เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 93299 วีรเวร-วีรกรรมของร.ล.ธนบุรีในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:26

เพื่อเป็นหลักฐาน นี่เป็นข้อความบางตอนที่ยืนยันว่า แม้สำนวนของผมจะปรุงแต่งภาษาไม่เหมือนหนังสือเขา แต่ข้อเท้จจริงในนั้นมิใช่เรื่องที่ผมแกล้งแต่งขึ้น

อ้อ ร.อ.สุรพลนั้น คือคนๆเดียวกับร.อ.บุญนำ สังขภูติ ท่านเปลี่ยนชื่อใหม่ตามสมัยนิยมของท่านผู้นำในช่วงต่อมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 21:53

ใครดู โตรา  โตรา  โตรา คงจำได้ ญี่ปุ่นก่อนจะไปโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์นั้น ได้ซ้อมทิ้งระเบิด ซ้อมทิ้งตอร์ปิโด กันเป็นร้อยเที่ยว ขนาดนั้ยังมีพลาด

การซ้อมเป็นจุดอ่อนของไทย ในฐานะประเทศผู้ซื้ออาวุธที่ประเทศผู้ผลิตมักจะขายแพงๆ เวลาจะซ้อมด้วยกระสุนจริง ก็ต้องประหยัด ทหารอากาศตอนนั้นซ้อมทิ้งระเบิดด้วยลูกระเบืดที่หล่อด้วยคอนกรีต ถึงจะดูคล้ายๆก็ไม่เหมือนทั้งน้ำหนักทั้งรูปร่าง พอทิ้งระเบิดที่เป็นลูกเหล็กจึงไม่ค่อยเข้าเป้า
 
ปืนเสือหมอบสมัยรัชกาลที่ห้าเป็นปืนที่ทันสมัยที่สุดในโลก แต่ขาดการฝึกซ้อม วันที่เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการทดสอบปืนอาร์มสรองที่ป้อมพระจุลฯนั้น ปืนเสือหมอบเจ็ดกระบอก สามารถยิงได้แค่กระบอกเดียว ที่เหลือหมอบไม่ยอมลุก ฝรั่งผู้ขายรับจะแก้ไข บังเอิญเหตุการณ์เดินหน้ารวดเร็ว ยังไม่ทันจะฝึกลูกแถวให้เข้าที่ เกิดวิกฤตการณฺ์ ร.ศ.๑๑๒ เรือรบฝรั่งเศสก็เข้ามาแล้ว๓ลำ ปืนเสือหมอบยิงทันเฉพาะเรือนำล่อง ที่เหลือยิงลงน้ำหมด ไม่คุ้มราคาปืน 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 05 ต.ค. 11, 22:05

อย่างไรก้ดี เรื่องที่นายทหารอากาศผ่านศึกครั้งนั้นเขียนขึ้นจากสมุดบันทึกความจำ บางอย่างก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน บางช่วงขาดหายไป ไม่ปะติดปะต่อเหมือนดูหนังขาด รายละเอียดปลีกย่อยนั้นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพราะบางเรื่องบันทึกจากสิ่งที่ได้ยิน ไม่ใช่จากสิ่งที่ได้เห็นกับตาตนเอง ผมต้องเสียเวลาไปกับการใช้วิจารณญาณ กรองเอาเฉพาะสิ่งที่ผมควรเชื่อ ซึ่งแม้จะปราศจากอคติก็อาจจะไม่ถูก ดังนั้นตรงไหนที่ขัดแย้งกัน ผมจะเอาใจความที่ขัดแย้งมาให้ท่านพิจารณาด้วย เพื่อความเป็นธรรม

หลังจากเหตุการณ์ที่เรืออากาศโทประสงค์ คุณะดิลกได้รับคำสั่งให้ไปสกัดกั้นเครื่องบินของฝรั่งเศสที่บินไปตรวจการณ์ที่เกาะช้างและสัตหีบเมื่อเย็นวันที่๑๖ จนได้มีโอกาสยิงเครื่องลัวร์ถึง๒ชุดแต่พลาดเป้า แถมชุดที่๓ยิงโดนเอาใบพัดตัวเอง ดีแต่ว่าถากๆถึงสามารถบินกลับมาฐานได้นั้น
ช่วงเวลาดังกล่าวผบ.ฝูง ม.ล.ประวาศไปราชการกรุงเทพ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ รองผู้บังคับฝูงบินเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปที่กองทัพเรือ แม่ทัพเรือหลวงสินธุสงครามชัยตอบมาว่า ทราบแล้วขอบใจ แต่หวังว่าคราวหน้าคงไม่พลาดอีกนะ ส่วนแม่ทัพอากาศหลวงอธึกเทวเดชนั้น ตำหนิรองผบ.ฝูงอย่างรุนแรง เสียงก้องลำโพงได้ยินกันทั่วห้องว่าทำไมจึงสั่งให้ไปทำการเพียงเครื่องเดียว ข้าศึกจึงหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย

