เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 93305 วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:17

และในวันเดียวกันนั้นที่ตำบลแหลมงอบ จังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นประธานนำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้ง พระภิกษุ อุทิศส่วนกุศลและทำพิธีบวงสรวง แด่วีรชนผู้เสียสละ ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน ยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ในช่วงบ่าย ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบในฐานะผู้แทน วางพานพุ่มสักการะพระบรมรูปฯกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แล้วลงเรือที่สะพานท่าเทียบเรือแหลมงอบ(กระโจมไฟ) เดินทางไปเกาะช้าง ประกอบพิธีลอยพวงมาลาในทะเลบริเวณเกาะลิ่ม อันเป็นจุดที่ร.ล.ธนบุรีลอยลำต่อสู้กับศัตรูผู้รุกราญอย่างมิลดละจนกระทั่งศัตรูล่าถอยออกไปจากน่านน้ำไทย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:20

ร.ล.ธนบุรีมิได้ถูกปล่อยให้หงายท้องกลางทะเลอยู่อย่างนั้น หลังจากที่ผู้บังคับบัญชาสั่งสละเรือแล้ว กองทัพเรือได้ตัดสินใจทำการกู้ ร.ล.ธนบุรีขึ้นมาใหม่โดยจ้างบริษัทมิตซุยบุซซันไกชา ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทผู้สร้างเรือ คืออู่คาวาซากิให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยเริ่มลงมือทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  จนเรือพลิกลำขึ้นมาลอยน้ำได้วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งนับจากวันที่เรือจมก็ครบ ๗ เดือนพอดี และเริ่มจูง ร.ล.ธนบุรีจากแหลมงอบ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔  มาถึงท่าเรือสัตหีบในเที่ยงวันต่อมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:24

เนื่องจากบริษัท มิตซุยบุซซันไกชา ประเมินค่าซ่อมประมาณ ๔ ล้านบาท ทั้งๆที่ราคาเรือในปีที่ทำสัญญาสร้าง ๒,๘๖๓,๓๓๓ บาท ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้นจึงตกลงใจที่จะให้กรมอู่ทหารเรือซ่อมเอง จึงทำการลากจูงเรือจากสัตหีบมาเข้าอู่ทหารเรือที่ธนบุรี แล้วซ่อมคืนสภาพสามารถใช้งานในราชการได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนั้นไทยอยู่ในภาวะสงคราม กองทัพญี่ปุ่นก็มาอยู่เต็มเมืองแล้ว รัฐบาลก็เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษเสียด้วย แม้มีความพยายามที่จะซ่อมปรับแต่งเรือมาโดยตลอด แต่ก็ไร้ประโยชน์ที่จะเอาไว้ต่อกรกับมหาอำนาจตัวจริงของโลกระดับนั้น และการสงครามยังได้เปลี่ยนโฉมจากการคุกคามทางทะเลมาเป็นทางอากาศ เรือปืนขนาดหนักหมดคุณค่าทางยุทธการ แม้เรือประจันบานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเรือยามาโต้ของญี่ปุ่น ยังโดนฝูงบินอเมริกันถล่มลงไปจมท้องสมุทรอย่างง่ายดาย  กองทัพเรือจึงได้แต่พยายามเอาเรือรบไปซุกๆซ่อนๆตามเกาะต่างๆเพื่อให้ปลอดจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบของสัมพันธมิตร หลังจากฐานทัพเรือสัตหีบโดนถล่มไปครั้งหนึ่ง เรือจมไปหน้าท่าหลายลำ
ร.ล.ธนบุรีซึ่งรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรมาตลอดสงครามโลกครั้งที่๒ จึงมีคุณค่าในเชิงสัญญลักษณ์ แม้จะใช้งานเพียงเป็นเรือฝึก  ส่วนใหญ่เรือจะถูกจอดผูกทุ่นไว้หน้ากรมสรรพาวุธ บางนา จนปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒

ครั้งที่ผมยังเป็นเด็กพอจำความได้  เคยเป็นเพื่อนแม่นั่งเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จะผ่านบรรดาเรือรบที่ผูกทุ่นไว้เป็นคู่ๆ ตั้งแต่แถวเทเวศน์ไปจนถึงหน้าสถานีทหารเรือ ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ผมชอบดูมาก จำได้ว่าถ้าเป็นเรือตอร์(ปิโด)มันจะเรียวๆยาวๆ  เรือดำน้ำสี่ลำนั้นจอดอยู่หลายปีไม่ไปไหน จนสีกระดำกระด่างเปลี่ยนเป็นขึ้นสนิมเหอะ วันหนึ่งนั่งไปไกลมากเห็นเรือลำใหญ่ สีแดงๆทั้งลำ กำลังจอดซ่อมอยู่ริมแม่น้ำ ตอนโตแล้วมาเห็นภาพถ่ายจึงทราบว่านั่นแหละคือร.ล.ธนบุรี




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:31

เมื่อปลดประจำการแล้วก่อนจะขายเป็นเศษเหล็ก กองทัพเรือได้ตัดป้อมปืนหน้า สะพานเดินเรือและส่วนประกอบสำคัญของ ร.ล.ธนบุรีไปเก็บไว้หลายปี ก่อนจะนำไปก่อสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรีขึ้นที่โรงเรียนนายเรือ ปากน้ำ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๑ – พ.ศ.๒๕๑๒  บริเวณสโมสรนักเรียนนายเรือเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของสนามรักบี้ท้ายโรงเรียน

ผมเรียนอยู่จุฬาแล้ว ไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนนายเรือแบบเป็นหมู่คณะครั้งหนึ่ง น่าจะประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๕   นักเรียนนายเรือผู้ต้อนรับได้พาขึ้นไปบนอนุสรณ์สถานร.ล.ธนบุรี และบรรยายการรบที่เกาะช้างให้ฟังอย่างน่าตื่นเต้น  จุดประกายความสนใจให้ผม โดยที่ก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยได้ยินคำบอกเล่าใดๆจากปากคุณลุงของผมเลย ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าคุณลุงเคยเป็นถึงนายป้อมปืนท้ายในวันที่เรือดวลปืนใหญ่กับฝรั่งเศส ถ้าทราบมาก่อนคงจะโม้กันสนุกไปแล้ว

และผมคลับคล้ายคลับคลามาตลอดว่าอนุสรณ์สถานร.ล.ธนบุรีที่ผมเห็นนั้น มีป้อมปืนอยู่ครบทั้งหัวและท้าย ครั้นมาเห็นอนุสรณ์สถานนี้อีกครั้งหนึ่งก็คราวทำหนังสืองานศพคุณลุง ที่เขาย้ายร.ล.ธนบุรีมาตั้งในตำแหน่งใหม่ หน้าหอดาราศาสตร์ เห็นมีแต่ป้อมปืนส่วนหัว ป้อมท้ายไม่มี จึงออกอาการผิดหวังพอสมควรว่าไหนๆจะเก็บเป็นอนุสรณ์แล้ว ไฉนไม่เก็บส่วนสำคัญให้ครบสมบูรณ์ทั้งลำเล่า มันเป็นเงินสักเท่าไหร่กันเชียว

ตอนที่เขาขนย้ายชิ้นส่วนร.ล.ธนบุรีมาอยู่ ณ ที่ตั้งใหม่ในปัจจุบันเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ นั้น พลเรือตรี ปารีส เพาะผล ผู้มีส่วนร่วมครั้งนั้นเล่าว่าผู้รับเหมาทำการขนย้ายได้นำรถเครนมายกถึง๔ ตัว และนำแผ่นเหล็กมาปูรองรับน้ำหนักตลอดทาง๓๐๐ เมตรที่ทำการขนย้าย เพราะชิ้นส่วนร.ล.ธนบุรี หนักมาก ต้องตัดออกเป็น ๓ ส่วนตามแนวตั้ง คือส่วนป้อมปืน ส่วนสะพานเดินเรือ หรือหอรบ และส่วนท้าย ค่อยๆลำเลียงเคลื่อนย้ายมาวางบนฐานที่กรมอู่ทหารเรือออกแบบ และก่อสร้างเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ระหว่างขนย้ายก็มีเหตุการณ์น่าตกใจเล็กน้อยเมื่อเครนตัวหนึ่งเสียหลัก ล้อกระดกขึ้น แต่โชคดีที่ไม่มีการเสียหลักพลิกคว่ำแต่อย่างใด

สงสัยจะเซ่นไหว้ตามพิธีทหารเรือได้ถูกต้อง




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:43

เรื่องการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือนั้น ชาวเรือเอเซียหลายชาติไม่ว่าทหารหรือชาวประมงถือเป็นเรื่องจริงจังมาก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเฮี้ยนของแม่ย่านางเรือมากมาย ร.ล.ธนบุรีก็มีตำนานเกี่ยวกับอำนาจไสยศสาตร์ลึกลับเช่นนี้เหมือนกัน

พลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล อดีตเสนาธิการกองทัพเรือ ได้เขียนบทความลงหนังสือนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๐ เล่มที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ไว้ว่า
เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ คุณครูนาวาโท ดร.สว่าง เจริญผล ซึ่งเป็นนักเรียนทุนการประมงญี่ปุ่นในระหว่างสงครามได้เล่าถึงเรื่องคำทำนายทายทักเกี่ยวกับร.ล.ศรีอยุธยาและร.ล.ธนบุรีให้นายทหารเรือหลายคนฟังว่า ในวันทำพิธีนำเรือทั้งสองลำลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือคาวาซากิ ซึ่งบริเวณพิธีตามประเพณีของชาวญี่ปุ่นจะมีสายสิญจน์ล้อมวงอยู่ บังเอิญมีสุภาพสตรีสูงศักดิ์ของไทยท่านหนึ่งที่ไปร่วมงานเผลอเดินข้ามสายสิญจน์ที่วางอยู่นี้เข้า คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นนิมิตที่ไม่ดี ถือเป็นโชคร้าย โหรศาสนาชินโตได้ทำนายอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เรือทั้ง ๒ ลำนี้ จะถูกทำลายโดยคนชาติเดียวกันเอง
 
เป็นที่ทราบโดยเปิดเผยว่า ในที่สุดร.ล.ศรีอยุธยาก็ถูกลูกระเบิดจากเครื่องบินที่ติดเครื่องหมายธงชาติเดียวกัน จมไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะสงครามกลางเมือง ที่เรียกว่ากบฎแมนฮัตตั้น อันเกิดจากนักการเมืองพยายามรักษาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงความวิบัติที่จะเกิดแก่ประเทศของตน ปัจจุบันก็อีกแล้ว ทำท่าจะเอาให้ชาติย่อยยับให้ได้

ส่วนร.ล.ธนบุรี วงการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทราบดีว่าระเบิดที่ทิ้งจากบนฟ้ามาทำลายเรือและทหารที่กำลังสู้รบกับศัตรูนั้น มาจากเครื่องบินของชาติเดียวกัน แต่เขินเกินกว่าที่จะยอมรับในหน้าประวัติศาสตร์ ลูกหลานต้องขุดคุ้ยหาหลักฐานมาบอกกล่าวเล่าความจริงสู่กันฟัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:48

พลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล ยังเขียนเล่าต่อไปว่า ท่านไปร่วมงานวีรชนของกองทัพเรือที่โรงเรียนนายเรือในวันที่ ๑๗ มกราคมของทุกปี จนกระทั่งป่วยไปไม่ได้ ครั้งหนึ่งได้รับเศษกระดาษจากทหารผ่านศึกผู้สูงอายุที่ไปร่วมงาน ในเศษกระดาษนั้นมีชื่อสุภาพบุรุษและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่บ้าน ลูกเรือร.ล.ธนบุรีท่านนั้นบอกว่า ผู้ที่มีชื่ออยู่ในเศษกระดาษนี้เป็นบุตรชายของนักบินที่ไปทิ้งระเบิดร.ล.ธนบุรีจม ซึ่งบอกว่าคุณพ่อบอกไว้ เป็นความเข้าใจผิดที่รู้สึกเสียใจมาก คุณพ่อยังได้ไปเยี่ยมทหารบาดเจ็บที่โรงพยาบาลด้วย
 
จากเศษกระดาษที่ท่านรับมา ตอนแรกคิดจะโทรศัพท์ไปพบกับบุตรชายนักบินที่ทิ้งระ เบิดลงมา ขอให้เล่าความจริงที่คุณพ่อบอกเอาไว้ แล้วจะนำมาเขียนเรื่องลงนาวิกศาสตร์ ทำนองเอาความจริงที่พวกเราทหารเรือสงสัยมานานมาเปิดเผยกันเสียที แต่แล้วก็คิดไปว่า การฟื้นฝอยหาตะเข็บจะได้ประโยชน์อันใด ร.ล.ธนบุรีก็จมไป ๖๐ กว่าปีแล้ว(ในปีที่ท่านเขียนบทความ) และคนที่จะเล่าให้ฟังจะเท็จจริงแค่ไหนก็พิสูจน์ยาก ปล่อยให้เรื่องนี้จบไปตามสภาพที่เป็นอยู่ดีกว่า เขียนไปคนอ่านบางคนก็เกิดความโกรธแค้น ขุ่นเคือง อาฆาตกันไม่รู้จักจบสิ้น คิดถึงคำพระที่ว่าจงระงับเวรด้วยการไม่จองเวรจะดีกว่า ท่านก็เลยเก็บเศษกระดาษนั้นเป็นความลับต่อไปด้วย

ผมได้ยินข้อมูลจากปากของเซียนหนังสือเก่าที่รู้จักกันในเวปนี้แหละ บอกว่ามีหนังสืองานศพของอดีตนักบินกองทัพอากาศท่านหนึ่ง ได้เขียนบันทึกชีวิตของท่านสารภาพเรื่องเดียวกันนี้ไว้ ท่านเคยเจอที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี  และผมไปตามหาแล้วแต่ไร้ร่องรอย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:51

แม้จะผ่านความรู้สึกเช่นเดียวกันกับท่านมา แต่ที่ผมตัดสินใจเขียนบันทึกไว้ในโลกไซเบอร์ไปก็เพราะเชื่อว่าอารมณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เย็นลงแล้ว ทุกวันนี้หลักฐานประวัติศาสตร์หาไม่ยากว่าอะไรเป็นอะไร การเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติย่อมเป็นประโยชน์แก่วิญญูชนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกับความเป็นความตายของชาติ จะนำความผิดพลาดในอดีตไปเป็นอุธาหรณ์ หากประวัติศาสตร์จะเวียนซ้ำรอยกลับมาอีก จะได้ไม่ทำผิดซ้ำผิดซาก

ขนาดไม่อยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ บทความเดียวกันพลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล ยังเขียนต่อไปว่า ครูสอนการเรืออยู่ที่โรงเรียนนายเรือเกล็ดแก้วตอนท่านเป็นนักเรียนนายเรืออยู่ชั้นปีที่ ๑ ในปี ๒๔๙๒ คือคุณครูเรือเอก นคร สุทธิแช่ม ส่วนอีกท่านหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เคยเป็นทหารผ่านศึกอยู่บนร.ล.ธนบุรี มักจะเล่าเรื่องให้พวกนักเรียนฟังว่า ขณะเครื่องบินลำนั้นดำต่ำลงมา จะเห็นเครื่องหมายธงชาติไทยอยู่บนเครื่องบินชัดเจน ตอนแรกทหารที่อยู่บนร.ล.ธนบุรีก็ดีใจ กระโดดโลดเต้นคิดว่าเครื่องบินคงจะมาช่วยกันถล่มเรือข้าศึกแล้ว แต่ที่ไหนได้กลับทิ้งระเบิดลงมายังเรือเรา ระเบิดชุดแรกไม่ถูกเรือ ตกน้ำไป ชุดที่ ๒ ถูกกราบซ้าย ทะลุลงไประเบิดในห้องเครื่องจักร ทำให้เพลิงไหม้บนเรือเพิ่มขึ้น สรุปแล้วร.ล.ธนบุรีจมด้วยลักษณะชะตากรรมเดียวกับร.ล.ศรีอยุธยา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 00:52

แล้วเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นที่เกาะช้าง ฝ่ายฝรั่งเศสเป็นอย่างไร

ร.ท.จิตต์ สังขดุลย์ นายป้อมปืนท้ายเขียนเรื่องนี่ไว่ใน “เมื่อธนบุรีรบ”ว่า…

“ข้าพเจ้าได้ทราบว่าเมื่อคราวเซ็นสัญญาหยุดรบกันที่ไซ่ง่อน ทางไซ่ง่อนได้จัดเรือลาม๊อตปิเก้ต์ไปเทียบท่าอวดผู้คนชาวเราที่ไปเซ็นสัญญา ทาสีเรือเสียใหม่เรียบร้อย เพื่อจะแสดงว่าเรือของเขามิได้ถูกยิงแม้แต่รูเดียว ข้าพเจ้ากล้ารับรองโดยเอาชีวิตเป็นประกันว่า เรือลาม๊อตปิเก้ต์ต้องได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังหลักฐานของการสู้รบที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้ว เรารู้ดีว่ากระสุน๘”ของเราต้องมีพิษสงมากกว่ากระสุน๖”ของฝรั่งเศสที่ยิงมา เราเห็นอำนาจของกระสุน๖”ของฝรั่งเศสที่ยิงถูกเรือเรา ก็ยิ่งทำให้เราเชื่อในความเสียหายที่เรือลาม๊อตปิเก้ต์ได้รับเป็นอันมาก เสียใจที่กระสุนของเราที่ยิงไปส่วนมากเป็นกระสุนเจาะเกราะ ไม่ใช่กระสุนกระทบแตกและไม่ใช่กระสุนเพลิง ภายนอกเรือลาม๊อตปิเก้ต์อาจเป็นรูกระสุนเจาะทะลุไปเท่านั้น รูกระสุนนี้เจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสอาจใช้แผ่นเหล็กหรือสังกะสีปิดแล้วทาสีใหม่ให้เรียบร้อย แล้วเชิญเจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์ไปชมเรือดังที่วิทยุไซ่ง่อนคุย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสจะใจดีถึงกับให้พวกหนังสือพิมพ์ที่ได้รับเชิญลงไปชมสิ่งที่เขาปิดนักปิดหนา ถ้าเจ้าหน้าที่ทางเรือฝรั่งเศสให้ความเข้าใจได้ว่า นายนาวาเอกเบรังเย มิได้รับบาดเจ็บจนถึงต้องไปนอนป่วยที่โรงพยาบาลลาแนสซัง(Hospital La Naissan)ที่ฮานอย และถ้าเรือลาม๊อตปิเก้ต์มิได้แล่นเอียงไปข้างกราบหนึ่งและมีเรือบริวาร๓ลำควบคุมการแล่นตรงไปไซ่ง่อน และทั้งเมื่อวันที่เรือลาม๊อตปิเก้ต์เดินทางเข้าไซ่ง่อนในเวลากลางคืน ทางเรือมิได้ทำการขนคนเจ็บและคนตายอย่างขนานใหญ่ได้แล้ว ข้าพเจ้าสมัครใจเชื่อว่า เรือลาม๊อตปิเก้ต์มิได้รับความเสียหายเลยแม้แต่นิดเดียว แต่อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ของทหารเรือฝรั่งเศสก็คงเขียนการรบที่เกาะช้างขึ้นในไม่ช้า”

ถึงพ.ศ.นี้นักประวัติศาสตร์ของทหารเรือฝรั่งเศสเขียนไปแล้วอย่างไร ผมไม่จำเป็นต้องฉายซ้ำ ก็ข้อมูลชั้นต้นผู้บังคับการเรือบันทึกอย่างไรมันก็มีเท่านั้น ข้อมูลอื่นๆก็ไม่มีประวัติศาสตร์การรบทางเรือไม่ว่าชาติไหน พอเขียนเรื่องการรบที่เกาะช้างก็ลอกต้นฉบับของฝรั่งเศสเป็นอย่างเดียว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 01:45

ขออนุญาตเขียนถึงคุณลุงของผมอีกเล็กน้อย

ตอนมาเชียนเรื่องนี้โดยใช้อินเทอเน๊ตค้นคว้า ผมจึงได้ทราบว่าหลังจากตำแหน่งนายป้อมปืนท้ายร.ล.ธนบุรี เรือโท จงจิตต์ สังขดุลย์ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาเป็นผบ.ร้อย กองต่อสู้อากาศยาน (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘)

วันที่๒๕มกราคม๒๔๘๕ อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่๒ ญี่ปุ่นบุกเข้าตั้งที่มั่นในเมืองไทยแล้ว คืนนั้นกรุงเทพถูกทิ้งระเบิดอีกครั้งหนึ่ง ป.ต.อ.ของทหารเรือภายใต้การบังคับบัญชาของท่านที่ตั้งอยู่ที่สามแยกไฟฉาย เพื่อคุ้มกันสถานีทหารเรือกรุงเทพและสถานีรถไฟบางกอกน้อย ได้ยิงโดนเครื่องบินข้าศึกไฟลุกไหม้ไปตกที่ตลาดพลูลำหนึ่ง เป็นเครื่อง de Havilland DH.98 Mosquito ของกองทัพอากาศอังกฤษที่ประจำการในอินเดีย
เรื่องนี้ ผมไม่เคยได้ยินจากปากของท่านมาก่อนเลย  ก็ผมไม่รู้จึงไม่ได้ถาม เมื่อไม่ถามท่านจึงไม่ได้เล่า

นายทหารเรือเพื่อนๆ และลูกศิษย์ลูกหาที่รู้จักท่าน จะกล่าวชื่นชมท่านกับผมด้วยความนับถือเสมอว่าท่านเป็นคนตรง พูดน้อยไม่มีคุยโม้เรื่องของตนเอง ดังนั้น ข้อความที่ท่านเขียนเรื่องเรือลามอตต์ปิเก้ต์ ผมเชื่อว่าท่านคงเห็นตามนั้นจริงๆ  


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 12:40

ขอต้อนรับที่แวะมาเรือนไทยอีกครั้งค่ะ ท่าน Navarat.C

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงวาทะของเซอร์ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์อังกฤษที่บอกว่า "ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนคนหนึ่ง กลับกลายเป็นโชคลาภของอีกคน"    ตรงกับเรื่องนี้เป๊ะ
ขอเวลาหน่อยค่ะ  จะกลับมาพร้อมด้วยข้อมูลว่าผลจากการรบ   ส้มก็หล่นทับฝ่ายเรือรบฝรั่งเศสอย่างไรบ้าง   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 17:30

ข้างล่างนี้ คือคำปราศรัยของกัปตันเรือฝรั่งเศส  น.อ. เบรังเยร์ ต่อลูกเรือ   ว่าด้วยชัยชนะอันเกริกเกียรติในยุทธนาวีกับสยาม     ท่านนวรัตนไปเจอเข้า ส่งมาให้ดิฉันแปล    แต่ความรู้ภาษาฝรั่งเศสส่งคืนอาจารย์ไปเกือบหมดแล้ว   จึงได้แต่ถอดความออกมางูๆปลาๆ ว่ากัปตันเท้าความถึงการรบครั้งนี้ ว่าฝรั่งเศสได้กระทำการกล้าหาญขนาดไหน จนกระทั่งได้รับชัยชนะ 
มีตอนหนึ่งเท้าความด้วยว่าถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน

คิดถึงคุณ Hoฯ มิตรเก่าของเรือนไทยที่หายหน้าไปนานนับปี     ถ้าได้อ่านคงแปลออกมาได้ทั้งหมด  เพราะเป็นความถนัดของท่านอยู่แล้ว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 17:41

หน้าตาของกัปตันเรือลาม็อตปิเกต์ ในยุทธนาวีเกาะช้าง  ชื่อเต็มคือ Marie Daniel Régis BÉRENGER  อ่านว่ามารี ดานิเอล เรจีส์ เบเรงเช่   แต่ขอเรียกว่าเบรังเยร์ตามที่ฝายไทยเรียกมาแต่เดิม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 17:52

กัปตันเบรังเยร์ ได้รับส้มทองคำไปหนึ่งเข่งจากยุทธนาวีเกาะช้าง    เพราะว่าสามารถรายงานกลับไปให้กระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส ทราบได้ว่าทางเรือฝรั่งเศส แม้ว่าถูกถล่มหนัก ก็ตอบโต้อย่างทรหดจนได้ชัยชนะเหนือฝ่ายปรปักษ์   แต่แกไม่ได้พูดสักคำว่า การถูกทิ้งระเบิดทางเครื่องบินนั้น ทิ้งลงไปที่ไหนยังไง   
ผลก็คือ ได้ความดีความชอบ   เลื่อนยศจากนาวาเอกขึ้นเป็นพลเรือตรี กลายเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของกองทัพเรือ

ทางไทยเราไม่ได้ติดตามเรื่องกัปตันเรือผู้นี้อีก     แต่เมื่ออินทรเนตรเกิดขึ้น ก็สามารถจะสอดส่องมองหาเขาได้ไม่ยาก   เพราะหลักฐานต่างๆในประวัติศาสตร์  พวกฝรั่งเก็บรายละเอียดไว้ดีมาก      ท่านนวรัตนจึงสามารถตามประวัติของเขาเอามาให้ดิฉันแกะความออกมาได้อีกทีหนึ่ง

เบรังเยร์ยังคงเป็นสิงห์ทะเลอยู่แถวเอเชียนี้จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง   ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพันธมิตร รบกับญี่ปุ่นด้วย    แต่รบคราวนี้เบรังเยร์ไม่โชคดีเท่ากับคราวก่อน   ตามประวัติบอกว่า เมื่อ 1  มีนาคม 1945      เขาถูกจับเป็นเชลย   จนกระทั่งถึง 2 กันยายน 1945


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 17 ม.ค. 12, 18:26

     อินทรเนตรของเว็บกองทัพเรือฝรั่งเศส เล่าว่าเบรังเย์ถูกจับเป็นเชลยของกองทัพญี่ปุ่น   ดูจากเวลาในค.ห.ข้างบนนี้ก็คือตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ื2  เป็นเชลยอยู่ไม่กี่เดือน    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง  เขาก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ   และปลดประจำการหลังจากนั้น  
    เขาเกิดเมื่อค.ศ. 1888  ปลดประจำการเมื่อ 1946  อายุ 58 ปี  ก็ถือว่าอายุเฉียด 60 เข้าไปแล้ว    สมควรแก่เวลาพักผ่อน

    เบรังเยร์อายุยืนยาว  ถึงแก่กรรมเมื่อค.ศ. 1971   อายุ 83  ปี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 18 ม.ค. 12, 17:30

http://webboard.travel.sanook.com/forum/?topic=3025512


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง