกัน ยอมตกลงจะปรับปรุงแนวพรมแดนบนแม่น้ำโขงให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามข้อเสนอของไทย จนทำพิธีลงนามกันแล้วเสร็จ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 09:01

หลังจากนั้นผ่านไปได้๘วันกรุงปารีสก็แตก เยอรมันจัดตั้งรัฐบาลให้ฝรั่งเศสใหม่เรียกว่ารัฐบาลวีซี่ สั่งการมาให้อินโดจีนฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นยาตราทัพ๓๕๐๐๐คน เข้าไปตั้งคุมอ่าวตังเกี๋ย อ้างว่าเพื่อเตรียมบุกจีน ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นจังหวะอันดีที่จะหาเรื่องชวนทะเลาะกับฝรั่งเศส ยื่นบันทึกขอทวงดินแดนลาวและเขมรที่ถูกยึดไปครั้งกระโน้นคืน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของไทยอันอาจจะเกิดจากประเทศที่๓ ที่เข้ามาในย่านนี้เพราะฝรั่งเศสผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับไทย ระหว่างทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาเริองนี้ ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อก็ปล่อยข่าวให้หนังสือพิมพ์และวิทยุช่วยกันปลุกระดมจนเลือดรักชาติในตัวคนไทยเดือดพล่าน ลืมเรื่องที่ฆ่าแกงกันเองหยกๆหันไปอยากฆ่าฝรั่งเศสแทน เกิดพลังสามัคคี พร้อมใจเดินขบวนขึ้นเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เพื่อไปยังหน้ากระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้ใช้กำลังยึดเอาดินแดนที่ไทยเคยครอบครองนั้นคืนมา

ท่านนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนสง่ารับขบวนประชาชนในมาดของท่านผู้นำ และกล่าวปฏิญาณต่อหน้าพระแก้วมรกตว่า จะเอาดินแดนที่เสียไปในครั้งรัชกาลที่๕คืนมาจากฝรั่งเศสให้ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 09:03

ผมขอจบฉากที่ ๑ ตรงนี้ให้ท่านทั้งหลายตั้งตัวก่อน เดี๋ยวฉากต่อไปผมจะพาออกทะเลแล้ว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ก.ย. 11, 09:24

เข้ามาสวัสดีครับ

กระผมก็ได้แต่หาหอยเสียบเลียบชายทะเล ไปเรื่อย ๆ อ่านตอนที่กล่าวถึงเรื่องไทยจะเรียกร้องเอาดินแดนคืน ... แหม เสียดายว่าญี่ปุ่นมาแพ้สงครามทำให้ฝรั่งเศส จึงถือข้างชนะเข้ายึดครองดินแดนอีกวาระ

ยกจากบันทึกจอมพล ผิน ชุณหะวัน มีเนื้อหาเมื่อฝรั่งเศสยอมเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อเดือนกันยายน ๒๔๘๓ ว่า

๑. ให้ถือเส้นกลางแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศ และถือเกณฑ์ร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ (อันนี้หมายถึงดินแดนที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาแม่น้ำโขงจะได้แบ่งไปเลย แต่ปัจจุบันนี้ก็ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เช่นในแขวงไซยบุรี และปากเซ เป็นต้น)

๓. ถ้าอินโดนจีนเปลี่ยนอธิปไตยจากฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้ไทย

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 20 คำสั่ง