วันรุ่งขึ้น เสียงปืนใหญ่ยิงกันตูมตามได้ยินมาถึงฐานทัพตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางจนทหารทุกคนตกใจตื่น  ร.ท. เจียม ปาละกะวงศ์ฯ นายทหารเวรได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากทหารเรือชื่อ“เย็น” บอกว่าได้ยินเสียงปืนใหญ่เข้าใจว่าเป็นปืนเรือ จึงเข้าไปปลุกรองผบ.ฝูง แต่เห็นตื่นอยู่แล้วและสั่งการให้เรียกประชุม เมื่อวิทยุรายงานด่วนไปที่กองทัพอากาศเพื่อขออนุมัติการโจมตี แม่ทัพอากาศตอบมาว่า อนุมัติให้โจมตีได้ถ้าจำเป็น หลังจากนั้น ได้วิทยุรายงานให้น.อ. หลวงนาวาวิจิตร เสนาธิการทัพเรือทราบ
 
รายงานของกองทัพอากาศระบุว่า ฝูงบินจันทบุรีไม่ได้รับการติดต่อจากกองทัพเรือเลย แต่รองผบ.ฝูงเมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงสั่งให้พ.อ.ต.อนันต์ เวรเตรียมพร้อม ให้นำเครื่องออกไป โดยเครื่องเตรียมพร้อมติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก. บินไปยังเกาะช้างแล้ว รองผบ.ฝูงจึงสั่งให้ ร.ท. ประสงค์นำหมู่๒ ตามออกไปโดยมีจ.อ.อุทัย สังเนตร และจ.อ. หิรัญ ศิริพรรค เป็นลูกฝูง โดยมีเครื่องของร.ท. ประสงค์เท่านั้นที่ติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. อีกสองเครื่องติดระเบิดขนาด๕๐ก.ก.

ในบทสัมภาษณ์น.อ. สุรพล ไกรฤทธิราญ อดีตร.อ.บุญนำ สังขภูติในหนังสือเล่มเดียวกันนั้น น.อ. สุรพลเล่าว่า เมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงได้สั่งร.ท.ประสงค์ ให้นำหมู่บินไป โดยให้ติดลูกขนาด๕๐ก.ก. เพราะจะเร่งรีบให้ไป หมู่บินของร.ท.ประสงค์บินขึ้นเมื่อเวลา ๐๗.๐๕ แน่นอน

ส่วนบันทึกของร.ท.ประสงค์ เรื่องเดียวกัน เล่มเดียวกัน เขียนว่า ตอนนั้นยังมืดอยู่ ไม่สว่างดี ทำการแทนผบ.ฝูงได้สั่งให้พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ นำหมู่แรกออกไปทำการทิ้งระเบิดเรือข้าศึกโดยติดลูกระเบิดขนาด๕๐ก.ก. ยังนึกอยู่ว่าทำการแทนผบ.ฝูงน่าจะใช้(ตน)ให้นำหมู่ไปเป็นหมู่แรกเพราะรู้ที่ตั้งของกองเรือเราดี และกองเรือข้าศึกจะอยู่บริเวณใด และการติดระเบิดก็ควรจะใช้ขนาด๒๕๐ก.ก. (ตน)เป็นเพียงผบ.หมวดก็แล้วแต่ผบ.ฝูง ได้แต่พูดเปรยๆกับช่างเครื่อง ช่างอาวุธว่าน่าจะติดขนาด๒๕๐ก.ก. เพราะทิ้งระเบิดเรือรบ จะเป็นพ.อ.ต.อนันต์หรือลูกหมู่ของพ.อ.ต.อนันต์จำไม่ได้แน่ มาถามว่าจะไปที่ไหน ก็ได้บอกว่าให้ไปที่บริเวณเกาะช้าง เพราะกองเรือของเราอยู่เกาะช้าง

เอาละซีพระคุณท่าน เรื่องขนาดของระเบิดและเวลาบินขึ้นมันเกิดสำคัญขึ้นมาแล้ว เพราะร.ล.ธนบุรีถูกบอมบ์เมื่อเวลาประมาณ๐๗.๔๕ น.ด้วยลูกระเบิดขนาด๕๐ก.ก. (หากเป็น๒๕๐ก.ก.เรือก็ท้องแตกจมอยู่กับที่ไปแล้ว) ใครที่บินขึ้นในช่วงดังกล่าวนั้นจึงมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 05:15

ภาพเครื่องบินรบของเยอรมันสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่๒ ติดระเบิดทั้งขนาด๕๐และ๒๕๐กก.
ผมนำมาให้ดูเฉยๆเพื่อเปรียบเทียบขนาดว่าเล็กใหญ่กว่ากันอย่างไร

ลูกระเบิด๒๕๐กก.นั้นหนักมาก ใช้เวลาติดกันครึ่งค่อนชั่วโมงเพราะสมัยนั้นอุปกรณ์เครื่องมือไม่ค่อยจะดีและไม่ค่อยจะมี พวกนักบินของฐานบินจันทบุรีจึงไม่ค่อยได้ติด นอกจากจะมีภารกิจที่ชัดเจนเหมือนคราวนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 07:27

ที่ฐานบินเดียวกันนี้ มีฝูงบินตรวจการณ์อิสระอีกฝูงหนึ่ง ผมได้เขียนไปแล้วว่า ทั้งฝูงบินขับไล่และฝูงบินตรวจการณ์ ใครจะทำอะไรก็ทำไป แม้จะกินข้าวหม้อเดียวกันแต่เรื่องงานแล้ว ไม่มีการปรึกษาวางแผนร่วมกันใดๆทั้งสิ้น

ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ ผบ.ฝูงบินตรวจการณ์เป็นคนเนี๊ยบ สั่งงานลูกฝูงทุกครั้งจะเขียนใบสั่งที่เรียกว่ากร.๑๐ให้ไปปฏิบัติ ถ้าเหตุด่วนจึงสั่งด้วยวาจาแต่นักบินกลับมาแล้วจะต้องรายงานผลการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามรับกร.๑๐ย้อนหลังทุกครั้ง ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงให้น้ำหนักกับรายงานของฝูงนี้มากกว่าฝูงบินขับไล่ ซึ่งคำสั่งต่างๆใช้วาจาอย่างเดียว มาเขียนรายงานหลังเหตุการณ์ทั้งหลายจบแล้ว



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 07:30

บ่ายก่อนวันที่เกิดเหตุ ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ได้ออกกร.๑๐ให้ จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐเป็นนักบินไปตรวจการณ์ตามแนวเกาะต่างๆไปถึงเกาะเรียมในเขมรตามปกติ บินอยู่สองชั่วโมงครึ่งไม่พบอะไรเลยก็กลับ ถึงเกาะช้างประมาณ๑๖.๓๐น. เห็นร.ล.ธนบุรีและเรือตอร์ปิโดทั้ง๓ลำจอดอยู่ที่เกาะช้าง ตรงอ่าวสลักเพชร จึงโฉบลงไปดูเห็นทหารเรือกำลังกินข้าว ยังโบกไม้โบกมือให้ทรรศนะสัญญาณว่ายินดีที่ได้พบเน้อซึ่งกันและกัน ภายหลังการรบ ได้ยินทหารเรือพูดว่า ฝรั่งเศสบินเข้ามาเห็นหมู่เรือรบของเราตั้งแต่ตอนเย็นก่อนหน้า จ.ท.จำรัสยังคิด(เขียน)ว่าทหารเรือมั่วแล้ว เครื่องบินที่เห็นนั้นเป็นเครื่องบินของตนชัดๆ แสดงว่า แม้อยู่ด้วยกันจ.ท.จำรัสยังไม่ทราบเลยว่า เย็นวันเดียวกันนั้น ร.ท.ประสงค์ได้นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปยิงเครื่องบินตรวจการณ์ลัวร์ของฝรั่งเศส จนใบพัด(ของตัวเอง)เกือบหัก กระเสือกกระสนมาลงฉุกเฉินที่ฐานบินเดียวกันนั่นแหละ
 
ไม่ทราบว่าเป็นเพราะนักบินทหารสัญญาบัตรกับนักบินประทวนจะไม่ค่อยคลุกคลีกันด้วยหรือเปล่า ข่าวเด่นวันนี้จึงไม่ค่อยมีใครรู้

เมื่อเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นแล้วนานพอสมควร ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์จึงเขียนกร.๑๐เสร็จ สั่งการให้ พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธิน เป็นหัวหน้าหมู่ จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐหมายเลข๒ บินหมู่๒(ไปกันสองเครื่อง) เพื่อตรวจการณ์ค้นหาข้าศึก ถ้าพบ ให้ทิ้งระเบิดทำลายทันที โดยแต่ละลำติดระเบิด๕๐ก.ก. ซ้ายขวา

ย้อนกลับไปดูบันทึกของร.ท.ประสงค์ จะบ่นว่า รู้สึกว่ามีการชุลมุนกันบ้าง ฝูงตรวจการณ์ก็สั่งให้ไปทิ้งระเบิด ขับไล่ก็ไปทิ้งระเบิด ต่างฝูงต่างสั่ง ไม่มีการประสานงานกัน หัวหน้าหมู่บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่ากองเรือเราอยู่ที่ไหน และกองเรือข้าศึกที่จู่โจมกองเรือของเราน่าจะอยู่บริเวณใด

สำหรับฝูงขับไล่ ทำการแทนผบ.ฝูงได้สั่งให้ข้าพเจ้าไปทิ้งระเบิดเป็นหมู่ที่๓ หมู่สุดท้าย ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างสายเกือบ๐๘.๐๐น.แล้ว ได้ขออนุมัติติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. ซึ่งได้รับอนุมัติ ส่วนลูกหมู่อีก๒คน คือ จ.ท. หิรัญ และจ.ท. อุทัย แสงเนตร ติดขนาด๕๐ก.ก.



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 09:34

คราวนี้มาดูบทสัมภาษณ์ของอดีตทำการแทนผบ.ฝูง น.อ. สุรพล ไกรฤทธิราญ หรือในสมัยนั้นคือ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ (ท่านไม่ได้เขียนด้วยตนเอง อาจจะเพราะไม่ชอบเขียนอยู่แล้วเป็นทุนก็ได้ จึงใช้วิธีเล่าเรื่องให้คณะผู้จัดทำหนังสือให้จบก่อน แล้วจึงตอบข้อซักถามที่หลัง การนี้คณะผู้จัดทำได้จดบันทึกและอัดเสียงไว้ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ แล้วนำมาตีพิมพ์ไว้ในเล่ม)

ต่อจากความตอนที่แล้ว น.อ. สุรพลเล่าว่า เมื่อได้รับอนุมัติจากแม่ทัพอากาศ จึงได้สั่งร.ท.ประสงค์ ให้นำหมู่บินไป โดยให้ติดลูกขนาด๕๐ก.ก. เพราะจะรีบเร่งให้ไป น.อ. สุรพลย้ำว่า หมู่บินของร.ท.ประสงค์บินขึ้นเมื่อเวลา ๐๗.๐๕ แน่นอน ขณะนั้นยังได้ยินเสียงปืนอยู่ เมื่อหมู่บินแรกไปแล้ว ก็สั่งให้สรรพาวุธติดลูกระเบิด๒๕๐กก.ให้กับเครื่องของตนและของลูกหมู่ คือ จ.อ.ทองหล่อ(ชื่อเดิมของพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์) และจ.อ.บุญช่วย เตรียมพร้อมไว้ ร.ท.ประสงค์บินไปประมาณชั่งโมงครึ่งก็กลับมารายงานว่าได้ทิ้งระเบิดแล้วแต่ (ไม่มีระบุว่า ทิ้งใส่เรือลำไหน ระเบิดตกโดนเป้าหมายหรือเปล่า) น.อ. สุรพลกับลูกหมู่ก็บินขึ้นไป(พร้อมกับอ้างพยานว่า)ขณะนั้น ร.อ.ทวนชัย โกลิลานนท์ นายทหารบกเดินทางมาจากปราจินบุรี เมื่อมาพบเหตุการณ์นั้นจึงได้อยู่ฟังเหตุการณ์อยู่ด้วย  และร.อ.นักรบ บิณษรี บินมาอย่างไรไม่ทราบ(?) มาพอดีจึงบอกร.อ.นักรบว่า “เป็นเจ้านายแทนหน่อย อั๊วจะไปละ”

เมื่อบินไปคอยเกาะหมู่ของลูกหมู่อยู่ จ.อ.บุญช่วยบินขึ้นไปแล้วเกิดอะไรไม่ทราบกลับบินลงไป คงมีจ.อ.ทองหล่อเกาะหมู่กันไปสองเครื่อง บินไปถึงเกาะช้าง บินวนกันรอบใหญ่ๆ จ.อ.ทองหล่อหายไป คงเหลืออยู่เครื่องเดียว เมื่อกลับไปจนพบยืนอยู่ที่สนามบินแล้ว ลูกระเบิดยังติดอยู่

ขณะบินวนเห็นเรือลำหนึ่งควันขึ้นโขมง ก็รู้ว่าร.ล. ธนบุรีโดนเข้าแล้ว ตนได้บินวนจนถึงเกาะกูด พบเรือตอร์ปิโดลำหนึ่งจอดอยู่ ไม่มีอะไรบุบสลายเลย  (ทราบภายหลังว่าเป็นร.ล.ระยอง) จึงได้บินย้อนกลับมาที่เรือที่ควันขึ้นโขมง ได้บินโฉบเข้าไปต่ำมากจนเห็นเรือชื่อร.ล.ธนบุรี เห็นร.ล.ช้างกำลังแล่นอยู่ใกล้ๆ ได้บินโฉบอยู่สามสี่เที่ยวในระยะต่ำมาก ได้เห็นความเสียหายของร.ล.ธนบุรีแล้วนึกเศร้าใจมาก จึงได้บินกลับโดยมิได้ทิ้งลูกระเบิดเลย ลูกระเบิดยังติดมากับเครื่องบิน กลับมาก็วิทยุรายงานให้หลวงอธึกฯทราบ

คืนนั้นหลวงอธึกฯส่งเงินมาให้๒๐๐บาท ให้เลี้ยงกัน
(ไม่ทราบว่ายินดีอะไรหนักหนา)

ผมอ่านแล้วเห็นพิรุธว่าถ้าท่านได้ฟังรายงานของร.ท.ประสงค์ที่บินกลับมาจากที่ได้ทิ้งระเบิดแล้ว แต่ท่านกลับไม่ทราบว่าศัตรูอยู่ที่ไหน ไปบินวนเวียนหาที่เกาะช้างนานสองนาน จนพลัดหลงกับลูกฝูง และบินกลับฐานโดยไม่ได้ปลดระเบิดทั้งสองลำ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 09:56

ที่ไม่ทราบว่ายินดีอะไรกันหนักหนานั้น อ่าน"ข่าวทหาร"วันรุ่งขึ้นก็พอจะเข้าใจ ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ถูกหลอก หรือเป็นปฏิบัติการจิตวิทยา เพราะที่บ้านผม แม่เล่าว่า พอได้ข่าวร.ล.ธนบุรีถูกโจมตี คุณยายก็เริ่มร้องไห้เป็นห่วงลูกชาย คุณตาก็ซึมไป  หลายวันกว่าน้ำตาจะเหือดแห้ง คุณลุงก็สวมเสื้อกลาสีกางเกงขาสั้น สะพายถุงทะเลเดินยิ้มเผล่เข้าประตูบ้านมา ทุกคนเลยร้องไห้กันอีกตะเบ็งเซ็งแซ่ คราวนี้ด้วยความดีใจ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 06 ต.ค. 11, 10:08

หลังจากนั้นไม่นานเกินรอ ร.อ.บุญนำ สังขภูติ ก็ถูกสั่งย้ายด่วน กองทัพอากาศส่ง ร.ต. สมัย จุทัยรัตน์ (พล.อ.ต.วัชระจุทัยรัตน์)มาดำรงตำแหน่งแทน

การรบวันนั้นยังไม่จบนะครับ ขอให้ท่านติดตามต่อไป

ช่วงนี้ใครจะไปทำธุระส่วนตัวอะไรก็เชิญ ผมก็จะไปด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 10:17

รายงานของกองทัพอากาศมิได้กล่าวถึงการปฏิบัติการของฝูงบินที่ทำการแทนผบ.ฝูงร.อบุญนำอ้างว่าได้นำเครื่องขึ้นไปค้นหากองเรือรบฝรั่งเศสดังกล่าวแม้น้อย แต่ได้เขียนไว้ว่า รท ประสงค์ได้นำหมู่ที่๒วิ่งขึ้นประมาณ๐๘๐๐น เมื่อเครื่องบินขับไล่หมู่แรก(พ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์)กลับลงมารายงานว่ารลธนบุรีถูกเรือรบข้าศึกยิงไฟไหม้ ร.อ. ถนอม ปิณฑแพทย์ ผบ. ฝูงบินตรวจการณ์  ได้สั่งให้ พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธิน เป็นหัวหน้าหมู่จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐ เป็นหมายเลข๒  บินหมู่๒ขึ้นไปตรวจการณ์ค้นหาข้าศึก ถ้าพบ ให้ทิ้งระเบิดทำลายทันที…..

ตรงนี้อ่านแล้วงงนิดหน่อย ถ้าดูหลักฐานประกอบ แล้วเรียงความใหม่ให้ดีแล้วจะได้ความว่า หมู่บินตรวจการณ์(พ.อ.ต. อัจจ์)ได้ขึ้นบินต่อจากหมู่แรกของฝูงบินขับไล่(พ.อ.ต.อนันต์)  ร.ท.ประสงค์ได้นำหมู่ที่๒ของฝูงบินขับไล่ขึ้นบินหลังจากหมู่บินตรวจการณ์(พ.อ.ต. อัจจ์)ได้บินขึ้นไปแล้ว

แต่ทั้งหมด ไม่มีรายงานของใครหรือบทสัมภาษณ์ใดๆกล่าวถึงการปฏิบัติงานระหว่างอยู่บนฟ้าของพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์ ผู้นำเครื่องขับไล่บินขึ้นไปเกาะช้างเมื่อเวลาประมาณ ๗นาฬิกา ซึ่งขณะนั้นเมฆหมอกยังปกคลุมแผ่นฟ้ามาถึงทะเล ทัศนียภาพไม่แจ่มใสจนน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพียงแต่เขียนไว้ว่าพ.อ.ต.อนันต์ พุทธจริยวงศ์กลับลงมารายงานว่าร.ล.ธนบุรีถูกเรือรบข้าศึกยิงไฟไหม้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 10:22

จ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐ นักบินฝูงบินตรวจการณ์หมายเลข๒รายงานว่า เมื่อได้รับคำสั่ง หน.หมู่พ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธินและจ.ท.จำรัส นำเครื่องขึ้นแล้ว ก็บินมุ่งไปเกาะช้าง ถึงแหลมงอบมองเห็นร.ล.ธนบุรีเอียงกระเท่เร่ ไฟลุกกลางลำเป็นควันดำ มีเรือกระหนาบข้างวิ่งมาทางเขตน้ำตื้น แปลว่าตอนนั้นร.ล.ธนบุรีโดนทิ้งระเบิดไปแล้วแต่ยังไม่จม เวลาน่าจะประมาณ๐๘.๔๐น.และไม่ใช่จากเครื่องคอร์แซร์๒ลำนี้แน่

นักบินทั้งสองนำเครื่องบินข้ามเกาะช้างไปทางทิศตะวันตก ท้ศนวิสัยค่อนข้างเลว มีเมฆในระยะต่ำเป็นอันมาก มองเห็นผิวน้ำได้เป็นครั้งคราว ประมาณสิบกว่านาที มองลอดเมฆลงไปเห็นเรือรบลำใหญ่ ดาษฟ้าสีแดงเรื่อๆ มีเรือบริวารสีขาวตามมาห่างๆ เป็นขบวนข้างละ๓ลำรวมแล้ว๗ลำ(? อาจเห็นไม่ชัดเพราะเมฆบัง) หน.หมู่ชี้ให้ดู ทั้งสองพยักหน้าให้กันเตรียมตัวพร้อมที่จะเข้าโจมตี ยังไม่ทันไร กระสุนป.ต.อ.แตกอากาศก็ขึ้นมาระเบิดโป้งป้างรอบๆ หน.หมู่ให้ทรรศนสัญญาณนำเครื่องขึ้นจากระดับ๑๕๐๐เมตร ไป๒๐๐๐เมตร กลุ่มระเบิดก็น้อยลง ไม่ค่อยได้เสียวใต้เบาะนั่ง(สำนวนของจ่าเค้า)

หน.หมู่ สั่งแยกหมู่แล้วโจมตีอิสระ จ.ท.จำรัสพยายามจะดำทิ้งระเบิดเรือรบเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเลือกแนวหัวเรือไปท้ายเรือตามคำแนะนำของผบ.ฝูง แต่เรือลามอตต์ ปิเกต์หยุดเดินหน้า แล้วกลับลำอยู่กับที่คล่องแคล่วอย่างกับเรือจ้าง(นี่ก็สำนวนของจ่าเค้าอีกเหมือนกัน) พยายามหันข้างให้เครื่องบิน ปืนทุกกระบอกจากเรือทุกลำก็ระดมยิงขึ้นมาหนาแน่น จึงดึงเครื่องขึ้นก่อนยังไม่ปลดระเบิด  กลับขึ้นไปตั้งตัวใหม่ดำลงมาอีก รีบปลดระเบิดไป๑ลูกทั้งๆที่เรือรบกำลังหมุนตัวอยู่ในท่าเดิม มองตามไปไม่เห็นการระเบิด ลูกที่สองก็เช่นกัน ไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ถูกเรือ พอลูกระเบิดหมด ก็บินกลับฐาน

จ.ท.จำรัสลงมาถึงพื้นแล้วจึงนึกได้ว่า ลูกระเบิดที่ติดเครื่องขึ้นไปนั้น เข็มแทงชนวนเป็นชนิดแหลม ใช้สำหรับทิ้งใส่เป้าหมายบนพื้นดิน จะไปทิ้งระเบิดใส่เรือรบเข็มชนวนมันต้องเป็นแบบดอกจอก แม้กระทบน้ำก็จะระเบิด ถึงไม่โดนเรือจังๆก็อาจทำความเสียหายได้ เช้าวันนั้นมันลนลานกันเหลือเกิน ทุกคนเลยลืมคิดเรื่องหัวเข็มชนวนลูกระเบิดไป

จ่าท่านเป็นทหารนักบินผ่านศึกที่รับราชการต่อมาจนเกษียณในยศนาวาอากาศโท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 10:27

ส่วนเอกสารของฝรั่งเศสรายงานว่า หลังจากผละออกจากการรบกับร.ล.ธนบุรี น.อ.เบรังเยร์ได้สั่งให้เรือรบทุกลำแล่นออกลึกในแนวตั้งฉากกับฝั่ง เพื่อลวงให้ฝ่ายไทยเดายากว่าจะปฏิบัติการอย่างใดต่อ และให้ทำการรบอิสระหากถูกเรือดำน้ำหรือเครื่องบินไทยโจมตี

๐๘.๕๘น. เครื่องบินแบบคอร์แซร์ลำหนึ่งเข้าโจมตีเรือลามอตต์ ปิเกต์ โดยที่คนบนเรือไม่ทันเห็นแต่แรกเพราะโผล่มาจากดวงอาทิตย์ ทิ้งระเบิดลูกหนึ่งตกห่างกราบเรือไปแค่๕เมตร อีกลูกหนึ่งพลาดไปทางท้ายเรือ  เครื่องที่สองตามมาในลักษณะเดียวกัน ทิ้งระเบิดห่างไปทางท้ายเรือประมาณ๒๐๐เมตร ฝ่ายเราโต้ตอบด้วยปืน๗๕ และปืนกล
 
๐๙๐๐ระเบิดอีกลูกหนึ่งตกห่างไปทางกราบซ้ายของเรือแอดมิรัล ชาร์แนร์


รายงานของน.อ.เบรังเยร์และจ.ท.จำรัส ม่วงประเสริฐสอดคล้องกัน สรุปได้ว่าพ.อ.ต. อัจจ์ สุริโยธินหลังจากบินแยกออกไปจนจ.ท.จำรัสมองไม่เห็นนั้น ได้เข้าโจมตีก่อนโดยปลดระเบิด๒ลูกพร้อมกัน เฉียดกราบเรือไปแบบเผาขนแค่๕เมตร ถ้าเป็นลูกระเบิดกระทบน้ำแตกอย่างที่ควรจะติดกันมา ระเบิดลูกนี้น่าจะสร้างความเสียหายให้เรือลามอตต์ ปิเกต์หรือทหารบนเรือได้ ส่วนจ.ท.จำรัสดำลงทิ้งระเบิดทีละลูก๒ครั้ง ห่างเป้าไปพอสมควร เพราะเรือลามอตต์ ปิเกต์รู้ตัวแล้ว วิ่งซิกแซกคล่องแคล่วเหมือนเรือแจวเพื่อหลบระเบิดจากเครื่องบิน

ความรุกรี้รุกรนจนเกิดความผิดพลาดในการติดเข็มชนวนนี้ แม้ฝ่ายไทยจะไม่เสียหายแต่ก็ถือว่าซวย และเป็นโชคเป็นของฝรั่งเศส ครั้งที่๕


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 10:34

ฝูงบินขับไล่๓เครื่อง นำโดยร.ท.ประสงค์ ได้บินขึ้นเป็นเวลาค่อนข้างสายเกือบ๐๘.๐๐น.แล้ว โดยเครื่องของหน.หมู่ ติดระเบิดขนาด๒๕๐ก.ก. ส่วนลูกหมู่อีก๒คน คือ จ.ท. หิรัญ และจ.ท. อุทัย แสงเนตร ติดขนาด๕๐ก.ก. เมื่อตั้งลำได้ก็วิ่งลัดตัดตรงไปยังจุดที่มั่นใจว่ากองเรือรบของฝรั่งเศสจะอยู่บริเวณนั้น เมื่อผ่านเกาะช้างมาทางเกาะกระดาษ ก็เห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์วิ่งพรายน้ำตามหลังเป็นแนวยาวพยายามจะมารวมกลุ่มกับเรือรบอีกสามสี่ลำที่แต่ละลำขนาดเรือธนบุรีทั้งนั้น จึงทำทรรศนสัญญาณให้ลูกหมู่ให้เข้าโจมตีทั้งที่ข้าศึกเริ่มระดมยิงป้องกันหนาแน่น โดยตนเองพลิกตัวดำดิ่งในมุมลบ๓องศา พอเครื่องปักหัวลงต่ำมากใกล้แล้วก็ปลดระเบิดใส่เป้าหมาย และรีบตีคืน เชิดหัวขึ้นห่างน้ำเพียงไม่เท่าไหร่ แต่มองไม่เห็นตำบลระเบิดของตัวเอง ส่วนลูกหมู่ที่ตามมา หน.หมู่เห็นชัดว่าทิ้งระเบิดห่างจากเรือประมาณ๒๐-๕๐เมตร ส่วนมากตกทางท้ายเรือ

บันทึกของ จ.อ. อุทัย สังเนตร นักบินในหมู่หมายเลข๒ รายงานว่าบินเกาะหมู่ตามกันไประดับเหนือเมฆจึงไม่ค่อยจะเห็นข้างล่าง เมื่อบินผ่านเกาะช้างไปแล้วจึงเห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์  จี้เข้าระยะแล้วแล้วหน.หมู่ก็เบาเครื่องดำดิ่งลงไปเลย นานมากจนคนบินตามเริ่มนึกในใจว่าเมื่อไหร่จะเงยขึ้นซะที จนระดับต่ำถึงที่สุดแล้วหน.หมู่ก็ปลดระเบิด ลูกหมู่ที่ตามมาเห็นระเบิดตกลงตอนกลางของท้ายเรือ ระเบิดขึ้นเป็นกลุ่มขาว จ.อ. อุทัยเข้าใจว่าเป็นฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นมาแสดงว่าลูกระเบิดด้านไม่ระเบิด (อาจจะเป็นช่อน้ำที่เกิดจากลูกระเบิดเฉียดลงทะเลก็ได้ หรือเปล่า?) เพราะเมื่อหน.หมู่ดึงเครื่องขึ้นแล้ว ลูกหมู่ทั้งสองเครื่องก็ปลดระเบิดทีเดียว๔ลูกเลยทั้งสองลำ หลังจากขึ้นไปเกาะกลุ่มกันแล้ว หน.หมู่ไม่แน่ใจว่าลูกระเบิดใต้เครื่องของตนหลุดไปหรือยัง ได้ส่งทรรศนะสัญญาณถาม และตะแคงเครื่องให้ดู ลูกหมู่ทั้งสองส่งทรรศนะสัญญาณตอบว่า ร่วงแล้ว จึงบ่ายหน้าเข้าหาฝั่ง ขากลับจึงได้เห็นเรือรบของเราพลิกคว่ำอยู่ในทะเล ท้องเรือร.ล.ธนบุรีสีแดงดูชัดเจน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 10:38

น.อ.เบรังเยร์เขียนรายงานต่อจากเมื่อกี้ว่า

๐๙๑๒ เครื่องบินสยามสองลำบินอยู่ที่จุดพร้อมเข้าโจมตีเดิม แต่โดนยิงโต้ตอบอย่างหนักหน่วงจึงทำให้ลงมาทิ้งระเบิดไม่ได้และบินกลับไป
ผมดูเวลาแล้ว น่าจะเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ทั้งสองลำหลังปลดระเบิดแล้ว บินรวมหมู่กันแวะมาดูผล เหตุที่บินกลับไปไม่ได้โจมตีเพราะออกอาวุธหมดแล้ว คงเป็นเพราะเมฆมากบนท้องฟ้าด้วย ฝรั่งเศสมองไม่เห็นตลอดจึงนับไม่ถูกว่าเราบินไปกี่ลำกันแน่
 
แต่ช่วงที่หมู่บินขับไล่เข้าโจมตีนี่ เขียนซะเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย

๐๙๒๘ เครื่องบินลำที่๕ บินอยู่เหนือเรือลามอตต์ ปิเกต์ที่ระยะสูง๓๐๐๐เมตร แต่พอถูกระดมยิง ก็บินห่างออกไป
๐๙๔๐ เครื่องบินอีกลำหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นลำเมื่อชั่วครู่นี้ก็ได้ ทำท่าจะดำดิ่งลงมาโจมตี แต่พอถูกยิงต้านทาน ก็รีบบินห่างออกไป อีกลำหนึ่งดำมาได้ครึ่งทางก็หักหลบ เรือมาร์นเห็นว่าเครื่องบินลำนี้ทิ้งระเบิดลงมา๒ลูก แต่ตกห่างด้านหลังกองเรือของเราไป๕๐๐๐เมตร(!?!) ต่อจากนั้นก็ไม่มีการโจมตีใดๆอีก

จบรายงานของน.อ.เบรังเยร์


ผมเห็นว่า รายงานท่อนนี้มั่วสุดๆเหมือนไม่ใช่นาวาเอกเขียน นักบินชาติไหน ต่อให้ขี้ขลาดหรืองี่เง่าอย่างไร คงไม่ดำทิ้งระเบิดห่างเป้าถึง๕๐๐๐เมตร(=๕ก.ม.) คนปัญญาอ่อนเท่านั้นที่จะยอมเชื่อ
แต่การที่ไม่รายงานผลตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น มีจุดประสงค์อย่างไร หรือใครไปแก้ของเค้าเพื่อผลทางจิตวิทยาในอนาคต ผมยังไม่สิ้นประเด็นสงสัย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 07 ต.ค. 11, 12:42

รายงานที่เขียนโดยร.ท.ประสงค์ยังมีต่อว่า ตอนไปทิ้งระเบิด เห็นเรือลามอตต์ ปิเกต์เป็นปกติดี ไม่ได้มีควันไฟลุกแสดงว่ากำลังเกิดไฟไหม้เลย ที่ลือๆกันว่าชาวประมงเห็นอย่างโน้นอย่างนี้จึงไม่มีมูล

เมื่อน.ต. ม.ล.ประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับฝูงบินกลับมาถึงฐานบินจันทบุรีตอนบ่าย ก็สั่งให้ร.ท.ประสงค์นำหมู่บินออกติดตามเรือข้าศึกไปอีก ซึ่งได้ไปจนสุดรัศมีทำการถึงเกาะเรียมเมื่อไม่พบกองเรือข้าศึกก็บินกลับ ตอนผ่านแหลมงอบเห็นร.ล.ธนบุรีจมตะแคงอยู่ และเห็นร.ล.ศรีอยุธยา แล่นไปถึงเกาะช้างพอดี

เรื่องเรือธนบุรีจมตะแคงหรือจมหงายท้องนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เห็น และระดับน้ำขึ้นน้ำลงในขณะนั้น


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง